เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม


หนังสือพุทธวจนออนไลน์   ดูหนังสือทั้งหมด
90 90 90 90 90
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์  
   
ค้นหาคำที่ต้องการ            

  อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคนำ   ที่มา เว็บไซต์ พุทธทาสศึกษา : www.buddhadasa.org ดาวน์โหลดหนังสือ(ไฟล์ PDF)
  
    1 of 13  
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคนำ ตอน 1 หน้า   อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคนำ ตอน 1 หน้า
อ้างอิงเลขหน้าตามหนังสือ     อ้างอิงเลขหน้าตามหนังสือ  
  คำปรารภ x2     เมื่อพ้นจากบ่วง 31
  คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก [พ.ศ.๒๕๐๒] x10     ยังมีพวกบริโภคกามโดยไม่จมกาม 34
  ใจความสำคัญ x12     ผู้รู้อริยสัจเป็นหลักอยู่ในใจย่อมไม่มีอาการสั่นสะเทือน 36
  สัตว์โลกกับจตุราริยสัจตรัสรู้แล้วทรงรำพึงถึงหมู่สัตว์ 3     ผู้ประกอบด้วยอวิชชา คือผู้ไม่มีความรู้สี่อย่าง 37
  การพ้นทุกข์โดยไม่รู้อริยสัจนั้น เป็นไปไม่ได้ 5     อย่าคิดเรื่องโลก แต่จงคิดเรื่องอริยสัจ 38
  เพราะไม่รู้อริยสัจ จึงต้องแล่นไปในสังสารวัฏ 6     อย่ากล่าวเรื่องทุ่มเถียง แต่จงกล่าวเรื่องพ้นทุกข์ 40
  สัตว์เกิดกลับมาเป็นมนุษย์มีน้อย เพราะไม่รู้อริยสัจ 7     อย่ากล่าวเรื่องไม่มีประโยชน์ แต่จงกล่าวเรื่องพ้นทุกข์ 41
  ความมืดบอดของโลก มีตลอดที่พระตถาคตไม่เกิดขึ้น 9     จงบวชเพื่อรู้ความดับทุกข์ 42
  สุขที่สัตว์โลกควรกลัว และไม่ควรกลัว 11     ไม่รู้อริยสัจ ก็ยังไม่เป็นสมณพราหมณ์ที่แท้ 42-1
  ความรู้สึกของบุถุชน ไขว้กันอยู่เสมอต่ออริยสัจ 12     ถ้ามัวรอให้รู้เรื่องที่ไม่จำเป็นเสียก่อน ก็ตายเปล่า 44
         
  ผู้ติดเหยื่อโลก ชอบฟังเรื่องกาม ไม่ฟังเรื่องสงบ 13     อย่ายึดถือติดแน่นในธรรม แต่จงใช้เพียงเป็นเครื่องมือ 46
  การฟังอริยสัจ เหมาะสำหรับจิตที่ฟอกแล้วเท่านั้น 14     เปรียบนักเรียนอริยสัจ ด้วยหนูต่างจำพวกกัน 47
  จิตที่ยังไม่ได้ฟอก ยากนักที่จะเห็นนิโรธสัจ 16     จงสงเคราะห์ผู้อื่น ด้วยการให้รู้อริยสัจ 48
  สัตว์ผู้ไม่เป็นไทต่อความกำหนัด ย่อมหลงกาม 16-1     ความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินถึงความดับไม่เหลือ 49
  สัตว์โลก รู้จักสุขอันแท้จริง ต่อเมื่อปัญญาเกิด 17     พระพุทธองค์ กับ จตุราริยสัจ 50
  ชีวิตมนุษย์กับจตุราริย-เป็นอันมากยึดถือเอาที่พึ่งผิดๆ 19     พระพุทธองค์ คือผู้ทรงชี้ให้รู้จักทุกข์ 50-1
  ผู้ไม่รู้อริยสัจ 19-1     มุมน้อยมุมหนึ่งของความทุกข์ ที่พระองค์ไม่มี 51
  ผู้รู้อริยสัจ หาหลงสร้างทุกข์ขึ้นเพื่อตัวเองไม่ 20     ทรงแสวง 52
  ทุกข์ใหญๆก็มีพอแล้วสำหรับสัตว์จะสำนึกตัวมารู้อริยสัจ 21     ทรงพบ 53
  พอรู้อริยสัจ 22     เมื่อยังไม่ทรงรู้อริยสัจ 54
         
  ผู้ไม่รู้อริยสัจ ชื่อว่าตกอยู่ในที่มืด 23     ถ้าไม่รู้เบญจขันธ์โดยนัยอริยสัจสี่ 55
  ผู้ไม่รู้อริยสัจ ชื่อว่าตกอยู่ในหลุมเพลิงเป็นนิจ 25     พระองค์ทรงพระนามว่าสัมมา-ก็เพราะตรัสรู้อริยสัจ- 57
  กว่ามนุษย์จะหลุดจากบ่วง (คือรู้อริยสัจ) 26     ทรงรอบรู้โลก (อริยสัจ) 57-1
  เมื่อจมกามตามปกต 26-1     ทรงประกาศ อนุตตรธรรมจักร ซึ่งใครๆประกาศไม่ได้ 60
  เมื่อจมกามครั้งที่สอง 27     สิ่งที่ไม่ทรงนำมาสอน มีมากยิ่งกว่ามากนัก 60-1
  เมื่อเฉไปติดบ่วงทิฏฐิ 29     สิ่งที่ทรงนำมาสอน ก็เฉพาะเรื่องความพ้นทุกข์ 61
        ทรงพยากรณ์เฉพาะเรื่องอริยสัจสี่ 62

 

   

 

 
 





อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคนำตอน1)
ภาคต้น

X2
คำปรารภ

“นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

“นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

“นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

           ในทุกๆ โลกธาตุนั้น หมู่สัตว์ผู้มีตัณหาเป็นเครื่องผูก มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ได้เวียนว่ายไปในกระแสแห่ง “ทุกข์” ไม่อาจที่จะพ้นได้ซึ่ง อบาย ทุคติ วินิบาต จนกว่าจะได้รู้ และกระทำให้แจ้งได้ ซึ่งอริยสัจสี่ (ความรู้อันเป็นทางหลุดพ้น) การเวียนว่ายในลักษณะนี้ มิใช่การเวียนว่ายของจิต หรือวิญญาณ หากแต่เป็นการเวียนวน แห่งความซ้ำไปซ้ำมา ของการเกิดดับในรูปแบบและมิติต่างๆ กัน ตามแต่ลักษณะความหลากหลาย ของอุปาทาน โดยสิ่งที่เกิดดับนี้ ล้วนแต่เป็นสภาพ ของทุกขัง

ตถาคต (พระพุทธเจ้า) คือ ผู้ที่มีความสามารถในการตรัสรู้อริยสัจทั้งสี่นี้ด้วยตนเอง พร้อมด้วย ความสามารถ ในการ ถ่ายทอด ในการแสดง ในการบัญญัติ ในการตั้งขึ้นไว้ใน การเปิดเผย ในการจำแนกแจกแจง ในการทำให้เป็นเหมือน การหงายของที่คว่ำ และการได้มาซึ่งความเป็น อรหันตสัมมาสัมพุทธะนั้น เป็นผลจากการสร้างเหตุ ที่มีลักษณะอันเอก ความเพียรอันประมาณ มิได้ คาบเวลาที่นับไม่ได้ในข่ายความเข้าใจ ของหมู่สัตว์ ได้ถูกใช้ไปในการสร้างเหตุปัจจัย อันเอกนี้ เพื่อให้ได้ผลแห่งความเป็นเอกนี้

การที่อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ๒ พระองค์ จะเกิดพร้อมกันในโลกธาตุเดียวกันนั้นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส เป็นฐานะ ที่จะมีไม่ได้ “ตถาคตเป็นมัคคัญญู (เป็นผู้รู้มรรค) เป็นมัคควิทู (เป็นผู้รู้แจ้งในมรรค) เป็นมัคคโกวิโท (เป็นผู้ฉลาดในมรรค) ส่วนสาวกทั้งหลายในกาลนี้เป็ นมัคคานุคา (เป็นผู้เดินตามมรรค) เป็นผู้ตามมาในภายหลัง”

ข้อความข้างต้น คือสิ่งที่ทรงยืนยันไว้ในพุทธสูตร ระบุถึงคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ระหว่าง พระพุทธองค์ในฐานะ พระศาสดา โดยเทียบกับความสามารถของสาวก แม้ในระดับพระอรหันต์ ผู้ปัญญาวิมุตติ ว่าเป็นแค่เพียงผู้เดิน ตามมรรคเท่านั้น

ในเรื่องนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ แม้อัครสาวกในระดับ เอตทัคคะ ในทางผู้อธิบาย ความย่อ ให้พิสดาร คือ พระมหากัจจานะ ผู้ซึ่งพระพุทธเจ้ายืนยันว่าเป็นเลิศเป็นที่หนึ่ง เป็นเอตทัคคะ ในการ แสดงธรรม ท่านพระมหากัจจานะ ไม่เคยแสดงความขวนขวายในการ แสดงธรรม เพื่ออธิบายเพิ่มเติมในสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว (เป็นสวากขาโตแล้ว) จะเห็นได้ จากการที่ท่านปฏิเสธที่จะตอบคำถามในเรื่องต่างๆ โดยแนะนำให้ผู้ที่ถามนั้น ไปฟังธรรมจาก พระพุทธองค์ด้วยตนเอง

ต่อเมื่อถูกรบเร้าหลายครั้ง จึงได้จำยอมแสดงธรรม ด้วยคำพูดของตัวเอง โดยยืนยันประกบ ไว้ว่า เป็นเพียงความเข้าใจ ส่วนตัวของตนและขอให้ผู้ที่ถามนั้นนำคำถามเดียวกันนี้ ไปทูลถามพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง เมื่อพระพุทธองค์ ทรงตอบว่าอย่างไร ก็ให้ถือจำพุทธวจน นั้นไว้เท่านั้น เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ (อัครสาวกปฏิเสธที่จะแสดงธรรม ด้วยคำพูด ของตน เมื่อถูกรบเร้าจึงค่อยแสดง โดยยืนยันว่าเป็นเพียงความเข้าใจส่วนตน ให้นำไปถามพระพุทธเจ้า

เมื่อทรงตอบอย่างไร ให้จำพุทธวจนนั้นไว้เท่านั้น) จะเห็นได้ทั่วไปจากตัวพระสูตร ที่ปรากฏ ในชั้นพระบาลี (คือ ข้อความที่เป็นพุทธวจน ซึ่งแทรกจมอยู่ในสิ่งที่เรียกกันว่าพระไตรปิฎก ในทุกวันนี้)

ข้อสังเกตนี้ คงไม่ใช่ด้วยเหตุที่อัครสาวกนั้นๆ ไม่มั่นใจ หรือไม่แน่ใจ ในความเข้าใจ ในความรู้ ของตนเอง ต่อเนื้อหา ธรรมนั้นๆ ตรงกันข้าม สาวกของพระผู้มีพระภาค ยิ่งมีความ เข้าใจใน เนื้อความแห่งธรรมนั้นๆ มากเท่าไหร่ ละเอียด ลึกซึ้งชัดเจนเท่าไหร่ ก็ยิ่งไม่ต้องการ ที่จะขวนขวาย ในการแสดงธรรมด้วยคำพูดของตนเอง ทั้งนี้ เพราะความ สามารถในการ กำหนด บทพยัญชนะ ที่บัญญัติออกมา แล้วสามารถนำไปใช้ได้ตลอดไปไม่จำกัดกาล และ ไม่เสี่ยง ต่อการตีความที่นำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนได้ ความสามารถตรงนี้ เป็นความ สามารถในระดับ บุคคล อันเอก คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
“...ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตนั้นได้ทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้ ..ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่น รู้แจ้งตาม ตถาคตนั้น แสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในที่สุด ประกาศ พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธ์ิบริบูรณ์สิ้นเชิง...”

ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่เชตวัน และบาลีอื่น ๆ อีกเป็นอันมาก. การแสดงธรรมงดงาม ในเบื้องต้น งดงามในท่ามกลาง และในที่สุด พร้อมทั้งอรรถะ (ความหมาย) พร้อมทั้งพยัญชนะ (คำที่พูด) ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ดังนี้ นั้น เป็นคุณสมบัติพิเศษเฉพาะ ในการตรัส ในการแสดงธรรมของพระพุทธองค์

ทรงกำชับแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่โคตมกเจดีย์ เวสาลี ว่า “พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ดีแล้ว (เป็นสวากขาโตแล้ว) ” ในครั้งที่ทรงสั่งพระอรหันต์ชุดแรก (๖๐รูป) ให้ออกไป ประกาศพระสัทธรรมนั้น ก็ทรงให้จำ คำพูดของพระพุทธองค์ไปเล่าต่อ“...ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงแสดงธรรมให้งดงามในเบื้องต้นให้งดงามในท่ามกลาง ให้งดงามในที่สุด

จงประกาศพรหมจรรย์ให้เป็นไปพร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะให้บริสุทธ์ิ บริบูรณ์ สิ้นเชิง...”

ตรัสแก่พระอรหันต์๖๐ รูป ชุดแรกที่อิสิปตนมิคทายวัน. ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ ภิกษุในระดับ อัครสาวก ผู้ที่ถึงธรรม รู้แจ้ง มีความเป็นเลิศในระดับที่พระพุทธองค์สรรเสริญ จึงพยายาม ไม่แปดเปื้อน คำของตน ลงไปในระบบการเรียนรู้ ของพระสัทธรรม ซึ่งต้องใช้พุทธวจน เป็นมาตรฐานเดียวเท่านั้น ก่อนพระพุทธองค์ทรงเสด็จปรินิพพาน

ทรงยืนยันว่า ไม่มีหลักธรรมใดๆอีกในกำมือของตถาคตแล้ว ที่ไม่ได้นำมาบอกสอน อีกทั้ง ยังกำชับกับพระอานนท์ว่า ธรรม และ วินัย ที่ทรงบัญญัติไว้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วนี้ คือพระศาสดาของเราต่อไป ทรงแสดงเหตุแห่งความเสื่อม ของพระสัทธรรม ไว้หลายนัยยะ เพื่อให้เราหลีกเลี่ยงเหตุแห่งความเสื่อมนั้น เพื่อให้เราสนใจเล่าเรียน ใส่ใจว่าเป็นสิ่ง ที่ตน ควรเล่าเรียนศึกษา ในสิ่งที่เป็นตถาคตภาษิต คือเฉพาะที่เป็นพุทธวจนเท่านั้น

“พวกภิกษุเล่าเรียนสูตร อันถือกันมาผิด ด้วยบทพยัญชนะที่ใช้กันผิด เมื่อบท และพยัญชนะ ใช้กันผิดแล้ว แม้ความหมาย ก็มีนัยอันคลาดเคลื่อน.ภิกษุทั้งหลาย! นี้ มูลกรณีที่หนึ่ง ซึ่งทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือน จนเสื่อมสูญไป”

เหตุการณ์ล่วงเลยไปสองพันกว่าปี ความย่อหย่อนลง ความเสื่อมอันตรธานไปของพระสัทธรรม ได้ปรากฏตัวให้เห็นชัด เริ่มจากการสังคายนาในครั้งที่สองหรือสาม ที่เริ่มมีการเพิ่มคำ ของสาวก ประกบเข้าไปในระบบการถ่ายทอดบอกสอน และความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ รูปแบบและระบบการเรียนรู้ธรรมวินัยในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะในระดับของชาวพุทธ ทั่วไป หรือในระดับของคณะสงฆ์เอง เริ่มหาคำที่เป็นพุทธวจนแท้ๆ ไม่ได้แล้ว (หากพุทธวจน คือตัวแทนของพระศาสดา ตามที่ทรงตรัสไว้กับพระอานนท์ นั่นหมายความว่าทุกวันนี้ ชาวพุทธ เริ่มหาพระพุทธเจ้าไม่เจอแล้ว)ใช่หรือไม่ว่า

การเรียนรู้พระธรรมวินัยในปัจจุบันนี้ เป็นระบบการเรียนรู้ ที่อาศัยคำของสาวกเป็นหลัก แทบทั้งหมด มีการแต่งตั้ง บัญญัติ นิกาย กันอย่างอิสระ ภายใต้นิกายเดียวกันนั้น ก็มีระบบ อาจาริยวาท มีระบบคำสอน ที่แตกต่างกัน น่าแปลกประหลาด อย่างยิ่งที่ว่า การกระทำ ทั้งหมดนี้ เกิดจากการอ้างถึงคำสอน ของพระพุทธองค์แทบทั้งสิ้น แต่การอ้างถึงตรงนี้ เป็นการอ้าง โดยการแต่งบัญญัติขึ้นใหม่ ทั้งๆที่พระพุทธองค์ทรงรู้ด้วยพระสัพพัญญุตาญาณ และทรงรับสั่งเตือนไว้ แล้วว่า การบัญญัติขึ้นใหม่ในสิ่งที่ตถาคต มิได้บัญญัติ คือเหตุแห่งความ เสื่อม ที่จะมีมาในอนาคตกาล

ชาวพุทธในยุคหลัง จึงห่างจากพระพุทธเจ้าออกไปเรื่อยๆ เพราะการเรียนรู้ธรรมวินัยจากคำพูด ของสาวก ซึ่งยึดถือในตัว ครูบาอาจารย์เป็นหลัก โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าความสามารถของ สาวก นั้น มีขีดจำกัดเพียงแค่ผู้เดินตามมรรคเท่านั้น ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้ได้ผันแปร พระสัทธรรม ไปสู่ระบบอาจาริยวาทที่แข็งแรง เหนียวแน่น และหลากหลายครึ่งศตวรรษก่อน

ท่านพุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกษาจารย์ เงื่อม อินทปัญโญ) เป็นภิกษุรูปแรกที่เล็งเห็นความ สำคัญของพุทธวจน ถึงกับขนาดลงทุนลงแรง ใช้เวลาทั้งหมดยี่สิบกว่าปีในการ “สกัด” เฉพาะส่วนที่เป็นพุทธวจน ออกมาจากสิ่งที่ เรียกกันว่าพระไตรปิฎก โดยบรรจงแปลจาก ฉบับบาลี ของประเทศต่างๆ เทียบเคียง เพื่อให้ได้ความสมบูรณ์ที่สุดด้วย ศรัทธา อันไม่หวั่นไหว ในพระผู้มีพระภาค ท่านพุทธทาสและสหายธรรมของท่าน ทำงานชิ้นนี้สำเร็จ ออกมาเป็นผลงาน ที่เรียกว่า “ชุดจากพระโอษฐ์” ซึ่งมีทั้งหมด ๕ เล่ม

พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคต้น อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคปลาย ปฎิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ และ ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ผลงานชุดนี้ มิใช่ผลงาน ประพันธ์ของท่านพุทธทาส แต่เป็นผลงานแปลพุทธวจน โดยสกัดจากต้นฉบับบาลีในที่ต่างๆ สิ่งที่บรรจุอยู่ในหนังสือ ๕ เล่มนี้ คือ พุทธวจน คือหลักธรรมที่ทรงตรัสไว้เอง เป็นตถาคตภาษิต เป็นคำของพระพุทธเจ้า และเป็นผลงานชิ้นยอดที่สุด ซึ่งท่านพุทธทาสและสหายธรรม ของท่าน ใช้เวลาในการแปลอย่างต่อเนื่องถึงยี่สิบกว่าปี

แต่เมื่อพิจารณาจากยอดพิมพ์ และจำนวนครั้งในการพิมพ์ รวมถึงจำนวนเล่มในการพิมพ์ แต่ละครั้ง แล้ว จะเห็นได้ว่า ในระยะครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ “ชุดจากพระโอษฐ์” กลับถูก ทอดทิ้งไว้บนหิ้ง ไม่ได้รับการนำมาศึกษาอย่างจริงจัง ย้อนกลับไปในครั้งพุทธกาล สมัยที่ ท่านพระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา และเป็นเอตทัคคะผู้เลิศทางปัญญา) ได้พบกับท่าน พระอัสสชิเถระเป็นครั้งแรก เกิดความเลื่อมใสในอริยาบถของท่านพระอัสสชิมาก ได้ฟังธรรม จากท่าน เพียงบทเดียวก็บรรลุโสดาปัตติผล

