เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 เทวทูตสูตร เรื่องนายนิรยบาล เรื่องเทวทูต ทั้ง ๕ การลงโทษในนรก 412
 
 

(โดยย่อ)

พระศาสดาเห็นนรก
พระศาสดาเห็นเอง ด้วยทิพย์จักษุ เปรียบเหมือนผู้ยืนอยู่ระหว่างเรือน ๒ หลัง(คติ๕) เห็นมนุษย์ กำลังเข้า เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังเดินมาบ้าง กำลังเดินไปบ้าง ฉันใด เรามองเห็น หมู่สัตว์กำลัง จุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม (นัยยะคำว่าบ้าน 2 หลัง หลังหนึ่งน่าจะเป็น บ้านของผู้ที่ทำแต่ กุศลกรรม อีกหลังหลัง ทำแต่ อกุศลกรรม และแดนนรกก็น่า จะอยู่ในบ้านหลังนี้)

ในภพนรก(บ้าน2หลัง) นั้น
1.ผู้มีกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ..เป็นสัมมาทิฐิ เมื่อตาย(จากนรก) เข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ ก็มี
2.ผู้มีกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ..เป็นสัมมาทิฐิ เมื่อตายแล้ว บังเกิดในหมู่มนุษย์ ก็มี
3.ผู้มีกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ..เป็นมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงปิตติวิสัย ก็มี
4.ผู้มีกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ..เป็นมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงสัตว์เดียรัจฉาน ก็มี
5.ผู้มีกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ..เป็นมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงอบายทุคติวินิบาตนรก ก็มี

นายนิรบาล(ผู้ไต่สวน) จะสอบถามถึงเทวทูตทั้ง๕ สมัยเป็นมนุษย์

ถาม เทวทูตที่ ๑ (เกิด)
พยายม.ท่านไม่ได้เห็น เทวทูตที่ ๑ ปรากฏในหมู่มนุษย์ หรือ / สัตว์นั้น.ไม่เห็นเลยเจ้าข้า
พยายม. ท่านไม่เห็นเด็กแดงๆยังอ่อนนอนแบ เปื้อนมูตรคูถอยู่ในหมู่มนุษย์หรือ/ สัตว์นั้น. เห็นเจ้าข้า
พระยายม. ท่านนั้นรู้ความ มีสติ มีความดำริบ้างไหมว่า แม้ตัวเราก็มีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ความเกิดไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย วาจา ใจ / สัตว์นั้น. ข้าพเจ้าไม่อาจ เพราะมัวประมาท
พระยายม.ท่านไม่ได้ทำความดีเพราะมัวประมาท ดังนั้นจักถูกลงโทษ จักเสวยวิบากของบาปกรรมนั้น

ถาม เทวทูตที่ ๒
(แก่)
พยายม. ท่านไม่ได้เห็น เทวทูตที่ ๒ ปรากฏในหมู่มนุษย์ หรือ/ สัตว์นั้น. ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้าฯ
พยายม. ท่านไม่เห็นหญิงหรือชาย มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี ผู้แก่ ซี่โครงคด หลังงอ ถือไม้ เท้า งกเงิ่น ฟันหักผมหงอก หนังย่น เหี่ยว ตัวตกกระ ในหมู่มนุษย์หรือ/ สัตว์นั้น.เห็นเจ้าข้า
พยายม. ท่านนั้นรู้ความมีสติ มีความดำริบ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ความแก่ไปได้ ควรที่จะทำความดีทางกาย วาจาใจ/ สัตว์นั้น.ข้าพเจ้าไม่อาจ เพราะมัวประมาทเจ้าข้า
พยายม. ท่านไม่ได้ทำความดีเพราะมัวประมาท ดังนั้นจักถูกลงโทษ จักเสวยวิบากของบาปกรรมนั้น

ถาม เทวทูตที่ ๓
(เจ็บ)
พยายม. ท่านไม่ได้เห็น เทวทูตที่ ๓ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ/ ไม่เห็นเลย เจ้าข้า
พยายม. ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย ผู้ป่วย ทนทุกข์ เป็นไข้หนัก นอนเปื้อนมูตรคูถของตน มีคนอื่นคอยพยุงลุก พยุงเดิน ในหมู่มนุษย์หรือ / สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็นเจ้าข้า
พยายม. ท่านรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว มีความดำริบ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเจ็บป่วยเป็น ธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ ควรที่เราจะทำความดี ทางกาย ทางวาจา และทางใจ
พระยายม.ท่านไม่ได้ทำความดีเพราะมัวประมาท ดังนั้นจักถูกลงโทษ จักเสวยวิบากของบาปกรรมนั้น

