เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  ง้วนดิน (กำเนิดสัตว์ กำเนิดโลกธาตุ) ตรัสกับ สามเณรวาเสฏฐะ กับ ภารทวาชะ 113  
 


ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
หน้าที่ ๖๕

อัคคัญญสูตร ที่ ๔  (ง้วนดิน-กำเนิดโลกธาตุ)

(ง้วนดินแบบคัดย่อ P614)

กำเนิดสัตว์


    [๕๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสองคนมี ชาติก็ต่างกัน มีชื่อก็ เพี้ยนกัน มีโคตรก็แผกกัน มีตระกูลก็ผิดกัน พากันทิ้งเหย้าเรือนเสีย มาบวชเป็นบรรพชิต เมื่อจะมีผู้ถามว่า ท่านทั้งสองนี้เป็น พวกไหน เธอทั้งสองพึงตอบเขาว่า ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นพวกพระสมณศากยบุตร ดังนี้เถิด

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ผู้ใดแลมีศรัทธาตั้งมั่นเกิดขึ้นแล้วแต่  รากแก้วคืออริยมรรค ประดิษฐานมั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดามาร พรหม หรือผู้ใดผู้หนึ่งในโลก ไม่พรากไปได้ ควรเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุตรเกิดแต่ พระอุระเกิดแต่พระโอฐของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดแต่ พระธรรม เป็นผู้ที่พระธรรม เนรมิตขึ้น เป็นผู้รับมรดก พระธรรม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ คำว่าธรรมกาย ก็ดี ว่าพรหมกายก็ดี ว่าธรรมภูตก็ดี ว่าพรหมภูตก็ดี เป็นชื่อของตถาคต ฯ 

     [๕๖] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยล่วง  ระยะกาล ยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้จะพินาศเมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่า
สัตว์ย่อมเกิดใน ชั้น อาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จ ทางใจ มีปีติ เป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจาก กาย ตนเอง สัญจรไปได้ ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ใน ภพนั้นสิ้นกาล ยืดยาวช้านาน

ดูกรวาเสฏฐะ และภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้ จะกลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญ อยู่โดยมาก เหล่าสัตว์พากันจุติจากชั้นอาภัสสรพรหม ลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์นั้น ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกาย ตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศอยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน


กำเนิดโลกธาตุ


ก็แหละสมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้ แลเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงจันทร์ และ ดวงอาทิตย์ ก็ยังไม่ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ยังไม่ปรากฏ กลางวันกลาง คืนก็ยัง ไม่ปรากฏ เดือนหนึ่ง และกึ่งเดือน ก็ยังไม่ปรากฏฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฏเพศชาย และ เพศหญิงก็ยังไม่ปรากฏสัตว์ทั้งหลาย ถึงซึ่งอันนับเพียงว่าสัตว์ เท่านั้น

กำเนิดง้วนดิน

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมาโดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านาน
เกิด ง้วนดินลอยอยู่บนน้ำ ทั่วไปได้ ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้น เหมือนนมสด ที่บุคคลเคี่ยวให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝ้า อยู่ข้างบน ฉะนั้น ง้วนดิน นั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีคล้าย เนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ ฉะนั้น

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมามีสัตว์ผู้หนึ่งเป็นคนโลนพูดว่า ท่าน ผู้เจริญทั้งหลาย นี่จักเป็นอะไร แล้วเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดู เมื่อเขาเอา นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลอง ลิ้มดูอยู่ ง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว เขาจึงเกิดความอยากขึ้น

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สัตว์พวกอื่นก็พากันกระทำตามอย่างสัตว์นั้น เอานิ้วช้อนง้วนดิน ขึ้นลองลิ้มดู เมื่อสัตว์เหล่านั้นพากันเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดูอยู่ ง้วนดินได้ ซาบซ่านไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงเกิดความอยากขึ้น ต่อมาสัตว์เหล่านั้นพยายามเพื่อ จะปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆด้วยมือแล้วบริโภค

