เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

 รวมพระสูตร เรื่องราวสำคัญของพระสารีบุตร (ไม่รวมอรรถกถา)
อัครสาวกเบื้องขวา เอตทัคคะด้านผู้มีปัญญามาก
Sa105
               ออกไปหน้าหลัก 5 of 7
  จากพระไตรปิฎก ที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ (ไม่รวมอรรถกถา)
  (41) บริษัท ๘ เป็นไฉน ตรัสกับพระสารีบุตร
  (42) เทวดาที่มีจิตเสมอกันเข้าเฝ้า รายงานว่าพระสารีบุตรกำลังแสดงธรรม
  (43) เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นาน และนาน
  (44) ภิกษุเถระมากรูปพากันให้โอวาท พร่ำสอนภิกษุด้วยกัน ตลอด4 เดือน
  (45) ธรรมที่มีอุปาระมาก (แสดงธรรมีกถาโดยพระสารีบุตร)
  (46) มหานิทเทส ๑ ขยายความพระไตรปิฎก เชื่อว่าเป็นผลงานของพระสารีบุตร
    46.1 ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง
    46.2 ผู้ปราถนากามเปรียบเหมือนถูกแทงด้วยลูกศร
    46.3 กามเสื่อมไปได้อย่างไร
    46.4 ว่าด้วยการเว้นขาดกามด้วยเหตุ ๒ ประการ
    46.5 ว่าด้วยทาส ๔ จำพวก
    46.6 ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง
    46.7 ว่าด้วยผู้มีสติทุกเมื่อ
    46.8 ว่าด้วยการละขาดจากกาม ๒ อย่าง
    46.9 ว่าด้วยนรชนเป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำคือกาย

 


(41)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๑๐๐ ข้อที่ ๑๖๘

บริษัท ๘ เป็นไฉน
(ตรัสกับพระสารีบุตร)
P629

            [๑๖๘] ดูกรสารีบุตร บริษัท ๘ จำพวกเหล่านี้แล

            ๘ จำพวกเป็นไฉน? คือ
ขัตติยบริษัท (ชุมนุมกษัตริย์
พราหมณบริษัท (ชุมนุมพราหมณ์)
คฤหบดีบริษัท (ชุมนุมคหบดี)
สมณบริษัท (ชุมนุมสมณะ)
จาตุมหาราชิกบริษัท (ชุมนุมเทพชั้นจาตุ-)
ดาวดึงสบริษัท (ชุมนุมเทวดาชั้นดาวดึงส์)
มารบริษัท (ชุมนุมมาร)
พรหมบริษัท
(ชุมนุมพรหม)

             ดูกรสารีบุตร บริษัท ๘ จำพวกเหล่านี้แล

           ดูกรสารีบุตร ตถาคตประกอบด้วย เวสารัชชธรรม* ๔ ประการ เหล่านี้แล ย่อมเข้าไปหา ย่อมหยั่งลงสู่บริษัท ๘ จำพวกเหล่านี้

  *
   เวสารัชชกรณธรรม
: ตัวชี้วัดความกล้าหาญ
  1.ศรัทธา หมายถึง ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในหลักการที่ตนเองยึดถือ และความดี
    ที่ตนกระทำ
  2.ศีล หมายถึง มีความประพฤติถูกต้องดีงาม ไม่ผิดระเบียบวินัย ไม่ผิดศีลผิดธรรม
  3.พาหุสัจจะ หมายถึง เป็นผู้คงแก่เรียนได้แก่ เรียนมาก และรู้มาก
  4.วิริยารัมภะ หมายถึง มีความเพียรพยายามในการทำงาน

           ดูกรสารีบุตร เราย่อมเข้าใจเข้าไปหา ขัตติยบริษัท หลายๆร้อย แม้ใน ขัตติยบริษัทนั้น เราเคยนั่งใกล้ เคยทักทายปราศรัย เคยสนทนากัน ดูกรสารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่าความกลัว หรือความสะทกสะท้าน จักกล้ำกลายเรา ในขัตติย บริษัท นั้นเลย เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้ถึงความปลอดภัย ถึงความไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้ว กล้าอยู่

           ดูกรสารีบุตร อนึ่ง เราย่อมเข้าใจเข้าไปหา พราหมณบริษัท หลายๆ ร้อย คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท จาตุมหาราชิกบริษัท ดาวดึงสบริษัท มารบริษัท พรหมบริษัท จำพวกละหลายๆร้อย แม้ในบริษัทนั้นๆ เราเคยนั่งใกล้ เคยทักทาย ปราศรัย เคยสนทนากัน

             ดูกรสารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า ความกลัว หรือความสะทก สะท้าน จักกล้ำกลายเราในบริษัทนั้นๆ เลย เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้ถึงความปลอดภัย ถึงความไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้ว กล้าอยู่

           ดูกรสารีบุตร ผู้ใดแลพึงว่าซึ่งเราผู้รู้อยู่อย่างนี้ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ ว่าธรรมอันยิ่ง ของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษ พอแก่ความเป็นอริยะ ของพระสมณโคดม ไม่มีพระสมณโคดม ทรงแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการ ค้นคิดแจ่มแจ้งได้เอง

           ดูกรสารีบุตร ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐิ นั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ ที่จะตกนรก ดังถูกนำมาฝังไว้

           ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงกระหยิ่ม อรหัตผล ในปัจจุบันทีเดียว ฉันใด ดูกรสารีบุตร เรากล่าวข้ออุปไมยนี้ ก็ฉันนั้น ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะ ตกนรกดังถูกนำมาฝังไว้



(42)
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒

ปฐมปัณณาสก์
เทวดาที่มีจิตเสมอกันเข้าเฝ้า รายงานว่า
พระสารีบุตร กำลังแสดงธรรม

P1343

ครั้งนั้นแล เทวดาที่มีจิตเสมอกันมากองค์เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรนั่น กำลังเทศนา ถึงบุคคล ที่มีสังโยชน์ในภายใน และบุคคลที่มีสังโยชน์ ในภายนอก แก่ภิกษุทั้งหลาย อยู่ที่ปราสาท ของนางวิสาขามิคารมารดา ในบุพพาราม

             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บริษัทร่าเริง ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มี พระภาค จงทรงพระกรุณา เสด็จไปหาท่านพระสารีบุตรจ นถึงที่อยู่เถิด พระผู้มีพระภาค ทรงรับคำ อาราธนาด้วยดุษณีภาพ

             ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงหายจากพระเชตวันวิหาร ไปปรากฏ เฉพาะหน้า ท่านพระสารีบุตร ที่ปราสาทของนาง วิสาขามิคารมารดา ในบุพพาราม เหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับนั่ง บนอาสนะที่ปูลาดไว้ แม้ท่านพระสารีบุตร ก็ได้ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค แล้วนั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะท่าน พระสารีบุตรว่า

             ดูกรสารีบุตร เทวดาที่มีจิตเสมอกันมากองค์ เข้าไปหาเราจนถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วบอกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกำลังเทศนา ถึงบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายใน และบุคคลที่มี สังโยชน์ในภายนอก แก่ภิกษุทั้งหลาย อยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ในบุพพาราม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บริษัทร่าเริง ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มี พระภาคทรงพระกรุณา เสด็จไปหาท่านพระสารีบุตร จนถึงที่อยู่เถิด

             ดูกรสารีบุตร ก็เทวดาเหล่านั้นยืนอยู่ ในโอกาสแม้เท่าปลายเหล็กแหลม จดลง ๑๐ องค์บ้าง ๒๐ องค์บ้าง ๓๐ องค์บ้าง ๔๐ องค์บ้าง ๕๐ องค์บ้าง ๖๐ องค์ บ้าง แต่ก็ไม่เบียดกันและกัน (เทวดามารวมตัวแบบแออัดยัดเยียด แต่ไม่เบียดกัน พระสารีบุตร ไม่มีทิพย์จักษุ จึงมองไม่เห็น)

             ดูกรสารีบุตร ก็เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า จิตอย่างนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้ เทวดาเหล่านั้น ยืนอยู่ได้ในโอกาส แม้เท่าปลายเหล็กแหลมจดลง ๑๐ องค์บ้าง ... ๖๐ องค์บ้าง เป็นจิต อันเทวดาเหล่านั้น อบรมแล้วในภพนั้น แน่นอน ดูกรสารีบุตร ก็ข้อนั้นเธอไม่ควรเห็นเช่นนี้

             ดูกรสารีบุตรก็จิตอย่างนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาเหล่านั้น ยืนอยู่ได้ ในโอกาส แม้เท่า ปลายเหล็ก แหลมจดลง ๑๐ องค์บ้าง ฯลฯ แต่ก็ไม่เบียดกัน และกัน เทวดาเหล่านั้น ได้อบรมแล้วในศาสนานี้เอง เพราะฉะนั้นแหละสารีบุตร เธอพึงศึกษา อย่างนี้ว่า จักเป็นผู้ มีอินทรีย์สงบ มีใจระงับอยู่ เธอควรศึกษา เช่นนี้แหละ สารีบุตร กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจระงับ จักสงบระงับ เพราะฉะนั้นแหละ

             สารีบุตร เธอพึงศึกษาว่า จักนำกายและจิต ที่สงบระงับแล้วเท่านั้นเข้าไป ในพรหมจารีทั้งหลาย ดูกรสารีบุตร เธอควรศึกษาเช่นนี้แหละ ดูกรสารีบุตร พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ที่ไม่ได้ฟังธรรมบรรยายนี้ ได้พากันฉิบหายเสียแล้ว



(43)

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑  พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑

เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นาน และนาน
P373
            

            [๗] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตร ไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตก แห่งจิต เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ ไหนไม่ดำรง อยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน ดังนี้ ครั้นเวลาสายัณห์ท่านออก จากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่ง จิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน.

            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรสารีบุตร พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค พระนาม วิปัสสี พระนาม สิขี และพระนาม เวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน ของพระผู้ม ีพระภาค พระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน.

             ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค พระนาม วิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?

             ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และ พระนาม เวสสภูทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดาร แก่สาวก ทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะเวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มี พระภาคทั้งสามพระองค์นั้น มีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรง บัญญัติ ปาติโมกข์ ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาค พุทธเจ้า เหล่านั้น เพราะอันตรธาน แห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลัง ที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนา นั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน

             ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ยังไม่ได้ร้อย ด้วยด้าย ลมย่อมกระจาย ขจัด กำจัด ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นได้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะเขาไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่ง พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลัง ที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนา นั้นให้อันตรธาน โดยฉับพลัน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เหล่านั้น ทรงท้อพระหฤทัย เพื่อจะทรงกำหนดจิตของสาวกด้วยพระหฤทัย แล้วทรง สั่งสอนสาวก.

             ดูกรสารีบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามเวสสภู ทรงกำหนดจิตภิกษุสงฆ์ด้วยพระหฤทัยแล้วทรงสั่งสอน พร่ำสอน ภิกษุสงฆ์ประมาณพันรูป ในไพรสนฑ์อันน่าพึงกลัวแห่งหนึ่งว่า พวกเธอจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น จงทำในใจอย่างนี้ อย่าได้ทำในใจอย่างนั้น จงละส่วนนี้ จงเข้าถึง ส่วนนี้อยู่เถิด ดังนี้

             ลำดับนั้นแลจิตของภิกษุประมาณพันรูปนั้น อันพระผู้มีพระภาคอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามเวสสภูทรงสั่งสอนอยู่อย่างนั้น ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนั้น ได้หลุดพ้น แล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นในเพราะความที่ไพรสณฑ์ อันน่าพึงกลัวนั้นซิ เป็นถิ่นที่น่าสยดสยอง จึงมีคำนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังไม่ปราศจาก ราคะ เข้าไปสู่ ไพรสณฑ์นั้น โดยมากโลมชาติย่อมชูชัน.

             ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของ พระผู้มี พระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภูไม่ดำรง อยู่นาน.

             ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค พระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?

             ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนาม โกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรม โดยพิสดารแก่สาวก ทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะเคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน  อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มี พระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอด ระยะกาลยืนนาน

             ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ร้อยดีแล้ว ด้วยด้าย ลมย่อมกระจายไม่ได้ ขจัดไม่ได้ กำจัดไม่ได้ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะเขาร้อยดีแล้วด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มี พระภาค พุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตาม พระพุทธเจ้า เหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูล ต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน ฉันนั้น เหมือนกัน.

             ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มี พระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน



(44)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔   หน้าที่ ๑๕๒ - ๑๖๐

อานาปานสติสูตร
ภิกษุเถระมากรูป พากันให้โอวาท พร่ำสอนภิกษุด้วยกัน ตลอด ๔ เดือน ในคืนจันทร์เพ็ญ ๑๕ ค่ำ
P1324

(โดยย่อ)

ในคืนจันทร์เพ็ญ  ๑๕ ค่ำ วันนั้นเป็นวันอุโบสถ
ภิกษุเถระมากรูป ที่มีชื่อเสียงเด่น อาทิ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสป  พระมหา กัจจายนะ พระมหาโกฏฐิตะ พระมหากปิณะ พระมหาจุนทะ พระเรวตะ พระอานนท์ ฯลฯ นั่งห้อมล้อม พระผู้มีพระภาค  พระเถระทั้งหลายต่างพากันให้โอวาท พร่ำสอนภิกษุด้วยกัน 10 รูปบ้าง 20 รูป 40 รูป บ้าง

พวกเธอจงปรารภความเพียร
เพื่อถึงคุณที่ตนยังไม่ถึง เพื่อบรรลุคุณ ที่ตนยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งคุณ ที่ตนยังไม่ทำให้แจ้ง … เราจักรออยู่ในเมืองสาวัตถีนี้ จนถึงวันครบ ๔ เดือน แห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท 

เมื่อครบ 4 เดือน แห่งฤดูฝน เป็นอุโบสถ 15 ค่ำ
ดอกโกมุทบาน(ดอกบัว) พระผู้มีพระภาคทรงเหลียว ดูภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิ่งเงียบ จึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้ไม่คุยกัน บริษัทนี้เงียบเสียงคุย  ดำรงอยู่ใน สารธรรม อันบริสุทธิ์ 

บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ ควรแก่การคำนับ ควรแก่การต้อนรับ 
ควรแก่ทักษิณาทาน ควรแก่การกระทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญ ของโลก อย่างหาที่อื่นยิ่งกว่ามิได้ 

ภิกษุสงฆ์ในบริษัทนี้ ย่อมมี
ผู้เป็นพระอรหันต ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ก็มีอยู่ (อรหันต์)
ผู้เป็นอุปปาติกะ เพราะสิ้นสัญโญชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้ง ๕ ก็มีอยู่ (อนาคามี)
ผู้เป็นพระสกคาทา เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ ทำราคะโทสะโมหะให้เบาบาง ก็มีอยู่ (สกทาคามี)
ผู้เป็นพระโสดาบัน เพราะสิ้น สัญโญชน์ ๓ ก็มีอยู่ (โสดาบัน)

เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็มีอยู่ (พิจารณา กาย-เวทนา-จิต-ธรรม)
เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญสัมมัปปธาน ๔ อยู่ (พิจารณายับยั้งบาปอกุศล-สร้างกุศล)
เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอิทธิบาท ๔ ก็มีอยู่ (พิจารณา ฉันทะ วิริยะ จิตต วิมังสา)
เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอินทรีย์ ๕ ก็มีอยู่ (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา)
เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญพละ ๕ ก็มีอยู่ (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา)

เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญโพชฌงค์ ๗ อยู่ ก็มีอยู่ 
เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญมรรคมีองค์ ๘ ก็มีอยู่ 

เป็นผู้ประกอบความ เพียร ในอันเจริญเมตตา ก็มีอยู่ (พรหมวิหาร ๔)
เป็นผู้ประกอบความ เพียร ในอันเจริญกรุณา ก็มีอยู่  (พรหมวิหาร ๔)
เป็นผู้ประกอบความ เพียร ในอันเจริญมุทิตาอยู่ ก็มีอยู่  (พรหมวิหาร ๔)
เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญอุเบกขาอยู่  ก็มีอยู่  (พรหมวิหาร ๔)

เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญ อสุภสัญญา ก็มีอยู่ (พิจารณาถึงความไม่งามของกาย)
เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญ อนิจจสัญญา ก็มีอยู่ (พิจารณาถึงความไม่เที่ยง)

เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญอานาปานสติ ก็มีอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
1) ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก
2) ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ 
3) ย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ 
4) ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติ ให้บริบูรณ์ได้ 

ก็อานาปานสติ  อย่างไร
ภิกษุอยู่ในป่าก็ดีอยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น เฉพาะหน้า  เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว …..

ก็ภิกษุที่เจริญอานาปานสติ ทำให้มากแล้วจึงบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ....
ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกาย ในกาย ...
ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ...
ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต ...
ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม...

ก็ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗
ให้บริบูรณ์ได้ เจริญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ วิชชา และวิมุตติย่อมบริบูรณ์

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔   หน้าที่ ๑๕๒ - ๑๖๐

๘.  อานาปานสติสูตร  (๑๑๘)


          [๒๘๒]  ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ปราสาทของ อุบาสิกาวิสาขา  มิคารมารดา  ในพระวิหารบุพพาราม  เขตพระนครสาวัตถี พร้อมด้วย พระสาวก ผู้เถระ มีชื่อเสียงเด่น มากรูปด้วยกันเช่น ท่านพระสารีบุตร  ท่านพระมหาโมค คัลลานะ  ท่านพระมหากัสสป  ท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระมหากปิณะ  ท่านพระมหาจุนทะ  ท่านพระเรวตะ  ท่านพระอานนท์ และ  พระสาวกผู้เถระ มีชื่อเสียงเด่นอื่นๆ 

        ก็สมัยนั้นแล  พระเถระทั้งหลายพากันโอวาทพร่ำสอน พวกภิกษุอยู่ คือ  พระเถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ  ๑๐  รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐  รูปบ้าง  บางพวกโอวาทพร่ำสอน  ๓๐  รูปบ้าง  บางพวกโอวาทพร่ำสอน  ๔๐  รูปบ้าง  ฝ่ายภิกษุนวกะเหล่านั้น  อันภิกษุผู้เถระโอวาทพร่ำสอนอยู่  ย่อมรู้ชัดธรรม วิเศษ อย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน 

        [๒๘๓]  ก็สมัยนั้นแล  พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ ห้อมล้อมประทับนั่ง กลางแจ้ง  ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ  วันนั้นเป็นวันอุโบสถ  ๑๕  ค่ำ ทั้งเป็นวัน ปวารณาด้วย  ขณะนั้น  พระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์  ซึ่งนิ่งเงียบอยู่ โดยลำดับ  จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เราปรารภในปฏิปทานี้  เรามีจิตยินดีในปฏิปทานี้  เพราะฉะนั้นแล  พวกเธอจงปรารภความเพียร เพื่อถึงคุณที่ตนยังไม่ถึง  เพื่อบรรลุ คุณที่ตนยังไม่บรรลุ  เพื่อทำให้แจ้งคุณที่ตนยังไม่ทำ ให้แจ้ง  โดยยิ่งกว่าประมาณ เถิด  เราจักรออยู่ในเมืองสาวัตถีนี้แล  จนถึงวันครบ ๔  เดือน แห่งฤดูฝน  เป็นที่บาน แห่งดอกโกมุท 

