เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

การทำสมาธิ มีเคล็ดลับเหมือนแม่โคปีนภูเขาลาดชัน (คาวีสูตร) 1728
  (โดยย่อ)

โคตัวนั้นซึ่งหากินตามภูเขา เป็นโคโง่เขลา ไม่มีไหวพริบ ไม่รอบรู้ทิศทาง ไม่ฉลาด เพื่อจะเที่ยวไป ตามภูเขา อันขรุขระ นี้ฉันใด ... เปรียบเหมือนโควางเท้าหน้า อย่างถูกต้อง แล้วจึงค่อยยกเท้าหลัง มันก็สามารถไปสู่ทิศทางที่ไม่เคยไป ได้กินหญ้าที่ไม่เคยกิน ดื่มน้ำที่ไม่เคยดื่ม

เช่นเดียวกับภิกษุ ต้องมี ความตั้งอยู่อย่าง มั่นคง ในสมาธิที่ถึงทับทีแรกเสียก่อน จึงค่อย ยกเท้าหลัง เพื่อก้าวไปสู่สมาธิอันสูง ขึ้นไป

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 

 


อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย หน้า 922
(คาวีสูต พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๓๘)

การทำสมาธิ มีเคล็ดลับ เหมือน แม่โค ปีนภูเขาลาดชัน


          ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนโคหากินตามภูเขา โง่เขลา ไม่มีไหวพริบไม่รอบรู้ ทิศทาง ไม่ฉลาด เพื่อจะเที่ยวไปตามภูเขา อันขรุขระ. มันได้คิดว่า “จะเที่ยวไปสู่ ทิศทางที่ไม่เคยไป จะกินหญ้า ที่ไม่เคยกิน จะดื่มน้ำที่ไม่เคยดื่ม” ดังนี้มันวางเท้า หน้าอย่างไม่ถูกต้อง เมื่อยกเท้าหลัง (จึงพลาดล้ม) มันก็ไม่อาจไปถึงทิศทาง ที่ไม่เคยไป ไม่ได้กินหญ้าที่ไม่เคยกิน ไม่ได้ดื่มน้ำ ที่ไม่เคยดื่ม และทั้งไม่อาจกลับมา สู่ที่ที่มันเคยยืน คิดทีแรกโดยสวัสดีด้วย.

           ข้อนั้นเพราะ เหตุไรเล่า?

          ภิกษุ ท. ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า โคตัวนั้นซึ่งหากินตามภูเขา
เป็นโคโง่เขลา ไม่มีไหวพริบ ไม่รอบรู้ทิศทาง ไม่ฉลาด เพื่อจะเที่ยวไปตามภูเขา อันขรุขระ นี้ฉันใด

           ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น เหมือนกัน
ภิกษุบางรูป ในกรณีนี้ เป็นพาล ไม่มี ไหวพริบ ไม่รอบรู้ทิศทาง ไม่ฉลาดเพื่อจะสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปิติและสุข อันเกิดแต่วิเวก แล้ว แลอยู่.

          เธอไม่เสพอย่างทั่วถึง ไม่ทำให้เจริญ ไม่กระทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ไม่ตั้งทับ ซึ่งนิมิตนั้น ให้เป็นนิมิต อันตนตั้งไว้ด้วยดี เธอคิดว่า “ถ้ากระไรเพราะ ความเข้าไป สงบรำงับวิตกและวิจาร เราพึง เข้าถึงทุติยฌาน อันเป็นเครื่องผ่องใส แห่งใจใน ภายใน ให้สมาธิเป็นธรรม อันเอกผุด มีขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปิติ และสุข อันเกิด แต่สมาธิ แล้วแลอยู่ เถิด” ดังนี้

          แต่เธอก็ไม่ สามารถจะสงบระงับวิตกและวิจาร เข้าถึง ทุติยฌาน .... แล้ว แลอยู่ได้ เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เราจะ (ย้อนกลับ) เข้าสู่ ปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปิติและสุขอันเกิดแต่วิเวก เพราะสงัดจากกาม สงัดจาก อกุศล เข้าถึง ปฐมฌาน แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้ แต่เธอก็ไม่สามารถ จะสงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม เข้าถึง ปฐมฌาน .... แล้วแลอยู่ได้.