ดูกรเสฏฐะและภารทวาชะ ในคราวที่พวกสัตว์พยายามเพื่อจะปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ ด้วยมือ แล้วบริโภคอยู่นั้น เมื่อรัศมีกายของสัตว์เหล่านั้นก็หายไปแล้ว ดวงจันทร์และดวง อาทิตย์ก็ ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ปรากฏแล้ว ดวงดาวนักษัตรทั้งหลาย ก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรปรากฏแล้ว กลางคืนและกลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืน และกลางวันปรากฏแล้ว เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ปรากฏ เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือน ปรากฏอยู่ ฤดูและปีก็ปรากฏ    

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล โลกนี้จึงกลับเจริญขึ้นมาอีก

         [๕๗] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมาสัตว์เหล่านั้น พากันบริโภคง้วนดิน รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน ด้วยเหตุที่สัตว์เหล่านั้น มัวเพลิน บริโภคง้วนดินอยู่ รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาล ช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสอง พวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงามนั้นพากันดูหมิ่น     

สัตว์พวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามีผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวกท่านมีผิวพรรณ เลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้นเกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกันขึ้น เพราะทะนงตัว ปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย ง้วนดินก็หายไป

เมื่อง้วนดินหายไปแล้วสัตว์เหล่านั้นจึงพากันจับกลุ่ม ครั้นแล้วต่างก็บ่นถึงกันว่า รสดีจริง รสดีจริง ดังนี้ถึงทุกวันนี้ ก็เหมือนกัน คนเป็นอันมากได้ของที่มีรสดีอย่างใดอย่างหนึ่ง มักพูดกันอย่างนี้ว่า รสอร่อยแท้ๆ รสอร่อย แท้ๆ ดังนี้ พวกพราหมณ์ ระลึกได้ถึงอักขระ ที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณนั้นเท่านั้น แต่ไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย

กำเนิดกระบิดิน

         [๕๘] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา เมื่อง้วนดินของสัตว์ เหล่านั้นหายไปแล้ว ก็เกิดมี กระบิดิน ขึ้น กระบิดินนั้นปรากฏลักษณะคล้ายเห็ด กระบิดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่นรส มีสีเหมือนเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น ได้มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็ก อันหาโทษ มิได้ฉะนั้น

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นสัตว์เหล่านั้นพยายามจะบริโภค กระบิดิน สัตว์เหล่านั้น บริโภคกระบิดินอยู่ รับประทานกระบิดิน มีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลนาน

กำเนิดเครือดิน

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยประการที่สัตว์เหล่านั้นบริโภคกระบิดินอยู่ รับประทาน กระบิดิน มีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้า ขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวก มีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองจำพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงาม พากันดูหมิ่นสัตว์พวก ที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามีผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวกท่านมีผิวพรรณ เลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้น เกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกันขึ้น เพราะทะนงตัวปรารภ ผิวพรรณ เป็นปัจจัย กระบิดินก็หายไป เมื่อกระบิดินหายไปแล้วก็เกิดมี เครือดิน ขึ้น ครือดิน นั้น ปรากฏคล้ายผลมะพร้าว ทีเดียว เครือดินนั้น ถึงพร้อมด้วยสี รส กลิ่น มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น ได้มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็ก อันหาโทษมิได้ฉะนั้น ฯ

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นสัตว์เหล่านั้นพยายามจะบริโภคเครือดิน สัตว์เหล่านั้น บริโภคเครือดินอยู่ รับประทานเครือดิน มีเครือดินเป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้น กาลช้านาน โดยประการที่สัตว์ เหล่านั้นบริโภคเครือดินอยู่ รับประทานเครือดิน มีเครือดินนั้นเป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นกาลช้านาน

ผิวพรรณต่างกัน


สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป สัตว์บาง พวก มีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองพวกนั้น สัตว์พวกที่มี ผิวพรรณงาม พากันดูหมิ่นพวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามีผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวกท่าน มีผิวพรรณเลวกว่าพวกเรา

