เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

ปุณณสูตร พระปุณณเถระ จะไปอยู่ชนบท ชื่อสุนาปรันตะ พระผู้มีพระภาคตรัสถามทดสอบจิตใจ 2008
 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘

ขอพระผู้มีพระภาค โปรดแสดงธรรมโดยย่อ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว พึงเป็นผู้ๆเดียว หลีกออกจาก หมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่เถิด

ดูกรปุณณะ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็เกิดขึ้น เพราะความเพลินเกิดขึ้น จึงเกิดทุกข์ ฯลฯ

พระปุณณเถระ จะไปอยู่ชนบท ชื่อสุนาปรันตะ
1.ดูกรปุณณะ ชาวสุนาปรันตชนบทดุร้ายหยาบคาย ถ้าพวกเขาจักด่าบริภาษเธอ เธอคิดอย่างไร
- ข้าพระองค์คิดว่า ชาวสุนาปรันตนี้ เจริญดีหนอ ที่ไม่ประหารเราด้วยมือ

2.ถ้าชาวสุนาปรันต จักประหารเธอด้วยมือเล่า เธอคิดอย่างไร
-ข้าฯคิดว่าชาวสุนาปรันตนี้ เจริญดีหนอ ที่ไม่ประหารเราด้วยก้อนดิน

3.ถ้าชาวสุนาปรันต จักประหารเธอด้วยก้อนดิน เล่า
-ข้าฯ คิดว่าชาวสุนาปรันตนี้ เจริญดีหนอ ที่ไม่ประหารเราด้วยท่อนไม้

4.ถ้าชาวสุนาปรันต จักประหารเธอด้วยท่อนไม้ เล่า
-ข้าฯ คิดว่าชาวสุนาปรันตนี้ เจริญหนอ ที่ไม่ประหารเราด้วยศาตรา

5.ถ้าชาวสุนาปรันต จักประหารเธอด้วยศาตรา เล่า
-ข้าฯ คิดว่าชาวสุนาปรันตนี้ เจริญหนอ ที่ไม่ปลงเราด้วยศาตราอันคม

6.ถ้าชาวสุนาปรันตปลงเธอเสีย จากชีวิต ด้วยศาตราอันคมเล่า
-ข้าฯ คิดว่า สาวกของพระผู้มีพระภาคนั้น อึดอัดระอาเกลียดชังอยู่ด้วย กาย และชีวิต ย่อมแสวงหา ศาตราสำหรับปลงชีวิตเสีย มีอยู่ ศาตราสำหรับปลงชีวิตที่เรา แสวงหา อยู่นั้น เราได้แล้ว

พ. ดีละๆ ปุณณะ เธอประกอบด้วยทมะ และ อุปสมะ เช่นนี้ จักอาจอยู่ใน สุนาปรันตชนบทได้
บัดนี้ เธอย่อมรู้กาลอันควรไปได้
(ทมะ คือการรู้จักข่มจิตข่มใจตนเอง/อุปสมะ ทำจิตใจให้สงบได้)


เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๓-๖๗

ปุณณสูตร

            [๑๑๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว พึงเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่เถิด

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

            ดูกรปุณณะ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันรูปนั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นยินดีกล่าวสรรเสริญ พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็เกิดขึ้น ดูกรปุณณะ เพราะความเพลินเกิดขึ้น จึงเกิดทุกข์ ฯลฯ

            ดูกรปุณณะ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันธรรมารมณ์นั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นยินดีกล่าวสรรเสริญ พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลิน ก็บังเกิดขึ้น ดูกรปุณณะเพราะความเพลินเกิดขึ้น จึงเกิดทุกข์

            [๑๑๓] ดูกรปุณณะ รูปทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดีไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็ดับไป ดูกรปุณณะ เพราะความเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ ฯลฯ

            ดูกรปุณณะ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดีไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์ นั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลิน ก็ดับไป ดูกรปุณณะเพราะความเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ ดูกรปุณณะ ด้วยประการฉะนี้ เธอนั้นจึงไม่ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้

            [๑๑๔] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่เบาใจในธรรมนี้ เพราะข้า พระองค์ ยังไม่รู้ชัด ตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และ ความสลัด ออก แห่งผัสสายตนะ ๖

            
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอจะสำคัญความ ข้อนั้น เป็นไฉน เธอย่อม พิจารณาเห็นจักษุว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ ตัวตน ของเรา ดังนี้หรือ             ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

