พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖๗-๑๖๙
อาชัญญสูตร (ว่าด้วยม้าอาชาไนย)
[๑๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวประเสริฐ ของพระราชา ประกอบด้วย องค์สมบัติ ๘ ประการ สมควรเป็นม้าต้นม้าทรง ย่อมถึงการนับว่า เป็นราชพาหนะ ได้ทีเดียว องค์สมบัติ ๘ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้า
อาชาไนยตัวประเสริฐของพระราชาในโลกนี้
๑.ย่อมมีกำเนิดดีทั้งฝ่ายคือฝ่ายมารดาและบิดาเกิดในทิศที่ม้าอาชาไนยตัวอื่นเกิดกัน
๒.ย่อมบริโภคของกินที่เขาให้สดหรือแห้งก็ตาม เรียบร้อย ไม่เรี่ยราด
๓.ย่อมรังเกียจที่จะนั่งหรือนอนทับอุจจาระปัสสาวะ
๔.เป็นสัตว์ยินดี มีการอยู่ร่วมเป็นสุข ไม่รบกวนม้าเหล่าอื่น
๕.เป็นสัตว์เผยความโอ้อวด ความพยศคดโกง แก่นายสารถีอย่างเปิดเผย
๖.นายสารถี พยายามปราบความพยศคดโกงเหล่านั้น ของมันได้
๗.เป็นสัตว์ลากเข็นภาระ เกิดความคิดว่าม้าอื่น จะเข็นภาระได้หรือไม่ก็ตาม สำหรับ ภาระนี้เราเข็นได้อนึ่ง เมื่อเดินก็เดินตรงตามทาง
๘.เป็นสัตว์มีกำลังวังชา คือ ทรงกำลังไว้อยู่ จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวประเสริฐ ของพระราชา ประกอบด้วย องค์ สมบัติ ๘ ประการนี้แล สมควรเป็นม้าต้นม้าทรง ถึงการนับว่า เป็นพระราชพาหนะ ได้ดี ทีเดียว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าธรรม ๘ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑.เป็นผู้มีศีลสำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัย ในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
๒.ฉันโภชนะที่เขาถวายเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม โดยเคารพไม่รังเกียจ
๓.เกลียดแต่กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และการถึงพร้อมด้วยธรรมอันเป็นบาป อกุศล
๔.เธอยินดีอยู่ มีการอยู่ร่วมเป็นสุข ไม่รบกวนภิกษุเหล่าอื่นให้เดือดร้อน
๕. เปิดเผยความโอ้อวด ความพยศคดโกงตามเป็นจริง ในพระศาสดา หรือในเพื่อน พรหมจรรย์ผู้รู้แจ้ง
๖.พระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์ ย่อมพยายามช่วยกำจัดความโอ้อวด เป็นต้น เหล่านั้น ของเธอได้
๗.อนึ่ง ย่อมเป็นผู้ศึกษาสำเหนียก คือ ใฝ่ใจอยู่ว่าภิกษุเหล่าอื่นจะศึกษาหรือไม่ก็ตาม ข้อนี้เราจักศึกษา เมื่อปฏิบัติย่อมปฏิบัติตามทางตรงทีเดียว ในข้อนั้นพึงทราบทางตรง ดังนี้ คือ สัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ
๘.เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่ว่า เลือดเนื้อในร่างกายของเรา จงเหือดแห้งไปจะเหลือ อยู่แต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที เรายังไม่ได้บรรลุอิฐผล ที่จะพึงบรรลุได้ด้วยกำลัง ของ บุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียร เป็นอันขาด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของ คำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖๙-๑๗๒
ขฬุงคสูตร (ว่าด้วยม้ากระจอกและคนกระจอก)
[๑๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงม้าโกง ๘ จำพวก และโทษของม้าโกง ๘ ประการ คนโกง ๘ จำพวก และโทษของคนโกง ๘ ประการเธอทั้งหลายจงตั้งใจฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าโกง ๘ จำพวกและโทษของม้าโกง ๘ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าโกงบางตัวในโลกนี้ ที่นายสารถีกล่าวเตือนว่า จงเดินไป ถูกแทงด้วยประตักเตือนอยู่ย่อมถอยหลัง ดันรถให้กลับหลัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าโกง บางตัวในโลกนี้เป็นเช่นนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้าประการที่ ๑
อีกประการหนึ่ง ม้าโกงบางตัวในโลกนี้ นายสารถีเตือนว่า จงเดินไปถูกแทง ด้วยประตักเตือนอยู่ ย่อมหกหลัง ดีดทูบหัก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าโกงบางตัวในโลกนี้ เป็นเช่นนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้าโกงประการที่ ๒
อีกประการหนึ่ง ม้าโกงบางตัวในโลกนี้ นายสารถีเตือนว่า จงเดินไปถูกแทง ด้วยประตักเตือนอยู่ ยกขาขึ้นตะกุยงอนรถ ถีบงอนรถ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าโกงบางตัว ในโลกนี้ เป็นเช่นนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้าโกงประการที่ ๓
อีกประการหนึ่ง ม้าโกงบางตัวในโลกนี้ นายสารถีเตือนว่า จงเดินไปถูกแทง ด้วยประตักเตือนอยู่ ย่อมเดินผิดทาง ทำให้รถคว่ำ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าโกงบางตัว ในโลกนี้ เป็นเช่นนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้าโกงประการที่ ๔
อีกประการหนึ่ง ม้าโกงบางตัวในโลกนี้ นายสารถีเตือนว่า จงเดินไปถูกแทง ด้วยประตักเตือนอยู่ ย่อมเชิดกายด้านหน้า เผ่นขึ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าโกงบางตัว ในโลกนี้ เป็นเช่นนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้าโกงประการที่ ๕
อีกประการหนึ่ง ม้าโกงบางตัวในโลกนี้ นายสารถีเตือนว่า จงเดินไปถูกแทง ด้วยประตักเตือนอยู่ ไม่คำนึงถึงด้ามประตัก เอาฟันกัดบังเหียน หลีกไปตามประสงค์ ของมัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าโกงบางตัวในโลกนี้ เป็นเช่นนี้ก็มีนี้ เป็นโทษของม้าโกง ประการที่ ๖
อีกประการหนึ่ง ม้าโกงบางตัวในโลกนี้ นายสารถีเตือนว่า จงเดินไปถูกแทง ด้วยประตักเตือนอยู่ ไม่ยอมก้าวไปข้างหน้า ทั้งไม่ถอยหลัง ยืนเฉยเหมือนเสาเขื่อน อยู่ตรงนั้นนั่นเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าโกงบางตัวในโลกนี้เป็นเช่นนี้ก็มี นี้เป็นโทษของ ม้าโกงประการที่ ๗
อีกประการหนึ่ง ม้าโกงบางตัวในโลกนี้ นายสารถีเตือนว่า จงเดินไปถูกแทง ด้วยประตักเตือนอยู่ คุกเท้าหน้า เท้าหลัง ลงนอนทับเท้าทั้ง ๔ ที่ตรงนั้นนั่นเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าโกงบางตัวในโลกนี้ เป็นเช่นนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้าโกงประการที่ ๘
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าโกง ๘ จำพวก และโทษของม้าโกง ๘ ประการนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คนโกง ๘ จำพวก และโทษของคนโกง ๘ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุผู้เป็นจำเลย นั้น เมื่อถูกโจทด้วยอาบัติ ย่อมอำพรางอาบัติไว้ว่า ผมนึกไม่ได้ๆ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวบุคคลนี้ เปรียบเหมือนม้าโกงที่นายสารถีเตือนว่า จงเดินไป ถูกแทงด้วยประตักเตือนอยู่ ย่อมถอยหลัง ดันให้รถกลับหลัง ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนโกงบางคนในธรรมวินัยนี้ เป็นเช่นนี้ก็มี นี้เป็นโทษของคนโกง ประการที่ ๑
อีกประการหนึ่ง ภิกษุโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุผู้เป็นจำเลยนั้น เมื่อถูกโจทด้วย อาบัติ กลับโต้ตอบการโจทนั่นเองว่า จะมีประโยชน์อะไรหนอ ด้วยคำที่ท่านซึ่งเป็น คนโง่ไม่ ฉลาดกล่าว ท่านเองควรสำนึกถึงคำที่ควรพูด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าว บุคคลนี้เปรียบเหมือนม้าโกง ที่นายสารถีเตือนว่า จงเดินไปถูกแทงด้วยประตักเตือนอยู่ ย่อมหกหลัง ดีดทูบหัก ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนโกงบางคนในธรรมวินัยนี้ เป็นเช่นนี้ ก็มี นี้เป็นโทษของคนโกงประการที่ ๒
