เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

อริยะบุคคล ตามนัยยะต่างๆ 1744
  (ย่อ)

1) อริยบุคคล ๔ จำพวก
2) อริยบุคคล ๘ จำพวก
3) สมณะทั้ง ๔ (อริยบุคคล)
4) อริยะบุคคล ๙ จำพวก
5) ความเป็นอริยบุคคล กับการละเครื่องผูก (นัยที่ ๑)
6) ความเป็นอริยบุคคลกับอินทรีย์ ๕
7) ความเป็นอริยบุคคลกับการละสังโยชน์
8) ความเป็นอริยบุคคลกับสิกขา ๓
9) สิกขา ๓ ของพระอริยะ
10) การรู้อริยสัจเป็นของไม่เหลือวิสัยพระอริยบุคคล
11) เหตุที่ทำให้สัจจะเหล่านี้ได้นามว่า “อริยะ”  
12) เหตุที่ทำให้สัจจะเหล่านี้ได้นามว่า “อริยะ” (อีกนัยยะ) 
13) ธรรม ๔ ประการ ของพระอริยะ (รู้ความจริงอันประเสริฐ 4 อย่าง)
14) ทุกข์ที่เหลือของอริยะเท่ากับเศษดิน เทียบกับแผ่นดิน
15) ทุกข์ที่เหลือของอริยะเท่ากับน้ำที่วิดขึ้น เทียบกับน้ำในสระโบกขรณี
16) ภิกษุผู้ถึงความเป็นอริยะ (รู้ชัดในทุกข์ เหตุเกิด เหตุดับ ทางดำเนิน.. รู้อริยสัจสี่)

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)

 

 


1)
อริยบุคคล ๔ จำพวกเป็นอย่างไร

หนังสืออนาคามี (พุทธวจน)

(1) โสดาบัน
(3) สกทาคามี
(5) อนาคามี
(7) อรหันต์



2)

อริยบุคคล ๘ จำพวกเป็นอย่างไร คือ
หนังสืออนาคามี (พุทธวจน) หน้า 2

(1) โสดาบัน
(2) ผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล

(3) สกทาคามี
(4) ผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล

(5) อนาคามี
(6) ผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล

(7) อรหันต์
(8) ผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล



3)

สมณะทั้ง ๔ (อริยบุคคล)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๔ P156

สมณะที่ ๑ เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ เป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดาเป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า

สมณะที่ ๒ เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ และเพราะราคะ โทสะโมหะเบาบาง เป็นสกทาคามีมาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น แล้วกระทำที่สุดทุกข์ได้

สมณะที่ ๓ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ จะปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา

สมณะที่ ๔ ภิกษุกระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่



4)

อริยะบุคคล ๙ จำพวก

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๓๔๗-๓๕๐ P794

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ เป็นผู้ ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา เธอย่อมล่วงสิกขาบท เล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง
เธอเป็นผู้ มีศีล ยั่งยืน และมีศีลมั่นคงในสิกขาบทที่เป็นเบื้องต้นแห่ง พรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่.

ภิกษุทั้งหลาย ก็หรือว่าเมื่อยังไม่ถึง ยังไม่แทงตลอดวิมุตตินั้น

๑.เธอเป็นอันตราปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์๕ หมดสิ้นไป
๒.เธอเป็นอุปหัจจปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์๕ หมดสิ้นไป
๓.เธอเป็นอสังขารปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์๕ หมดสิ้นไป
๔.เธอเป็นสสังขารปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์๕ หมดสิ้นไป
๕.เธอเป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ หมดสิ้นไป.

๖.เธอเป็นสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้ อีกคราวเดียวเท่านั้น แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

๗.เธอเป็นเอกพีชี เพราะ สังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป มาบังเกิดยังภพมนุษย์นี้ครั้งเดียว เท่านั้น แล้วจะทำที่สุดแห่ง ทุกข์ได้.

๘.เธอเป็นโกลังโกละ เพราะ สังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป ยังท่องเที่ยวไปสู่ ๒ หรือ ๓ ตระกูล (ภพ) แล้วจะทำที่สุด แห่งทุกข์ได้.

