เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

เรื่องสามเณรในพุทธศาสนามี 5 รูป สามเณรสีหะ, วาเสฏฐ, ภารทวาช, จุนทะ, ราหูล 1746
  (โดยย่อ)
เรื่องราวของสามเณรที่เป็นพุทธวจนในพระไตรปิฎก พบ 5 พระสูตร (นอกนั้นเป็นคำแต่งใหม่)
ได้แก่ สามเณรสีหะ , สามเณรวาเสฏฐ , สามเณรภารทวาช , สามเณรจุนทะ , สามเณรราหูล

(1) เรื่องของสามเณรสีหะ
ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๔

(2) เรื่องของสามเณรวาเสฏฐ กับ ภารทวาช
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๑

(3) เรื่องของสามเณรจุนทะ (ปาสาทิกสูตร)
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๑

(4) เรื่องของสามเณรจุนทะ (จุนทสูตร ว่าด้วยการปรินิพพานของพระสารีบุตร)
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๘

(5) เรื่องของสามเณรราหูล (พระราหุลกุมารทรงผนวชเป็นสามเณร)
ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก หน้าที่ ๑๓๕ - ๑๓๙
----------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 

 


(1)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๔

เรื่องของสามเณรสีหะ

            [๒๔๒] ครั้งนั้น สามเณรสีหะเข้าไปหาท่านพระนาคิต อภิวาทพระนาคิต เถระ แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วจึงถามท่านว่า ข้าแต่ท่านกัสสปะ พวกพราหมณทูตมากด้วยกัน เข้ามาในที่นี้เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค.

            แม้เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยบริษัทลิจฉวีหมู่ใหญ่ ก็เข้ามาในที่นี้ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้โปรดเถิด ท่านกัสสปะ ขอหมู่ชนนั้นจงได้เฝ้า พระผู้มีพระภาค.

            พระเถระตอบว่า สีหะ ถ้าเช่นนั้น เธอนั่นแหละจงกราบทูล พระผู้มีพระภาค เถิด สามเณรสีหะ รับคำพระนาคิตแล้ว จึงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

            ครั้นแล้วจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณทูตชาวโกศลรัฐ และพราหมณทูตชาวมคธรัฐมากด้วยกัน เข้ามาในที่นี้เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค แม้เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวี พร้อมด้วยบริษัทลิจฉวีหมู่ใหญ่ ก็เข้ามาในที่นี้ เพื่อจะเฝ้า พระผู้มีพระภาค ขอประทานพระวโรกาสพระเจ้าข้า ขอหมู่ชนนั้น จงได้เฝ้าพระผู้มี พระภาค เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าดูกรสีหะ ถ้าเช่นนั้นเธอจงจัดอาสนะในร่ม หลังวิหารเถิด.

            สามเณรสีหะทูลรับพระพุทธอาณัติแล้ว ไปจัดอาสนะในร่มหลังพระวิหาร. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออก จากพระวิหารแล้วไปประทับ ณ อาสนะ ที่สามเณรสีหะ จัดไว้ในร่มหลังพระวิหาร.

            ลำดับนั้น พวกพราหมณทูตเหล่านั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

            [๒๔๓] ฝ่ายเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยบริษัทลิจฉวีหมู่ใหญ่ ได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อนๆ สุนักขัตตลิจฉวีบุตร เข้าไปหาข้าพระองค์แล้วบอกว่า มหาลี ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้า อาศัยพระผู้มีพระภาค อยู่ไม่ทันถึง ๓ ปีข้าพเจ้าก็ได้เห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบ ด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด แต่มิได้ยินเสียงทิพย์ อันไพเราะประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

            ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เสียงทิพย์อันไพเราะประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ที่สุนักขัตตลิจฉวีบุตร ไม่ได้ยินนั้น มีอยู่หรือไม่

            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มี มหาลี มิใช่ไม่มี เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวี ทูลถาม ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเล่าเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่มิให้สุนักขัตตลิจฉวีบุตร ได้ยินเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ที่มีอยู่ มิใช่ว่าไม่มีนั้น.

