เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

ตรัสกับอุบาลีปริพาชกเรื่องการอยู่ป่าของภิกษุ (อุปาลีสูตร)

1718
  (ย่อ)

ตรัสกับอุบาลีปริพาชกเรื่องการอยู่ป่าของภิกษุ (อุปาลีสูตร)
1) ภิกษุอยู่ป่าผู้เดียวทำได้ยาก จิตจะจมลงหรือฟุ้งซ๋าน
2) อุปมากระต่ายหรือเสือปลา ไม่อาจลงสู่ห้วงน้ำใหญ่เหมือนช้างตัวใหญ่ได้
3) ภิกษุที่ยังไม่ได้สมาธิ ไม่อาจเสพเสนะในป่าอันสงัดได้ อุปมาเหมือนเด็กอ่อนนอนหงาย
4) ตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ
5) ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทาง ปลอดโปร่ง
6) ภิกษุพึงละสิกขาบท ๓ ประการ -ละความไม่สะอาดทางกาย ๓ ประการ
7) ภิกษุพึงละสิกขาบท ๔ ประการ -ละความไม่สะอาดทางวาจา ๔ ประการ
8) ภิกษุพึงเว้นขาดสิกขาบทอีก ๑๙ ประการ จากจุลศีล
9) พึงประกอบด้วยสิกขา ๓
10) พึงสำรวมอินทรีย์
11) ภิกษุละนิวรณ์ ๕
12) ภิกษุบรรลุรูปสัญญา ฌาน ๑ ๒ ๓ ๓ ๔
13) ภิกษุบรรลุ สมาธิระดับอรูปสัญญา
14) บรรลุ สัญญาเวทยืตนิโรธ

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 

 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๒

ตรัสกับอุบาลีปริพาชกเรื่องการอยู่ป่าของภิกษุ (อุปาลีสูตร)

1)
(ภิกษุอยู่ป่าผู้เดียวทำได้ยาก จิตจะจมลงหรือฟุ้งซ๋าน)

          [๙๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนา เพื่อสร้องเสพเสนาสนะคือป่าและราวป่าอันสงัด

           พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรอุบาลี เสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด อยู่ลำบาก ทำความวิเวกได้ยาก ยากที่จะอภิรมย์ในการอยู่ผู้เดียว ป่าทั้งหลาย เห็นจะนำใจของภิกษุผู้ไม่ได้สมาธิไปเสีย

           ดูกรอุบาลี ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราเมื่อไม่ได้สมาธิ จักสร้องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด ผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้คือ จักจมลงหรือจักฟุ้งซ่าน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

2)
(อุปมากระต่ายหรือเสือปลา ไม่อาจลงสู่ห้วงน้ำใหญ่เหมือนช้างตัวใหญ่ได้)

          ดูกรอุบาลี เปรียบเหมือนมีห้วงน้ำใหญ่อยู่ มีช้างใหญ่สูง ๗ ศอกหรือ ๗ ศอกกึ่ง มาถึงเข้า ช้างตัวนั้นพึงคิดอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ เราลงสู่ห้วงน้ำนี้แล้ว พึงขัด ถูหูเล่นบ้าง พึงขัดถูหลังเล่นบ้าง ครั้นแล้ว จึงอาบ ดื่มขึ้นมากลับไปตามต้องการ ช้างนั้นลงสู่ห้วงน้ำนั้น แล้วพึงขัดถูหูเล่นบ้าง ขัดถูหลังเล่นบ้าง

          ครั้นแล้วจึงอาบ ดื่มขึ้นมาแล้วกลับไปตามต้องการ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าช้างนั้นเป็นสัตว์มีร่างกายใหญ่ ย่อมได้การลงในน้ำลึก ครั้นกระต่าย หรือ เสือปลามาถึง (ห้วงน้ำนั้น)เข้า กระต่ายหรือเสือปลาพึงคิดอย่างนี้ว่า เราเป็นอะไร และช้างใหญ่เป็นอะไร ไฉนหนอเราพึงลงสู่ห้วงน้ำนี้แล้วจึงขัดถูหูเล่นบ้าง พึงขัดถูหลัง เล่นบ้าง

          ครั้นแล้ว จึงอาบ ดื่มขึ้นมาแล้วกลับไปตามต้องการ กระต่ายหรือเสือปลานั้น ก็ลงสู่ห้วงน้ำนั้นโดยพลัน ไม่ทันได้พิจารณา กระต่ายหรือเสือปลานั้น จำต้องหวังข้อนี้ คือจักจมลงหรือจักลอยขึ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่ากระต่าย หรือเสือปลานั้น เป็นสัตว์มีร่างกายเล็ก ย่อมไม่ได้การลงในห้วงน้ำลึก แม้ฉันใด
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