ถาม เทวทูตที่ ๔ (ถูกลงทัณฑ์)
พยายม. ปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๓ กะสัตว์นั้น ว่า ท่านไม่ได้เห็น เทวทูตที่ ๔ ปรากฏในหมู่ มนุษย์หรือ/ สัตว์นั้น.ทูลว่าไม่เห็นเลย เจ้าข้า
พยายม. ท่านไม่ได้เห็นราชา จับโจรผู้ทำผิดแล้วสั่งลงโทษ ต่างชนิดกัน ๒๖ ชนิด/ เห็นเจ้าข้า
พยายม. สัตว์ที่ทำกรรมลามก ย่อมถูกลงกรรมกรณ์ต่างชนิดในปัจจุบัน จะป่วยกล่าวไปไยถึงชาติหน้า ควรที่เราจะทำความดีทางกายวาจาใจ / สัตว์นั้น.ข้าพเจ้าไม่อาจ เพราะมัวประมาทเสียเจ้าข้า
พระยายม.ท่านไม่ได้ทำความดีเพราะมัวประมาท ดังนั้นจักถูกลงโทษ จักเสวยวิบากของบาปกรรมนั้น

ถาม เทวทูตที่ ๕
(ตาย)
พยายม. ปลอบโยน เอาอกเอาใจ จึงไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๕ ว่า ท่านไม่ได้เห็น เทวทูตที่ ๕ ปรากฏ ในหมู่ มนุษย์หรือ/สัตว์นั้น. ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ
พยายม. ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย ที่ตายแล้ววันหนึ่ง หรือสองวัน หรือสามวัน ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม ในหมู่มนุษย์หรือ/ สัตว์นั้น.เห็นเจ้าข้า
พยายม. ท่านรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว มีความดำริบ้างไหมว่าแม้ตัวเราแลก็มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ / สัตว์นั้น. ข้าพเจ้า ไม่อาจ เพราะมัวประมาทเสียเจ้าข้า
พระยายม.ท่านไม่ได้ทำความดีเพราะมัวประมาท ดังนั้นจักถูกลงโทษ จักเสวยวิบากของบาปกรรมนั้น
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

การลงทัณฑ์ในชั้น นรก
๑) ตรึงตะปูเหล็กแดง ที่มือและเท้า และ กลางอก ... สัตว์นั้นจะเสวยเวทนา อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกนั้น และ ยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรม ยังไม่สิ้นสุด
๒) หล่านิรยบาล
   - จับสัตว์ ขึงพืด เอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่าง แล้วถากด้วยพร้า
   - สัตว์นั้น เทียมรถแล้วให้วิ่งกลับไปกลับมา บนแผ่นดินที่มีไฟลุกโพลง
   - ให้สัตว์ ปีนขึ้นปีนลง ภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่
   - จับสัตว์ เอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่าง แล้วพุ่งลงไปในหม้อทองแดง ที่มีไฟลุกโพลง สัตว์นั้นจะเดือดพล่านเป็นฟองอยู่ในหม้อทองแดง และยังไม่ตายตราบเท่าบาป กรรมยังไม่สิ้นสุด
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

การลงทัณฑ์ในชั้น มหานรก
- มหานรกมีกำแพงเหล็กร้อนทั้ง ๔ ด้าน เปลวไฟลุกโพลงไปร้อยโยชน์ (๑,๖๐๐ กม.)

-บางครั้งประตูนรกด้านหน้าเปิด สัตว์จะวิ่งไปทางนั้น ไฟจะไหม้ผิว ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูก จนควันตลบ แต่ร่างจะกลับคงรูปเดิมทันที (เพื่อชดใช้กรรมต่อไปอีก)

-บางครั้งบางคราว สัตว์จะออกทางประตูที่เปิด แล้วจะตกลงไปในบ่อคูถ หมู่สัตว์ปากดังเข็มคอย เฉือนผิวหนัง เนื้อ เอ็น จนถึงกระดูก แล้วกินเยื่อในกระดูก

- มีนรกเต็มด้วยเถ้ารึงใหญ่(กองเถ้าร้อนุ) สัตว์จะตกลงไปในนั้น ย่อมเสวยทุกข์กล้าอันเจ็บแสบ