ดังนี้เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้นเกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกัน เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณ เป็น ปัจจัย เครือดินก็ายไป เมื่อเครือดินหายไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นก็พากันจับกลุ่ม ครั้นแล้วต่าง ก็บ่นถึงกันว่าเครือดินได้เคยมีแก่พวกเราหนอ เดี๋ยวนี้เครือดินของพวกเราได้สูญหาย เสียแล้วหนอ ดังนี้

ถึงทุกวันนี้ก็เหมือนกัน คนเป็นอันมากพอถูกความระทมทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งมากระทบ ก็มักบ่นกัน อย่างนี้ว่า สิ่งของของเราทั้งหลายได้เคยมีแล้วหนอ แต่เดี๋ยวนี้ สิ่งของของเรา ทั้งหลายได้มา สูญหายเสียแล้วหนอดังนี้ พวกพราหมณ์ ระลึกได้ถึงอักขระที่รู้กันว่าเป็น ของดี เป็นของโบราณนั้น เท่านั้นแต่ไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่ง อักขระนั้นเลย ฯ

กำเนิดข้าวสาลี

            [๕๙] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา เมื่อเครือดินของสัตว์เหล่านั้น หายไปแล้ว ก็เกิดมี ข้าวสาลี ขึ้นเองในที่ที่ไม่ต้องไถ เป็นข้าวไม่มีรำ ไม่มีแกลบขาวสะอาด กลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ตอนเย็นสัตว์ เหล่านั้นนำเอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อบริโภค ในเวลาเย็น ตอนเช้าข้าวสาลี ชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุก ก็งอกขึ้นแทนที่ ตอนเช้าเขาพากันไป นำเอาข้าวสาลีใด มาเพื่อบริโภคในเวลา เช้า ตอนเย็นข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ด สุกแล้ว ก็งอกขึ้นแทนที่ ไม่ปรากฏว่าบกพร่องไปเลย

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นพวกสัตว์บริโภคข้าวสาลีที่เกิดขึ้นเองในที่ที่ไม่ต้องไถ พากันรับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหารดำรงมาได้สิ้นกาลช้านาน ก็โดยประการที่สัตว์ เหล่านั้นบริโภคข้าวสาลี อันเกิดขึ้นเองอยู่ รับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้น เป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นการช้านาน

กำเนิดเพศหญิง-เพศชาย

สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันออกไป สตรีก็มีเพศ หญิงปรากฏ และ บุรุษก็มีเพศชายปรากฏ นัยว่าสตรีก็เพ่งดูบุรุษอยู่เสมอ และบุรุษก็เพ่งดูสตรีอยู่เสมอ เมื่อคนทั้งสองเพศ ต่างก็เพ่งดูกันอยู่เสมอ ก็เกิดความ กำหนัดขึ้น เกิดความเร่าร้อนขึ้นในกาย เพราะความเร่าร้อนเป็นปัจจัย เขาทั้งสองจึงเสพ เมถุนธรรมกัน

การวิวาทโดยการโปรยฝุ่น

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็โดยสมัยนั้นแล สัตว์พวกใดเห็นพวกอื่นเสพเมถุนธรรม กันอยู่ ย่อมโปรยฝุ่นใส่บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่บ้าง พร้อมกับพูดว่า คนชาติชั่ว จงฉิบหาย คนชาติชั่ว จงฉิบหาย ดังนี้ แล้วพูดต่อไปว่า ก็ทำไมขึ้นชื่อว่าสัตว์ จึงทำแก่สัตว์ เช่นนี้เล่าข้อที่ว่ามานั้น จึงได้เป็นธรรมเนียมมาจนถึงทุกวันนี้ ในชนบทบางแห่งคนทั้งหลาย โปรยฝุ่นใส่บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่บ้าง ในเมื่อเขาจะนำสัตว์ที่ ประพฤติชั่วร้าย ไปสู่ตะแลงแกง พวกพราหมณ์มาระลึกถึงอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี อันเป็นของ โบราณนั้น เท่านั้น แต่พวกเขา ไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย ฯ

         [๖๐] ดูกรวาเสฏฐะและภารวาชะ ก็สมัยนั้นการโปรยฝุ่นใส่กันเป็นต้นนั้นแล สมมติ กันว่าไม่เป็นธรรม มาในบัดนี้ สมมติกันว่าเป็นธรรมขึ้น ก็สมัยนั้นสัตว์พวกใด เสพเมถุนกัน สัตว์พวกนั้น เข้าบ้านหรือนิคมไม่ได้ สิ้นสองเดือนบ้าง สามเดือนบ้าง

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อใดแล สัตว์ทั้งหลายพากันเสพ อสัทธรรม นั่นอยู่เสมอ เมื่อนั้น จึงพยายามสร้างเรือนกันขึ้น เพื่อเป็นที่กำบังอสัทธรรมนั้น ครั้งนั้นสัตว์ผู้หนึ่ง เกิดความเกียจคร้านขึ้น จึงได้มีความเห็นอย่างนี้ว่า

ดูกรท่านผู้เจริญ เราช่างลำบากเสียนี่กระไร ที่ต้องไปเก็บข้าวสาลี มาทั้งในเวลาเย็น สำหรับอาหารเย็น ทั้งในเวลาเช้าสำหรับอาหารเช้า อย่ากระนั้นเลย เราควรไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้ เพื่อบริโภคทั้งเย็นทั้งเช้าเสีย คราวเดียวเถิด    

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อแต่นั้นมา สัตว์ผู้นั้นก็ไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภค ทั้งเย็น ทั้งเช้าเสียคราวเดียวกันฉะนี้แล ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นสัตว์ผู้หนึ่ง เข้าไปหาสัตว์ ผู้นั้นแล้วชวนว่า

ดูกรสัตว์ผู้เจริญมาเถิด เราจักไปเก็บข้าวสาลีกัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ฉันไปเก็บ เอาข้าวสาลี มาไว้เพื่อบริโภคพอทั้งเย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวแล้ว ต่อมา สัตว์ผู้นั้นถือตามแบบอย่างของสัตว์ผู้นั้น จึงไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้คราวเดียว เพื่อสองวัน แล้วพูดว่า ได้ยินว่า แม้อย่างนี้ก็ดี เหมือนกันท่านผู้เจริญ

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมาสัตว์อีกผู้หนึ่ง เข้าไปหาสัตว์ผู้นั้น แล้วชวนว่า ดูกรสัตว์ ผู้เจริญ มาเถิด เราจักไปเก็บข้าวสาลีกัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ฉันไปเก็บเอา ข้าวสาลี มาไว้เพื่อ บริโภคพอทั้ง เย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวแล้ว ฯ

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้นั้นถือตามแบบอย่างของ สัตว์นั้นจึงไปเก็บ เอาข้าวสาลีมาไว้ คราวเดียว เพื่อสี่วัน แล้วพูดว่า แม้อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน ท่านผู้เจริญ

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมาสัตว์อีกผู้หนึ่งเข้าไปหาสัตว์ผู้นั้น แล้วชวนว่าดูกรสัตว์ ผู้เจริญ มาเถิด เราจัก ไปเก็บข้าวสาลี กัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ ไปเก็บข้าวสาลีมาไว้คราวเดียวเพื่อสี่วันแล้ว ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้นั้นถือตามแบบอย่างของสัตว์ นั้นจึงไปเก็บ ข้าวสาลีมาไว้คราวเดียวเพื่อแปดวัน แล้วพูดว่าแม้อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน ท่านผู้เจริญ เมื่อใดสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นพยายามเก็บข้าวสาลี สะสมไว้เพื่อบริโภค กันขึ้น เมื่อนั้นแล ข้าวสาลีนั้นจึงกลายเป็นข้าวมีรำห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้ว ก็ไม่กลับงอกแทน ปรากฏว่าขาดเป็นตอนๆ (ตั้งแต่นั้นมา) จึงได้มีข้าวสาลีเป็น กลุ่มๆ ฯ