            สมาธิที่บำเพ็ญเฉพาะส่วน

            [๒๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาลี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสมาธิ เฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออกแต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัดเพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก แต่มิได้เจริญ เพื่อฟังเสียงทิพย์ อันไพเราะ ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เธอจึงเห็น แต่รูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก มิได้ฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ข้อนั้น เพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ทั้งนี้ เพราะภิกษุนั้นเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์ อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออกแต่มิได้เจริญ เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด.

            [๒๔๕] ดูกรมหาลี ข้ออื่นยังมีอีก

.........

(อ่านต่อ P1401)



(2)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๑

เรื่องของสามเณร วาเสฏฐ กับ ภารทวาช

            ข้าพจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพาราม เป็นปราสาท ของนาง วิสาขามิคารมารดา เขตพระนคร สาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล วาเสฏฐ สามเณร กับ ภารทวาช สามเณรเมื่อจำนงความเป็นภิกษุอยู่ อยู่อบรมในสำนัก ภิกษทั้งหลาย เย็นวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จลงจากปราสาทแล้ว ทรงจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งในร่มเงาปราสาท วาเสฏฐสามเณรได้เห็น

            พระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จลงจากปราสาท กำลังเสด็จ จงกรม อยู่ในที่แจ้ง ในร่มเงาปราสาท ในเวลาเย็น ครั้นแล้วจึงเรียกภารทวาชสามเณร มาพูดว่า ดูกรภารทวาชะผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคเสด็จออก จากที่หลีกเร้น ในเวลา เย็น เสด็จลงจากปราสาททรงจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งในร่มเงาปราสาท เรามาไปกันเถิด พากัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางทีเราจะได้ฟังธรรมีกถา เฉพาะ พระพักตร์ของพระองค์บ้างเป็นแม่นมั่น ส่วนภารทวาชสามเณรรับคำของ วาเสฏฐสามเณร แล้ว ทันใดนั้น วาเสฏฐสามเณรกับภารทวาชสามเณร พากัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

            ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วชวนกันเดินตามเสด็จพระองค์ ผู้กำลังเสด็จจงกรมอยู่ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกวาเสฏฐสามเณร มาแล้ว ตรัสว่า ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสอง มีชาติเป็นพราหมณ์ มีตระกูลเป็น พราหมณ์ ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกพราหมณ์ ไม่ด่าว่าเธอทั้งสอง บ้างดอกหรือ

            สามเณรทั้งสองนั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ พากันด่าว่า ข้าพระองค์ทั้ง ๒ ด้วยคำ เหยียดหยาม อย่างสมใจ อย่างเต็มที่ ไม่มี ลดหย่อนเลย พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามต่อไปว่า ก็พวกพราหมณ์พากัน ด่าว่าเธอ ทั้งสอง ด้วยถ้อยคำ อันเหยียดหยามอย่างสมใจ อย่างเต็มที่ ไม่มีลดหย่อนอย่างไร เล่า

            สามเณรทั้งสองกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์พากันว่า อย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะ ที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พราหมณ์พวกเดียว เป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียว บริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจาก อุระ เกิดจาก ปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม เจ้าทั้งสองคนมาละวรรณะ ที่ประเสริฐที่สุดเสียแล้ว ไปเข้ารีดวรรณะที่เลวทราม คือ พวกสมณะที่มีศีรษะโล้น เป็นพวกคฤหบดี เป็นพวกดำ เป็นพวกเกิดจากเท้าของพรหม เจ้าทั้งสองคนมาละพวก ที่ประเสริฐที่สุดใดเสีย ไป เข้ารีดวรรณะเลวทราม คือพวก สมณะ ที่มีศีรษะโล้น เป็นพวกคฤหบดี เป็นพวกดำ เป็นพวกเกิดจากเท้าของพรหม ข้อนั้นไม่ดี ไม่สมควรเลย

            ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ พากันด่าว่าข้าพระองค์ทั้งสอง ด้วย ถ้อยคำที่เหยียดหยาม อย่างสมใจ อย่างเต็มที่ ไม่มีลดหย่อนเลยอย่างนี้แล พระองค์ จึงตรัสว่า

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกพราหมณ์ ระลึกถึงเรื่องเก่าของพวกเขา ไม่ได้ จึงพากันพูดอย่างนี้

- พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม
- พราหมณ์ พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็น วรรณะดำ
- พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์ หาบริสุทธิ์ไม่
- พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้นเป็นทายาทของพรหม ดังนี้

            ดูกรวาเสฏฐะ และ ภารทวาชะ ก็ตามที่ปรากฎอยู่แล คือ นางพราหมณี ทั้งหลายของพวกพราหมณ์ มีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดอยู่บ้าง ให้ลูกกินนม อยู่บ้าง อันที่จริง พวกพราหมณ์เหล่านั้น ก็ล้วนแต่เกิดจากช่องคลอดของนาง พราหมณีทั้งนั้น พากันอวดอ้างอย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่น เลวทราม พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็น วรรณะดำ พราหมณ์ พวกเดียว บริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์ หาบริสุทธิ์ไม่

            พวกพราหมณ์เป็นบุตร เกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจาก พรหม พรหมเนรมิตขึ้นเป็นทายาท ของพรหม เขาเหล่านั้นกล่าวตู่พรหม และพูดเท็จ ก็จะประสบแต่บาปเป็นอันมาก

            [๕๒] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ วรรณะเหล่านี้ มีอยู่สี่คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็กษัตริย์บางพระองค์ ในโลกนี้ มีปรกติฆ่าสัตว์ มีปรกติ ลักทรัพย์ มีปรกติประพฤติผิดในกามทั้งหลาย มีปรกติพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ละโมบมาก คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นผิด

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใด เป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล เป็นธรรมมีโทษ นับว่าเป็นธรรมมีโทษ เป็นธรรมไม่ควร เสพ นับว่าเป็นธรรมไม่ควรเสพ ไม่ควรเป็นอริยธรรม นับว่าไม่ควรเป็น อริยธรรมเป็น ธรรมดำ มีวิบากดำ วิญญูชนติเตียน อกุศลธรรมเหล่านั้น มีปรากฏอยู่แม้ ในกษัตริย์ บางพระองค์ในโลกนี้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้พราหมณ์บางคน ในโลกนี้ ฯลฯ แม้แพศย์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้ศูทรบางคนในโลกนี้ มีปรกติฆ่าสัตว์ มีปรกติลักทรัพย์มีปรกติประพฤติผิด ในกามทั้งหลาย มีปรกติพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อละโมภมาก คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นผิด

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใด เป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล เป็นธรรมมีโทษ นับว่าเป็นธรรมมีโทษ เป็นธรรมไม่ควร เสพ นับว่าเป็นธรรมไม่ควรเสพ ไม่ควรเป็นอริยธรรม นับว่าไม่ควรเป็นอริยธรรม เป็นธรรมดำ มีวิบากดำ วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านั้นมีปรากฎอยู่แม้ในศูทร บางคนในโลกนี้ ฯ

            [๕๓] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ฝ่ายกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาด จากการลักทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจาก การประพฤติผิดในกาม เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ เป็นผู้เว้นขาดจากการพูด ส่อเสียด เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่ละโมภมาก ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นชอบ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ

            ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล เป็นธรรม ไม่มีโทษ นับว่าเป็นธรรมไม่มีโทษ เป็นธรรมที่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมที่ ควรเสพควรเป็นอริยธรรม ควรนับว่าเป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว มีวิบากขาว วิญญูชนสรรเสริญธรรมเหล่านั้น มีปรากฏอยู่แม้ในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้พราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ แม้แพศย์ บางคน ในโลกนี้ ฯลฯ แม้ศูทรบางคน ในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ไม่ ละโมภมาก ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นชอบ ด้วยประการ ดังที่กล่าวมานี้แล

