เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ          



หนังสือพุทธวจนออนไลน์   ดูหนังสือทั้งหมด
90 90 90 90 90
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์    
ดาวน์โหลด หนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ : ที่มา เว็บไซต์ พุทธทาสศึกษา : http://www.buddhadasa.org
  
    1 of 11  
  สารบาญ ภาค 1    

  สารบาญ ภาค 1

 
อ้างอิงเลขหน้าตามหนังสือ หน้า   อ้างอิงเลขหน้าตามหนังสือ หน้า
  โลกธาตุหนึ่ง มีพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว 7  

  การอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิต

23
  การปรากฏของพระตถาคต มีได้ยากในโลก 8     การจุติจากดุสิตลงสู่ครรภ์ 24
  โลกที่กำลังมัวเมา ก็ยังสนใจในธรรมของพระตถาคต 8-9     แผ่นดินไหว เนื่องด้วยการจุติ 26
  ธรรมของพระตถาคตมีอยู่ในโลก คือความสุขของโลก 9     การลงสู่ครรภ์ 26-1
  ตะถาคตเกิดขึ้นเพื่อความสุขของโลก 10     การอยู่ในครรภ์ 26-3
  พระตถาคตเกิดขึ้น เพื่อแสดงแบบแห่งการครองชีวิต 11     การประสูติยืนคลอด:เทวดารับก่อน:เทพบุตรทั้งสี่มา- 28
  พระตถาคตแสดงธรรมเพื่อความรำงับ ดับ รู้ 12      - รับมาถวาย : ไม่เปื้อนมลทินครรภ์ : เปล่งอาสภิวาจา  
  ธรรมชาติ ๓ อย่างทำให้พระองค์เป็นประทีปของโลก 12     เกิดแสงสว่าง เนื่องด้วยการประสูติ 30
  ผู้เชื่อฟังพระตถาคต จะได้รับประโยชน์สุขสิ้นกาลนาน 13-14     แผ่นดินไหว เนื่องด้วยการประสูติ 30
  เรื่องย่อ (พุทธประวัติ) ที่ควรทราบก่อน 15     ประกอบด้วยมหาปุริสลักขณะ ๓๒ 31
  เรื่องสั้น ๆ ที่ควรทราบก่อน (อีกหมวดหนึ่ง) 16      
         
 





ภาค1


(อ้างอิงหน้า จากหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์)

หน้า7
โลกธาตุหนึ่ง มีพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว

          อานนท์ ! ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะนั้น ย่อมรู้ว่า ข้อนี้มิใช่ฐานะ  ข้อ นี้มิใช่โอกาสที่จะมี  คือข้อที่ในโลกธาตุอันเดียว จะมีพระตถาคตผู้อรหันต สัมมา สัมพุทธะ สององค์ เกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ก่อน ไม่หลังกัน.นั่นมิใช่ฐานะที่จะมีได้.

          ส่วนฐานะ อันมีได้นั้น คือข้อที่ใน โลกธาตุอันเดียว มีพระตถาคตผู้อรหันต สัมมาสัมพุทธะองค์เดียว เกิดขึ้น.  นั่นเป็น ฐานะที่จะมีได้.
บาลี พหุธาตุกสูตร  อุปริ. ม. ๑๔/๑๗๑/๒๔๕.  ตรัสแก่พระอานนท์ ที่เชตวัน


หน้า8
การปรากฏของพระตถาคต มีได้ยากในโลก

         ภิกษุ ท. ! การมาปรากฏของ บุคคลเอก (ไม่มีใครซ้ำสอง) มีได้ยากในโลก. ใครเล่า เป็นบุคคลเอก ? ตถาคต ผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ ชอบเอง เป็นบุคคลเอก (ไม่มีใครซ้ำสอง).

         ภิกษุ ท. ! การมาปรากฏของบุคคลเอกนี้แล มีได้ยากในโลก.


หน้า8-9
โลกที่กำลังมัวเมา ก็ยังสนใจในธรรมของพระตถาคต

         ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุที่ตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ เกิดขึ้น จึงเกิดมี ของน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี สี่อย่างนี้ปรากฏขึ้น.สี่อย่างอะไรเล่า?

         ๑. ภิกษุ ท. ! ประชาชนทั้งหลาย พอใจในกามคุณ ยินดีในกามคุณ บันเทิงอยู่ในกามคุณ ครั้นตถาคตแสดง ธรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับกามคุณ ประชาชน เหล่านั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง. ภิกษุ ท. ! นี่คือ ของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี อย่างที่หนึ่ง มีขึ้นมา เพราะการบังเกิดของตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ.

         ๒. ภิกษุ ท. ! ประชาชนทั้งหลาย พอใจในการถือตัว ยินดีในการถือตัว บันเทิงอยู่ในการถือตัว ครั้นตถาคตแสดง ธรรมที่กำจัดการถือตัว ประชาชนเหล่านั้น ก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง. ภิกษุ ท. ! นี่คือของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี อย่างที่สอง มีขึ้นมา เพราะการบังเกิดของตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ.