อีกประการหนึ่ง ภิกษุโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุผู้เป็นจำเลยนั้น เมื่อถูกโจทด้วย อาบัติ กลับโจทตอบแก่ภิกษุผู้โจทนั่นเองว่า แม้ท่านก็ต้องอาบัติชื่อนี้ ท่านจงทำคืน เสียก่อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวบุคคลนี้ เปรียบเหมือนม้าโกงที่นายสารถีเตือนว่า จงเดินไป ถูกแทงด้วยประตักเตือนอยู่ ย่อมยกขาขึ้นตะกุยงอนรถ ถีบงอนรถ ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนโกงบางคนในธรรมวินัยนี้ เป็นเช่นนี้ก็มี นี้เป็นโทษของคนโกง ประการที่ ๓
อีกประการหนึ่ง ภิกษุโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุผู้เป็นจำเลยนั้น เมื่อถูกโจทด้วย อาบัติ ย่อมพูดกลบเกลื่อน พูดนอกลู่นอกทาง แสดงความโกรธความขัดเคือง และความ ไม่ยำเกรงให้ปรากฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวบุคคลนี้ เปรียบเหมือนม้าโกง ที่นาย สารถีเตือนว่าจงเดินไป ถูกแทงด้วยประตักเตือนอยู่ ย่อมเดินผิดทางทำให้รถคว่ำ ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนโกงบางคนในธรรมวินัยนี้ เป็นเช่นนี้ก็มี นี้เป็นโทษของคนโกง ประการที่ ๔
อีกประการหนึ่ง ภิกษุโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุผู้เป็นจำเลยนั้น เมื่อถูกโจทด้วย อาบัติ ยกมือทั้งสองพูดห้ามในท่ามกลางสงฆ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวบุคคลนี้ เปรียบเหมือนม้าโกงที่นายสารถี เตือนว่า จงเดินไป ถูกแทงด้วยประตักเตือนอยู่ ย่อมเชิดกายด้านหน้า เผ่นขึ้นไป ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายคนโกงบางคน ในธรรมวินัยนี้ เป็นเช่นนี้ก็มี นี้เป็นโทษของคนโกงประการที่ ๕
อีกประการหนึ่ง ภิกษุโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุผู้เป็นจำเลยนั้น เมื่อถูกโจทด้วย อาบัติ ย่อมไม่เอื้อเฟื้อสงฆ์ ไม่เอื้อเฟื้อผู้โจทก์ ทั้งที่มีอาบัติติดตัวอยู่เลี่ยงหลีกไป ตามประสงค์ของตน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวบุคคลนี้ เปรียบเหมือนม้าโกง ที่นายสารถี เตือนว่า จงเดินไป ถูกแทงด้วยประตักเตือนอยู่ ไม่คำนึงถึงด้ามประตัก เอาฟันกัดบังเหียน หลีกไปตามประสงค์ของมัน ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนโกงบางคน ในธรรมวินัยนี้ เป็นเช่นนี้ก็มี นี้เป็นโทษของคนโกงประการที่ ๖
อีกประการหนึ่ง ภิกษุโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุผู้เป็นจำเลยนั้น เมื่อถูกโจทด้วย อาบัติ กล่าวว่า ผมไม่ได้ต้องอาบัติเลยๆ เธอใช้ความนิ่งให้อึดอัดใจสงฆ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวบุคคลนี้ เปรียบเหมือนม้าโกงที่นายสารถีเตือนว่าจงเดินไป ถูกแทงด้วยประตักเตือนอยู่ ไม่ยอมก้าวไปข้างหน้า ทั้งไม่ถอยหลังยืนเฉย เหมือนเสา เขื่อนอยู่ตรงนั้นนั่นเอง ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนโกงบางคนในธรรมวินัยนี้ เป็นเช่นนี้ ก็มี นี้เป็นโทษของคนโกงประการที่ ๗
อีกประการหนึ่ง ภิกษุโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุผู้เป็นจำเลยนั้น เมื่อถูกโจท ด้วยอาบัติ ย่อมกล่าวว่า ทำไมหนอ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จึงชอบหาเรื่องในตัวผมนัก บัดนี้ ผมกำหนดบอกคืนสิกขาลาเพศแล้ว เธอบอกคืนสิกขาลาเพศ แล้วพูดอย่างนี้ว่า บัดนี้ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงเบาใจเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวบุคคลนี้ เปรียบเหมือน ม้าโกง ที่นายสารถีเตือนว่า จงเดินไป ถูกแทงด้วยประตักเตือนอยู่ คุกเท้าหน้า เท้าหลัง ลงนอนทับเท้าทั้ง ๔ ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายคนโกง บางคน ในธรรมวินัยนี้ เป็นเช่นนี้ก็มี นี้เป็นโทษของคนโกง ประการที่ ๘