            ธรรมเหล่าใดที่เป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล เป็นธรรมไม่มีโทษ นับว่าเป็นธรรม ไม่มีโทษ เป็นธรรมที่ควรเสพ นับว่า เป็นธรรมที่ควรเสพ ควรเป็นอริยธรรม นับว่า ควรเป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว มีวิบากขาว วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านั้น มีปรากฏอยู่แม้ในศูทรบางคนในโลกนี้

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็เมื่อวรรณะ ทั้งสี่เหล่านี้แล รวมเป็นบุคคล สองจำพวกคือพวกที่ตั้งอยู่ในธรรมดำ วิญญูชนติเตียนจำพวกหนึ่ง พวกที่ตั้งอยู่ใน ธรรมขาว วิญญูชนสรรเสริญจำพวกหนึ่ง เช่นนี้ ไฉนพวกพราหมณ์ จึงพากันอวดอ้าง อยู่อย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พวกพราหมณ์ เป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ พราหมณ์พวกเดียวเป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม ดังนี้เล่า ท่านผู้รู้ ทั้งหลายย่อมไม่รับรองถ้อยคำของพวกเขา ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ เพราะว่า บรรดาวรรณะทั้งสี่เหล่านั้น ผู้ใดเป็น ภิกษุสิ้นกิเลสและอาสวะแล้ว อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ได้วางภาระเสีย แล้วลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว สิ้นเครื่องเกาะเกี่ยว ในภพแล้ว หลุดพ้นไปแล้วเพราะรู้โดยชอบผู้นั้น ปรากฏว่าเป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลาย โดยชอบธรรมแท้ มิได้ ปรากฎโดยไม่ชอบธรรมเลย ด้วยว่าธรรมเป็นของประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า
             ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยบรรยาย นี้แล เธอทั้งสองพึงทราบเถิดว่า ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุด ในหมู่ชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า

            [๕๔] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ทรงทราบ แน่ชัดว่าพระสมณโคดมผู้ยอดเยี่ยม ได้ทรง ผนวชจากศากยตระกูล ดังนี้
            ดูกรวาเสฏฐะ และภารทวาชะ ก็พวกศากยตระกูล ยังต้องเป็นผู้โดยเสด็จ พระเจ้า ปัสเสน ทิโกศลอยู่ทุกๆ ขณะและพวกเจ้าศากยะต้องทำการนอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมในพระเจ้าปัสเสนทิโกศลอยู่

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล พวกเจ้าศากยะ ยังต้องกระทำการนอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมอันใด อยู่ในพระเจ้าปัสเสนทิโกศลแต่งถึงกระนั้น กิริยาที่นอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรม อันนั้นพระเจ้าปัสเสนทิโกศล ก็ยังทรงกระทำ อยู่ใน ตถาคต ด้วยทรงถือว่า พระสมณโคดม เป็นผู้มีพระชาติสูง เรามีชาติต่ำกว่า พระสมณโคดม เป็นผู้มีพระกำลัง เรามีกำลังน้อยกว่า พระสมณโคดม เป็นผู้มีคุณ น่าเลื่อมใส เรามีคุณน่าเลื่อมใสน้อยกว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สูงศักดิ์ เราเป็นผู้ ต่ำศักดิ์กว่า ดังนี้ แต่ที่แท้ พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไหว้ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ในตถาคตอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะโดยปริยายนี้แล เธอทั้งสองพึงทราบเถิดว่า ธรรม เท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า