๙.เธอเป็นสัตตักขัตตุปรมะ เพราะ สังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป ยังท่องเที่ยวไป ในเทวดา และมนุษย์อย่างมากเพียง ๗ ครั้งแล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้



5)

ความเป็นอริยบุคคล กับการละเครื่องผูก (นัยที่ ๑)
หนังสืออนาคามี (พุทธวจน) หน้า 10

๑. บุคคลผู้ประกอบแล้วด้วย กามโยคะ (ยังพอใจในกาม)
ผู้ประกอบแล้ว ด้วยภวโยคะ (ภวโยคยุตฺโต) (ยังพอใจในภพ)
เป็นอาคามี
ยังต้องมาสู่ความเป็นอย่างนี้ (เป็นอาคามี ไม่มีสุตตะ นับถือลันทธิอื่น)

๒. บุคคลผู้พรากแล้วจาก กามโยคะ (พ้นแล้วจากกาม)
(แต่) ยังประกอบด้วย ภวโยคะ (ยังพอใจในภพ)
เป็นอนาคามี
ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้ (เข้าถึงสุทธาวาส สิ้นอาวสะเมื่อกายแตก)

๓. บุคคลผู้พรากแล้วจาก กามโยคะ (พ้นแล้วจากกาม)
พรากแล้วจากภวโยคะ (ภวโยควิสํยุตฺโต) (พ้นแล้วจากภพ)
เป็นอรหันต์
สิ้นอาสวะแล้ว (เป็นอรหันต์ในภพมนุษย์ หรือเทวดา)

๔. ผู้ประกอบแล้วด้วยกามโยคะ และ ภวโยคะ (ยังพอใจกาม ยังพอใจภพ)
ย่อมไปสู่สังสารวัฏ ซึ่งมีปกติถึง ความเกิดและความตาย

๕. สัตว์เหล่าใด ละกามทั้งหลายได้เด็ดขาด (พ้นจากกาม แต่ยังไม่สิ้นอาสวะ)
แต่ยังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ยังประกอบด้วยภวโยคะ (ยังพอใจในภพ)สัตว์เหล่านั้นบัณฑิตกล่าวว่า เป็นอนาคามี (อุปหัจจะ สสังขาระ อสังขาระ อุทธังโสโต)
(สะเก็ดไฟตกถึงพื้นแล้วดับทันที หรือดับในเวลาต่อๆมา)

๖. ส่วนสัตว์เหล่าใดตัดความสงสัยได้แล้ว (สิ้นภพ สิ้นอาสวะ)
มีมานะและมีภพใหม่สิ้นแล้ว (สิ้นภพ)
ถึงความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลายแล้ว (สิ้นอาสวะ)
สัตว์เหล่านั้นแลถึงฝั่งแล้วในโลก (เป็นอรหันต์)



6)

ความเป็นอริยบุคคลกับอินทรีย์ ๕
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๖๕/๘๗๖.

ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ ๕ ประการอะไรบ้าง คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ปัญญินทรีย์ ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้แล อินทรีย์ ๕ ประการ.

(1) ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นอรหันต์ เพราะอินทรีย์ ๕ เต็มบริบูรณ์
(2) เป็นอนาคามี เพราะอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของอรหันต์
(3) เป็นสกทาคามี เพราะอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของอนาคามี
(4) เป็นโสดาบัน เพราะอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของสกทาคามี
     (5) เป็นธัมมานุสารี เพราะอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของโสดาบัน
     (6) เป็นสัทธานุสารี เพราะอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของธัมมานุสารี



7)

ความเป็นอริยบุคคลกับการละสังโยชน์ (ของบุคคล ๔ จำพวก)

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๘๑/๑๓๑.
(สังโยชนสูตร ฉบับหลวง เล่ม 21 สุตตันต หน้า 134-138)

ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
๔ จำพวกอะไรบ้าง คือ

(1.โสดาบัน+สกทาคามี 2 อนาคามีชั้นอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี / 3.อนาคามีชั้น อกนิฏฐา/ 4.อรหันต์)
.

(1) ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ 
ยังละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ไม่ได้ (สกทาคามี)
ยังละสังโยชน์อันเป็นปัจจัย เพื่อให้ได้ อุบัติ ไม่ได้
ยังละสังโยชน์อันเป็นปัจจัยเพื่อให้ได้ ภพ ไม่ได้

(2) อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ 
ละโอรัมภาคิย-สังโยชน์ ได้ (อนาคามี ชั้นอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี)
แต่ยังละสังโยชน์อันเป็นปัจจัย เพื่อให้ได้ อุบัติ ไม่ได้ (ยังต้องเกิด)
และยังละสังโยชน์อันเป็นปัจจัยเพื่อให้ได้ ภพ ไม่ได้ (สะเก็ดไฟยังตกถึงพื้น)
(เทียบสะเก็ดไฟ- อุปหัจจ อสังขาร สสังขาร อุทธังโสโต)

(3) อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ 
ละโอรัมภาคิย-สังโยชน์ ได้ (อนาคามี ชั้นอกนิฏฐา)
ละสังโยชน์อันเป็นปัจจัยเพื่อให้ ได้ อุบัติ ได้
แต่ยังละสังโยชน์อันเป็นปัจจัยเพื่อให้ได้ ภพ ม่ได้
(อนาคามีชั้น อกนิฏฐ- สะเก็ดไฟลอยไปแล้วดับก่อนตกถึงพิ้น พวก อันตราปรินิพายี 3 พวก)

(4) อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ 
ละโอรัมภาคิย-สังโยชน์ ได้
ละสังโยชน์อันเป็นปัจจัยเพื่อให้ได้ อุบัติ ได้ (อรหันต์ขีนาสพ)
และ ละสังโยชน์อันเป็นปัจจัยเพื่อให้ได้ ภพ ได้ (ภพใหม่ไม่มี)
--------------------------------------------------------------------------------------

1.ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลจำพวกไหน (สกทาคามี)
ยังละโอรัมภาคิย-สังโยชน์ ไม่ได้  
ยังละสังโยชน์อันเป็นปัจจัยเพื่อให้ได้ อุบัติ ไม่ได้ 
ยังละสังโยชน์ อันเป็นปัจจัยเพื่อให้ได้ ภพ ไม่ได้ คือ สกทาคามี

2.ภิกษุทั้งหลาย บุคคลจำพวกไหน (ผู้มีกระแสในเบื้องบน ไปส่ อกนิฏฐภพ)
ละโอรัมภาคิย-สังโยชน์ ได้ 
แต่ยังละสังโยชน์ อันเป็นปัจจัยเพื่อให้ได้ อุบัติ ไม่ได้
ยังละสังโยชน์ อันเป็นปัจจัยเพื่อให้ได้ ภพ ไม่ได้ คือ อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี 

3.ภิกษุทั้งหลาย บุคคลจำพวกไหน (อนาคมีผู้อันตราปรินิพายี)
ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ละสังโยชน์อันเป็นปัจจัยเพื่อ ให้ได้อุบัติ ได้ 
แต่ยังละสังโยชน์ อันเป็นปัจจัยเพื่อให้ได้ภพ ไม่ได้ คือ อันตราปรินิพพายี 

4. ภิกษุทั้งหลาย บุคคลจำพวกไหน (อรหันต์ขีนาสพ)
ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ละสังโยชน์อัน เป็นปัจจัยเพื่อ ให้ได้อุบัติ ได้ และ ละสังโยชน์อันเป็นปัจจัยเพื่อให้ได้ภพได้  คือ อรหันต์ผู้สิ้นอาสวะ แล้ว

ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก.

(ควรดูประกอบเพิ่มเติมเรื่อง “อุปมาช่างตีเหล็ก” ในหนังสือพุทธวจน-หมวดธรรม เล่ม ๑๖ อนาคามี หน้า ๒๘. และจากพระไตรปิฎก. -ผู้รวบรวม)



8)

ความเป็นอริยบุคคลกับสิกขา ๓

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๙๗/๕๒๖.

(วัชชีปุตตสูตร ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้า ๒๒๑ ข้อ ๕๒๔- ๕๒๘)

(อริยบุคคลตั้งแต่โสดาบัน จนถึงอรหันต์ ยังต้องอาบัติ หรือล่วงสิกขาบทเล็กน้อยได้บ้าง ซึ่งสามารถปลงอาบัติได้)

ภิกษุทั้งหลาย สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย ผู้ปรารถนา ประโยชน์ ศึกษากันอยู่.

ภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้ ที่สิกขาบท ๑๕๐ นั้นรวมอยู่ด้วยทั้งหมด สิกขา ๓ นั้นอะไรบ้าง คือ 
๑) อธิศีลสิกขา
๒) อธิจิตตสิกขา
๓) อธิปัญญาสิกขา
 

ภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ เหล่านี้แล ที่สิกขาบท ๑๕๐ นั้นรวมอยู่ด้วยทั้งหมด.