พวกภิกษุชาวชนบททราบข่าวว่า  พระผู้มีพระภาค จักรออยู่ในเมืองสาวัตถี นั้น  จนถึงวันครบ  ๔  เดือนแห่ง  ฤดูฝน  เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท  จึงพากัน หลั่งไหลมายังพระนครสาวัตถี  เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค  ฝ่ายภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ก็พากันโอวาท พร่ำสอนภิกษุนวกะเพิ่มประมาณขึ้น คือ  ภิกษุผู้เถระบางพวก โอวาท พร่ำสอนภิกษุ  ๑๐  รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน  ๒๐  รูปบ้าง บางพวกโอวาท พร่ำสอน  ๓๐  รูปบ้าง  บางพวกโอวาทพร่ำสอน๔๐  รูปบ้าง  และ ภิกษุนวกะ เหล่านั้น  อันภิกษุผู้เถระโอวาทพร่ำสอนอยู่  ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่าง กว้างขวาง ยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เมื่อครบ ๔ เดือน ทรงให้โอวาท กล่าวสรรเสริญหมู่ภิกษุ

        [๒๘๔]  ก็สมัยนั้นแล  พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ ห้อมล้อมประทับนั่ง กลางแจ้ง ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ  เป็นวันครบ  ๔  เดือน แห่งฤดูฝน  เป็นที่บานแห่ง ดอกโกมุท  วันนั้นเป็นวันอุโบสถ  ๑๕  ค่ำ  ขณะนั้น  พระผู้มีพระภาคทรงเหลียว ดูภิกษุสงฆ์  ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ  จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  บริษัทนี้ไม่คุยกัน  บริษัทนี้เงียบเสียงคุย  ดำรงอยู่ใน สารธรรม อันบริสุทธิ์  ดูกรภิกษุทั้งหลาย 

ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกัน กับบริษัท ที่ควรแก่การคำนับ  ควรแก่การ ต้อนรับ  ควรแก่ทักษิณาทาน  ควรแก่การ กระทำอัญชลี  เป็นเนื้อนาบุญ ของโลก อย่างหาที่อื่นยิ่งกว่ามิได้ 

ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัท ที่เขาถวายของน้อย มีผลมาก  และถวายของมาก มีผลมากยิ่งขึ้น 

ภิกษุสงฆ์นี้  บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัท  อันชาวโลกยากที่จะได้พบเห็น  ภิกษุสงฆ์นี้  บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทอันสมควรที่ แม้คน ผู้เอาเสบียง คล้องบ่า เดินทางไปชมนับเป็นโยชน์ๆ 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ภิกษุในบริษัทนี้ ประกอบด้วยภิกษุ ที่มีภูมิธรรมแตกต่างกัน

[๒๘๕]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ผู้เป็นพระอรหันต ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว  บรรลุ ประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ  แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ผู้เป็นอุปปาติกะ เพราะสิ้น สัญโญชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้ง ๕  จะได้ปรินิพพานในโลกนั้นๆ  มีอันไม่กลับ  มาจาก โลกนั้น อีกเป็นธรรมดา แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ผู้เป็นพระสกคาทา มีเพราะ สิ้นสัญโญชน์ ๓  อย่าง  และเพราะทำราคะ  โทสะ  โมหะให้เบาบางมายังโลกนี้ อีกครั้งเดียวเท่านั้น  ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้  แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ ก็มีอยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็นพระโสดาบัน เพราะสิ้น สัญโญชน์ ๓ อย่าง มีอันไม่ตกอบายเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะได้ตรัสรู้ใน เบื้องหน้า  แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญสติปัฏฐาน ๔  อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ 

        [๒๘๖]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ที่เป็นผู้ประกอบ ความเพียร ในอัน เจริญสัมมัปปธาน ๔  อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ที่เป็นผู้ประกอบความ  เพียร ในอันเจริญอิทธิบาท ๔  อยู่  แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ที่เป็นผู้ประกอบความ  เพียรในอันเจริญอินทรีย์ ๕ อยู่  แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ที่เป็นผู้ประกอบความ  เพียรในอันเจริญพละ  ๕  อยู่  แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ที่เป็นผู้ประกอบความ  เพียรในอันเจริญโพชฌงค์  ๗  อยู่  แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุน้  ก็มีอยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญมรรคมีองค์  ๘  อันประเสริฐอยู่  แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ที่เป็นผู้ประกอบความ  เพียร ในอันเจริญเมตตาอยู่  แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ที่เป็นผู้ประกอบความ  เพียร ในอันเจริญกรุณาอยู่  แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้  ก็มีอยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ที่เป็นผู้ประกอบความ  เพียร ในอันเจริญมุทิตาอยู่  แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้  ก็มีอยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญอุเบกขาอยู่  แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้  ก็มีอยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญ อสุภสัญญาอยู่  แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้  ก็มีอยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญอนิจจสัญญาอยู่  แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้  ก็มีอยู่

        [๒๘๗]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้  ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญอานาปานสติอยู่ 

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ปฏิบัติธรรม และ บรรลุธรรมไปตามลำดับ
อานาปานสติ เจริญสติปัฏฐาน ๔ เจริญโพชฌงค์ ๗  วิชชาและวิมุตติ
 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย
๑) อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม มีผลมากมีอานิสงส์มาก

๒) ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้วย่อม บำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้ บริบูรณ์ได้ 

๓)
ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้ บริบูรณ์ได้ 

๔)
ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติ ให้ บริบูรณ์ได้ 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เจริญอานาปานสติ ย่อมมีผลมาก  มีอานิสงส์มาก

        [๒๘๘]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็อานาปานสติ  อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร  ทำให้มากแล้วอย่างไร  จึงมีผลมาก  มีอานิสงส์มาก  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุใน  ธรรมวินัยนี้  อยู่ในป่าก็ดีอยู่ที่โคนไม้ก็ดี  อยู่ในเรือนว่างก็ดี  นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง  ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า 

เธอย่อมมีสติหายใจออก  มีสติหายใจเข้าเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า  หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออก สั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น 

สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลม ทั้งปวง หายใจออกว่า เราจักเป็นผู้
กำหนดรู้กองลมทั้งปวง  หายใจเข้า 

สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร  หายใจเข้า

สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ  หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ  หายใจเข้า 

สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข  หายใจเข้า 

สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ จิตสังขาร  หายใจเข้า 

สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออกว่า เราจักระงับจิต สังขาร 
หายใจเข้า 

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต  หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต  หายใจเข้าสำเหนียกอยู่  ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก  ว่าเราจักทำจิต ให้ ร่าเริง หายใจ เข้า 

สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น  หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต  หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต  หายใจเข้า 

สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ ตามพิจารณา ความไม่เที่ยงหายใจเข้า 

สำเหนียกอยู่  ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา ความคลายกำหนัด หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้ตาม พิจารณาความคลายกำหนัดหายใจเข้า 

สำเหนียกอยู่  ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา ความดับกิเลส หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา ความดับกิเลส หายใจเข้า 

สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา ความสละคืนกิเลส หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา ความสละคืนกิเลส หายใจเข้า   

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้  ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล  จึงมีผลมาก  มีอานิสงส์มาก 
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

บำเพ็ญ สติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์

        [๒๘๙]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญอานาปานสติ แล้วอย่างไร  ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔  ให้บริบูรณ์ได้ 

ดูกรภิกษุทั้งหลายสมัยใด  เมื่อภิกษุหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว  หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า  หายใจ ออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ กองลมทั้งปวง หายใจเข้า  สำเหนียกอย่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร  หายใจออก ว่าเราจักระงับ กายสังขาร  หายใจเข้า 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น  ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกาย ในกาย  มีความเพียร  รู้สึกตัวมีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวลมหายใจออก ลมหายใจเข้านี้  ว่าเป็นกายชนิด หนึ่ง ในพวกกาย เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกาย ในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ  หายใจออกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า สำเหนียกอยู่  ว่าเราจักเป็นผู้ กำหนดรู้สุข หายใจออกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่าเรา จักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนด รู้จิตสังขาร หายใจ เข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออกว่าเราจักระงับ จิตสังขาร  หายใจเข้า 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา  มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เป็นอย่างดี นี้ ว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่ง ในพวกเวทนา เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า  พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัวมีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัส ในโลกเสียได้อยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนด รู้จิต  หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักทำจิต ให้ร่าเริง หายใจออก ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่าเราจัก ตั้งจิตมั่น หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่าเรา จักเปลื้องจิต หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า 

ดูกรภิกษุทั้งหลายในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร  รู้สึกตัว มีสติกำจัดอภิชฌา และโทมนัส ในโลกเสียได้อยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวอานาปานสติ แก่ภิกษุผู้เผลอสติ ไม่รู้สึกตัวอยู่ เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร  รู้สึกตัว มีสติกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตาม พิจารณา  ความไม่เที่ยงหายใจออก ว่าเราจัก เป็น ผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา ความคลายกำหนัด หายใจออก ว่าเราจัก เป็นผู้ตามพิจารณา ความคลายกำหนัดหายใจเข้า  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตาม พิจารณา ความดับกิเลส หายใจออก ว่าเราจัก เป็นผู้ตามพิจารณา ความดับกิเลส  หายใจเข้า  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา ความสละคืนกิเลส  หายใจ ออกว่าเราจัก เป็นผู้ตามพิจารณา ความสละคืนกิเลส หายใจเข้า 

        ดูกรภิกษุทั้งหลายในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลก เสียได้อยู่ เธอเห็น การ ละอภิชฌา และโทมนัสด้วยปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี  เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณ าเห็นธรรมในธรรม มีความเพียรรู้สึกตัว มีสติ  กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

บำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ (เห็นกายในกาย)

        [๒๙๐]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ 

        
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้นสติ ย่อมเป็นอันเธอ ผู้เข้าไปตั้งไว้ แล้ว ไม่เผลอเรอ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ  ในสมัยนั้น (1)สติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญ สติสัมโพชฌงค์สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์ แก่ภิกษุ  เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่  ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณา ธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้าไตร่ตรอง
ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา 
ในสมัยนั้น (2) ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์  ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น  ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึง ความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอ  เมื่อค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภ  ความเพียรไม่ย่อหย่อน 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณา ธรรม นั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น (3)  วิริยสัมโพชฌงค์  ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์สมัยนั้น  วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติ ปราศจากอามิส ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้น แก่ภิกษุผู้ปรารภ  ความเพียรแล้ว ในสมัยนั้น (4) ปีติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น  ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึง ความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุ ผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้  ในสมัยนั้น (5)ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข  ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น (6)สมาธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึง ความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉย จิตที่ตั้งมั่นแล้ว เช่นนั้น ได้เป็นอย่างดี

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉย จิตที่ตั้งมั่นแล้ว เช่นนั้นได้  เป็นอย่างดี  ในสมัยนั้น (7) อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว  สมัยนั้นภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ 

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร  รู้สึกตัวมีสต  กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น  สติย่อมเป็นอันเธอ ผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด  ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น  สติย่อมเป็น อันเธอ ผู้เข้าไป ตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ...

