เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 หมวดว่าด้วยช้าง หมวดว่าด้วยตัณหา (อรรถกถา-คำแต่งใหม่) 1019
 
 


1008 ธรรมบท-อุทาน 1 หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่กัน หมวดว่าด้วยความไม่ประมาท
1009 ธรรมบท-อุทาน 2 หมวดว่าด้วยการฝึกจิต หมวดว่าด้วยดอกไม้
1010 ธรรมบท-อุทาน 3 หมวดว่าด้วยคนพาล หมวดว่าด้วยบัณฑิต
1011 ธรรมบท-อุทาน 4 หมวดว่าด้วยพระอรหันต์ หมวดว่าด้วยหนึ่งในร้อยในพัน
1012 ธรรมบท-อุทาน 5 หมวดว่าด้วยบาป
1013 ธรรมบท-อุทาน 6 หมวดว่าด้วยความชรา หมวดว่าด้วยตน
1014 ธรรมบท-อุทาน 7 หมวดว่าด้วยเรื่องโลก หมวดว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้า
1015 ธรรมบท-อุทาน 8 หมวดว่าด้วยความสุข หมวดว่าด้วยสิ่งเป็นที่รัก
1016 ธรรมบท-อุทาน 9 หมวดว่าด้วยความโกรธ หมวดว่าด้วยมลทินทางใจ
1017 ธรรมบท-อุทาน 10 หมวดว่าด้วยผู้ตั้งอยู่ในธรรม หมวดว่าด้วยมรรค
1018 ธรรมบท-อุทาน 11 หมวดว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด หมวดว่าด้วยคนทำกรรมชั่วตกนรก
1019 ธรรมบท-อุทาน 12 หมวดว่าด้วยช้าง หมวดว่าด้วยตัณหา
1020 ธรรมบท-อุทาน 13 หมวดว่าด้วยภิกษุ หมวดว่าด้วยพราหมณ์

   เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
   การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
   การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
   แสวงหาสัจจะ บำเพ็ญทุกรกิริยา
   ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
   ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
   ปลงสังขาร ปรินิพพาน
   ลำดับขั้นการปรินิพพาน
   เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
   แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
 


(อรรถกถา-คำแต่งใหม่)


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต


หมวดว่าด้วยช้าง


๑. เรื่องการฝึกตน (ตรัสแก่พระอานนท์)
เราจักอดกลั้นถ้อยคำล่วงเกิน
เหมือนพญาช้างในสงคราม
อดทนลูกศรที่ตกจากแล่ง
เพราะคนจำนวนมากเป็นผู้ทุศีล

คนทั้งหลายนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม
พระราชาย่อมทรงราชพาหนะที่ฝึกแล้ว
ในหมู่มนุษย์ คนที่อดกลั้นถ้อยคำล่วงเกินได้
ชื่อว่าเป็นผู้ฝึกตนได้แล้ว๑- เป็นผู้ประเสริฐที่สุด

ม้าอัสดร ม้าอาชาไนย ม้าสินธพ ช้างใหญ่
ที่ได้รับการฝึกหัดแล้ว เป็นสัตว์ประเสริฐ
แต่คนที่ฝึกตนได้แล้ว ประเสริฐกว่าสัตว์พาหนะเหล่านั้น

๒. เรื่องภิกษุผู้เคยเป็นนายควาญช้าง (ตรัสแก่ภิกษุผู้เคยเป็นนายควาญช้าง)
แท้จริง บุคคลไม่สามารถไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไป ด้วยยานเหล่านี้
แต่บุคคลผู้ฝึกตนได้แล้ว สามารถไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป
ด้วยตนที่ฝึกแล้ว ที่ฝึกดีแล้ว

๓. เรื่องบุตรของพราหมณ์ชรา (ตรัสแก่บุตร ๔ คนของพราหมณ์ชรา)
ช้างกุญชรชื่อธนปาลกะ ตกมันจัด ห้ามได้ยาก ถูกขังไว้
ไม่ยอมกินฟ่อนหญ้า เพราะระลึกถึงแต่นาควัน

๔. เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล
(ตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เสวยพระกระยาหารมาก)
เมื่อใด บุคคลผู้ถูกความง่วงเหงาครอบงำ บริโภคมาก
ชอบแต่นอนกลิ้งเกลือกไปมา
เมื่อนั้น เขาย่อมมีปัญญาเฉื่อยชา ชอบเข้าห้องเป็นอาจิณ
เหมือนสุกรอ้วนที่เขาขุนด้วยเศษอาหาร ฉะนั้น

๕. เรื่องสานุสามเณร (ตรัสแก่สานุสามเณร)
แต่ก่อนจิตนี้ได้ท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆ
ตามความปรารถนา ตามความต้องการ ตามความสบาย
วันนี้ เราจะข่มจิตนั้นโดยอุบายอันแยบคาย
เหมือนควาญช้างปราบพยศช้างตกมัน ฉะนั้น

๖. เรื่องช้างปาเวรกะ (ตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย)
เธอทั้งหลายจงยินดีในความไม่ประมาท
จงตามรักษาจิตของตน
จงถอนตนขึ้นจากหล่ม
เหมือนช้างกุญชรที่จมลงในเปือกตม ถอนตนขึ้นได้ ฉะนั้น

