พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๔
โยคักเขมีวรรคที่ ๑
๑. โยคักเขมีสูตร
ธรรมที่เป็นเหตุให้บุคคลมีความเกษมจากโยคะ
[๑๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งบุคคล ผู้มีความเกษมจากโยคะ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ก็ธรรมปริยายอันเป็นเหตุ แห่งบุคคล ผู้มีความเกษมจากโยคะเป็นไฉน ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งบุคคล ผู้มีความเกษมจากโยคะนั้น คือ
รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด อันตถาคตละได้แล้วถอนรากขึ้นหมดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตได้บอกความเพียรที่ควรประกอบ เพื่อละรูปเหล่านั้นเพราะเหตุนั้น ตถาคตบัณฑิตจึงกล่าวว่า ผู้มีความเกษมจากโยคะ ฯลฯ
ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ชักให้ใคร่ชวนให้กำหนัด อันตถาคตละได้แล้ว ถอนรากขึ้นหมดแล้ว ทำให้เป็นเหมือน ตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตได้บอกความเพียรที่ควร ประกอบเพื่อละธรรมารมณ์เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ตถาคตบัณฑิตจึงกล่าวว่าผู้มีความ เกษมจากโยคะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งบุคคล ผู้มีความเกษม จากโยคะ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๔-๙๕
๒. อุปาทายสูตร
สุขทุกข์อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น (เพราะอาศัยใจ)
[๑๕๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมี สุขและทุกข์ อันเป็นภายในเกิดขึ้นเพราะอาศัยอะไร
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาค เป็นต้นเหตุ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจักษุมี สุขและทุกข์ที่เป็นภายในเกิดขึ้น เพราะอาศัย จักษุ ฯลฯ เมื่อใจมี สุขและทุกข์ที่เป็นภายในเกิดขึ้นเพราะอาศัยใจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สุขและทุกข์ อันเป็น ภายใน พึงเกิดขึ้นเพราะไม่อาศัยสิ่งนั้นหรือ
ภิ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯลฯ
พ. ใจเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สุขและทุกข์อันเป็น ภายใน พึงเกิดขึ้นเพราะไม่อาศัยสิ่งนั้นหรือ
ภิ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งใน จักษุ ฯลฯ ทั้งในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๕-๙๖
๓. ทุกขสูตร
ว่าด้วยความเกิดแห่งทุกข์
(เพราะผัสสะเป็นปัจจัย คือการเกิดปฏิจจ)
[๑๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดและความดับแห่งทุกข์ เธอทั้งหลายจงฟัง ก็ความเกิดแห่งทุกข์เป็นไฉน ความเกิดแห่งทุกข์นั้น คืออาศัย จักษุ และรูป เกิดจักขุวิญญาณ รวมธรรมทั้ง ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะ เป็น ปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา นี้เป็นความเกิดแห่งทุกข์ ฯลฯ
อาศัยใจและธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา นี้แลเป็น ความเกิดแห่งทุกข์
[๑๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความดับแห่งทุกข์เป็นไฉน ความดับแห่งทุกข์นั้น คือ
อาศัยจักษุและรูป เกิดจักขุวิญญาณ รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะ ผัสสะ เป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหา นั้นแลดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ นี้แลเป็น ความดับแห่งทุกข์ ฯลฯ
อาศัยใจและธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหา นั้นแลดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความดับแห่งทุกข์ ฯ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๖-๙๗
๔. โลกสูตร
ว่าด้วยความเกิดและความดับแห่งโลก (เพราะธรรม ๓ ประการเป็นปัจจัย)
[๑๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิด และความดับแห่งโลก เธอทั้งหลายจงฟัง ก็ความเกิดแห่งโลกเป็นไฉน ความเกิดแห่งโลกนั้น คือ
อาศัยจักษุและรูป เกิดจักขุวิญญาณ รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัส และอุปายาส นี้เป็นความเกิดแห่งโลก ฯลฯ
อาศัยใจและธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดชาติเพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงเกิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความเกิดแห่งโลก
[๑๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความดับแห่งโลกเป็นไฉน ความดับแห่งโลกนั้น คือ
อาศัยจักษุและรูป เกิดจักขุวิญญาณ รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหานั้นแลดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ นี้เป็นความดับแห่งโลก ฯลฯ
อาศัยใจและธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหา นั้นแลดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะ ภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และ อุปายาส จึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความดับแห่งโลก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๘-๙๙