            [๕๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า ดูกรวาเสฏฐะ และ ภารทวาชะ เธอทั้งสองคนมีชาติก็ต่างกัน มีชื่อก็เพี้ยนกัน มีโคตรก็แผกกัน มีตระกูลก็ผิดกัน พากันทิ้งเหย้าเรือนเสีย มาบวชเป็นบรรพชิต เมื่อจะมีผู้ถามว่า ท่านทั้งสองนี้เป็น พวกไหน เธอทั้งสองพึงตอบเขาว่าข้าพเจ้าทั้งสอง เป็นพวกพระสมณศากยบุตร ดังนี้เถิด

             ดูกรวาเสฏฐะ และ ภารทวาชะ ก็ผู้ใดแลมีศรัทธาตั้งมั่นเกิดขึ้นแล้วแต่ รากแก้วคืออริยมรรค ประดิษฐานมั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดามารพรหม หรือผู้ใด ผู้หนึ่งในโลก ไม่พรากไปได้ ควรเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ เกิดแต่พระโอฐ ของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดแต่พระธรรม เป็นผู้ที่พระธรรม เนรมิตขึ้น เป็นผู้รับมรดก พระธรรม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำว่า ธรรมกาย ก็ดี ว่าพรหมกาย ก็ดี ว่าธรรมภูต ก็ดี ว่าพรหมภูต ก็ดี เป็นชื่อของตถาคต

            [๕๖] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยล่วง ระยะ กาลยืดยาวช้านานที่โลกนี้ จะพินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่า สัตว์ย่อม เกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็น อาหาร มีรัศมีซ่าน ออกจากกายตนเองสัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิต อยู่ในภพนั้น สิ้นกาล ยืดยาว ช้านาน

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้ง บางคราว โดยระยะกาลยืดยาว ช้านาน ที่โลกนี้จะกลับเจริญเมื่อโลก กำลังเจริญ อยู่โดยมาก เหล่าสัตว์พากันจฺติ จากชั้นอาภัสสรพรหมลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์นั้น ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศอยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ ในภพนั้นสิ้นกาล ยืดยาวช้านาน

             ก็แหละ สมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้แลเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงจันทร์และ ดวงอาทิตย์ ก็ยังไม่ปรากฎ ดวงดาวนักษัตร ทั้งหลาย ก็ยังไม่ปรากฎ กลางวันกลาง คืนก็ยังไม่ปรากฎ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือน ก็ยังไม่ปรากฎฤดูและปี ก็ยังไม่ปรากฎ เพศชายและเพศหญิง ก็ยังไม่ปรากฎสัตว์ทั้งหลาย ถึงซึ่งอัน นับเพียงว่าสัตว์เท่านั้น

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา โดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำทั่วไป ได้ปรากฎ แก่สัตว์เหล่านั้นเหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยว ให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ฉะนั้นง้วนดินนั้นถึงพร้อม ด้วยสี กลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใสหรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น มีรสอร่อยดุจรวงผึ้ง เล็กอันหาโทษมิได้ ฉะนั้น

.......................

(อ่านต่อ เรื่องง้วนดิน P113 )




(3)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๑

เรื่องของสามเณรจุนทะ
(ปาสาทิกสูตร)
..................

 

            [๙๕] ครั้งนั้น สามเณรจุนทะ อยู่จำพรรษาในเมืองปาวา ได้เข้าไปหาท่าน พระอานนท์ ซึ่งอยู่ในสามคาม ครั้นกราบไหว้ ท่านพระอานนท์แล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิครณฐ์นาฏบุตร ทำกาละแล้ว ที่เมืองปาวาไม่นานนัก เพราะกาลกิริยาของนิครณฐ์ นาฏบุตรนั้น พวกนิครณฐ์ แตกกันแล้ว เกิดแยกกันเป็นสองพวก ฯลฯ โดยเหตุที่ธรรม วินัย อันนิครณฐ์นาฏบุตร กล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมวินัยที่ จะนำ ผู้ปฏิบัติ ให้ออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่ใช่ธรรมวินัยที่ ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยมีที่พำนักอันทำลายเสียแล้ว เป็นธรรมวินัย ไม่มีที่พึ่งพาอาศัย

