เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 มิคสาลาสูตร -อินทรีย์ของบุคคล ๑๐ จำพวก 524
 
  (โดยย่อ)

ปุราณะ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกลจากเมถุน
ท่านกระทำกาละแล้ว เป็นสกทาคามีบุคคล เข้าถึงชั้นดุสิต

อิสิทัตตะ ไม่เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ยินดีด้วยภรรยาของตน

แม้เขาทำกาละแล้ว เป็นสกทาคามีบุคคล เข้าถึงชั้นดุสิต

คนหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ อีกคนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์
แต่หลังทำกาละ กลับไปเกิดเป็นสกทาคามี ชั้นดุสิตเหมือนกัน เพราะเหตุใด...
เพราะความต่างของอินทรีย์


เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
 


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒๒


มิคสาลาสูตร -อินทรีย์ของบุคคล ๑๐ จำพวก


(ดูตารางเปรียบเทียบบุคคล 10 จำพวก)

        [๗๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เวลาเช้าท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวรเข้าไปยังที่อยู่ของมิคสาลาอุบาสิกา แล้วนั่งบนอาสนะ ที่เขาปูลาด ถวาย ครั้งนั้น มิคสาลาอุบาสิกาเข้าไปหาท่านพระอานนท์กราบไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอานนท์ว่า

ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันเป็นเหตุให้คน สองคน คือ คนหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ คนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ จักเป็นผู้มีคติเสมอกันในสัมปรายภพ อันวิญญูชนจะพึงรู้ทั่วถึงได้อย่างไร

คือบิดาของดิฉันชื่อ ปุราณะ เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล งดเว้น จากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้าน ท่านกระทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรง พยากรณ์ ว่าเป็นสกทาคามีบุคคล เข้าถึงชั้นดุสิต

บุรุษชื่อ อิสิทัตตะ ผู้เป็นที่รักของบิดาของดิฉัน ไม่เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ (แต่) ยินดีด้วยภรรยาของตน แม้เขาทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์ ว่า เป็นสกทาคามีบุคคล เข้าถึงชั้นดุสิต

ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันเป็นเหตุให้คน สองคน คือ คนหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ คนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ จักเป็นผู้มีสติ เสมอกันในสัมปรายภพ อันวิญญูชนจะพึงรู้ทั่วถึงได้อย่างไร ฯ

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรน้องหญิง ก็ข้อนี้พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้ อย่างนั้นแล

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ รับบิณฑบาตที่นิเวศน์ของ มิคสาลาอุบาสิกา ลุกจากอาสนะ กลับไปแล้ว ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของ อุบาสิกาชื่อมิคสาลา แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาด ถวาย ลำดับนั้น มิคสาลาอุบาสิกาเข้าไปหาข้าพระองค์ กราบไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามข้าพระองค์ว่า

ข้าแต่ท่านอานนท์ ธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วอันเป็นเหตุให้คนสองคน คือ คนหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ คนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ จักเป็นผู้มีคติเสมอกัน ในสัมปรายภพอันวิญญูชนพึงรู้ทั่วถึงได้อย่างไร คือ บิดาของดิฉันชื่อปุราณะ เป็นผู้ ประพฤติพรหมจรรย์ประพฤติห่างไกลงดเว้นจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้าน ท่านกระทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นสกทาคามีบุคคล เข้าถึง ชั้นดุสิต บุรุษชื่อ อิสิทัตตะ ผู้เป็นที่รักของบิดาของดิฉัน ไม่เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ยินดีด้วยภรรยาของตนแม้เขาทำกาละแล้วพระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์ว่า เป็นสกทาคามีบุคคลเข้าถึงชั้นดุสิต

ข้าแต่ท่านพระอานนท์ธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้วอันเป็นเหตุให้คน สองคน คือ คนหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ คนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ จักเป็นผู้มีคติ เสมอกัน ในสัมปรายภพ อันวิญญูชนพึงรู้ทั่วถึงได้อย่างไร เมื่อมิคสาลาอุบาสิกากล่าว อย่างนี้ แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกะมิคสาลาอุบาสิกาว่า ดูกรน้องหญิง ก็ข้อนี้ พระผู้มีพระภาค ทรงพยากรณ์ไว้อย่างนี้แล ฯ