         [๖๑] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ในครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นพากันมาจับกลุ่ม ครั้น แล้วต่าง ก็มาปรับทุกข์กันว่า ดูกรท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้เกิดมีธรรมทั้งหลายอันเลวทราม ปรากฏขึ้นในสัตว์ ทั้งหลายแล้ว ด้วยว่าเมื่อก่อนพวกเราได้เป็นผู้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็น อาหาร มีรัศมีซ่าน ออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงามสถิตอยู่ ในวิมานนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน บางครั้งบางคราวโดยระยะยืดยาวช้านาน เกิดง้วนดิน ลอยขึ้นบนน้ำทั่วไปแก่เราทุกคน   

ง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเราทุกคนพยายามปั้นง้วนดินกระทำให้เป็นคำๆ ด้วยมือ ทั้งสองเพื่อจะบริโภค เมื่อพวกเราทุกคน พยายามปั้นง้วนดินกระทำให้เป็นคำๆ ด้วยมือทั้งสอง เพื่อจะบริโภคอยู่ รัศมีกายก็หายไป เมื่อรัศมีกายหายไปแล้ว ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏขึ้น เมื่อดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้นแล้ว ดาวนักษัตรทั้งหลาย ก็ปรากฏขึ้น

เมื่อดวงดาวนักษัตรทั้งหลายปรากฏขึ้นแล้ว กลางคืนและกลางวันก็ปรากฏขึ้น เมื่อกลางคืน และกลางวันปรากฏขึ้นแล้ว เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ปรากฏขึ้น เมื่อเดือนหนึ่ง และกึ่งเดือน ปรากฏขึ้นแล้ว

ฤดูและปีก็ปรากฏพวกเราทุกคนบริโภคง้วนดินอยู่ รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงชีพ อยู่ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏ ขึ้นแก่พวกเรา ง้วนดินจึงหายไป เมื่อง้วนดินหายไปแล้ว จึงมีกระบิดินปรากฏขึ้น 

กระบิดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเราทุกคนบริโภคกระบิดิน เมื่อพวกเราทุกคนบริโภค กระบิดินนั้นอยู่ รับประทานกระบิดิน มีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะ มีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้า ปรากฏขึ้นแก่พวกเรา กระบิดินจึงหายไป

เมื่อกระบิดินหายไปแล้ว จึงมีเครือดินปรากฏขึ้น เครือดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเรา ทุกคนพยายามบริโภคเครือดิน เมื่อพวกเราทุกคนบริโภคเครือดินนั้นอยู่ รับประทานเครือดิน มีเครือดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล ชั่วช้า ปรากฏขึ้นแก่พวกเรา เครือดินจึงหายไป 

เมื่อเครือดินหายไปแล้ว จึงมีข้าวสาลีปรากฏขึ้นเองในที่ไม่ต้องไถ เป็นข้าวที่ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ ขาวสะอาด กลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ตอนเย็นพวกเราทุกคนไปนำเอา ข้าวสาลีชนิดใด มาเพื่อบริโภคในเวลาเย็น  ตอนเช้าข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุก ก็งอกขึ้นแทนที่

ตอนเช้าพวกเราทุกคนไปนำเอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเช้า ตอนเย็น ข้าวสาลี ชนิดนั้น ที่มีเมล็ดสุกก็งอกขึ้นแทนที่ ไม่ปรากฏว่าบกพร่องไปเลย เมื่อพวกเราทุกคนบริโภค ข้าวสาลี ซึ่งเกิดขึ้นเองในที่ไม่ ต้องไถอยู่ รับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้ สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏขึ้นแก่พวกเรา

ข้าวสาลีนั้นจึงกลายเป็นข้าวมีรำหุ้มเมล็ดบ้าง มีแกลบห่อเมล็ดไว้บ้าง แม้ต้นที่เกี่ยวแล้ว ก็ไม่งอกขึ้นแทนที่ ปรากฏว่าขาดเป็นตอนๆ จึงได้มีข้าวสาลีเป็นกลุ่มๆ อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรมาแบ่ง ข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกันเสียเถิด   