            เมื่อสามเณรจุนทะกล่าวแล้วอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะ สามเณร จุนทะว่า อาวุโสจุนทะ มีมูลเหตุแห่งถ้อยคำนี้ เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าละ อาวุโส จุนทะ มาเถิดเราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ครั้นแล้ว พึงทูลบอก เรื่องนี้ แด่พระผู้มีพระภาค สามเณรจุนทะรับคำของท่านพระอานนท์ แล้ว

            ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์ และสามเณรจุนทะ ได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สามเณรจุนทะนี้ ได้บอกอย่างนี้ว่า

            ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิครณฐ์นาฏบุตรทำกาละแล้วที่เมืองปาวาไม่นานนัก เพราะ กาลกิริยา ของนิครณฐ์นาฏบุตรนั้น พวกนิครณฐ์นาฏบุตรแตกกัน เกิดแยกกัน เป็นสองพวก ฯลฯ

            โดยเหตุที่ธรรมวินัย อันนิครณฐ์นาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมวินัย ที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไป จากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่ใช่ธรรมวินัย ที่ท่านผู้เป็น สัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ เป็นธรรมวินัย มีที่พำนัก อันทำลายเสียแล้ว เป็นธรรมวินัยไม่มีที่พึ่งพาอาศัยดังนี้

            [๙๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรจุนทะ ข้อนี้ย่อมมีได้อย่างนั้น ในธรรมวินัย ที่ศาสดา กล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมวินัยที่จะนำผู้ ปฏิบัติให้ออกไป จากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่ใช่ธรรมวินัยที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ ประกาศไว้ อย่างนี้แล

            ดูกรจุนทะ ศาสดาในโลกนี้ไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะ และธรรมก็เป็นธรรม อัน ศาสดานั้น กล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจาก ทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่ใช่ธรรมที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ ประกาศไว้ แต่สาวกไม่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่เป็นผู้ประพฤติ ตามธรรม และย่อม ประพฤติหลีกเลี่ยงจากธรรมนั้น สาวกนั้นเป็นผู้ อันใครๆ พึงกล่าว อย่างนี้ว่า

            ดูกรอาวุโส เป็นลาภของท่านนั้นละ ท่านนั้นได้ดีแล้ว ศาสดาของท่าน ไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะ และธรรมเล่า ก็เป็นธรรมที่ศาสดานั้นกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความ สงบระงับ มิใช่ธรรมที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ แต่ท่านไม่เป็นผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ไม่เป็นผู้ ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่เป็นผู้ประพฤติตามธรรม และย่อมประพฤติ หลีกเลี่ยงจากธรรมนั้น ด้วยเหตุดังนี้แล

            จุนทะ แม้ศาสดาก็เป็นผู้ควรติเตียนในธรรมนั้น แม้ธรรมก็ควรติเตียนใน ธรรมนั้น ส่วนสาวกควรสรรเสริญใน ธรรมนั้น อย่างนี้ ดูกรจุนทะผู้ใดแลพึงกล่าวกะ สาวก เห็นปานนั้นอย่างนี้ว่า ท่านงมาปฏิบัติตามธรรม ที่ศาสดาของท่านแสดง แล้ว บัญญัติ ไว้แล้วเถิด ผู้ที่ชักชวน ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วย่อมปฏิบัติเพื่อความเป็น อย่างนั้น คนทั้งหมดนั้น จะประสบสิ่ง ที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            ดูกรจุนทะ เพราะว่าข้อนี้ย่อมมีใน ธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ ไม่ดี ไม่เป็นธรรมวินัยที่จะนำผู้ปฏิบัติ ให้ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อ ความสงบระงับ มิใช่ธรรมวินัยที่ท่านผู้เป็น สัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ อย่างนี้แล