          ภิกษุ ท. !
ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า พังแล้วทั้งสองด้าน เสื่อมแล้วทั้งสองฝ่าย เช่นเดียว กับโคภูเขา อันโง่เขลา ไม่มีไหว พริบ ไม่รอบรู้ทิศทาง ไม่ฉลาดเพื่อจะ เที่ยวไป ตามภูเขาอันขรุขระ ตัวนั้น.

          ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนโคภูเขา ที่ฉลาดเฉลียว มีไหวพริบ รอบรู้ทิศทาง ฉลาดเพื่อจะ เที่ยวไปตามภูเขาอันขรุขระ. มันได้คิดว่า “จะเที่ยวไปสู่ทิศทาง ที่ไม่เคยไป จะกินหญ้าที่ไม่เคยกิน. จะดื่มน้ำที่ไม่เคยดื่ม” ดังนี้ มันวางเท้าหน้า อย่างถูกต้อง แล้วจึงค่อยยกเท้าหลัง
มันก็สามารถไปสู่ทิศทางที่ไม่เคยไป ได้กินหญ้าที่ไม่เคยกิน ดื่มน้ำที่ไม่เคยดื่ม และทั้งสามารถ กลับมาสู่ ที่ที่มันเคยยืน คิดทีแรกโดยสวัสดี ได้ด้วย. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?

          ภิกษุ ท. ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า โคภูเขานั้นเป็นโคฉลาดเฉลียว มีไหวพริบ รอบรู้ทิศทางฉลาด เพื่อจะเที่ยว ไปตามภูเขาอันขรุขระ นี้ฉันใด

          ภิกษุ ท. ! ภิกษุบางรูป ในกรณีนี้ ก็ฉันนั้น เธอเป็นบัณฑิตมี ไหวพริบ รอบรู้ ทิศทาง ฉลาดเพื่อจะสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึง ปฐมฌาน อันมีวิตก วิจาร มีปิติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่ เธอเสพอย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้ มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้น ให้เป็นนิมิตอันตั้งไว้ด้วยดี.
-----------------------------------------------------------------------------------------------

          เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะความเข้าไปสงบรำงับวิตก และวิจารเสียได้ เราพึง เข้าทุติยฌาน อันเป็นเครื่อง ผ่องใส แห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรม อันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิแล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้.

          
เธอนั้น เมื่อไม่ข้องขัดอยู่กะทุติยฌาน ก็เข้าถึง ทุติยฌาน อันเป็นเครื่อง ผ่องใสแห่งใจ ใน ภายใน ให้สมาธิเป็น ธรรมอัน เอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตกไม่มี วิจาร มีปิติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ เพราะความเข้าไปสงบระงับวิตก และวิจารเสียได้ แล้วแลอยู่ เธอเสพอย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่ง นิมิตนั้น ให้เป็นนิมิตอันตั้งไว้ด้วยดี.
-----------------------------------------------------------------------------------------------

          เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เราพึงเป็นผู้อยู่ อุเบกขา มีสติและ สัมปชัญญา และพึงเสวยความสุขด้วยนามกาย เข้าถึง ตติยฌาน อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้า กล่าวว่า “ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่ เป็นปกติสุข ” ดังนี้ แล้วแลอยู่ เถิด” ดังนี้.

          เธอนั้น เมื่อ ไม่ข้องขัดอยู่กะ ตติยฌาน ก็เป็นผู้อยู่อุเบกขามีสติ และ สัมปชัญญะ และพึงเสวย ความสุข ด้วยนามกาย เข้าถึง ตติยฌาน อันเป็นฌาน ที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า “ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้อยู่ อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข” ดังนี้ เพราะ ความจางคลายไปแห่งปีติ แล้วแลอยู่ เธอเสพ อย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นนิมิต อันตั้งไว้ด้วยดี.
-----------------------------------------------------------------------------------------------

          เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับไป แห่งโสมนัสและ โทมนัสในกาลก่อน เราพึง เข้าถึงจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์และสุข มีแต่ความที่สติเป็น ธรรมชาติ บริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่เถิด”ดังนี้.