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นแล้ว สัตว์ทั้งหลายจึงแบ่งข้าวสาลี ปักปันเขตแดนกัน

         [๖๒] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้หนึ่งเป็นคนโลภ สงวนส่วนของ ตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภคสัตว์ทั้งหลาย จึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้ตักเตือนอย่างนี้ว่า แน่ะสัตว์ผู้เจริญ ก็ท่านกระทำกรรมชั่วช้านัก ที่สงวนส่วน ของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่ เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำกรรมชั่วช้า เห็น ปานนี้อีกเลย

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์ผู้นั้นแล รับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว แม้ครั้ง  ที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ สัตว์นั้น สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค สัตว์เหล่านั้นจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้วได้ตักเตือนว่าแน่ะ สัตว์ผู้เจริญ ท่านทำกรรม อันชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเอาส่วนที่เขา ไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำ กรรมอันชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย สัตว์พวกหนึ่งประหารด้วยฝ่ามือ พวกหนึ่งประหาร ด้วยก้อนดินบ้าง พวกหนึ่งประหารด้วยท่อนไม้

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็นัยเพราะมีเหตุเช่นนั้นเป็นต้นมา การถือเอาสิ่งของ ที่เจ้าของ ไม่ได้ ให้จึงปรากฏ การติเตียนจึงปรากฏ การกล่าวเท็จจึงปรากฏการถือท่อนไม้ จึงปรากฏ ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุมกัน

ครั้นแล้ว ต่างก็ปรับทุกข์กันว่าพ่อเอ๋ย ก็การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ ให้จักปรากฏ การ ติเตียนจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏการถือท่อนไม้จัก ปรากฏในเพราะบาปธรรมเหล่าใด บาปธรรม เหล่านั้น เกิดปรากฏแล้ว ในสัตว์ทั้งหลาย

อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักสมมติสัตว์ผู้หนึ่ง ให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควร ว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียน ผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ ส่วนพวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลี ให้แก่ผู้นั้น ดังนี้  

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นแล้วสัตว์เหล่านั้นพากันเข้าไปหาสัตว์ที่สวยงามกว่า น่าดู น่าชมกว่า น่าเลื่อมใสกว่า และน่าเกรงขามมากกว่าสัตว์ทุกคนแล้ว จึงแจ้งเรื่องนี้ว่า ข้าแต่สัตว์ ผู้เจริญ มาเถิดพ่อ ขอพ่อจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ จงติเตียนผู้ที่ ควรติเตียน ได้โดยชอบ จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบเถิด ส่วนพวกข้าพเจ้าจัก แบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่พ่อ

ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ สัตว์ผู้นั้นแลรับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว จึงว่ากล่าวผู้ที่ ควรว่ากล่าวได้ โดยชอบ ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ ส่วนสัตว์เหล่านั้น ก็แบ่งส่วนข้าวlาลีให้แก่สัตว์ ที่เป็นหัวหน้านั้น ฯ

         [๖๓] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้าอัน มหาชนสมมติ ดังนี้แล อักขระว่ามหาชนสมมติจึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรก เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้าเป็นใหญ่ ยิ่งแห่งเขตทั้งหลายดังนี้แล อักขระว่ากษัตริย์ กษัตริย์จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สอง เพราะเหตุ ที่ผู้เป็นหัวหน้า ยังชน เหล่าอื่นให้สุขใจได้ โดยธรรม ดังนี้แล อักขระว่า ราชา ราชา จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สาม

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังนี้แล การบังเกิดขึ้นแห่งพวกกษัตริย์นั้น มีขึ้นได้ เพราะอักขระ ที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณอย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้น จะต่างกัน หรือ เหมือนกัน จะไม่ต่างกัน หรือ ไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไป จากธรรม

ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุด ในประชุมชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ

         [๖๔] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์บางจำพวกได้มี ความคิดขึ้น อย่างนี้ว่า พ่อเอ๋ย การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จักปรากฏ การติเตียนจักปรากฏ การกล่าวเท็จจักปรากฏ การถือท่อนไม้ จักปรากฏ การขับไล่ จักปรากฏ ในเพราะบาปธรรม เหล่าใดบาปธรรมเหล่านั้น เกิดปรากฏแล้วในสัตว์ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราควร ไปลอย อกุศลธรรมที่ชั่วช้ากันเถิด สัตว์ เหล่านั้นพากันลอยอกุศลธรรมที่ชั่วช้าแล้ว

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นพากันลอยอกุศลธรรมที่ชั่วช้าอยู่ ดังนี้แล อักขระว่าพวก พราหมณ์ๆจึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรก พราหมณ์เหล่านั้นพากันสร้าง กระท่อมซึ่งมุง และบังด้วยใบไม้ในราวป่า เพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ พวกเขาหุง ไม่มีการหุงต้ม และไม่มีการตำข้าว เวลาเย็น เวลาเช้า ก็พากันเที่ยวแสวงหา อาหารตามคามนิคมและราชธานี เพื่อบริโภคในเวลาเย็นเวลาเช้า เขาเหล่านั้น ครั้นได้อาหารแล้ว จึงพากันกลับไปเพ่งอยู่ใน กระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่าอีก

คนทั้งหลายเห็นพฤติการณ์ของพวกพราหมณ์นั้นแล้วพากันพูดอย่างนี้ว่าพ่อเอ๋ย สัตว์พวกนี้ แลพากันมาสร้าง กระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า แล้วเพ่งอยู่ในกระท่อม ซึ่งมุง และบังด้วย ใบไม้ ไม่มีการหุงต้ม ไม่มี การตำข้าวเวลาเย็น  เวลาเช้าก็พากันเที่ยวแสวงหา อาหาร ตามคามนิคม และราชธานี เพื่อบริโภคในเวลาเย็น เวลาเช้า เขาเหล่านั้นครั้นได้ อาหาร แล้วจึงพากันกลับไปเพ่ง อยู่ในกระท่อม ซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่าอีก ฯ

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุนั้นแล อักขระว่า พวกเจริญฌาน พวกเจริญฌาน ดังนี้ จึงอุบัติขึ้นเป็น อันดับที่สอง บรรดาสัตว์เหล่านั้นแล สัตว์บางพวกเมื่อไม่อาจสำเร็จ ฌานได้ที่กระท่อม ซึ่งมุงและบังด้วย ใบไม้ ในราวป่า จึงเที่ยวไปยังคาม และนิคมที่ใกล้ เคียง แล้วก็จัดทำ พระคัมภีร์มาอยู่ คนทั้งหลายเห็นพฤติการณ์ของ พวกพราหมณ์นี้นั้นแล้ว จึงพูดอย่างนี้ว่า พ่อเอ๋ย ก็สัตว์เหล่านี้ ไม่อาจสำเร็จฌานได้ที่กระท่อมซึ่งมุงและบัง ด้วยใบไม้ในทวาชะราวป่า เที่ยวไป ยังบ้าน และนิคมที่ใกล้เคียง จัดทำพระคัมภีร์ไปอยู่

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ บัดนี้พวกชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ บัดนี้พวกชนเหล่านี้ ไม่เพ่งอยู่ ดังนี้แล อักขระว่า อชฺฌายิกา อชฺฌายิกา (ผู้คงแก่เรียน) จึงอุบัติขึ้น เป็นอันดับที่สาม

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็สมัยนั้นการทรงจำการสอน การบอกมนต์ ถูกสมมติว่าเลว มาในบัดนี้ สมมติว่าประเสริฐ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล การอุบัติขึ้นแห่งพวกพราหมณ์ นั้นมีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดีเป็นของโบราณอย่างนี้แล เรื่องของสัตว์ เหล่านั้นจะต่างกัน หรือเหมือนกันจะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอก ไปจากธรรม

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความจริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในประชุมชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ

         [๖๕] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์เหล่านั้นแล สัตว์บางจำพวกยึดมั่น เมถุนธรรมแล้ว ประกอบการงานเป็นแผนกๆ เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นยึดมั่นเมถุนธรรมแล้ว ประกอบการงาน เป็นแผนกๆ นั้นแล อักขระว่า เวสฺสา เวสฺสา ดังนี้ จึงอุบัติขึ้น

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้ การอุบัติขึ้นแห่งพวกแพศย์นั้น มีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณ อย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้น จะต่างกัน หรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ฯลฯ

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล การอุบัติขึ้นแห่งพวกศูทรนั้น มีขึ้นได้ เพราะอักขระ ที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณอย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้น จะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไป จากธรรม 

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุด ในประชุมชนทั้งใน เวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ

         [๖๖] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยอยู่ ที่กษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง แพศย์บ้าง ศูทรบ้าง ตำหนิ ธรรมของตน จึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยประสงค์ว่าเราจัก เป็นสมณะ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกสมณะจะเกิดมีขึ้นได้ จากวรรณะทั้งสี่ นี้แล เรื่องของสัตว์ เหล่านั้น จะต่างกัน หรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกัน หรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ นอกไปจากธรรม ความจริงธรรมเท่านั้น เป็นของประเสริฐที่สุดในประชุมชน ทั้งในเวลาที่เห็น อยู่ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ

         [๖๗] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ก็ดี ...ศูทรก็ดี ...สมณะก็ดี ...ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฐิยึดถือการกระทำ ด้วยอำนาจ มิจฉาทิฐิ เพราะยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เป็นเหตุเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ทั้งสิ้น ฯ

         [๖๘] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี... แพศย์ก็ดี ... ศูทรก็ดี...สมณะก็ดี ..ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำ ด้วยอำนาจ สัมมาทิฐิ เพราะยึดถือ การกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

         [๖๙] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ก็ดี ... ศูทรก็ดี ...สมณะก็ดี ... มีปรกติกระทำกรรมทั้งสอง [คือสุจริตและทุจริต] ด้วยกาย มีปรกติ กระทำกรรม ทั้งสองด้วยวาจา มีปรกติ กระทำกรรมทั้งสองด้วยใจ มีความเห็นปนกัน ยึดถือ การกระทำด้วยอำนาจ ความเห็นปนกัน เพราะยึดถือการ กระทำด้วยอำนาจความเห็น ปนกัน เป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก ย่อมเสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ฯ

         [๗๐] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ก็ดี ... ศูทรก็ดี ...สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๗ แล้ว ย่อมปรินิพพานใน ปัจจุบันนี้ทีเดียว ฯ

         [๗๑] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็บรรดาวรรณะทั้งสี่นี้ วรรณะใดเป็นภิกษุ สิ้นอาสวะแล้ว มีพรหม จรรย์อยู่จบแล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ววางภาระเสียได้แล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว หมดเครื่องเกาะ เกี่ยวในภพแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ วรรณะนั้นปรากฏว่าเป็นผู้เลิศกว่า คนทั้งหลาย โดยธรรมแท้จริง มิใช่นอกไปจากธรรมเลย

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความจริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุด ใน ประชุมชน ทั้งในเวลาเห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ

         [๗๒] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สนังกุมารพรหมก็ได้ภาษิตคาถาไว้ว่า กษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นประเสริฐที่สุด ในหมู่เทวดาและมนุษย์ ฯ

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็คาถานี้สนังกุมารพรหมขับถูกไม่ผิดภาษิตไว้ถูก ไม่ผิด ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เราเห็นด้วย

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ถึงเราก็กล่าวอย่างนี้ว่ากษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุด ในหมู่ชน ผู้รังเกียจ ด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดา และมนุษย์ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์แล้ว วาเสฏฐะและภารทวาชะยินดี  ชื่นชมพระภาษิต ของพระ ผู้มีพระภาค แล้วแล ฯ

จบ อัคคัญญสูตร ที่ ๔

ง้วนดิน แบบคัดย่อ


   
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์