พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๐๙-๓๑๐
ภิกขุสังยุตต์
๑. โกลิตสูตร (ว่าด้วยพระโกลิตะ)
[๖๘๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เรียกภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ได้รับคำท่าน พระมหาโมคคัลลานะแล้ว
[๖๘๗] ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้กล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ความปริวิตกแห่งใจได้บังเกิดขึ้นแก่เรา ผู้เร้นอยู่ในที่ลับอย่างนี้ว่า ที่เรียกว่า ดุษณี
ภาพอันประเสริฐ ดุษณีภาพอันประเสริฐ ดังนี้ ดุษณีภาพอันประเสริฐเป็นไฉน
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ความดำริได้มีแก่เราดังนี้ว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
เพราะระงับวิตกและวิจารเสียได้ จึงเข้าสู่ทุติยฌาน (ฌาณ๓) เป็นความผ่องใสแห่งใจ ใน ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
นี้เรียกว่าดุษณีภาพอันประเสริฐ
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เรานั้น เพราะระงับ
วิตกและวิจารเสียได้ จึงเข้าสู่ ทุติยฌาน เป็นความผ่องใสแห่งใจในภายใน เป็น
ธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิด แต่สมาธิอยู่ เมื่อเรานั้น
อยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญาและมนสิการ อันประกอบด้วยวิตก ย่อมฟุ้งขึ้น
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาเรา ด้วยฤทธิ์
ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า โมคคัลลานะ ๆ ผู้เป็นพราหมณ์อย่าประมาทดุษณีภาพ อันประเสริฐ เธอจงรวมจิตตั้งไว้ในดุษณีภาพ อันประเสริฐ จงกระทำจิตให้เป็นธรรม
เอกผุดขึ้นในดุษณีภาพอันประเสริฐ จงตั้งจิตมั่นไว้ในดุษณีภาพอันประเสริฐ
สมัยต่อมาเรานั้น เพราะระงับวิตก และวิจารเสียได้ จึงเข้าสู่ทุติยฌาน เป็นความผ่องใส
แห่งใจในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิด
แต่สมาธิอยู่ ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ หมายถึงบุคคลใด พึงกล่าวว่าสาวกผู้
อันพระศาสดาทรงอนุเคราะห์ ได้บรรลุความรู้อันยิ่งใหญ่แล้ว บุคคลเมื่อจะกล่าว
โดยชอบ พึงกล่าวหมายถึงเรานั้นว่า สาวกผู้อันพระศาสดา ทรงอนุเคราะห์ ได้
บรรลุความรู้อันยิ่งใหญ่แล้ว ดังนี้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๐-๓๑๑
๒. อุปติสสสูตร (ว่าด้วยพระอุปติสสะ)
[๖๘๘] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตร เรียก
ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้รับคำ ท่านพระสารีบุตร
แล้ว
[๖๘๙] ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ความ
ปริวิตกแห่งใจได้บังเกิดขึ้นแก่เรา ผู้เร้นอยู่ในที่ลับอย่างนี้ว่า โสกปริเทวทุกขโทมนัส
และอุปายาสพึงบังเกิดขึ้นแก่เรา เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นแห่งสัตว์ หรือ
สังขารใด สัตว์หรือสังขารบางอย่างนั้น ยังมีอยู่ในโลกหรือ เราได้มีความดำริว่า
โสกปริเทวทุกขโทมนัส และอุปายาส ไม่พึงบังเกิดขึ้นแก่เรา เพราะความแปรปรวน
เป็นอย่างอื่นแห่งสัตว์ หรือสังขารใด สัตว์หรือสังขารบางอย่างนั้น ไม่มีอยู่
ในโลกเลย
[๖๙๐] เมื่อท่านพระสารีบุตร กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าว
กะท่านพระสารีบุตร ดังนี้ว่า ดูกรท่านสารีบุตรผู้มีอายุ โสกปริเทวทุกขโทมนัส
และ อุปายาส ไม่พึงบังเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะความแปรปรวน เป็นอย่างอื่นแม้แห่ง
พระศาสดา แลหรือ
พระสารีบุตรกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ โสกปริเทวทุกข
โทมนัสและอุปายาส ไม่พึงบังเกิดขึ้นแก่เรา เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่น
แม้แห่งพระศาสดาแล
อนึ่ง ผมดำริว่า พระผู้มีพระภาค เป็นสัตว์ผู้มีศักดาใหญ่
มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ มาก อันตรธานไปแล้ว ถ้าพระองค์พึงดำรงอยู่ ตลอดกาลนาน
ข้อนั้นจักเป็นไป เพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อสุขแก่ชนเป็นอันมาก
เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทพยดา และมนุษย์
ทั้งหลาย