        ๓. ภิกษุ ท. ! ประชาชนทั้งหลาย พอใจในความวุ่นวายไม่สงบ ยินดีในความ วุ่นวายไม่สงบ บันเทิงอยู่ในความวุ่นวายไม่สงบ ครั้น ตถาคตแสดง ธรรมที่เป็นไป เพื่อความสงบ ประชาชนเหล่านั้น ก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจ ทั่วถึง. ภิกษุ ท. ! นี่คือของน่า อัศจรรย์ ไม่เคยมี อย่างที่สาม มีขึ้นมา เพราะการ บังเกิด ของ ตถาคต ผู้อรหันต สัมมาสัมพุทธะ.

        ๔. ภิกษุ ท. ! ประชาชนทั้งหลาย ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา เป็นคนบอด ถูกความมืดครอบงำเอาแล้ว, ครั้นตถาคตแสดง ธรรมที่ กำจัดอวิชชา ประชาชน เหล่านั้น ก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจ ทั่วถึง. ภิกษุ ท. ! นี่คือของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี อย่างที่สี่ มีขึ้นมา เพราะการบังเกิดของตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ.



หน้า9
การมีธรรมของพระตถาคตอยู่ในโลก คือความสุขของโลก

         ภิกษุ ท. ! เมื่อพระสุคตก็ดี ระเบียบวินัยของพระสุคตก็ดี ยังคงมีอยู่ ในโลก เพียงใด อันนั้นก็ยังเป็นไปเพื่อความเกื้อกูล แก่ชน เป็นอันมาก เพื่อความสุข ของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดา และมนุษย์ ทั้งหลาย อยู่เพียงนั้น.

          ภิกษุ ท. ! พระสุคตนั้นคือใครเล่า ? คือตถาคต บังเกิดขึ้น ในโลกนี้ เป็น พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้ชอบเอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี ฝึกคนควรฝึกไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของ เทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว จำแนกธรรมออกสอนสัตว์. นี้คือ พระสุคต.

         ภิกษุ ท. ! ระเบียบวินัยของพระสุคตนั้นคืออะไรเล่า? คือตถาคตนั้น แสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง. ธรรมที่ตถาคตแสดง พรหมจรรย์ที่ตถาคตประกาศ นี้แล คือ ระเบียบวินัยของพระสุคต.

       ภิกษุ ท. ! เมื่อพระสุคตก็ดี ระเบียบวินัยของพระสุคตก็ดี ยังคงมี อยู่ในโลก เพียงใด อันนั้น ก็ยังเป็นไปเพื่อความเกื้อกูล แก่ชนเป็น อันมาก เพื่อความสุขของชน เป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดา และมนุษย์ ทั้งหลาย อยู่เพียงนั้น.

- บาลี เอก. อํ. ๒๐/๒๙/๑๔๐. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย.
๒. บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๗๗/๑๒๘. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่เชตวัน.
๑. บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๙๗/๑๖๐.



หน้า10
พระตถาคตเกิดขึ้นเพื่อความสุขของโลก

         พราหมณ์เอย ! มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กลางคืนแท้ ๆ ก็เข้าใจไปว่า กลางวัน ๒กลางวันแท้ ๆ ก็เข้าใจไปว่ากลางคืน. ข้อนี้เรากล่าวว่าเป็น เพราะสมณ พราหมณ์เหล่านั้น เป็น ผู้อยู่ด้วยความหลง.

          พราหมณ์เอย ! ส่วนเราตถาคต ย่อมเข้าใจกลางคืน เป็นกลางคืน กลางวัน เป็นกลางวัน.

          พราหมณ์เอย ! เมื่อใครจะเรียกผู้ใดให้เป็นการถูกต้องว่า เป็นสัตว์ผู้มีความ ไม่หลงอยู่เป็นปรกติ และเกิดขึ้นเพื่อความเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก

          เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความ เกื้อกูล เพื่อความสุข ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายแล้ว เขาเมื่อจะเรียก ให้ถูกต้อง เช่นนั้น พึงเรียกเราตถาคตนี้แล  ว่าเป็นสัตว์ผู้มีความไม่หลงอยู่เป็น ปรกติเกิดขึ้น เพื่อความเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก. 

         เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข ของเทวดา และ มนุษย์ทั้งหลาย. 


หน้า11
พระตถาคตเกิดขึ้นในโลก เพื่อแสดงแบบ
แห่ง การครองชีวิตอันประเสริฐแก่โลก


         ภิกษุ ท. !  ตถาคตเกิดขึ้นในโลก นี้ เป็นพระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้ชอบด้วย ตนเอง สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนควร ฝึกไม่มีใคร ยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้วจำแนกธรรม ออกสั่งสอนสัตว์.

          ภิกษุ ท. !  ตถาคตนั้น ได้ทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้ กับทั้งเทวดา มาร พรหมซึ่ง หมู่สัตว์กับทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้แจ้งตาม.

          ตถาคตนั้น แสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดประกาศ พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง.

          คฤหบดี หรือลูกคฤหบดี หรือคนที่เกิดในตระกูลอื่นใดในภายหลังย่อม ฟังธรรมนั้น. ครั้นฟังแล้ว ย่อมเกิดศรัทธาในตถาคต.