ดูกรอานนท์ ก็มิคสาลาอุบาสิกาเป็นพาลไม่ฉลาด เป็นคนบอด มีปัญญาทึบ เป็นอะไร และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอะไร ในญาณเครื่องกำหนดรู้ความยิ่งและ หย่อนแห่ง อินทรีย์ของบุคคล
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ดูกรอานนท์ บุคคล ๑๐ จำพวกนี้มีอยู่ในโลก ๑๐ จำพวกเป็นไฉน

ดูกรอานนท์ (1)
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล และไม่รู้ชัด ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความเป็นผู้ทุศีลของเขาตามความเป็นจริง
     บุคคลนั้นไม่กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง
     ไม่กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต
     ไม่แทงตลอดแม้ด้วยทิฐิ
     ย่อมไม่ได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย
     เมื่อตายไป เขาย่อมไป ทางเสื่อมไม่ไปทางเจริญ
     ย่อมถึงความเสื่อม ไม่ถึงความเจริญ


ดูกรอานนท์ (2)
ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีล แต่รู้ชัด ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความเป็นผู้ทุศีลของเขาตามความเป็นจริง
     บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง
     กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต      
     แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ
     ย่อมได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย
     เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม
     ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม


ดูกรอานนท์ พวกคนผู้ถือประมาณ ย่อมประมาณในเรื่องนั้นว่าธรรมแม้ของคนนี้ ก็เหล่านั้นแหละ ธรรมแม้ของคนอื่นก็เหล่านั้นแหละ เพราะเหตุไรในสองคนนั้น คนหนึ่งเลว คนหนึ่งดีก็การประมาณของคนผู้ถือประมาณเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ ประโยชน์เกื้อกูลเพื่อทุกข์ ตลอดกาลนาน
ดูกรอานนท์ ในสองคนนั้น บุคคลใดเป็นผู้ทุศีล และรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญา วิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความ เป็นผู้ทุศีลของเขาตามความเป็นจริง
     กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง
     กระทำกิจแม้ด้วย ความเป็นพหูสูต
     แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ
     ย่อมได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย

ดูกรอานนท์ บุคคลนี้ดีกว่าและประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคลนี้ ใครเล่าจะพึงรู้เหตุนั้นได้ นอกจากตถาคต ดูกรอานนท์ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ชอบประมาณในบุคคล และอย่าได้ถือประมาณในบุคคล เพราะผู้ถือประมาณในบุคคลย่อมทำลาย คุณวิเศษ ของตน เราหรือผู้ที่เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้ ฯ

ดูกรอานนท์ (3)
ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล
แต่ไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งศีลของเขา ตามความเป็นจริง บุคคลนั้น
     ไม่ทำกิจแม้ด้วย การฟัง
     ไม่กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต
     ไม่แทงตลอดแม้ด้วยทิฐิ
     ย่อมไม่ได้วิมุตติ แม้อันเกิดในสมัย
     เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ
     ย่อมถึงความเสื่อม อย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ


ดูกรอานนท์ (4)
ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล และรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งศีลของเขา ตามความเป็นจริง
     บุคคลนั้น กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง
     กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต
     แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ
     ย่อมได้วิมุติแม้อันเกิดในสมัย
     เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม
     ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม

ดูกรอานนท์ ฯลฯ เราหรือผู้ที่เหมือนเรา พึงถือประมาณในบุคคลได้ ฯ

ดูกรอานนท์ (5)
ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีราคะกล้า ทั้งไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งราคะของเขา ตามความเป็นจริง
     บุคคลนั้นไม่กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง
     ไม่กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต
     ไม่แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ
     ย่อมไม่ได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย
     เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ
     ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียวไม่ถึงความเจริญ


ดูกรอานนท์ (6)
ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีราคะกล้า แต่รู้ชัด ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งราคะของเขา ตามความเป็นจริง
     บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง
     กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต      
     แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ
     ย่อมได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย
     เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม
     ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียวไม่ถึงความเสื่อม

ดูกรอานนท์ ฯลฯ เราหรือผู้ที่เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้ ฯ