            [๙๗] ดูกรจุนทะ อนึ่ง ศาสดาในโลกนี้ไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะ และธรรมเล่า ก็เป็น ธรรมอันศาสดานั้น กล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมที่จะ นำผู้ปฏิบัติให้ ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ มิใช่ธรรมที่ท่าน ผู้เป็นสัมมา สัมพุทธะ ประกาศไว้ และสาวกก็เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม เป็นผู้ ปฏิบัติชอบยิ่ง เป็นผู้ประพฤติตามธรรม ย่อมสมาทานธรรมนั้นประพฤติ สาวก นั้นเป็นผู้อันใครๆ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า

            ดูกรอาวุโส ไม่เป็นลาภของท่านนั้น ท่านนั้นได้ไม่ดีแล้ว ด้วยว่า ศาสดา ของท่าน ไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะ และธรรมเล่าก็เป็นธรรมที่ศาสดานั้นกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติ ให้ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความ สงบระงับ มิใช่ธรรมที่ท่านผู้เป็นสัมมา สัมพุทธะประกาศไว้ ทั้งตัวท่านก็เป็นผู้ ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง เป็นผู้ประพฤติตามธรรม ย่อมสมาทานธรรม นั้น ประพฤติด้วยเหตุดังนี้แล

            จุนทะ แม้ศาสดาก็เป็นผู้ควรติเตียนในธรรมนั้น แม้ธรรมก็ควรติเตียนใน ธรรมนั้น แม้สาวกก็เป็นผู้ควรติเตียนในธรรมนั้นอย่างนี้ ดูกรจุนทะ ผู้ใดแลพึงกล่าวกะ สาวก เห็นปานนั้นอย่างนี้ว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อธรรม ควรรู้ จักยังธรรมอันควร รู้ให้สำเร็จได้โดยแท้ ผู้ที่สรรเสริญ ผู้ที่ได้รับสรรเสริญ ผู้ที่ได้รับสรรเสริญแล้ว ปรารภความเพียร โดยประมาณยิ่ง คนทั้งหมดนั้น จะประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            ดูกรจุนทะ เพราะว่าข้อนี้ย่อมมีในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมวินัย ที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อ ความสงบระงับ มิใช่ธรรมวินัย ที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ ประกาศไว้ อย่างนี้แล

(อ่านต่อ P1170)




(4)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๘

เรื่องของสามเณรจุนทะ
จุนทสูตร ว่าด้วยการปรินิพพานของพระสารีบุตร

            [๗๓๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็ในสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร อยู่ ณ บ้านนาฬกคาม ในแคว้นมคธ อาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา สามเณรจุนทะ เป็นอุปัฏฐากของท่าน ครั้งนั้นท่านพระสารีบุตรปริ นิพพานด้วยอาพาธ นั่นแหละ.

            [๗๓๔] ครั้งนั้น สามเณรจุนทะ ถือเอาบาตร และจีวรของท่านพระสารีบุตร เข้าไปหา พระอานนท์ ยังพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี นมัสการท่านพระอานนท์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตร ปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรอาวุโสจุนทะ นี้เป็นมูลเรื่องที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค มีอยู่ มาไปกันเถิด เราจักเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระองค์ สามเณรจุนทะ รับคำของท่านพระอานนท์แล้ว.

            [๗๓๕] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์กับสามเณรจุนทะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สามเณรจุนทะรูปนี้ ได้บอกอย่างนี้ว่า ท่านพระสารีบุตร ปรินิพพานแล้ว นี้บาตร และ จีวรของท่าน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายของข้าพระองค์ประหนึ่ง จะงอมงมไป แม้ทิศทั้งหลาย ก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ เพราะได้ฟังว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว.

            [๗๓๖] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ สารีบุตรพาเอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ หรือวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ปรินิพพานไปด้วยหรือ?

            ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า ท่านพระสารีบุตร มิได้พา ศีลขันธ์ ปรินิพพานไปด้วย ฯลฯ มิได้พาวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ปรินิพพานไปด้วย ก็แต่ว่าท่านพระสารีบุตร เป็นผู้กล่าวแสดงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ไม่เกียจคร้านในการแสดงธรรม อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ข้าพระองค์ทั้งหลายมาตามระลึกถึง โอชะแห่งธรรมธรรมสมบัติ และการอนุเคราะห์ ด้วยธรรมนั้น ของท่านพระสารีบุตร.