ก็ความจริง ท่านพระสารีบุตร ถอนอหังการ มมังการ และมานานุสัย
ได้นานแล้ว เพราะฉะนั้น โสกปริเทว ทุกขโทมนัส และอุปายาสทั้งหลาย จึงไม่บังเกิดขึ้นแก่ท่าน พระสารีบุตร เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่น แม้แห่งพระศาสดาแล ด้วยประการดังนี้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๑-๓๑๓
๓. ฆฏสูตร
[๖๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร และท่าน
พระมหาโมคคัลลานะ อยู่ในวิหารเดียวกัน ในพระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ครั้ง
นั้นแล เวลาเย็น ท่านพระสารีบุตร ออกจากที่เร้น เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้สนทนาปราศรัย กับท่านพระมหาโมคคัลลานะ รั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง
[๖๙๒] ครั้นท่านพระสารีบุตร นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระมหา
โมคคัลลานะว่า ท่านโมคคัลลานะ อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก ผิวหน้าของท่าน
บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ชะรอยวันนี้ ท่านมหาโมคคัลลานะ จะอยู่ด้วยวิหารธรรมอันละเอียด
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า อาวุโส วันนี้ผมอยู่ด้วยวิหารธรรม อันหยาบ อนึ่ง ผมได้มีธรรมีกถา
สา. ท่านมหาโมคคัลลานะได้มีธรรมีกถากับใคร
ม. ผมได้มีธรรมีกถากับพระผู้มีพระภาค
สา. เดี๋ยวนี้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ
ท่าน อนาถ บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ไกลนัก ท่านมหาโมคคัลลานะไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาค ด้วยฤทธิ์หรือ หรือว่า พระผู้มีพระภาค เสด็จมาหาท่าน มหาโมคคัลลานะ ด้วยฤทธิ์
ม. ผมไม่ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ด้วยฤทธิ์ แม้พระผู้มีพระภาค ก็ไม่ได้
เสด็จมาหาผมด้วยฤทธิ์ แต่ผมมีทิพยจักษุ และทิพยโสตธาตุ อันหมดจดเท่า พระผู้มีพระภาค แม้พระผู้มีพระภาค ก็ทรงมีทิพยจักษุ และทิพยโสตธาตุ อันหมดจดเท่าผม
สา. ท่านมหาโมคคัลลานะได้มีธรรมีกถา กับพระผู้มีพระภาคอย่างไร
[๖๙๓] ม. ผมได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ในที่นี้ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าผู้ปรารภความเพียรๆ ดังนี้ ก็บุคคลจะชื่อว่าเป็นผู้ปรารภความเพียร ด้วยเหตุประมาณเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า อาวุโส เมื่อผมกราบทูลอย่างนี้แล้ว
พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะผมดังนี้ว่า
โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็น
ผู้ปรารภความเพียร ด้วยตั้ง สัตยาธิษฐานว่า จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็นและกระดูก
ก็ตามที เลือดและเนื้อในร่างกาย จงเหือดแห้งไปเถิด ผลอันใดที่จะพึงบรรลุได้ด้วย
เรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียร ของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ ยังไม่
บรรลุผลนั้นแล้ว จะหยุดความเพียรเสีย เป็นอันไม่มี โมคคัลลานะ ภิกษุย่อมเป็น
ผู้ปรารภความเพียรอย่างนี้แล อาวุโส ผมได้มีธรรมีกถา กับพระผู้มีพระภาค
อย่างนี้แล
[๖๙๔] สา. อาวุโส เปรียบเหมือนก้อนหินเล็กๆ ที่บุคคลเอาไปวาง
เปรียบเทียบกับขุนเขา หิมพานต์ฉันใด เราเมื่อเปรียบเทียบเคียงกับท่าน มหาโมคคัลลานะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แท้จริง ท่านมหาโมคคัลลานะ เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มี
อานุภาพมาก เมื่อจำนงอยู่ พึงตั้งอยู่ได้ตลอดกัปแล
[๖๙๕] ม. อาวุโส ก้อนเกลือเล็กๆ ที่บุคคลหยิบเอาไปวางเปรียบเทียบ
กับหม้อเกลือใหญ่ ฉันใด ผมเมื่อเปรียบเทียบท่านสารีบุตร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
แท้จริง ท่านพระสารีบุตร เป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชม ทรงสรรเสริญ ทรงยกย่องแล้ว โดยปริยายมิใช่น้อย มีอาทิว่า ภิกษุผู้ถึงซึ่งฝั่ง คือพระนิพพาน เป็นผู้เยี่ยมด้วยปัญญา ด้วยศีลและอุปสมะ คือพระสารีบุตร ดังนี้
ท่านมหานาคทั้งสองนั้น เพลิดเพลินคำสนทนา ที่เป็นสุภาษิตของกันและ
กัน ด้วยประการดังนี้แล
|