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนโกง ๘ จำพวก และโทษของคนโกง ๘ ประการนี้แล
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๒-๑๗๓
มลสูตร (ว่าด้วยมลทิน)
[๑๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มลทิน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
๑.มนต์มีการไม่ท่องบ่น เป็นมลทิน
๒.เรือนมีความไม่หมั่น เป็นมลทิน
๓. ความเกียจคร้าน เป็นมลทินของผิวพรรณ
๔.ความประมาท เป็นมลทินของผู้รักษา
๕.ความประพฤติชั่ว เป็นมลทินของหญิง
๖.ความตระหนี่ เป็นมลทินของผู้ให้
๗.อกุศลธรรมที่ลามก เป็นมลทินแท้ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
๘. เราจะบอกมลทิน ที่ยิ่งกว่ามลทินนั้น คือ อวิชชาเป็นมลทินอย่างยิ่ง
ดูกรภิกษุทั้งหลายมลทิน ๘ ประการนี้แล มนต์มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน เรือนมีความไม่หมั่นเป็น มลทิน ความเกียจคร้านเป็นมลทินของผิวพรรณ ความ ประมาทเป็นมลทินของผู้รักษา ความประพฤติชั่วเป็นมลทิน ของหญิง ความตระหนี่เป็นมลทินของผู้ให้ ธรรมอันลามก เป็นมลทินแท้ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เราจะบอกมลทินที่ ยิ่งกว่านั้น คือ อวิชชาเป็นมลทินอย่างยิ่ง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๓-๑๗๔
ทูตสูตร (ว่าด้วยคุณสมบัติของทูต)
[๑๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ควร
ไปเป็นทูตได้ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑.เป็นผู้รับฟัง
๒.ให้ผู้อื่นรับฟัง
๓.เรียนดี
๔.ทรงจำไว้ดี
๕.รู้เอง
๖.ให้ผู้อื่นรู้
๗.เป็นผู้ฉลาดต่อสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์
๘.ไม่ก่อการทะเลาะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ควรไปเป็นทูตได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ควรไปเป็นทูตได้ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรในธรรมวินัยนี้
๑.เป็นผู้รับฟัง
๒.ให้ผู้อื่นรับฟัง
๓.เรียนดี
๔.ทรงจำไว้ดี
๕.รู้เอง
๖.ให้ผู้อื่นรู้
๗.เป็นผู้ฉลาดต่อสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์
๘.ไม่ก่อการทะเลาะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ควรไปเป็นทูตได้ ภิกษุใดแล สอนบริษัทให้เรียนให้อ่าน ไม่สะทกสะท้าน ไม่ให้เสียคำที่พูด ไม่ให้เสีย คำสอน ชี้แจงให้เขาหมดสงสัย และเมื่อถูกซักถามก็ไม่โกรธ ภิกษุเช่นนี้นั้นแล ควรไป เป็นทูตได้
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๔
พันธนสูตรที่ ๑ (ว่าด้วยอาการที่เป็นเครื่องผูกใจ สูตรที่ ๑)
[๑๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย หญิงย่อมผูกชายไว้ด้วยอาการ ๘ อย่าง
๘ อย่างเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย หญิงย่อมผูกชายไว้
๑.ด้วยรูป
๒.ด้วยการยิ้มแย้ม
๓.ด้วยคำพูด
๔.ด้วยเพลงขับ
๕.ด้วยการร้องไห้
๖.ด้วยอากัปปกิริยา
๗.ด้วยของกำนัล
๘.ด้วยผัสสะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หญิงย่อมผูกชาย ไว้ด้วยอาการ ๘ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่ถูกผูกด้วยอาการ ๘ อย่างนี้แล ชื่อว่าถูกผูกด้วยบ่วง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๔
พันธนสูตรที่ ๒ (ว่าด้วยอาการที่เป็นเครื่องผูกใจ สูตรที่ ๒)
[๑๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชายย่อมผูกหญิงไว้ด้วยอาการ ๘ อย่าง ๘ อย่าง เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชายย่อมผูกหญิงไว้
๑.ด้วยรูป
๒.ด้วยการยิ้มแย้ม
๓.ด้วยคำพูด
๔.ด้วยเพลงขับ
๕.ด้วยการร้องไห้
๖.ด้วยอากัปปกิริยา
๗.ด้วยของกำนัล
๘.