            [๗๓๗] พ. ดูกรอานนท์ ข้อนั้น เราได้บอกเธอทั้งหลายไว้ก่อน แล้ว ไม่ใช่หรือว่า จักต้องมีความจาก ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรัก ของชอบใจทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหน? สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

            [๗๓๘] ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนเมื่อต้นไม้ใหญ่ มีแก่น ตั้งอยู่ ลำต้นใด ซึ่งใหญ่กว่าลำต้นนั้นพึงทำลายลง ฉันใด เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ซึ่งมีแก่น ดำรงอยู่ สารีบุตรปรินิพพานแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในข้อนี้แต่ที่ไหน? สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้วปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลยดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่งอย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็น ที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด.

            [๗๓๙] ดูกรอานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชญา และโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิต ในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรอานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่อย่างนี้แล.

            [๗๔๐] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุพวกใดพวกหนึ่ง ในบัดนี้ก็ดี ในกาลที่เราล่วงไป ก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ พวกภิกษุเหล่านี้นั้น ที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา จักเป็นผู้เลิศ.




(5)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้าที่ ๑๓๕ - ๑๓๙

เรื่องของสามเณรราหูล
(พระราหุลกุมารทรงผนวชเป็นสามเณร)

            [๑๑๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้ว เสด็จจาริกไปทางพระนคร กบิลพัสดุ์ เสด็จเที่ยวจาริก โดยลำดับ ถึงพระนครกบิลพัสดุ์ แล้ว.ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ สักกชนบทนั้น.

            ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรง อันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรจีวร เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่ พระราชนิเวศน์ ของพระเจ้าสุทโธทนศากยะ ครั้นแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ ที่เขาปูลาดถวาย.

            ครั้งนั้นพระเทวีราหุลมารดา ได้มีพระเสาวนีแก่ราหุลกุมารว่า ดูกรราหุล พระสมณะนั้น เป็นบิดาของเจ้า เจ้าจงไปทูลขอทรัพย์มรดกต่อพระองค์ จึงราหุลกุมาร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้ว ได้ประทับยืน เบื้องพระพักตร์ พระผู้มีพระภาค พลางกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะพระฉายา ของพระองค์เป็นสุข.

            ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จ อุฏฐาการ จากพระพุทธอาสน์แล้วกลับไป จึงราหุลกุมารได้ตามเสด็จพระผู้มีพระภาค ไปเบื้องหลังๆ พลางทูลขอว่า ข้าแต่พระสมณะ ขอได้โปรดประทานทรัพย์มรดก แก่หม่อมฉัน ข้าแต่พระสมณะ ขอได้โปรดประทาน ทรัพย์มรดกแก่หม่อมฉัน.

            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกท่านพระสารีบุตร มารับสั่งว่า ดูกรสารีบุตร ถ้าเช่นนั้นเธอจงให้ราหุลกุมารบวช.

            ท่านพระสารีบุตรทูลถามว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะให้ราหุลกุมาร ทรงผนวช อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า?

            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต การบวชกุลบุตร เป็นสามเณรด้วย ไตรสรณคมน์*

* ไตรสรณาคมน์ หรือ ไตรสรณคมน์ แปลว่า การถึงสรณะ ๓ หมายถึงการเข้าถึง หรือ การรับพระรัตนตรัย มาเป็นที่พึ่งที่ระลึก. พระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์.
คำ “ไตร” แปลว่า สาม
คำ “สรณะ” แปลว่า ที่พึ่งที่ระลึก
คำ “คมน์” แปลว่า การไป การถึง
พุทธศาสนิกชนจะเปล่งวาจาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกนึกถึง ว่า “พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ”. และจะกล่าวคำขอนี้อีกเป็นครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์