พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๒๑-๓๒๒
๑. สามกสูตร
เทวดากล่าวธรรม
[๒๙๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ วิหาร ชื่อโปกขรณีย์ ใกล้หมู่บ้าน สามคาม แคว้นสักกะ ครั้งนั้น เทวดาตนหนึ่ง เมื่อปฐมยามผ่านไป มีวรรณะงามยิ่งนัก ยังโปกขรณีย์วิหารทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม แก่ภิกษุ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ
๑ ความเป็นผู้ชอบการงาน
๒ ความเป็นผู้ชอบคุย
๓ ความเป็นผู้ชอบหลับ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ เทวดาตนนั้นได้กล่าวคำนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้งนั้น เทวดาตนนั้นทราบว่า พระศาสดาของเราทรงพอพระทัย จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณ แล้วหายไป ณ ที่นั้น
ครั้งนั้น เมื่อราตรีนั้นล่วงไป พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เทวดาตนหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีวรรณะงามยิ่งนัก ยังโปกขรณีย์วิหารทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้ามาหาเรา ถึงที่อยู่อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะเราว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม แก่ภิกษุ ธรรม๓ ประการเป็นไฉน คือ
๑ ความเป็นผู้ชอบการงาน (ก่อสร้าง)
๒ ความเป็นผู้ชอบคุย
๓ ความเป็นผู้ชอบหลับ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ ครั้นเทวดาตนนั้นได้กล่าวคำนี้แล้ว อภิวาทเราทำประทักษิณแล้วได้หายไป ณ ที่นั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มิใช่ลาภของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายได้ด้วยยาก ที่เธอทั้งหลายเสื่อมจากกุศลธรรม แม้เทวดาก็รู้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรม เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ๓ ประการ แม้เหล่าอื่น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ๓ ประการเป็นไฉน คือ
๑ ความเป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๒ ความเป็นผู้ว่ายาก
๓ ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว
ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ชนเหล่าใด เหล่าหนึ่งในอดีตกาลเสื่อมจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวง ก็เสื่อมแล้วจากกุศลธรรม เพราะธรรม๖ ประการนี้แล ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล จักเสื่อมจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวง ก็จักเสื่อมจากกุศลธรรม เพราะธรรม ๖ ประการนี้แล และชนเหล่าใด เหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาล ย่อมเสื่อมจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวงก็ย่อมเสื่อม จาก กุศลธรรมเพราะธรรม ๖ ประการนี้แล
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๒๒-๓๒๓
๒. อปริหานิยสูตร
ธรรมที่ทำให้ไม่เสื่อม
[๒๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๖ ประการนี้ ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลรับพระผู้มีพระภาค แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ
๑ ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน
๒ ความเป็นผู้ไม่ชอบคุย
๓ ความเป็นผู้ไม่ชอบหลับ
๔ ความเป็นผู้ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๕ ความเป็นผู้ว่าง่าย
๖ ความเป็นผู้มีมิตรดี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ๖ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ไม่เสื่อมแล้วจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวง ก็ไม่เสื่อมแล้วจากกุศลธรรม เพราะธรรม ๖ ประการนี้แล ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอนาคตกาล จักไม่เสื่อมจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวง ก็จักไม่เสื่อมจากกุศลธรรม เพราะธรรม ๖ ประการนี้แลชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบัน ย่อมไม่เสื่อมจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวงก็ย่อมไม่เสื่อมจากกุศลธรรมเพราะธรรม ๖ ประการนี้แล
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๒๓
๓. ภยสูตร
ภัยเป็นชื่อของกาม
[๒๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
คำว่า ภัย นี้ เป็นชื่อของกาม
คำว่า ทุกข์ นี้ เป็นชื่อของกาม
คำว่า โรค นี้เป็นชื่อของกาม
คำว่า ฝี นี้เป็นชื่อของกาม
คำว่า เครื่องขัดข้อง นี้ เป็นชื่อของกาม
คำว่า เปือกตม นี้เป็นชื่อของกาม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุไร คำว่า ภัย นี้ จึงเป็นชื่อของกาม เพราะสัตว์โลก ผู้ยินดีด้วยความกำหนัดในกาม ถูกความกำหนัดเพราะความชอบพอเกี่ยวพันไว้ จึงไม่พ้นจากภัยแม้ที่มีในปัจจุบัน ไม่พ้นจากภัยแม้ในสัมปรายภพฉะนั้น คำว่าภัยนี้ จึงเป็นชื่อของกาม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุไร คำว่าทุกข์ ... โรค ... ฝี ... เครื่องขัดข้อง ... เปือกตม นี้ จึงเป็นชื่อของกาม เพราะสัตว์โลกผู้ยินดีด้วยความกำหนัดในกามนี้ ถูกความกำหนัดเพราะความชอบพอเกี่ยวพันไว้ จึงไม่พ้นจากเปือกตมแม้ในปัจจุบัน ไม่พ้นจากเปือกตมแม้ในสัมปรายภพ ฉะนั้น คำว่า เปือกตม นี้ จึงเป็นชื่อของกาม
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า เราเรียก ภัย ทุกข์ โรค และสิ่งทั้ง ๒ คือ เครื่องขัดข้อง เปือกตม ว่าเป็นกาม เป็นที่ข้องของปุถุชน เพราะเห็นภัย ในการยึดถือ ซึ่งเป็นแดนเกิด ของชาติและมรณะ ชนทั้งหลาย จึงหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น ดำเนินไปในนิพพาน อันเป็นที่ สิ้นชาติและมรณะ ชนเหล่านั้น ถึงแดนเกษม มีสุข ดับ สนิทในปัจจุบัน ผ่านพ้น เวร และภัย ล่วงทุกข์ทั้งปวง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๒๔
๔. หิมวันตสูตร
ธรรมที่ทำลายขุนเขาหิมวันต์ได้
[๒๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ พึงทำลายขุนเขา หิมวันต์ได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงอวิชชาอันลามก ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑ เป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ
๒ เป็นผู้ฉลาดในการตั้งอยู่แห่งสมาธิ
๓ เป็นผู้ฉลาดในการออกแห่งสมาธิ
๔ เป็นผู้ฉลาดในความพร้อมมูลแห่งสมาธิ
๕ เป็นผู้ฉลาดในอารมณ์แห่งสมาธิ
๖ เป็นผู้ฉลาดในอภินิหารแห่งสมาธิ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล พึงทำลายขุนเขา หิมวันต์ได้ จะป่วยการกล่าวไปไยถึงอวิชชาอันลามกเล่า
|