3)
(ภิกษุที่ยังไม่ได้สมาธิก็เช่นเดียวกัน ไม่อาจเสพเสนะในป่าอันสงัดได้ อุปมา เหมือนเด็กอ่อนนอนหงาย)

           ดูกรอุบาลี ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราเมื่อไม่ได้สมาธิ จักสร้องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด ผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้ คือ จักจมลงหรือฟุ้งซ่าน ฉันนั้น เหมือนกัน

          ดูกรอุบาลี เปรียบเหมือนเด็กอ่อนนอนหงาย ย่อมเล่นมูตรและคูถของตน ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การเล่นนี้เป็นการเล่นของเด็กอ่อน อย่างเต็มที่สิ้นเชิง มิใช่หรือ ท่านพระอุบาลีกราบทูลว่า เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า

          พ. ดูกรอุบาลี สมัยต่อมา เด็กนั้นแล อาศัยความเจริญ อาศัยความแก่กล้า แห่งอินทรีย์ ย่อมเล่นเครื่องเล่นทั้งหลาย ที่เป็นของเล่นของพวกเด็กๆ คือเล่นไถ น้อยๆ เล่นตีไม้หึ่ง เล่นกังหันไม้ เล่นกังหันใบไม้ เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่นธนู น้อยๆ ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การเล่นนี้ เป็นการเล่นดียิ่งกว่า และประณีตกว่าการเล่นที่มีในครั้งก่อนมิใช่หรือ
          อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

          พ. ดูกรอุบาลี สมัยต่อมา เด็กนั้นแล อาศัยความเจริญ อาศัยความแก่กล้า แห่งอินทรีย์ เป็นผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรออยู่ด้วยรูปทั้งหลาย อันบุคคล พึงรู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ยั่วยวนชวนให้ กำหนัด ด้วยเสียงทั้งหลาย อันบุคคลพึงรู้ด้วยหู ... ด้วยกลิ่นทั้งหลายอันบุคคล พึงรู้ด้วยจมูก ... ด้วยรสทั้งหลายอันบุคคลพึงรู้ด้วยลิ้น...ด้วยโผฏฐัพพะทั้งหลาย อันบุคคลพึงรู้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ยั่วยวนชวนให้กำหนัด

           ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การเล่นนี้เป็นการเล่นที่ดี ยิ่งกว่า และประณีตกว่าการเล่นที่มีในครั้งก่อนมิใช่หรือ
          อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

4)
(ตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ)

          พ. ดูกรอุบาลี ก็พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เอง โดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรมพระตถาคตพระองค์นั้น

          ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญา อันยิ่ง ของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ มนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

5)
(ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทาง ปลอดโปร่ง)

          คฤหบดีบุตรแห่งคฤหบดี หรือผู้เกิดมาในภายหลัง ในตระกูลใด ตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้นแล้ว ได้ศรัทธาในตถาคต ประกอบด้วยการได้ศรัทธาแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทาง ปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้วไม่ใช่ ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด

          สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ แล้ว ปลงผม และหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขา และอาชีพเสมอด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

(จุลศีล ตถาคตเว้นขาดจากสิ่งเหล่านี้)
(มี ๒๖ สิกขาบท)
6)
(ภิกษุพึงละสิกขาบท ๓ ประการ -ละความไม่สะอาดทางกาย ๓ ประการ)

          ภิกษุทั้งหลาย
       (๑)
ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ ทั้งปวงอยู่

       (๒)  ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของ ที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ ละอพรหมจรรย์ ประพฤติ พรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล

       (๓)  เว้นจากเมถุนธรรม อันเป็นกิจของชาวบ้าน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

7)
(ภิกษุพึงละสิกขาบท ๔ ประการ -ละความไม่สะอาดทางวาจา ๔ ประการ)

        (๔)  ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐาน ควรเชื่อถือได้ ไม่พูดลวงโลก

        (๕)  ละวาจาส่อเสียดเว้นขาด จากวาจาส่อเสียด ฟังข้างนี้แล้ว ไม่ไปบอก ข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังข้างโน้น แล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คน หมู่โน้น แตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกัน แล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคน ผู้พร้อมเพรียง กัน กล่าวแต่คำ ที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน

         (๖)  ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ

          (๗) ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรมพูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้างอิงมีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

