พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๒-๗๓
อรหันตวรรคที่ ๒
๑. อุปาทิยสูตร
ว่าด้วยการถูกมารผูกมัดเพราะถือมั่น
[๑๓๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี.
ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี พระภาคโปรดประทานพระวโรกาส แสดงพระธรรมเทศนา โดยสังเขปแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว เป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมั่นคงอยู่เถิด.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลยังยึดมั่น ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่ ยึดมั่น จึงหลุดพ้นจากมาร. ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทราบแล้ว ข้าแต่พระ สุคต ข้าพระองค์ ทราบแล้ว.
พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่กล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดาร ได้อย่างไรเล่า? ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลยังยึดรูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณมั่นอยู่ ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่ยึดมั่นจึงหลุดพ้นจากมาร.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ซึ้งถึงอรรถ แห่งพระดำรัส ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้แล.
พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรา กล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดาร อย่างดีแล้ว.
ดูกรภิกษุ บุคคลยังยึดรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณมั่นอยู่ ก็ต้องถูก มารมัดไว้ เมื่อไม่ยึดมั่น จึงหลุดพ้นจากมาร เธอพึงทราบอรรถแห่งคำนี้ ที่เรากล่าวแล้ว อย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้เถิด.
[๑๓๙] ครั้งนั้นแล. ภิกษุรูปนั้นเพลิดเพลิน อนุโมทนาพระภาษิตของ พระผู้มี พระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายบังคม กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้งนั้นแล เธอเป็น ผู้ๆ เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมั่นคงอยู่ ไม่นานเท่าไร ก็ทำให้ แจ้ง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวช เป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.
รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ในจำนวน พระอรหันต์ ทั้งหลาย.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๓-๗๔
๒. มัญญมานสูตร
ว่าด้วยการถูกมารผูกมัดเพราะสำคัญในขันธ์ ๕
[๑๔๐] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส โปรดแสดงพระธรรมเทศนา โดยสังเขปแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว เป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาทมีความเพียร มีใจมั่นคงอยู่เถิด.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลยังมัวสำคัญอยู่ ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่สำคัญ จึงหลุดพ้นจากบ่วงมาร. ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทราบแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ ทราบแล้ว.
พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำ ที่กล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารได้ อย่างไรเล่า?
ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลสำคัญรูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ อยู่ ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่สำคัญ จึงหลุดพ้นจากบ่วงมาร.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ซึ้งถึงอรรถแห่งพระดำรัส ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้แล
พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำ ที่เรา กล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดาร อย่างดีแล้ว.
ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลสำคัญรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณอยู่ ก็ต้องถูก มารมัดไว้ เมื่อไม่สำคัญ จึงหลุดพ้นจากบ่วงมาร. เธอพึงทราบอรรถแห่งคำนี้ ที่เรากล่าว แล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้เถิด.
ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปนั้น เพลิดเพลิน อนุโมทนาพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายบังคม กระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป ครั้งนั้นแล เธอเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมั่นคงอยู่ ไม่นานเท่าไร ก็ทำให้แจ้ง ซึ่งที่สุด แห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวช เป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.
รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อ ความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ก็ภิกษุรูปนั้น ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ ทั้งหลาย.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๔-๗๕
๓. อภินันทมานสูตร
ว่าด้วยการถูกมารผูกมัดเพราะมัวเพลิดเพลิน
[๑๔๑] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส โปรดแสดงพระธรรมเทศนา โดยสังเขปแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว ฯลฯ มีใจมั่นคงอยู่เถิด.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ บุคคลเมื่อยังมัวเพลิดเพลินอยู่ ก็ต้องถูกมาร มัดไว้เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงพ้นจากบ่วงมารได้. ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ ทราบแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ ทราบแล้ว.
พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดาร ได้อย่างไรเล่า? ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลเมื่อยังมัวเพลิดเพลินรูป เวทนาสัญญา สังขาร และวิญญาณอยู่ ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงพ้นจากบ่วงมารได้.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ซึ้งถึงอรรถแห่งพระดำรัส ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้แล.
พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรา กล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดาร อย่างดีแล้ว.
ดูกรภิกษุ บุคคลเมื่อเพลิดเพลินรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณอยู่ ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงหลุดพ้นจากบ่วงมาร. เธอพึงทราบอรรถ แห่งคำ ที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้เถิด.
ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปนั้นเพลิดเพลิน อนุโมทนาพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายบังคม กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้งนั้นแล เธอเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมั่นคงอยู่ ไม่นานเท่าไร ก็ทำให้แจ้ง ซึ่ง ที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.
รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อ ความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ก็ภิกษุรูปนั้นได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ ทั้งหลาย.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๕-๗๖
๔. อนิจจสูตร
ว่าด้วยการละความพอใจในสิ่งที่เป็นอนิจจัง
[๑๔๒] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส โปรดแสดงพระธรรมเทศนา โดยสังเขปแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว ฯลฯ มีใจมั่นคงอยู่เถิด.
พ. ดูกรภิกษุ สิ่งใดแล เป็นของไม่เที่ยง เธอควรละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย. ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทราบแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ ทราบแล้ว.
พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดาร ได้อย่างไรเล่า? ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นของ ไม่เที่ยงข้าพระองค์ควรละความพอใจในสิ่งนั้นๆ เสีย.
ข้าพระองค์รู้ซึ้งถึงอรรถแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างย่อ โดย พิสดารอย่างนี้แล.
พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดาร อย่างดีแล้ว.
ดูกรภิกษุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง ควรละ ความพอใจในสิ่งนั้นๆเสีย. เธอพึงทราบอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดาร อย่างนี้เถิดฯลฯ ก็ภิกษุนั้น ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ ทั้งหลาย.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๖-๗๗
๕. ทุกขสูตร
ว่าด้วยการละความพอใจในสิ่งที่เป็นทุกข์
[๑๔๓] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ. ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรด ประทานพระวโรกาส โปรดแสดงพระธรรมเทศนา โดยสังเขปแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว ฯลฯ มีใจมั่นคงอยู่เถิด.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ สิ่งใดแลเป็นทุกข์ เธอควรละความพอใจ ในสิ่งนั้นเสีย. ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทราบแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ ทราบแล้ว.
พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้ซึ้งถึงอรรถ แห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดาร ได้อย่างไรเล่า?
ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นทุกข์ ข้าพระองค์ ควรละความพอใจในสิ่งนั้นๆ เสีย.
ข้าพระองค์รู้ซึ้งถึงอรรถแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างย่อ โดยพิสดาร อย่างนี้แล. พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดาร อย่างดีแล้ว.
ดูกรภิกษุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นทุกข์ ควรละความพอใจ ในสิ่งนั้นๆ เสีย. เธอพึงทราบอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้เถิด ฯลฯ ภิกษุรูปนั้น ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย. |