พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๕-๓๖
๓. อุคคหสูตร
[๓๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ชาติยาวัน ใกล้เมืองภัททิยะ ครั้งนั้นแล ท่านอุคคหเศรษฐี ผู้เป็นหลานท่านเมณฑกเศรษฐี ได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย ภิกษุ ๓ รูปจงทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ ในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วย ดุษณีภาพ ท่านอุคคหเศรษฐีทราบว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจาก อาสนะ ถวายบังคมทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้งนั้นแลพอล่วงราตรีนั้นไป เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ถือบาตรจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของ ท่านอุคคหเศรษฐี ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้
ครั้งนั้น ท่านอุคคหเศรษฐีหลาน ของเมณฑกเศรษฐี ได้อังคาสพระผู้มีพระภาค ให้อิ่มหนำสำราญด้วยขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีต ด้วยมือของตนเอง เมื่อทราบว่า พระผู้มีพระภาค ทรงเสวยเสร็จแล้ว ทรงลดพระหัตถ์จากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมารีเหล่านี้ของข้าพระองค์ จักไปอยู่สกุลสามี ขอพระผู้มีพระภาค ทรงกล่าวสอน ทรงพร่ำสอนกุมารีเหล่านั้น ซึ่งจะพึงเป็นประโยชน์สุข แก่กุมารีเหล่านั้น ตลอดกาลนาน
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนกุมารีเหล่านั้นต่อไปดังนี้ว่า
ดูกรกุมารี เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า มารดาบิดาของ สามี ที่เป็นผู้ปรารถนาประโยชน์ หวังความเกื้อกูลอนุเคราะห์ ด้วยความเอ็นดู เราทั้งหลาย จักตื่นก่อนท่านนอนทีหลังท่าน คอยรับใช้ท่าน ประพฤติเป็นที่พอใจท่าน พูดคำเป็นที่รักต่อท่าน
ดูกรกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดเป็นที่เคารพของสามี คือ มารดา บิดาหรือ สมณพราหมณ์ เราทั้งหลาย จักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เมื่อท่านมาถึงที่ก็จักต้อนรับ ด้วยที่นั่งหรือน้ำ
ดูกรกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า การงานภายในบ้านของสามี คือ การทำขนสัตว์ หรือ การทำผ้า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้นๆ จักประกอบด้วย ปัญญาเครื่องพิจารณา อันเป็นอุบายในการงานนั้นๆ อาจทำ อาจจัด
ดูกรกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักรู้การงานที่อันโตชนภายในบ้านของสามี คือ ทาส คนใช้ หรือกรรมกร ทำแล้ว ว่าทำแล้ว ที่ยังไม่ได้ทำ ว่ายังไม่ได้ทำ จักรู้คน ป่วยไข้ว่า มีกำลังหรือไม่มีกำลัง และจักแบ่งของเคี้ยวของบริโภค ให้ตามเหตุที่ควร
ดูกรกุมารีทั้งหลายเธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักยังทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทอง ที่สามีหามาได้ให้คงอยู่ ด้วยการรักษา คุ้มครอง จักไม่เป็นนักเลงการพนัน ไม่เป็นขโมย ไม่เป็นนักดื่ม ไม่ผลาญทรัพย์ให้พินาศ
ดูกรกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล
ดูกรกุมารีทั้งหลาย มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เมื่อตายไป แล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายเทวดา เหล่ามนาปกายิกา
สุภาพสตรีผู้มีปรีชา ย่อมไม่ดูหมิ่นสามีผู้หมั่นเพียร ขวนขวาย อยู่เป็นนิตย์ เลี้ยงตนอยู่ทุกเมื่อ ให้ความปรารถนาทั้งปวง ไม่ทำสามีให้ขุ่นเคือง ด้วยประพฤติแสดง ความหึงหวงสามี และย่อมบูชาผู้ที่เคารพทั้งปวงของสามี เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี ประพฤติเป็นที่พอใจของสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามา ได้ นารีใดย่อมประพฤติ ตามความพอใจของสามีอย่างนี้ นารีนั้นย่อมเข้าถึง ความเป็น เทวดาเหล่ามนาปกายิกา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๗-๓๘
๔. สีหสูตร
[๓๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใกล้เมือง เวสาลี ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว ได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค ทรงสามารถ บัญญัติผลแห่งทาน ที่จะพึงเห็นได้ในปัจจุบันหรือหนอ พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า สามารถ ท่านสีหเสนาบดี แล้วจึงตรัสต่อไปว่า ดูกรท่านสีหเสนาบดี ทายกผู้เป็นทานบดี ย่อม เป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก แม้ข้อนี้เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษผู้สงบ ย่อมคบหาทายกผู้เป็นทานบดี แม้ข้อนี้ก็เป็นผล แห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์อันงามของทายก ผู้เป็นทานบดีย่อมขจร แม้ข้อนี้ ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี จะเข้าไปสู่ที่ประชุมใดๆ คือที่ประชุม กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ ก็ย่อมเป็นผู้องอาจไม่เก้อเขินเข้าไป แม้ข้อนี้ก็เป็นผล แห่งทาน ที่จะพึงเห็นเอง
อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่งทาน ที่จะพึงได้ในสัมปรายภพ
เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสดังนี้แล้ว สีหเสนาบดีจึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ๔ ข้อ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสบอกแล้ว ข้าพระองค์ ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค ในผลแห่งทาน ๔ ข้อนี้ก็หามิได้แม้ข้าพระองค์เองก็ทราบดี คือ ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก สัตบุรุษผู้สงบ ย่อมคบหาข้าพระองค์ ผู้เป็นทายกเป็นทานบดี กิตติศัพท์อันงามของ ข้าพระองค์ผู้เป็นทายก เป็นทานบดี ย่อมขจรทั่วไปว่า สีหเสนาบดีเป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้บำรุงพระสงฆ์ ข้าพระองค์ผู้เป็นทายก เป็นทานบดี จะเข้าไปสู่ที่ประชุมใดๆ คือ ที่ประชุมกษัตริย์พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ ก็ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ๔ ข้อนี้
พระผู้มีพระภาค ตรัสบอกแล้ว ข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค ในผล แห่งทาน ๔ ข้อนี้ ก็หามิได้ แม้ข้าพระองค์เองก็ย่อมทราบดี ส่วนผลแห่งทานที่จะพึง เห็นเอง (ข้อที่ ๕) ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสบอกข้าพระองค์ว่า ทายกผู้เป็นทานบดีเมื่อตาย ไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบ ก็แต่ว่าข้าพระองค์ ย่อมเชื่อ ต่อพระผู้มีพระภาคในข้อนี้ ฯ พระผู้มีพระภาค ตรัสย้ำว่า อย่างนั้นท่านสีหเสนาบดีๆ คือ ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
นรชนผู้ไม่ตระหนี่ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชนเป็นอันมาก ย่อม คบหานรชนนั้น นรชนนั้นย่อมได้เกียรติ มียศ เจริญ เป็นผู้ไม่เก้อเขินแกล้วกล้า เข้าสู่ ที่ประชุมชน เพราะเหตุนี้แล บัณฑิตผู้หวังสุข จงขจัดมลทิน คือ ความ ตระหนี่ แล้วให้ ทาน บัณฑิตเหล่านั้นย่อมประดิษฐานใน ไตรทิพย์ ถึงความเป็นสหายของเทวดา ร่าเริง อยู่ตลอดกาล นาน บัณฑิตเหล่านั้น ได้ทำสิ่งที่มุ่งหวัง ได้ทำกุศลแล้ว จุติจากโลกนี้แล้ว ย่อมมีรัศมีเปล่งปลั่ง เที่ยวชมไปใน อุทยานชื่อนันทนวัน ย่อมเพรียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ เพลิดเพลินรื่นเริงบันเทิงใจ อยู่ในนันทนวัน สาวกทั้งปวง ของพระสุคตผู้ไม่มีกิเลส ผู้คงที่ ทำตามพระดำรัสของ พระองค์แล้ว ย่อมร่าเริงทุกเมื่อ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๘-๓๙
๕. ทานานิสังสสูตร
[๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ
๑.
ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก
๒.
สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน
๓.
กิตติศัพท์อันงาม ของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป
๔.
ผู้ให้ทาน ย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์
๕.
ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการนี้แล
ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชื่อว่าดำเนินตาม ธรรมของสัปบุรุษ สัปบุรุษผู้สงบผู้สำรวมอินทรีย์ ประกอบ พรหมจรรย์ ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัปบุรุษเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา เขาได้ทราบ ชัดแล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ปรินิพพานในโลกนี้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๙-๔๐
๖. กาลทานสูตร
[๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑.
ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน
๒.ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป
๓.ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เป็นไข้
๔.ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง
๕.ทายกย่อมให้ข้าวอย่างดี และผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้แล
ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทาน ในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้า ทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจ ผ่องใส ทักขิณาทานจึงจะมีผลไพบูลย์ ชนเหล่าใดย่อมอนุโมทนา หรือช่วยเหลือใน ทักขิณาทานนั้น ทักขิณาทานนั้นย่อมไม่มี ผลบกพร่อง เพราะการอนุโมทนา หรือการ ช่วยเหลือนั้น แม้พวกที่อนุโมทนา หรือช่วยเหลือ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ เพราะฉะนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอย จึงควรให้ทานในเขตที่มีผล มาก บุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ ทั้งหลายในปรโลก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๐
๗. โภชนทานสูตร
[๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทาน ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่าง แก่ปฏิคาหก ๕ อย่างเป็นไฉน คือ
๑.
ให้อายุ
๒.
ให้วรรณะ
๓.
ให้สุข
๔.
ให้กำลัง
๕.
ให้ปฏิภาณ
-ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุ ทั้งที่เป็นทิพย์ทั้งที่เป็นมนุษย์
-ครั้นให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะ ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์
-ครั้นให้สุขแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสุข ทั้งที่เป็นทิพย์ทั้งที่เป็นมนุษย์
-ครั้นให้กำลังแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งกำลัง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์
-ครั้นให้ปฏิภาณแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งปฏิภาณ ทั้งที่เป็นทิพย์ทั้งที่เป็นมนุษย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทาน ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างนี้แล
ปราชญ์ผู้มีปัญญา ให้อายุย่อมได้อายุ ให้กำลัง ย่อมได้ กำลัง ให้วรรณะย่อมได้ วรรณะ ให้ปฏิภาณย่อมได้ปฏิภาณ ให้สุขย่อมได้สุข ครั้นให้อายุ กำลัง วรรณะ สุข และ ปฏิภาณแล้วจะเกิดในที่ใดๆ ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๐-๔๑
๘. สัทธานิสังสสูตร
[๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมมีอานิสงส์ ๕ ประการ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัปบุรุษผู้สงบในโลกทุกๆ ท่าน
๑.
เมื่อจะอนุเคราะห์ย่อมอนุเคราะห์ ผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่อนุเคราะห์ ผู้ไม่มี ศรัทธาก่อนผู้อื่น
๒.
เมื่อจะเข้าไปหา ย่อมเข้าไปหาผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่เข้าไปหาผู้ไม่มีศรัทธา ก่อนผู้อื่น
๓.
เมื่อจะต้อนรับ ย่อมต้อนรับผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่ต้อนรับ ผู้ไม่มีศรัทธาก่อน ผู้อื่น
๔.
เมื่อจะแสดงธรรม ย่อมแสดงธรรม แก่ผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่แสดงธรรม แก่ผู้ไม่มีศรัทธาก่อนผู้อื่น
๕.
กุลบุตรผู้มีศรัทธาเมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมมีอานิสงส์ ๕ ประการนี้ แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไทรใหญ่ ที่ทางสี่แยก มีพื้นราบเรียบ ย่อมเป็นที่พึ่งของพวกนกโดยรอบ ฉันใด กุลบุตรผู้มีศรัทธา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็น ที่พึ่งของชนเป็นอันมาก คือ ภิกษุ ภิกษุณีอุบาสก อุบาสิกา
ต้นไม้ใหญ่ สล้างด้วยกิ่ง ใบ และผล มีลำต้นแข็งแรง มีรากมั่นคง สมบูรณ์ด้วย ผล ย่อมเป็นที่พึ่งของนกทั้งหลาย ฝูงนกย่อมอาศัยต้นไม้นั้น ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ ให้เกิด สุข ผู้ต้องการความร่มเย็น ย่อมเข้าไปอาศัยร่มเงา ผู้ต้องการผล ก็ย่อมบริโภค ผลได้ ฉันใด ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจาก โทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ เป็นบุญเขต ในโลก ย่อมคบหาบุคคลผู้มีศรัทธา ซึ่งสมบูรณ์ด้วยศีล ประพฤติ ถ่อมตน ไม่กระด้าง สุภาพ อ่อนโยน มีใจมั่นคง ฉันนั้น เหมือนกัน ท่านเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรม เครื่อง บรรเทา ทุกข์ ทั้งปวงแก่เขา เขาเข้าใจทั่วถึงธรรมนั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้หมด อาสวกิเลส ปรินิพพาน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๑-๔๒
๙. ปุตตสูตร
[๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดา บิดา เล็งเห็นฐานะ ๕ ประการนี้ จึงปรารถนา บุตรเกิดในสกุล ฐานะ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑.