ดูกรอานนท์ (7)
ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ ทั้งไม่รู้ชัดซึ่งเจโต วิมุตติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความโกรธของเขา ตามความ เป็นจริง
     บุคคลนั้นไม่กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง
     ไม่กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต
     ไม่แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ
     ย่อมไม่ได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย
     เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ
     ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ


ดูกรอานนท์ (8)
ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความโกรธของเขา ตามความเป็นจริง
     บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง
     กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต
     แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ
     ย่อมได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย
     เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม
     ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม

ดูกรอานนท์ ฯลฯ เราหรือผู้ที่เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้ ฯ

ดูกรอานนท์ (9)
ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ทั้งไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความฟุ้งซ่านของเขา ตามความเป็นจริง
     บุคคลนั้นไม่กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง
     ไม่กระทำกิจ แม้ด้วย ความเป็นพหูสูต
     ไม่แทงตลอด ด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ
     ย่อมไม่ได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย 
     เมื่อตายไป เขาย่อม ไปทาง เสื่อม ไม่ไปทางเจริญ
     ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ


ดูกรอานนท์ (10)
ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ แห่งความ ฟุ้งซ่านของเขา ตามความเป็นจริง
     บุคคลนั้น กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง
     กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต
     แทงตลอดด้วยดี แม้ด้วยทิฐิ
     ย่อมได้วิมุติ แม้อันเกิด ในสมัย
     เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทาง เสื่อม
     ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม


ดูกรอานนท์ พวกคนผู้ถือประมาณ ย่อมประมาณในเรื่องนั้นว่าธรรมแม้ของคนนี้ ก็เหล่านั้นแหละ ธรรมแม้ของคนอื่นก็เหล่านั้นแหละ เพราะเหตุไรในสองคนนั้น คนหนึ่งเลว คนหนึ่งดี ก็การประมาณของคนผู้ถือประมาณ เหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อ มิใช่ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนาน

ดูกรอานนท์ในสองคนนั้น บุคคลใดเป็นผู้ฟุ้งซ่านแต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความฟุ้งซ่านของเขาตามความเป็นจริง บุคคลนั้น กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วย ทิฐิ ย่อมได้วิมุติแม้อันเกิดในสมัย บุคคลนี้ดีกว่า และประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้น โน้น

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะกระแสแห่งธรรม ย่อมถูกต้องบุคคลนี้ ใครเล่าจะพึง รู้เหตุนั้น ได้นอกจากตถาคต ดูกรอานนท์ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่า ประมาณ ในบุคคลและอย่าได้ถือประมาณในบุคคล เพราะผู้ถือประมาณในบุคคล ย่อมทำลาย คุณวิเศษของตนเราหรือ ผู้ที่เหมือนเราพึงถือ ประมาณในบุคคลได้ ฯ


ดูกรอานนท์ ก็ มิคสาลา อุบาสิกา เป็นพาล ไม่ฉลาด เป็นคนบอดมีปัญญาทึบ เป็นอะไร และ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอะไร ในญาณเครื่องกำหนดรู้ความยิ่ง และ หย่อนแห่ง อินทรีย์ของบุคคล

ดูกรอานนท์ บุคคล ๑๐ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ดูกรอานนท์

บุรุษชื่อ ปุราณะ เป็นผู้ประกอบด้วยศีล เช่นใด
บุรุษชื่อ อิสิทัตตะ ก็เป็นผู้ประกอบด้วยศีลเช่นนั้น

บุรุษชื่อ ปุราณะ จะได้รู้แม้คติของบุรุษชื่อ อิสิทัตตะ ก็หามิได้
บุรุษชื่อ อิสิทัตตะ เป็นผู้ประกอบด้วย ปัญญาเช่นใด

บุรุษชื่อ ปุราณะ ก็เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเช่นนั้น
บุรุษชื่อ อิสิทัตตะ จะได้รู้แม้คติ ของบุรุษชื่อ ปุราณะ ก็หามิได้

ดูกรอานนท์ คนทั้งสองนี้เลวกว่ากัน ด้วยองค์คุณคนละอย่าง ด้วยประการฉะนี้

 


 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์