พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๗-๒๒๘
๑. โสณสูตร
ธรรมของพราหมณ์เปรียบเทียบกับสุนัข
[๑๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ ๕ ประการนี้
บัดนี้ย่อมปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์
ธรรม ๕ ประการ เป็นไฉน คือ
๑ ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวกพราหมณ์ย่อม สมสู่เฉพาะพราหมณี ไม่สมสู่ กะหญิง ที่ไม่ใช่พราหมณี บัดนี้ พวกพราหมณ์ ย่อมสมสู่กะพราหมณีบ้าง ย่อมสมสู่ กะหญิง ที่ไม่ใช่พราหมณีบ้าง บัดนี้ พวกสุนัขย่อมสมสู่กะสุนัขตัวเมียเท่านั้น ไม่สมสู่กะสัตว์ ตัวเมีย ที่ไม่ใช่พวก สุนัข นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ข้อที่ ๑ บัดนี้ปรากฏในพวก สุนัข ไม่ปรากฏใน พวกพราหมณ์
๒ ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวกพราหมณ์ ย่อม สมสู่กะพราหมณีที่มีระดูเท่านั้น ไม่สมสู่กะ พราหมณีที่ไม่มีระดู บัดนี้ พวกพราหมณ์ย่อมสมสู่กะพราหมณีที่มีระดูบ้าง ย่อมสมสู่กะ พราหมณีที่ไม่มีระดูบ้าง บัดนี้ พวกสุนัข ย่อมสมสู่กะสุนัขตัวเมียที่มีระดู เท่านั้น ไม่สมสู่ กะสุนัขตัวเมีย ที่ไม่มีระดู นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ข้อที่ ๒ บัดนี้ปรากฏ ในพวก สุนัข ไม่ปรากฏ ในพวกพราหมณ์
๓ ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวกพราหมณ์ ย่อมไม่ซื้อไม่ขายพราหมณี ยังการอยู่ร่วมกันให้ เป็น ไป ด้วยความรักความผูกพัน บัดนี้ พวกพราหมณ์ ย่อมซื้อบ้าง ย่อมขายบ้างซึ่ง พราหมณี ยังการอยู่ร่วมกันให้เป็นไป ด้วยความรักความผูกพัน บัดนี้ พวกสุนัข ย่อม ไม่ซื้อไม่ขาย สุนัขตัวเมีย ยังการอยู่ร่วมกันให้เป็นไปด้วย ความรัก ความผูกพัน นี้เป็น ธรรมของ พราหมณ์ ที่เก่าแก่ข้อที่ ๓ บัดนี้ ย่อมปรากฏในพวก สุนัข ไม่ปรากฏ ในพวก พราหมณ์
๔ ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวกพราหมณ์ ย่อมไม่ทำการสะสม ทรัพย์บ้าง ข้าวเปลือกบ้าง เงินบ้างทองบ้าง บัดนี้ พวกพราหมณ์ย่อมทำการสะสม ทรัพย์บ้าง ข้าวเปลือกบ้าง เงินบ้าง ทองบ้าง บัดนี้ พวกสุนัข ย่อมไม่ทำการสะสมทรัพย์บ้าง ข้าวเปลือกบ้างเงินบ้าง ทองบ้าง นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ข้อที่ ๔ บัดนี้ ย่อมปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์
๕ ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวกพราหมณ์ ย่อมแสวงหาอาหารเย็น เพื่อกินในเวลาเย็น อาหารเช้า เพื่อกินในเวลาเช้า บัดนี้ พวกพราหมณ์บริโภคอาหาร จนอิ่มตามต้องการ แล้ว ย่อมถือเอาส่วนที่เหลือไป บัดนี้พวกสุนัข ย่อมแสวงหา อาหาร เย็น เพื่อกินในเวลา เย็น อาหารเช้าเพื่อกินในเวลาเช้านี้ เป็นธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ ข้อที่ ๕ บัดนี้ ย่อม ปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ ๕ ประการนี้แล บัดนี้ย่อม ปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์ (เสื่อมลง กลายเป็นปฏิบัติเหมือนสุนัข)
----------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่๒๔๒-๒๔๓
๕. ปิงคิยานีสูตร
ว่าด้วยปิงคิยานีพราหมณ์
[๑๙๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ เฝ้าพระผู้มีพระภาคอยู่ เจ้าลิจฉวี บางพวกเขียว มีวรรณะเขียว มีผ้าเขียว มีเครื่องประดับเขียว บางพวกเหลือง มีวรรณะเหลือง มีผ้าเหลือง มีเครื่องประดับเหลือง บางพวกแดง มีวรรณะแดงมีผ้าแดง มีเครื่องประดับแดง บางพวกขาว มีวรรณะขาว มีผ้าขาว มีเครื่องประดับขาว พระผู้มีพระภาค ทรงรุ่งเรืองกว่าเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น โดยพระวรรณะและพระยศ
ครั้งนั้น ปิงคิยานีพราหมณ์ลุกจากที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี ไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เนื้อความแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความ แจ่มแจ้ง กะข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรปิงคิยานี จงแจ่มแจ้งกะท่านเถิด ครั้งนั้นปิงคิยานีพราหมณ์ได้ชมเชย ต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาโดยย่อว่า
เชิญท่านดูพระอังคีรสผู้ทรงรุ่งโรจน์อยู่ เหมือนดอกบัวชื่อ โกกนุท มีกลิ่นหอม ไม่ปราศจากกลิ่น บานอยู่ ณ เวลาเช้า และเหมือนพระอาทิตย์เปล่งรัศมีอยู่บนท้องฟ้า ฉะนั้น
ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ได้ให้ปิงคิยานีพราหมณ์ห่มผ้าอุตราสงค์ ๕๐๐ ผืน ปิงคิยานีพราหมณ์ได้ทูลถวายให้พระผู้มีพระภาคครองผ้าอุตราสงค์ ๕๐๐ ผืนเหล่านั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่า
ดูกรเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ หาได้ยากในโลก
รัตนะ ๕ เป็นไฉน คือ
๑ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒ บุคคลผู้แสดงธรรมวินัย ที่พระตถาคตประกาศแล้ว
๓ บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัย ที่พระตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว
๔ บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัย ที่พระตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว ปฏิบัติธรรม สมควร แก่ธรรม
๕ กตัญญูกตเวทีบุคคล
ดูกรเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ความปรากฏแห่งรัตนะ ๕ ประการนี้แล หาได้ยาก ในโลก
----------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๖
๗. วัสสสูตร
ว่าด้วยอันตรายของฝนที่หมอดูไม่อาจรู้ได้
[๑๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันตรายของฝนซึ่งพวกหมอดูรู้ไม่ได้ สายตา
ของ พวกหมอดูหยั่งไม่ถึง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑ เตโชธาตุเบื้องบนอากาศกำเริบ เมฆที่เกิดขึ้นย่อมกระจายไปเพราะ เตโชธาตุ กำเริบนั้น นี้เป็นอันตรายของฝนข้อที่ ๑ ซึ่งพวกหมอดูรู้ไม่ได้ สายตาของพวกหมอดู หยั่งไม่ถึง
๒ อีกประการหนึ่ง วาโยธาตุเบื้องบนอากาศกำเริบ เมฆที่เกิดขึ้นย่อมกระจายไป เพราะวาโยธาตุกำเริบนั้น นี้เป็นอันตรายของฝนข้อที่ ๒ ซึ่งพวกหมอดูรู้ไม่ได้ สายตา ของพวกหมอดูหยั่งไม่ถึง
๓ อีกประการหนึ่ง อสุรินทราหูเอาฝ่ามือรับน้ำ แล้วทิ้งลงในมหาสมุทร นี้เป็น อันตรายของฝนข้อที่ ๓ ซึ่งพวกหมอดูรู้ไม่ได้ สายตาของพวกหมอดูหยั่งไม่ถึง
๔ อีกประการหนึ่ง วัสสวลาหกเทวบุตรประมาทเสีย นี้เป็นอันตรายของฝนข้อที่ ๔ ซึ่งพวกหมอดูรู้ไม่ได้ สายตาของพวกหมอดูหยั่งไม่ถึง
๕ อีกประการหนึ่ง พวกมนุษย์ไม่ตั้งอยู่ในธรรม นี้เป็นอันตรายของฝนข้อที่ ๕ ซึ่งพวกหมอดูรู้ไม่ได้ สายตาของพวกหมอดูหยั่งไม่ถึง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันตรายของฝน ๕ ประการนี้แล ซึ่งพวกหมอดูรู้ไม่ได้ สายตาของพวกหมอดูหยั่งไม่ถึง
----------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๖
๘. วาจาสูตร
ว่าด้วยองค์แห่งวาจาสุภาษิต
[๑๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน
องค์ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑ วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล
๒ เป็นวาจาที่กล่าวเป็นสัจ
๓ เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน
๔ เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์
๕ เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน
----------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๗
๙. กุลสูตร
เหตุให้ตระกูลประสพบุญ
[๑๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตผู้มีศีลทั้งหลาย ย่อมเข้าไปหาสกุลใด พวกมนุษย์ในสกุลนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก โดยฐานะ ๕ ประการ
ฐานะ ๕ประการ เป็นไฉน คือ
๑ สมัยใด เมื่อบรรพชิตผู้มีศีล เข้าไปหาสกุล จิตของพวกมนุษย์ย่อมเลื่อมใส เพราะเห็นท่าน สมัยนั้น สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติปฏิปทาที่ยังสัตว์ให้เป็นไปพร้อมเพื่อสวรรค์
๒ สมัยใด เมื่อบรรพชิตผู้มีศีล เข้าไปหาสกุล พวกมนุษย์ย่อม ลุกรับ (ต้อนรับ) กราบไหว้ ให้อาสนะ (ที่นั่ง) สมัยนั้น สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติปฏิปทาที่ยังสัตว์ ให้เป็นไป พร้อม เพื่อเกิดในสกุลสูง
๓ สมัยใด เมื่อบรรพชิตผู้มีศีล เข้าไปหาสกุล พวกมนุษย์ย่อม กำจัดมลทิน คือความตระหนี่ สมัยนั้นสกุลนั้นชื่อว่าปฏิบัติปฏิปทาที่ยังสัตว์ให้เป็นไปพร้อมเพื่อ ความเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่(เกียรติยศสูง)
๔ สมัยใด เมื่อบรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปหาสกุล พวกมนุษย์ย่อมจัดของถวายตามสติกำลัง สมัยนั้น สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติปฏิปทาที่ยังสัตว์ให้เป็นไปพร้อม เพื่อความ เป็นผู้มีโภคทรัพย์มาก
๕ สมัยใด เมื่อบรรพชิตผู้มีศีล เข้าไปหาสกุล พวกมนุษย์ ย่อม ไต่ถาม สอบสวน ย่อม ฟังธรรม สมัยนั้น สกุลนั้นชื่อว่าปฏิบัติปฏิปทาที่ยังสัตว์ให้เป็นไปพร้อม เพื่อความ เป็นผู้มีปัญญามาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด บรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปหาสกุล พวกมนุษย์ในสกุลนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก โดยฐานะ ๕ ประการนี้
|