๕. เสยยสูตร
ว่าด้วยความถือตัวว่าเราเลิศกว่าเขา
[๑๕๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมี เพราะยึดมั่น อะไร ถือมั่นอะไร จึงมีความสำคัญตนว่า ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวก ข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นต้นเหตุ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจักษุมีเพราะยึดมั่นจักษุถือมั่นจักษุ จึงมีความสำคัญ ตน ว่า ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา ฯลฯ เมื่อใจมีเพราะยึดมั่นใจ ถือมั่นใจ จึงมีความสำคัญตนว่า ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขาหรือว่าเลวกว่าเขา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่ยึดมั่นสิ่งนั้นแล้ว จะพึงมีความสำคัญตนว่า เป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา บ้างหรือ หนอ
ภิ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯลฯ
พ. ใจเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่ยึดมั่นสิ่งนั้นแล้ว จะพึงมีความสำคัญตนว่า ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา บ้างหรือหนอ
ภิ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย ทั้งในจักษุ ฯลฯ ทั้งในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้วรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๙
๖. สังโยชนสูตร
ธรรมที่เกื้อกูลแก่สังโยชน์
[๑๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง ธรรมเป็นเหตุแห่งสังโยชน์ และ สังโยชน์ เธอทั้งหลายจงฟัง ก็ธรรมที่เป็นเหตุแห่งสังโยชน์ และสังโยชน์เป็นไฉน
ธรรมที่เป็นเหตุแห่งสังโยชน์ และสังโยชน์นั้น คือ
จักษุ เป็น ธรรมอันเป็นเหตุแห่งสังโยชน์
ความกำหนัด ด้วยอำนาจความพอใจในจักษุนั้น เป็นสังโยชน์ในจักษุนั้น ฯลฯ
(โสตะ ฆานะ...กายะ)
ใจ เป็น ธรรมอันเป็นเหตุแห่งสังโยชน์
ความกำหนัด ด้วยอำนาจความพอใจในใจนั้น เป็นสังโยชน์ในใจนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ธรรมเป็นเหตุแห่งสังโยชน์และสังโยชน์
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๙-๑๐๐
๗. อุปาทานสูตร
ธรรมที่เกื้อกูลแก่อุปาทาน
[๑๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นเหตุ แห่งอุปาทาน และอุปาทาน เธอทั้งหลายจงฟัง ก็ธรรมที่เป็นเหตุแห่งอุปาทาน และอุปาทานเป็นไฉน ธรรมที่เป็นเหตุแห่งอุปาทาน และอุปาทานนั้น คือ
จักษุ เป็น ธรรมอันเป็นเหตุแห่งอุปาทาน
ความกำหนัด ด้วยอำนาจความพอใจในจักษุนั้น เป็นอุปาทานในจักษุนั้น ฯลฯ
ใจ เป็น ธรรมอันเป็นเหตุแห่งอุปาทาน
ความกำหนัด ด้วยอำนาจความพอใจ ในใจนั้น เป็นอุปาทานในใจนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ธรรมเป็นเหตุแห่งอุปาทาน และอุปาทาน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๐๐
๘. อปริชานสูตรที่ ๑
การกำหนดรู้อายตนะภายใน
[๑๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้ ไม่หน่าย ไม่ละจักษุ ย่อมไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์ ฯลฯ บุคคลไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้ ไม่หน่ายไม่ละใจ ย่อมไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลรู้ยิ่งกำหนดรู้ หน่าย ละจักษุ ย่อมควรเพื่อความ สิ้นทุกข์ ฯลฯ บุคคลรู้ยิ่ง กำหนดรู้หน่าย ละใจ ย่อมควรเพื่อความสิ้นทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้ ไม่หน่าย ไม่ละรูป ย่อมไม่ควร เพื่อความสิ้นทุกข์ บุคคลไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้ ไม่หน่าย ไม่ละเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ย่อมไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์
บุคคลรู้ยิ่ง กำหนดรู้ หน่าย ละรูป ย่อมควรเพื่อ ความสิ้นทุกข์ บุคคลรู้ยิ่ง กำหนดรู้ หน่าย ละเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ย่อม ควรเพื่อความสิ้นทุกข์ ฯ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------- พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๐๐
๙. อปริชานสูตรที่ ๒
การกำหนดรู้อายตนะภายนอก
[๑๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
บุคคลไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้ ไม่หน่าย ไม่ละรูป ย่อมไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์
บุคคลไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้ ไม่หน่าย ไม่ละ เสียง...กลิ่น... รส...โผฏฐัพพะ... ธรรมารมณ์ ย่อมไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์
บุคคลรู้ยิ่ง กำหนดรู้ หน่าย ละรูป ย่อมควรเพื่อความสิ้นทุกข์
บุคคลรู้ยิ่ง กำหนดรู้ หน่าย ละเสียง...กลิ่น...รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ย่อมควรเพื่อ ความสิ้นทุกข์
|