พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๘
โอปัมมสังยุตต์
๑. กูฏาคารสูตร (ว่าด้วยเรือนยอด)
[๖๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ... พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กลอนทั้งหลายของเรือนยอดทั้งหมดไปรวมที่ยอด ประชุม กันที่ยอด มียอดเป็นที่รวม สิ่งเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมรวมกันเข้าที่ยอด แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล อกุศลธรรม เหล่านั้นทั้งหมด มีอวิชชาเป็นมูล ประชุมกันที่อวิชชา มีอวิชชาเป็นที่รวม อกุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมดย่อมรวมกันเข้าที่อวิชชา เพราะเหตุดังนี้นั้น พวกเธอพึง ศึกษา อย่างนี้ว่า พวกเราจักเป็นผู้ไม่ประมาท
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๙
๓. กุลสูตร (ว่าด้วยตระกูล)
[๖๖๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย สกุลใดสกุลหนึ่งมีสตรีมาก มีบุรุษน้อย สกุลเหล่านั้น ย่อมถูกพวกโจรปล้นได้ง่าย แม้ฉันใด ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ไม่เจริญเมตตาเจโตวิมุติ ไม่กระทำให้มากแล้ว ภิกษุรูปนั้น ย่อมถูกพวกอมนุษย์กำจัดได้ง่าย ฉันนั้นเหมือนกัน
[๖๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สกุลเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีสตรีน้อย มีบุรุษมากสกุล เหล่านั้นย่อมถูกพวกโจรปล้นได้ยาก แม้ฉันใด ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เจริญเมตตาเจโตวิมุติ กระทำให้มากแล้ว ภิกษุรูปนั้นย่อมเป็นผู้อันอมนุษย์กำจัดได้ยากเพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญเมตตาเจโตวิมุติกระทำให้มาก กระทำให้ เป็นประดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้งอาศัย ให้มั่นคงสั่งสม ปรารภด้วยดี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๙ - ๓๐๐
๔. โอกขาสูตร (ว่าด้วยการให้ทาน)
[๖๖๗] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึง ให้ทาน ประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเช้า ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ ในเวลาเที่ยง ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเย็น
ผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเช้า โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนม แห่ง แม่โค หรือผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเที่ยง โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่ง แม่โค หรือผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเย็น โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่ง แม่โค
การเจริญเมตตาจิตนี้มีผลมากกว่าทานที่บุคคลให้แล้ว ๓ ครั้งในวันหนึ่งนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญเมตตาเจโตวิมุติ กระทำ ให้มาก กระทำให้เป็นประดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้งอาศัย ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภด้วยดี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๐๐ - ๓๐๑
๕. สัตติสูตร (ว่าด้วยหอก)
[๖๖๘] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หอกมีใบอันคม ถ้าบุรุษพึงมากล่าวว่า เราจักงอเข้า จักพับ จักม้วนซึ่งหอก มีใบอันคมนี้ด้วยฝ่ามือ หรือด้วยกำมือ ดังนี้ เธอจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน บุรุษนั้นเป็นผู้สามารถเพื่อจะงอเข้า เพื่อจะพับ เพื่อจะม้วน ซึ่งหอกมีใบอันคม โน้นด้วยฝ่ามือ หรือด้วยกำมือได้หรือหนอ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เป็นไปไม่ได้ พระเจ้าข้า
พ. ข้อนั้นเพราะเหตุไร
ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะว่าการที่จะงอเข้า จะพับและจะม้วนซึ่งหอก มีใบอันคม ด้วยฝ่ามือหรือด้วยกำมือ กระทำไม่ได้ง่าย ก็แหละบุรุษนั้น พึงเป็นผู้มีส่วน แห่งความเหน็ดเหนื่อย ลำบากถ่ายเดียว แม้ฉันใด
[๖๖๙] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เจริญเมตตาเจโตวิมุติ กระทำ ให้มาก กระทำให้เป็นประดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้งอาศัยให้มั่นคง สั่งสม ปรารภด้วยดี ถ้าอมนุษย์ จะพึงกระทำจิตของภิกษุนั้นให้ฟุ้งซ่าน อมนุษย์นั้น พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความ เหน็ดเหนื่อย ลำบากถ่ายเดียว ฉันนั้นเหมือนกัน (ภิกษุที่ตั้งมั่นในเจโตวิมุติ พวกอมนุษย์ ทำให้จิตภิกษุฟุ้งซ่านได้ยาก)
เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึง ศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญเมตตา เจโตวิมุติ กระทำให้มาก กระทำให้เป็นประดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้งอาศัย ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภด้วยดี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๐๑ - ๓๐๒
๖. ธนุคคหสูตร (ว่าด้วยการจับลูกธนู)
[๖๗๐] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายขมังธนู ๔ คน ถือธนูอันมั่นคง ได้ศึกษามาดีแล้ว เป็นผู้มีความชำนาญ เป็นผู้มีศิลป อันได้แสดง แล้วยืนอยู่แล้วในทิศทั้ง ๔ ถ้าบุรุษพึงมากล่าวว่าเราจักจับลูกธนูทั้งหลาย ที่นายขมังธนู ทั้ง ๔ เหล่านี้ยิงมาจากทิศทั้ง ๔ ไม่ให้ตกถึงแผ่นดิน เธอทั้งหลายจะสำคัญความ ข้อนั้น เป็นไฉน ควรจะกล่าวได้ว่าบุรุษผู้มีความเร็ว ประกอบด้วยความเร็วอย่างยอดเยี่ยม ดังนี้หรือ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าแม้บุรุษจะพึงจับลูกธนู ที่นายขมังธนู เพียงคนเดียวยิง ไม่ให้ตกถึงแผ่นดิน ก็ควรจะกล่าวได้ว่า บุรุษผู้มีความเร็ว ประกอบด้วยความเร็วอย่างยอดเยี่ยม จะกล่าวไปไยถึงการจับลูกธนูทั้ง ๔ ลูก ที่นายขมังธนู ๔ คนยิงมาจาก ๔ ทิศ แม้ฉันใด
[๖๗๑] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า ความเร็วของพระจันทร์ และ พระอาทิตย์ เร็วกว่าความเร็วของบุรุษนั้น ความเร็วของเทวดาที่ไปข้างหน้า พระจันทร์ พระอาทิตย์ เร็วกว่าความเร็วของบุรุษและความเร็วของพระจันทร์และพระอาทิตย์ อายุสังขารสิ้นไป เร็วกว่าความเร็วนั้นๆ เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษา อย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้แหละ
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๐๒
๗. อาณิสูตร (ว่าด้วยลิ่ม)
[๖๗๒] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ตะโพนชื่ออานกะ ของพวกกษัตริย์ ผู้มีพระนามว่าทสารหะได้มีแล้ว เมื่อตะโพนแตก พวกทสารหะ ได้ตอกลิ่มอื่นลงไป สมัยต่อมาโครงเก่าของตะโพนชื่ออานกะก็หายไป ยังเหลือแต่โครงลิ่ม แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุในอนาคตกาล เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคต กล่าวแล้ว อันลึกมีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรมอยู่ จักไม่ ปรารถนา ฟังจักไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้ และจักไม่สำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเล่าเรียน ควรศึกษาแต่ว่าเมื่อเขากล่าวพระสูตรอันนักปราชญ์รจนาไว้ อันนักปราชญ์ร้อยกรองไว้ มีอักษรอันวิจิตร มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นของภายนอก เป็นสาวกภาษิตอยู่ จักปรารถนา ฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเรียน ควรศึกษา