๑) ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ 
เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล (สีเลสุ ปริปูรการี)
เป็นผู้ทำพอ ประมาณในสมาธิ (สมาธิสฺมึ มตฺตโสการี)
เป็นผู้ทำพอประมาณใน ปัญญา(ปญฺญาย มตฺตโสการี)

เธอย่อมล่วงสิกขาบท เล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจาก อาบัตินั้นบ้าง
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพ เพราะล่วงสิกขาบท เหล่านี้ แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใด เป็นเบื้องต้นแห่ง พรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และเป็นผู้มีศีลมั่นคง ในสิกขาบท เหล่านั้น สมาทาน ศึกษาอยู่ ในสิกขาบททั้งหลาย เธอเป็นโสดาบัน เพราะ สังโยชน์ ๓ สิ้นไป มีความไม่ตกต่ำ เป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง จะตรัสรู้ได้ในกาล เบื้องหน้า

๒) ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ 
เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล
เป็นผู้ทำ พอประมาณในสมาธิ
เป็นผู้ทำพอ ประมาณในปัญญา

เธอย่อมล่วงสิกขาบท เล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัตินั้นบ้าง
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพ เพราะล่วงสิกขาบท เหล่านี้ แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใด เป็นเบื้องต้นแห่ง พรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และมีศีลมั่นคงใน สิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ ในสิกขาบททั้งหลาย เธอเป็นสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และ เพราะราคะ โทสะโมหะ เบาบาง จะมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

๓) ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ 
เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล (สีเลสุ ปริปูรการี) 
เป็นผู้ทำให้ บริบูรณ์ในสมาธิ(สมาธิสฺมึ ปริปูรการี) 
เป็นผู้ทำพอ ประมาณ ในปัญญา (ปญฺญายมตฺตโสการี) 

เธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออก จากอาบัตินั้นบ้าง
ข้อนั้นเพราะเหตุ อะไร เพราะไม่มีใครกล่าวความ เป็นคนอาภัพ เพราะล่วง สิกขาบท เหล่านี้ แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใด เป็นเบื้องต้น แห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอ เป็นผู้มีศีล ยั่งยืน และมีศีลมั่นคงใน สิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ ในสิกขาบททั้งหลาย เธอเป็นโอปปาติกะ จะปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับ จากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภา คิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป (เป็นอนาคามี)

๔) ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ 
เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล
เป็นผู้ทำให้ บริบูรณ์ ในสมาธิ
เป็นผู้ทำให้ บริบูรณ์ในปัญญา (ปญฺญาย ปริปูรการี) 

เธอย่อม ล่วงสิกขาบท เล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัตินั้นบ้าง
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพ เพราะล่วงสิกขาบทเหล่านี้ แต่ว่า สิกขาบท เหล่าใด เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่ พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และมีศีลมั่นคงในสิกขาบท เหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ใน สิกขาบททั้งหลาย เธอทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะ มิได้ เพราะความ สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ (เป็นพระอรหันต์)

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทำได้เพียงบางส่วน ย่อมให้สำเร็จบางส่วน ผู้ทำให้บริบูรณ์ ย่อมให้สำเร็จ ได้บริบูรณ์ อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสิกขาบท ทั้งหลายว่าไม่เป็นหมันเลย.

(ในสูตรอื่น -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๙๙-๓๐๑/๕๒๗-๕๒๘. ก็ได้ตรัสโดยทำนองเดียวกันนี้ แต่กล่าวถึงประเภทอริยบุคคลต่างจากไปจากนี้บางส่วน. -ผู้รวบรวม)



9)

สิกขา ๓ (ของพระอริยะ)
-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๓๐๓/๕๒๙.
(เสขสูตรที่ ๓ ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้า ๒๖๓ ข้อ ๕๒๗)

ภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้ สิกขา ๓ อะไรบ้างคือ
๑) อธิศีลสิกขา
๒) อธิจิตตสิกขา
๓) อธิปัญญาสิกขา

ภิกษุทั้งหลาย ก็อธิศีลสิกขาเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วด้วยความ สำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมารยาท และโคจรมีปกติ เห็นภัย ในโทษทั้งหลายแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อธิศีลสิกขา

