พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๔๕
๕. วิชชาภาคิยสูตร
[๓๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ
๑ อนิจจสัญญา
๒ อนิจเจทุกขสัญญา
๓ ทุกเขอนัตตสัญญา
๔ ปหานสัญญา
๕ วิราคสัญญา
๖ นิโรธสัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปในส่วนแห่ง วิชชา
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๔๕-๓๔๖
๖. วิวาทมูลสูตร
มูลเหตุแห่งการวิวาท
[๓๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มูลเหตุแห่งการวิวาท ๖ ประการนี้
๖ ประการ เป็นไฉน คือ
(๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดย่อมเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความ ยำเกรง แม้ในพระศาสดา ... แม้ในพระธรรม ... แม้ในพระสงฆ์ เป็นผู้ไม่ทำให้บริบูรณ์ แม้ในสิกขา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระศาสดา ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ย่อมก่อการวิวาทให้เกิดขึ้นในสงฆ์ ซึ่งเป็นไป เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อสิ่งไม่เป็นสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อความ ฉิบหาย เพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อทุกข์แก่เทวดา และมนุษย์ ทั้งหลาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอทั้งหลาย พึงพิจารณาเห็นซึ่งมูลเหตุ แห่งการวิวาท เห็นปานนั้น ในภายใน หรือภายนอกไซร้ เธอทั้งหลายพึงพยายาม เพื่อละมูลเหตุแห่ง การวิวาทที่เป็นบาปนั้นเสีย ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงพิจารณาเห็น ซึ่งมูลเหตุแห่งการวิวาท เห็นปานนั้น ในภายในหรือภายนอกไซร้ เธอทั้งหลายพึงปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มูลเหตุ แห่งการวิวาทเห็นปานนั้นครอบงำต่อไป การละมูลเหตุแห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้น(และ) มูลเหตุแห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้น ไม่ครอบงำต่อไป ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้
(๒) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ลบหลู่ ตีเสมอ ฯลฯ (๓) เป็นผู้ริษยา มีความตระหนี่ (๔) เป็นผู้โอ้อวด มีมารยา (๕) เป็นผู้มีความปรารถนาลามก (๖)มีความเห็นผิดเป็นผู้มีความถือมั่น ทิฐิของตน มีความถือรั้น สละความเห็นของตนได้ยาก ภิกษุใดเป็นผู้ถือมั่นทิฐิของตน ถือรั้น สละความเห็นของตนได้ยาก ภิกษุนั้น เป็นผู้ไม่มี ความ เคารพ ไม่ยำเกรง แม้ใน พระศาสดา ... แม้ในพระธรรม ... แม้ในพระสงฆ์ ไม่กระทำ ให้ บริบูรณ์แม้ในสิกขา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ฯลฯ ไม่กระทำให้ บริบูรณ์ในสิกขา ย่อมก่อการวิวาทให้เกิดขึ้นในสงฆ์ ซึ่งเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อสิ่งที่ไม่เป็นสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อความฉิบหาย เพื่อสิ่งที่ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อทุกข์แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอทั้งหลาย พึงพิจารณาเห็นมูลเหตุ แห่งการวิวาท เห็นปานนั้น ในภายในหรือภายนอกไซร้ เธอทั้งหลายพึงพยายามเพื่อละเหตุ แห่งการ วิวาท ที่เป็นบาปนั้นเสีย ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงพิจารณาเห็นมูลเหตุ แห่งการ วิวาท เห็นปานนั้น ในภายในหรือภายนอกไซร้ เธอทั้งหลายพึงปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มูลเหตุ แห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้นครอบงำต่อไป การละมูลเหตุ แห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้น (และ) มูลเหตุแห่งการวิวาท ที่เป็นบาปนั้นไม่ครอบงำต่อไป ย่อมมีได้ด้วยประการอย่างนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มูลเหตุแห่งการวิวาท ๖ ประการนี้แล
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๔๘-๓๔๙
๘. อัตตการีสูตร
[๓๐๙] ครั้งนั้นแล พราหมณ์คนหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์ (หมายถึงพราหมณ์) มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า การทำเพื่อตนไม่มี การทำเพื่อผู้อื่นไม่มี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรพราหมณ์ เราอย่าได้เห็น หรือได้ฟังคำของบุคคลผู้กล่าวว่า เรามีวาทะ อย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ ก็บุคคลเมื่อก้าวไปเองได้ ถอยกลับเองได้ ไฉนเล่าจักกล่าว อย่างนี้ว่า การทำเพื่อตนไม่มีการทำเพื่อผู้อื่นไม่มี
ดูกรพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความ ข้อนั้นเป็นไฉน อารัพภธาตุ (ความเพียรเป็นเหตุปรารภ) มีอยู่หรือ
อ. อย่างนั้น ท่านพระโคดม
พ. เมื่ออารัพภธาตุมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความปรารภย่อมปรากฏหรือ
อ. อย่างนั้น ท่านพระโคดม
พ. ดูกรพราหมณ์ การที่เมื่อ อารัพภธาตุมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความปรารภ ย่อมปรากฏ นี้แหละเป็นการทำเพื่อตน นี้แหละเป็นการทำเพื่อผู้อื่น ของสัตว์ทั้งหลาย
ดูกรพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
นิกกมธาตุ (ความเพียรเป็นเครื่อง ก้าวออก) มีอยู่หรือ ฯลฯ
ปรักกมธาตุ (ความเพียรเป็นเครื่องก้าวไปข้างหน้า) มีอยู่หรือ
ถามธาตุ (ความเพียรเป็นกำลัง) มีอยู่หรือ
ธิติธาตุ (ความเพียรเป็นเครื่องทรงไว้) มีอยู่หรือ
อุปักกมธาตุ (ความพยายาม) มีอยู่หรือ
อ. อย่างนั้น ท่านพระโคดม
พ. ดูกรพราหมณ์ เมื่ออุปักกมธาตุมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความพยายาม ย่อม ปรากฏ หรือ
อ. อย่างนั้น ท่านพระโคดม
พ. ดูกรพราหมณ์ การที่เมื่อ อุปักกมธาตุ มีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความพยายาม ย่อมปรากฏ นี้แหละเป็นการกระทำเพื่อตน นี้แหละเป็นการทำเพื่อผู้อื่นของสัตว์ทั้งหลาย
ดูกรพราหมณ์ เราอย่าได้เห็นหรือได้ฟังคำของบุคคลผู้กล่าวว่า เรามีวาทะ อย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ ก็บุคคลเมื่อก้าวไปเองได้ ถอยกลับเองได้ ไฉนเล่าจักกล่าวอย่างนี้ ว่า การทำเพื่อตนไม่มี การทำเพื่อผู้อื่นไม่มี
อ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรม โดยอเนก ปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปได้ฉะนั้น
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป |