เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

อาทิยสูตร (การจัดการทรัพย์ที่หามาได้) สัปปุริสสูตร (อปุมาสัปบุรุษ) อิฏฐสูตร อภิสันทสูตร สัมปทาสูตร ธนสูตร โกสลสูตร นารทสูตร 1975
 


อาทิยสูตร (การจัดการทรัพย์ที่หามาได้ ๕ ประการ)
ได้ทรัพย์มาโดยชอบธรรม เลี้ยงตน เลี้ยงมารดาบิดา เลี้ยงบุตร ภรรยา ทาส กรรมกร คนใช้ ให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ.. หากเราถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์นี้แล้ว และโภคทรัพย์ของเราก็เจริญขึ้น อริยสาวกนั้น ย่อมไม่มีความเดือดร้อน

สัปปุริสสูตร (อปุมาสัปบุรุษ เหมือนมหาเมฆ)
มหาเมฆ ยังข้าวกล้าทั้งปวงให้งอกงาม ชื่อว่าย่อมมีมาเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเป็นอันมาก ฉันใด สัปบุรุษ เมื่อเกิดในสกุล ย่อมเกิดมาเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเป็นอันมาก คือ แก่มารดาบิดา แก่บุตรภริยา แก่ทาส กรรมกร คนรับใช้แก่ มิตรสหาย แก่สมณพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกัน

อิฏฐสูตร (ธรรม ๕ ประการ หาได้โดยยากในโลก)
คือ อายุ ๑ วรรณะ ๑ สุขะ ๑ ยศ ๑ สวรรค์ ๑

อภิสันทสูตร (ห้วงบุญ ห้วงกุศล ๕ ประการ)
เป็นเหตุนำสุขมาให้ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศ ให้เป็นไป ย่อมเป็นไป เพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข คือ ภิกษุบริโภคจีวร.. บริโภคบิณฑบาต.. บริโภควิหาร.. บริโภคเตียงตั่ง.. บริโภคคิลานปัจจัยเภสัช ของผู้ใด เข้าเจโตสมาธิ อันหาประมาณมิได้

สัมปทาสูตร (สัมปทา ๕ ประการ เป็นไฉน)
    ๑.สัทธาสัมปทา
    ๒.สีลสัมปทา
    ๓.สุตสัมปทา
    ๔.จาคสัมปทา
    ๕.ปัญญาสัมปทา

ธนสูตร (ทรัพย์ ๕ ประการ เป็นไฉน)
    ๑.ทรัพย์ คือ ศรัทธา
    ๒.ทรัพย์ คือ ศีล
    ๓.ทรัพย์ คือ สุตะ
    ๔.ทรัพย์ คือจาคะ
    ๕.ทรัพย์ คือ ปัญญา

โกสลสูตร (พระเจ้าปเสนทิโกศลฯ มีทุกข์โทมนัส เมื่อพระนางมัลลิกาเทวี ได้ทิวงคต)
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มารพรหม หรือ ใครๆ ในโลก ไม่พึงได้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ฐานะว่าขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา อย่าแก่.. ขออย่าเจ็บ ขออย่าตาย ขออย่าสิ้นไป ขออย่าฉิบหาย...

นารทสูตร (พระนารทะกล่าวภาษิต แก่ พระเจ้ามุณฑะ ผู้สูญเสียราชเทวี)
ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกไม่พึงได้
    ๑.ขอสิ่งที่มีความแก่ เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าแก่
    ๒.ขอสิ่งที่มีความเจ็บไข้ เป็นธรรมดา [ของเรา]อย่าเจ็บไข้
    ๓.ขอสิ่งที่มีความตาย เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าตาย
    ๔.ขอสิ่งที่มีความสิ้นไป เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าสิ้นไป
    ๕.ขอสิ่งที่มีความฉิบหาย เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าฉิบหายไป

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๔-๔๖

มุณฑราชวรรคที่ ๕
๑. อาทิยสูตร

             [๔๑] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาค ได้ตรัส กับ ท่านอนาถ บิณฑิกคฤหบดีว่า

             ดูกรคฤหบดี ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้
๕ ประการ เป็นไฉน คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มา โดยธรรม เลี้ยงตน ให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำบริหารตนให้เป็นสุขสำราญ เลี้ยงมารดาบิดา ให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ เลี้ยงบุตร ภรรยา ทาส กรรมกร คนใช้ ให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่ โภคทรัพย์ ข้อที่ ๑

             อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เลี้ยงมิตรสหาย ให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ นี้เป็นประโยชน์ ที่จะพึงถือเอา แต่โภคทรัพย์ ข้อที่ ๒

             อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม ป้องกัน อันตรายที่เกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ทำตนให้สวัสดี นี้เป็น ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ข้อที่ ๓

             อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม ทำพลี ๕ อย่าง คือ
๑. ญาติพลี [บำรุงญาติ]
๒. อติถิพลี [ต้อนรับแขก]
๓. ปุพพเปตพลี [บำรุงญาติผู้ตายไปแล้ว คือทำบุญอุทิศกุศลให้]
๔. ราชพลี [บำรุงราชการ คือบริจาคทรัพย์ช่วยชาติ]
๕. เทวตาพลี [บำรุงเทวดา คือทำบุญอุทิศให้เทวดา] นี้ เป็นประโยชน์ ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ข้อที่ ๔

             อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม บำเพ็ญ ทักษิณา มีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดี ในสมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ผู้มั่นคง ฝึกฝนตนให้สงบระงับดับกิเลส โดยส่วนเดียวนี้ เป็นประโยชน์ ที่จะพึงถือเอาแต่ โภคทรัพย์ ข้อที่ ๕

             ดูกรคฤหบดี ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้แล ถ้าเมื่อ อริยสาวกนั้น ถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ โภคทรัพย์หมดสิ้นไป อริยสาวกนั้น ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์นั้นแล้ว และโภคทรัพย์ของเรา ก็หมดสิ้นไป ด้วยเหตุนี้ อริยสาวกนั้น ย่อมไม่มีความเดือดร้อน ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้น ถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้โภคทรัพย์เจริญขึ้น อริยสาวกนั้น ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์นี้แล้ว และ โภคทรัพย์ของเราก็เจริญขึ้น อริยสาวกนั้น ย่อมไม่มีความเดือดร้อน อริยสาวก ย่อมไม่มี ความเดือดร้อนด้วยเหตุทั้ง ๒ ประการฉะนี้แล

             นรชนเมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ว่า เราได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงตน แล้ว ได้ใช้จ่าย โภคทรัพย์เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยงแล้ว ได้ผ่านพ้น ภัยที่เกิดขึ้นแล้ว ได้ให้ทักษิณาอันมีผล สูงเลิศแล้ว ได้ทำ พลี ๕ ประการแล้ว และได้บำรุงท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ ประพฤติ พรหมจรรย์แล้ว บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือน พึงปรารถนา โภคทรัพย์ เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้น เราก็ได้บรรลุ แล้ว เราได้ทำสิ่งที่ไม่ต้องเดือดร้อนแล้ว ดังนี้ชื่อว่าเป็นผู้ ดำรงอยู่ในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญ เขาในโลกนี้ เมื่อเขาละ จากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจใน สวรรค์

------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๖

๒. สัปปุริสสูตร

             [๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัปบุรุษเมื่อเกิดในสกุล ย่อมเกิดมาเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเป็นอันมาก คือ แก่มารดาบิดาแก่บุตรภริยา แก่ทาส กรรมกร คนรับใช้ แก่มิตรสหาย แก่สมณพราหมณ์

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาเมฆ ยังข้าวกล้าทั้งปวงให้งอกงาม ชื่อว่าย่อมมีมาเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเป็นอันมาก ฉันใด สัปบุรุษ เมื่อเกิดในสกุล ย่อมเกิดมาเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเป็นอันมาก คือ แก่มารดาบิดา แก่บุตรภริยา แก่ทาส กรรมกร คนรับใช้แก่มิตรสหาย แก่สมณพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกัน

             สัปบุรุษผู้ครอบครองโภคทรัพย์ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชน เป็นอันมาก เทวดาย่อมรักษาเขาผู้อันธรรมคุ้มครอง เป็นพหูสูต สมบูรณ์ด้วยศีลและความประพฤติ เกียรติย่อมไม่ ละเขาผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครจะสามารถติเตียนเขาผู้ตั้งอยู่ใน ธรรม สมบูรณ์ ด้วยศีล มีวาจาสัจ มีหิริในใจ เปรียบเหมือน แท่งทองชมพูนุท แม้เทวดาก็ชม แม้พรหม ก็สรรเสริญเขา


------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๗-๔๘

๓. อิฏฐสูตร

             [๔๓] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกับ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ว่า

             ดูกรคฤหบดี ธรรม ๕ ประการนี้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้โดยยาก ในโลก ๕ ประการเป็นไฉน คืออายุ ๑ วรรณะ ๑ สุขะ ๑ ยศ ๑ สวรรค์ ๑

             ดูกรคฤหบดี ธรรม ๕ ประการนี้แล น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ โดยยาก ในโลก

             ธรรม ๕ ประการนี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้โดยยากในโลกเรา มิได้กล่าวว่า จะพึงได้เพราะเหตุแห่งความอ้อนวอน หรือเพราะเหตุแห่งความปรารถนา ถ้าธรรม ๕ ประการนี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้โดยยากในโลก จักได้เพราะ เหตุแห่งความอ้อนวอน หรือเพราะเหตุแห่งความปรารถนาแล้วไซร้ ในโลกนี้ ใครจะพึง เสื่อมจากอะไร

             ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ต้องการอายุ ไม่ควรอ้อนวอน หรือเพลิดเพลินอายุ หรือแม้เพราะเหตุแห่งอายุ

             อริยสาวกผู้ต้องการอายุ พึงปฏิบัติปฏิปทา อันเป็นไปเพื่ออายุ เพราะปฏิปทา อันเป็นไปเพื่ออายุ ที่พระอริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้อายุ อริยสาวก ผู้นั้นย่อมได้อายุที่เป็นของทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์

             อริยสาวกผู้ต้องการวรรณะ ไม่ควรอ้อนวอน หรือเพลิดเพลินวรรณะ หรือแม้ เพราะเหตุแห่งวรรณะ อริยสาวกผู้ต้องการวรรณะ พึงปฏิบัติปฏิปทา อันเป็นไปเพื่อ วรรณะ เพราะปฏิปทา อันเป็นไปเพื่อวรรณะ ที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อให้ได้วรรณะ อริยสาวกนั้น ย่อมได้วรรณะที่เป็นของทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์

             อริยสาวกผู้ต้องการสุข ไม่อ้อนวอน หรือเพลิดเพลินสุข หรือแม้เพราะเหตุ แห่งสุข อริยสาวกผู้ต้องการสุข พึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสุข เพราะปฏิปทา อันเป็นไปเพื่อสุขที่อริยสาวกนั้น ปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้สุข อริยสาวกนั้น ย่อมได้สุขที่เป็นของทิพย์

             หรือของมนุษย์ อริยสาวกผู้ต้องการยศ ไม่ควรอ้อนวอน หรือเพลิดเพลินยศ หรือแม้เพราะเหตุแห่งยศ อริยสาวกผู้ต้องการยศ พึงปฏิบัติปฏิปทา อันเป็นไปเพื่อยศ เพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อยศ ที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อให้ได้ยศ อริยสาวกนั้น ย่อมได้ยศที่เป็นของทิพย์

             หรือของมนุษย์ อริยสาวก ผู้ต้องการสวรรค์ ไม่ควรอ้อนวอน หรือเพลิดเพลิน สวรรค์ หรือแม้เพราะเหตุแห่งสวรรค์ อริยสาวกผู้ต้องการสวรรค์ พึงปฏิบัติปฏิปทา อันเป็นไปเพื่อสวรรค์ เพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสวรรค์ ที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้สวรรค์ อริยสาวกนั้นย่อมได้สวรรค์