[๖๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระสูตรเหล่านั้น ที่ตถาคตกล่าวแล้วอันลึก มีอรรถ อันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรม จักอันตรธานฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุ ดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเขากล่าวพระสูตร ที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรม อยู่ พวกเราจักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรมเหล่านั้นว่า ควรเรียน ควรศึกษา ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๐๓
กลิงครสูตร (ว่าด้วยหมอนท่อนไม้)
[๖๗๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้ทูลรับ พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า
[๖๗๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบัน พวกกษัตริย์ ลิจฉวี ผู้ทรงไว้ซึ่งหมอนท่อนไม้หนุนศีรษะและเท้า ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาทมีความเพียร ในการฝึกซ้อมศิลป พระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตร พระเจ้าแผ่นดินมคธ ย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้โอกาส แต่กษัตริย์ลิจฉวีเหล่านั้น ในอนาคตกาลพวกกษัตริย์ลิจฉวี จักเป็นกษัตริย์ สุขุมาลชาติ มีมือและเท้าอันอ่อนนุ่ม จักสำเร็จการนอนบนที่นอน มีฟูกและหมอนหนา อันอ่อนนุ่ม จนกว่าพระอาทิตย์ขึ้นพระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตร พระเจ้าแผ่นดินมคธ จักได้ช่อง ได้โอกาส แต่กษัตริย์ลิจฉวีเหล่านั้น
[๖๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบัน พวกภิกษุผู้เข้าไปทรงไว้ซึ่งหมอนท่อนไม้ หนุนศีรษะและเท้า ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ในการเริ่มตั้งความเพียรอยู่ มารผู้มีบาป ย่อมไม่ได้ช่อง ย่อมไม่ได้โอกาส แต่ภิกษุเหล่านั้น ในอนาคตกาล พวกภิกษ ุจักเป็นสุขุมาลชาติ มีมือเท้าอันอ่อนนุ่ม จักสำเร็จการนอนบนที่นอนมีฟูก และหมอน หนาอันอ่อนนุ่ม จนกว่าพระอาทิตย์ขึ้นมารผู้มีบาปย่อมได้ช่อง ได้โอกาส แต่พวกเธอ เหล่านั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ทรงไว้ ซึ่งหมอนท่อนไม้หนุนศีรษะและเท้าไม่ประมาท มีความเพียร ในการเริ่มตั้งความเพียรไว้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๐๔-๓๐๕
๙. นาคสูตร (ว่าด้วยช้าง)
[๖๗๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล ภิกษุใหม่รูปหนึ่ง เข้าไปสู่สกุลเกินเวลา ภิกษุทั้งหลาย จึงกล่าวกะเธออย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ อย่าเข้าไปสู่สกุลเกินเวลาเลย เธอถูกพวกภิกษุ ทั้งหลาย ว่ากล่าวอยู่ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ก็ภิกษุชั้นเถระเหล่านี้จักสำคัญสกุลทั้งหลายว่า ควรเข้าไปหา ส่วนเราไฉนจักเข้าไปไม่ได้
ครั้งนั้นแล พวกภิกษุมากรูปด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นภิกษุเหล่านั้นนั่ง เรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุใหม่รูปหนึ่ง ในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปสู่สกุลเกินเวลา ภิกษุทั้งหลาย กล่าวกะเธออย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ อย่าเข้าไปสู่สกุลเกินเวลาเลย เธอเมื่อ ถูกภิกษุว่ากล่าวอยู่ ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ก็ภิกษุชั้นเถระเหล่านี้ จักสำคัญสกุลทั้งหลายว่า ควรเข้าไปหาส่วนเราไฉนจักเข้าไปไม่ได้
[๖๗๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีสระใหญ่ ที่ชายป่าแห่งหนึ่ง ช้างทั้งหลายอาศัยสระเหล่านั้นอยู่ ช้างเหล่านั้นลงสู่สระน้ำแล้ว ถอนเหง้าและรากบัวขึ้นด้วยงวง ล้างให้ดีแล้ว เคี้ยวกินเหง้าและรากบัวที่ไม่มีเปือกตม ข้อนั้นย่อมเป็นไปเพื่อวรรณ และเพื่อกำลังแก่ช้างเหล่านั้น ช้างเหล่านั้นย่อมไม่เข้าถึง ความตาย หรือทุกข์ปางตาย ซึ่งมี