หลังจากนั้น แม้จะเคารพศรัทธาพระอัสสชิมากเพียงใด ท่านพระสารีบุตรก็มิได้ติดตามฟังธรรม จากท่านพระอัสสชิเลย พระสารีบุตรฟัง และทรงจำพุทธวจน ธรรมวินัยจากพระโอษฐ์ ของพระพุทธเจ้า

นอกจากนี้ สิ่งที่แสดงถึงความสำคัญของพุทธวจน คือ ธรรมวินัยจากพุทธโอษฐ์โดยตรงนั้น จะเห็นได้จากพระสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงอธิบายวิธีการเปิดธรรมที่ถูกปิด ซึ่งมีข้อสังเกต ที่น่าสนใจคือ ทรงเรียกพุทธบริษัทประเภท ที่ใช้คำ ของสาวก หรือคำที่คนแต่งขึ้นใหม่ ในการศึกษา ว่าเป็นการอาศัย “บุคคลภายนอกเหล่าอื่น” ซึ่งจะไม่สามารถเปิดธรรม ที่ถูกปิดไว้ได้ และไม่สามารถบรรเทาความสงสัย ให้คลายลงไปได้ ส่วนพุทธบริษัทที่ใช้เฉพาะ คำของพระองค์ จะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้และจัดเป็นบริษัทที่เลิศ

ด้วยเหตุทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่สังคมชาวพุทธจะต้องมีความ ชัดเจน มั่นคงในพุทธวจน เพื่อเร่งสร้างเหตุให้พระสัทธรรมตั้งมั่น ด้วยวิธีและรูปแบบที่ถูกต้อง ตรงตามพุทธบัญญัติ ตรงตามพุทธประสงค์ และในเมื่อพุทธวจนบาลีฉบับที่ใช้อยู่ คือฉบับ สยามรัฐ เป็นต้นฉบับที่ทุกๆสำนักของคณะสงฆ์ ต่างก็ยอมรับร่วมกัน อยู่แล้ว ประกอบกับว่า ท่านพุทธทาสได้บรรจงคัดแปลพุทธวจนออกมา เป็นผลงานชุดจากพระโอษฐ์ ๕ เล่มใน เบื้องต้น แล้ว งานที่เหลือก็คือ การตรวจแก้ไขคำที่พิมพ์ผิด และตรวจค้นเพิ่มเติมเพื่อให้งาน ชุดนี้บรรจุพุทธวจนไว้ครบถ้วนที่สุด หากจะว่ากันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ในปัจจุบันนี้

ท่ามกลางกระแสของการยึดคำสอนของสาวก เป็นหลักด้วยการโหมกระพือของธุรกิจสื่อธรรมะ ซึ่งถูกผลักดันด้วย กลยุทธ์ ทางการขายอย่างแยบคายของนักการตลาด เกิดลัทธิคำสอน ของสาวกรุ่นใหม่ เกิดการสร้างบัญญัติ แต่งเติมมรรควิธีต่างๆ ขึ้นใหม่ สร้างความพร่าเลือน และสับสนในคำสอนขององค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ซึ่งเป็นเหตุ โดยตรงในการอันตรธาน ของพระธรรมวินัยตั้งแต่ปี ๒๕๕๐

ท่านพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล รวมถึงคณะสงฆ์ คณะศิษย์วัดนาป่าพง ได้ร่วมกันรวบรวม พุทธวจนล้วนๆ จากพระสูตรทั้งหมดที่มีอยู่ในบาลีสยามรัฐ พร้อมจัดหมวดหมู่ธรรมะ โดยใช้ฐานข้อมูลเดิม ที่ท่านพุทธทาสได้ตั้งต้นทำไว้ คือหนังสือชุด จากพระโอษฐ์ทั้ง ๕ เล่ม โดยคงรักษารูปแบบการจัดลำดับ หมวดธรรมที่ท่านพุทธทาสได้จัดไว้ อย่างดีแล้ว รวมไปถึง การเสริมพระสูตรในหมวดธรรมเดียวกัน (เช่น หมวดของอริยสัจ ๔) ที่ยังดึงออกมาไม่หมด ตรวจแก้คำผิด เชิงอรรถ ที่คลาดเคลื่อนและข้อสงสัย ที่ยังเคยคงเอาไว้ ซึ่งคณะสงฆ์ได้ค้นคว้า จนพบคำตอบแล้ว พร้อมกับรวบรวมพุทธวจน ที่เป็นหลักธรรมหมวดอื่นๆอีก

ที่ยังหลงเหลือเช่น อนุปุพพิกถา ภาวะของนิพพานฯลฯ ที่ยังไม่ได้รวบรวมไว้ ออกมาให้ครบ ทั้งหมด นำมาบรรจุ เพื่อความถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะจัดทำพุทธวจนของพระองค์ ทั้งหมด ออกมาเป็นฉบับเทียบเคียง ทั้งภาษา บาลี และภาษาไทยอยู่ในเล่มเดียวกัน เพื่อความสะดวก แก่ผู้ต้องการศึกษาอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันได้ทำ ในระดับ ของการตรวจแก้ ฉบับเดิม แล้วเสร็จไป ๒ เล่มคือ ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ และอริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคต้น

ด้วยความเลื่อมใสในการถ่ายทอดบอกสอน ตามหลักพุทธวจนของ ท่านพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล จึงเกิดมี พุทธบริษัทเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง เกิดศรัทธาในการริเริ่ม และทุ่มเท สร้างความ ชัดเจน ดึงเอาหลักเหตุ หลักผลให้เกิดความ กระจ่างแจ้งในพุทธวจนของท่าน พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ ซึ่งถือเป็นความสำคัญเร่งด่วนอันดับหนึ่ง ของชาวพุทธทุกภาคส่วน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเถระ ภิกษุผู้บวชนาน และหมู่อุบาสก อุบาสิกา ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย เพื่อให้ชาวพุทธเข้าใจแก่นแท้ ของคำสอน ที่ถูกต้องตรงทาง และเพื่อให้เป็นมาตรฐาน หลักเดียว ในการศึกษาต่อไป

คณะศิษย์จึงได้ปวารณา ที่จะจัดพิมพ์หนังสือชุดนี้ ซึ่งการทำงานตรงนี้เป็นผลเกิดจากการ ได้เห็นความทุ่มเทแรงกาย แรงใจของท่านพระอาจารย์คึกฤทธิ์ เป็นหลัก อีกทั้งได้รับการ สนับสนุนจากบรรดาพุทธบริษัทที่ได้เห็นคุณค่า และความสำคัญของพุทธวจน ในความหมาย ที่ถูกต้อง โดยทั้งหมดนี้ มีจุดประสงค์เพียงข้อเดียวเท่านั้น นั่นคือ เพื่อสร้างเหตุปัจจัยที่ถูกต้อง ตรงตามพุทธประสงค์ ตรงตามพุทธบัญญัติ ในการสร้างความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ด้วยการสร้าง ความชัดเจน และมั่นคงในพุทธวจนนี้ ถือเป็นการอัญเชิญพระพุทธองค์ กลับมาสู่จิตใจชาวพุทธอีกครั้งหนึ่ง

คณะศิษย์วัดนาป่าพง ในนามของชาวพุทธ ขอกราบนอบน้อมต่อ พระผู้มีพระภาคและ พระอรหันต์สาวกทั้งหลาย และขออนุโมทนา กับทุกๆรูปนามที่มีส่วนร่วมในการทำงานตรงนี้ ให้สำเร็จลุล่วงต่อไป

ในนามพุทธบริษัท
พุทธศักราช ๒๕๕๒





X10 (ภาคนำตอน1)
คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
[พ.ศ.๒๕๐๒]


พระพุทธศาสนาทั้งแท่ง มียอดสุด คือ อริยสัจ ๔. หลักธรรมทุก ๆ อย่าง สงเคราะห์รวมลงได้ ในอริยสัจ ๔. ข้อปฏิบัติทุก ๆ ข้อ ก็มีเพื่อรู้ อริยสัจ ด้วยปัญญา. ครั้นรู้ อริยสัจ ด้วยปัญญา ถึงที่สุดแล้วก็หลุดพ้นจากอาสวะกิเลส เป็นผู้ที่ทำที่สุด แห่งความทุกข์ให้ปรากฏได้ และพ้นทุกข์ อย่างเด็ดขาดไม่กลับเป็นทุกข์อีกต่อไป เพราะจิตหลุดพ้นจากสิ่งที่เคยยึดถือ.

ผู้ที่รู้อริยสัจได้ โดยตนเอง อย่างแตกฉาน และสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ด้วย เรียกว่าพระสัมมา สัมพุทธเจ้า. ผู้ที่รู้เอง แตกฉานเฉพาะเท่าที่ทำตัวเองให้หลุดพ้นได้ แต่สอนผู้อื่นให้รู้ตามไม่ได้ เพราะไม่สามารถในการทรมานผู้ฟัง เรียกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า. ผู้ที่ได้ฟังจากพระสัมมา สัมพุทธเจ้าแล้วรู้ตามได้ เรียกว่า พระอนุพุทธเจ้า หรือ พระอริยสาวก.

ทั้ง ๓ จำพวกนี้ก็ล้วนแต่ เพราะรู้ อริยสัจ ๔ด้วยปัญญา. อริยสัจ ๔ จึงคือ ยอดธรรม. การรู้ อริยสัจ ก็คือ ยอดแห่งพรหมจรรย์. และการประพฤติเพื่อให้รู้อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญา ก็คือ ยอดแห่งการประพฤติทั้งหลาย.

ในโลกนี้ หรือในโลกไหน ๆ กี่พันโลกก็ตาม ไม่มีอะไรดีไปกว่า “ความพ้นทุกข์.” ความพ้นทุกข์มีได้ เพราะรู้ อริยสัจทั้ง ๔ อย่างสมบูรณ์ คือ รู้จักทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับไม่เหลือของทุกข์และทางดำเนินให้ถึงความดับ ไม่เหลือ ของทุกข์ นั่นเอง.

อริยสัจทั้ง ๔ อย่างนี้ จึงเป็นความรู้ที่ควรศึกษาสำหรับการมีชีวิตอยู่ ยิ่งกว่าความรู้อื่น ๆ ซึ่งเป็นเพียงการหลอกล่อ ให้ชีวิตเพลินไปวันหนึ่ง ๆหาได้สำรอกทุกข์ พร้อมทั้งรากเชื้อ ของมันออกจากดวงจิตของมนุษย์ได้ไม่.

เจ้าหน้าที่กองตำราของคณะธรรมทาน ได้พยายามค้นเรื่องอริยสัจมาเป็นเวลานาน ด้วยความ ลำบากอย่างยิ่ง ในการค้น และการนำมาจัดเข้าลำดับให้ถูกต้องปะติดปะต่อกัน จนตลอดเรื่อง เป็นเรื่อง อริยสัจจากพระโอษฐ์ ฉบับที่สมบูรณ์. คณะธรรมทาน ได้เริ่มพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ตั้งแต่ต้น พ.ศ. ๒๕๐๐ จัดเย็บเล่มภาค ๑-๒ ไว้ตอนหนึ่งแล้ว. มาบัดนี้ภาค ๓ - นิโรธอริยสัจ เสร็จลง จึงได้จัดเย็บเล่มไว้อีกตอนหนึ่ง. ส่วนภาค ๔ - มรรคอริยสัจ และ ภาคสรุปท้าย จะได้จัดพิมพ์ต่อไป.

คณะธรรมทาน, ไชยา
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๒




X12 (ภาคนำตอน1)
ใจความสำคัญ

หลังจากทรงทิ้งราชสมบัติ ทิ้งโอกาสแห่งการเสพกามในระดับพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ครอง แผ่นดินสุดมหาสมุทรทั้ง ๔ สมณโคดม (โคตม) ได้บำเพ็ญเพียรอันยากยิ่ง เพื่อการ บรรลุ ความรู้ อันประเสริฐ อันเป็นทางหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ ในที่สุด

ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ใต้ควงไม้อัสสัตถะ ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ เกิดแสงสว่าง อันโอฬารมิอาจประมาณ ยิ่งใหญ่กว่าอานุภาพของเทวดาทั้งหลาย จะบันดาลขึ้นได้ ความสว่าง แห่งแสงนี้ แผ่ไปถึงทั่วทุกภพภูมิ ส่องสว่าง ถึงไม่เว้นแม้แต่โลกันตริกนรกอันมืดมิด

สิ่งที่ทรงตรัสรู้นั้น คือ ความจริงอันประเสริฐทั้ง ๔ (อริยสัจ ๔) อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และที่บรรจุ อยู่ในหนังสือ เล่มนี้ คือ อริยสัจ ๓ ข้อแรก โดยคัดแปลมาเฉพาะพุทธวจน เป็นตถาคตภาษิต คือที่ทรงตรัสไว้ ด้วยพระองค์เอง

การจัดพิมพ์ครั้งนี้ มีการแก้ไขคำที่พิมพ์ผิด รับแก้เชิงอรรถที่ยังเป็นประเด็นข้อ สงสัย หรือไม่ สอดคล้องกับพุทธวจน และเพิ่มเติมพุทธวจนที่เพิ่งค้นพบใหม่ โดยยังคงรักษา เลขหน้า ไว้เหมือนเดิม เพื่อความสะดวกแก่ผู้ที่สนใจศึกษา เทียบเคียงกับต้นฉบับเดิมของท่านพุทธทาส และกองตำราคณะธรรมทาน ธรรมทานมูลนิธิ และเพื่อเปิดโอกาส ให้ผู้ศึกษา ผู้รู้ด้านบาลี ได้ตรวจสอบเน้นย้ำความถูกต้อง เพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป





อริยสัจจากพระโอษฐ์


ภาคนำ

ว่าด้วยข้อความที่ควรทราบก่อนเกี่ยวกับจตุราริยสัจ(๖ ตอน)


หน้า3 อ้างอิงเลขหน้าตามหนังสือ
สัตว์โลก กับ จตุราริยสัจ
ตรัสรู้แล้ว ทรงรำพึงถึงหมู่สัตว์


 สัตว์โลกนี้ เกิดความเดือดร้อนแล้ว มีผัสสะบังหน้า๑ ย่อมกล่าวซึ่งโรค (ความเสียดแทง) นั้น โดยความเป็นตัวเป็นตน เขาสำคัญสิ่งใด โดยความเป็นประการใด แต่สิ่งนั้นย่อมเป็น (ตามที่เป็นจริง)โดยประการอื่นจากที่เขาสำคัญนั้น
-------------------------------------------------------------------------------------------
๑. คำว่า “มีผัสสะบังหน้า (ผสฺสปเรโต)” หมายความว่า เมื่อเขาถูกต้องผัสสะใด จิตทั้งหมด ของเขายึดมั่นอยู่ในผัสสะนั้นจนไม่มองเห็นสิ่งอื่น แม้จะใหญ่โตมากมายเพียงใด ทำนอง เส้นผม บังภูเขา เขาหลงใหลยึดมั่นแต่ในอัสสาทะของผัสสะนั้นจนไม่มองเห็นสิ่งอื่น อย่างนี้เรียกว่า มีผัสสะบังหน้า คือบังลูกตาของเขา ให้เห็นสิ่งต่าง ๆผิดไปจากตามที่เป็นจริง
-------------------------------------------------------------------------------------------
สัตว์โลกติดข้องอยู่ในภพ ถูกภพบังหน้าแล้ว มีภพโดยความเป็นอย่างอื่น (จากที่มันเป็นอยู่จริง) จึงได้เพลิดเพลิน ยิ่งนักในภพนั้น. เขาเพลิดเพลินยิ่งนักในสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นภัย (ที่เขาไม่รู้จัก) เขากลัวต่อสิ่งใดสิ่งนั้นก็เป็นทุกข์. พรหมจรรย์นี้ อันบุคคลย่อม ประพฤติ ก็เพื่อการละขาดซึ่งภพ.

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด กล่าวความหลุดพ้นจากภพว่ามีได้เพราะภพ เรากล่าวว่า สมณะ หรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น มิใช่ผู้หลุดพ้นจากภพ.ถึงแม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด กล่าวความ ออกไปได้จากภพ ว่ามีได้เพราะวิภพ๑ เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น ก็ยังสลัดภพ ออกไปไม่ได้.ก็ทุกข์นี้มีขึ้น เพราะอาศัยซึ่งอุปธิทั้งปวง. เพราะความสิ้นไป แห่งอุปาทานทั้งปวง ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์จึงไม่มี.

ท่านจงดูโลกนี้เถิด (จะเห็นว่า) สัตว์ทั้งหลายอันอวิชชาหนาแน่นบังหน้าแล้ว และว่า สัตว์ ผู้ยินดี ในภพอันเป็นแล้วนั้น ย่อมไม่เป็นผู้หลุดพ้นไปจากภพได้. ก็ภพทั้งหลายเหล่าหนึ่ง เหล่าใด อันเป็นไปในที่หรือในเวลาทั้งปวง๒ เพื่อความมีแห่งประโยชน์โดยประการทั้งปวง ภพทั้งหลายทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา.
-------------------------------------------------------------------------------------------
๑. คำว่า
“วิภพ” ในที่นี้ ตรงกันข้ามกับคำว่า ภพ” คือไม่มีภพตามอำนาจของนัตถิกทิฏฐิ หรืออุจเฉท ทิฏฐิโดยตรง คือไม่เป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา ดังนั้น แม้เขาจะรู้สึกว่า ไม่มีอะไร มันก็มีความไม่มีอะไรนั้นเองตั้งอยู่ในฐานะเป็นภพ ชนิดที่เรียกว่า “วิภพ” เป็นที่ตั้งแห่ง วิภวตัณหา.
๒. คำว่า “
ในที่หรือในเวลาทั้งปวง” ตลอดถึงคำว่า “เพื่อความมีแห่งประโยชน์โดยประการ ทั้งปวง” เป็นคุณบทแห่งค่า อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นของภพ. ความมีความเป็น อย่างไร ก็ตาม ย่อมเนื่องด้วยเวลาที่พอเหมาะ เนื้อที่ที่พอดี ประโยชน์ที่น่ารัก มันจึงจะเป็นที่ตั้งแห่ง ความ ยึดถือ หรือยั่วยวนให้ยึดถือ; ดังนั้น ภพชนิดไหนก็ตาม ย่อมเนื่องอยู่ด้วย สิ่งทั้งสามนี้ แต่แล้วในที่สุดมันก็เป็นเพียงสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ความแปรปรวนเป็นธรรมดา ดังที่กล่าวแล้ว ในพุทธอุทานนั้น.
-------------------------------------------------------------------------------------------
เมื่อบุคคลเห็นอยู่ซึ่งข้อนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริงอย่างนี้อยู่ เขาย่อมละภวตัณหาได้ และไม่เพลิดเพลิน วิภวตัณหาด้วย.ความดับเพราะความสำรอกไม่เหลือ (แห่งภพทั้งหลาย) เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา โดยประการทั้งปวง นั้นคือนิพพาน.ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้ดับเย็นสนิทแล้ว เพราะไม่มีความยึดมั่น.

ภิกษุนั้น เป็นผู้ครอบงำมารได้แล้ว ชนะสงครามแล้ว ก้าวล่วงภพทั้งหลายทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้คงที่ (คือไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป) ดังนี้แล. (ข้อความนี้ เป็นพระพุทธอุทานที่ทรงเปล่ง ออก ที่โคนต้นโพธิ์เป็นที่ตรัสรู้ เมื่อตรัสรู้แล้วได้ ๗ วัน).


หน้า5 (ภาคนำตอน1) อ้างอิงเลขหน้าตามหนังสือ
การพ้นทุกข์โดยไม่รู้อริยสัจนั้น เป็ นไปไม่ได้

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวว่า “ฉันไม่ต้องทำพื้นฐานรากในเบื้องล่างของ เรือนดอก แต่ฉันจักทำตัวเรือนข้างบนได้” ดังนี้ นี่ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้ฉันใด ข้อนี้ก็ไม่เป็น ฐานะ ที่จักมีได้ ฉันนั้น คือข้อที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวว่า “ฉันไม่ต้องรู้จักความจริงอันประเสริฐ คื ความจริงเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับไม่เหลือของทุกข์ และเรื่องทาง ดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์นั้นดอก แต่ฉันจักทำความสิ้นสุดแห่งทุกข์ได้ โดยถูกต้อง ” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! และเปรียบเหมือนผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวว่า “ฉันต้องทำฐาน รากของเรือนตอนล่า งเสียก่อน จึงจักทำตัวเรือนข้างบนได้” ดังนี้ นี่เป็นฐานะที่จักมีได้ ฉันใด ข้อนี้ก็เป็นฐานะ ที่จักมีได้ ฉันนั้น คือข้อที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวว่า “ฉันครั้นรู้ความจริงอันประเสริฐ คือความจริง เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับไม่เหลือของทุกข์ และเรื่องทางดำเนินให้ถึง ความดับ ไม่เหลือของทุกข์ นั้นแล้ว จึงจักทำความสิ้นสุดแห่งทุกข์ได้ โดยถูกต้อง ” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ”ดังนี้เถิด.


หน้า6 (ภาคนำตอน1)
เพราะไม่รู้อริยสัจ จึงต้องแล่นไปในสังสารวัฏ

ภิกษุ ท. ! เพราะไม่รู้ถึง ไม่แทงตลอดซึ่งอริยสัจสี่อย่าง เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยว ไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้. ภิกษุ ท. ! อริยสัจสี่อย่าง เหล่าไหนเล่า ?

ภิกษุ ท. ! เพราะไม่รู้ถึง ไม่แทงตลอดซึ่งอริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์ อริยสัจคือ ความดับไม่เหลือของทุกข์ และอริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยวไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้.

ภิกษุ ท. ! เมื่ออริยสัจ คือทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับไม่เหลือของทุกข์ และทางดำเนิน ให้ถึง ความดับไม่เหลือของทุกข์, เป็นความจริงที่เราและพวกเธอทั้งหลาย รู้ถึง และแทงตลอด แล้ว ตัณหาในภพ ก็ถูกถอนขึ้นขาดตัณหาที่จะนำไปสู่ภพ ก็สิ้นไปหมด บัดนี้ความต้องเกิดขึ้น อีก มิได้มี ดังนี้.
(สูตรอื่นได้ตรัสเหตุที่ทำให้ ต้องท่องเที่ยวไปสังสารวัฏ เพราะไม่รู้อริยธรรมสี่ดังต่อไปนี้ )

ภิกษุ ท. ! เพราะไม่รู้ตามลำดับ เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งธรรม ๔ ประการ เราและพวกเธอ ทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยวไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้. ธรรม ๔ ประการ อย่างไหนเล่า ? ภิกษุ ท. ! เพราะไม่รู้ตามลำดับ เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งอริยศีล.... ซึ่งอริยสมาธิ....ซึ่งอริยปัญญา....ซึ่งอริยวิมุตติ.... เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยว ไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้.

ภิกษุ ท. ! เมื่ออริยศีล อริยสมาธิ อริยปัญญา และอริยวิมุตติเป็นธรรมที่เราและเธอรู้แล้ว ตามลำดับ แทงตลอดแล้ว ตัณหาในภพก็ถูกถอนขึ้นขาด ตัณหาที่จะนำไปสู่ภพก็สิ้นไปหมด บัดนี้ความต้องเกิดขึ้นอีกมิได้มี ดังนี้.


หน้า7 (ภาคนำตอน1)
สัตว์เกิดกลับมาเป็นมนุษย์มีน้อย เพราะไม่รู้อริยสัจ

ภิกษุ ท. ! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร ฝุ่นนิดหนึ่ง ที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้ กับมหาปฐพีนั้น ข้างไหนจะมากกว่ากัน ?

 “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มหาปฐพีนั่นแหละเป็นดินที่มากกว่า. ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้น ด้วย ปลายพระนขานี้ เป็นของมีประมาณน้อย. ฝุ่นนั้น เมื่อนำเข้าไปเทียบกับมหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่งการคำนวณได้ เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งกะละภาค (ส่วนเสี้ยว)”.

ภิกษุ ท. ! อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น สัตว์ที่เกิดกลับมาสู่หมู่มนุษย์ มีน้อย สัตว์ที่เกิดกลับ เป็นอย่างอื่นจากหมู่มนุษย์ มีมากกว่าโดยแท้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้น เพราะความที่สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้งสี่.

อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่างคือ อริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ อริยสัจ คือความดับไม่เหลือ แห่งทุกข์อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรม๑ อันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้ หตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้” ดังนี้.
           ๑ โยคกรรม คือ การกระทำความเพียรอย่างมีระบบ อย่างแข็งขันเต็มที่ ในรูปแบบหนึ่ง ๆ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ตามความมุ่งหมาย เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า “โยคะ” เป็นคำกลาง ใช้กันได้ ระหว่างศาสนาทุกศาสนา.


หน้า9 (ภาคนำตอน1)
ความมืดบอดของโลก มีตลอดเวลาที่พระตถาคตไม่เกิดขึ้น

ภิกษุ ท. ! ตลอดกาลเพียงใด ที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ยังไม่บังเกิดขึ้นในโลก ความปรากฏ แห่งแสงสว่าง อันใหญ่หลวง ความส่องสว่างอันใหญ่หลวง ก็ยังไม่มี ตลอดกาลเพียงนั้น. ในกาลนั้น มีอยู่แต่ความมืดเป็นความมืด ซึ่งกระทำความบอด. กลางคืนกลางวัน ก็ยังไม่ปรากฏ เดือนหรือกึ่งเดือน ก็ไม่ปรากฏ ฤดูหรือปี ก็ไม่ปรากฏ ก่อน.

ภิกษุ ท. ! แต่ว่าในกาลใด ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์บังเกิดขึ้นในโลก ในกาลนั้น ความปรากฏ แห่งแสงสว่าง อันใหญ่หลวง ความส่องสว่างอันใหญ่หลวง ย่อมมี. ในกาลนั้นย่อมไม่มีความ มืด อันเป็นความมืดซึ่งกระทำความบอด. ลำดับนั้น กลางคืนกลางวัน ย่อมปรากฏ เดือนหรือ กึ่งเดือน ย่อมปรากฏ ฤดูหรือปี ย่อมปรากฏ นี้ฉันใด

ภิกษุ ท.! ข้อนี้ ก็ฉันนั้น ตลอดกาลเพียงใด ที่ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะยังไม่บังเกิดขึ้น ในโลก ความปรากฏ แห่งแสงสว่างอันใหญ่หลวงความส่องสว่างอันใหญ่หลวง ก็ยังไม่มี ตลอดกาลเพียงนั้น. ในกาลนั้น มีอยู่แต่ความมืด เป็นความมืดซึ่งกระทำความบอด. การบอก การแสดง การบัญญัติการแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนกแจกแจง การกระทำให้เข้าใจได้ง่าย ซึ่งอริยสัจทั้งสี่ ก็ยังไม่มีก่อน.

ภิกษุ ท. ! แต่ว่า ในกาลใดแล ตถาคตผู้อรหันต-สัมมาสัมพุทธะ บังเกิดขึ้นในโลก ในกาลนั้น ความปรากฏแห่งแสงสว่าง อันใหญ่หลวง ความส่องสว่างอันใหญ่หลวง ย่อมมี. ในกาลนั้น ย่อมไม่มีความมืด อันเป็นความมืดซึ่งกระทำความบอด.

ลำดับนั้น ย่อมมีการบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนกแจกแจง การกระทำให้เข้าใจได้ง่าย ซึ่งอริยสัจทั้งสี่. ซึ่งอริยสัจทั้งสี่อย่างไรเล่า ? คือซึ่งทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง กระทำโยคกรรมเพื่อให้รู้ว่า “นี้ ทุกข์ นี้ ทุกขสมุทัย นี้ ทุกขนิโรธ นี้ ทุกขนิโรธคามินี-ปฏิปทา” ดังนี้เถิด.

อริยสัจสี่ เป็นสิ่งที่คงที่ไม่รู้จักเปลี่ยนตัวภิกษุ ท. ! มีของสี่อย่าง ซึ่งคงที่ ไม่เปลี่ยนจากความ คงที่ ไม่ไปสู่ความมี ความเป็นโดยประการอื่น. ของสี่อย่างนั้นเหล่าไหนเล่า ? ของสี่อย่างนั้น คือ ความรู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ (ทั้งสี่อย่างนั้น) เป็นของคงที่ ไม่เปลี่ยนจากความคงที่ ไม่ไปสู่ความมีความเป็นโดยประการอื่น ” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! นี่แล เป็นของสี่อย่าง ซึ่งคงที่ ไม่เปลี่ยนจากความคงที่ ไม่ไปสู่ความมีความ เป็นโดยประการอื่น.
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์  นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้เถิด.


หน้า11 (ภาคนำตอน1)
สุขที่สัตว์โลกควรกลัว และไม่ควรกลัว

 ...ก็ข้อนั้น อันเรากล่าวแล้วว่า บุคคลควรรู้จักการวินิจฉัย (ตัดสินใจ)ในความสุข เมื่อรู้จักการ วินิจฉัยความสุขแล้ว ควรประกอบความสุขชนิดที่เป็นภายใน ข้อนั้นเรากล่าวเพราะอาศัย เหตุผล อะไรเล่ ?

ภิกษุ ท. ! กามคุณมีห้าอย่างเหล่านี้. ห้าอย่างนั้นอะไรเล่า ? ห้าอย่างคือ รูป ที่เห็นด้วยตา เสียง ที่ฟังด้วยหู กลิ่น ที่ดมด้วยจมูก รส ที่ลิ้มด้วยลิ้น และโผฏฐัพพะ ที่สัมผัสด้วยกาย (แต่ละอย่างล้วน) เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ เป็นสิ่งที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยซึ่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ

ภิกษุ ท. ! สุข โสมนัสอันใดเกิดขึ้น เพราะอาศัยกามคุณห้าเหล่านี้ สุข โสมนัสนั้น เราเรียกว่า กามสุข อันเป็นสุขของบุถุชน เป็นสุขทางเมถุน (มิฬ๎หสุข)ไม่ใช่สุขอันประเสริฐ. เรากล่าวว่า สุขนั้น บุคคลไม่ควรเสพ ไม่ควรเจริญไม่ควรทำให้มาก ควรกลัว.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าถึงซึ่ง ปฐมฌาน...ทุติยฌาน...ตติยฌาน... จตุตถฌาน...๑ แล้วแลอยู่. นี้ เราเรียกว่า สุขอาศัยเนกขัมมะ เป็นสุขเกิดแต่ความสงัดเงียบ สุขเกิดแต่ความ เข้าไป สงบรำงับ สุขเกิดแต่ความรู้พร้อม. เรากล่าวว่า สุขนั้น บุคคลควรเสพให้ทั่วถึง ควรทำให้เจริญ ควรทำให้มากไม่ควรกลัว.

คำใดที่เรากล่าวแล้วว่า บุคคลควรรู้จักการวินิจฉัย (ตัดสินใจ) ในความสุข เมื่อรู้จักการวินิจฉัย ความสุขแล้ว ควรประกอบความสุขชนิดที่เป็นภายในนั้น คำนั้น เรากล่าวแล้ว เพราะอาศัย เหตุผลนี้.


หน้า12 (ภาคนำตอน1)
ความรู้สึกของบุถุชน ไขว้กันอยู่เสมอต่อหลักแห่งอริยสัจ


คหบดี ! หน้าตาของท่านแสดงว่าท่านกำลังไม่มีจิตไม่มีใจ หน้าตา ของท่านผิดปกติไปแล้ว.
๑. รายละเอียดเกี่ยวกับรูปฌานทั้งสี่นี้ หาดูได้จากหลายเรื่องในภาคถัด ๆ ไป หรือดูที่ ภาคผนวก แห่งหนังสือนี้โดยหัวข้อว่า “ประมวลพรหมจรรย์ตลอดสาย” ตอนกล่าวถึงเรื่อง รูปฌานสี่.

“ท่านผู้เจริญ ! หน้าตาของข้าพเจ้าจะไม่ผิดปกติได้อย่างไรเล่า เพราะว่า บุตรน้อยเป็นที่รัก ที่พอใจคนเดียว ของข้าพเจ้า ตายเสียแล้ว . เพราะการตายของบุตรน้อยนั้นการงานก็มืดมน ข้าวปลาอาหารก็มืดมน. ข้าพเจ้าเอาแต่ไปสู่ที่เผาลูก แล้วคร่ำครวญอยู่ว่าลูกน้อยคนเดียว อยู่ไหน ๆ”. มันเป็นอย่างนั้นแหละๆ คหบดี ! โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสและ อุปายาส ทั้งหลายนั้น เกิดจากของรัก มีของรักเป็นแดนเกิด.

 “ท่านผู้เจริญ ! โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสและอุปายาสทั้งหลายนั้น เกิดจากของรัก มีของรัก เป็นแดนเกิด ได้อย่างไรกัน เพราะว่า ความเพลิดเพลินและโสมนัส ต่างหากที่เกิดแต่ของรัก มีของรักเป็นแดนเกิด.”

คหบดีนั้น ไม่ยอมรับไม่คัดค้านคำของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลุกจากอาสนะแล้วหลีกไปเสีย. เขาได้เข้าไปหากลุ่มนักเลงสกา ที่เล่นสกากันอยู่ ในที่ใกล้ ๆ กันนั้น เล่าเรื่องให้ฟังแล้วก็ได้ รับ คำรับสมอ้าง จากพวกนักเลงสกาเหล่านั้นว่า “ถูกแล้ว ๆ ท่านคหบดี! ความเพลิดเพลิน และโสมนัสเกิดแต่ของรัก มีของรักเป็นแดนเกิดอย่างแน่นอน” ดังนี้ เขาก็พอใจว่าความคิด ของเขาตรงกัน กับความคิดของนักเลงสะกาทั้งหลาย ดังนี้แล้วก็หลีกไป. (ข้อนี้แสดงว่า ความคิดของพวกบุถุชนย่อมตรงกันเสมอ แต่ไม่อาจจะลงรอยกันได้กับความจริงที่เป็นอริยสัจ).


หน้า13 (ภาคนำตอน1)
ผู้ติดเหยื่อโลก ชอบฟังเรื่องกาม ไม่ฟังเรื่องสงบ


สุนักขัตตะ ! กามคุณมีห้าอย่างเหล่านี้. ห้าอย่างนั้นอะไรเล่า ? ห้าอย่าง คือ รูปที่เห็นด้วยตา เสียงที่ฟังด้วยหู กลิ่นที่ดมด้วยจมูก รสที่ลิ้มด้วยลิ้น และโผฏฐัพพะที่สัมผัสด้วยกาย (แต่ละอย่างล้วน) เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ เป็นสิ่งที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยซึ่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ. สุนักขัตตะ ! เหล่านี้แลคือ กามคุณห้าอย่าง

สุนักขัตตะ ! นี้เป็นสิ่งที่มีได้เป็นได้ คือข้อที่บุรุษบุคคลบางคนในโลกนี้ มีอัชฌาสัยน้อมไป ในเหยื่อของโลก (คือกามคุณห้าอย่าง) ถ้อยคำสำหรับสนทนาอันพร่ำบ่นถึงเฉพาะ ต่อ กามคุณนั้นๆ ย่อมตั้งอยู่ได้สำหรับบุรุษบุคคล ผู้มีอัชฌาสัยน้อมไปในเหยื่อของโลก เขาย่อม ตรึกตามตรองตาม ถึงสิ่งอันอนุโลมต่อกามคุณนั้นๆ สิ่งนั้นย่อมคบ กับบุรุษนั้นด้วย บุรุษนั้นย่อม เอาใจใส่ต่อสิ่งนั้นด้วย.

ส่วนเมื่อถ้อยคำที่ประกอบด้วยสมาบัติเรื่องไม่หวั่นไหว (ด้วยกามคุณ) ที่ผ่านไปมาอยู่ เขาย่อม ไม่ฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่กำหนดจิตเพื่อจะรู้ ถ้อยคำชนิดนั้น ก็ไม่คุ้นเคยกับบุรุษนั้น บุรุษนั้น ก็ไม่สนใจด้วยคำชนิดนั้น.

สุนักขัตตะ ! เปรียบเหมือนบุรุษผู้จากบ้านหรือนิคมของตนไปนมนาน ครั้นเห็นบุรุษผู้หนึ่ง เพิ่งไปจากบ้านหรือนิคมของตน เขาย่อมถามบุรุษนั้น ถึงความเกษม ความมีอาหารง่าย ความปราศจากโรค ของบ้านนั้น นิคมนั้น บุรุษนั้นก็บอกให้. สุนักขัตตะ ! เธอจะเข้าใจว่า อย่างไร เขาย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ต่อบุรุษนั้นย่อมกำหนดจิตเพื่อจะรู้ ย่อมคบบุรุษนั้น ย่อมสนใจด้วยบุรุษนั้น มิใช่หรือ?


หน้า14 (ภาคนำตอน1)
การฟังอริยสัจ เหมาะสำหรับจิตที่ฟอกแล้วเท่านั้น


ภิกษุ ท. ! ครั้งนั้นแล มหาชนชาวพันธุมดีราชธานี จำนวนแปดหมื่นสี่พันคน ออกจากเมือง เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาควิปัสสี ถึงที่ประทับณ เขมมิคทายวัน ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาควิปัสสีได้ตรัส อนุปุพพิกถา แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น กล่าวคือ ทานกถา สีลกถาสัคคกถา ทรงประกาศ โทษอันเศร้าหมอง ต่ำทรามของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกจากกาม.

ครั้นทรงทราบว่าชนเหล่านั้นมีจิตเหมาะสม อ่อนโยน ปราศจากนิวรณ์ ร่าเริง แจ่มใส แล้ว ก็ได้ตรัส ธรรมเทศนา ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงเอง กล่าวคือ เรื่องทุกข์ เรื่องสมุทัย เรื่องนิโรธ และเรื่องมรรค.

เปรียบเสมือน ผ้าอันสะอาด ปราศจากสิ่งแปดเปื้อน ย่อมรับเอาซึ่งน้ำย้อมได้อย่างดี ฉันใด ธรรมจักษุ ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่มหาชนแปดหมื่นสี่พันเหล่านั้น ณ ที่นั่งนั้นเองว่า “สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด มีความดับไปเป็นธรรมดา” ดังนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

ชนเหล่านั้นมีธรรมอันเห็นแล้ว บรรลุแล้ว รู้แจ้งแล้ว หยั่งเอาได้ครบถ้วนแล้ว หมดความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความกล้าหาญไม่ต้องเชื่อตามบุคคลอื่น ในคำสอนแห่งศาสดา ตน ได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาค วิปัสสีว่า “ไพเราะนัก พระเจ้าข้า ! ไพเราะนัก พระเจ้าข้า !

เปรียบเหมือนการหงายของที่คว่ำอยู่ เปิดของที่ปิดอยู่ บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือว่าจุด ประทีปไว้ในที่มืด เพื่อว่าคนมีตาจักได้เห็นรูป ฉันใดก็ฉันนั้น” ดังนี้.