            พ. ดีละ ภิกษุ ก็ในข้อนี้ จักษุเป็นอันเธอ พิจารณาเห็นด้วยดี ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ผัสสายตนะที่ ๑ นี้เป็นอันเธอละขาดแล้ว เพื่อไม่เกิดอีกต่อไปด้วยอาการอย่างนี้ ฯลฯ             เธอพิจารณาเห็นใจว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้หรือ
            ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

            พ. ดีละ ภิกษุ ก็ในข้อนั้น ใจจักเป็นอันเธอพิจารณาเห็นด้วยดี ด้วยปัญญา อันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรานั่นไม่ใช่ตัวตน ของเรา ผัสสายตนะที่ ๖ นี้ จักเป็นอันเธอละขาดแล้ว เพื่อความไม่เกิดอีกต่อไป ด้วยอาการอย่างนี้ ดูกรปุณณะ ดีละ เธออันเรากล่าวสอนแล้ว ด้วยโอวาทอันย่อนี้ จักอยู่ในชนบทไหน

            ท่านพระปุณณเถระทูลว่า พระเจ้าข้า ชนบทชื่อสุนาปรันตะมีอยู่ ข้าพระองค์ จักอยู่ในชนบทนั้น

            [๑๑๕] พ. ดูกรปุณณะ พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทดุร้าย หยาบคาย นัก ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษเธอ ในข้อนั้น เธอจักมีความคิด อย่างไร

            ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักด่า จักบริภาษ ข้าพระองค์ไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า มนุษย์ชาวสุนาปรันต ชนบทนี้ เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยมือ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ข้าพระองค์จักมีความคิด อย่างนี้

            พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักประหารเธอด้วยมือ เล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร

            ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักประหาร ข้าพระองค์ ด้วยมือไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาว สุนาปรันตชนบทเจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยก้อนดิน ข้าแต่พระผู้มี พระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคตในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมี ความคิดอย่างนี้

            พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักประหารเธอด้วย ก้อนดิน เล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร

            ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักประหาร ข้าพระองค์ด้วยก้อนดินไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยท่อนไม้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้

            พ. ดูกรปุณณะ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักประหารเธอด้วย ท่อนไม้ เล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร

            ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักประหาร ข้าพระองค์ด้วยท่อนไม้ไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยศาตรา ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคตในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้

            พ. ดูกรปุณณะ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักประหารเธอด้วยศาตรา เล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร

            ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักประหารข้า พระองค์ด้วยศาตราไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาว สุนาปรันต ชนบทนี้ เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ปลงเราเสียจากชีวิต ด้วยศาตรา อันคม ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์ จักมีความคิดอย่างนี้ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้

            [๑๑๖] พ. ดูกรปุณณะ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักปลงเธอเสีย จากชีวิต ด้วยศาตราอันคมเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร

            ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักปลงข้า พระองค์ เสียจากชีวิต ด้วยศาตราอันคมไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิด อย่างนี้ ว่า พระสาวกทั้งหลาย ของพระผู้มีพระภาคนั้น อึดอัดระอาเกลียดชังอยู่ด้วยกาย และชีวิต ย่อมแสวงหาศาตราสำหรับปลงชีวิตเสีย มีอยู่ ศาตราสำหรับปลงชีวิตที่เรา แสวงหา อยู่นั้น เราได้แล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิด อย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้

            พ. ดีละๆ ปุณณะ เธอประกอบด้วยทมะ และอุปสมะเช่นนี้ จักอาจอยู่ใน สุนาปรันตชนบทได้ บัดนี้ เธอย่อมรู้กาลอันควรไปได้

            [๑๑๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะ ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เก็บเสนาสนะแล้ว ถือบาตรและจีวรห ลีกจาริกไปทางสุนาปรันตชนบท เมื่อเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ก็บรรลุถึงสุนาปรันตชนบท ได้ยินว่า ท่านพระปุณณะ อยู่ในสุนารันตชนบทนั้น

            ครั้งนั้นแล ในระหว่างพรรษานั้น ท่านพระปุณณะ ให้ชาวนาปรันตชนบท แสดงตน เป็นอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน ได้ทำวิชชา ๓ ให้แจ้งและปรินิพพานแล้ว

            ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตร ชื่อว่าปุณณะ ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสสอนด้วยพระโอวาท อย่างย่อนั้น ทำกาละแล้ว กุลบุตรนั้นมีคติเป็นอย่างไร มีอภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรชื่อว่าปุณณะ เป็นบัณฑิต กล่าวคำจริง กล่าวธรรม สมควรแก่ธรรม มิได้ลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรชื่อว่าปุณณะ ปรินิพพานแล้ว

 





หนังสือพุทธวจน ธรรมะของพระศาสดา
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์