          กุลบุตรนั้นผู้ประกอบอยู่ ด้วยศรัทธา ย่อมพิจารณาเห็นว่า "ฆราวาส คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี ส่วนบรรพชา เป็นโอกาสว่าง. 

          มันไม่เป็นไปได้โดยง่ายที่เราผู้อยู่ครองเรือนเช่นนี้ จะ ประพฤติพรหมจรรย์นั้น ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวเหมือนสังข์ที่เขาขัด สะอาดดีแล้ว. ถ้ากระไร เราพึงปลงผม และหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจาก เรือนไป  บวชเป็นผู้ไม่มีเรือน เถิด." ....


หน้า12
พระตถาคตเกิดขึ้นนี้ แสดงธรรมเพื่อ ความรำงับ ดับ รู้

         ภิกษุ ท. !  ตถาคต เกิดขึ้นแล้ว ในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้ชอบ ด้วยตนเอง สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคน ควรฝึก ไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้วจำแนก ธรรมออกสั่งสอนสัตว์.

         ธรรมที่ตถาคตแสดง นั้น  เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบ รำงับ เป็น ธรรมที่เป็นไปเพื่อความดับเย็นสนิท  เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความรู้ครบถ้วน เป็น ธรรมที่ประกาศไว้โดยพระสุคต.


หน้า12_1
ธรรมชาติ ๓ อย่าง ทำให้พระองค์เกิดขึ้นเป็นประทีปของโลก


         ภิกษุ ท. ! ถ้าธรรมชาติ ๓ อย่างเหล่านี้ ไม่พึงมีอยู่ในโลกแล้วไซร้ ตถาคต ก็ไม่ต้องเกิดขึ้นในโลก  เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ  และธรรมวินัยที่ ตถาคตประกาศ แล้ว ก็ไม่ต้องรุ่งเรืองไปในโลก.  ธรรมชาติ ๓ อย่างนั้น คืออะไร เล่า?  คือ ชาติด้วย ชราด้วย มรณะด้วย. 

          ภิกษุ ท. ! ธรรมชาติ ๓ อย่างเหล่านี้ แล ถ้าไม่มีอยู่ในโลกแล้วไซร้ ตถาคต ก็ไม่ต้องเกิดขึ้นไปโลกเป็นอรหันตสัมมา สัมพุทธะ  และธรรมวินัยที่ตถาคต ประกาศ แล้ว ก็ไม่ต้องรุ่งเรืองไปในโลก. 

          ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุใดแล ที่ธรรมชาติ ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ในโลก. เพราะเหตุนั้น ตถาคตจึงต้องเกิดขึ้นในโลกเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธ และธรรม วินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว จึงต้องรุ่งเรืองไปในโลก.


หน้า 13-14
ผู้เชื่อฟังพระตถาคต จะได้รับประโยชน์สุขสิ้นกาลนาน

         ภิกษุ ท. ! เราแล เป็นผู้ฉลาดในเรื่อง โลกนี้ ฉลาดในเรื่อง โลกอื่น เป็นผู้ ฉลาดต่อ วัฎฎะอันเป็นที่อยู่ของมาร ฉลาดต่อวิวัฎฎะอันไม่เป็นที่อยู่ของมาร เป็นผู้ ฉลาดต่อ วัฎฎะอันเป็นที่อยู่ของมฤตยู ฉลาดต่อวิวัฎฎะอันไม่เป็นทีอยู่ ของมฤตยู.

         ชนเหล่าใดถือว่าเรื่องนี้ควรฟังควรเชื่อ ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้นสิ้นกาลนาน. (ครั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสคํานี้แล้ว พระสุคตได้ตรัสคําอื่นอีกดังนี้ว่า )

          ทั้งโลกนี้แลโลกอื่น ตถาคตผู้ทราบดีอยู่ ได้ประกาศไว้ ชัดแจ้งแล้ว. ทั้งที่ที่ มารไปไม่ถึง และที่ที่มฤตยู ไปไม่ถึง  ตถาคตผู้รู้ชัดเข้าใจชัด ได้ประกาศไว้ชัดแจ้ง แล้ว เพราะความรู้โลกทั้งปวง.

          ประตูนครแห่งความไม่ตาย ตถาคตเปิดโล่งไว้แล้ว เพื่อสัตว์ทั้งหลาย เข้าถึงถิ่นอันเกษม.  กระแสแห่งมารผู้มีบาป ตถาคต ปิดกั้นเสียแล้ว กำจัดเสียแล้ว ทำให้หมดพิษสงแล้ว.

          ภิกษุ ท. ! เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มากมูมด้วยปราโมทย์ ปรารถนาธรรมอันเกษม จากโยคะเถิด. ทรงขนานนามพระองค์เองว่า "พุทธะ"๒
(การสนทนากับ โทณพราหมณ์
เริ่มในที่นี้ด้วยพราหมณ์ทูลถาม) "

          ท่านผู้เจริญของเรา ! ท่านเป็นเทวดาหรือ ?"
          พราหมณ์เอย ! เราไม่ได้เป็นเทวดาดอก.

          "ท่านผู้เจริญของเรา ! ท่านเป็นคนธรรพ์หรือ ?" 
          พราหมณ์เอย !  เราไม่ได้เป็นคนธรรพ์ดอก. 