             ชนผู้ปรารถนาอายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สวรรค์ ความเกิด ในตระกูลสูง และ ความเพลินใจ พึงทำความไม่ประมาทให้ มากยิ่งขึ้น บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญ ความไม่ประมาท ในการทำบุญ บัณฑิตผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยึดถือประโยชน์ ทั้งสอง ไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ใน สัมปรายภพ ผู้มีปัญญา ท่านเรียกว่า บัณฑิต เพราะบรรลุถึง ประโยชน์ทั้งสองนั้น


------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๑-๕๒

๕. อภิสันทสูตร

             [๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญ ห้วงกุศล ๕ ประการนี้ เป็นเหตุนำสุขมาให้ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไป ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่น่า ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

             ๕ ประการเป็นไฉน คือ

     ๑.ภิกษุบริโภคจีวรของผู้ใด เข้าเจโตสมาธิ อันหาประมาณมิได้อยู่ ห้วงบุญ ห้วงกุศลของ ผู้นั้น หาประมาณมิได้ เป็นเหตุนำสุขมาให้ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์ เลิศให้เป็นไป ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข
     ๒.ภิกษุบริโภคบิณฑบาตของผู้ใด ...
     ๓.ภิกษุบริโภควิหารของผู้ใด ...
     ๔.ภิกษุบริโภคเตียง ตั่งของผู้ใด ...
     ๕.ภิกษุบริโภค คิลานปัจจัยเภสัชของผู้ใด เข้าเจโตสมาธิ อันหาประมาณมิได้อยู่ ห้วงบุญ ห้วงกุศล ของผู้นั้นหาประมาณมิได้ เป็นเหตุนำสุขมาให้เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไป ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญ ห้วงกุศล ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุนำสุขมาให้ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไป ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่น่า ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ก็การที่จะถือเอาประมาณ แห่งบุญ ของอริยสาวกผู้ประกอบ ด้วยห้วงบุญ ห้วงกุศล ๕ ประการนี้ว่า ห้วงบุญ ห้วง กุศล มีประมาณเท่านี้ เป็นเหตุนำสุขมาให้ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์ เลิศให้เป็นไป ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ดังนี้

             พึงทำไม่ได้โดยง่าย โดยที่แท้ ย่อมถึงการนับว่า กองบุญใหญ่ นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ เปรียบเหมือนการถือเอา ประมาณน้ำในมหาสมุทรว่า น้ำนี้มีประมาณ อาฬหกะเท่านี้ มีร้อยอาฬหกะเท่านี้ มีพันอาฬหกะเท่านี้ หรือมีแสนอาฬหกะเท่านี้ ไม่ใช่ทำได้โดยง่าย ย่อมถึงการนับว่า เป็นห้วงน้ำใหญ่ นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ ฉันนั้น

             แม่น้ำเป็นที่อยู่แห่งฝูงปลา ส่วนมากย่อมหลั่งไหลไปสู่สาคร ห้วงทะเลหลวง อันจะประมาณไม่ได้ มีสิ่งที่น่ากลัวมาก เป็นที่อยู่แห่งรัตนะหลายชนิด ฉันใด ห้วงบุญ ย่อมหลั่งไหล เข้าสู่นรชนผู้เป็นบัณฑิต ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ที่นั่ง เครื่องปูลาด เหมือนห้วงน้ำหลั่งไหลเข้าไปสู่สาคร ฉะนั้น


------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๒

๖. สัมปทาสูตร

             [๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ ประการนี้
    ๕ ประการเป็นไฉน คือ
    ๑.สัทธาสัมปทา
    ๒.สีลสัมปทา
    ๓.สุตสัมปทา
    ๔.จาคสัมปทา
    ๕.ปัญญาสัมปทา

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ ประการนี้แล


------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๒-๕๓

๗. ธนสูตร


             [๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๕ ประการนี้
    ๕ ประการเป็นไฉน คือ
    ๑.ทรัพย์ คือ ศรัทธา
    ๒.ทรัพย์ คือ ศีล
    ๓.ทรัพย์ คือ สุตะ
    ๔.ทรัพย์ คือจาคะ
    ๕.ทรัพย์ คือ ปัญญา