ภิกษุทั้งหลาย ก็อธิจิตตสิกขาเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสงัด จากกามและ อกุศลธรรมท้้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้ว แลอยู่ เพราะสงบวิตก และ วิจารเสียได้ จึงบรรลุ ทุติยฌาน อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งจิต ในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมเอก ผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปิติและสุขอันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่ เพราะ ความจาง คลายไปแห่งปีติ จึงอยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และย่อมเสวย สุขด้วยกาย จึงบรรลุตติยฌาน อันเป็นฌานที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวว่า ผู้ได้ ฌานนี้เป็นผู้อยู่ อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะ ความดับหายไปแห่ง โสมนัส และโทมนัสทั้งหลายในกาลก่อน จึงบรรลุ จตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่สติอันบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาแล้ว แลอยู่ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อธิจิตตสิกขา

ภิกษุทั้งหลาย ก็อธิปัญญาสิกขาเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตาม ความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติ ให้ถึงความดับทุกข์ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อธิปัญญา สิกขา

ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้แลสิกขา ๓.



10)

อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า 93 (ภาคนำ)


การรู้อริยสัจเป็นของไม่เหลือวิสัยพระอริยบุคคล

วัจฉะ ! ภิกษุผู้สาวกของเรา บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ  เพราะ ความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลาย(๑)  ได้กระทำ ให้แจ้งแล้วด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ มีอยู่ไม่ใช่ร้อยเดียว ไม่ใช่สองร้าย ไม่ใช่สามร้อย ไม่ใช่สี่ร้อย ไม่ใช่ ห้าร้อย มีอยู่มากกว่ามาก โดยแท้.

วัจฉะ ! ภิกษุณีผู้สาวิกาของเรา บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะความ สิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลาย (๑)  ได้กระทำ ให้แจ้งแล้วด้วยปัญญา อันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ มีอยู่ไม่ใช่ร้อยเดียว ไม่ใช่สองร้อย ไม่ใช่สามร้อย ไม่ใช่สี่ร้อย ไม่ใช่ห้าร้อย มีอยู่มากกว่ามาก โดยแท้.
(๑) สำเร็จอรหันต์ในทิฐธรรม

วัจฉะ ! อุบาสก ผู้สาวกของเรา พวกเป็นคฤหัสถ์นุ่งขาว อยู่ประพฤติกับผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ เป็นโอปปาติกสัตว์  (พระอนาคามี) มีปกติปรินิพพานในภพ ที่ไปเกิด นั้น (๒) ไม่เวียนกลับจากภพนั้นเป็นธรรมดา เพราะความสิ้นไปแห่ง สัญโญชน์ มีส่วน ในเบื้องต่ำ ห้าอย่าง ก็ มีอยู่ไม่ใช่ร้อยเดียว ฯลฯ ไม่ใช้ห้าร้อยมีอยู่มากกว่ามาก โดยแท้.

วัจฉะ ! อุบาสก ผู้สาวกของเรา พวกเป็นคฤหัสถ์นุ่งขาว ยังบริโภคกาม เป็นผู้ ทำตาม คำสอน เป็นผู้สนองโอวาท  มีความสงสัย อันข้ามได้แล้ว ไม่ต้องกล่าวด้วย ความสงสัยว่า นี่อะไร ๆ เป็นผู้ปราศจาก ความครั่นคร้าม ไม่ใช่ผู้ต้องเชื่อ ตามคำ ของผู้อื่น อยู่ประพฤติ พรหมจรรย์ ในศาสนาของพระศาสดา ก็มีอยู่ไม่ใช่ร้อยเดียว ฯลฯ ไม่ใช่ห้าร้อย มีอยู่มากกว่ามาก โดยแท้.

วัจฉะ ! อุบาสิกา ผู้สาวิกาของเรา พวกเป็นหญิงคฤหัสถ์นุ่งขาว อยู่ประพฤติกับ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์  เป็นโอปปาติกสัตว์ (พระอนาคามี)  มีปกติปรินิพพานในภพ
ที่ไปเกิดนั้น (๒) ไม่เวียนกลับจากภพนั้นเป็นธรรมดา เพราะความสิ้นไปแห่ง สัญโญชนม์ ส่วนในเบื้องต่ำห้าอย่าง ก็ มีอยู่ไม่ใช่ร้อยเดียว ฯลฯไม่ใช่ห้าร้อย มีอยู่โดยมากกว่า มากเป็นแท้.