          "ท่านผู้เจริญของเรา ! ท่านเป็นยักษ์หรือ ?"
          พราหมณ์เอย !  เราไม่ได้เป็นยักษ์ดอก. 

          "ท่านผู้เจริญของเรา ! ท่านเป็นมนุษย์หรือ ?" 
          พราหมณ์เอย !  เราไม่ได้เป็นมนุษย์ดอก. 

         "ท่านผู้เจริญของเรา ! เราถามอย่างไร ๆ ท่านก็ตอบว่ามิได้ เป็นอย่างนั้น ๆ, ถ้าเช่นนั้นท่านเป็นอะไรเล่า?"

         พราหมณ์เอย ! อาสวะ เหล่าใด ที่จะทำให้เราเป็นเทวดา เพราะยังละ มันไม่ได้ อาสวะเหล่านั้นเราละได้ขาด ถอนขึ้นทั้งรากแล้ว ทำให้เหมือนตาล ยอดด้วน ไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้น อีกต่อไปแล้ว

         พราหมณ์เอย ! อาสวะเหล่าใดที่จะทำให้ เราเป็น คนธรรพ์ เป็น ยักษ์ เป็น มนุษย์ เพราะยังละมันไม่ได้ อาสวะเหล่านั้น เราละได้ขาด ถอนขึ้นทั้งรากแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ไม่ให้มีไม่ให้เกิดขึ้น อีกต่อไปแล้ว. 

         พราหมณ์ ! เปรียบเหมือน ดอกบัวเขียง บัวหลวง หรือบัวขาว มันเกิดใน น้ำเจริญในน้ำ โผล่ขึ้นพ้นน้ำตั้งอยู่ น้ำไม่เปียกติดมันได้ ฉันใดก็ฉันนั้นนะพราหมณ์ ! เรานี้เกิดในโลก เจริญในโลก ก็จริง แต่เราครอบงำโลกเสียได้แล้ว และอยู่ในโลก โลกไม่ฉาบทาแปดเปื้อน เราได้. 

พราหมณ์ ! ท่านจงจำเราไว้ว่า เป็น "พุทธะ" ดังนี้เถิด.  


หน้า15
พุทธประวัติ
เรื่องย่อ ที่ควรทราบก่อน


         บัดนี้ เราผู้ โคตมโคตร เจริญแล้วใน สากยะตระกูล เคยตั้ง ความเพียรไว้ ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณอันสูงสุด เป็นพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ....  นครของเราชื่อ กบิลพัสดุ์

          บิดาของเราเป็นราชาชื่อ สุทโธทนะ มารดาผู้ให้กําเนิด เราชื่อ มายาเทวี เราอยู่ครองเรือน ๒๙ ปี มี ปราสาทสูงสุด ๓ หลัง ชื่อ สุจันทะ โกกนุทะ และโกญจะ มีหญิงประดับดีแล้วสี่หมื่นนาง นารีผู้เป็น ชายาชื่อ ยโสธรา ลูกเราชื่อ ราหุล. 

          เพราะได้เห็น นิมิตทั้งสี่ เราจึงออกด้วยม้าเป็นพาหนะ ทําความเพียร ถึงหกปี
เราได้ทําสิ่งที่ใคร ๆ ทําได้โดยยาก. เราเป็น ชินะ (ผู้ชนะ) ประกาศ ธรรมจักร ที่ป่า อิสิปตนะ เมืองพาราณสี เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อ โคตมะ เป็น ที่พึ่งของสัตว์ ทั้งหลาย. 

          ภิกษุผู้เป็นอัครสาวกสองรูป ชื่อ โกลิตะ และ อุปติสสะ อุป๎ฐฐากผู้ ใกล้ชิด ของเราชื่อ อานนท์ ภิกษุณีผู้เป็นอัครสาวิกาสองรูป ชื่อ เขมา และ อุบล วัณณา อุบาสก ผู้เป็นอัครอุป๎ฎฐากสองคน ชื่อ จิตตะ และ หัตถาฬวกะ อุบาสิกา ผู้เป็นอัครอุป๎ฎฐายิกาสอง ชื่อ นันทมาตา และ อุตตรา. 

         เราได้บรรลุสัมมาสัมโพธิ ณาณอันสูงสุด ณ ควงแห่งไม้ อัสสัตถะ.... .


หน้า16
เรื่องสั้น ๆ ที่ควรทราบก่อน (อีกหมวดหนึ่ง)

         ภิกษุ ท. !  ในภัททกัปป์นี้ ในบัดนี้ เราผู้เป็นอรหันตสัมมา สัมพุทธะ ได้ บังเกิดขึ้นแล้วในโลก. 

         ภิกษุ ท. ! ในบัดนี้ เราผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ เป็นกษัตริย์ โดยชาติ บังเกิดแล้วในขัตติยสกุล. 

         ภิกษุ ท. ! ในบัดนี้ เราผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ โดยโคตร เป็นโคตมโคตร. 