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์ คือ ศรัทธาเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้ ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่าทรัพย์ คือ ศรัทธา ก็ทรัพย์ คือ ศีลเป็นไฉน

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ เว้นขาดจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่าทรัพย์คือ ศีล ก็ทรัพย์ คือ สุตะเป็นไฉน

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดด้วยดี ด้วยทิฐิ นี้เรียกว่าทรัพย์ คือ สุตะ ก็ทรัพย์คือ จาคะเป็นไฉน

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการเสียสละ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการจำแนกทาน นี้เรียกว่าทรัพย์ คือ จาคะ ก็ทรัพย์ คือ ปัญญาเป็นไฉน

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญา อันหยั่งถึงความตั้งขึ้น และความเสื่อมไป เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์ โดยชอบ นี้เรียกว่าทรัพย์คือ ปัญญา

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๕ ประการนี้แล

             ผู้ใดมีความเชื่อในตถาคต ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว มีศีลอันงาม อันพระอริยะชอบใจ สรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า ไม่เป็นคน ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะเหตุนั้น ผู้มี ปัญญา เมื่อนึกถึง คำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึง ประกอบศรัทธา ศีล ปสาทะ และความเห็น ธรรมเนืองๆ เถิด

------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๖-๕๗

โกสลสูตร
(พระนางมัลลิกาเทวี ได้ทิวงคตแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีทุกข์โทมนัส เศร้าสลด)

             [๔๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จ เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ก็สมัยนั้น พระนางมัลลิกาเทวีได้ทิวงคต

             ครั้งนั้น ราชบุรุษคนหนึ่ง เข้าไปกราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศล ที่ใกล้พระกรรณ ว่า ขอเดชะพระนางมัลลิกาเทวี ได้ทิวงคตแล้ว ครั้นเขากราบทูลดังนี้แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ทรงมีทุกข์โทมนัส ประทับนั่งเหงาหงอย ก้มพระพักตร์ เศร้าสลด อัดอั้น

             ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงทราบดังนั้นแล้ว จึงตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ว่า ดูกรมหาบพิตร ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มารพรหม หรือ ใครๆ ในโลกไม่พึงได้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ฐานะว่า ขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าแก่ ๑ ฯลฯ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ดังนี้


------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๗-๖๓

๑๐. นารทสูตร
(พระนารทะ กล่าวไวยากรณ์ภาษิต แก่ พระเจ้ามุณฑะ ผู้สูญเสียราชเทวี)

             [๕๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระนารทะ อยู่ที่กุกกุฏาราม ใกล้พระนครปาตลีบุตร ก็สมัยนั้น พระนางภัททาราชเทวี ผู้เป็นที่รัก เป็นที่พอพระทัย แห่งพระราชาพระนามว่า มุณฑะ ได้ทิวงคต เมื่อพระนางภัททาราชเทวี ผู้เป็นที่รักเป็นที่พอพระทัย ทิวงคตไปแล้ว พระราชาก็ไม่สรงสนาน ไม่ทรงแต่งพระองค์ไม่เสวย ไม่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ทรงซบเซาอยู่ที่พระศพพระนาง ตลอดคืนตลอดวัน

             ครั้งนั้น พระราชาได้ตรัสสั่งมหาอำมาตย์ ชื่อว่าโสการักขะ ผู้เป็นที่รักว่า ท่านโสการักขะ ผู้เป็นที่รัก ท่านจงยกพระศพพระนางภัททาราชเทวีลงในรางเหล็ก ที่เต็มด้วยน้ำมัน แล้วปิดด้วยรางเหล็กอันอื่นอีก เพื่อให้เราได้เห็นพระศพพระนาง นานได้เท่าไรยิ่งดี โสการักขะมหาอำมาตย์ รับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ก็ได้จัดการยกพระศพพระนางลงในรางเหล็ก ที่เต็มด้วยน้ำมัน แล้วปิดด้วยรางเหล็ก อันอื่นอีก

