พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖๘
๖. สมุทยธัมมสูตรที่ ๑
ว่าด้วยความหมายของอวิชชา
(พระมหาโกฏฐิตะ ถามพระสารีบุตร)
[๓๒๖] พระนครพาราณสี ท่านพระมหาโกฏฐิตะนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรท่านพระสารีบุตร ที่เรียกว่า อวิชชา อวิชชา ดังนี้ อวิชชาเป็นไฉนหนอแล และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วย อวิชชา ด้วยเหตุเพียงเท่าไร?
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ย่อมไม่รู้ชัด ตามความเป็นจริงซึ่งความเกิดขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และอุบายเครื่อง สลัดออกแห่งรูป ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งความเกิดขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ... แห่งสัญญา ... แห่งสังขาร ... แห่งวิญญาณ.
ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้เรียกว่า อวิชชา และบุคคลเป็นผู้ประกอบอวิชชา ด้วยเหตุ เพียงเท่านี้แล.
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖๘-๑๖๙
๗. สมุทยธัมมสูตรที่ ๒
ว่าด้วยความหมายของวิชชา
(พระมหาโกฏฐิตะ ถามพระสารีบุตร)
[๓๒๗] พระนครพาราณสี. ท่านพระมหาโกฏฐิตะนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ถาม ท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรท่านพระสารีบุตร ที่เรียกว่า วิชชา วิชชา ดังนี้ วิชชา เป็นไฉนหนอแล และบุคคล เป็นผู้ประกอบด้วยวิชชา ด้วยเหตุเพียงเท่าไร?
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ อริยสาวกได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิดขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และอุบายเครื่อง สลัดออกแห่งรูป ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิดขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ... แห่งสัญญา ... แห่งสังขาร ... แห่งวิญญาณ.
ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้เรียกว่า วิชชา และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยวิชชา ด้วยเหตุ เพียง เท่านี้แล.
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖๙
๘. โกฏฐิตสูตรที่ ๑
ว่าด้วยความหมายของอวิชชาและวิชชา
(พระสารีบุตร ถามพระมหาโกฏฐิตะ)
[๓๒๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิตะอยู่ ณ ป่าอิสิปตน มฤทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี. ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ออกจากที่พักผ่อน ในเวลาเย็น ได้เข้าไปหาท่านพระมหาโกฏฐิตะถึงที่อยู่ ฯลฯ แล้วได้ถามท่านพระมหา โกฏฐิตะว่า ดูกรท่านโกฏฐิตะ ที่เรียกว่า อวิชชา อวิชชา ดังนี้ อวิชชาเป็นไฉนหนอแล และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยอวิชชา ด้วยเหตุเพียงไร?
ท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งคุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป ย่อมไม่รู้ชัด ตามความเป็นจริงซึ่งคุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ... แห่งสัญญา ...แห่งสังขาร ... แห่งวิญญาณ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อวิชชา และบุคคล เป็นผู้ประกอบด้วยอวิชชา ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล.
[๓๒๙] เมื่อท่านพระมหาโกฏฐิตะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร จึงได้ถามว่า ดูกรท่านโกฏฐิตะ ที่เรียกว่า วิชชา วิชชา ดังนี้ วิชชาเป็นไฉนหนอแล และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยวิชชา ด้วยเหตุเพียงเท่าไร?
ท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งคุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งคุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ...แห่ง สัญญา ... แห่งสังขาร แห่งวิญญาณ. ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้เรียกว่า วิชชา และ บุคคล เป็นผู้ประกอบด้วยวิชชา ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล.
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๐
๙. โกฏฐิตสูตรที่ ๒
ว่าด้วยความหมายของอวิชชาและวิชชา
(พระสารีบุตร ถามพระมหาโกฏฐิตะ)
[๓๓๐] พระนครพาราณสี ท่านพระสารีบุตรนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามท่านพระมหาโกฏฐิตะว่า ดูกรท่านโกฏฐิตะ ที่เรียกว่า อวิชชา อวิชชา ดังนี้ อวิชชา เป็นไฉนหนอแล และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยอวิชชา ด้วยเหตุเพียงเท่าไร?
ท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับคุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออก แห่งรูป ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่อง สลัดออกแห่งเวทนา ... แห่งสัญญา ... แห่งสังขาร ... แห่งวิญญาณ.ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้เรียกว่า อวิชชา และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยอวิชชา ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล.
[๓๓๑] เมื่อท่านพระมหาโกฏฐิตะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้ ถามว่า ดูกรท่านโกฏฐิตะ ที่เรียกว่า วิชชา วิชชา ดังนี้ วิชชาเป็นไฉนหนอแล และบุคคล เป็นผู้ประกอบด้วยวิชชาด้วยเหตุเพียงเท่าไร?
ท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรม วินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัด ออก แห่งรูป ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบาย เครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ... แห่งสัญญา ... แห่งสังขาร ... แห่งวิญญาณ.
ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้เรียกว่า วิชชา และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยวิชชา ด้วยเหตุ เพียงเท่านี้แล.
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๐-๑๗๑
๑๐. โกฏฐิตสูตรที่ ๓
ว่าด้วยความหมายของอวิชชาและวิชชา
(พระสารีบุตรกล่าวกับ พระมหาโกฏฐิตะ)
[๓๓๒] พระนครพาราณสี. ท่านพระสารีบุตรนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามท่านพระมหาโกฏฐิตะว่า ดูกรท่านโกฏฐิตะ ที่เรียกว่า อวิชชา อวิชชา ดังนี้ อวิชชาเป็นไฉนหนอแล และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วย อวิชชา ด้วยเหตุเพียงเท่าไร?
ท่านพระมหาโกฏฐิตะกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งรูป ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเหตุเกิดแห่งรูป ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งความดับแห่งรูป ย่อมไม่รู้ชัดซึ่ง ข้อปฏิบัติเครื่อง ให้ถึงความดับแห่งรูป ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเวทนา ... ซึ่งสัญญา ... ซึ่งสังขาร ... ซึ่งวิญญาณ ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเหตุเกิดแห่งวิญญาณ ย่อมไม่รู้ ชัด ซึ่งความดับแห่งวิญญาณ ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติ เครื่องให้ถึงความดับ แห่ง วิญญาณ. ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้เรียกว่า อวิชชา และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยอวิชชา ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล.
[๓๓๓] เมื่อท่านพระมหาโกฏฐิตะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร จึงได้ถามว่า ดูกรท่านโกฏฐิตะ ที่เรียกว่า วิชชา วิชชา ดังนี้ วิชชาเป็นไฉนหนอแล และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยวิชชา ด้วยเหตุเพียงเท่าไร?
ท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วใน ธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดซึ่งรูป ย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุเกิดแห่งรูป ย่อมรู้ชัดซึ่งความดับแห่งรูป ย่อมรู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับแห่งรูป ย่อมรู้ชัดซึ่งเวทนา ... ซึ่งสัญญา ... ซึ่งสังขาร ... ซึ่งวิญญาณ ย่อมรู้ชัด ซึ่งเหตุเกิดแห่งวิญญาณ ย่อมรู้ชัดซึ่งความดับแห่ง วิญญาณ ย่อมรู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติ เครื่องให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ
ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้เรียกว่า วิชชา และบุคคล เป็นผู้ประกอบด้วยวิชชา ด้วยเหตุ เพียงเท่านี้แล.
|