วัจฉะ ! อุบาสิกา ผู้สาวิกาของเรา พวกเป็นหญิงคฤหัสถ์นุ่งขาว ยังบริโภคกาม 
เป็นผู้ทำตามคำสอน เป็นผู้สนองโอวาท มีความสงสัยอันข้ามได้แล้ว ไม่ต้องกล่าว ด้วยความสงสัยว่า นี่อะไร ๆ เป็นปราศจาก ความครั่นคร้ามไม่ต้องเชื่อตาม คำของ ผู้อื่น อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนา ของ พระศาสดา ก็มีอยู่ไม่ใช่ร้อยเดียว ฯลฯ ไมใช่ห้าร้อย มีอยู่โดยมากกว่ามากเป็นแท้.



11)

อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า 104 -1 (ภาคนำ)


เหตุที่ทำให้สัจจะเหล่านี้ได้นามว่า “อริยะ”
(รู้อริยสัจสี่ คืออริยะบุคคล)

ภิกษุ ท. ! ความจริงอันประเสริฐเหล่านี้ มีอยู่ ๔ อย่าง.
สี่อย่าง เหล่าไหนเล่า ? สี่อย่าง คือ
ความจริงอันประเสริฐ เรื่องทุกข์
ความจริงอันประเสริฐ เรื่องเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์
ความจริงอันประเสริฐ เรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ความจริงอันประเสริฐ เรื่องทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

ภิกษุ ท. ! ความจริงอันประเสริฐ ๔ อย่าง เหล่านี้แล
เป็น ตถา คือมีความเป็นอย่างนั้น
เป็น อวิตถา คือไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น
เป็น อนัญญถา คือไม่เป็นไปโดยประการอื่นจากความเป็นอย่างนั้น
เพราะเหตุนั้นเรา จึงกล่าวสัจจะเหล่านั้นว่าเป็น “อริยะ (อันประเสริฐ)” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรม อันเป็นเครื่องกระทำ ให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้ เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือแห่ง ทุกข์ เป็นอย่างนี้ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้” ดังนี้.



12)

อริยสัจจากพระโอษฐ์หน้า 105 (ภาคนำ)


เหตุที่ทำให้สัจจะเหล่านี้ได้นามว่า “อริยะ” (อีกนัยหนึ่ง)
(อริยะบุคคลคือ ตถาคต ผู้กล่าวสัจจะ)

ภิกษุ ท. ! ความจริงอันประเสริฐ ๔ อย่างเหล่านี้ มีอยู่.
สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ
ความจริงอันประเสริฐ เรื่องทุกข์
ความจริงอันประเสริฐ เรื่องเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์
ความจริงอันประเสริฐ เรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ความจริงอันประเสริฐ เรื่องทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.


ผู้กล่าวสัจจะเหล่านั้น คือตถาคตผู้เป็นอริยะ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์

เพราะเหตุนั้น เรา จึงกล่าวสัจจะเหล่านั้น ว่าเป็น “อริยะ” ดังนี้.

เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึง ประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้ เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้



13)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๒๓๑


ธรรม ๔ ประการ (ของพระอริยะ)

1)  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา
     ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ

     สัปปุริสสังเสวะ การคบสัปบุรุษ ๑
     สัทธรรมสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่าน ๑
     โยนิโสมนสิการ ทำไว้ในใจโดยแยบคาย ๑
     ธรรมานุธรรมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา

2)  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการ เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่มนุษย์
     ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
     สัปปุริสสังเสวะ ๑
     สัทธรรมสวนะ๑
     โยนิโสมนสิการ ๑
     ธรรมานุธรรมปฏิปัตติ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ประการนี้แล เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่มนุษย์ ฯ

3)  ดูกรภิกษุทั้งหลาย โวหารอันมิใช่ของพระอริยะ ๔
    ประการนี้ ๔ ประการเป็น ไฉน คือ
    ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้เห็นว่าเห็น ๑
    ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้ฟังว่าได้ฟัง ๑
    ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้ทราบว่าได้ทราบ ๑
    ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้รู้ว่าได้รู้ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โวหารอันไม่ใช่ของพระอริยะ ๔ ประการนี้แล ฯ

4)  ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยโวหาร ๔ ประการนี้
    ๔ ประการเป็นไฉน คือ
    ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้เห็นว่าไม่ได้เห็น ๑
    ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้ ฟังว่าไม่ได้ฟัง ๑
    ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้ทราบว่าไม่ได้ทราบ ๑
    ความเป็น ผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้รู้ว่าไม่ได้รู้ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยโวหาร ๔ ประการนี้แล ฯ