          เธอนั้น เมื่อ ไม่ข้องขัดอยู่กะจตุตถฌาน ก็เข้าถึง จตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์และ สุข มีแต่ความ ที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา เพราะละ สุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับ ไปแห่ง โสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน แล้วแลอยู่ เธอ เสพอย่าง ทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่ง นิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นนิมิต อันตั้งไว้ ด้วยดี.
-----------------------------------------------------------------------------------------------

          เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งรูปสัญญา โดยประการ ทั้งปวง เพราะ ความดับแห่งปฏิฆสัญญา เพราะไม่ได้ทำในใจ ซึ่งนานัตตสัญญา เราพึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ อันมีการกระทำในใจว่า “อากาศไม่มีที่สุด” ดังนี้ แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้.

          เธอนั้น เมื่อ ไม่ข้องขัดอยู่กะอากาสานัญจายตนะ ก็เข้าถึง อากาสานัญจายตนะ อันมีการ กระทำในใจว่า "อากาศไม่มีที่สุด" ดังนี้ เพราะก้าวล่วง เสียได้ ซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะความดับ ไปแห่ง ปฏิฆสัญญา เพราะไม่ได้ทำในใจ ซึ่งนานัตตสัญญา แล้วแลอยู่ เธอเสพ อย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิต นั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นนิมิตอันตั้งไว้ด้วยดี.
-----------------------------------------------------------------------------------------------

          เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากาสานัญจายต-นะ โดยประการทั้งปวง เราพึงเข้าถึงวิญญา ณัญจายตนะอันมีการ ทำในใจว่า “วิญญาณไม่มีที่สุด” ดังนี้ แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้ เธอนั้น เมื่อ ไม่ข้องขัดอยู่กะ วิญญาณัญจายตนะ ก็เข้าถึง วิญญาณัญจายตนะ อันมีการ ทำในใจว่า“วิญญาณ ไม่มีที่สุด” ดังนี้ เพราะก้าวล่วงเสีย ได้ซึ่ง อากาสานัญจายตนะ โดยประการ ทั้งปวง แล้วแลอยู่ เธอเสพอย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้น ให้เป็ นนิมิตอันตั้งไว้ด้วยดี.

          เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง เราพึงเข้าถึงอากิญ จัญญายตนะ อันมีการทำ ในใจว่า “อะไรๆไมมี” ดังนี้ แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้. เธอนั้น เมื่อ ไม่ข้องขัดอยู่กะ อากิญจัญญายตนะ ก็เข้าถึง อากิญจัญญายตนะ อันมีการทำ ในใจว่า “อะไรๆไม่มี” ดังนี้ เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่ง วิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง แล้วแลอยู่ เธอ เสพอย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้นให้เป็น นิมิต อันตั้งไว้ด้วยดี.
------------------------------------------------------------------------------------------------

          เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากิญจัญญายตนะ โดยประการทั้งปวง เราพึงเข้าถึงเนวสัญญา นาสัญญายตนะ แล้วแล อยู่เถิด ”ดังนี้. เธอนั้น เมื่อ ไม่ข้องขัดอยู่กะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็เข้าถึง เนวสัญญา นาสัญญายตนะ เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่ง อากิญ จัญญายตนะโดยประการทั้งปวง แล้วแลอยู่ เธอเสพอย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้น ให้เป็นนิมิตอันตั้งไว้ ด้วยดี.

          เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่ง เนวสัญญา นาสัญญายตนะ โดยประการ ทั้งปวง เราพึงเข้าถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแล อยู่เถิด”ดังนี้. เธอนั้น เมื่อ ไม่ข้องขัดอยู่ กะสัญญาเวทยิตนิโรธ ก็เข้าถึง สัญญาเวทยิต-นิโรธ เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งเนวสัญญา นาสัญญายตนะ โดยประการ ทั้งปวงแล้วแลอยู่ .

(ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า โคภูเขาที่ฉลาด ย่อมรู้จักจรดเท้าหน้า ลงในที่ อันมั่นคง เสียก่อน แล้วจึงค่อยยกเท้าหลัง จึงจะไม่พลาดกลิ้ง ลงมา เช่นเดียวกับภิกษุ ต้องมี ความตั้งอยู่อย่าง มั่นคง ในสมาธิที่ถึงทับทีแรกเสียก่อน จึงค่อย “ยกเท้าหลัง” เพื่อก้าวไปสู่สมาธิอันสูง ขึ้นไป. อุปมาข้อนี้ เป็นอุปมาที่แยบคาย แปลกกว่าที่เคย ได้ยินได้ฟัง เป็นที่น่าสนใจอยู่ มีลักษณะ แห่งสัมมาทิฏฐิเต็มบริบูรณ์ จึงนำมาใส่ไว้ ในหมวดนี้).