8)
(ภิกษุพึงเว้นขาดสิกขาบทอีก ๑๙ ประการ จากจุลศีล)

          ภิกษุนั้น
(๘) เว้นขาดจาก การพรากพืชคาม และภูตคาม ฉันหนเดียว
(๙) เว้นการฉันในราตรี งดการฉันในเวลาวิกาล
(๑๐) เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้อง การประโคมดนตรี และการดูการเล่นอันเป็นข้าศึก แก่กุศล
(๑๑) เว้นขาดจาก การทัดทรงประดับ และตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว
(๑๒) เว้นขาดจากการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่
(๑๓) เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
(๑๔) เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ
(๑๕) เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
(๑๖) เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
(๑๗) เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส
(๑๘) เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
(๑๙) เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า ลา (ข้อ ๑๙ ไม่มีในฉบับหลวง) คลิก
(๒๐) เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
(๒๑) เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน
(๒๒) เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้
(๒๓) เว้นขาดจากการซื้อการขาย
(๒๔) เว้นขาดจากการฉ้อโกงด้วยตาชั่ง การฉ้อโกงด้วยของปลอม และการฉ้อโกง ด้วยเครื่องตวงวัด
(๒๕) เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบแตลง
(๒๖) เว้นขาดจากการตัดการฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

9)
(พึงประกอบด้วยสิกขา ๓)

          ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษ ด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาต เป็นเครื่องบริหารท้อง ซึ่งตนจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง นกมีปีกจะบินไป ทางทิศาภาคใดๆ ก็มีปีกของตัวเป็นภาระบินไป ฉันใด ภิกษุเป็นผู้สันโดษ ด้วยจีวรเป็น เครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง ซึ่งตนจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ฉันนั้นเหมือนกัน

          ภิกษุนั้น เป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์ อันเป็นอริยะนี้ ย่อมได้เสวยสุข อันไม่มี โทษเฉพาะตน

          ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติ เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรม อันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ชื่อว่าย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าย่อมถึงความสำรวม ในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะ ด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุ ให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ชื่อว่าย่อมรักษามนินทรีย์ ชื่อว่าย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

10)
(พึงสำรวมอินทรีย์)

          ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วย อินทรีย์สังวร อันเป็นอริยะนี้ ย่อมได้เสวยสุข อันไม่ระคนด้วยกิเลสเฉพาะตน

          ภิกษุนั้นย่อมทำความรู้สึกตัว ในการก้าวไป ในการถอยกลับ ย่อมทำความ รู้สึกตัว ในการแลไปข้างหน้า ในการเหลียว ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร ย่อมทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่มการเคี้ยว การลิ้ม ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่นการพูด การนิ่ง

          ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อันเป็นอริยะนี้ ประกอบด้วยอินทรีย์สังวร อันเป็นอริยะนี้ และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ อันเป็นอริยะนี้ ย่อมซ่องเสพเสนาสนะ อันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้าป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ภิกษุนั้น อยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่างเปล่า ย่อมนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติ เฉพาะหน้า

          ภิกษุนั้นละความโลภในโลกแล้ว มีจิตปราศจากความโลภอยู่ ย่อมชำระจิต ให้บริสุทธิ์จากความโลภ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

11)
(ภิกษุละนิวรณ์๕)

          ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์ เกื้อกูลสัตว์ทั้งปวง อยู่ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความ ประทุษร้ายคือ พยาบาท ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมาย อยู่ที่ แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากถีนมิทธะ ละ อุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านมีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิต ให้บริสุทธิ์ จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามพ้นวิจิกิจฉา ไม่มีความสงสัย ในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

12)
(ภิกษุบรรลุรูปสัญญา ฌาน ๑ ๒ ๓ ๓ ๔)

          ภิกษุนั้น ครั้นละนิวรณ์ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ทุรพล ๕ ประการนี้ได้แล้ว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉนการอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าการอยู่ อันมีในก่อนมิใช่หรือ
อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

          พ. ดูกรอุบาลี สาวกทั้งหลายของเรา พิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมแม้นี้ (ว่ามีอยู่) ในตนจึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด แต่ว่าสาวกเหล่านั้น ยังไม่บรรลุ ประโยชน์ของตนโดยลำดับก่อน

          ดูกรอุบาลี อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไปมีปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิอยู่ ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อนมิใช่หรือ
          อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