หน้า16 (ภาคนำตอน1)
จิตที่ยังไม่ได้ฟอก ยากนักที่จะเห็นนิโรธสัจ

ราชกุมาร ! ...ก็สัตว์เหล่านี้ มีอาลัยเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในอาลัยเพลิดเพลินแล้วในอาลัย. สำหรับสัตว์ผู้มีอาลัยเป็นที่มายินดี ยินดีเพลิดเพลินในอาลัยนั้น ยากนักที่จะเห็นสิ่งนี้ คือ ปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือความที่สิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัยแก่สิ่งนี้ๆ (อิทปฺปจฺจยตาปฏิจฺจสมุปฺปาโท) และยากนักที่จะเห็นแม้สิ่งนี้ คือ นิพพาน อันเป็นธรรมเป็นที่สงบระงับ แห่งสังขารทั้งปวง เป็นธรรมอันสลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

หากเราพึงแสดงธรรมแล้วสัตว์อื่นไม่พึงรู้ทั่วถึง ข้อนั้นจักเป็นความเหนื่อยเปล่าแก่เรา เป็นความ ลำบากแก่เรา. โอ ราชกุมาร ! คาถาอันน่าเศร้า (อนจฺฉริยา) เหล่านี้ ที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน ได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่เราว่า กาลนี้ ไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุ ได้แล้วโดยยาก. ธรรมนี้สัตว์ที่ถูกราคะโทสะปิดกั้นแล้ว ไม่รู้ได้โดยง่ายเลย. สัตว์ผู้กำหนัดแล้วด้วยราคะ อันความมืดหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันไปทวนกระแส อันเป็นธรรมละเอียด ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เป็นอณู” ดังนี้.


หน้า16-1 (ภาคนำตอน1)
สัตว์ผู้ไม่เป็นไทต่อความกำหนัด ย่อมหลงกาม

มาคัณฑิยะ ! แม้ในกาลอันยืดยาวนานฝ่ายอดีต กามทั้งหลาย ก็มีสัมผัสเป็นทุกข์ มีความแผด เผา อันยิ่งใหญ่ มีความเร่าร้อนอันยิ่งใหญ่. แม้ในกาลอันยืดยาวนานฝ่ายอนาคต กามทั้งหลาย ก็มีสัมผัสเป็นทุกข์ มีความแผดเผาอันยิ่งใหญ่ มีความเร่าร้อนอันยิ่งใหญ่. แม้ในกาลเป็นปัจจุบัน ในบัดนี้ กามทั้งหลาย ก็มีสัมผัสเป็นทุกข์ มีความแผดเผาอันยิ่งใหญ่ มีความเร่าร้อนอันยิ่งใหญ่.

มาคัณฑิยะ ! แต่ว่า สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย ถูก กามตัณหาเคี้ยวกินอยู่ ถูกความเร่าร้อนในกามแผดเผาอยู่ มีอินทรีย์(คือความเป็นใหญ่แก่ตน) อันกามกำจัดเสียหมดแล้ว จึงได้มีความสำคัญอันวิปริตว่า “สุข” ในกามทั้งหลาย อันมีสัมผัส เป็นทุกข์ นั่นเอง ดังนี้.


หน้า17 (ภาคนำตอน1)
สัตว์โลก รู้จักสุขอันแท้จริง ต่อเมื่อปัญญาเกิด


มาคัณฑิยะ ! เปรียบเหมือนบุรุษตามืดมาแต่กำเนิด เขาจะมองเห็นรูปทั้งหลาย ที่มีสีดำหรือขาว เขียวหรือเหลือง แดงหรือขาบ ก็หาไม่ จะได้เห็นที่อันเสมอหรือไม่เสมอก็หาไม่ จะได้เห็น ดวงดาว หรือดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็หาไม่. เขาได้ฟังคำบอกเล่าจากบุรุษผู้มีตาดี ว่า “ท่านผู้เจริญ ! ผ้าขาวเนื้อดีนั้น เป็นของงดงาม ปราศจากมลทิน เป็นผ้าสะอาด” ดังนี้.

เขาเที่ยวแสวงหาผ้าขาวนั้น. บุรุษผู้หนึ่งลวงเขาด้วยผ้าเนื้อเลวเปื้อนเขม่าว่า “นี่แล เป็น ผ้าขาวเนื้อดี เป็นของงดงาม ปราศจากมลทิน เป็นผ้าสะอาด.” ดังนี้ เขารับผ้านั้นแล้ว และ ห่มผ้านั้น. ต่อมา มิตรอมาตย์ ญาติสาโลหิตของเขา เชิญแพทย์ผ่าตัดผู้ชำนาญมารักษา. แพทย์พึงประกอบยาถ่ายโทษในเบื้องบน ถ่ายโทษในเบื้องต่ำ ยาหยอด ยาหยอดให้กัด และยานัตถุ์.

เพราะอาศัยยานั้นเอง เขากลับมีจักษุดี ละความรักใคร่พอใจในผ้าเนื้อเลวเปื้อนเขม่าเสียได้ พร้อมกับการเกิดขึ้น แห่งจักษุที่ดี เขาจะพึงเป็นอมิตร เป็นข้าศึกหมายมั่น ต่อบุรุษผู้ลวงเขา นั้นหรือถึงกับเข้าใจเลยไปว่า ควรจะปลงชีวิตเสียด้วยความแค้น ว่า

“ท่านผู้เจริญเอ๋ย ! เราถูกบุรุษผู้นี้ คดโกง ล่อลวง ปลอมเทียมเอาด้วยผ้าเนื้อเลวเปื้อนเขม่าว่า นี่ท่านผู้เจริญ ! . นี้เป็นผ้าขาวเนื้อดี เป็นของงดงามปราศจากมลทิน เป็นผ้าสะอาด . มานานนัก แล้ว” อุปมานี้ฉันใด มาคัณฑิยะ ! อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือเราแสดงธรรมแก่ ท่านว่า “เช่นนี้เป็นความไม่มีโรค เช่นนี้เป็นนิพพาน” ดังนี้

ท่านจะพึงรู้จักความไม่มีโรค จะพึงเห็นนิพพานได้ ก็ต่อเมื่อท่านละความเพลิดเพลิน และความกำหนัด ในอุปาทานนักขันธ์ทั้งห้าเสียได้ พร้อมกับการเกิดขึ้นแห่งธรรมจักษุ ของท่าน และความรู้สึกจะพึงเกิดขึ้นแก่ท่าน ว่า “ท่านผู้เจริญเอ๋ย ! นานจริงหนอ ที่เราถูกจิตนี้ คดโกงล่อลวง ปลิ้นปลอก จึงเราเมื่อจะยึดถือ ก็ยึดถือเอาแล้วซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร และซึ่งวิญญาณนั่นเอง.

เพราะความยึดถือเป็นต้นเหตุภพจึงมีแก่เรา เพราะภพเป็นต้นเหตุ ชาติจึงมีแก่เรา เพราะชาติ เป็นต้นเหตุชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส จึงเกิดขึ้นพร้อมหน้า. ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้น ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้ แล.


(ภาคนำตอน2)



หน้า19 (ภาคนำตอน2)
ชีวิตมนุษย์ กับ จตุราริยสัจมนุษย์เป็นอันมาก ได้ยึดถือเอาที่พึ่งผิด ๆ

 มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกความกลัวคุกคามเอาแล้ว ย่อมยึดถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้ ที่ศักด์สิทธิ์บ้าง สวนศักด์ิสิทธ์ิบ้าง รุกขเจดีย์บ้างว่าเป็นที่พึ่งของตน ๆ นั่นไม่ใช่ที่พึ่ง อันทำ ความเกษมให้ได้เลย นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด ผู้ใดถือเอาสิ่งนั้นๆ เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมไม่หลุดพ้น ไปจากทุกข์ทั้งปวง ได้.

ส่วนผู้ใด ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้วเห็นอริยสัจทั้งสี่ ด้วยปัญญา อันถูกต้อง คือ เห็นทุกข์ เห็นเหตุเป็นเครื่องให้เกิดขึ้นของทุกข์ เห็นความก้าวล่วงเสียได้ ซึ่งทุกข์ และเห็นมรรคประกอบด้วยองค์แปด อันประเสริฐ ซึ่งเป็นเครื่องให้ถึงความเข้าไปสงบ รำงับ แห่งทุกข์ นั่นแหละคือ ที่พึ่งอันเกษม นั่นคือ ที่พึ่งอันสูงสุด ผู้ใดถือเอาที่พึ่งนั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง ได้แท้.


หน้า19 -1 (ภาคนำ)
ผู้ไม่รู้อริยสัจ

ย่อมหลงสร้างเหวแห่งความทุกข์เพื่อตัวเอง อยู่ร่ำไป ภิกษุ ท. ! บุคคลเหล่าใด จะเป็นสมณะ หรือ พราหมณ์ ก็ตาม ไม่รู้ อยู่ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความ ดับ ไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้แล้ว เขาเหล่านั้น ย่อม ยินดีอย่างยิ่ง ในเหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง ชนิดที่เป็นไปพร้อมเพื่อความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับใจ.

เขาผู้ยินดีในเหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่งชนิดนั้น ๆ แล้ว ย่อมสร้างอยู่ ซึ่งเหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง ชนิดที่เป็นไปพร้อม เพื่อความเกิด เป็นต้น นั้น ๆ. ครั้นเขาสร้างเหตุปัจจัยนั้น ๆ แล้วเขาก็ตกลง ในเหวแห่งความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับใจ นั่นเอง.

เราย่อมกล่าวบุคคลเหล่านั้นว่า “เขา ไม่พ้นไปจากทุกข์ ทั้งหลาย คือความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศกความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับใจ ไปได้” ดังนี้.


หน้า20 (ภาคนำ)
ผู้รู้อริยสัจ หาหลงสร้างทุกข์ขึ้นเพื่อตัวเองไม่

ภิกษุ ท. ! ส่วนบุคคลเหล่าใดแล จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ ก็ตามรู้อยู่ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้แล้ว ขาเหล่านั้น ย่อม ไม่ยินดี ในเหตุปัจจัย เครื่องปรุงแต่ง ชนิดที่เป็นไปพร้อมเพื่อความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไร รำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับใจเลย.

เขาผู้ไม่ยินดีแล้ว ในเหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่งชนิดนั้น ๆ ก็ ไม่สร้างขึ้น ซึ่งเหตุปัจจัยเครื่อง ปรุงแต่ง ชนิดที่เป็นไปพร้อม เพื่อความเกิด เป็นต้น นั้น ๆ.

ครั้นเขาไม่ก่อสร้างเหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่งชนิดนั้นแล้ว ก็ ไม่ตกจมลงในเหว แห่งความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับใจ ได้เลย. เราย่อมกล่าวบุคคลเหล่านั้น ว่า “เขา พ้นไปจากทุกข์ ทั้งหลาย มีความเกิด ความแก่ เป็นต้นไปได้” ดังนี้.

ภิกษุ ท.! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือของทุกข์ ” ดังนี้.


หน้า21 (ภาคนำ)
ทุกข์ประเภทใหญ่ ๆ ก็มีพอแล้วสำหรับสัตว์จะสำนึกตัวมารู้อริยสัจ
(ไม่จำเป็นจะต้องผ่านทุกข์ทุกชนิดทุกขนาด)


ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนบุรุษ ตัดหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ นำมารวมไว้ ในที่เดียวกัน ครั้นนำมารวมไว้ในที่เดียวกัน แล้วกระทำให้เป็นเครื่องเสียบร้อย ครั้นกระทำ ให้เป็นเครื่องเสียบร้อยแล้ว ก็เสียบสัตว์ใหญ่ๆ ในมหาสมุทร ที่เครื่องเสียบขนาดใหญ่ เสียบสัตว์ขนาดกลาง ๆ ในมหาสมุทรที่เครื่องเสียบขนาดกลาง เสียบสัตว์ขนาดเล็ก ๆ ในมหาสมุทร ที่เครื่องเสียบขนาดเล็ก.

ภิกษุ ท. ! สัตว์ใหญ่ๆ ในมหาสมุทรยังไม่ทันจะหมด แต่หญ้าไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ ในชมพูทวีป นี้ ก็หมดเสียแล้ว. ภิกษุ ท. ! สัตว์ตัวเล็กในมหาสมุทรขนาดที่เสียบ ด้วยเครื่องเสียบได้ โดยยากนั้น มีมากกว่านั้นมากนัก.ข้อนี้เพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! เพราะมันมาก โดยตัว มันเล็ก ข้อนี้ฉันใด

ภิกษุ ท. ! อบายก็กว้างใหญ่อย่างนั้นเหมือนกัน. จากอบายที่กว้างใหญ่อย่างนั้น ก็มี ทิฏฐิสัมปันน บุคคล หลุดพ้นออกมาได้ เขารู้ตามเป็นจริงว่า “นี้ ความทุกข์ นี้ เหตุให้เกิดขึ้น แห่ง ทุกข์ นี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.


หน้า22 (ภาคนำ)
พอรู้อริยสัจ

ทุกข์เหลือน้อยขนาดฝุ่นติดปลายเล็บเทียบกับปฐพีภิกษุ ท. ! เธอทั้งหลายจะสำคัญ ความข้อนี้ ว่าอย่างไร ฝุ่นนิดหนึ่งที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้ กับมหาปฐพีนี้ ข้างไหนจะมากกว่ากัน ?“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มหาปฐพีนั่นแหละ เป็นดินที่มากกว่า. ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้น ด้วยปลาพระนขานี้ เป็นของมีประมาณน้อย. ฝุ่นนั้น เมื่อนำไปเทียบกับมหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่ง การคำนวณได้ เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งกะละภาค” ภิกษุ ท. ! อุปมานี้ฉันใด อุปไมย ก็ฉันนั้น

สำหรับอริยสาวกผู้ถึงพร้อมด้วย (สัมมา) ทิฏฐิ รู้พร้อมเฉพาะแล้ว ความทุกข์ของท่านส่วนที่สิ้น ไปแล้ว หมดไปแล้ว ย่อมมากกว่า ความทุกข์ที่ยังเหลืออยู่ มีประมาณน้อย เมื่อนำเข้าไปเทียบ กับกองทุกข์ที่สิ้นไปแล้ว หมดไปแล้ว ในกาลก่อน ย่อมไม่ถึงซึ่งการคำนวณได้เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งกะละภาค นั่นคือความทุกข์ของ โสดาบันผู้สัตตักขัตตุปรมะ๑ ผู้เห็นชัดตาม เป็นจริงว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้ เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ทางดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้” ดังนี้.


หน้า23 (ภาคนำ)
ผู้ไม่รู้อริยสัจ ชื่อว่าตกอยู่ในที่มืด

ภิกษุ ท. ! บุคคลเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ ก็ตาม ไม่รู้อยู่ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็น ทุกข์  นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือ๑. คือพระโสดาบัน ที่ต้องมีกำเนิดอีก ๗ ชาติ อันเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นที่สุด ของจำพวกโสดาบัน. แม้กระนั้นก็ตรัสว่า ทุกข์หมดไป มากกว่าที่ยังเหลือ.ของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้

เขาเหล่านั้น ย่อมยินดี ต่อสิ่งอันเป็นปัจจัยปรุงแต่ง ที่เป็นไปพร้อม เพื่อความเกิดเป็นต้น เขายินดีแล้ว ย่อม สร้างปัจจัยนั้นๆ ขึ้น(เพื่อตนเอง) ครั้นสร้างแล้วก็ ตกจมลงสู่ห้วง แห่งความมืด อันกระทำให้เป็นเหมือนตาบอด ได้แก่ความมืดคือความเกิดความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กายความทุกข์ใจและความคับใจ.

ภิกษุ ท. ! บุคคลเหล่านั้น เรากล่าวว่า เขาไม่พ้นไปจากทุกข์ คือความเกิดเป็นต้น ไปได้เลย. ภิกษุ ท. ! ส่วนบุคคลเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ ก็ตามเมื่อรู้ชัดตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์. นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้

บุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ยินดี ต่อสิ่งอันเป็นปัจจัยปรุงแต่ง ที่เป็นไปพร้อมเพื่อความเกิดเป็นต้น เขาผู้ไม่ยินดีแล้ว ย่อมไม่สร้างปัจจัยนั้น ๆ ขึ้น (เพื่อตัวเอง) ครั้นไม่ก่อสร้างแล้ว ก็ไม่ตกจมลง สู่ห้วงแห่งความมืด อันกระทำให้เป็นเหมือนตาบอด ได้แก่ความมืดคือความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ.

ภิกษุ ท. ! เรากล่าวว่า เขาพ้นไปจากทุกข์ คือความเกิดเป็นต้นไปได้ ดังนี้. ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้ เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้.” ดังนี้.


หน้า25 (ภาคนำ)
ผู้ไม่รู้อริยสัจ ชื่อว่าตกอยู่ในหลุมเพลิงเป็นนิจ

ภิกษุ ท. ! บุคคลเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ ก็ตาม เมื่อไม่รู้อยู่ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็น ทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนิน ให้ถึง ความดับไม่เหลือ ของทุกข์”ดังนี้

เขาเหล่านั้น ย่อมยินดี ต่อสิ่งอันเป็นปัจจัยปรุงแต่ง ที่เป็นไปพร้อม เพื่อความเกิดเป็นต้น เขาผู้ยินดีแล้ว ย่อมสร้างปัจจัยนั้นๆ ขึ้น (เพื่อตัวเอง) ครั้นสร้างแล้วก็ เร่าร้อนอยู่ เพราะความ แผดเผา ของความเกิด ความแก่ ความตายความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับใจ.

ภิกษุ ท. ! บุคคลเหล่านั้น เรากล่าวว่า เขาไม่พ้นไปจากทุกข์ คือความเกิดเป็นต้น ไปได้เลย. ภิกษุ ท. ! ส่วนบุคคลเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ ก็ตามเมื่อรู้ชัดตามเป็นจริงว่า “นี้เป็น ทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้

บุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ยินดี ต่อสิ่งอันเป็นปัจจัยปรุงแต่ง ที่เป็นไปพร้อมเพื่อความเกิดเป็นต้น เขาผู้ไม่ยินดีแล้ว ย่อมไม่สร้างปัจจัยนั้น ๆ ขึ้น (เพื่อตัวเอง) ครั้นไม่สร้างแล้ว ก็ไม่เร่าร้อนอยู่ เพราะความแผดเผาของความเกิด ความแก่ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์ กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ.

บุคคลเหล่านั้น ย่อมหลุดพ้นไปจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับ-แค้นใจ. เรากล่าวว่า เขาหลุดพ้นไปได้จากทุกข์ ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้ เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ทาง ดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้.” ดังนี้.


หน้า26 (ภาคนำ)
กว่ามนุษย์จะหลุดจากบ่วง (คือรู้อริยสัจ)

(พระบาลีนี้ แสดงให้เห็นถึงการที่สามัญสัตว์ติดอยู่ในบ่วงของโลกอย่างไร ในขั้นต้นแล้วจะ
ค่อยๆ รู้สึกตัวขึ้นมาตามลำดับอย่างไร ดังต่อไปนี้-)


26-1
๑. เมื่อจมกามตามปกติ

ภิกษุ ท. ! ชาวสวนผักมิได้ปลูกผักด้วยคิดว่า “เนื้อในป่าทั้งหลาย จะได้กินผักที่เราปลูกนี้แล้ว จะได้มีอายุยืน รูปร่างสวยงาม มีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน”ดังนี้ แต่ได้คิดดังนี้ว่า เนื้อในป่าทั้งหลาย จะเข้ามาสู่สวนผัก อันเราปลูกแล้ว กินอยู่อย่างลืมตัว ครั้นเข้ามากินอยู่อย่างลืมตัว จักถึงซึ่ง ความ เลินเล่อ ครั้นเลินเล่ออยู่จักถึง ซึ่งความประมาท ครั้นประมาทแล้วจักเป็นสัตว์ที่เรา พึงกระทำได้ตามความพอใจในสวนผักนั้น” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! บรรดาเนื้อทั้งหลาย ฝูงเนื้อพวกที่หนึ่งได้เข้าไปสู่สวนผักที่ชาวสวนผักปลูกไว้ กินอยู่ อย่างลืมตัว เมื่อเข้าไปกินอยู่ อย่างลืมตัวก็ถึงซึ่งความเลินเล่อ ครั้นเลินเล่อแล้ว ก็ถึงซึ่ง ความประมาท ครั้นประมาทแล้วก็เป็นสัตว์ ที่เจ้าของสวนผักพึงกระทำได้ ตามความพอใจใน สวนผักนั้น.

ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล ฝูงเนื้อพวกที่หนึ่งเหล่านั้นก็ไม่พ้นไปจากกำมือ แห่งเจ้าของ สวนผัก. (พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงยกเอาสมณพราหมณ์จำพวกที่หนึ่งมาเปรียบ กันกับฝูงเนื้อ จำพวกที่หนึ่ง ดังต่อไปนี้)

ภิกษุ ท. ! บรรดาสมณพราหมณ์ทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่หนึ่งได้ เข้าไปสู่โลกามิส เหล่าโน้น ซึ่งเป็นเหมือนกับสวนผักอันมารปลูกไว้ บริโภคอยู่อย่างลืมตัว ครั้นเข้าไปบริโภค อยู่อย่างลืมตัวก็ถึงซึ่งความมัวเมา ครั้นมัวเมาอยู่ก็ถึงซึ่งความประมาท ครั้นประมาทอยู่ ก็เป็นผู้ที่มารพึงกระทำได้ ตามความพอใจในโลกามิสซึ่งเป็นเหมือนกับสวนผักแห่งมารนั้น.

ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล สมณพราหมณ์พวกที่หนึ่งนี้ จึงไม่พ้นไปจากอิทธานุภาพ แห่งมาร. ภิกษุ ท. เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่หนึ่งนี้ ว่ามีอุปมาเหมือนฝูงเนื้อพวกที่หนึ่งนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น.

ภิกษุ ท. ! อุปมานี้มีเพื่อให้รู้เนื้อความนั้น คำว่า “สวนผัก” นั้นเป็นชื่อแห่งกามคุณทั้งห้า. คำว่า “เจ้าของสวนผัก” นั้น เป็นชื่อของมารผู้มีบาป. คำว่า “พวกพ้องของเจ้าของสวนผัก” นั้น เป็นชื่อ ของบริษัทแห่งมาร. คำว่า “ฝูงเนื้อ” นั้น เป็นชื่อของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย. (คำไขอุปมานี้ ตรัสไว้ตอนกลางของพระสูตรที่ตรัสเรื่องเนื้อพวกที่สี่จบลง ในที่นี้ได้ยกมาไว้ ตอนต้นเช่นนี้ เพื่อสะดวกแก่การศึกษายิ่งขึ้น).


27 (ภาคนำ)
๒. เมื่อจมกามครั้งที่สอง


(ต่อไปนี้ ได้ตรัสถึงฝูงเนื้อจำพวกที่สอง ซึ่งเปรียบกันได้กับสมณพราหมณ์จำพวกที่สอง ว่า )ภิกษุ ท. ! เนื้อพวกที่สอง (รู้ความวินาศของเนื้อจำพวกที่หนึ่งโดยประการทั้งปวงแล้ว) มาคิดกันว่า “ถ้าอย่างไร เราเว้นการกินผัก ซึ่งเป็นโภชนะอันตรายเหล่านี้โดยประการ ทั้งปวงเสีย เข้าไปอยู่ในราวป่ากันเถิด” ดังนี้. เนื้อเหล่านั้น เว้นการกินผัก ซึ่งเป็นโภชนะ อันตรายเหล่านั้นโดยประการทั้งปวง แล้วเข้าไปอยู่ในราวป่า แล้ว

ครั้นถึงเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนเป็นเวลาที่หมดหญ้าและน้ำ ร่างกายก็ถึงซึ่งความซูบผอม อย่างยิ่ง เมื่อมีร่างกายซูบผอม อย่างยิ่งกำลังอันแกล้วกล้าก็หมดไป เมื่อกำลังอันแกล้วกล้า หมดไป ก็ ย้อนกลับมาสู่ถิ่นแห่งสวนผัก ที่เจ้าของสวนผักปลูกไว้อีก. ฝูงเนื้อเหล่านั้น ได้เข้าไป กินผักในสวนผักอย่างลืมตัว เมื่อเข้าไปกินอยู่อย่างลืมตัว ก็ถึงซึ่งความเลินเล่อ เมื่อเลินเล่อ ก็ถึง ซึ่งความประมาท เมื่อประมาทก็เป็นสัตว์ที่เจ้าของสวนผัก กระทำได้ตามความพอใจ ในสวนผักนั้น.

ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล ฝูงเนื้อพวกที่สองนั้นก็ไม่พ้นไปจากกำมือแห่งเจ้าของสวนผัก. (พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงยกเอาสมณพราหมณ์จำพวกที่สองมาเปรียบกับฝูงเนื้อจำพวกที่สอง ดังนี้ว่า )

ภิกษุ ท. ! บรรดาสมณพราหมณ์ทั้งหลาย สมณพราหมณ์จำพวกที่สอง (รู้ความวินาศของสมณ พราหมณ์จำพวกที่หนึ่ง โดยประการทั้งปวงแล้ว) มาคิดกันว่า “ถ้ากระไร เราเว้นจากโลกามิส ซึ่งเป็นเสมือนการบริโภคเหยื่อ โดยประการทั้งปวงเสีย เว้นจากโภชนะอันตราย แล้วเข้าไป อาศัยอยู่ในราวป่ากันเถิด” ดังนี้. สมณพราหมณ์เหล่านั้น เว้นจากโลกามิส อันเป็นเสมือนการ บริโภคเหยื่อโดยประการทั้งปวง เว้นโภชนะอันตราย พากันเข้าไปอยู่ในราวป่าแล้ว.

สมณ-พราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้มีผักสากะเป็นภักษาบ้าง มีผักสามากะเป็นภักษาบ้างมีลูกเดือย เป็นภักษาบ้าง มีเปลือกไม้เป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้างมีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตัง เป็นภักษาบ้าง มีเมล็ดผักกาดเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเง่าไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร ยังอัตภาพให้เป็นไป เป็นผู้บริโภคผลตามที่มีอยู่ โดยธรรมชาติ

ครั้นถึงเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน เป็นเวลาที่หมดผักหมดหญ้าหมดน้ำ ร่างกายก็ถึงซึ่งความ ซูบผอม อย่างยิ่ง เมื่อมีร่างกายซูบผอมอย่างยิ่งกำลังเรี่ยวแรงก็หมดไป เมื่อกำลังเรี่ยวแรง หมดไปเจโตวิมุตติก็เสื่อม เมื่อเจโตวิมุตติเสื่อม ก็ ย้อนกลับมาหาโลกามิสซึ่งเป็นเสมือน กับ สวนผักอันมารปลูกไว้เหล่านั้นอีก.

สมณพราหมณ์เหล่านั้นเข้าไป บริโภคอยู่อย่างลืมตัว ครั้นเข้าไปบริโภคอยู่อย่างลืมตัว ก็ถึงซึ่ง ความมัวเมาครั้นมัวเมาอยู่ก็ถึงซึ่งความประมาท ครั้นประมาทแล้วก็เป็นผู้ที่มารพึงกระทำ ได้ตามความพอใจ ในโลกามิสอันเป็นเสมือนสวนผักของมารนั้น.

ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล สมณพราหมณ์แม้พวกที่สองนี้ก็ไม่พ้นไปจาก อิทธานุภาพ แห่งมาร. ภิกษุ ท. ! เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่สองนี้ ว่ามีอุปมาเหมือนฝูงเนื้อพวกที่สองนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น.


29 (ภาคนำ)
๓. เมื่อเฉไปติดบ่วงทิฏฐิ

(ต่อไปนี้ได้ตรัสถึงฝูงเนื้อพวกที่สาม ซึ่งเปรียบกันได้กับสมณพราหมณ์จำพวกที่สามสืบไปว่า)

ภิกษุ ท. ! ฝูงเนื้อพวกที่สาม (รู้ความวินาศของเนื้อจำพวกที่หนึ่งและจำพวกที่สอง โดยประการ ทั้งปวงแล้ว) มาคิดกันว่า “ถ้าอย่างไร เรา อาศัยที่ซุ่มซ่อนอยู่ใกล้ ๆ สวนผัก ของเจ้าของผัก นั้น ครั้นอาศัยที่ซุ่มซ่อนอยู่ใกล้ ๆสวนผักนั้นแล้ว ก็ ไม่เข้าไปกินผักนั้นอย่างลืมตัว เมื่อไม่เข้าไป กินอย่างลืมตัวอยู่ก็ไม่ถึงซึ่งความเลินเล่อ เมื่อไม่เลินเล่ออยู่ก็ถึง ซึ่งความ ไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทก็ไม่เป็นสัตว์ที่ใคร ๆ จะพึงทำอะไร ๆ ได้ตามความพอใจในสวนผัก ของเจ้าของผักนั้น” ดังนี้. ฝูงเนื้อเหล่านั้น (ก็ประพฤติกระทำตามความคิดนั้น).

ภิกษุ ท. !ความคิดได้เกิดแก่เจ้าของสวนผักกับบริวารเหล่านั้นว่า “ฝูงเนื้อพวกที่สามเหล่านี้ คงจะมี เล่ห์เหลี่ยมกลโกง เหมือนมีฤทธิ์เป็นแน่ ฝูงเนื้อพวกที่สามนี้ คงจะเป็นสัตว์พิเศษ ชนิดอื่นเป็นแน่ มันจึงมากินผักที่เราปลูกนี้ได้. และเราก็ไม่เข้าใจการมาการไปของมัน. ถ้ากระไรเราพึงล้อมซึ่งที่นั้นโดยรอบ ด้วยเครื่องล้อมชนิดทัณฑวาคุระใหญ่ๆ ทั้งหลาย เราคงจะได้เห็นที่ซุ่มซ่อนของฝูงเนื้อพวกที่สาม อันเป็นที่ซึ่งมันแอบเข้ามากิน” ดังนี้.

ชนเหล่านั้นได้ทำการล้อมพื้นที่ปลูกผักนั้นโดยรอบด้วยเครื่องล้อมชนิดทัณฑวาคุระใหญ่ๆ ทั้งหลายแล้ว. ภิกษุ ท. ! เจ้าของสวนผัก และบริวารก็หา พบที่ซุ่มซ่อนของฝูงเนื้อพวกที่สาม อันเป็นที่ซึ่งมันแอบเข้ามากิน.

ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล ฝูงเนื้อแม้พวกที่สามนั้นไม่พ้นไปจากกำมือ ของเจ้าของ สวนผัก. (พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงยกเอาสมณพราหมณ์ จำพวกที่สาม มาเปรียบกับฝูงเนื้อจำพวกที่สาม ดังนี้ว่า )

ภิกษุ ท. ! บรรดาสมณพราหมณ์ทั้งหลาย สมณพราหมณ์จำพวกที่สาม (รู้ความวินาศของสมณ พราหมณ์ จำพวกที่หนึ่งและที่สอง โดยประการทั้งปวงแลว้ ) มาคิดกันว่า “ถ้ากระไร เราจะ อาศัยที่ซุ่มซ่อนอยู่ใกล้ ๆ โลกามิส ซึ่งปรียบเสมือนสวนผักของมาร ครั้นอาศัยอยู่ในที่ซุ่มซ่อน นั้นแล้ว จัก ไม่เข้าไปบริโภคโลกามิส อันเป็นเสมือนสวนผักแห่งมารนั้น อย่างลืมตัว

ครั้นไม่เข้าไปบริโภคอย่างลืมตัวอยู่ ก็ไม่ถึงซึ่งความมัวเมา เมื่อไม่มัวเมาอยู่ก็ไม่ถึงซึ่งความ ประมาท เมื่อไม่ประมาทอยู่ก็เป็นผู้ที่มาร จะพึงกระทำตามความพอใจไม่ได้ อยู่ในโลกามิส อันเป็นเสมือนสวนผักแห่งมารนั้น” ดังนี้.

สมณพราหมณ์เหล่านั้น(ก็ได้ประพฤติกระทำตามความคิดนั้น ) ก็แต่ว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นได้เป็นผู้มีทิฏฐิ ขึ้นมาแล้วอย่างนี้
ว่า “โลกเที่ยง” ดังนี้บ้าง ว่า “โลกไม่เที่ยง” ดังนี้บ้าง
ว่า “โลกมีที่สุด” ดังนี้บ้าง ว่า “โลกไม่มีที่สุด” ดังนี้บ้าง
ว่า “ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น” ดังนี้บ้าง ว่า “ชีวะก็อันอื่น สรีระก็อันอื่น” ดังนี้บ้าง
ว่า “ตถาคตายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมมีอีก” ดังนี้บ้าง
ว่า “ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมไม่มีอีก” ดังนี้บ้าง
ว่า “ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมมีอีกก็มีไม่มีอีกก็มี” ดังนี้บ้าง
ว่า “ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมมีอีกก็หามิได้ไม่มีอีกก็หามิได้” ดังนี้บ้าง.

ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล สมณพราหมณ์แม้พวกที่สามนี้ ก็ไม่พ้นไปจากอิทธานุภาพ แห่งมาร.
ภิกษุ ท. ! เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่สามนี้ ว่ามีอุปมาเหมือนฝูงเนื้อพวกที่สามนั้น ฉันใด ก็ฉันนั้น.


31 (ภาคนำ)
๔. เมื่อพ้นจากบ่วง

(ต่อไปนี้ได้ตรัสถึงฝูงเนื้อพวกที่สี่ ซึ่งเปรียบกันได้กับสมณพราหมณ์จำพวกที่สี่ สืบไปว่า )

ภิกษุ ท. ! ฝูงเนื้อพวกที่สี่ (รู้ความวินาศของเนื้อพวกที่หนึ่ง พวกที่สอง และพวกที่สาม โดยประการทั้งปวงแล้ว) มาคิดกันว่า “ถ้าอย่างไร เราอาศัยซุ่มซ่อนอยู่ในที่ซึ่งเจ้าของสวนผัก และบริวารไปไม่ถึง ครั้นอาศัยที่ซุ่มซ่อน อยู่ในที่ซึ่งเจ้าของสวนผักและบริวารไปไม่ถึง จะ ไม่ลืมตัวเข้าไปกินผัก ที่เจ้าของสวนผักปลูก จะไม่ถึงซึ่งความเลินเล่อ เมื่อไม่เลินเล่อจักไม่ถึง ซึ่งความประมาทเมื่อไม่ประมาทแล้วก็ไม่เป็นสัตว์ที่ใครๆ พึงทำอะไรๆ ได้ตามความพอใจ ในสวนผักของเจ้าของผักนั้น. ฝูงเนื้อเหล่านั้น (ก็ประพฤติกระทำตามความคิดนั้น).

ภิกษุ ท. ! ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เจ้าของสวนผักกับบริวารเหล่านั้นว่า “ฝูงเนื้อพวกที่สี่เหล่านี้ คงจะมีเล่ห์เหลี่ยมกลโกง เหมือนมีฤทธิ์เป็นแน่ ฝูงเนื้อพวกที่สี่นี้คงจะเป็นสัตว์พิเศษชนิดอื่น เป็นแน่ มันจึงมากินผักที่เราปลูกนี้ได้ และเราก็ไม่เข้าใจ การมาการไปของมัน.

ถ้ากระไร เราพึงล้อมซึ่งที่นั้นโดยรอบด้วยเครื่องล้อมชนิดทัณฑวาคุระใหญ่ๆ ทั้งหลาย เราคง จะได้เห็นที่ซุ่มซ่อน ของฝูงเนื้อพวกที่สี่ อันเป็นที่ซึ่งมันแอบเข้ามากิน” ดังนี้. ชนเหล่านั้นได้ ทำการล้อมพื้นที่ปลูกผักนั้นโดยรอบ ด้วยเครื่องล้อมชนิดทัณฑวาคุระใหญ่ๆ ทั้งหลายแล้ว.

ภิกษุ ท. !เจ้าของสวนผักและบริวารไม่ได้พบที่ซุ่มซ่อนของฝูงเนื้อพวกที่สี่ อันเป็นที่ซึ่งมัน แอบเข้ามากิน. ภิกษุ ท. ! ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เจ้าของสวนผักและบริวารว่า “ถ้าเราทำฝูงเนื้อ พวกที่สี่ให้แตกตื่นแล้ว มันก็จะทำให้ฝูงอื่น แตกตื่นด้วย ด้วยการทำอย่างนี้ฝูงเนื้อทั้งปวง ก็เริศร้างไปจากผักที่เราปลูกไว้ ถ้ากระไรเราพึงทำความพยายามเจาะจง (ทำความแตกตื่น) แก่เนื้อพวกที่สี่” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! เจ้าของสวนผักและบริวารได้ทำความพยายามเจาะจง (ทำความแตกตื่น) แก่ฝูงเนื้อ พวกที่สี่แล้ว. ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล ฝูงเนื้อพวกที่สี่นั้นก็พ้น ไปจากกำมือของเจ้า ของสวนผัก. (พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงยกเอา สมณพราหมณ์จำพวกที่สี่ มาเปรียบกับฝูงเนื้อ จำพวกที่สี่ ดังนี้ว่า)

ภิกษุ ท. ! บรรดาสมณพรหมณ์ทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่สี่ (รู้ความวินาศของสมณ พราหมณ์ จำพวกที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม โดยประการทั้งปวงแล้ว ) มาคิดกันว่า “ถ้ากระไร เรา อาศัยที่ซุ่มซ่อนอยู่ในที่ซึ่งมาร และบริวารของมาร ไปไม่ถึง ครั้นอาศัยซุ่มซ่อนอยู่ในที่นั้น แล้ว จะ ไม่ลืมตัวเข้าไปบริโภคโลกามิส ซึ่งเป็นเสมือนสวนผัก ที่มารปลูกไว้ เมื่อไม่ลืมตัว เข้าไปกินก็ไม่ถึงซึ่งความมัวเมา เมื่อไม่มัวเมาก็ไม่ถึงซึ่งความประมาท เมื่อไม่ประมาทก็จัก เป็นผู้ที่มารไม่ทำอะไรๆได้ตามความพอใจในโลกามิสซึ่งเป็นเสมือนสวนผักที่มารปลูกไว้”ดังนี้. สมณพราหมณ์เหล่านั้น (ก็ได้ประพฤติกระทำตามความคิดนั้น).

ภิกษุ ท. !ด้วยอาการอย่างนี้แล สมณพราหมณ์พวกที่สี่นี้ ก็พ้นไปจากอิทธานุภาพของมาร.ภิกษุ ท. ! เรากล่าว สมณพราหมณ์พวกที่สี่นี้ ว่ามีอุปมาเหมือนฝูงเนื้อพวกที่สี่นั้น ฉันใดก็ฉันนั้น.ภิกษุ ท. ! ที่ซึ่งมารและบริวารของมาร ไปไม่ถึงนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้คือ ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายจึงเข้าถึง ปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและ สุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่.ภิกษุ ท. ! ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า ได้ทำมาร ให้เป็นผู้ตาบอดไม่มีร่องรอย กำจัดเสียแล้วซึ่ง จักษุ แห่งมาร ไปแล้วสู่ที่ซึ่งมารผู้มีบาป มองไม่เห็น.

(
ต่อไปนี้ ได้ตรัสถึงการบรรลุ ทุติยฌาน - ตติยฌาน - จตุตถฌาน - อากาสานัญจายตนะ - วิญญาณัญจายตนะ -อากิญจัญญายตนะ – เนวสัญญานาสัญญายตนะ ว่าเป็นที่ซึ่งมารไปไม่ถึง โดยนัยเดียวกันกับการบรรลุปฐมฌาน เป็นลำดับไป จนกระทั่งถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ โดย ข้อความสืบต่อไปว่า)

ภิกษุ ท. ! ยิ่งไปกว่านั้นอีก ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงซึ่ง สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่ และเพราะเห็นแล้วด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลาย ของเธอ ก็สิ้นไปรอบ.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้ทำมารให้เป็นผู้ตาบอดไม่มีร่องรอย กำจัดเสียแล้วซึ่งจักษุแห่งมาร ไปแล้วสู่ที่ซึ่งมารผู้มีบาปมองไม่เห็น ได้ข้ามแล้วซึ่งตัณหาในโลก ดังนี้แล.(คำว่า “เห็นแล้วด้วยปัญญา” ในที่นี้ คือเห็นทุกข์ เหตุให้ เกิดทุกข์ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และเห็น อาสวะ เหตุให้เกิดอาสวะ ความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือ แห่งอาสวะ จนเป็นผู้สิ้นอาสวะซึ่งเรียกว่า “การพ้นจากบ่วง”.)