ข้อนั้นเป็นเหตุ ส่วนลูกช้างเล็กๆ สำเหนียกตามช้างใหญ่เหล่านั้น นั่นเทียว พวกมันลงสู่สระนั้นแล้ว ถอนเหง้าและรากบัวขึ้นด้วยงวง ไม่ล้างให้ดีจึงเคี้ยวกิน ทั้งเปือกตม ข้อนั้นย่อมไม่เป็นไปเพื่อวรรณและเพื่อกำลัง แก่ลูกช้างเหล่านั้น ลูกช้างเหล่านั้นย่อมเข้าถึงความตายหรือทุกข์ปางตาย ซึ่งมีข้อนั้นเป็นเหตุ
[๖๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุผู้เถระในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เวลาเช้า นุ่งผ้าถือเอาบาตร และจีวรเข้าไปสู่บ้านหรือนิคม เพื่อบิณฑบาตพวกเธอย่อม กล่าวธรรมในที่นั้น คฤหัสถ์ทั้งหลายผู้เลื่อมใส ย่อมกระทำอาการเลื่อมใสแก่พวกเธอ พวกเธอไม่กำหนัด ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพัน มักเห็นโทษมีปัญญา เป็นเครื่องสลัดออก ย่อมบริโภคลาภนั้น
ข้อนั้นย่อมเป็นไปเพื่อวรรณ และเพื่อกำลัง แก่ภิกษุผู้เถระเหล่านั้น พวกเธอย่อม ไม่เข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตายซึ่งมีข้อนั้นเป็นเหตุ ส่วนพวกภิกษุใหม่ ผู้ตาม สำเหนียก ภิกษุผู้เถระเหล่านั้นนั่นเทียว เวลาเช้า นุ่งผ้าถือเอาบาตร และจีวรเข้าไป สู่บ้าน หรือนิคม เพื่อบิณฑบาตพวกเธอย่อมกล่าวธรรมในที่นั้น คฤหัสถ์ทั้งหลาย ผู้เลื่อมใส ย่อมกระทำอาการเลื่อมใสแก่พวกเธอ พวกเธอกำหนัด หมกมุ่น พัวพัน มักไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ย่อมบริโภคลาภนั้น
ข้อนั้นย่อมไม่เป็นไปเพื่อวรรณ และเพื่อกำลังแก่พวกเธอ พวกเธอย่อมเข้าถึง ความตาย หรือทุกข์ปางตาย ซึ่งมีข้อนั้นเป็นเหตุ เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึง ศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักไม่กำหนัด ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพัน มักเห็นโทษ มีปัญญา เป็นเครื่องสลัดออกบริโภค
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๐๖-๓๐๗
๑๑. สิคาลสูตรที่ ๑ (ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอก)
[๖๘๓] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ ได้ฟัง เรื่องของสุนัขจิ้งจอก ผู้อยู่ในปัจจุสมัยแห่งราตรีแล้วมิใช่หรือ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ได้ฟังมาแล้ว พระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุนัขจิ้งจอกแก่นี้แล เป็นโรคเรื้อน มันอยากจะไปทางไหน ก็ไปทางนั้น อยากจะยืนที่ไหนๆ ก็ยืนที่นั่น อยากจะนั่งที่ไหนก็นั่งที่นั่น อยากจะนอน ที่ไหน ก็นอนที่นั่น ลมเย็นๆ ย่อมรำเพยให้มัน
[๖๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุบางรูป ในธรรมวินัยนี้ ผู้ปฏิญาณว่าเป็น ศากยบุตร ได้เสวยการได้เฉพาะ ซึ่งอัตภาพแม้เห็นปานนี้ เป็นการดีนักหนา เพราะเหตุ ดังนี้นั้น เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้แหละ
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๐๗-๓๐๘
๑๒. สิคาลสูตรที่ ๒ (ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอก)
[๖๘๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ ได้ฟังเรื่องของสุนัขจิ้งจอก ผู้อยู่ในปัจจุสสมัยแห่งราตรีแล้วมิใช่หรือ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ได้ฟังแล้ว พระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความกตัญญูบางอย่าง ความกตเวทีบางอย่างพึงมีใน สุนัขจิ้งจอกแก่นั้น แต่ความกตัญญูบางอย่าง ความกตเวทีบางอย่าง ไม่พึงมีในภิกษุ บางรูป ผู้ปฏิญาณว่าเป็นศากยบุตร ในธรรมวินัยนี้เลย เพราะเหตุดังนี้นั้นเธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้กตัญญู เราจักเป็นผู้กตเวที อุปการะแม้น้อยที่บุคคล กระทำแล้วในพวกเรา จักไม่เสื่อมหายไป
ดูกรภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้แหละ |