๗. ภิกษุหลายรูป (ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย)
ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกัน เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด

ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่ผู้เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น

การเที่ยวไปของบุคคลผู้เดียวเป็นความประเสริฐ
เพราะคุณเครื่องความเป็นสหาย ไม่มีในคนพาล
อนึ่ง บุคคลควรมีความขวนขวายน้อย
เที่ยวไปผู้เดียว ไม่พึงทำความชั่ว
เหมือนช้างมาตังคะเที่ยวไปตัวเดียวในป่า ฉะนั้น

๘. เรื่องมาร (ตรัสแก่มารผู้มีบาป)
เมื่อมีกิจเกิดขึ้น สหายทั้งหลายนำสุขมาให้
ความยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นำสุขมาให้
ในเวลาสิ้นชีวิต บุญนำสุขมาให้
การละทุกข์ได้ทั้งหมด นำสุขมาให้

ในโลก การเกื้อกูลมารดา นำสุขมาให้
การเกื้อกูลบิดา นำสุขมาให้
การเกื้อกูลสมณะ นำสุขมาให้
การเกื้อกูลท่านผู้ประเสริฐ ก็นำสุขมาให้

ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา
ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้ว นำสุขมาให้
การได้ปัญญา นำสุขมาให้
การไม่ทำบาปทั้งหลาย ก็นำสุขมาให้



หมวดว่าด้วยตัณหา

๑. เรื่องปลากปิละ (ตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท ๔)
ตัณหาย่อมเจริญแก่มนุษย์ผู้ประพฤติประมาท
เหมือนเถาย่านทรายเจริญอยู่ในป่า
เขาย่อมเร่ร่อนไปมา
เหมือนวานรที่ต้องการผลไม้ เที่ยวเร่ร่อนไปมาในป่า ฉะนั้น

ตัณหาที่เลวทรามซ่านไปในโลกนี้
ครอบงำบุคคลใดไว้ได้
ความโศกย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น
เหมือนหญ้าคมบางที่ถูกฝนตกรดแล้วเจริญงอกงามขึ้น ฉะนั้น

ส่วนบุคคลใดครอบงำตัณหาที่เลวทรามนั้น
ซึ่งล่วงได้ยากในโลกไว้ได้
ความโศกย่อมตกไปจากบุคคลนั้น
เหมือนหยาดน้ำกลิ้งตกไปจากใบบัว ฉะนั้น

เพราะเหตุนั้น เราขอเตือนท่านทั้งหลาย
ขอท่านทั้งหลายที่ประชุมกันในที่นี้ จงมีความเจริญ
ขอท่านทั้งหลายจงขุดรากเหง้าแห่งตัณหา
เหมือนคนต้องการหญ้าแฝกขุดหญ้าแฝก
มารอย่าได้ระรานท่านทั้งหลายอยู่ร่ำไป
เหมือนกระแสน้ำระรานไม้อ้อ ฉะนั้น

๒. เรื่องลูกสุกรตัวเมีย (ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย)
ต้นไม้ เมื่อรากยังแข็งแรง ยังไม่ถูกทำลาย
แม้ลำต้นถูกตัดแล้ว ก็งอกขึ้นได้ใหม่ ฉันใด
ความทุกข์นี้ เมื่อบุคคลขจัดตัณหานุสัยไม่ได้ขาด
ก็ย่อมเกิดขึ้นเรื่อยๆ ฉันนั้น

บุคคลใดยังมีกระแสตัณหาอันแรงกล้า ๓๖ สาย
ที่มักไหลไปยังอารมณ์อันน่าพอใจ
ความดำริเป็นอันมากที่อาศัยราคะ
ย่อมนำบุคคลนั้นซึ่งมีความเห็นผิดไป

กระแสตัณหาทั้งหลายไหลไปในอารมณ์ทั้งหมด
ตัณหาดุจเถาวัลย์ ก็งอกงามขึ้น
พวกเธอ ครั้นเห็นตัณหาดุจเถาวัลย์ที่งอกงามนั้น
จงตัดรากด้วยปัญญา

สัตว์โลกผู้มีแต่โสมนัสซาบซ่าน
ฉ่ำชื้นด้วยเสน่หา
มัวแต่จะแสวงหาความสุขสำราญกันอยู่
จึงต้องเข้าถึงชาติและชราร่ำไป

หมู่สัตว์ถูกล้อมไว้ด้วยตัณหาที่ทำให้สะดุ้ง
จึงดิ้นรนเหมือนกระต่ายติดบ่วง
หมู่สัตว์ผู้ถูกสังโยชน์และกิเลสเครื่องข้อง ผูกไว้แน่น
ย่อมได้รับความทุกข์ร่ำไปชั่วกาลนาน

หมู่สัตว์ถูกล้อมไว้ด้วยตัณหาที่ทำให้สะดุ้ง
จึงดิ้นรนเหมือนกระต่ายติดบ่วง
เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อหวังให้ตนสิ้นราคะ
ควรบรรเทาตัณหาที่ทำให้สะดุ้งเสีย