หน้า34 (ภาคนำ)
ยังมีพวกบริโภคกามโดยไม่จมกาม

ภิกษุ ท. ! กามคุณเหล่านี้มีห้าอย่าง. ห้าอย่างเป็นอย่างไรเล่า ?ห้าอย่างคือ รูปที่เห็นด้วยตา, เสียงที่ฟังด้วยหู, กลิ่นที่ดมด้วยจมูก, รสที่ลิ้มด้วยลิ้น, และโผฏฐัพพะที่สัมผัสด้วยผิวกาย อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่ง ความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด. ภิกษุ ท. ! กามคุณมีห้า อย่างเหล่านี้แล.

ภิกษุ ท. ! ชนเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม ติดอก-ติดใจ สยบอยู่ เมาหมกอยู่ ในกามคุณห้าอย่าง เหล่านี้แล้ว ไม่มองเห็นส่วนที่เป็นโทษ ไม่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบายเป็น เครื่อง ออกไปจากทุกข์ ทำการบริโภคกามคุณ ทั้งห้านั้นอยู่ ชนเหล่านั้น อันคนทั้งหลาย พึงเข้าใจเถิดว่า เป็นผู้ถึงความพินาศย่อยยับ แล้วแต่มารผู้มีบาป ต้องการจะทำตามอำเภอใจ อย่างใด ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! เปรียบได้ดังเนื้อป่าที่ติดบ่วง นอนจมอยู่ในกองบ่วง ในลักษณะที่ใคร ๆ พึงเข้าใจ ได้ว่า มันจะถึง ซึ่งความพินาศย่อยยับ เป็นไปตามความประสงค์ของพรานทุกประการ เมื่อพราน มาถึงเข้า มันจะหนีไปไหนไม่พ้นเลย ดังนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น.

ภิกษุ ท. ! ส่วนชนเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตามไม่ติดใจ ไม่สยบอยู่ ไม่เมาหมกอยู่ ในกามคุณห้า เหล่านี้แล้ว มองเห็นส่วนที่เป็นโทษอยู่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบาย เป็นเครื่อง ออก ไปจากทุกข์ บริโภคกามคุณทั้งห้านั้นอยู่ ชนเหล่านั้น อันคนทั้งหลายพึงเข้าใจ ได้อย่างนี้ว่า เป็น ผู้ไม่ถึงความพินาศย่อยยับ ไปตามความประสงค์ของมารผู้มีบาป แต่อย่างใดดังนี้.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนเนื้อป่าตัวที่ไม่ติดบ่วง แม้นอนจมอยู่บนกองบ่วงมันก็เป็นสัตว์ที่ใคร ๆ พึงเข้าใจได้ว่า เป็นสัตว์ที่ไม่ถึงความพินาศย่อยยับไปตามความประสงค์ของพรานแต่อย่างใด เมื่อพรานมาถึงเข้า มันจะหลีกหนีไปได้ ตามที่ต้องการ ดังนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น.

ภิกษุ ท. ! (อีกอย่างหนึ่ง) เปรียบเหมือนเนื้อป่า เที่ยวไปในป่ากว้าง เดินอยู่ก็สง่างาม ยืนอยู่ก็สง่างาม หมอบอยู่ ก็สง่างาม นอนอยู่ก็สง่างาม.เพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุว่าเนื้อป่านั้น ยังไม่มาสู่คลองแห่งจักษุของพราน ข้อนี้ฉันใด ภิกษุ ท. ! ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกัน สงัดแล้วจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงซึ่งปฐมฌาณ อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า ได้ทำมารให้เป็นผู้ตาบอดไม่มีร่องรอย กำจัดเสียแล้วซึ่งจักษุ แห่งมาร ไปแล้วสู่ที่ที่มาร ผู้มีบาปมองไม่เห็น.

(ต่อไปนี้ ได้ตรัสถึงการบรรลุ ทุติยฌาน - ตติยฌาน - จตุตถฌาน - อากาสานัญจายตนะ - วิญญาณัญจายตนะ -อากิญจัญญายตนะ - เนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยนัยเดียวกันกับการ บรรลุปฐมฌาน เป็นลำดับไป จนกระทั่งถึง สัญญาเวทยิตนิโรธโดยข้อความสืบต่อไปว่า )

ภิกษุ ท. ! ยิ่งไปกว่านั้นอีก : ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงซึ่ง สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่. อนึ่ง เพราะเห็นแล้วด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลาย ของเธอก็สิ้นไปรอบ.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้ทำมารให้เป็นผู้ตาบอดไม่มีร่องรอย กำจัดเสียแล้ว ซึ่งจักษุ แห่งมารไปแล้ว สู่ที่ซึ่งมารผู้มีบาปมองไม่เห็น ได้ข้ามแล้วซึ่งตัณหาในโลก. ภิกษุนั้นยืนอยู่ก็ สง่างาม เดินอยู่ก็สง่างาม นั่งอยู่ก็สง่างาม นอนอยู่ก็สง่างาม. เพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุว่า ภิกษุนั้นไม่ได้มาสู่คลองแห่งอำนาจของมารผู้มีบาป ดังนี้แล.


หน้า36 (ภาคนำ)
ผู้รู้อริยสัจเป็นหลักอยู่ในใจ
ย่อมไม่มีอาการสั่นสะเทือนเพราะถูกยกวาทะ : ดุจเสาหิน


ภิกษุ ท. ! ภิกษุรูปใด รู้อยู่ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับ ไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.” ดังนี้นั้น แม้ว่าจะ พึงมี บุคคลที่เป็นสมณะหรือพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้ต้องการจะโต้วาทะ เที่ยวแสวงคู่โต้วาทะ มาจากทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ก็ตาม โดยประกาศว่า “เราจักยก วาทะของภิกษุรูปนั้นเสีย” ดังนี้

ข้อที่สมณะหรือพราหมณ์นั้น จักทำภิกษุนั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือน หรือสั่นระรัวไป โดยถูกธรรม นั้น ไม่เป็นฐานะ ที่จะเป็นไปได้เลย. ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะเหตุที่ อริยสัจสี่นั้น เป็นธรรมที่ภิกษุนั้นเห็นแล้วด้วยดี.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนเสาหินยาว ๑๖ ศอก ฝังอยู่ในดิน ๘ ศอกโผล่ขึ้นพ้นดิน ๘ ศอก แม้จะมีลมพายุฝน อย่างแรงกล้า มาจากทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ก็ตาม ไม่พึงทำเสาหินนั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือน หรือสั่นระรัวไปได้เลย. ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะส่วนที่ฝังนั้นลึก และฝังเป็นอย่างดี ฉันใดก็ฉันนั้น.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนั้น ในกรณีนี้พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์. นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์นี้ เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้เป็นทางดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์”

หน้า37 (ภาคนำ)
ผู้ประกอบด้วยอวิชชา คือผู้ไม่มีความรู้สี่อย่าง

พระองค์ผู้เจริญ ! พระองค์กล่าวว่า “อวิชชา อวิชชา” ดังนี้. ก็อวิชชานั้นเป็นอย่างไร ? และด้วยเหตุเท่าไร บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งอวิชชา ? ”

แน่ะภิกษุ ! ความไม่รู้อันใด เป็นความไม่รู้ในทุกข์ เป็นความไม่รู้ ในเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นความ ไม่รู้ ในความดับไม่เหลือ ของทุกข์ และเป็นความไม่รู้ในทางดำเนินให้ถึงความดับ ไม่เหลือ ของทุกข์ นี้เราเรียกว่า อวิชชา และบุคคลชื่อว่าถึงแล้ว ซึ่งอวิชชา ก็เพราะเหตุไม่รู้ความจริง มีประมาณเท่านี้แล.“พระองค์ผู้เจริญ !

พระองค์กล่าวว่า ‘วิชชา วิชชา’ ดังนี้. ก็วิชชานั้นเป็นอย่างไร? และด้วยเหตุเท่าไร บุคคลจึง ชื่อว่า เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งวิชชา?

”แน่ะภิกษุ ! ความรู้อันใด เป็นความรู้ในทุกข์ เป็นความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นความรู้ใน ความดับไม่เหลือของทุกข์ และเป็นความรู้ในทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ นี้เราเรียกว่า วิชชา และบุคคลชื่อว่าถึงแล้วซึ่งวิชชา ก็เพราะเหตุรู้ความจริงมีประมาณเท่านี้แล.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์. นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้น แห่งทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้เป็นทางดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้เถิด.


หน้า38 (ภาคนำ)
อย่าคิดเรื่องโลก แต่จงคิดเรื่องอริยสัจ

ภิกษุ ท. ! มีเรื่องราวในกาลก่อน บุรุษผู้หนึ่ง ตั้งใจว่าจะคิด ซึ่งความคิดเรื่องโลก จึงออกจาก นครราชคฤห์ ไปสู่สระบัวชื่อ สุมาคธา แล้วนั่งคิดอยู่ที่ริมฝั่งสระ. บุรุษนั้นได้เห็นแล้ว ซึ่งหมู่ เสนาประกอบด้วยองค์สี่ (คือช้าง ม้ารถ พลเดินเท้า) ที่ฝั่งสระสุมาคธานั้น เข้าไปอยู่ๆ สู่เหง้า รากบัว. ครั้นเขาเห็นแล้วเกิดความไม่เชื่อตัวเองว่า “เรานี้บ้าแล้ว เรานี้วิกลจริตแล้ว สิ่งใดไม่มี ในโลกเราได้เห็นสิ่งนั้นแล้ว” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! บุรุษนั้นกลับเข้าไปสู่นครแล้ว ป่าวร้องแก่มหาชน ว่า “ท่านผู้เจริญ ! ข้าพเจ้าเป็นบ้า แล้ว ข้าพเจ้าวิกลจริต แล้ว, เพราะว่าสิ่งใดไม่มีอยู่ในโลก ข้าพเจ้ามาเห็นแล้วซึ่งสิ่งนั้น” ดังนี้. มีเสียงถามว่า เห็นอะไรมา ? เขาบอกแล้ว ตามที่เห็นทุกประการ. มีเสียงรับรองว่า “ถูกแล้ว ท่านผู้เจริญเอ๋ย !ท่านเป็นบ้าแล้ว ท่านวิกลจริตแล้ว”.

ภิกษุ ท. ! แต่ว่าบุรุษนั้น ได้เห็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริง หาใช่เห็นสิ่งไม่มีจริง ไม่เป็นจริงไม่. ภิกษุ ท. ! ในกาลก่อนดึกดำบรรพ์ สงครามระหว่างพวกเทพ กับอสูรได้ตั้งประชิดกันแล้ว. ในสงคราม ครั้งนั้น พวกเทพเป็นฝ่ายชนะ อสูรเป็นฝ่ายแพ้. พวกอสูรกลัว แล้วแอบหนีไปสู่ภพแห่งอสูร โดยผ่านทางเหง้ารากบัว หลอกพวกเทพให้หลงค้นอยู่. (เรื่องของโลกย่อมพิสดารไม่สิ้นสุด ถึงเพียงนี้).

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงอย่าคิดเรื่องโลก โดยนัยว่า “โลกเที่ยง หรือ ? โลกไม่เที่ยงหรือ ? โลกมีที่สุดหรือ ?โลกไม่มีที่สุดหรือ ? ชีพก็ดวงนั้น ร่างกายก็ร่างนั้น หรือ ? ชีพก็ดวงอื่น ร่างกายก็ร่างอื่นหรือ ? ตถาคตตายแล้วย่อมเป็นอย่างที่เป็นมาแล้วนั้น อีกหรือ ? ตถาคตตายไปแล้ว ไม่เป็นอย่างที่เป็นมาแล้วนั้น อีกหรือ ? ตถาคตตายไปแล้ว เป็นอย่างที่เป็นมาแล้วอีกก็มี ไม่เป็นก็มี หรือ ? ตถาคตตายไปแล้ว เป็นอย่างที่เป็นมาแล้วอีก ก็ไม่เชิง ไม่เป็นก็ไม่เชิง หรือ ?” เพราะเหตุไรจึงไม่ควรคิดเล่า ?

ภิกษุ ท. !เพราะความคิดนั้น ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็น ไปพร้อม เพื่อความหน่าย ทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับความรู้ยิ่ง ความรู้ พร้อม และนิพพาน เลย.

ภิกษุ ท. ! เมื่อพวกเธอจะคิด จงคิดว่า “เช่นนี้ๆ เป็นทุกข์,เช่นนี้ๆ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เช่นนี้ๆ เป็นความดับไม่เหลือ ของทุกข์ และเช่นนี้ๆ เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ” ดังนี้. เพราะเหตุไรจึงควรคิดเล่า ? เพราะความคิดนี้ ย่อมประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเงื่อนต้น ของ พรหมจรรย์ เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็น ทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้น แห่งทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้เป็นทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้เถิด.


หน้า40 (ภาคนำ)
อย่ากล่าวเรื่องทุ่มเถียงแก่งแย่งกัน แต่จงกล่าวเรื่องความพ้นทุกข์

ภิกษุ ท. ! พวกเธออย่ากล่าวถ้อยคำที่ยึดถือเอาแตกต่างกัน ว่า “ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าซิปฏิบัติ ชอบ คำควรกล่าวก่อน ท่านกล่าวทีหลัง คำควรกล่าวทีหลัง ท่านมากล่าวก่อน คำพูดของท่าน จึงไม่เป็นประโยชน์คำพูดของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์. ข้อที่ท่านเคยถนัด มาแปรปรวน ไปเสียแล้ว. ข้าพเจ้าแย้งคำพูดของท่านแหลกหมดแล้ว ท่านถูกข้าพเจ้าข่มแล้ว เพื่อให้ถอน คำพูด ผิด ๆ นั้นเสียหรือท่านสามารถก็จงค้านมาเถิด ” ดังนี้.

พวกเธอไม่พึงกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะการกล่าวนั้น ๆ ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้น ของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลาย กำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน.

ภิกษุ ท. ! เมื่อพวกเธอจะกล่าว จงกล่าวว่า “เช่นนี้ๆ เป็นความทุกข์ เช่นนี้ๆ เป็นเหตุให้เกิด ทุกข์ เช่นนี้ๆ เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์และเช่นนี้ๆ เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือ ของทุกข์ ” ดังนี้. เพราะเหตุไร จึงควรกล่าวเล่า ? เพราะการกล่าวนั้น ๆ ย่อมประกอบด้วย ประโยชน์เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปพร้อม เพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็น ทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้น แห่งทุกข์  นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้เป็นทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้เถิด.


หน้า41 (ภาคนำ)
อย่ากล่าวเรื่องไม่มีประโยชน์ แต่จงกล่าวเรื่องความพ้นทุกข์

ภิกษุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย จงอย่ามัวสนทนาเรื่องขวางหนทางธรรม(ติรจฺฉานกถา) คือเรื่อง พระราชา เรื่องโจร เรื่องอมาตย์ เรื่องทหาร เรื่องของน่ากลัว เรื่องการรบพุ่ง เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องระเบียบดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยานพาหนะ เรื่องหมู่บ้าน เรื่องจังหวัดเรื่องเมืองหลวง เรื่องบ้านนอก เรื่องหญิง เรื่องชาย เรื่องคนกล้า เรื่องตรอกทางเดิน เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ตายไปแล้ว เรื่องต่าง ๆ นานา เรื่องโลก เรื่องมหาสมุทร เรื่องความรุ่งเรือง เรื่องความทรุดโทรม เหล่านี้.

เพราะเหตุไรจึงไม่ควรกล่าวเล่า ? เพราะการกล่าวนั้น ๆ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน เลย.

ภิกษุ ท. ! เมื่อพวกเธอจะกล่าว จงกล่าวว่า “เช่นนี้ๆ เป็นทุกข์ เช่นนี้ๆ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, เช่นนี้ๆ เป็นความดับไม่เหลือ ของทุกข์ และเช่นนี้ๆ เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือ ของทุกข์ ” ดังนี้. เพราะเหตุไรจึงควรกล่าวเล่า ? เพราะการกล่าวนั้นๆ ย่อมประกอบด้วย ประโยชน์ เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็น ทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้น แห่งทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้เป็นทางดำเนิน ให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้เถิด.


หน้า42 (ภาคนำ)
จงบวชเพื่อรู้ความดับทุกข์

เหมือนเขาทั้งหลายผู้บวชแล้วโดยชอบภิกษุ ท. ! กุลบุตรทั้งหลาย ในกาลยืดยาวนานฝ่าย อดีต ได้ออกจากเรือน บวชแล้ว เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน โดยชอบ กุลบุตรทั้งหมดนั้น ได้บวชแล้ว เพื่อการรู้ยิ่งตามเป็นจริง ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.

ภิกษุ ท. !กุลบุตรทั้งหลาย ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอนาคต จักออกจากเรือน บวชแล้วเป็นผู้ไม่ เกี่ยวข้องด้วยเรือน โดยชอบ กุลบุตรทั้งหมดนั้นก็จักบวช เพื่อการรู้ยิ่งตามเป็นจริง ซึ่งความจริง อันประเสริฐสี่อย่าง.

ภิกษุ ท. ! กุลบุตรทั้งหลายในกาลเป็นปัจจุบันนี้ ก็ออกจากเรือน บวชอยู่ เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้อง ด้วยเรือนโดยชอบ, กุลบุตรทั้งหมดนั้น บวชอยู่ เพื่อการรู้ยิ่งตามเป็นจริง ซึ่งความจริงอัน ประเสริฐสี่อย่าง. สี่อย่าง เหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ ความจริงอันประเสริฐเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุ ให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับไม่เหลือทุกข์ และเรื่องทางดำเนินให้ถึงความดับ ไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็น ทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึง ความดับ ไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้เถิด.


หน้า42-1 (ภาคนำ)
ไม่รู้อริยสัจ ก็ยังไม่เป็นสมณพราหมณ์ที่แท้

ภิกษุ ท. ! สมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ชัดตามเป็นจริงว่า “นี้ความ ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดขึ้น แห่งทุกข์ นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้ ทางดำเนินให้ถึงความดับ ไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้

ภิกษุ ท. ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น มิใช่ผู้ที่ควรได้รับการสมมติว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ มิใช่ผู้ที่ควรได้รับ การสมมติ ว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์. อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้ไม่รู้เหล่า นั้น จะได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความ เป็นสมณะหรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ใน ทิฏฐธรรม นี้เข้าถึงแล้วแลอยู่ หาได้ไม่.

ภิกษุ ท. ! ส่วนสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า “นี้ ความทุกข์ นี้ เหตุให้เกิดขึ้น แห่งทุกข์ นี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้ ทางดำเนินให้ถึงความ ดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้

ภิกษุ ท. ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นแล ย่อมเป็นผู้ควรได้รับการสมมติว่าเป็นสมณะ ในหมู่สมณะ ย่อมเป็นผู้ควร ได้รับการสมมติว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์. อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้รู้ชัดตามความเป็นจริงเหล่านั้น ย่อมทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ หรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้ว แลอยู่ ได้โดยแท้. (พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว พระองค์ผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสคำประพันธ์ต่อไปอีกว่า )“

ชนเหล่าใด ไม่รู้ทั่วถึงซึ่งทุกข์ และเหตุเกิดแห่งทุกข์ และธรรมเป็นที่ดับแห่งทุกข์ ทั้งปวง โดยไม่เหลือ และหนทาง เป็นที่ถึงซึ่งความเข้าไปสงบแห่งทุกข์ ชนเหล่านั้น พลาดแล้วจาก เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ ไม่สมควรที่จะกระทำ ที่สุดแห่งทุกข์ มีแต่จะเข้าถึงซึ่งชาติ และชรา.