         ภิกษุ ท. ! ในบัดนี้ ประมาณอายุขัย(แห่งสัตว์ในยุค)ของเรา สั้นมาก ผู้ที่เป็นอยู่ได้นาน ก็เพียงร้อยปีเป็นอย่างยิ่ง ที่เกินร้อยปี ขึ้นไปมีน้อยนัก. 

         ภิกษุ ท. ! ในบัดนี้ เราผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะได้ตรัสรู้ ณ ควงแห่งไม้ อัสสัตถะ(ต้นโพธิ์)

         ภิกษุ ท. ! ในบัดนี้ สาวกสองรูปมีนามว่า สารีบุตร และ โมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกคู่เลิศของเรา. 

         ภิกษุ ท. ! ในบัดนี้ สาวกสันนิบาตของเรา มีเพียงครั้งเดียว และมีภิกษุ ถึง ๑๒๕๐ รูป. สังฆสันนิบาตแห่งสาวกของเราในครั้งนี้ ผู้เข้าประชุมล้วนแต่เป็น พระขีณาสพทั้งสิ้น. 

         ภิกษุ ท. ! ในบัดนี้ ภิกษุผู้เป็นอุป๎ฎฐากใกล้ชิดของเรา คือ อานนท์ จัดเป็นอุป๎ฎฐากอันเลิศ. 

         ภิกษุ ท. ! ในบัดนี้ พระราชานามว่า สุทโธทนะ เป็นบิดาของ เรา พระเทวี นามว่า มายา เป็นมารดาผู้ให้กําเนิดแก่เรา

         นครชื่อ กบิลพัสดุ์ เป็นราชธานี (แห่ง บิดาของเรา).


หน้า23
การอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิต

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มี พระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ดูก่อนอานนท์ ! โพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม บังเกิดขึ้นในหมู่ เทพชั้นดุสิต" ดังนี้

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อที่พระโพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม บังเกิดขึ้น ในหมู่เทพชั้นดุสิต นี้  ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่าเป็นของ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค. 

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะ พระพักตร์พระผู้มี พระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์ พระผู้มี พระภาคเจ้าว่า "

          ดูก่อนอานนท์ ! โพธิสัตว์มี สติ รู้ตัวทั่วพร้อม ดำรงอยู่ในหมู่ เทพชั้นดุสิต" ดังนี้.

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อที่พระโพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ดำรงอยู่ในหมู่ เทพชั้นดุสิต นี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่าเป็นของน่า อัศจรรย์ ไม่เคยมี เกี่ยวกับ พระผู้มีพระภาค. 

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมา เฉพาะพระ พักตร์พระผู้มี พระภาคเจ้าได้จำมาแต่ที่เฉพาะ พระพักตร์พระผู้มีพระ ภาคเจ้าว่า "

          ดูก่อนอานนท์ ! โพธิสัตว์  มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ดำรงอยู่ในหมู่ เทพชั้นดุสิต จนกระทั่งตลอดกาลแห่งอายุ" ดังนี้.

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อที่พระโพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่ว พร้อม ดำรงอยู่ ในหมู่เทพชั้นดุสิต จนกระทั่งตลอดกาลแห่งอายุ นี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่า เป็นของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีเกี่ยวกับ พระผู้มีพระภาค


การจุติจากดุสิตลงสู่ครรภ์

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะ พระพักตร์พระผู้มีพระ ภาคเจ้าได้จำมากแต่ที่เฉพาะพระพักตร์ พระผู้มี พระภาคเจ้าว่า

          "ดูก่อนอานนท์! โพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม จุติจากหมู่ เทพชั้นดุสิต ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา" ดังนี้.

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แม้ข้อนี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่า เป็นของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีเกี่ยวกับ พระผู้มีพระภาค.


หน้า26
แผ่นดินไหว เนื่องด้วยการจุติ

         ดูก่อนอานนท์ ! เหตุปัจจัยที่ทำให้ปรากฏการไหวแห่งแผ่นดิน อันใหญ่ หลวง มีอยู่แปดประการ (ธาตุไม่สมดุล ผู้มีฤทธิ์บันดาล จุติลงมาจากชั้นดุสิต ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร ปลงสังขาร ปรินิพพาน)

         ดูก่อนอานนท์ ! เมื่อใดโพธิสัตว์ จุติจากหมู่เทพชั้นดุสิต มีสติสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา เมื่อนั้น แผ่นดินย่อม หวั่นไหว ย่อมสั่นสะเทือน ย่อมสั่น สะท้าน. 

         อานนท์ ! นี้เป็นเหตุปัจจัย คำรบสามแห่งการปรากฏการไหว ของแผ่นดิน อันใหญ่หลวง.
(ปัจจัยเกิดแสงสว่างมี ๓ ประการ ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร อ่าน )


หน้า26-1
การลงสู่ครรภ์

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะ พระพักตร์พระผู้มีพระ ภาคเจ้าได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์ พระผู้มี พระภาคเจ้าว่า "

          ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ ในกาลใด โพธิสัตว์กำลังก้าวลงสู่ครรภ์ แห่งมารดา นกาลนั้นเทพบุตรทั้งหลายย่อมทำการอารักขาในทิศทั้งสี่ แก่โพธิสัตว์ โดยประสงค์ว่ามนุษย์หรืออมนุษย์หรือใคร ๆ ก็ตาม อย่าได้เบียดเบียนโพธิสัตว์ หรือมารดาแห่งโพธิสัตว์เลย” ดังนี้.