             ครั้งนั้น โสการักขะมหาอำมาตย์จึงคิดว่า เมื่อพระนางภัททาราชเทวี ผู้เป็นที่รัก ที่พอพระทัย แห่งพระเจ้ามุณฑะนี้ ได้ทิวงคตไปแล้ว พระราชาไม่สรงสนาน ไม่ทรงแต่ง พระองค์ ไม่เสวย ไม่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ทรงซบเซาอยู่ที่พระศพพระนาง ตลอดคืน ตลอดวัน พระราชาพึงเสด็จเข้าไปหาสมณะ หรือพราหมณ์รูปใดหนอ ได้ทรง สดับธรรมแล้ว จะพึงทรงละลูกศร คือความโศกได้

             ลำดับนั้น โสการักขะ มหาอำมาตย์จึงคิดว่า ท่านพระนารทะรูปนี้ อยู่ที่ กุกกุฏาราม ใกล้พระนครปาตลีบุตร ก็กิตติศัพท์อันงาม ของท่านพระนารทะขจรไปแล้ว อย่างนี้ว่า เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำวิจิตร มีปฏิภาณดีงาม เป็นวุฑฒบุคคล และเป็นพระอรหันต์ จึงควรที่พระเจ้ามุณฑะ จะเสด็จเข้าไปหา เพื่อบางทีได้ทรงสดับธรรมของท่านแล้ว พึงทรงละลูกศร คือ ความโศกได้

             ลำดับนั้น โสการักขะมหาอำมาตย์ จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้ามุณฑะ แล้วกราบทูล ว่า ขอเดชะ ท่านพระนารทะรูปนี้ อยู่ที่กุกกุฏาราม ใกล้พระนครปาตลีบุตร ก็กิตติศัพท์ อันงามของท่านพระนารทะ ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำอันวิจิตร มีปฏิภาณดีงาม เป็นวุฑฒบุคคล และเป็นพระอรหันต์

             ก็ถ้าพระองค์ จะพึงเสด็จเข้าไปหาท่านแล้วไซร้ บางทีได้ทรงสดับธรรม ของท่านแล้ว พึงทรงละลูกศร คือ ความโศกได้ พระเจ้ามุณฑะ จึงตรัสสั่งว่า ท่านโสการักขะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปบอกท่านพระนารทะให้ทราบ เพราะกษัตริย์ เช่นเรา พึงเข้าใจว่า สมณะหรือพราหมณ์ ที่อยู่ในราชอาณาจักร ยังไม่ได้แจ้งให้ทราบ ก่อน จะพึงเข้าไปหาได้อย่างไร โสการักขะมหาอำมาตย์ รับสนองพระบรมราชโองการ แล้ว ได้เข้าไปหาท่านพระนารทะ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

             ครั้นแล้ว กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระนางภัททาราชเทวีผู้เป็นที่รัก ที่พอ พระทัยแห่งพระเจ้ามุณฑะนี้ ได้ทิวงคตแล้ว เมื่อพระนางภัททาราชเทวี ผู้เป็นที่รัก ที่พอ พระทัย ได้ทิวงคตไปแล้ว พระราชาก็ไม่สรงสนาน ไม่ทรงแต่งพระองค์ ไม่เสวย ไม่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ทรงซบเซาอยู่ที่พระศพ แห่งพระนางภัททาราชเทวี ตลอดคืน ตลอดวัน

             ขอท่านพระนารทะ จงแสดงธรรมแก่พระราชา โดยให้พระราชาพึงทรงละลูกศร คือความโศกได้ เพราะได้ทรงสดับธรรม ของท่านพระนารทะ ท่านพระนารทะจึงกล่าวว่า ดูกรมหาอำมาตย์ ขอให้พระราชา ทรงทราบเวลาที่ควร ณ บัดนี้

             ลำดับนั้นโสการักขะ มหาอำมาตย์ลุกจากที่นั่ง อภิวาทท่านพระนารทะ ทำประทักษิณเสร็จแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้ามุณฑะแล้ว กราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านพระนารทะได้เปิดโอกาสให้เสด็จไปหาได้แล้ว

             บัดนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเวลา ที่ควรเถิดพระเจ้าข้า พระเจ้ามุณฑะตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงให้พนักงานเทียมพาหนะที่ดีๆ ไว้ โสการักขะมหาอำมาตย์ รับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ได้ให้พนักงานเทียมพระราชพาหนะที่ดีๆ ไว้เสร็จแล้ว จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าได้ให้พนักงาน เทียมพระราชพาหนะที่ดีๆ ไว้เสร็จแล้ว ขอพระองค์ จงทรงทราบเวลาที่ควรเถิดพระเจ้าข้า

             ลำดับนั้น พระเจ้ามุณฑะ เสด็จขึ้นทรงพระราชพาหนะที่ดีๆ ไปสู่กุกกุฏาราม เพื่อพบปะกับท่านพระนารทะ ด้วยพระราชานุภาพอย่างใหญ่ยิ่ง เสด็จไปเท่าที่ พระราชพาหนะ จะไปได้ เสด็จลงจากพระราชพาหนะแล้ว เสด็จพระราชดำเนินเข้าไป สู่อาราม เข้าไปหาท่านพระนารทะ ทรงอภิวาทแล้ว ประทับ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

             ครั้นแล้ว ท่านพระนารทะ ได้กล่าวกะพระเจ้ามุณฑะ ว่า ขอถวายพระพร ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกไม่พึงได้

ฐานะ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ฐานะว่า

ขอสิ่งที่มีความแก่ เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าแก่
ขอสิ่งที่มีความเจ็บไข้ เป็นธรรมดา [ของเรา]อย่าเจ็บไข้
ขอสิ่งที่มีความตาย เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าตาย
ขอสิ่งที่มีความสิ้นไป เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าสิ้นไป
ขอสิ่งที่มีความฉิบหาย เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าฉิบหายไป

             อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ในโลก ไม่พึงได้ ขอถวาย พระพร สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมแก่ไป เมื่อสิ่งที่มี ความแก่ เป็นธรรมดาแก่ไปแล้วเขาย่อมไม่พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความแก่ เป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้น แก่ไป โดยที่แท้

             สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ของสัตว์ทั้งปวง ที่มีการมาการไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมแก่ไปทั้งสิ้น ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยาก รับประทาน แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอมแม้การงาน ก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตร ก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ ดังนี้
             เมื่อ สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา แก่ไปแล้ว เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย นี้เรียกว่าปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกลูกศร คือ ความโศก ที่มีพิษเสียบแทงเข้าแล้ว ย่อมทำตนให้เดือดร้อน ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง
สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเจ็บไข้ ...
สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมตายไป ...
สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมสิ้นไป ...
สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมฉิบหายไป              เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว เขาย่อมไม่พิจารณาเห็น ดังนี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ของเราผู้เดียวเท่านั้น ฉิบหายไป โดยที่แท้ สิ่งที่มีความฉิบหาย เป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวง ที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมฉิบหายไปทั้งสิ้น ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายไป เป็นธรรมดา ฉิบหาย ไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงายแม้อาหารเรา ก็ไม่อยากรับประทาน

             แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตร ก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ฉิบหาย ไปแล้ว เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ หลงงมงาย นี้เรียกว่าปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ ถูกลูกศร คือ ความโศกที่มีพิษเสียบแทงเข้าแล้ว ย่อมทำตนให้เดือดร้อน ขอถวายพระพร ส่วนว่าสิ่งที่มีความแก่ เป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมแก่ไป เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว

             อริยสาวกนั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ของเรา ผู้เดียวเท่านั้นแก่ไป โดยที่แท้ สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ของสัตว์ทั้งปวง ที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมแก่ไปทั้งสิ้น ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความแก่ เป็นธรรมดา แก่ไปแล้ว พึงเศร้าโศกลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย

             แม้อาหารเรา ก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงาน ก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว

             อริยสาวกนั้น ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก คร่ำครวญ ไม่หลงงมงาย นี้เรียกว่าอริยสาวก ผู้ได้สดับ ถอนลูกศร คือ ความโศกที่มีพิษ อันเป็นเครื่องเสียบแทงปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ทำตนให้เดือดร้อน อริยสาวกผู้ไม่มีความโศก ปราศจากลูกศร ย่อมดับทุกข์ร้อนได้ด้วยตนเอง ขอถวายพระพร

             อีกประการหนึ่ง สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมเจ็บไข้ ...
สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมตายไป ...
สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมสิ้นไป ...
สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมฉิบหายไป เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว

             อริยสาวกนั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ของเราผู้เดียวเท่านั้น ฉิบหายไป โดยที่แท้ สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ของสัตว์ทั้งปวง ที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมฉิบหายไปทั้งสิ้น

             ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารเรา ก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ ดังนี้

             เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว อริยสาวกนั้น ย่อมไม่เศร้าโศกไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก คร่ำครวญ ไม่หลงงมงาย นี้เรียกว่า อริยสาวกผู้ได้สดับ ถอนลูกศร คือ ความเศร้าโศกที่มีพิษ ซึ่งเสียบแทงปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ทำตนให้เดือดร้อน อริยสาวกผู้ไม่มีความโศก ปราศจากลูกศร ย่อมดับทุกข์ร้อนได้ด้วยตนเอง ขอถวายพระพร

             ฐานะ ๕ ประการนี้แล อันสมณะ พราหมณ์เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกนี้ไม่พึงได้

             ท่านพระนารทะ ครั้นกล่าวไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้กล่าวคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

             ประโยชน์แม้เล็กน้อยในโลกนี้ อันใครๆ ย่อมไม่ได้เพราะ การเศร้าโศก เพราะการคร่ำครวญ พวกอมิตรทราบว่าเขา เศร้าโศก เป็นทุกข์ ย่อมดีใจ ก็คราวใด บัณฑิตพิจารณา รู้เนื้อความ ไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย คราวนั้น พวก อมิตรเห็นหน้า อันไม่ผิดปกติของบัณฑิตนั้น ยิ้มแย้มตามเคย ย่อมเป็นทุกข์

              บัณฑิตพึงได้ประโยชน์ในที่ใดๆ ด้วย ประการ ใดๆ เพราะการสรรเสริญ เพราะความรู้ เพราะ กล่าวคำสุภาษิต เพราะการบำเพ็ญทาน หรือเพราะประเพณี ของตน ก็พึงบากบั่นในที่นั้นๆ ด้วยประการนั้นๆ ถ้าพึง ทราบว่า ความต้องการอย่างนี้ อันเราหรือผู้อื่นไม่พึงได้ไซร้ ก็ไม่ควรเศร้าโศก ควรตั้งใจทำงานโดยเด็ดขาดว่า บัดนี้เรา ทำอะไรอยู่ ดังนี้

             เมื่อท่านพระนารทะกล่าวจบแล้วอย่างนี้ พระเจ้ามุณฑะได้ตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ธรรมปริยายนี้ชื่ออะไร ท่านพระนารทะตอบว่า ขอถวายพระพร ธรรมปริยายนี้ชื่อ โสกสัลลหรณะ

             พระเจ้ามุณฑะตรัสชมว่า ท่านผู้เจริญโสกสัลลหรณ ธรรมปริยายดีนัก โสกสัลลหรณธรรมปริยายดีนัก ท่านผู้เจริญเพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้ ข้าพเจ้าจึงละลูกศร คือ ความโศกได้

             ครั้งนั้นพระเจ้ามุณฑะ ได้ตรัสสั่งโสการักขะมหาอำมาตย์ว่า ท่านจงถวายพระเพลิงพระศพ พระนางภัททาราชเทวี แล้วจึงทำเป็นสถูปไว้ ตั้งแต่วันนี้ไป เราจักอาบน้ำแต่งตัว บริโภคอาหาร และประกอบการงาน

 





หนังสือพุทธวจน ธรรมะของพระศาสดา
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์