พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๕๒-๓๕๕
๑๒. นาคิตสูตร
[๓๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึง พราหมณคาม ของชาวโกศล ชื่ออิจฉานังคละ ได้ยินว่าณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ประทับ ณ ไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคลคามพราหมณ์ และคฤหบดี ชาวบ้านอิจฉานังคละ ได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตรเสด็จ ออกบวช จากศากยสกุล เสด็จถึงบ้านอิจฉานังคละ ประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ ชื่อ อิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคลคาม
ก็กิตติศัพท์อันงาม ของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมไพเราะ ในเบื้องต้น ไพเราะใน ท่ามกลาง ไพเราะในที่สุดทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดี ดังนี้
ครั้งนั้นพราหมณ์และคฤหบดี ชาวบ้านอิจฉานังคละ เมื่อล่วงราตรีนั้นไปแล้ว ถือขาทนียโภชนียาหารเป็นอันมาก ไปยังไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ แล้วได้ยืนอยู่ที่ซุ้ม ประตู ภายนอก ส่งเสียงอื้ออึง
ก็สมัยนั้น ท่านพระนาคิตะเป็นอุปัฏฐาก ของพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสถามท่านพระนาคิตะว่า ดูกรนาคิตะ พวกใครนั่นส่งเสียงอื้ออึง เหมือนชาวประมงแย่งปลากัน
ท่านพระนาคิตะได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่านั้น คือพราหมณ์ และคฤหบดีชาวบ้าน อิจฉานังคละ ถือขาทนียโภชนียาหารเป็นอันมาก มาจะถวาย พระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์ ยืนอยู่ที่ซุ้มประตูภายนอก พระเจ้าข้า
พ. ดูกรนาคิตะ ขอเรา (ตถาคต) อย่าติดยศ และยศอย่าได้ติดเรา ดูกรนาคิตะ ผู้ใดเป็นผู้ไม่ได้ตามความปรารถนา ไม่ได้โดยไม่ยาก ไม่ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุข อันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบสุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ ซึ่งเราได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ผู้นั้นพึงยินดีสุข ที่เกิดแต่ ของไม่สะอาด สุขที่เกิดเพราะการหลับ สุขที่เกิดเพราะลาภ สักการะ และการสรรเสริญ
นา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงรับ ขอพระสุคตจงรับ เวลานี้เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคควรรับ เวลานี้เป็นเวลาที่พระสุคต (พระผู้มีพระภาค) ควรรับ บัดนี้ พราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จักพากันหลั่งไหลไป ทางที่พระผู้มีพระภาคเสด็จไป เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ ตกลงน้ำย่อมไหลไปตาม ที่ลุ่ม ฉะนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะพระผู้มีพระภาคทรงมีศีลและปัญญาณะ
พ. ดูกรนาคิตะ เราอย่าได้ติดยศ และยศอย่าติดเรา ดูกรนาคิตะ ผู้ใดเป็นผู้ ไม่ได้ ตามความปรารถนา ไม่ได้โดยไม่ยาก ไม่ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่ เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ ซึ่งเรา ได้ตาม ความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ผู้นั้นพึงยินดีสุขอันเกิดแต่ของ ไม่สะอาด สุขที่เกิดเพราะการหลับ สุขที่เกิดเพราะลาภสักการะ และการสรรเสริญ
ดูกรนาคิตะ เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้อยู่ใกล้บ้านผู้นั่งเข้าสมาธิอยู่ใกล้บ้าน เราย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ ไฉนคนวัดจักยังท่านผู้มีอายุรูปนี้ให้สืบต่อสมาธินั้นได้ หรือสามเณรจักยังท่านผู้มีอายุนั้นได้ หรือสามเณรจักยังท่านผู้มีอายุนั้น ให้เลื่อนจาก สมาธิ ฉะนั้น เราจึงไม่พอใจด้วยการอยู่ใกล้บ้านของภิกษุนั้น (๑)
อนึ่ง เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร นั่งโงกง่วงอยู่ในป่า เราย่อม มีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ ท่านผู้มีอายุรูปนี้ จักบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย เพราะการนอน นี้ แล้วกระทำอรัญญสัญญาไว้ในใจ เป็นเอกัคคตา ฉะนั้น เราจึงพอใจด้วยการ อยู่ในป่าของภิกษุรูปนั้น (๒)
อนึ่ง เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ไม่มีจิตเป็นสมาธินั่งอยู่ ในป่า เรามีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ ท่านผู้มีอายุรูปนี้ จักตั้งจิตที่ไม่เป็นสมาธิให้เป็น สมาธิ หรือจักตามรักษาจิตที่เป็นสมาธิไว้ ฉะนั้น เราจึงพอใจด้วยการอยู่ในป่า ของ ภิกษุนั้น (๓)
อนึ่ง เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร มีจิตเป็นสมาธินั่งอยู่ ในป่า เรามีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ ท่านผู้มีอายุรูปนี้ จักเปลื้องจิตที่ยังไม่หลุดพ้น ให้หลุดพ้น หรือจักตามรักษาจิตที่หลุดพ้นแล้วไว้ ฉะนั้น เราจึงพอใจด้วยการอยู่ป่า ของภิกษุนั้น (๔)
อนึ่ง เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ใกล้บ้าน ได้จีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เธอพอใจลาภ สักการะ และการสรรเสริญนั้น ย่อมละทิ้ง การหลีกออกเร้น ย่อมละทิ้งเสนาสนะสงัด อันตั้งอยู่ในราวป่า มารวมกันอยู่ยังบ้าน นิคม และราชธานี ฉะนั้น เราจึงไม่พอใจ ด้วยการอยู่ใกล้บ้านของภิกษุนั้น (๕)
อนึ่ง เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร เธอละลาภ สักการะและการสรรเสริญนั้น ย่อมไม่ละทิ้ง การหลีกออกเร้น ย่อมไม่ละทิ้งเสนาสนะสงัด อันตั้งอยู่ในราวป่า ฉะนั้น เราจึงพอใจ ด้วยการอยู่ป่าของภิกษุนั้น (๖)
อนึ่งสมัยใด เราเดินทางไกล ย่อมไม่เห็นใครข้างหน้าหรือข้างหลัง สมัยนั้น เราย่อมมีความสบายโดยที่สุด ด้วยการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ |