พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๑-๒๓
๖. วิมุตติสูตร
[๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของ ภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้นอาสวะ ที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมบรรลุธรรม อันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ
เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป แสดงธรรมแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอย่อมเข้าใจอรรถเข้าใจธรรม ในธรรมนั้นตามที่ พระศาสดา หรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้อยู่ในฐานะครูแสดงแก่เธอ เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจเกิดปีติกาย ย่อมสงบผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติ ข้อที่ ๑ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุ ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยัง ไม่สิ้นไป ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรม อันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดา หรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ใน ฐานะ ครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ก็แต่ว่าภิกษุย่อมแสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่น โดยพิสดาร เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ในธรรมนั้น ที่ภิกษุแสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่น โดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ ...เมื่อมีสุข จิตย่อม ตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติ ข้อที่ ๒ ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้อยู่ใน ฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ แม้ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรม เท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่น โดยพิสดาร ก็แต่ว่าภิกษุย่อมทำการสาธยายธรรม เท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมา โดยพิสดาร เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุสาธยายธรรม เท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมา โดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ ... เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติ ข้อที่ ๓ ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดา หรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้อยู่ใน ฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่น โดยพิสดาร แม้ภิกษุก็ไม่ได้ทำการสาธยายธรรม เท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมา โดยพิสดาร ก็แต่ว่าภิกษุย่อมตรึกตรองใคร่ครวญ ธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุตรึกตรองใคร่ครวญธรรม ตามที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ด้วยใจ เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมย่อมเกิดปราโมทย์ ... เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติ ข้อที่ ๔ ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ใน ฐานะ ครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่น โดยพิสดาร ภิกษุก็ไม่ได้สาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร แม้ภิกษุก็ไม่ได้ตรึกตรอง ใคร่ครวญธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ ก็แต่ว่า สมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เธอเล่าเรียนมาด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ตามที่เธอเล่าเรียนสมาธินิมิต อย่างใดอย่างหนึ่งมาด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญาเมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ เมื่อมีใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติ ข้อที่ ๕ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุ ผู้ไม่ประมาทมีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้นอาสวะ ที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรม อันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้แลซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุ ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้น อาสวะ ที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรม อันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ
----------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓-๒๔
๗. สมาธิสูตร
[๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีปัญญารักษาตน มีสติเจริญสมาธิ หาประมาณมิได้เถิด เมื่อเธอมีปัญญารักษาตน มีสติ เจริญสมาธิหาประมาณมิได้อยู่ ญาณ ๕ อย่าง ย่อมเกิดขึ้นเฉพาะตน
ญาณ ๕ อย่างเป็นไฉน คือ ญาณย่อมเกิดขึ้นเฉพาะตนว่า
๑.
สมาธินี้มีสุขใน ปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากต่อไป
๒.
สมาธินี้เป็น อริยะ ปราศจากอามิส
๓.
สมาธินี้ อันคนเลวเสพไม่ได้
๔.
สมาธินี้ละเอียด ประณีต ได้ด้วยความสงบระงับ บรรลุได้ด้วยความ เป็นธรรมเอก ผุดขึ้น และมิใช่บรรลุได้ด้วยการข่มธรรม ที่เป็นข้าศึก ห้ามกิเลสด้วยจิต อันเป็นสสังขาร
๕.
ก็เราย่อมมีสติ เข้าสมาธินี้ได้ มีสติออกจากสมาธินี้ได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีปัญญา รักษาตน มีสติ เจริญสมาธิ อันหา ประมาณมิได้เถิด เมื่อเธอทั้งหลาย มีปัญญารักษาตน มีสติ เจริญสมาธิ อันหา ประมาณมิได้อยู่ ญาณ ๕ อย่างนี้แล ย่อมเกิดขึ้นเฉพาะตน |