ส่วนชนเหล่าใด รู้ทั่วถึงซึ่งทุกข์ และเหตุเกิดแห่งทุกข์ และธรรมเป็นที่ดับแห่งทุกข์ทั้งปวง โดยไม่เหลือ และหนทาง เป็นที่ถึงซึ่งความเข้าไปสงบแห่งทุกข์ ชนเหล่านั้น ถึงพร้อมแล้ว ด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ สมควรที่จะกระทำ ที่สุดแห่งทุกข์ ไม่เข้าถึงซึ่งชาติและชรา”.

ภิกษุ ท. ! (เครื่องทำ) ความเป็นสมณะ เป็นอย่างไรเล่า ? อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้นั่นเอง ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า (เครื่องทำ) ความเป็นสมณะ.

ภิกษุ ท. ! ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ นี้เรียกว่า ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ.

(สำหรับเครื่องทำความเป็นพราหมณ์ และ ประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ก็ตรัสไว้ด้วย ข้อความ เหมือนกันกับ ในกรณีแห่งเครื่องทำความเป็นสมณะ และประโยชน์แห่งความเป็น สมณะนั้นทุกประการ


หน้า44 (ภาคนำ)
ถ้ามัวรอให้รู้เรื่องที่ไม่จำเป็ นเสียก่อน ก็ตายเปล่า

มาลุงก๎ยบุตร ! ตถาคตมิได้พูดกะท่านว่า ท่านจงมาประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักเรา เราจัก พยากรณ์แก้ความเห็น ๑๐ ประการ๑ แก่ท่าน และทั้ง ท่านก็มิได้พูดไว้กะเราว่า ข้าพระองค์ จักประพฤติพรหมจรรย์ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักพยากรณ์แก้ทิฏฐิ ความเห็น ๑๐ ประการแก่ข้าพระองค์. เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่า โมฆบุรุษ ! ที่จักบอกคืน พรหมจรรย์ แก่ใคร.

มาลุงก๎ยบุตร ! ถึงใครกล่าวว่า เราจักยังไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า จนกว่าพระองค์ จักแก้ปัญหา ทิฏฐิ ๑๐ แก่เราเสียก่อนก็ตาม ตถาคตก็ไม่พยากรณ์ปัญหาทิฏฐิ ๑๐ นั้นอยู่นั่นเอง และเขา ก็ตายเปล่าโดยแท้.

มาลุงก๎ยบุตร ! เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่ง ถูกลูกศรอันกำซาบด้วยยาพิษอย่างแรงกล้า มิตรอมาตย์ ญาติสาโลหิต จัดการเรียกแพทย์ผ่าตัดผู้ชำนาญ.บุรุษนั้นกล่าวเสียอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักตัวบุรุษผู้ยิงเราว่าเป็นกษัตริย์ พราหมณ์เวสส์ ศูทร ชื่อไร โคตรไหน ฯลฯ ธนูที่ใช้ยิงนั้นเป็นชนิดหน้าไม้ หรือเกาฑัณฑ์ ฯลฯ (เป็นต้น) เสียก่อนแล้ว เรายังไม่ต้องการ จะถอนลูกศรอยู่เพียงนั้น.

มาลุงก๎ยบุตร ! เขาไม่อาจรู้ข้อความที่เขาอยากรู้นั้นได้เลย ต้องตายเป็นแท้ !อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้กล่าวว่า เราจักยังไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ในสำนักพระผู้มี พระภาคเจ้า จนกว่าพระองค์จักแก้ปัญหาทิฏฐิ ๑๐ แก่เราเสียก่อน และตถาคตก็ไม่พยากรณ ์ปัญหานั้นแก่เขา เขาก็ตายเปล่า โดยแท้ ...

มาลุงก๎ยบุตร ! ท่านจงซึมทราบสิ่งที่เราไม่พยากรณ์ไว้ โดยความเป็นสิ่งที่เราไม่พยากรณ์. ซึมทราบสิ่งที่เราพยากรณ์ไว้ โดยความเป็นสิ่งที่เราพยากรณ์. อะไรเล่า ที่เราไม่พยากรณ์ ? คือความเห็นสิบประการว่า โลกเที่ยง ฯลฯ (เป็นต้น) เป็นสิ่งที่เราไม่พยากรณ์ ฯลฯ.

มาลุงก๎ยบุตร ! อะไรเล่าที่เราพยากรณ์ ? คือสัจจะว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือ ของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ” ดังนี้ นี้เป็นสิ่งที่เราพยากรณ์. เหตุใดเรา จึงพยากรณ์เล่า ? เพราะสิ่ง ๆ นี้ย่อมประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปพร้อม เพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อมและนิพพาน.


หน้า46 (ภาคนำ)
อย่ายึดถือติดแน่นในธรรม แต่จงใช้เพียงเป็นเครื่องมือ

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล ไปพบแม่น้ำใหญ่ ฝั่งข้างนี้ก็เต็มไปด้วยอันตราย น่ารังเกียจ น่ากลัว ฝั่งข้างโน้นปลอดภัย. แต่เรือหรือสะพานสำหรับข้าม ไม่มีเพื่อจะข้ามไป. เขาใคร่ครวญเห็นเหตุนี้แล้ว คิดสืบไปว่า “กระนั้นเราพึงรวบรวมหญ้าแห้ง ไม้แห้ง กิ่งไม้ และใบไม้มาผูกเป็นแพ แล้วพยายามเอาด้วยมือและเท้า ก็จะพึงข้ามไปโดยสวัสดี” บุรุษนั้น ครั้นทำดังนั้นและข้ามไปได้โดยสวัสดีแล้ว ลังเลว่า “แพนี้ มีอุปการะแก่เราเป็นอันมาก ถ้าไฉนเราจักทูนไปด้วยศีรษะ หรือแบกไปด้วยบ่า พาไปด้วยกัน” ดังนี้.

ภิกษุ ท. !พวกท่านจะสำคัญว่าอย่างไร : บุรุษนั้นจักทำอย่างนั้น เจียวหรือ ? “พระองค์ผู้เจริญ! ข้อนั้นหามิได้”.

ภิกษุ ท. ! เขาพึงทำอย่างไร : ถ้าไฉน เขาจะพึงคร่ามันขึ้นบก หรือปล่อยให้ลอยไปในน้ำ ส่วนเขาเอง ก็หลีกไปตามปรารถนา เท่านั้นเอง นี้ฉันใด ธรรมที่เราแสดงแล้ว ก็เพื่อรื้อถอนตน ออกจากทุกข์ ไม่ใช่เพื่อให้ยึดถือเอาไว้ เปรียบได้กับพ่วงแพ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.

ภิกษุ ท. !ท่านทั้งหลายผู้ได้ฟังธรรมอันเราแสดงแล้ว อันเปรียบด้วยพ่วงแพ ควรละธรรม ทั้งหลาย เสีย และป่วยกล่าวทำไม ถึงสิ่งไม่ใช่ธรรม.


หน้า47 (ภาคนำ)
เปรียบนักเรียนอริยสัจ ด้วยหนูต่างจำพวกกัน

ภิกษุ ท. ! หนูเหล่านี้มีสี่จำพวก คือ หนูที่ขุดรู แต่ไม่อยู่ หนูที่อยู่แต่ไม่ขุดรู หนูที่ไม่ขุดรู และทั้งไม่อยู่ หนูที่ทั้งขุดรู และทั้งอย บุคคลสี่จำพวก เปรียบด้วยหนู ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ คนปลูกเรือน แต่ไม่อยู่ คนอยู่ แต่ไม่ปลูกเรือน คนไม่ปลูกเรือน และทั้งไม่อยู่ คนทั้งปลูกเรือน และทั้งอยู่. สี่จำพวกเหล่านี้ มีอยู่พร้อมในโลก.

ภิกษุ ท. ! คนที่ปลูกเรือนแต่ไม่อยู่ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! คนบางคนเรียนปริยัติธรรม ที่เป็นสูตร เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ๑ แต่เขา ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์. นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้ เช่นนี้แล เรียกว่า ปลูกเรือน แต่ไม่อยู่ เรากล่าวว่า เปรียบได้กับหนูที่ขุดรูแล้วไม่อยู่.

ภิกษุ ท. ! คนอยู่แต่ไม่ปลูกเรือนนั้น เป็นอย่างไร ภิกษุ ท. ! คนบางคน ไม่ได้เรียนปริยัติธรรม ที่เป็นสูตร ฯลฯ เวทัลละ แต่เขาเป็นผู้รู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือของทุกข์ ” ดังนี้ เช่นนี้แลเรียกว่า อยู่แต่ไม่ปลูกเรือน เรากล่าวว่า เปรียบกันได้กับหนูที่อยู่แต่ไม่ขุดรู.

ภิกษุ ท. ! คนไม่ปลูกเรือนและทั้งไม่อยู่นั้น เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. !คนบางคน ไม่ได้เรียนทั้ง ปริยัติธรรม ที่เป็นสูตร ฯลฯ เวทัลละ และทั้ง ไม่รู้ ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิด ทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ” ดังนี้ เช่นนี้แลเรียกว่า ไม่ปลูกเรือน และทั้งไม่อยู่ เรากล่าวว่า เปรียบกันได้กับหนูที่ไม่ขุดรู และทั้งไม่อยู่.

ภิกษุ ท. ! คนที่ปลูกเรือนทั้งอยู่นั้น เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. !คนบางคนในโลกนี้ ทั้งเรียน ปริยัติธรรม ที่เป็นสูตร ฯลฯ เวทัลละด้วย และทั้งรู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิด ทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ” ดังนี้ด้วย:เช่นนี้แล เรียกว่าทั้งปลูกเรือนและทั้งอยู่ เรากล่าวว่า เปรียบกันได้กับหนูที่ทั้งขุดรู และทั้งอยู่. ภิกษุ ท. ! คนสี่จำพวกเหล่านี้แล เปรียบกันได้กับหนูสี่จำพวก อันมีอยู่พร้อม ในโลกนี้.


หน้า48 (ภาคนำ)
จงสงเคราะห์ผู้อื่น ด้วยการให้รู้อริยสัจ

ภิกษุ ท. ! พวกเธอเอ็นดูใคร และใครถือว่าเธอเป็นผู้ที่เขาควรเชื่อฟัง เขาจะเป็นมิตรก็ตาม อำมาตย์ก็ตาม ญาติหรือ สายโลหิตก็ตาม ชนเหล่านั้น อันเธอพึงชักชวนให้เข้าไปตั้งมั่น ในความจริงอันประเสริฐสี่ประการ ด้วยปัญญาอันรู้เฉพาะ ตามที่เป็นจริง.

ความจริงอันประเสริฐสี่ประการอะไรเล่า ? สี่ประการคือ ความจริงอันประเสริฐ คือทุกข์ ความจริงอันประเสริฐ คือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ ความจริงอันประเสริฐคือความดับ ไม่เหลือแห่งทุกข์



หน้า49 (ภาคนำ)
ความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดขึ้น แห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้.” ดังนี้.


(ภาคนำตอน3)


หน้า50 (ภาคนำตอน3)
พระพุทธองค์ กับ จตุราริยสัจ

พระพุทธเป็นดุจดั่งผู้ชี้ทาง พระธรรมซึ่งมีอริยสัจเป็นแก่นเป็นตัวทาง พระอริยสงฆ์สาวก คือผู้ที่ ได้เดินไปตามทางแล้ว แต่สัตว์โลกผู้ยังถูกอวิชชากดให้จมติดอยู่ในเปือกตมแห่งโอฆะ กำลัง ต้องการทางนั้นอยู่ เมื่อใดเขาศึกษาจนรู้จัก พระพุทธองค์อย่างลึกซึ้งถึงที่สุด ดุจลูกที่เข้าใจ บิดาดี เมื่อนั้นเขาจะพบทางนั้นด้วย และเดินตามรอยท่านผู้ประเสริฐ ที่เดินไปแล้วนั้นได้. ถ้าเข้าใจไม่ตรงพอ เช่นเห็นพระพุทธองค์เป็นพระเป็นเจ้าไป ก็จะมีความมุ่งหมาย และการ ตั้งหน้าทำที่พลาด ในที่สุดก็ปราศจากผล เพราะความจริงพระองค์เป็นแต่ผู้ชี้ทาง เท่านั้น.


หน้า50-1 (ภาคนำตอน3)
พระพุทธองค์ คือผู้ทรงชี้ให้รู้จักทุกข์

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่ง ว่ายล่องกระแสแม่น้ำลงไปเพราะเหตุสิ่งที่น่ารัก น่าเพลินใจ. บุรุษผู้มีจักษุ ยืนอยู่บนฝั่ง เห็นบุรุษผู้นั้นแล้วร้องบอกว่า “บุรุษผู้เจริญ ! ท่านย่อมว่ายล่องตามกระแสแม่น้ำ เพราะเหตุสิ่ง ที่น่ารักน่าเพลินใจโดยแท้ แต่ว่า ทางเบื้องล่าง มีห้วงน้ำ ประกอบด้วยคลื่น ประกอบด้วยน้ำวน มียักษ์มีรากษส ซึ่งเมื่อท่านไปถึงแล้ว จักต้องตาย หรือได้รับทุกข์เจียนตาย.”

ภิกษุ ท. !บุรุษผู้ว่ายล่องตามกระแสนั้น ครั้นได้ฟังแล้ว ก็พยายามว่ายกลับทวนกระแสทั้ง ด้วยมือ และด้วยเท้าทั้งหลาย. ภิกษุ ท. ! คำอุปมานี้ เราผูกขึ้น เพื่อให้รู้เนื้อความ. นี้เป็นเนื้อความ คือ

คำว่า กระแสแม่นํ้า เป็นชื่อแห่งตัณหา
คำว่า สิ่งน่ารักน่าเพลินใจ เป็นชื่อแห่งอายตนะหกในภายใน
คำว่า ทางเบื้องล่างมีห้วงนํ้า เป็นชื่อแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ห้า
คำว่า คลื่น เป็นชื่อแห่งความโกรธและความคับแค้น
คำว่า นํ้าวน เป็นชื่อแห่งกามคุณห้า
คำว่า ยักษ์และรากษส เป็นชื่อแห่งมาตุคาม
คำว่า ทวนกระแส’ เป็นชื่อแห่งเนกขัมมะ
คำว่า พยายามด้วยมือและเท้า เป็นชื่อแห่งการปรารถความเพียร
คำว่า บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนฝั่ง เป็นชื่อแห่งตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ดังนี้.


พระพุทธองค์ทรงชี้ทุกข์และทางดับทุกข์ได้ ก็เพราะพระองค์ทรงรู้จักดี จนถึงกับทำความหลุดพ้นให้พระองค์เองได้. ทุกข์อันไม่รู้จักสิ้นสุดของโลกนั้น พระองค์หลุดพ้นได้สิ้นเชิง ทั้งอย่างต่ำ อย่างกลาง และอย่างประณีต. ในทุกข์อย่างต่ำ ๆ ซึ่งเรามักจมกันอยู่โดยสนิทใจ จะได้ยกตัวอย่างที่พระองค์ทรงนำไปตรัสให้สติพราหมณ์ผู้หนึ่ง มาเป็นเครื่องสาธก ดังต่อไปนี้



หน้า51 (ภาคนำตอน3)
มุมน้อยมุมหนึ่งของความทุกข์ ที่พระองค์ไม่มี

พราหมณ์ ! วัว ๑๔ ตัว จะได้หายหาไม่พบ ๖ วันมาแล้วแก่เรา ก็หามิได้ เพราะเหตุนั้นแหละ พราหมณ์ ! เราจึงเป็นผู้มีความสุข. ต้นงาในไร่ จะยับเยินมีใบเหลือเพียง ๒-๓ ใบ แก่เราก็หามิได้ เพราะเหตุนั้นแหละ

พราหมณ์ !เราจึงเป็นผู้มีความสุข. พวกหนู จะกระโดดโลดเต้นในยุ้งเปล่า แก่เรา ก็หามิได้ เพราะเหตุนั้นแหละ พราหมณ์ ! เราจึงเป็นผู้มีความสุข. ที่นอน ซึ่งละเลยไว้ตั้ง ๗ เดือน (มิได้ชำระเพราะไม่มีเวลาว่างพอ) เกลื่อนไปด้วยตัวสัตว์เล็ก ๆ จะมีแก่เราก็หามิได้ เพราะเหตุนั้นแหละ

พราหมณ์ ! เราจึงเป็นผู้มีความสุข. ลูกเล็กหญิงชาย ของลูกสาวที่เป็นหม้าย มีลูกติด คนหนึ่งบ้าง สองคนบ้าง จะมีแก่เรา ก็หามิได้ เพราะเหตุนั้นแหละ

พราหมณ์ ! เราจึงเป็นผู้มีความสุข. โรคผมเหลืองตัวสะพรั่งด้วยเมล็ดงา จะมีแก่เรา ก็หามิได้ เราจะถูกปลุกด้วยการ ถีบเตะ ทั้งนอนหลับ ก็หามิได้ เพราะเหตุนั้นแหละ

พราหมณ์ !เราจึงเป็นผู้มีความสุข พวกเจ้าหนี้ที่มาทวงหนี้ แต่เช้าตรู่ว่า จงใช้ จงใช้’จะมีแก่เรา ก็หามิได้ เพราะเหตุนั้นแหละ พราหมณ์ ! เราจึงเป็นผู้มีความสุข ดังนี้.

การที่พระองค์จะทรงชี้ทุกข์และทางดับทุกข์ได้ ก็เพราะพระองค์ทรงคิดค้นอย่างจริงจัง มิใช่ มีได้ด้วยการนอนรอคอย ให้มาปรากฏ หรือแม้ว่าด้วยการฟังหรือการเรียนอย่างตื้น ๆ หยาบ ๆ. พระองค์ทรงหน่ายกาม จนขยะแขยงจนอึดอัด เนื่องจากมองเห็นความหลงทุกข์เป็นสุข แล้วหมักจมอยู่ ซึ่งเป็นการใช้เวลาของชีวิตให้หมดเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์.



หน้า52 (ภาคนำตอน3)
ทรงแสวง

ราชกุมาร ! เมื่อเรายังเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ก่อนแต่การตรัสรู้ ได้เกิดความรู้สึกขึ้น ภายในใจ ว่า “ชื่อว่าความสุขแล้ว ใคร ๆ จะบรรลุได้โดยง่ายเป็นไม่มี” ดังนี้. ครั้นสมัยอื่นอีก เรานั้น ทั้งที่ยังหนุ่ม เกสายังดำจัดบริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญ ในปฐมวัย เมื่อมารดาบิดา ไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากันร้องไห้ น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้า ย้อมฝาดออกจากเรือน บวช เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว.

เรานั้น ครั้นบวชอย่างนี้แล้ว แสวงหาอยู่ว่า อะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐ ชนิดที่ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า. ได้เข้าไปหา อาฬารดาบส ผู้กาลามโคตร.... ได้เข้าไปหา อุทกดาบส ผู้รามบุตร.... เล่าเรียนธรรมนั้น ๆ ได้ฉับไวไม่นานเลย.... ได้เกิดความรู้สึกนี้ ว่า “ธรรมนี้ จะได้เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน ก็หาไม่ แต่เป็นไปพร้อมเพียงเพื่อการบังเกิดใน เนวสัญญานาสัญญายตนภพ เท่านั้นเอง.” เราไม่ทำการหยุดเสียเฉพาะแค่ธรรมนั้น ๆเหนื่อยหน่ายจากธรรมนั้น ๆ แล้วหลีกไปเสีย.