๓. เรื่องภิกษุผู้กระสันจะสึก (ตรัสแก่บริษัท ๔ )
บุคคลใดออกจากอาลัยแล้ว มีใจน้อมไปในป่า
พ้นจากป่าแล้ว ยังแล่นเข้าไปสู่ป่านั้นอีก
ท่านทั้งหลายจงดูบุคคลนั้น
เขาพ้นจากเครื่องผูก ยังแล่นไปสู่เครื่องผูกตามเดิม

๔. เรื่องเรือนจำ (ตรัสแก่เหล่าภิกษุผู้เห็นโจรถูกจองจำในเรือนจำ)
นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวถึงเครื่องจองจำ
ที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้าปล้อง
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง แต่กล่าวถึง
ความกำหนัดยินดีในต่างหูแก้วมณี และความใยดีในบุตรภรรยา
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงความกำหนัด เครื่องจองจำที่มั่นคงนั้น
ว่ามีปกติเหนี่ยวลง หย่อนยาน แต่แก้ให้หลุดยาก
นักปราชญ์เหล่านั้นตัดเครื่องจองจำนั้นได้แล้ว
ไม่ใยดี ละกามสุข ออกบวช

๕. เรื่องพระเขมาเถรี (ตรัสพระคาถานี้แก่พระเขมาเถรี)
สัตว์ทั้งหลายผู้กำหนัดยินดีด้วยราคะ
ย่อมตกไปสู่กระแสตัณหา
เหมือนแมงมุมติดใยที่ตนถักไว้เอง
นักปราชญ์ทั้งหลายตัดกระแสตัณหานั้นได้แล้ว
หมดความใยดี ย่อมละทุกข์ทั้งปวงไปได้

๖. เรื่องบุตรเศรษฐีชื่ออุคคเสน (ตรัสพระคาถานี้แก่นายอุคคเสน)
เธอจงเป็นผู้ปล่อยวางทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
จงเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ
เธอผู้มีใจหลุดพ้นในธรรมทั้งปวงแล้ว
จักไม่เข้าถึงชาติ และชราอีกต่อไป

๗. เรื่องจูฬธนุคคหบัณฑิต (ตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งผู้กระสันจะสึก)
บุคคลผู้ถูกวิตก ย่ำยี มีราคะจัด เห็นอารมณ์ว่างามเสมอ
ย่อมมีตัณหาพอกพูนมากขึ้นๆ
บุคคลเช่นนั้นแลชื่อว่าสร้างเครื่องผูกมัดที่แน่นหนา

ส่วนผู้ใดยินดีในฌานเป็นที่ระงับวิตก
มีสติทุกเมื่อ เจริญอสุภฌานอยู่
ผู้นั้นแล จักทำตัณหาให้สิ้นไปได้
จักตัดเครื่องผูกแห่งมาร ได้

๘. มารวัตถุเรื่องมาร (ตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้มีบาป)
ผู้บรรลุความสำเร็จแล้ว ไม่มีความสะดุ้งกลัว
ปราศจากตัณหา ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ตัดลูกศรที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
ร่างกายนี้จึงเป็นร่างกายสุดท้าย

ผู้ปราศจากตัณหา หมดความยึดมั่น
ฉลาดในนิรุตติบท
รู้หมวดหมู่และเบื้องต้นเบื้องปลายของอักษรทั้งหลาย
ผู้นั้นแลเรียกว่า ผู้มีร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย
ผู้มีปัญญามาก เป็นมหาบุรุษ

๙. เรื่องอาชีวกชื่ออุปกะ (ผู้มีพระภาคเมื่อแรกตรัสรู้ประทับนั่งที่ควงไม้โพธิ์ อาชีวกชื่ออุปกะเข้ามาถามพระองค์ว่า บวชเพื่อใคร ใครเป็นศาสดา พระองค์จึงตรัสพระคาถา)
เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวง
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ละธรรมทั้งปวงได้
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
ตรัสรู้ยิ่งเองแล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า

๑๐. เรื่องท้าวสักกะจอมเทพ (ตรัสแก่ท้าวสักกะจอมเทพและเหล่าเทวดา)
การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง
รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง
ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง
ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง

๑๑. เรื่องอปุตตกเศรษฐีบุตร (ตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ดังนี้)
โภคทรัพย์ทั้งหลาย ย่อมทำลายคนมีปัญญาทราม
แต่จะไม่ทำลายคนที่แสวงหาฝั่ง
เพราะความทะยานอยากในโภคทรัพย์
คนมีปัญญาทรามจึงทำลายตนเองดุจทำลายคนอื่น

๑๒. เรื่องอังกุรเทพบุตร (ตรัสแก่อังกุรเทพบุตร และอินทกเทพบุตร)
นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีราคะเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากราคะ จึงมีผลมาก

นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีโทสะเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากโทสะ จึงมีผลมาก

นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีโมหะเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากโมหะ จึงมีผลมาก

นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีความอยากเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากความอยาก จึงมีผลมาก
(นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีตัณหาเป็นโทษฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากตัณหา จึงมีผลมาก)

 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์