- ในนรกเถ้ารึงนั้น มีป่างิ้วใหญ่รอบด้าน ต้นสูงชะลูดโยชน์หนึ่ง(๑๖กม.) มีหนามยาว ๑๖ องคุลี (นิ้ว) มีไฟลุกโพลง เหล่านิรยบาลจะบังคับให้สัตว์ขึ้นๆลงๆ ที่ต้นงิ้ว (จนกว่าจะหมดกรรม)

-ป่างิ้วนั้น มีป่าต้นไม้ใบเป็นดาบใหญ่อยู่รอบด้าน เมื่อสัตว์เข้าไปในป่านั้น ใบไม้ที่ถูกลมพัด จะตัดมือ บ้าง ตัดเท้า ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง  

-ในป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น มีแม่น้ำใหญ่ที่เป็นด่าง สัตว์นั้นจะตกลงไปในแม่น้ำ จะลอยอยู่ในเถ้ารึง มีขี้เถ้าปิดข้างนอกรอบด้าน

- ในแม่น้ำใหญ่นั้น เหล่านายนิรยบาล พากันเอาเบ็ดเกี่ยวสัตว์ขึ้นวางบนบก ถามว่าเจ้าต้องการอะไร สัตว์นั้นบอกว่า ข้าพเจ้าหิว เหล่านายนิรยบาลจะเอาขอเหล็กร้อนมีไฟติดเปิดปากออก แล้วใส่ก้อน โลหะร้อน มีไฟติดทั่ว ใส่เข้าในปาก ทำให้ไหม้ตั้งแต่ริมฝีปาก จนใส้ทะลักไหลออกมาทางทวาร

-เหล่านายนิรยบาลถามว่า เจ้าต้องการอะไร สัตว์นั้นบอกว่า ข้าพเจ้าระหาย เหล่านิรยบาล จึงเอา ขอเหล็กร้อนมีไฟติดทั่ว เปิดปากแล้วเอา น้ำทองแดงร้อน กรอกเข้าปาก ทำให้ริมฝีปากใหม้ ปากใหม้ ลงไปไปจนถึงคอ ถึงท้อง แล้วพาเอาไส้ใหญ่ ไส้น้อย ออกมาทางทวาร
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ยมบาลรำพึง นึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พยายมมีความดำริ ว่าเหล่าสัตว์ที่ทำกรรมลามกไว้ในโลก ย่อมถูกนายนิรยบาลลงกรรมกรณ์ ต่างชนิด เห็นปานนี้ โอหนอ ..
- ขอเราพึงได้ความเป็นมนุษย์
- ขอพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ พึงเสด็จอุบัติในโลก
- ขอเราพึงได้ นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
- ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พึงทรงแสดงธรรมแก่เรา
- ขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด

พระสูตรเดียวกัน P620 (แบบย่อ)

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔  หน้าที่ ๒๕๕


เทวทูตสูตร
(เรื่อง นรก)


           [๕๐๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว

           [๕๐๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือน ๒ หลังมีประตูตรงกัน บุรุษผู้มีตาดียืนอยู่ระหว่างกลางเรือน ๒ หลัง นั้น พึงเห็นมนุษย์ กำลังเข้าเรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังเดินมาบ้างกำลังเดินไปบ้าง ฉันใด

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล เราย่อมมองเห็น หมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมได้ว่า

           สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียน พระอริยะ เป็นสัมมาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ก็มี (ภพที่1)

           สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียน พระอริยะ เป็นสัมมาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว บังเกิดในหมู่มนุษย์ก็มี (ภพที่2)

           สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงปิตติวิสัยก็มี (ภพที่3)

           สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วย อำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานก็มี (ภพที่4)

           สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกก็มี (ภพที่5)

           [๕๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาล จะจับสัตว์นั้นที่ส่วนต่างๆ ของแขน ไปแสดงแก่ พระยายม ว่า ข้าแต่พระองค์ บุรุษนี้ไม่ปฏิบัติชอบในมารดา ไม่ปฏิบัติ ชอบ ในสมณะ ไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล ขอพระองค์ จงลงอาชญาแก่บุรุษนี้เถิด

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เทวทูตที่ ๑ (ความเกิด)

           [๕๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมจะปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็น เทวทูตที่ ๑ ปรากฏ ในหมู่มนุษย์ หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลยเจ้าข้าฯ พระยายม ถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเด็กแดงๆ ยังอ่อนนอนแบ เปื้อนมูตรคูถของตน อยู่ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็นเจ้าข้า

           พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเกิดเป็น ธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ความเกิดไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ สัตว์นั้นทูล อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสียเจ้าข้า

           พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดี ทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาล จักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก ของบาปกรรมนี้
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เทวทูตที่ ๒ (ความแก่)