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็น อันเธอ ผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ  ในสมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความ บริบูรณ์แก่ภิกษ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความ พิจารณาธรรมนั้น ด้วยปัญญา 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง  ถึงความพิจารณาธรรมนั้น ด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจย สัมโพชฌงค์ ย่อมเป็น อันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรม วิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญ และความ บริบูรณ์แก่ภิกษุ เมื่อเธอค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้น ด้วยปัญญา อยู่ ย่อมเป็นอันปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรม นั้น ด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น  วิริยสัมโพชฌงค์ย่อม  เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติปราศจากอามิส ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ผู้ปรารภความเพียรแล้ว 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภ  ความเพียรแล้ว ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุ ผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้  ในสมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุ ชื่อว่า ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึง ความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภ แล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อม เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึง ความเจริญ และความ บริบูรณ์แก่ภิกษุภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้ว เช่นนั้นได้ เป็นอย่างดี 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉย จิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้  เป็นอย่างดี  ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น  ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึง ความเจริญ และความบริบูรณ์ แก่ภิกษุ 

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เจริญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ วิชชา และวิมุตติย่อมบริบูรณ์

        [๒๙๑]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างไร ทำให้  มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญวิชชา และวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้  ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ  อาศัยนิโรธ อันน้อมไป เพื่อความปลดปล่อย  ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์  ...  ย่อม เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ..ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์... ย่อมเจริญปัสสัทธิ  สัมโพชฌงค์  ...ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์  ..ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชา และวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ 

        พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิต ของพระผู้มีพระภาคแล 

จบ  อานาปานสติสูตร  ที่  ๘



(45)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๒๕๑ - ๒๕๒

พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถา ธรรมอย่างหนึ่ง - ธรรม ๑๐ อย่าง
ทสุตตรสูตร

         [๓๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูปประทับอยู่ ณ ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา เขตนครจัมปา ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตรเรียก ภิกษุทั้งหลายแล้ว ภิกษุพวกนั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวว่า

         [๓๖๕] เราจักกล่าวธรรมอย่างสูงสิบหมวด สำหรับเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัด ทั้งหมด เพื่อถึงพระนิพพาน เพื่อกระทำที่สุด แห่งทุกข์ ฯ

ธรรมอย่างหนึ่ง P1131
ธรรม ๒ อย่าง P1132
ธรรม ๓ อย่าง P1133
ธรรม ๔ อย่าง P1134
ธรรม ๕ อย่าง P1135
ธรรม ๖ อย่าง P1136
ธรรม ๗ อย่าง P1137
ธรรม ๘ อย่าง P1138
ธรรม ๙ อย่าง P1139
ธรรม ๑๐ อย่าง P1140


 



(46
)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๑

อัฏฐกวัคคิกะ

กามสุตตนิทเทสที่ ๑


(46.1)
ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง (วัตถุกาม กิเลสกาม)

(ย่อ)
วัตถุกามเป็นไฉน?
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ แพะ แกะ ไก่
สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทองบ้าน นิคม ราชธานี แว่นแคว้น ชนบท
กองพลรบ คลัง และ วัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
อีกอย่างหนึ่ง : กามที่เป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก ชนิดเลว ปานกลาง ประณีต.. ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหา ความใคร่  ความกำหนัด อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา เหล่านี้
เรียกว่า วัตถุกาม

กิเลสกามเป็นไฉน? ความพอใจ ความกำหนัด ความพอใจและความกำหนัด ความดำริ ความกำหนัดมาก ความดำริและความกำหนัด ความพอใจคือความใคร่ ความกำหนัด คือความใคร่ ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ในกามทั้งหลาย ความปรารถนาในกาม ความเสน่หาในกามความเร่าร้อนในกาม ความหลงในกาม ความติดใจในกาม ห้วง
คือกาม ความประกอบในกามความยึดถือในกาม เครื่องกั้นกาง คือกามฉันทะ

     [๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อสัตว์ปรารถนากามอยู่ ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่ สัตว์นั้นสัตว์นั้นได้ กามตามปรารถนาแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน.

     [๒] กามในคำว่า เมื่อปรารถนากามอยู่ ได้แก่ กาม ๒ อย่าง โดยหัวข้อ คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑.

     วัตถุกามเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ เครื่องลาดเครื่อง นุ่งห่ม ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทองบ้าน นิคม ราชธานี แว่นแคว้น ชนบท กองพลรบ คลัง และวัตถุเป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วัตถุกาม. 
อีกอย่างหนึ่ง

- กามที่เป็นอดีต กามที่เป็นอนาคต กามที่เป็นปัจจุบัน
- ที่เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก
- ชนิดเลว ชนิดปานกลาง ชนิดประณีต
- ป็นของสัตว์ผู้เกิดในอบาย เป็นของมนุษย์ เป็นของทิพย์ที่ปรากฏเฉพาะหน้า
- ที่นิรมิตเอง ที่ผู้อื่นนิรมิต
- ที่หวงแหน ที่ไม่ได้
หวงแหน
- ที่ยึดถือว่าของเรา ที่ไม่ยึดถือว่าของเรา
- ธรรมที่เป็นกามาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นรูปาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นอรูปาวจร แม้ทั้งหมด
- ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหา
ชื่อว่า กาม เพราะอรรถว่า อันบุคคลพึงใคร่เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา กามเหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม.

     กิเลสกามเป็นไฉน? ความพอใจความกำหนัด ความพอใจและความกำหนัด ความดำริ ความกำหนัดมาก ความดำริและความกำหนัด ความพอใจคือความใคร่ ความกำหนัด คือความใคร่ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ในกามทั้งหลาย ความปรารถนาในกาม ความเสน่หาในกามความเร่าร้อนในกาม ความหลงในกาม ความติดใจในกาม ห้วงคือกาม ความประกอบในกามความยึดถือในกาม เครื่องกั้นกาง คือกามฉันทะ ชื่อว่า กาม. สมจริงดังคำว่า ดูกรกาม เราเห็นรากฐานของท่านแล้วว่า ท่านย่อมเกิดเพราะความดำริ เราจักไม่ดำริถึงท่าน ท่านจักไม่มีอย่างนี้. กามเหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม.
คำว่า เมื่อปรารถนากามอยู่ มีความว่า เมื่อใคร่ อยากได้ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย ชอบใจกามอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อปรารถนากามอยู่.

     [๓] คำว่า ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น มีความว่า คำว่า สัตว์นั้น ได้แก่ สัตว์ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาหรือมนุษย์.

      คำว่า กามนั้นได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ชอบใจ ซึ่งเรียกว่า วัตถุกาม. คำว่า ย่อมสำเร็จมีความว่า ย่อมสำเร็จ สำเร็จโดยชอบได้ ได้เฉพาะ ประสบ พบ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น.

     [๔] คำว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน มีความว่า คำว่า แน่นอน เป็นคำกล่าว โดยส่วนเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความสงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความเคลือบ แคลง เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองส่วน เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองอย่าง เป็นคำกล่าว ไม่รวมกัน เป็นคำกล่าวไม่ผิด คำว่าแน่นอนนี้ เป็นคำกล่าวกำหนดแน่.

     คำว่า อิ่ม คือ ความอิ่ม ความปราโมทย์ ความเบิกบานความบันเทิง ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความยินดี ความชื่นใจ ความชอบใจความเต็มใจ ที่ประกอบพร้อมเฉพาะ ด้วยกามคุณ ๕.

     คำว่า ใจ คือ จิต มนะ มานัส หทัย บัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ที่เกิดแต่ผัสสะเป็นต้นนั้น นี้เรียกว่า ใจ.

     ใจนี้ สหรคต คือ เกิดร่วม เกี่ยวข้อง ประกอบ เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน มีวัตถุอย่างเดียวกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน กับด้วยความอิ่มนี้.

     คำว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจ คือเป็นผู้มีใจยินดี มีใจร่าเริง มีใจเบิกบาน มีใจดี มีใจสูง มีใจปลาบปลื้ม เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน.

     [๕] คำว่า สัตว์นั้นได้กามตามปรารถนาแล้ว มีความว่า คำว่า ได้ คือ ได้ ได้แล้ว ได้เฉพาะ ประสบ พบ. คำว่า สัตว์ คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์. คำว่า ตามปรารถนา คือ รูป เสียง กลิ่น รส หรือโผฏฐัพพะ ตามปรารถนา ยินดี ประสงค์ มุ่งหมาย ชอบใจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์นั้นได้กาม ตามปรารถนาแล้ว.

    
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เมื่อสัตว์ ปรารถนากามอยู่ ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น สัตว์นั้นได้ กามตามปรารถนาแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน.