เรานั้น เมื่อหลีกจากสำนักอุทกดาบสผู้รามบุตรแล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหา แต่สิ่งที่ประเสริฐ อันไม่มีอื่นยิ่งไปกว่า สืบไป เที่ยวจาริกไปตามลำดับหลายตำบล ในมคธรัฐ จนลุถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พักแรมอยู่ณ ที่นั้น ได้พบพื้นที่รมณียสถาน.... ตกลงใจพักอยู่ ณ ที่นั้นเอง ด้วยคิดว่า‘ที่นี้ ควรแล้ว เพื่อการตั้งความเพียร’ ดังนี้.

ต่อไปนี้มีการตรัสเล่าถึง การประพฤติอัตตกิลมถานุโยคจนอุปมาปรากฏ และทรงทำทุกรกิริยา แล้วทรงเลิกหมุน ไปจับเอาการกระทำความเพียรทางใจ ดังแสดงไว้ในพระพุทธประวัติต่าง ๆ จนได้ “พบ” คือตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ.



หน้า53 (ภาคนำตอน3)
ทรงพบ

ภิกษุ ท. ! เรานั้น, ครั้นเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส เป็นธรรมชาติ อ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งอยู่ได้ ไม่หวั่นไหวเช่นนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเฉพาะต่อ ญาณ เป็นเครื่องสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เรารู้เฉพาะแล้ว ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนิน ให้ถึงความดับ ไม่เหลือของทุกข์ เหล่านี้เป็นอาสวะทั้งหลาย นี้เป็นเหตุให้เกิดอาสวะ นี้เป็นความดับไม่เหลือ ของอาสวะ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของอาสวะ ” ดังนี้.

เมื่อเรารู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็พ้นแล้วจากอาสวะคือกาม อาสวะคือภพอาสวะคือ อวิชชา. ครั้นจิตพ้นแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ ว่า “พ้นแล้ว” เรารู้เฉพาะแล้ว ว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำสำเร็จแล้วกิจอื่น ที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.

ภิกษุ ท. !นี้แล วิชชาที่สาม ที่เราได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี. อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว ความสว่างเกิดขึ้นแล้วโดยประการที่เกิดขึ้นแก่บุคคล ผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วแลอยู่.


หน้า54 (ภาคนำตอน3)
เมื่อยังไม่ทรงรู้อริยสัจ

ก็ยังไม่ชื่อว่า ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณภิกษุ ท. ! ตลอดกาลเพียงใด ที่ปัญญาเครื่อง รู้เห็น (ญาณทัสสนะ) ตามเป็นจริงของเราในอริยสัจสี่เหล่านี้ ว่ามีปริวัฏสาม มีอาการสิบสอง เช่นนี้ๆยังไม่เป็นปัญญาที่บริสุทธิ์สะอาดด้วยดีแล้ว ตลอดกาลเพียงนั้นนั่นเทียว เรายังไม่ ปฏิญญา ว่าเป็นผู้ตรัสรู้ รู้พร้อมเฉพาะแล้ว ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมด้วย เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์และเทวดาพร้อมทั้งมนุษย์.

ภิกษุ ท. ! ก็แต่ว่า ในกาลใดแล, ปัญญาเครื่องรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจสี่เหล่านี้ ว่ามีปริวัฏสาม มีอาการสิบสอง เช่นนี้ ๆ เป็นปัญญาที่บริสุทธ์ิสะอาดด้วยดีแล้ว ในกาลนั้นเทียว เราก็ปฏิญญาว่าเป็นผู้ตรัสรู้ รู้พร้อมเฉพาะแล้ว ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมด้วย เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ และเทวดาพร้อมทั้งมนุษย์. ทั้งปัญญาเครื่องรู้ และปัญญาเครื่องเห็น ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ว่า “ความหลุดพ้นของเรา ไม่กลับ กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพที่เกิดใหม่มิได้มีอีกต่อไป” ดังนี้.


หน้า55 (ภาคนำตอน3)
ถ้าไม่รู้เบญจขันธ์โดยนัยอริยสัจสี่

ก็ยังไม่ทรงปฏิญญาเป็นพระพุทธเจ้าภิกษุ ท. ! ตลอดกาลเพียงใด เรายังไม่ได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่งอุปาทานขันธ์ ทั้งห้าเหล่านี้ โดยปริวัฏฏ์สี่ ตรงตามที่เป็นจริง เราก็ยังไม่ปฏิญญาอยู่เพียงนั้น ว่า เป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะแล้ว ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์.

ภิกษุ ท. ! เมื่อใดแล, เราได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่งอุปาทานขันธ์ทั้งห้าเหล่านี้ โดยปริวัฏฏ์สี่ ตรงตามที่เป็นจริง เมื่อนั้นแหละ เราจึงปฏิญญาได้ว่าเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะแล้ว ซึ่งอนุตตรสัมมา สัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลกมารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์.


ภิกษุ ท. ! ปริวัฏฏ์สี่นั้น เป็ นอย่างไรเล่า ?
ปริวัฎฎ์สี่นั้นคือ :-


(๑) เราได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่ง รูป ได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่งความก่อขึ้นของรูป ได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่งความดับไม่เหลือของรูป ได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่งทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของรูป.

(๒) เราได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่ง เวทนา ได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่งความก่อขึ้นของเวทนา ได้รู้ชัด แจ้ง ยิ่งแล้ว ซึ่งความดับไม่เหลือของเวทนา ได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่งทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือของเวทนา.

(๓) เราได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่ง สัญญา,ได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่งความก่อขึ้นของสัญญา ได้รู้ชัด แจ้งยิ่งแล้ว ซึ่งความไม่เหลือของสัญญา ได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่งทางดำเนินให้ถึงความ ดับไม่เหลือของสัญญา.

(๔) เราได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่ง สังขาร ทั้งหลาย ได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้วซึ่งความก่อขึ้นของสังขาร ทั้งหลาย ได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่งความดับไม่เหลือของสังขารทั้งหลาย ได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่งทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของสังขารทั้งหลาย.

(๕) เราได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่ง วิญญาณ ได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่งความก่อขึ้นของวิญญาณ ได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่งความดับไม่เหลือของวิญญาณ ได้รู้ชัดแจ้งยิ่งแล้ว ซึ่งทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือของวิญญาณ.

ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แหละ ชื่อว่า ปริวัฏฏ์สี่อย่างนั้น.

(ข้อความที่ละเอียดยิ่งไปกว่านี้ ตลอดถึงผลของการรู้ จนทำให้เป็นเกพลี หาดูได้จากหนังสือ ปฏิจจ. โอ. หน้า ๓๓๘ ตั้งแต่คำว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็รูปเป็นอย่างไรเล่า ?” ...เป็นต้นไป จึงถึงหน้า ๓๔๒ จบลงที่คำว่า... “วัฏฏะย่อมไม่มี เพื่อจะบัญญัติ แก่บุคคลเหล่านั้น”.).




หน้า 57 (ภาคนำตอน3)
พระพุทธองค์ ทรงพระนามว่า
สัมมาสัมพุทธะ ก็เพราะได้ตรัสรู้อริยสัจสี่


ภิกษุ ท. ! ความจริงอันประเสริฐมีสี่อย่างเหล่านี้. สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ ความจริง อันประเสริฐ คือความทุกข์ ความจริงอันประเสริฐ คือเหตุให้เกิดทุกข์ ความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือของทุกข์ และความจริงอันประเสริฐ คือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือ ของทุกข์ นี้แล ความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง. ภิกษุ ท. ! เพราะได้ตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งความจริง อันประเสริฐสี่อย่างเหล่านี้ ตถาคต จึงมีนามอันบัณฑิตกล่าวว่า “อรหันตสัมมาสัมพุทธะ”.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ” ดังนี้เถิด.


หน้า 57-1 (ภาคนำตอน3)
ทรงรอบรู้โลก (อริยสัจ)

ภิกษุ ท. ! โลก (คือทุกข์) เป็นสิ่งที่ตถาคตรอบรู้ได้ชัดเจนแล้วตถาคตถอนตัวออกได้แล้วจากโลก เหตุให้เกิดโลก เป็นสิ่งที่ตถาคตรอบรู้ได้ชัดเจนแล้ว อันตถาคตละได้ขาดแล้ว ความดับไม่เหลือของโลก เป็นสิ่งที่ตถาคตรอบรู้ ได้ชัดเจนแล้ว อันตถาคตได้กระทำให้แจ้งแล้ว และ ทางดำเนินให้ถึง ความดับ ไม่เหลือของโลก เป็นสิ่งที่ตถาคตรอบรู้ ได้ชัดเจนแล้ว อันตถาคตได้ทำให้มีขึ้นแล้ว.

สิ่งใด ที่โลกพร้อมด้วยเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ และเทวดาพร้อมทั้งมุนษย์ ได้เห็นแล้ว ฟังแล้วดม - ลิ้ม - สัมผัสแล้ว รู้แล้ว ถึงแล้ว แสวงแล้ว เที่ยวไปตามแล้วด้วยใจ สิ่งนั้นตถาคตรอบรู้ ได้ชัดเจนแล้วทั้งหมด เหตุนั้นจึงได้มีคำกล่าวว่า “ตถาคต” ดังนี้.


หน้า 58 (ภาคนำตอน3)
ทรงบันลือสีหนาท ประกาศจตุราริยสัจ

ภิกษุ ท. ! พระยาสัตว์ชื่อสีหะ ออกจากถ้ำที่อาศัย ในเวลาเย็นเหยียดกายแล้ว เหลียวดูทิศ ทั้งสี่ โดยรอบ บันลือสีหนาท ๓ ครั้ง แล้วเที่ยวไปเพื่อหาอาหาร. บรรดาสัตว์เดรัจฉานเหล่าใด ได้ยินสีหนาท สัตว์เหล่านั้นก็สะดุ้งกลัว เหี่ยวแห้งใจ พวกที่อาศัยโพรง ก็เข้าโพรง พวกที่ อาศัย ในน้ำ ก็ลงน้ำ พวกที่อยู่ป่า ก็เข้าป่า ฝูงนกก็โผบินขึ้นสู่อากาศ เหล่าช้างของพระราชา ในหมู่บ้าน และนิคมและเมืองหลวง ที่ผูกล่ามไว้ด้วยเชือกอันเหนียวก็พากันกลัว เหนี่ยว กระชาก เชือก ให้ขาดแล้ว ถ่ายมูตรและกรีส (อุจจาระ)พลางแล่นหนีไป โดยข้างโน้นข้างนี้.

ภิกษุ ท. ! พระยาสัตว์ชื่อสีหะ เป็นสัตว์มีฤทธิ์มาก มีศักดิ์มาก มีอานุภาพมาก กว่าบรรดา สัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ด้วยอาการอย่างนี้แล.

ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น ในกาลใด ตถาคตอุบัติขึ้นในโลกเป็นพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้ชอบเอง ผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชา และข้อปฏิบัติให้ถึงวิชชาผู้ไปดี ผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ สมควร ฝึกได้ ไม่มีใครยิ่งกว่าเป็นครูผู้สอน ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ปลุกให้ตื่น เป็นผู้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์.

ตถาคตนั้น แสดงธรรมว่า สักกายะ (ความยึดถือตัวตน) เป็นเช่นนี้ สักกายสมุทัย เป็นเช่นนี้ สักกายนิโรธ เป็นเช่นนี้ สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นเช่นนี้. พวกเทพเหล่าใด เป็นผู้มีอายุยืน นานมีวรรณะ มากไปด้วยความสุข ดำรงอยู่นมนามมาแล้ว ในวิมานชั้นสูง พวกเทพนั้น ๆ ได้ฟังธรรมเทศนาของตถาคตแล้ว โดยมาก ก็สะดุ้งกลัวเหี่ยวแห้งใจ สำนึกได้ว่า

“ท่านผู้เจริญเอ๋ย ! พวกเรา เมื่อไม่เที่ยง ก็มาสำคัญว่า เราเป็นผู้เที่ยง เมื่อไม่ยั่งยืน ก็มาสำคัญ ว่า เราเป็นผู้ยั่งยืน เมื่อไม่มั่นคง ก็มาสำคัญว่า เราเป็นผู้มั่นคง. พวกเราทั้งหลาย เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง และถึงทั่วแล้ว ซึ่ง สักกายะ (ความยึดถือตัวตน)” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! ตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีศักดิ์มาก มีอานุภาพมากกว่าสัตว์โลก พร้อมทั้งเทวโลก ด้วยอาการอย่างนี้แล.



หน้า 60 (ภาคนำ)
ทรงประกาศ อนุตตรธรรมจักร ซึ่งใครๆ ประกาศไม่ได้

ภิกษุ ท. ! ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี เราตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ได้ประกาศ ให้เป็นไปแล้ว ซึ่งอนุตตรธรรมจักรชนิดที่ไม่ประกาศให้เป็นไปได้ โดยสมณะ หรือพราหมณ์ หรือเทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก. ภิกษุ ท. ! การประกาศธรรมจักร นี้ คือการบอก การแสดงการบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก และการทำให้เข้าใจได้ ซึ่งอริยสัจ (ความจริงอันประเสริฐ) สี่อย่าง.

สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ การบอก การแสดง ฯลฯ การทำให้เข้าใจได้ ซึ่งความจริง อันประเสริฐ คือทุกข์- เหตุให้เกิดทุกข์ – ความดับไม่เหลือของทุกข์ - และทางดำเนินให้ถึง ความดับ ไม่เหลือของทุกข์ ภิกษุ ท. ! เราตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ได้ประกาศให้เป็น ไปแล้ว ซึ่งอนุตตรธรรมจักร ฯลฯ ดังนี้แล.



60-1 (ภาคนำ)
สิ่งที่ไม่ทรงนำมาสอน มีมากยิ่งกว่ามากนัก

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทับอยู่ที่ สีสปาวัน ใกล้กรุงโกสัมพี. ทรงกำใบสีสปาขึ้น หน่อยหนึ่ง แล้วตรัสถามหมู่ภิกษุ ว่า ใบสีสปาที่ทรงกำนี้ กับ ที่อยู่บนป่าโน้น ไหนจะมากกว่า กัน. เมื่อภิกษุกราบทูลว่า ที่อยู่บนป่าโน้นมากกว่ามากแล้ว จึงตรัสว่า

ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น สิ่งที่ยังอยู่มากกว่ามาก ก็คือสิ่งที่เรารู้ยิ่งแล้ว แต่ไม่นำมาสอน พวกเธอ ทั้งหลาย. เพราะเหตุไรเราจึงไม่สอนสิ่งนั้นแก่พวกเธอเล่า ? เพราะว่าสิ่ง ๆ นั้น ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้น ของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปพร้อม เพื่อความหน่าย ทุกข์ ความคลายกำหนัดความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่สอนสิ่งนั้น แก่พวกเธอทั้งหลาย.


61 (ภาคนำ)
สิ่งที่ทรงนำมาสอน ก็เฉพาะเรื่องความพ้นทุกข์

ภิกษุ ท. ! ก็สิ่งไร ที่เราบอกสอนแก่พวกเธอเล่า ? สิ่งที่เราบอกสอนแก่พวกเธอ คือ ความจริง อันประเสริฐ ว่า “นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือ ของทุกข์ ” ดังนี้.

เพราะเหตุไร เราจึงสอนสิ่งนี้แก่พวกเธอเล่า? เพราะว่าสิ่ง ๆ นี้ ย่อมประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงสอนสิ่งนี้แก่พวกเธอ ทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็น ทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิด แห่งทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความ ดับ ไม่เหลือแห่งทุกข์.” ดังนี้เถิด.



62 (ภาคนำ)
ทรงพยากรณ์เฉพาะเรื่องอริยสัจสี่

“....ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สัจจะที่ว่า โลกเที่ยง นี้เท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ ดังนั้นหรือ พระเจ้าข้า ?”
โปฏฐปาทะ ! ข้อที่ว่า “โลกเที่ยงนี้เท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ” ดังนี้นั้น เป็นข้อที่ เราไม่พยากรณ์.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สัจจะที่ว่า โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ ดังนั้นหรือ ?”
โปฏฐปาทะ ! ข้อที่ว่า “โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ” ดังนี้นั้น เป็นข้อที่ เราไม่พยากรณ์.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สัจจะที่ว่า โลกมีที่สิ้นสุด นี้เท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ ดังนั้นหรือ?
โปฎฐปาทะ ! ข้อที่ว่า “โลกมีที่สิ้นสุด นี้เท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ” ดังนี้นั้น เป็นข้อที่ เราไม่พยากรณ์.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สัจจะที่ว่า โลกไม่มีที่สิ้นสุด นี้เท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ ดังนั้นหรือ ?”
โปฏฐปาทะ ! ข้อที่ว่า “โลกไม่มีที่สิ้นสุด นี้เท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ” ดังนี้นั้น เป็นข้อที่ เราไม่พยากรณ์.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สัจจะที่ว่า ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น นี้เท่านั้น เป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ ดังนั้นหรือ ?”
โปฏฐปาทะ ! ข้อที่ว่า “ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น นี้เท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ” ดังนี้นั้น เป็นข้อที่ เราไม่พยากรณ์.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สัจจะที่ว่า ชีวะก็อันอื่น สรีระก็อันอื่น นี้เท่านั้น เป็น คำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ ดังนั้นหรือ ?”
โปฏฐปาทะ ! ข้อที่ว่า “ชีวะก็อันอื่น สรีระก็อันอื่น นี้เท่านั้นเป็นคำจริงคำอื่นเป็นโมฆะดังนี้นั้น เป็นข้อที่ เราไม่พยากรณ์.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สัจจะที่ว่า ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมมีอีก นี้ เท่านั้นเป็น คำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ ดังนั้นหรือ ?” โปฏฐปาทะ ! ข้อที่ว่า “ตถาคตภายหลัง แต่ตายแล้ว ย่อมมีอีกนี้เท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ” ดังนี้นั้น เป็นข้อที่ เราไม่ พยากรณ์.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สัจจะที่ว่า ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมไม่มีอีก นี้เท่านั้นเป็น คำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ ดังนั้นหรือ ?”
โปฏฐปาทะ ! ข้อที่ว่า “ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมไม่มีอีกนี้เท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ” ดังนี้นั้น เป็นข้อที่ เราไม่พยากรณ์.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สัจจะที่ว่า ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมมีอีกก็มีไม่มีอีกก็มี นี้เท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ ดังนั้นหรือ ?”
โปฏฐปาทะ ! ข้อที่ว่า ตถาคตภายหลัง แต่ตายแล้ว ย่อมมีอีกก็มี ไม่มีอีกก็มี นี้เท่านั้น เป็น คำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ” ดังนี้นั้น เป็นข้อที่ เราไม่พยากรณ์.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สัจจะที่ว่า ตถาคตภายหลังแต่ตาย แล้วย่อมมีอีกก็หามิได้ ไม่มีอีกก็หามิได้ นี้เท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ ดังนั้นหรือ ?”
โปฏฐปาทะ ! ข้อที่ว่า “ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมมีอีกก็หามิได้ไม่มีอีกก็หามิได้ นี้เท่านั้นเป็นคำจริง คำอื่นเป็นโมฆะ” ดังนี้นั้น เป็นข้อที่ เราไม่พยากรณ์.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะเหตุอะไรเล่า ข้อนั้น ๆ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ทรงพยากรณ์ ?
โปฏฐปาทะ ! เพราะเหตุว่า นั่นไม่ประกอบด้วยอรรถะ ไม่ประกอบด้วยธรรมะ ไม่เป็น เบื้องต้น ของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายความคลายกำหนัด ความดับ ความระงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน เหตุนั้นเราจึงไม่พยากรณ์.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะเหตุอะไรเล่า เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงพยากรณ์ ?”
โปฏฐปาทะ ! ข้อที่เราพยากรณ์นั้นคือ นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ดังนี้.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะเหตุอะไรเล่า จึงทรงพยากรณ์ ?”
โปฎฐปาทะ ! เพราะเหตุว่า นั่นประกอบด้วยอรรถะ ประกอบด้วยธรรมะเป็นเบื้องต้นของ พรหมจรรย์ เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัดความดับ ความระงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน เหตุนั้นเราจึงพยากรณ์.