           [๕๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามเทวทูต ที่ ๒ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็น เทวทูตที่ ๒ ปรากฏในหมู่มนุษย์ หรือ

           สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี นับแต่เกิดมา ผู้แก่ ซี่โครงคด หลังงอ ถือไม้ เท้า งกเงิ่น เดินไป กระสับกระส่าย ล่วงวัยหนุ่มสาว ฟันหักผมหงอก หนังย่น ศีรษะล้าน เหี่ยว ตัวตกกระ ในหมู่มนุษย์หรือ

           สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็นเจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้ บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ควรที่เรา จะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ

           สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก ของบาปกรรมนี้
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เทวทูตที่ ๓ (ความตาย)

           [๕๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๒ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๓ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็น เทวทูตที่ ๓ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ

           สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย ผู้ป่วย ทนทุกข์ เป็นไข้หนัก นอนเปื้อนมูตรคูถของตน มีคนอื่นคอยพยุงลุก พยุงเดิน ในหมู่มนุษย์หรือ

           สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ ควรที่เรา จะทำความดี ทางกาย ทางวาจา และทางใจ

           สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง โทษโดยอาการ ที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดา ทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก ของบาปกรรมนี้
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เทวทูตที่ ๔ (การถูกลงทัณฑ์)

           [๕๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๓ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๔ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็น เทวทูตที่ ๔ ปรากฏในหมู่ มนุษย์หรือ

            ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นราชาทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์จับโจรผู้ประพฤติผิด มาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิดบ้างหรือ คือ
(๑) โบยด้วยแส้บ้าง
(๒) โบยด้วยหวายบ้าง
(๓) ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง
(๔) ตัดมือบ้าง
(๕) ตัดเท้าบ้าง
(๖) ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง
(๗) ตัดหูบ้าง
(๘) ตัดจมูกบ้าง
(๙) ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง
(๑๐) ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ำส้ม บ้าง
(๑๑) ลงกรรมกรณ์วิธี ขอดสังข์ บ้าง
(๑๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ปากราหู บ้าง
(๑๓) ลงกรรมกรณ์วิธี มาลัยไฟ บ้าง
(๑๔) ลงกรรมกรณ์วิธี คบมือ บ้าง
(๑๕) ลงกรรมกรณ์วิธี ริ้วส่าย บ้าง
(๑๖) ลงกรรมกรณ์วิธี นุ่งเปลือกไม้ บ้าง
(๑๗) ลงกรรมกรณ์วิธี ยืนกวาง บ้าง
(๑๘) ลงกรรมกรณ์วิธี เกี่ยวเหยื่อเบ็ด บ้าง
(๑๙) ลงกรรมกรณ์วิธี เหรียญกษาปณ์ บ้าง
(๒๐) ลงกรรมกรณ์วิธี แปรงแสบ บ้าง
(๒๑) ลงกรรมกรณ์วิธี กางเวียน บ้าง
(๒๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ตั่งฟาง บ้าง
(๒๓) ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ บ้าง
(๒๔) ให้สุนัขทึ้งบ้าง
(๒๕) ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง
(๒๖) ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง

           สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า จำเริญละ เป็นอันว่า สัตว์ที่ทำกรรมลามกไว้นั้นๆ ย่อมถูกลงกรรมกรณ์ต่างชนิด เห็นปานนี้ ในปัจจุบัน จะป่วยกล่าว ไปไยถึงชาติหน้า ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า

           พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัว ประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็ บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชาย ทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติ สาโลหิต ทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรม นี้
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เทวทูตที่ ๕ (ความตาย)

           [๕๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๔ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๕ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็น เทวทูตที่ ๕ ปรากฏในหมู่ มนุษย์หรือ

           สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย ที่ตายแล้ววันหนึ่ง หรือสองวัน หรือสามวัน ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ

           สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็น ผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ

           สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย

           ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง โทษโดยอาการที่ท่านประมาท แล้วก็ บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชาย ทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติ สาโลหิต ทำให้ ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๕ กะสัตว์นั้นแล้ว ก็ทรงดุษณีอยู่ ฯ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(บรรยากาศในนรก)

           [๕๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านิรยบาลจะให้สัตว์นั้นกระทำเหตุชื่อ การจำ ๕ ประการ คือ ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ และที่ทรวงอกตรงกลางสัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด

           [๕๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านิรยบาลจะจับสัตว์นั้นขึงพืดแล้วเอาผึ่ง ถาก...
จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่างแล้วถากด้วยพร้า ... จะเอาสัตว์นั้น เทียมรถแล้วให้วิ่งกลับไปกลับมาบนแผ่นดินที่มีไฟติดทั่วลุกโพลง โชติช่วง ... จะให้สัตว์นั้นปีนขึ้นปีนลง ซึ่งภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ ที่มีไฟติดทั่วลุกโพลงโชติช่วง ... จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบนเอาหัวลงข้างล่าง แล้วพุ่งลงไป ในหม้อทองแดง ที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง สัตว์นั้นจะเดือดพล่าน เป็นฟองอยู่ในหม้อทองแดง นั้น เขาเมื่อเดือดเป็นฟองอยู่ จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่ง บ้าง พล่านลงข้างล่าง ครั้งหนึ่งบ้าง พล่านไปด้านขวาง ครั้งหนึ่งบ้าง จะเสวยเวทนา อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในหม้อทองแดงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาป กรรมยังไม่สิ้นสุด
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(บรรยากาศใน มหานรก และการลงทัณฑ์)

(๑)
           [๕๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปใน มหานรก ก็ มหานรกนั้นแล มีสี่มุม สี่ประตู แบ่งไว้โดยส่วนเท่ากัน มีกำแพงเหล็ก ล้อมรอบ ครอบไว้ ด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของนรกใหญ่นั้นล้วน แล้วด้วยเหล็ก ลุกโพลง แผ่ไป ตลอดร้อยโยชน์รอบด้าน ประดิษฐานอยู่ทุกเมื่อ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย และ มหานรก นั้น มีเปลวไฟพลุ่งจากฝาด้านหน้าจดฝา ด้านหลัง พลุ่งจากฝาด้าน หลังจดฝา ด้านหน้า พลุ่งจากฝาด้านเหนือจดฝาด้านใต้ พลุ่งจาก ฝาด้านใต้จดฝา ด้านเหนือ พลุ่งขึ้นจาก ข้างล่างจดข้างบน พลุ่งจากข้างบนจดข้างล่าง สัตว์นั้น จะเสวย เวทนา อันเป็น ทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่า บาปกรรม ยังไม่ สิ้นสุด

(๒)
           [๕๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วง ระยะ กาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้น โดยเร็ว ย่อมถูก ไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลาย ก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะ ที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที และในขณะที่สัตว์นั้น ใกล้จะถึง ประตู ประตูนั้นจะปิด สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็น ทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ใน มหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด

(๓)
           [๕๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะ กาลนาน ประตูด้านหลังของมหานรกนั้นเปิด ฯลฯ ประตูด้านเหนือเปิด ฯลฯ ประตูด้านใต้เปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิวไหม้หนัง ไหม้เนื้อไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์ นั้นยกขึ้น แล้วจะกลับ คงรูปเดิม ทันที และในขณะที่สัตว์นั้นใกล้จะถึงประตู ประตู นั้นจะปิด สัตว์นั่นย่อมเสวย เวทนา อันเป็นทุกข์กล้าเจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตาย ตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่ สิ้นสุด

(๔)

           [๕๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วง ระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกนั้นเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้น โดยเร็ว ย่อมถูก ไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูก ทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะ ที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที สัตว์นั้นจะออกทางประตูนั้นได้ แต่ว่า มหานรกนั้นแล มีนรกเต็มด้วยคูถใหญ่ ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้น จะตกลงใน นรกคูถนั้น และในนรกคูถนั้นแล มีหมู่ สัตว์ปากดังเข็มคอยเฉือดเฉือนผิว แล้วเฉือด เฉือนหนัง แล้วเฉือดเฉือนเนื้อ แล้ว เฉือดเฉือนเอ็น แล้วเฉือดเฉือนกระดูก แล้วกิน เยื่อในกระดูก สัตว์นั้นย่อมเสวย เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกคูถนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาป กรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด

(๕)

           [๕๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และนรกคูถนั้น มีนรกเต็มด้วยเถ้ารึงใหญ่(กองเถ้าที่ ร้อนระอุ) ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในนรกเถ้ารึงนั้น สัตว์นั้น ย่อมเสวย เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกเถ้ารึงนั้น และยังไม่ตายตราบ เท่าบาป กรรม นั้นยังไม่สิ้นสุด

(๖)

