พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๔๙-๓๕๐
๙. นิทานสูตร
เหตุให้เกิดกรรม
[๓๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม (อกุศลกรรม) ๓ ประการนี้๓ ประการเป็นไฉน คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อโลภะ ย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะโลภะ โดยที่แท้ โลภะย่อมเกิดขึ้นเพราะโลภะ
อโทสะ ย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะโทสะ โดยที่แท้ โทสะย่อมเกิดขึ้นเพราะโทสะ
อโมหะ ย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะโมหะ โดยที่แท้ โมหะย่อมเกิดขึ้นเพราะโมหะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดา มนุษย์ หรือแม้สุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมไม่ปรากฏ เพราะกรรมที่เกิดแต่โลภะ แต่โทสะ แต่โมหะ โดยที่แท้ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย หรือ แม้ทุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏเพราะกรรมที่เกิดแต่โลภะ แต่โทสะ แต่โมหะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม ๓ ประการนี้แล
(สุขคติไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอกุศล แต่ทุกข์คติ
เกิดเพราะกรรมที่เป็น อกุศล คือโลภ โกรธ หลง)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม (กุศลกรรม) ๓ ประการนี้ ๓ ประการ เป็นไฉน คือ อโลภะ ๑ อโทสะ ๑ อโมหะ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลายโลภะย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะอโลภะ โดยที่แท้ อโลภะ ย่อมเกิดขึ้น เพราะอโลภะโทสะย่อมไม่เกิดเพราะอโทสะ โดยที่แท้ อโทสะ ย่อม เกิดขึ้นเพราะอโทสะ โมหะย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะอโมหะ โดยที่แท้ อโมหะย่อมเกิดขึ้น เพราะอโมหะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย หรือแม้ทุคติอย่างใด อย่างหนึ่งย่อมไม่ปรากฏเพราะกรรมที่เกิดแต่อโลภะ แต่อโทสะ แต่อโมหะ โดยที่แท้ เทวดา มนุษย์ หรือแม้สุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏเพราะกรรมที่เกิดแต่อโลภะ แต่อโทสะ แต่อโมหะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม ๓ประการนี้แล
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๕๐-๓๕๑
๑๐. กิมมิลสูตร
เหตุปัจจัยที่พระสัทธรรมดำรงอยู่ไม่นาน
[๓๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ -
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวัน ใกล้พระนครกิมมิลาครั้งนั้น ท่านพระ กิมมิละ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว
พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า
ดูกรกิมมิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในความไม่ประมาท ในปฏิสันถาร ดูกรกิมมิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่อง ให้ พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว
กิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อะไร เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรม ดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว
พ. ดูกรกิมมิละ พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความ เคารพ มีความยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในความไม ่ประมาท ในการปฏิสันถาร ดูกรกิมมิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรม ดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๕๑-๓๕๒
๑๑. ทารุกขันธสูตร
พิจารณาอสุภธาตุด้วยกองฟืน
[๓๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น เป็นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตร นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรลงจากภูเขาคิชฌกูฏ พร้อมด้วย ภิกษุหลายรูป เห็นกองไม้กองใหญ่ ณ ที่แห่งหนึ่งแล้ว ถามภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเห็นกองไม้กองใหญ่โน้นหรือไม่
ภิกษุเหล่านั้น ตอบว่า อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ
สา. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจ เมื่อ จำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้น ให้เป็นดินได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะที่ กองไม้ โน้น มีปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) ซึ่งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจ พึงอาศัยน้อมใจ ถึงให้เป็นดินได้
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจเมื่อจำนง พึงน้อมใจ ถึงกองไม้โน้นให้เป็นน้ำได้ ฯลฯ ให้เป็นไฟได้ ฯลฯ ให้เป็นลมได้ ฯลฯ ให้เป็นของงามได้ ฯลฯ ให้เป็นของไม่งามได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะที่กองไม้โน้นมี อสุภธาตุ ซึ่งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจ พึงอาศัยน้อมใจ ถึงให้เป็นของไม่งามได้
|