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แม้ข้อนี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่าเป็นของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค.


หน้า26-3
การอยู่ในครรภ์
  

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะ พระพักตร์พระผู้มีพระ ภาคเจ้าได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

          "ดูก่อนอานนท์! ในกาลใด โพธิสัตว์ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา ในกาลนั้น มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อมเป็นผู้มีศีลอยู่โดยปกติ เป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต เว้นจาก อทินนาทาน เว้นจาก กาเมสุมิจ ฉาจาร เว้นจากมุสาวาท เว้นจากสุรา และ เมรัย อันเป็นที่ตั้งของความ ประมาท" ดังนี้. ฯลฯ

         "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา ในกาล นั้น มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อมไม่มีความคิดอันเจือด้วย กามคุณ ในบุรุษทั้งหลาย อนึ่ง มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อมเป็นผู้ที่ บุรุษใดไม่คิดจะล่วงเกินด้วยจิตอันกำหนัด" ดังนี้. ฯลฯ

         "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใดโพธิสัตว์ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา ในกาล นั้น มารดาแห่ง โพธิสัตว์ เป็นผู้มีลาภ ด้วยกามคุณทั้งห้า มารดาแห่งโพธิสัตว์นั้น อิ่มเอิบด้วยกามคุณทั้งห้า เพียบพร้อมด้วย กามคุณทั้งห้า ให้เขาประคบประหงม อยู่" ดังนี้. 
๑. (กามคุณห้า ในที่นี้ หมายเพียงเครื่องบำรุงตามธรรมดา มิได้หมายถึงที่เกี่ยวกับ กามารมณ์โดยตรง เพราะมีปฎิเสธอยู่ ในข้อต้นจากนี้อยู่แล้ว)

         "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใดโพธิสัตว์ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา ในกาล นั้น มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อมไม่มีอาพาธไร ๆ มีความสุข ไม่อ่อนเพลีย อนึ่ง มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อมแลเห็นโพธิสัตว์ผู้อยู่ใน ครรภ์มารดา มีอวัยวะน้อยใหญ่ สมบูรณ์ มีอินทรีย์ไม่ทราม. 

          เหมือนอย่างว่า แก้วไพฑูรย์อันงดงามโชติช่วงสดใส เจียระไนดีแล้ว มีด้ายร้อยอยู่ในแก้วนั้น สีเขียว เหลืองแกมเขียวแดง ขาว หรือ เหลือง ก็ตาม บุรุษที่ตายังดี เอาแก้วนั้นวางบนฝ่ามือแล้ว ย่อมมองเห็นชัดเจนว่า นี้ แก้วไพฑูรย์ อันงดงามโชติช่วงสดใส เจียระไนดีแล้ว นี้ด้าย ซึ่งร้อยอยู่ในแก้วนั้น จะเป็นสีเขียว เหลืองแกม เขียว แดง ขาวหรือเหลืองก็ตาม ฉันใดก็ฉันนั้นที่มารดาแห่งโพธิสัตว์ เป็นผู้ไม่มีอาพาธ

          มีความสบายไม่อ่อนเพลีย แลเห็นโพธิสัตว์ผู้นั่งอยู่ในครรภ์ มีอวัยวะ น้อยใหญ่ สมบูรณ์ มีอินทรีย์ไม่ทราม"ดังนี้.  ฯลฯ

          "ดูก่อนอานนท์ ! หญิงอื่นๆ อุ้มครรภ์ไว้เก้าเดือนบ้าง สิบเดือน บ้าง จึงจะคลอด ส่วนมารดาแห่งโพธิสัตว์ ไม่เป็นเช่นนั้น ย่อม อุ้มครรภ์ไว้สิบเดือนเต็ม ทีเดียว แล้วจึงคลอด" ดังนี้. 

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แม้ข้อนี้ๆ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่า เป็นของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค.


หน้า28
การประสูติ
 

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระ พักตร์ พระผู้มี พระภาคเจ้า ได้จำเอามาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์ พระผู้มี พระภาคเจ้า ว่า

มารดายืนคลอด
"ดูก่อน อานนท์ ! หญิงอื่น ๆ ย่อมนั่งคลอดบ้าง นอนคลอดบ้าง. ส่วนมารดาแห่ง โพธิสัตว์ หาเป็นอย่างนั้นไม่ มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อมยืนคลอด โพธิสัตว์"ดังนี้. 

เทวดารับก่อน
ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดา ในกาลนั้น เทวดาทั้งหลายย่อมเข้ารับก่อน ส่วนมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมเข้ารับต่อภายหลัง" ดังนี้.  ฯลฯ

เทพบุตรทั้งสี่รับมาถวาย
"ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดายังไม่ ทันถึงแผ่นดิน เทพบุตรทั้งสี่ ย่อมรับเอามาวางตรงหน้าแห่งมารดา ทูลว่าแม่เจ้า จงพอพระทัยเถิด บุตรอันมีศักดาใหญ่ของแม่เจ้า เกิดแล้ว" ดังนี้.ฯลฯ

ไม่เปื้อนมลทินครรภ์
"ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดาใน กาลนั้นเป็น ผู้สะอาดหมดจด ไม่เปื้อนด้วยเมือก ไม่เปื้อนด้วยเสมหะ ไม่เปื้อน ด้วยเลือด ไม่เปื้อน ด้วยหนอง ไม่เปื้อนด้วยของไม่สะอาด อย่างใดๆ เป็นผู้บริสุทธิ์ สะอาดหมดจดมา ทีเดียว. เหมือนอย่างว่า แก้วมณีที่วางอยู่บนผ้าเนื้อเกลี้ยงอันมา แต่แคว้นกาสี แก้วก็ไม่เปื้อนผ้า ผ้าก็ไม่เปื้อนแก้ว เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่ามัน เป็นของสะอาด หมดจดทั้งสองอย่าง

ฉันใดก็ฉันนั้น ที่โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่ง มารดา เป็นผู้สะอาด หมดจด ไม่เปื้อนด้วยเมือก ไม่เปื้อนด้วย เสมหะ ไม่เปื้อนด้วยเลือด ไม่เปื้อนด้วยหนอง ไม่เปื้อนด้วยของไม่สะอาดอย่างใด ๆ เป็นผู้ บริสุทธิ์ สะอาดหมดจดมาทีเดียว" ดังนี้.

ท่อธารจากอากาศ
"ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดาใน กาลนั้นท่อธาร แห่งน้ำสองท่อ ปรากฏจากอากาศ เย็นท่อหนึ่งร้อน ท่อหนึ่ง อันเขาใช้ในกิจ อันเนื่องด้วยน้ำแก่โพธิสัตว์ และแก่มารดา" ดังนี้. ฯลฯ

กล่าวอาสภิวาจา
ฯลฯ"ดูก่อนอานนท์ ! โพธิสัตว์ผู้คลอดแล้วเช่นนี้ เหยียบพื้นดินด้วยผ่าเท้า อันสม่ำเสมอ มีพระพักตร์ทางทิศเหนือ ก้าวไป ๗ ก้าว มีฉัตรสีขาวกั้น อยู่ ณ เบื้องบน  ย่อมเหลียวดูทิศทั้งหลาย และกล่าว อาสภิวาจา ว่า "เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งโลก  ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย  บัดนี้ภพใหม่ย่อม ไม่มี" ดังนี้.
(อาสภิวาจา  คือวาจาอันประกาศความสูงสุด)


หน้า30
เกิดแสงสว่าง เนื่องด้วยการประสูติ
 

         ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใดโพธิสัตว์คลอดจากท้องแห่ง มารดา ในกาล นั้นแสงสว่างอันโอฬารจนหาประมาณมิได้ ยิ่งใหญ่กว่า อานุภาพของเทวดา ทั้งหลายจะบันดาลได้ ได้ปรากฏขึ้นในโลกพร้อม ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกใน หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์.

          ถึงแม้ในโลกันตริกนรก อันโล่งโถงไม่มีอะไรปิดกั้น แต่มืดมน หาการเกิดแห่ง จักขุวิญญาณมิได้ อันแสงสว่างแห่งดวงจันทร์แล ดวงอาทิตย์ อันมีฤทธิ์อานุภาพ อย่างนี้ ส่องไปไม่ถึงนั้น แม้ในที่นั้น แสงสว่างอันโอฬารจนหาประมาณมิได้ ยิ่งใหญ่กว่าอานุภาพของ เทวดา ทั้งหลายจะบันดาลได้ ก็ได้ปรากฏขึ้นเหมือนกัน. สัตว์ที่เกิดอยู่ ในที่นั้น รู้จักกันได้ ด้วยแสงสว่างนั้น พากันร้องว่า

          "ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ยผู้อื่นอันเกิดอยู่ในที่นี้ นอกจากเรา ก็มีอยู่เหมือนกัน" ดังนี้.และหมื่นโลกธาตุนี้ก็หวั่นไหว สั่นสะเทือน สะท้าน. แสงสว่างอันโอฬาร จนหา ประมาณมิได้ ได้ปรากฏขึ้นในโลก เกินกว่าอานุภาพของเทวดาทั้งหลายจะบันดาลได้ " ดังนี้. 

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แม้ข้อนี้ ๆ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่า เป็นของน่า อัศจรรย์ ไม่เคยมี เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค


หน้า30
แผ่นดินไหว เนื่องด้วยการประสูติ 

         ดูก่อนอานนท์ ! เหตุปัจจัยที่ทำให้ปรากฏการไหวแห่งแผ่นดิน อันใหญ่หลวง มีอยู่แปดประการ. *

         ดูก่อนอานนท์ ! เมื่อใด โพธิสัตว์ มีสติสัมปชัญญะ ออกจากท้องแห่ง มารดา เมื่อนั้นแผ่นดินย่อมหวั่นไหว ย่อมสั่นสะเทือน ย่อมสั่นสะท้าน.