ด้วยผัสสะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชายย่อมผูกหญิงไว้ด้วยอาการ ๘ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่ถูกผูกด้วยอาการ ๘ อย่างนี้แลชื่อว่าถูกผูกด้วยบ่วง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๔-๑๘๐
ปหาราทสูตร (ว่าด้วยท้าวปหาราทะจอมอสูร)
[๑๐๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่ นเฬรุยักษ์ สิงสถิต ใกล้กรุงเวรัญชา ครั้งนั้น ท้าวปหาราทะจอมอสูร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสถามท้าวปหาราทะ จอมอสูรว่า
ดูกรปหาราท ะพวกอสูร ย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทรบ้างหรือ ท้าวปหาราทะ จอมอสูรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอสูรย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทร
พ. ดูกรปหาราทะ ในมหาสมุทรมีธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาสักเท่าไร ที่พวกอสูร เห็นแล้วย่อมอภิรมย์
ป. มี ๘ ประการ พระเจ้าข้า ๘ ประการเป็นไฉน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาสมุทรลาด ลุ่ม ลึกลงไปโดยลำดับ หาได้โกรกชันเหมือนเหวไม่ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรลาด ลุ่ม ลึกลงไปโดยลำดับ หาได้โกรกชันเหมือนเหวไม่ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ ๑ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง นี้เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา ประการที่ ๒ ในมหาสมุทรที่พวกอสูร เห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
อีกประการหนึ่ง มหาสมุทร ไม่เกลื่อนด้วยซากศพ เพราะในมหาสมุทรคลื่น ย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบกทันที ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทร ไม่เกลื่อนด้วยซากศพ และในมหาสมุทรคลื่น ย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่ง ให้ขึ้นบก ทันที นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ ๓ ในมหาสมุทรที่พวกอสูร เห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
อีกประการหนึ่ง แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนาอจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับ ว่า มหาสมุทรนั่นเอง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือ แม่น้ำ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหล ไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมเปลี่ยนนาม และโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่า มหาสมุทรนั่นเอง นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคย มีมา ประการที่ ๔ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
อีกประการหนึ่ง แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทร และสายฝน จากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่า จะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้นๆ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่แม่น้ำทุกสาย ในโลกย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทร และ สายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่า จะพร่องหรือเต็ม เพราะน้ำ นั้นๆ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ ๕ ในมหาสมุทร ที่พวก อสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่ มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ ๖ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
อีกประการหนึ่ง มหาสมุทร มีรัตนะมากมายหลายชนิด ในมหาสมุทร มีรัตนะ เหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬเงิน ทอง ทับทิม มรกต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทร มีรัตนะมากมายหลายชนิด ในมหาสมุทรนั้น มีรัตนะ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ ๗ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูร เห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
อีกประการหนึ่ง มหาสมุทร เป็นที่พำนักอาศัยของพวกสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ และ สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรนั้น มีดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคลา ปลาติมิรมิงคลาพวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ก็มีอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทร เป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ๆ และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรนั้น มีดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคลา ปลาติมิรมิงคลา พวกอสูร นาค คนธรรพ์แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐โยชน์ ก็มีอยู่ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ ๘ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้แลธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุทั้งหลาย ย่อมอภิรมย์ในธรรมวินัยนี้บ้างหรือ
พ. ดูกรปหาราทะ ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในธรรมวินัยนี้
ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา สักเท่าไร ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่
พ. มี ๘ ประการ ปหาราทะ ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรปหาราทะ มหาสมุทรลาด ลุ่ม ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหว ฉันใด ในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตผลโดยตรง
ดูกรปหาราทะ ข้อที่ในธรรมวินัยนี้ มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไป ตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตผลโดยตรง นี้เป็นธรรม ที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ ๑ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ดูกรปหาราทะ มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง ฉันใด สาวกทั้งหลาย ของเรา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ล่วงสิกขาบท ที่เราบัญญัติไว้แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ดูกรปหาราทะ ข้อที่สาวกทั้งหลายของเรา ไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุ แห่งชีวิต นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ ๒ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลาย เห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ดูกรปหาราทะ มหาสมุทร ไม่เกลื่อนด้วยซากศพ เพราะในมหาสมุทรคลื่น ย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบก ฉันใด ดูกรปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกันบุคคล ผู้ทุศีล มีบาปธรรม มีสมาจารไม่สะอาดน่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่ ปฏิญญาว่า เป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ เสียใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเพียงดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกัน ยกวัตรเธอเสียทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงกระนั้น เขาก็ชื่อว่า ห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขา
ดูกรปหาราทะ ข้อที่บุคคลผู้ทุศีล มีบาปกรรม มีสมาจารไม่สะอาดน่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ ปฏิญญา ว่าประพฤติพรหมจรรย์ เสียใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเพียงดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อม ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกันยกวัตรเธอเสียทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ในท่ามกลาง ภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงกระนั้น เขาก็ชื่อว่าห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขา นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ ๓ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลาย เห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ดูกรปหาราทะ แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนาอจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละนาม และโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่า มหาสมุทรนั่นเอง ฉันใด
ดูกรปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนาม และโคตรเดิม เสีย ถึงความนับว่า สมณศากยบุตรทั้งนั้น
ดูกรปหาราทะ ข้อที่วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนาม และโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่าเป็นสมณศากยบุตรทั้งนั้น นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา ประการที่ ๔ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ดูกรปหาราทะ แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทร และสายฝน จากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทร ก็มิได้ปรากฏว่า จะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้นๆ ฉันใด ดูกรปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าจ ะพร่องหรือเต็ม ด้วยภิกษุนั้น
ดูกรปหาราทะ ข้อที่ถึงแม้ภิกษุ เป็นอันมากจะปรินิพพานด้วย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุ ก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็ม ด้วยภิกษุนั้น นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ ๕ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลาย เห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ดูกรปหาราทะ มหาสมุทร มีรสเดียว คือ รสเค็ม ฉันใด ดูกรปหาราทะ ฉันนั้น เหมือนกัน ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ วิมุตติรส ดูกรปหาราทะ ข้อที่ธรรมวินัยมีรสเดียว คือ วิมุตติรส นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ ๖ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลาย เห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ดูกรปหาราทะ มหาสมุทร มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในมหาสมุทรนั้น มีดังนี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬเงิน ทอง ทับทิม มรกต ฉันใด
ดูกรปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้ ก็มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะ ในธรรมวินัยนั้น มีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
ดูกรปหาราทะ ข้อที่ธรรมวินัยนี้ มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในธรรมวินัยนั้น มีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ ๗ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ดูกรปหาราทะ มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ๆ สิ่งมีชีวิต ในมหาสมุทรนั้น มีดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคลา ปลาติมิรมิงคลา พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ มีอยู่ ฉันใด
ดูกรปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้ ก็เป็นที่พำนักอาศัยแห่งสิ่งมีชีวิต ใหญ่ๆ สิ่งมีชีวิตในธรรมวินัยนี้ มีดังนี้ คือพระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติ เพื่อกระทำให้แจ้ง ซึ่งโสดาปัตติผล พระสกทาคามีท่านผู้ปฏิบัติ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้ง ซึ่งอนาคามิผล พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติ เพื่อความเป็นพระอรหันต์
ดูกรปหาราทะ ข้อที่ธรรมวินัยนี้ เป็นที่พำนักอาศัยแห่งสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ สิ่งชีวิต มีในธรรมวินัยนี้มีดังนี้ คือ พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติ เพื่อกระทำให้แจ้ง ซึ่งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล พระอนาคามีท่าน ผู้ปฏิบัติ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติ เพื่อความเป็น พระอรหันต์ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ ๘ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ดูกรปหาราทะ ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้แล ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
|