5) ดูกรภิกษุทั้งหลาย โวหารอันมิใช่ของพระอริยะ ๔ ประการ นี้
    ๔ ประการเป็น ไฉน คือ
    ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้เห็นว่าไม่ได้เห็น ๑
    ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้ฟังว่าไม่ได้ฟัง ๑
    ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้ทราบว่าไม่ได้ทราบ ๑
    ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้รู้ว่าไม่ได้รู้ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โวหารอันมิใช่ของพระ อริยะ ๔ ประการนี้แล



14)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๐


ทุกข์ที่เหลือของอริยะเท่ากับเศษดิน เทียบกับแผ่นดิน
(นขสิขสูตร)

          [๓๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
          สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงเอาปลายพระนขา ช้อนฝุ่นขึ้นเล็กน้อย แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

          ดูกรภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฝุ่นประมาณ น้อยนี้ ที่เราเอาปลายเล็บช้อนขึ้น กับแผ่นดินใหญ่นี้ อย่างไหนจะมากกว่ากันหนอ

          ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แหละมากกว่า ฝุ่นประมาณเล็กน้อย ที่พระผู้มีพระภาค ทรงเอาปลายพระนขาช้อนขึ้นนี้มีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่แล้ว ฝุ่นที่พระผู้มีพระภาค ทรงเอาปลาย พระนขาช้อนขึ้น มีประมาณน้อยย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ ฯ

          [๓๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ความทุกข์ที่หมดไป สิ้นไป นี้แหละ ของบุคคลผู้เป็นพระอริยสาวก สมบูรณ์ด้วยทิฐิ ตรัสรู้แล้ว มีมากกว่า ส่วนที่เหลือ มีประมาณน้อย ความที่ทุกข์เป็นสภาพยิ่งใน ๗ อัตภาพ เมื่อเทียบเข้า กับกองทุกข์ ที่หมดสิ้นไป อันมีในก่อนไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย การตรัสรู้ธรรมให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้แล การได้ธรรมจักษุ ให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้
------------------------------------------------------------------------------------------------------------


15)
ทุกข์ที่เหลือของอริยะเท่ากับน้ำที่วิดขึ้น เทียบกับน้ำในสระโบกขรณี
(โปกขรณีสูตร)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๐

          [๓๑๓] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

          ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย สระโบกขรณียาว ๕๐ โยชน์กว้าง ๕๐ โยชน์ ลึก ๕๐ โยชน์ (ด้านละประมาณ 800 กม.) มีน้ำเต็มเสมอขอบกาดื่มกินได้ บุรุษพึงวิดน้ำขึ้นจาก สระโบกขรณีนั้น ด้วยปลายหญ้าคา เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำที่บุรุษวิดขึ้นด้วย ปลายหญ้าคาก็ดี น้ำในสระโบกขรณีก็ดี ไหนจะมากกว่ากัน

          ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในสระโบกขรณีนี้แหละ มากกว่า น้ำที่บุรุษวิดขึ้นด้วยปลายหญ้าคา มีประมาณน้อย น้ำที่บุรุษวิดขึ้นด้วย ปลายหญ้าคา เมื่อเทียบกันเข้ากับน้ำในสระโบกขรณี ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ แม้ฉันใด ฯ

          [๓๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ความทุกข์ที่หมดไป สิ้นไป นี้แหละ ของบุคคล ผู้เป็นพระอริยสาวก สมบูรณ์ด้วยทิฐิ ตรัสรู้แล้ว เป็นทุกข์มากกว่า ส่วนที่เหลืออยู่มีประมาณน้อย ความที่ทุกข์เป็นสภาพยิ่งใน๗ อัตภาพ เมื่อเทียบเข้า กับกองทุกข์ที่หมดไป สิ้นไปอันมีในก่อน ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย การตรัสรู้ธรรมให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้แล การได้ธรรมจักษุ ให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้



16)

(ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า 445)


ภิกษุผู้ถึงความเป็นอริยะ


(รู้ชัดในอริยสัจสี่ รู้ว่าทุกข์เป็นเช่นนี้ รู้เหตุเกิด รู้ความดับไม่เหลือ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์)

         ภิกษุท. ! ภิกษุผู้ถึงความเป็นอริยะ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า “ทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ”
ย่อมรู้ชัด ตามเป็นจริงว่า “เหตุให้เกิดทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ”
ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า “ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ”
ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า “ข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นเช่นนี้ๆ” ดังนี้

 ภิกษุท. ! ภิกษุผู้ถึงความเป็นอริยะ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้แล

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์