          พ. ดูกรอุบาลี สาวกทั้งหลายของเรา พิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมแม้นี้ (ว่ามีอยู่) ในตนจึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด แต่ว่าสาวกเหล่านั้น ยังไม่บรรลุ ประโยชน์ของตน โดยลำดับก่อน

          ดูกรอุบาลี อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วย นามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญว่าผู้ได้ ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขามีสติ อยู่เป็นสุข ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การอยู่เช่นนี้เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อนมิใช่หรือ
          อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

          พ. ดูกรอุบาลี สาวกทั้งหลายของเรา พิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมแม้นี้ (ว่ามีอยู่) ในตนจึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด แต่ว่าสาวกเหล่านั้น ยังไม่บรรลุ ประโยชน์ของตนโดยลำดับก่อน

          ดูกรอุบาลี อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติ บริสุทธิ์อยู่ ดูกรอุบาลีเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดี ยิ่งกว่า และประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อนมิใช่หรือ
          อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

          พ. ดูกรอุบาลี สาวกทั้งหลายของเรา พิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมแม้นี้ (ว่ามีอยู่) ในตนจึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด แต่ว่าสาวกเหล่านั้น ยังไม่บรรลุประโยชน์ของตน โดยลำดับก่อน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

13)
(ภิกษุบรรลุ สมาธิระดับอรูปสัญญา)

          ดูกรอุบาลี อีกประการหนึ่ง เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เสียได้เพราะไม่ใส่ใจ ถึงนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวง ภิกษุจึงบรรลุ อากาสา นัญจายตนฌาน โดยคำนึงว่า อากาศไม่มีที่สุด ดังนี้

           ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดี ยิ่งกว่าและประณีต กว่าการอยู่อันมีในก่อนมิใช่หรือ
          อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

          พ. ดูกรอุบาลี สาวกทั้งหลายของเรา พิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมแม้นี้ (ว่ามีอยู่) ในตนจึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด แต่ว่าสาวกเหล่านั้น ยังไม่บรรลุ ประโยชน์ของตนโดยลำดับก่อน

          ดูกรอุบาลี อีกประการหนึ่ง เพราะก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวง ภิกษุจึงบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน โดยคำนึงว่า วิญญาณ ไม่มี ที่สุด ดังนี้ ... เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวง ภิกษุจึง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน โดยคำนึงว่าหน่อยหนึ่งไม่มี ดังนี้ ... เพราะก้าวล่วง อากิญจัญญายตนฌาน โดยประการทั้งปวง ภิกษุจึงบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตน ฌาน โดยคำนึงว่า ธรรมชาตินี้สงัด ธรรมชาตินี้ประณีต ดังนี้

           ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดี ยิ่งกว่าและประณีตกว่า การอยู่อันมี ในก่อนมิใช่หรือ
          อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

          พ. ดูกรอุบาลี สาวกทั้งหลายของเรา พิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมแม้นี้ (ว่ามีอยู่) ในตนจึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด แต่ว่าสาวกเหล่านั้น ยังไม่บรรลุ ประโยชน์ของตนโดยลำดับก่อน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

14)
(บรรลุ สัญญาเวทยืตนิโรธ)

          ดูกรอุบาลี อีกประการหนึ่ง เพราะก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โดยประการทั้งปวง ภิกษุจึงบรรลุ สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติอยู่ และอาสวะของ ภิกษุนั้นเป็นกิเลสหมดสิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา

           ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน การอยู่เช่นนี้เป็นการอยู่ที่ดี ยิ่งกว่า และประณีตกว่า การอยู่อันมี ในก่อนมิใช่หรือ
          อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

          พ. ดูกรอุบาลี สาวกทั้งหลายของเรา พิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมแม้นี้ (ว่ามีอยู่) ในตนจึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด แต่ว่าสาวกเหล่านั้น ยังไม่บรรลุ ประโยชน์ของตน โดยลำดับก่อน

          ดูกรอุบาลี เธอจงอยู่ในสงฆ์เถิด เมื่อเธออยู่ในสงฆ์ ความสำราญจักมี

จบสูตรที่ ๙
----------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ : ปริพาชกอุบาลี ต่อมาได้บวชในพุทธศาสนา จนสำเร็จอรหันต์ และเป็นผู้ ที่มีบทบาทสำคัญในการสังคายนาศาสนาครั้งที่1 ที่ ถ้ำสัตตบรรณคูหา โดยทำหน้าที่ พระอุบาลีวิสัชนาพระวินัย ส่วนพระอานนท์ วิสัชนาพระธรรม



 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์