(46.2)
ผู้ปราถนากาม กามเปรียบเหมือนถูกแทงด้วยลูกศร

(ย่อ)
กาม เหมือนลูกศรแทง
เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว ถ้ากาม
เหล่านั้นเสื่อมไป สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว

ความปรารถนาในกาม คือ เมื่อใคร่ อยากได้ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย ชอบใจ

คำว่าฉันทะได้แก่
ความพอใจในกาม ความกำหนัด ความเพลิน ความอยาก
ความเสน่หา ความเร่าร้อน ความหลง ความติดใจในกาม

       [๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ เมื่อสัตว์มีฉันทะ เกิดแล้ว ถ้ากามเหล่านั้นเสื่อมไป สัตว์นั้น ย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูก ลูกศรแทง เข้าแล้ว.

      [๗] คำว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ มีความว่า คำว่า เมื่อสัตว์นั้น ได้แก่ สัตว์ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์.
คำว่าปรารถนากามอยู่ คือ เมื่อใคร่ อยากได้ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย ชอบใจ.
อีกอย่างหนึ่งสัตว์ย่อมไป ออกไป ลอยไป แล่นไป เพราะกามตัณหา เปรียบเหมือน มนุษย์ย่อมไป ออกไปลอยไป แล่นไปด้วยยานช้างบ้าง ยานม้าบ้าง ยานโคบ้าง ยานแพะบ้าง ยานแกะบ้าง ยานอูฐบ้างยานลาบ้าง ฉันใด สัตว์ย่อมไป ออกไป ลอยไป แล่นไป เพราะกามตัณหา ฉันนั้น เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่.

      [๘] คำว่า เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว ความว่า คำว่า ฉันทะ ได้แก่ ความพอใจ ในกาม ความกำหนัดในกาม ความเพลินในกาม ความอยากในกาม ความเสน่หา ในกาม ความเร่าร้อนในกาม ความหลงในกาม ความติดใจในกาม ห้วงคือกาม ความประกอบคือกาม ความยึดถือในกาม เครื่องกั้นกางคือกามฉันทะ ความพอใจ ในกามนั้น เกิดแล้ว เกิดพร้อม เกิดขึ้นเกิดเฉพาะ ปรากฏแล้วแก่สัตว์นั้น. คำว่า สัตว์ คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิตผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

(46.3)
กามเสื่อม ไปได้อย่างไร

(ย่อ)
กามเสื่อมไปอย่างไร : ถูกพระราชาริบไปบ้าง ถูกโจรลักไปบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกน้ำพัด ไปบ้าง ถูกพวกญาติผู้ไม่เป็นที่ชอบใจนำไปบ้าง ไม่พบโภคทรัพย์ที่เก็บ ฝังไว้บ้าง โภคทรัพย์ ย่อมเสื่อม เสียหาย กระจัดกระจาย รั่วไหล อันตรธาน

เพราะเหตุนั้น เมื่อสัตว์ปรารถนากามอยู่ มีฉันทะเกิดขึ้น ถ้ากามเหล่านั้นเสื่อมไป สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศร แทงเข้าแล้ว ผู้ใดเว้นขาดกาม ทั้งหลาย ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกา(กำหนัด) นี้ ในโลกเสียได้

     [๙] คำว่า ถ้ากามเหล่านั้นเสื่อมไป มีความว่า กามเหล่านั้นเสื่อมไปบ้าง สัตว์นั้น เสื่อมจากกามทั้งหลายบ้าง.

     กามเหล่านั้น เสื่อมไปอย่างไร? เมื่อสัตว์นั้น ดำรงอยู่นั่นแหละ โภคะ (ทรัพย์) เหล่านั้น ถูกพระราชาริบไปบ้าง ถูกโจรลักไปบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกน้ำพัดไปบ้าง ถูกพวกญาติ ผู้ไม่เป็นที่ชอบใจนำไปบ้าง สัตว์นั้น ไม่พบโภคทรัพย์ที่เก็บฝังไว้บ้าง การงานที่ ประกอบ ไม่ดีเสียไปบ้าง คนผลาญสกุล ผู้แจกจ่ายกระจัดกระจาย ทำลายโภคะ เหล่านั้น ย่อมเกิดในสกุลบ้าง ความเป็นของ ไม่เที่ยงแห่งโภคะ เป็นที่แปด กาม เหล่านั้นย่อมเสื่อม เสียหาย กระจัดกระจาย รั่วไหล อันตรธาน สูญหายไปอย่างนี้.

     สัตว์นั้น ย่อมเสื่อมจากกามทั้งหลายอย่างไร? โภคะเหล่านั้น ยังตั้งอยู่นั้นแหละ สัตว์นั้นย่อมเคลื่อน ตาย อันตรธาน สูญหายไปจากโภคะเหล่านั้น สัตว์นั้นย่อมเสื่อม เสียหายกระจัดกระจาย รั่วไหล อันตรธาน สูญหายไปจาก กาม ทั้งหลายอย่างนี้ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โภคทรัพย์ทั้งหลาย ถูกโจรลักไป ถูกพระราชา ริบไป ถูกไฟไหม้ เสียหายอนึ่ง บุคคลผู้เป็นเจ้าของย่อมละทิ้งสรีรกาย กับทั้งข้าวของ เพราะความตาย นักปราชญ์ทราบเหตุนี้แล้ว พึงใช้สอยบ้าง พึงให้ ทานบ้าง ครั้นให้ทาน และใช้สอยตามสมควรแล้ว เป็นผู้ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าถึง สถาน คือ สวรรค์. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กามเหล่านั้นย่อมเสื่อมไป.

[๑๐] คำว่า สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว มีความว่า สัตว์ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยเหล็กแทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศร ที่ทำด้วยกระดูก แทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยงาแทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยเขาแทง เข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยไม้ แทงเข้าแล้วบ้าง ย่อมกระสับกระส่าย หวั่นไหว ดิ้นรน จุกเสียด เจ็บตัว เจ็บใจฉันใด ความโศกรำพัน เจ็บกาย เจ็บใจ และคับแค้นใจ ย่อมเกิดขึ้น เพราะวัตถุกามทั้งหลายแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป สัตว์นั้นถูกลูกศร คือกามแทง เข้าแล้ว ย่อมกระสับกระส่ายหวั่นไหวดิ้นรน จุกเสียด เจ็บกาย เจ็บใจ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูก ลูกศรแทงเข้าแล้ว.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ เมื่อสัตว์มีฉันทะ เกิดขึ้น ถ้ากามเหล่านั้นเสื่อมไป สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศร แทงเข้าแล้ว.

     [๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ใด ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย เหมือนบุคคล เว้นขาดหัวงูด้วยเท้า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้.



(46.4)
ว่าด้วยการเว้นขาดกามด้วยเหตุ ๒ ประการ
(โดยการข่มไว้ โดยการตัดขาด)

(ย่อ)
1. เว้นขาดโดยการข่มไว้ ด้วยการเจริญสติ
ข่มไว้ด้วยการเจริญพุทธานุสสติ..ธัมมานุสสติ..สังฆานุสสติ. สีลานุสสติ..จาคานุสสติ ..เจริญเทวตานุสสติ ..อานาปานัสสติ...มรณานุสสติ ...กายคตาสติ...อุปสมานุสสติ
   ข่มไว้ด้วยการเจริญภาวนา ฌาณ ๑-๘
แม้ผู้เจริญปฐมฌาน...ทุติยฌาน...ตติยฌาน...จตุตถฌาน... อากาสานัญจา... วิญญาณัญจา ...อากิญจัญญา ... เนวสัญญา

2. ย่อมเว้นขาดกาม โดยการตัดขาด
แม้บุคคล ผู้เจริญโสดาปัตติมรรค เว้นขาดกามอันให้ไปสู่อบาย
แม้บุคคล ผู้เจริญสกทาคามิมรรค เว้นขาดกามส่วนหยาบ
แม้บุคคล ผู้เจริญอนาคามิมรรค เว้นขาดกามอันเป็นส่วนละเอียด
แม้บุคคล ผู้เจริญอรหัตมรรค เว้นขาดกามโดยอาการทั้งปวง ไม่มิส่วนเหลือ

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้ใดย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย เหมือนบุคคล เว้นขาดหัวงูด้วยเท้า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้น ตัณหา

     [๑๒] คำว่า ผู้ใด ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย มีความว่า คำว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ผู้ประกอบอย่างใด ผู้ชนิดอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด ผู้ประกอบด้วย ธรรมใด เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร์ เป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต เป็นเทวดา หรือเป็นมนุษย์. กาม ในคำว่า ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย ได้แก่ กาม ๒ อย่าง โดยหัวข้อ คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑

วัตถุกามเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ ฯลฯ กามเหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ กามเหล่านี้ เรียกว่า กิเลสกาม.

คำว่า ย่อมเว้นขาดกามคือ ย่อมเว้นขาดกาม โดยเหตุ ๒ ประการ คือ
โดยการข่มไว้อย่าง ๑
โดยการตัดขาดอย่าง ๑.


ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้อย่างไร?
บุคคลผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยโครงกระดูก
เพราะอรรถว่า เป็นของมี ความยินดีน้อย ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยชิ้นเนื้อ
เพราะอรรถว่าเป็นของสาธารณะแก่ชน หมู่มาก ย่อมเว้นขาดกามโดย การข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยคบเพลิง
เพราะอรรถว่าเป็นของตามเผา ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง
เพราะอรรถว่าเป็นของ ให้เร่าร้อน มาก ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยความฝัน
เพราะอรรถว่าเป็นของปรากฏชั่วเวลา น้อย ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยของขอยืม
เพราะอรรถว่า เป็นของเป็นไปชั่วกาล ที่กำหนด ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยต้นไม้มีผลดก
เพราะอรรถว่า เป็นของ ให้กิ่งหัก และ ให้ต้นล้ม ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยดาบ และมีด
เพราะอรรถว่าเป็นของฟัน ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกหลาว
เพราะอรรถว่าเป็นของทิ่มแทง ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหัวงู
เพราะอรรถว่าเป็นของน่าสะพึงกลัว ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยกองไฟ
เพราะอรรถว่าเป็นดังไฟกองใหญ่ ให้เร่าร้อน

(ข่มไว้ด้วยการเจริญสติ)
ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ แม้ผู้เจริญพุทธานุสสติ
ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ แม้ผู้เจริญธัมมานุสสติ
ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ แม้ผู้เจริญสังฆานุสสติ ...  แม้ผู้เจริญสีลานุสสติ ...แม้ผู้เจริญจาคานุสสติ ... แม้ผู้เจริญเทวตานุสสติ ... แม้ผู้เจริญอานาปานัสสติ ... แม้ผู้เจริญมรณานุสสติ ... แม้ผู้เจริญกายคตาสติ ... แม้ผู้เจริญอุปสมานุสสติ ...