         อานนท์ ! นี้ เป็นเหตุปัจจัยคำรบสี่ แห่งการปรากฏการไหว แห่งแผ่นดินอันใหญ่หลวง
* (แต่เหตุเกิดแสงสว่างทั่วทั้งโลกธาตุ มี 3 เหตุการณ์ 1.ประสูติ 2.ตรัสรู้ 3.แสดงธรรมจักร อ่าน)


หน้า31
ประกอบด้วยมหาปุริสลักขณะ ๓๒


      ....ภิกษุ ท. ! มหาบุรุษ (คือพระองค์เองก่อนผนวช) ผู้ประกอบ ด้วย มหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการ ย่อมมีคติเป็นสอง หาเป็นอย่างอื่นไม่ คือ

        ถ้าเป็นฆราวาสย่อมเป็นจักรพรรดิ ผู้ประกอบด้วยธรรม เป็นพระราชาโดย ธรรม มีแว่นแคว้นจดมหาสมุทรทั้งสี่เป็นที่สุด มีชนบทอันบริบูรณ์ ประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการ. แก้ว ๗ ประการ ย่อมเกิดแก่มหาบุรุษนั้นคือจักร แก้วช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คหบดีแก้ว และปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗.มี บุตรผู้กล้าหาญ มีแวว แห่งคนกล้า อันใครๆจะย่ำยี มิได้ ตามเสด็จ กว่า ๑๐๐๐ มหาบุรุษนั้นชนะแล้ว ครอบครองแผ่นดิน มีสาครเป็นที่สุดโดยรอบ ไม่มีหลักตอเสี้ยน หนาม มั่งคั่ง เบิกบาน เกษม ร่มเย็น ปราศจากเสนียดคือโจร ทรงครอบครอง โดยธรรมอันสม่ำเสมอ มิใช่โดยอาญา และศาสตรา. 

          ถ้าออกบวชจากเรือน เป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกื้อกูลด้วยเรือน ยอมเป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกิเลสเครื่องปกปิดอันเปิดแล้ว ในโลก. 


หน้า31
ภิกษุ ท. ! มหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการนั้น


เหล่าไหนเล่า? คือ
๑. มหาบุรุษ มีพื้นเท้าสม่ำเสมอ
๒. มหาบุรุษ ที่ฝ่าเท้ามีจักรเกิดแล้ว, มีซี่ตั้งพัน พร้อมทั้งกงและดุม
๓. มหาบุรุษ มีส้นเท้ายาว
๔. มหาบุรุษ มีข้อนิ้วยาว
๕. มหาบุรุษ มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนละมุน
๖. มหาบุรุษ มีลายฝ่ามือฝ่าเท้าดุจตาข่าย
๗. มหาบุรุษ มีข้อเท้าอยู่สูง
๘. มหาบุรุษ มีแข้งดุจแข้งเนื้อทราย
๙. มหาบุรุษ ยืนไม่ย่อตัวลง แตะเข้าได้ด้วยมือทั้งสอง
๑๐. มหาบุรุษ มีองคชาตตั้งอยู่ในฝัก

๑๑. มหาบุรุษ มีสีกายดุจทอง คือมีผิวหนังดุจทอง
๑๒. มหาบุรุษ มีผิวหนังละเอียด ละอองจับไม่ได้
๑๓. มหาบุรุษ มีขนขุมละเส้น เส้นหนึ่งๆ อยู่ขุมหนึ่งๆ
๑๔. มหาบุรุษ มีปลายขนช้อนขึ้น สีดุจดอกอัญชัน ขึ้นเวียนขวา
๑๕. มหาบุรุษ มีกายตรงดุจกายพรหม
๑๖. มหาบุรุษ มีเนื้อนูนหนาในที่ ๗ แห่ง (คือหลังมือหลังเท้าบ่าคอ) 
๑๗. มหาบุรุษ มีกายข้างหน้า ดุจราชสีห์ 
๑๘. มหาบุรุษ มีหลังเต็ม (ไม่มีร่องหลัง)
๑๙. มหาบุรุษ มีทรวดทรงดุจต้นไทร กายกับวาเท่ากัน
๒๐. มหาบุรุษ มีคอ กลมเกลี้ยง

๒๑. มหาบุรุษ มีประสาทรับรสอันเลิศ 
๒๒. มหาบุรุษ มีคางดุจคางราชสีห์
๒๓. มหาบุรุษ มีฟัน ๔๐ ซี่บริบูรณ์
๒๔. มหาบุรุษ มีฟันเรียบเสมอ
๒๕. มหาบุรุษ มีฟันสนิท (ชิด)
๒๖. มหาบุรุษ มีเขี้ยวสีขาวงาม
๒๗. มหาบุรุษ มีลิ้น (ใหญ่และยาว) เพียงพอ
๒๘. มหาบุรุษ มีเสียงดุจเสียงพรหม พูดเหมือน นกการวิก
๒๙. มหาบุรุษ มีตาเขียวสนิท (สีนิล)
๓๐. มหาบุรุษ มีตาดุจตาวัว

๓๑. มหาบุรุษ มีอุณาโลม(ขน)หว่างคิ้ว ขาวอ่อนเหมือนสำลี
๓๒. มหาบุรุษ มีศีรษะรับกับกรองหน้า

ภิกษุ ท. ! นี้เป็นมหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการ ของมหาบุรุษ