พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๐-๗๑
๖. อุปัชฌายสูตร
[๕๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปหาอุปัชฌาย์ของตนถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ กายของผมหนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ แก่ผม ธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่แจ่มแจ้งแก่ผม ถีนมิทธะย่อมครอบงำจิตของผม ผมไม่ยินดี ประพฤติพรหมจรรย์ และผมมีความสงสัย ในธรรมทั้งหลาย
ครั้งนั้น ภิกษุนั้น พาภิกษุสัทธิวิหาริกนั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้กล่าวอย่างนี้ว่า บัดนี้ กาย ของผมหนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่แจ่มแจ้ง แก่ผม ถีนมิทธะย่อมครอบงำจิตของผม ผมไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และผมมีความ สงสัย ในธรรมทั้งหลาย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุ การที่กายของเธอหนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ ธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่แจ่มแจ้งแก่เธอ เธอไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และเธอมีความ สงสัยในธรรมทั้งหลายนี้ ย่อมมีแก่ภิกษุ ผู้ไม่คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณ ในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร เป็นเครื่องตื่นอยู่ ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรม ทั้งหลาย ไม่ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งหลาย ทุกวัน ทุกคืน
ดูกรภิกษุ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียร เป็นเครื่องตื่นอยู่ เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ประกอบการ เจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งหลาย ทุกวัน ทุกคืน ดังนี้
ดูกรภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ครั้งนั้นแล ภิกษุนั้นอันพระผู้มีพระภาค ตรัสสอน ด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ลุกขึ้นจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ แล้วหลีกไป ภิกษุนั้น หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่อยู่ ไม่นานเท่าไรได้ทำให้แจ้ง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญา อันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก ก็แลภิกษุนั้นได้เป็นพระอรหันต์ รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย
ครั้งนั้น ภิกษุนั้น ได้บรรลุอรหัตแล้ว จึงเข้าไปหาอุปัชฌาย์ของตน ถึงที่อยู่ แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ กายผมไม่หนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อมปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายย่อมแจ่มแจ้งแก่ผม ถีนมิทธะย่อมไม่ครอบงำจิตของผม ผมยินดีประพฤติ พรหมจรรย์ และผมไม่มีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย
ครั้งนั้น ภิกษุนั้น พาภิกษุผู้สัทธิวิหาริก นั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ภิกษุนี้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ กายของผมไม่หนักขึ้น ทิศทั้งหลาย ย่อมปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายย่อมแจ่มแจ้งแก่ผม ถิ่นมิทธะ ย่อมไม่ ครอบงำจิต ของผม ผมยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และผมไม่มีความสงสัย ในธรรม ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุ การที่กายของเธอไม่หนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอ ธรรมทั้งหลายย่อมแจ่มแจ้งแก่เธอ ถิ่นมิทธะย่อมไม่ครอบงำจิตของเธอ เธอยินดี ประพฤติพรหมจรรย์ และเธอไม่มีความสงสัย ในธรรมทั้งหลายนี้ ย่อมมีได้แก่ภิกษุ ผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียร เป็นเครื่องตื่นอยู่ เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ประกอบการ เจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งหลาย ทุกวัน ทุกคืน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจัก เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ประกอบการ เจริญ โพธิปักขิยธรรม ทั้งหลาย ทุกวัน ทุกคืน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงศึกษา อย่างนี้แล
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๑-๗๕
๗. ฐานสูตร
(ฐานะ๕ ประการที่ควรพิจารณาเนืองๆ)
[๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า
๑.เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒.เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
๓.เรามีความตาย เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔.เราจะต้องพลัดพราก จากของรัก ของชอบใจทั้งสิ้น
๕.เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผล ของกรรมนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ ไปได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุ ให้ สัตว์ทั้งหลาย ประพฤติทุจริต ด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณา ฐานะ นั้น อยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมา ในความเป็นหนุ่มสาวนั้น ได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบา บางลงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัย อำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่าเรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความ เจ็บไข้ ไปได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในความไม่มีโรค มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุ ให้สัตว์ทั้งหลาย ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะ นั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมา ในความไม่มีโรคนั้น ได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบาง ลงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บ ไปได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตาย ไปได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในชีวิต มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ ทั้งหลาย ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้น อยู่เนืองๆ ย่อมละ ความมัวเมาในชีวิต นั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณา เนืองๆ ว่า เรามีความตาย เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะต้องพลัดพราก จากของรักของชอบใจ ทั้งสิ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจ ความรักใคร่ ในของรักมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุ ให้สัตว์ทั้งหลาย ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้น อยู่เนืองๆ ย่อมละความพอใจ ความรักใคร่ในของรักนั้น ได้โดยสิ้นเชิงหรือทำให้เบาบาง ลงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะต้องพลัดพราก จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใดดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายทุจริตวจีทุจริต มโนทุจริต มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย เมื่อเขา พิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละทุจริตได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่ง กรรม มีกรรมเป็น กำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็น ผู้รับผลของกรรมนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียว เท่านั้นที่มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ โดยที่แท้สัตว์ทั้งปวง บรรดา ที่มีการมาการไป การจุติการอุบัติ ล้วนมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ความแก่ไปได้
เมื่ออริยสาวกนั้น พิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้น ย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพอบรม ทำให้มากซึ่งมรรค นั้นอยู่ ย่อมละ สังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป
อริยสาวกนั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้น ที่มีความเจ็บ ไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวงบรรดาที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ เมื่ออริยสาวกนั้น พิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น
อริยสาวกนั้นย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ อบรม ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป อริยสาวกนั้น ย่อมพิจารณา เห็น ดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้น ที่มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวงบรรดา ที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมีความตาย เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
เมื่ออริยสาวกนั้น พิจารณาฐานะนั้น อยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้น ย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละ สังโยชน์ได้อนุสัยย่อมสิ้นไป
อริยสาวกนั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้น ที่จะต้อง พลัดพราก จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวงบรรดา ที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนจะต้องพลัดพราก จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
เมื่ออริยสาวกนั้น พิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้นอริยสาวกนั้น ย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละ สังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป
อริยสาวกนั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้น ที่มีกรรมเป็น ของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใดดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวง บรรดาที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใดดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
เมื่ออริยสาวกนั้น พิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้น ย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละ สังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป
สัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีความแก่ เป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้ เป็นธรรมดา มีความ ตาย เป็นธรรมดา สัตว์ทั้งหลายย่อม เป็นไปตามธรรมดา พวกปุถุชน ย่อมเกลียด ถ้าเรา พึงเกลียด ธรรมนั้น ในพวกสัตว์ผู้มีอย่างนั้นเป็นธรรมดา ข้อนั้นไม่สมควรแก่เรา ผู้เป็นอยู่ อย่างนี้
เรานั้นเป็นอยู่อย่างนี้ ทราบ ธรรมที่หาอุปธิมิได้ เห็นการออกบวช โดยเป็นธรรม เกษม ครอบงำความมัวเมาทั้งปวง ในความไม่มีโรค ในความเป็น หนุ่มสาว และในชีวิต ความอุตสาหะได้มีแล้ว แก่เราผู้ เห็นเฉพาะซึ่งนิพพาน บัดนี้ เราไม่ควรเพื่อเสพกาม ทั้งหลาย จักเป็นผู้ประพฤติไม่ถอยหลัง ตั้งหน้าประพฤติพรหมจรรย์
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๕-๗๘
๘. กุมารลิจฉวีสูตร
(ธรรม ๕ ประการมีอยู่แก่กุลบุตรผู้เป็นขัตติยราช)
[๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวันใกล้เมือง เวสาลี ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาค ทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตร และจีวร เสด็จเข้าไป สู่เมืองเวสาลี เพื่อบิณฑบาต
ครั้นเสด็จ กลับจากบิณฑบาตแล้ว เวลาปัจฉาภัต เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน ประทับนั่งพักผ่อนกลางวัน ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ก็สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีกุมารหลายคน ถือธนูที่ขึ้นสาย มีฝูงสุนัขแวดล้อม เดินเที่ยวไปในป่ามหาวัน ได้เห็นพระผู้มีพระภาค ประทับนั่ง อยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง แล้วจึงวางธนูที่ขึ้นสาย ปล่อยฝูงสุนัขไป ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ต่างนั่งนิ่ง ประนม อัญชลี อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค
ก็สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีนามว่ามหานามะ เดินพักผ่อนอยู่ในป่ามหาวัน ได้เห็นเจ้า ลิจฉวีกุมารเหล่านั้น ผู้ต่างนั่งนิ่งประนมอัญชลีอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค แล้วจึงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้เปล่งอุทานว่า เจ้าวัชชีจักเจริญๆ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกรมหานามะ ก็เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่าเจ้าวัชชีจักเจริญๆ
ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ เป็นผู้ดุร้าย หยาบคายกระด้าง ของขวัญต่างๆ ที่ส่งไปในตระกูลทั้งหลาย คือ อ้อย พุทรา ขนมขนมต้ม หรือขนมแดกงา เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ ย่อมแย่งชิงกิน ย่อมเตะหลังหญิงแห่งตระกูลบ้าง เตะหลังกุมารี แห่ง ตระกูลบ้าง แต่บัดนี้ เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ ต่างนั่งนิ่ง ประนมอัญชลีอยู่ใกล้ พระผู้มีพระภาค
พ. ดูกรมหานามะ ธรรม ๕ ประการมีอยู่แก่กุลบุตร คนใดคนหนึ่ง เป็นขัตติยราช ได้รับมูรธาภิเษกแล้วก็ตาม ผู้ปกครองรัฐ ซึ่งรับมรดกจากบิดา ก็ตามเป็นอัครเสนาบดี ก็ตาม เป็นผู้ปกครองหมู่บ้านก็ตาม หัวหน้าพวกก็ตาม ผู้เป็นใหญ่ เฉพาะตระกูลก็ตาม กุลบุตรนั้น พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อมธรรม ๕ ประการเป็นไฉน
ดูกรมหานามะ กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชามารดาบิดา ด้วยโภคทรัพย์ ที่ได้มาด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้น ด้วยกำลังแขนของตน ได้มา โดยอาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม มารดาบิดาผู้ได้รับการสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้น ด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตร ผู้อันมารดาบิดาอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม
อีกประการหนึ่ง กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บุตร ภรรยาทาส กรรมกร และคนใช้ ด้วยโภคทรัพย์ ที่ได้มาด้วยความหมั่น ความขยันสะสมขึ้นด้วย กำลัง แขนของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยชอบธรรม บุตร ภริยา ทาส กรรมกร และคนใช้ ผู้ได้รับสักการะ เคารพนับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้น ด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรผู้อันบุตร ภริยา ทาส กรรมกร และคนใช้อนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม
อีกประการหนึ่ง กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เพื่อนชาวนา และคน ที่ร่วมงาน ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน ของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรมเพื่อนชาวนา และคนที่ ร่วมงานผู้ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้นด้วยน้ำใจ อันงามว่า ขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนานกุลบุตร ผู้อันเพื่อนชาวนา และคนที่ร่วมงาน อนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม
อีกประการหนึ่ง กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เทวดาผู้รับ พลีกรรม ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน ของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เทวดาผู้รับพลีกรรม ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้ นด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิต ยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้รับความเจริญ ส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม
อีกประการหนึ่ง กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา สมณพราหมณ์ ด้วยโภคทรัพย์ ที่หาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขนของตนได้มา โดยอาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม สมณพราหมณ์ผู้ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้น ด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรอันสมณพราหมณ์ อนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้รับความเจริญ ส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม
ดูกรมหานามะ ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมมีอยู่แก่กุลบุตร คนใดคนหนึ่ง เป็น ขัตติยราช ผู้ได้รับมูรธาภิเษกก็ตาม ผู้ปกครองรัฐ ซึ่งได้รับมรดกจากบิดาก็ตาม เป็น อัครเสนาบดีก็ตาม ผู้ปกครองหมู่บ้าน ก็ตามหัวหน้าพวกก็ตาม ผู้เป็นใหญ่เฉพาะตระกูล ก็ตาม พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม
กุลบุตรผู้โอบอ้อมอารี มีศีล ย่อมทำ การงานแทนมารดาบิดา บำเพ็ญประโยชน์แก่บุตร ภริยา แก่ชนภายในครอบครัว แก่ผู้อาศัยเลี้ยงชีพ แก่ชนทั้งสองประเภท
กุลบุตรผู้เป็น บัณฑิต เมื่ออยู่ครองเรือนโดยธรรม ย่อมยังความยินดีให้ เกิดขึ้น แก่ญาติทั้งที่ล่วงลับไปทั้งที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน แก่ สมณพราหมณ์ เทวดา กุลบุตรนั้น ครั้นบำเพ็ญกัลยาณธรรม แล้ว เป็นผู้ควรบูชา ควรสรรเสริญ บัณฑิตทั้งหลายย่อม สรรเสริญเขาในโลกนี้ เขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจ ในสวรรค์
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๘
๙. ทุลลภสูตรที่ ๑
(ภิกษุบวชเมื่อแก่ สูตร ๑)
[๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบวชเมื่อแก่ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ หาได้ยาก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบวชเมื่อแก่ เป็นคนละเอียดหาได้ยาก เป็นผู้มีมรรยาท สมบูรณ์หาได้ยาก เป็นพหูสูตร หาได้ยาก เป็นธรรมกถึกหาได้ยาก เป็นวินัยธรหาได้ยาก
ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุบวชเมื่อแก่ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล หาได้ยาก
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๘-๗๙
๑๐. ทุลลภสูตรที่ ๒
(ภิกษุบวชเมื่อแก่ สูตร ๒)
[๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบวชเมื่อแก่ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ หาได้ยาก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบวชเมื่อแก่ เป็นผู้ว่าง่าย หาได้ยาก เป็นผู้คงแก่เรียน หาได้ยาก เป็นผู้รับโอวาท ด้วยความเคารพ หาได้ยาก เป็นธรรมกถึก หาได้ยาก เป็นวินัยธร หาได้ยาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบวชเมื่อแก่ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล หาได้ยาก
|