(ข่มไว้ด้วยการเจริญภาวนา ฌาณ ๑-๘)
แม้ผู้เจริญปฐมฌาน ... แม้ผู้เจริญทุติยฌาน ...  แม้ผู้เจริญตติยฌาน ... แม้ผู้เจริญจตุตถฌาน ... แม้ผู้เจริญอากาสานัญจายตนสมาบัติ ... แม้ผู้เจริญวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ... แม้ผู้เจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติ ... แม้ผู้เจริญเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.
ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้อย่างนี้.

ย่อมเว้นขาดกาม โดยการตัดขาดอย่างไร?
แม้บุคคล ผู้เจริญโสดาปัตติมรรคย่อมเว้นขาดกามอันให้ไปสู่อบายโดยการตัดขาด
แม้บุคคล ผู้เจริญสกทาคามิมรรค ย่อมเว้นขาดกามส่วนหยาบโดยการตัดขาด
แม้บุคคล ผู้เจริญอนาคามิมรรค ย่อมเว้นขาดกามอันเป็นส่วนละเอียดโดยการตัดขาด
แม้บุคคล ผู้เจริญอรหัตมรรค ย่อมเว้นขาดกามโดยอาการทั้งปวง โดยประการทั้งปวง หมดสิ้น มิได้มีส่วนเหลือ โดยการตัดขาด.

ย่อมเว้นขาดกามโดยการตัดขาดอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ใดย่อม เว้นขาด กามทั้งหลาย

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(เหมือนบุคคล เว้นขาดหัวงูด้วยเท้า)

[๑๓] คำว่า เหมือนบุคคล เว้นขาดหัวงูด้วยเท้า มีความว่า งูเรียกว่าสัปปะ.
เพราะอรรถว่าอะไร งูจึงเรียกว่าสัปปะ.
เพราะอรรถว่า เสือกไป งูจึงเรียกว่าสัปปะ.
เพราะอรรถว่า ขนดไป งูจึงเรียกว่าภุชคะ. 
เพราะอรรถว่า ไปด้วยอก งูจึงเรียกว่าอุรคะ.
เพราะอรรถว่า มีหัวตกไป งูจึงเรียกปันนคะ
เพราะอรรถว่า นอนด้วยหัว งูจึงเรียกว่าสิริสปะ.
เพราะอรรถว่า นอนในรู งูจึงเรียกว่าวิลาสยะ.
เพราะอรรถว่า นอนในถ้ำ งูจึงเรียกว่าคุหาสยะ.
เพราะอรรถว่า มีเขี้ยวเป็นอาวุธ งูจึงเรียกว่าทาฒาวุธ.
เพราะอรรถว่า มีพิษร้ายแรง งูจึงเรียกว่าโฆรวิสะ.
เพราะอรรถว่า มีลิ้นสองแฉก งูจึงเรียกว่าทุชิวหา.

เพราะอรรถว่าลิ้มรสด้วยลิ้นสองแฉก งูจึงเรียกว่าทิรสัญญู

บุรุษผู้ใคร่ต่อชีวิต ไม่อยากตาย อยากได้สุข เกลียดทุกข์ พึงเว้น หลีก เลี้ยว อ้อมหนี หัวงูด้วยเท้า ฉันใด บุคคลผู้รักสุข เกลียดทุกข์ พึงเว้น หลีกเลี่ยง อ้อมหนีกาม ทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

[๑๔] คำว่า ผู้นั้น เป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ มีความว่า คำว่า ผู้นั้น คือ ผู้เว้นขาดกามทั้งหลาย.

ตัณหาเรียกว่า วิสัตติกา ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า
ความพอใจ ความชอบใจ ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยสามารถ แห่งความเพลิดเพลิน ความกำหนัดกล้าแห่งจิต ความปรารถนา ความหลง ความติดใจ ความยินดี ความยินดีทั่วไป ความข้อง ความติดพัน ความแสวงหา ความลวง ความให้สัตว์เกิด ความให้สัตว์เกี่ยวกับทุกข์ ความเย็บไว้ ความเป็นดังว่าข่าย ความเป็นดังว่ากระแสน้ำ ความซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ความเป็นดังว่าเส้นด้าย ความกระจายไป ความให้อายุเสื่อมไป ความเป็นเพื่อน ความตั้งมั่น เครื่องนำไปสู่ภพ ความติดอารมณ์ ความตั้งอยู่ในอารมณ์ ความสนิทความรัก ความเพ่งเล็ง ความผูกพัน ความหวัง ความจำนง ความประสงค์ ความหวังในรูปความหวังในเสียง ความหวังในกลิ่น ความหวังในรส ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวังในลาภ ความหวังในทรัพย์ ความหวังในบุตร ความหวังในชีวิต ความปรารถนา ความให้สัตว์ปรารถนา ความที่จิตปรารถนา ความเหนี่ยวรั้ง ความให้สัตว์เหนี่ยวรั้ง ความที่จิตเหนี่ยวรั้งความหวั่นไหว อาการแห่งความหวั่นไหว ความพรั่งพร้อมด้วยความหวั่นไหว ความกำเริบความใคร่ดี ความกำหนัดในที่ผิดธรรม ความโลภไม่เสมอ ความใคร่ อาการแห่งความใคร่ ความมุ่งหมาย ความปอง ความปรารถนาดี กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ โยคะ คันถะ อุปาทาน ความกั้น ความปิด ความบัง ความผูกความเข้าไปเศร้าหมอง ความนอนเนื่อง ความกลุ้มรุมจิต ความเป็นดังว่าเถาวัลย์ ความปรารถนาวัตถุต่างๆ รากเง่าแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แดนเกิดแห่งทุกข์ บ่วงมาร เบ็ดมาร วิสัยมารแม่น้ำตัณหา ข่ายตัณหา โซ่ตัณหา สมุทรตัณหา อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล เรียกว่า วิสัตติกา.

คำว่า วิสัตติกา ความว่า เพราะอรรถว่าอะไร ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา.
[อันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ] เพราะอรรถว่า ซ่านไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.
เพราะอรรถว่าแผ่ไป ตัณหาจึงชื่อว่าสัตติกา.
เพราะอรรถว่าแล่นไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.
เพราะอรรถว่าครอบงำ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.
เพราะอรรถว่าสะท้อนไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.
เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้พูดผิด ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.
เพราะอรรถว่ามีมูลรากเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.
เพราะอรรถว่ามีผลเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.
เพราะอรรถว่าเปรียบด้วยเครื่องบริโภคเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.

อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้นแผ่ไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุลคณะ ที่อยู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารกามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญา

ภพเอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ ในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน แล่นไป ซ่านไปในรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยินแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบแล้ว และ ในธรรม ที่พึงรู้แจ้งตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา.

คำว่า ในโลก คือ อบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก.

คำว่า เป็นผู้มีสติ ได้แก่เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ เมื่อเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในกาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในเวทนาทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในจิต ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เมื่อเจริญธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ.

เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔อย่าง แม้อื่นอีก คือ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเว้นจากความเป็นผู้ ไม่มีสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้กระทำธรรมทั้งหลาย ที่ควรทำด้วยสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้กำจัดธรรมทั้งหลาย ที่เป็น ข้าศึกต่อสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หลงลืมธรรมทั้งหลาย ที่เป็นนิมิตแห่งสติ.

เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เพราะเป็นผู้อยู่ด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เพราะเป็นผู้คล่องแคล่วด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เพราะเป็นผู้ไม่หวนกลับจากสติ.

เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ระลึกได้
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้สงบ
ชื่อว่าเป็น ผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ระงับ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ของสัตบุรุษ.

ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะพุทธานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะธรรมานุสสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะสังฆานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะสีลานุสสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะจาคานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเทวตานุสสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะอานาปานัสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะมรณานุสสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะกายคตาสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะอุปสมานุสสติ.

ความระลึก ความระลึกถึง ความระลึกเฉพาะ ความระลึก กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค ธรรมนี้เรียกว่า สติ

บุคคลเป็นผู้เข้าใกล้ เข้าชิด เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ประกอบด้วยสตินี้ บุคคลนั้นเรียกว่า มีสติ

คำว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ มีความว่า เป็นผู้มีสติ ย่อมข้าม ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลย ตัณหาชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้

    
  เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้ใดย่อมเว้นขาด กามทั้งหลายเหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้น ตัณหา อันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้

[๑๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นรชนใด ย่อมปรารถนาไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส คนภายใน สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก

[๑๖] คำว่า ไร่นา ที่ดิน เงิน มีความว่า ไร่นา คือ ไร่ข้าวสาลี ไร่ข้าวจ้าว ไร่ถั่วเขียว ไร่ถั่วราชมาส ไร่ข้าวเหนียว ไร่ข้าวละมาน ไร่งา. คำว่า ที่ดิน คือ ที่เรือน ที่ฉาง ที่หน้าเรือน ที่หลังเรือน ที่สวน ที่อยู่. คำว่า เงิน คือ กหาปณะ เรียกว่า เงิน เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ไร่นา ที่ดิน เงิน



(46.5)
ว่าด้วยทาส ๔ จำพวก


(ย่อ)
 ทาส ๔ จำพวก
    1.ทาสที่เกิดภายใน
    2.ทาสที่ซื้อมา ด้วยทรัพย์
    3.ผู้ที่สมัครเข้าถึง ความเป็นทาสเอง
    4.เชลยผู้ที่เข้าถึง ความเป็นทาส


      [๑๗] คำว่า โค ม้า ทาส คนภายใน มีความว่า โคทั้งหลายเรียกว่า โค.
ปสุสัตว์เป็นต้น เรียกว่า ม้า. คำว่า ทาส ได้แก่ ทาส ๔ จำพวก คือ
      ทาสที่เกิดภายใน ๑
      ทาสที่ซื้อมา ด้วยทรัพย์ ๑
      ผู้ที่สมัครเข้าถึง ความเป็นทาสเอง ๑

      เชลยผู้ที่เข้าถึง ความเป็นทาส ๑.

      สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คนบางพวกเป็นทาส โดยกำเนิด บ้าง คนบางพวก เป็นทาสที่เขาซื้อมาด้วยทรัพย์บ้าง คนบางพวกสมัครเข้าเป็นทาส เองบ้าง คนบางพวก เป็นทาส เพราะตกเป็นเชลยบ้าง.
      คำว่า คนภายใน ได้แก่ บุรุษ ๓ จำพวก คือ คนรับจ้าง ๑ กรรมกร ๑ พวกอยู่อาศัย ๑ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า โค ม้า ทาส คนภายใน.

      [๑๘] คำว่า สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก มีความว่าสตรีที่มีเจ้าของเรียกว่าสตรี
      คำว่า พวกพ้อง ได้แก่ พวกพ้อง ๔ จำพวก คือ พวกพ้องโดยเป็นญาติ ชื่อว่าพวกพ้อง ๑ พวกพ้องโดยโคตร ชื่อว่าพวกพ้อง ๑ พวกพ้องโดยการเรียนมนต์ ชื่อว่าพวกพ้อง ๑ พวกพ้องโดยการเรียนศิลปะ ชื่อว่าพวกพ้อง ๑.
      คำว่า กามเป็นอันมาก คือ กามมาก.
      กามมากเหล่านี้ได้แก่ รูปที่ชอบใจ เสียงที่ชอบใจ กลิ่นที่ชอบใจ รสที่ชอบใจ โผฏฐัพพะที่ชอบใจ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก.

      [๑๙] คำว่า นรชนใด ย่อมปรารถนา มีความว่า คำว่า ใด คือ เช่นใด ประกอบอย่างใด จัดแจงอย่างใด มีประการอย่างใด ถึงฐานะอย่างใด ประกอบด้วย ธรรมใด คือ เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือ เป็นมนุษย์ คำว่า นรชนคือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์.

     คำว่า ย่อม ปรารถนา คือ ย่อมปรารถนา ย่อมตามปรารถนา ย่อมปรารถนา ทั่วไป ย่อมติดพัน ในวัตถุกามทั้งหลาย ด้วยกิเลสกาม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนใด ย่อมปรารถนา

      เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า นรชนใด ย่อมปรารถนา ไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส คนภายในสตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก.

      [๒๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำนรชนนั้น เหล่าอันตราย ย่อมย่ำยีนรชนนั้น เพราะอันตรายนั้น ทุกข์ย่อมติดตามนรชนนั้นไป เหมือนน้ำไหลเข้าสู่เรือที่แตกแล้ว ฉะนั้น.

      [๒๑] คำว่า เหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำนรชนนั้น มีความว่า คำว่า ไม่มีกำลัง คือ กิเลสอันไม่มีกำลัง คือ ทุรพล มีกำลังน้อย มีเรี่ยวแรงน้อย เลว ทราม เสื่อมตกต่ำ ลามก มีอัธยาศัยเลว เล็กน้อย กิเลสเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่ ท่วมทับกำจัด ย่ำยีบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำ นรชนนั้นแม้ด้วยประการอย่างนี้.

      อีกนัยหนึ่ง สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละหิริพละ โอตตัปปพละ ไม่มีแก่บุคคลใด กิเลสเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่ท่วมทับ กำจัด ย่ำยี บุคคลนั้น ผู้ไม่มีกำลัง มีกำลังทราม มีกำลังน้อย มีเรี่ยวแรงน้อย เลวทราม เสื่อม ตกต่ำ ลามก มีอัธยาศัยเลว เล็กน้อย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหล่ากิเลส อันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำนรชนนั้น แม้ด้วยประการอย่างนี้



(46.6)
ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง
(อันตรายที่ปรากฏ-อันตรายที่ปกปิด)

(ย่อ)
อันตรายที่ปรากฏเป็นไฉน? คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง โจร คนที่ทำกรรมชั่ว คนที่เตรียมจะทำกรรมชั่ว โรคทางกาย เซื่อมซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคลมบ้าหมู อาพาธ  อาพาธเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระปวดปัสสาวะ ความสัมผัสแห่ง เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน ฯลฯ

อันตรายที่ปกปิดเป็นไฉน? คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ผูกโกรธไว้ ลบลู่คุณท่าน ตระหนี่ มายา โอ้อวด หัวดื้อ แข่งดี ประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวน กระวาย ทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อภิสังขาร คือ อกุศลธรรมทั้งปวง



      [๒๒] คำว่า เหล่าอันตรายย่อมย่ำยีนรชนนั้น มีความว่า อันตราย ได้แก่ อันตราย ๒อย่าง คือ อันตรายที่ปรากฏ ๑ อันตรายที่ปกปิด ๑

      อันตรายที่ปรากฏเป็นไฉน? คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาป่า โค กระบือ ช้าง งู แมลงป่อง ตะขาบ โจร คนที่ทำกรรมชั่ว คนที่เตรียมจะทำ กรรมชั่ว และโรคทางจักษุ โรคทางโสต โรคทางฆานะ โรคทางชิวหา โรคทางกาย โรคทางศีรษะ โรคทางหู โรคทางปาก โรคทางฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้ เซื่อมซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคขี้กลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราดหูด โรคละลอกโรคคุดทะราดบวม โรคอาเจียรโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวงอาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะ เป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลม เป็นสมุฏฐาน อาพาธสันนิบาตอาพาธ เกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธเกิดแต่การบริหาร ไม่สม่ำเสมอ อาพาธเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระปวดปัสสาวะ ความสัมผัสแห่ง เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน อันตรายเหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ปรากฏ

     อันตรายที่ปกปิดเป็นไฉน? คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ผูกโกรธไว้ ลบลู่คุณท่าน ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ มายา โอ้อวด หัวดื้อ แข่งดี ถือตัวดูหมิ่นท่าน มัวเมา ประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวน กระวาย ทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อภิสังขาร คือ อกุศลธรรมทั้งปวง อันตรายเหล่านี้ เรียกว่าอันตรายที่ปกปิด

....ฯลฯ......

(46.7)
ว่าด้วยผู้มีสติทุกเมื่อ

(ย่อ)
คำว่า มีสติ (เจริญสติปัฏฐาน ๔)
ได้แก่เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑) เมื่อเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในกาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
๒) เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในเวทนาทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
๓) เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในจิต ก็ชื่อว่า เป็นผู้มีสติ
๔) เมื่อเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในธรรมทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ


     [๒๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะเหตุนั้น สัตว์ผู้เกิดมา พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงเว้นขาดกามทั้งหลาย ครั้นเว้นขาดกามเหล่านั้นแล้ว พึงข้ามโอฆะได้ เหมือนบุคคล วิดน้ำในเรือแล้วไปถึงฝั่ง ฉะนั้น

      [๒๖] คำว่า เพราะเหตุนั้น สัตว์ผู้เกิดมา พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ มีความว่า คำว่าเพราะเหตุนั้น คือ เพราะฉะนั้น เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนิทานนั้น สัตว์ผู้เกิดมา เมื่อเห็นโทษนั้นในกามทั้งหลาย ฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะเหตุนั้น. คำว่าสัตว์ผู้เกิดมา ได้แก่ สัตว์ นรชน มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรมมนุษย์

       คำว่า ในกาลทุกเมื่อ คือ ในกาลทุกเมื่อ ในกาลทั้งปวง ตลอดกาลทั้งปวง ตลอดกาลเป็นนิตย์ ตลอดกาลยั่งยืน ตลอดกาลเป็นนิรันดร์ ตลอดกาลเป็นอันเดียว ตลอดกาลติดต่อตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาลไม่ขาดระยะ ตลอดกาลไม่มีระหว่าง ตลอดกาลสืบเนื่อง ตลอดกาลไม่ขาดสาย ตลอดกาลกระชั้นชิด ในการก่อนภัต ในกาลหลังภัต ในยามต้น ในยามกลางในยามหลัง ในข้างแรม ในข้างขึ้น ในฤดูฝน ในฤดูหนาว ในฤดูร้อน ในตอนวัยต้น  ใน ตอนวัยกลาง ในตอนวัยหลัง

       คำว่า มีสติ (๑)- ได้แก่เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ
เมื่อเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ก็ชื่อว่า เป็นผู้มีสติ
เมื่อเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ

       เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเว้นจากความ เป็นผู้ไม่มีสติ ฯลฯ บุคคลเป็นผู้เข้าใกล้ เข้าชิด เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ประกอบด้วยสตินี้ บุคคลนั้นเรียกว่า มีสติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์ผู้เกิดมาพึง เป็นผู้มีสติ ทุกเมื่อ



(46.8)
การละขาดจากกาม 2 อย่าง


        [๒๗] คำว่า พึงเว้นขาดกามทั้งหลาย มีความว่า กามทั้งหลาย ได้แก่ กาม ๒ อย่างโดยหัวข้อ คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑

วัตถุกามเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันเป็นที่ชอบใจ ฯลฯ กามเหล่านี้ เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ กามเหล่านี้ เรียกว่า กิเลสกาม

คำว่า พึงเว้นขาดกามทั้งหลาย คือพึงเว้นขาดกามทั้งหลายโดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยการข่มไว้อย่าง ๑ โดยการตัดขาดอย่าง ๑

พึงละเว้นขาดกาม โดยการข่มไว้อย่างไร?
สัตว์ผู้เกิดมาเมื่อเห็น อยู่ว่ากามทั้งหลายเปรียบด้วยโครงกระดูก เพราะอรรถว่า เป็นของมีความยินดีน้อย

พึงเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ เมื่อเห็นอยู่ว่ากามทั้งหลาย เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ เพราะอรรถว่าเป็นของสาธารณ์แก่ชนหมู่มาก


คุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๒

(46.9)
ว่าด้วยนรชนเป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำ คือ กาย

[๓๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่านรชนเป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำ เป็นผู้อันกิเลสมาก ปิดบัง ไว้แล้ว นรชนเมื่อตั้งอยู่ ก็ หยั่งลงในที่หลง นรชนเช่นนั้น ย่อมอยู่ไกลจากวิเวก ก็เพราะ กามทั้งหลายใน โลก ไม่เป็นของอันนรชนละได้โดยง่าย

     [๓๑] คำว่า นรชนเป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำ เป็นผู้อันกิเลสมากปิดบังไว้แล้ว มีความว่า ทรงตรัสคำว่า เป็นผู้ข้องไว้ก่อน. ก็แต่ว่าถ้ำควรกล่าวก่อน กายเรียกว่า ถ้ำ. คำว่า กายก็ดี ถ้ำก็ดี ร่างกายก็ดี ร่างกายของตนก็ดี เรือก็ดี รถก็ดี ธงก็ดี จอมปลวกก็ดี รังก็ดี เมืองก็ดีกระท่อมก็ดี ฝีก็ดี หม้อก็ดี เหล่านี้เป็นชื่อของกาย

     คำว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำ คือ ข้อง เกี่ยวข้อง ข้องทั่วไป ติดอยู่ พันอยู่ เกี่ยวพันอยู่ ในถ้ำ เหมือนสิ่งของที่ข้อง เกี่ยวข้อง ข้องทั่วไป ติดอยู่ พันอยู่ เกี่ยวพันอยู่ที่ตะปู ซึ่งตอกติดไว้ที่ฝา หรือที่ไม้ข้อ ฉะนั้น

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิน ความปรารถนา ในรูป ความเข้าไปถือ ความเข้าไปยึดในรูป อันเป็นความตั้งมั่น ความถือมั่น และ ความนอน ตามแห่งจิต บุคคลมาเกี่ยวข้องอยู่ในความพอใจ เป็นต้นนั้น เพราะเพราะนั้น. จึงเรียกว่า สัตว์

คำว่า สัตว์เป็นชื่อของผู้เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น. จึงชื่อว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำ.

คำว่าผู้อันกิเลสมากปิดบังไว้แล้ว คือ ผู้อันกิเลสมากปิดบังไว้แล้ว คือ ผู้อันกิเลส เป็นอันมาก ปิดบังไว้แล้ว คือ อันความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลง ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบลู่ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความดื้อ ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท ปิดบังไว้แล้ว อันกิเลสทั้งปวง อันทุจริตทั้งปวงอันความกระวนกระวายทั้งปวง อันความเร่าร้อนทั้งปวง อันความเดือดร้อนทั้งปวง อันอภิสังขารคืออกุศลธรรมทั้งปวง บ้งไว้ คลุมไว้ หุ้มห่อไว้ ปิดไว้ ปิดบังไว้ ปกปิดไว้ ปกคลุมไว้ครอบงำไว้แล้ว  เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำ เป็นผู้อันกิเลสมากปิดบังไว้แล้ว

     [๓๒] คำว่า นรชนเมื่อตั้งอยู่ ก็หยั่งลงในที่หลง มีความว่า คำว่า นรชน เมื่อตั้งอยู่ ก็เป็นผู้กำหนัด ย่อมตั้งอยู่ด้วยสามารถความกำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง ย่อมตั้งอยู่ ด้วยความสามารถความขัดเคือง เป็นผู้หลง ย่อมตั้งอยู่ด้วยความสามารถความหลง เป็นผู้ผูกพัน ย่อมตั้งอยู่ด้วยสามารถความถือตัว เป็นผู้ยึดถือ ย่อมตั้งอยู่ ด้วยความสามารถความเห็น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ย่อมตั้งอยู่ด้วยสามารถความฟุ้งซ่าน เป็นผู้ไม่แน่นอน ย่อมตั้งอยู่ด้วยสามารถความสงสัย เป็นถึงความมั่นคง ย่อมตั้งอยู่ ด้วยสามารถ กิเลสที่นอนเนื่อง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนเมื่อตั้งอยู่ แม้ด้วยประการ อย่างนี้

     สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด มีอยู่ หากว่าภิกษุเพลิดเพลิน ชมเชย ยึดถือรูปนั้น ตั้งอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยโสต ... กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานะ ... รสที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย ... ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยมนะ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดมีอยู่ หากภิกษุเพลิดเพลิน ชมเชย ยึดถือธรรมนั้นตั้งอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนเมื่อตั้งอยู่แม้ด้วยประการอย่างนี้

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงรูป เมื่อตั้งอยู่ ย่อมมีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง ซ่องเสพความเพลิดเพลินตั้งอยู่ ย่อมถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงเวทนา ... วิญญาณที่เข้าถึง สัญญา ... หรือวิญญาณที่เข้าถึงสังขาร เมื่อตั้งอยู่ ย่อมมีสังขาร เป็นอารมณ์ มีสังขาร เป็นที่ตั้ง ซ่องเสพความเพลิดเพลินตั้งอยู่ ย่อมถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนเมื่อตั้งอยู่ แม้ด้วยประการอย่างนี้

     สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่า ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความปรารถนา มีอยู่ในกาวฬิงการาหาร วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น วิญญาณตั้งอยู่งอกงามในที่ใด ความหยั่งลงแห่งนามรูปก็มีอยู่ในที่นั้น ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลายมีอยู่ในที่ใด ความเกิดในภพใหม่ต่อไป ก็มีอยู่ในที่นั้น ความเกิดในภพใหม่ต่อไปมีอยู่ในที่ใดชาติ ชรา มรณะต่อไปก็มีอยู่ในที่นั้น ชาติ ชรา มรณะต่อไปมีอยู่ในที่ใด ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่า ที่นั้นมีความโศก มีความหม่นหมอง มีความคับแค้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความปรารถนา มีอยู่ใน ผัสสาหาร ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความปรารถนา มีอยู่ในมโนสัญญาเจตนาหาร ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่า ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความปรารถนา มีอยู่ในวิญญาณาหาร วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น

วิญญาณตั้งอยู่งอกงามในที่ใด ความหยั่งลงแห่งนามรูปก็มีอยู่ในที่นั้น ความหยั่งลง แห่งนามรูป มีอยู่ในที่ใด ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลายก็มีอยู่ในที่นั้น ความเจริญ แห่งสังขารทั้งหลาย มีอยู่ในที่ใด ความเกิดในภพใหม่ต่อไปก็มีอยู่ในที่นั้น ความเกิด ในภพใหม่ต่อไปมีอยู่ในที่ใด ชาติ ชรา มรณะต่อไปก็มีอยู่ในที่นั้น ชาติ ชรา มรณะ ต่อไป มีอยู่ในที่ใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ที่นั้นมีความโศก มีความหม่นหมอง มีความคับแค้น เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า นรชนเมื่อตั้งอยู่ แม้ด้วยประการอย่างนี้

     คำว่า หยั่งลงในที่หลง มีความว่า กามคุณ ๔ คือ รูปที่พึงเห็นแจ้งด้วยจักษุ ที่น่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยโสต ...กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานะ ... รสที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา ...

โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ที่หลงเพราะเหตุไร กามคุณ ๕ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ที่หลง. เพราะเหตุว่า เทวดาและมนุษย์โดยมาก ย่อมหลง หลงพร้อม หลงเสมอ เป็นผู้หลง เป็นผู้หลงพร้อม เป็นผู้หลงเสมอในกามคุณ ๕ เป็นผู้อันอวิชชาทำให้ตาบอด หุ้มห่อไว้ ปิดไว้ ปิดบังไว้ ปกปิดไว้ ปกคลุมไว้ครอบงำ แล้ว เพราะเหตุนั้น กามคุณ ๕ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ที่หลง

คำว่า หยั่งลงในที่หลงคือ หยั่งลง ก้าวลง หมกมุ่น จมลงในที่หลง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนเมื่อตั้งอยู่ก็หยั่งลงในที่หลง

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ ของผู้จัดทำเว็บไซต์ anakame.com
พระสูตรนี้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างยาวและละเอียดลึกซึ้ง มีสำนวนภาษาที่แตกต่างไปจากของ พระศาสดา จึงไม่แน่ใจว่าเป็นอรรถกถา(คำแต่งใหม่)หรือไม่ แม้จะมีผู้วิเคราะห์แล้วว่า น่าจะเป็นการขยายความของพระสารีบุตร แต่ก็ยังไม่ปักใจเชื่อใจนัก เพราะมีคำศัพท์ ที่ไม่คุ้นหูมากมาย..

ผู้สนใจสามารถศึกษาพระสูตรชุดเต็มทั้งหมดตามลิ้งนี้
P957  P958  P959  P960  P961

(มหานิทเทส คัมภีร์ว่าด้วยศาสตร์ขยายความพระไตรปิฎก ชื่อว่าเป็นผลงานของพระสารีบุตร)

 



   



พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์