บุตรที่เราเลี้ยงมา แล้วจักเลี้ยงตอบแทน
๒.
จักทำกิจแทนเรา
๓.
วงศ์สกุลจักดำรงอยู่ได้นาน
๔.
บุตรจักปกครองทรัพย์มรดก
๕.
เมื่อเราตายไปแล้ว บุตรจักบำเพ็ญทักษิณาทานให้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดา บิดา เล็งเห็นฐานะ ๕ ประการนี้แล จึงปรารถนาบุตร เกิดในสกุล
มารดาบิดาผู้ฉลาด เล็งเห็นฐานะ ๕ ประการจึงปรารถนาบุตร ด้วยหวังว่า บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้ว จักเลี้ยงตอบเรา จักทำ กิจแทนเรา วงศ์สกุลจักดำรงอยู่ได้นาน บุตรจักปกครอง ทรัพย์มรดก และเมื่อเราตายไปแล้ว บุตรจักบำเพ็ญทักษิณา ทานให้ มารดาบิดาผู้ฉลาด เล็งเห็นฐานะเหล่านี้ จึงปรารถนาบุตร
ฉะนั้นบุตรผู้เป็นสัปบุรุษ ผู้สงบ มีกตัญญูกตเวที เมื่อระลึกถึงบุรพคุณของท่าน จึงเลี้ยงมารดาบิดา ทำกิจแทน ท่าน เชื่อฟังโอวาท เลี้ยงสนองพระคุณท่าน สมดังที่ท่าน เป็นบุรพการี ดำรงวงศ์สกุล บุตรผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมเป็นที่สรรเสริญทั่วไป ฯ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๒-๔๓
๑๐. สาลสูตร
[๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นสาละใหญ่ อาศัยขุนเขาหิมวันต์ ย่อมเจริญด้วย ความเจริญ ๕ ประการ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑.
ย่อมเจริญด้วยกิ่งและใบ
๒.
ย่อมเจริญด้วยเปลือก
๓.
ย่อมเจริญด้วยกะเทาะ
๔.
ย่อมเจริญด้วยกระพี้
๕.
ย่อมเจริญด้วยแก่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นสาละใหญ่ อาศัยขุนเขาหิมวันต์ ย่อมเจริญด้วย ความเจริญ ๕ ประการนี้แล ฉันใด ชนภายในอาศัยเจ้าบ้านผู้มีศรัทธา ย่อมเจริญด้วย ความเจริญ ๕ ประการ ฉันนั้นเหมือนกันแล
ความเจริญ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑.
ย่อมเจริญด้วยศรัทธา
๒.
ย่อมเจริญด้วยศีล
๓.
ย่อมเจริญด้วยสุตะ
๔.
ย่อมเจริญด้วยจาคะ
๕.
ย่อมเจริญด้วยปัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนภายในอาศัยเจ้าบ้านผู้มีศรัทธา ย่อมเจริญด้วย ความเจริญ ๕ ประการนี้แล
ต้นไม้ทั้งหลาย อาศัยบรรพตศิลา ล้วนในป่าใหญ่ ย่อมเจริญ ขึ้นเป็นไม้ใหญ่ ชั้นเจ้าป่า ฉันใด บุตร ภรรยา มิตร อำมาตย์ หมู่ญาติ และคนที่เข้าไปอาศัยเลี้ยงชีพ ทั้งหลาย ในโลกนี้ ได้อาศัยกุลบุตรผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล จึงเจริญได้ ฉันนั้น เหมือนกัน ชนเหล่านั้นเห็นศีล จาคะและ สุจริตทั้งหลาย ของกุลบุตรผู้มีศีล จาคะและ สุจริตนั้น เมื่อประจักษ์ชัดแล้ว ย่อมประพฤติตาม ชนเหล่านั้น ครั้น ประพฤติธรรม อันเป็น ที่ไปสู่สวรรค์ สุคติ ในโลกนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้เพลิดเพลิน เพียบพร้อมด้วยกาม บันเทิงใจ ในเทวโลก |