           [๕๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และนรกเถ้ารึงนั้น มีป่างิ้วใหญ่ประกอบอยู่ รอบด้าน ต้นสูงชลูดขึ้นไปโยชน์หนึ่ง มีหนามยาว ๑๖ องคุลี มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เหล่านายนิรยบาลจะบังคับให้สัตว์นั้นขึ้นๆ ลงๆ ที่ต้นงิ้วนั้น สัตว์นั้น ย่อม เสวยเวทนา อันเป็นทุกข์กล้าเจ็บแสบ อยู่ที่ต้นงิ้วนั้น และยังไม่ตายตราบเท่า บาปกรรมนั้น ยังไม่สิ้นสุด

(๗)

           [๕๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และป่างิ้วนั้น มีป่าต้นไม้ใบเป็นดาบใหญ่ ประกอบอยู่รอบ ด้าน สัตว์นั้นจะเข้าไปในป่านั้น จะถูกใบไม้ที่ลมพัด ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือ และเท้าบ้าง และตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหู และ จมูกบ้าง สัตว์นั้นย่อม เสวย เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ป่าต้นไม้มีใบ เป็นดาบนั้น และยังไม่ตายตราบ เท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด

(๘)

           [๕๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น มีแม่น้ำใหญ่ น้ำเป็นด่าง ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในแม่น้ำนั้น จะลอยอยู่ในเถ้ารึง คือ ถ่านที่ ติดไฟคุมีขี้เถ้าปิดข้างนอกอยู่รอบด้าน แม่น้ำนั้น ตามกระแสบ้าง ทวนกระแสบ้าง ทั้งตามและทวนกระแสบ้าง สัตว์ นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในแม่น้ำนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด

(๙)

           [๕๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลพากันเอาเบ็ดเกี่ยวสัตว์ นั้นขึ้นวาง บนบก แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ เจ้าต้องการอะไร สัตว์นั้น บอกอย่างนี้ ว่า ข้าพเจ้าหิว เจ้าข้า เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อน มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออก แล้วใส่ก้อนโลหะร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลงโชติช่วง เข้าในปาก ก้อนโลหะนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พาเอา ไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกมาทางส่วน เบื้องล่าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนา อันเป็น ทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ ณ ที่นั้น และ ยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด

(๑๐)

           [๕๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลกล่าวกะสัตว์นั้นอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ เจ้าต้องการอะไร สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าระหาย เจ้าข้า เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออก แล้วเอาน้ำทองแดงร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง กรอกเข้าไปในปาก น้ำ ทองแดงนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พาเอาไส้ ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกมาทางส่วนเบื้องล่าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ กล้า เจ็บแสบ อยู่ ณ ที่นั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยัง ไม่สิ้นสุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหานรกอีก
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

(ยมบาลรำพึง นึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)

           [๕๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดำริ อย่างนี้ว่า พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย เป็นอันว่า เหล่าสัตว์ที่ทำกรรมลามกไว้ในโลก ย่อมถูก นายนิรยบาล ลงกรรมกรณ์ ต่างชนิดเห็นปานนี้
  โอหนอ

  ขอเราพึงได้ความ เป็นมนุษย์
  ขอพระ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธพึงเสด็จอุบัติในโลก
  ขอเราพึงได้ นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
  ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นพึงทรงแสดงธรรมแก่เรา
  และ ขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด


           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เรื่องนั้น เรามิได้ฟังต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆ แล้ว จึงบอก ก็แล เราบอกเรื่องที่รู้เอง เห็นเอง ปรากฏเองทั้งนั้น

           [๕๒๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตดังนี้ ครั้นแล้วพระสุคต ผู้ศาสดา ก็ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกดังนี้ว่า นรชนเหล่าใดยังเป็นมาณพ อัน เทวทูต ตักเตือนแล้ว ประมาทอยู่ นรชนเหล่านั้นจะเข้าถึงหมู่สัตว์เลว เศร้าโศก สิ้นกาลนาน

           ส่วนนรชนเหล่าใด เป็นสัตบุรุษผู้สงบระงับในโลกนี้ อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ย่อมไม่ประมาทในธรรมของพระอริยะ ในกาลไหนๆ เห็นภัยในความถือมั่น อันเป็นเหตุแห่ง ชาติและ มรณะแล้ว ไม่ถือมั่น หลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นชาติ และ มรณะได้ นรชน เหล่านั้น เป็นผู้ถึงความเกษม มีสุข ดับสนิทใน ปัจจุบัน ล่วงเวร และ ภัยทั้งปวง และ เข้าไปล่วงทุกข์ทั้งปวงได้

พระสูตรเดียวกัน P620


 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
  90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์