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๓๘

คาวีสูตร

          [๒๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่โคเที่ยวไปตามภูเขา เป็นโคโง่ ไม่ฉลาด ไม่รู้จักเขตที่หากิน ไม่เข้าใจที่จะไปเที่ยวบนเขาอันขรุขระ แม่โคนั้นพึงคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น เราพึงไปยังทิศที่ไม่เคยไป พึงกินหญ้าที่ยังไม่เคยกิน และพึงดื่มน้ำ ที่ยังไม่เคยดื่ม แม่โคนั้นยันเท้าหน้าก็ไม่ดีเสียแล้ว พึงยกเท้าหลังอีก ก็คงจะไปยังทิศ ที่ไม่เคยไปไม่ได้ กินหญ้าที่ยังไม่เคยกินไม่ได้ และดื่มน้ำที่ยังไม่เคยดื่มไม่ได้

          แม่โคนั้นยืนอยู่ในที่ใดพึงคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น เราพึงไปยังทิศที่ไม่เคยไป พึงกินหญ้าที่ยังไม่เคยกิน และพึงดื่มน้ำที่ยังไม่เคยดื่ม มันกลับมายังที่นั้นอีก โดยสวัสดีไม่ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม่โคนั้นเที่ยวไปบนภูเขา เป็นคนโง่ ไม่ฉลาดไม่รู้จักเขตที่หากิน ไม่เข้าใจที่จะเที่ยวไปบนภูเขาอันขรุขระ ฉันใด

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นคนโง่ ไม่ฉลาด ไม่รู้จักเขต ไม่เข้าใจเพื่อสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอไม่เสพโดยมาก ไม่เจริญ ไม่กระทำ ให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ไม่อธิษฐานนิมิตนั้นให้ดี

          เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น เราพึงบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใส แห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอไม่อาจเพื่อบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ

          เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น เราพึงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศล บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอย่อมไม่อาจเพื่อสงัด จากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า มีชื่อเสียงปรากฏพลาด เสื่อมจากผล ทั้งสอง ๒ แล้ว เปรียบเหมือนแม่โคเที่ยวไปบนภูเขา เป็นโคโง่ ไม่ฉลาดไม่รู้จักเขต ที่หากิน ไม่เข้าใจที่จะเที่ยวไปบนภูเขาอันขรุขระฉันนั้น

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่โคที่เที่ยวไปบนภูเขา เป็นโคฉลาดเฉียบแหลม รู้จักเขตที่หากิน เข้าใจที่เที่ยวไปบนภูเขาอันขรุขระ แม่โคนั้นพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น เราพึงไปยังทิศที่ไม่เคยไป พึงกินหญ้าที่ยังไม่เคยกิน และพึงดื่มน้ำที่ไม่ดื่ม แม่โคนั้นยันเท้าหน้าไว้ดีแล้ว พึงยกเท้าหลัง

          แม่โคนั้นพึงไปยังทิศที่ไม่เคยไป พึงกินหญ้าที่ยังไม่เคยกิน และพึงดื่มน้ำ ที่ไม่เคยดื่ม เมื่อยืนอยู่ในที่ใด พึงคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น เราพึงไปยังทิศที่ไม่เคยไป พึงกินหญ้าที่ยังไม่เคยกินพึงดื่มน้ำที่ยังไม่เคยดื่ม และพึงกลับมายังที่นั้นโดยสวัสดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม่โคเที่ยวไปบนภูเขา เป็นโคฉลาด เฉียบแหลม รู้จักเขตที่หากิน เข้าใจที่จะเที่ยวไปบนภูเขาอันขรุขระ ฉันใด

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นบัณฑิต ฉลาด รู้จักเขต เข้าใจที่จะสงัดจากกามสงัด จากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน ... เสพโดยมาก เจริญ กระทำให้มากซึ่งนิมิตนั้น อธิษฐานนิมิตนั้นให้มั่นด้วยดี

          เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น เราพึงบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุข เกิดแต่สมาธิอยู่ เธอยังไม่ยินดีเพียงทุติยฌานที่ได้บรรลุ ฯลฯ เธอเสพโดยมาก ซึ่งนิมิต นั้น เจริญ กระทำให้มากซึ่งนิมิตนั้น อธิษฐานนิมิตนั้นให้มั่นด้วยดี

          เธอมีความคิดดังนี้ว่าผิฉะนั้นเราพึงมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุข ด้วย นามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เธอยังไม่ยินดีเพียงตติยฌาน ที่ได้บรรลุ ฯลฯ เธอเสพโดยมาก เจริญกระทำให้มากซึ่งนิมิตนั้น อธิษฐานนิมิตนั้นให้มั่นด้วยดี

          เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น เราพึงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัส ก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติ บริสุทธิ์อยู่ เธอยังไม่ยินดีเพียงจตุตถฌาน ที่ได้บรรลุนั้น เธอเสพโดยมาก เจริญ กระทำให้มากซึ่งนิมิตนั้น อธิษฐานนิมิตนั้นให้มั่นด้วยดี

          เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น เรา เพราะล่วงรูปสัญญา โดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา พึงบรรลุอากาสานัญจายตน ฌาน* โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่า อากาศไม่มีที่สุด เธอยังไม่ยินดีเพียง อากาสานัญจายตนฌาน ที่ได้บรรลุนั้น เธอเสพโดยมาก เจริญ กระทำให้มากซึ่งนิมิต นั้น อธิษฐานนิมิตนั้นให้มั่นด้วยดี
(สมาธิระดับอรูปสัญญา ในบาลีจะไม่มีคำว่า ฌาน)

          เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น เรา เพราะล่วงอากาสานัญจายตน โดยประการทั้งปวง พึงบรรลุวิญญาณัญจายตน โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่าวิญญาณ ไม่มีที่สุด เธอยังไม่ยินดีเพียง วิญญาณัญจายตน ที่ได้บรรลุนั้น เธอเสพ โดยมาก เจริญ กระทำให้มากซึ่งนิมิตนั้น อธิษฐานนิมิตนั้นให้มั่นด้วยดี

          เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้นเรา เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวง พึงบรรลุอากิญจัญญายตนฌาน โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่า อะไรๆ หน่อยหนึ่งไม่มี เธอไม่ยินดีเพียงอากิญจัญญายตนะ ที่ได้บรรลุนั้น เธอเสพโดยมาก เจริญ กระทำให้มากซึ่งนิมิตนั้น อธิษฐานนิมิตนั้นให้มั่นด้วยดี

          เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น เรา เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะ โดยประการทั้งปวง พึงบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ เธอไม่ยินดีเพียง เนวสัญญานาสัญญายตน ที่ได้บรรลุนั้น เธอเสพโดยมาก เจริญ กระทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น อธิษฐานนิมิตนั้น ให้มั่นด้วยดี

          เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น เรา เพราะล่วง เนวสัญญานาสัญญายตน โดยประการทั้งปวง พึงบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เธอไม่ยินดีเพียงสัญญาเวทยิตนิโรธ ที่ได้บรรลุนั้น

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุเข้าก็ดี ออกก็ดี ซึ่งสมาบัตินั้นๆ ในกาลนั้น จิตของเธอเป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน สมาธิอันหาประมาณมิได้ ย่อมเป็นอันเธอเจริญดีแล้ว ด้วยจิตอ่อน ควรแก่การงาน เธอมีสมาธิ อันหาประมาณ มิได้ เจริญดีแล้ว ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมใดๆ ที่ควรกระทำให้ แจ้ง ด้วยอภิญญา เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ได้ ในเมื่อเหตุ มีอยู่ๆ

          ถ้าเธอหวังว่า เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่างคือ คนเดียวเป็นหลายคนได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ พึงใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยาน ในธรรมนั้นๆได้ ในเมื่อเหตุมีอยู่ๆ

          ถ้าเธอหวังว่า เราพึงฟังเสียงสองอย่าง คือ เสียงทิพย์เสียงมนุษย์ ทั้งที่ไกล และใกล้ ด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์ ฯลฯ ในเมื่อเหตุมีอยู่ๆ

          ถ้าเธอหวังว่า เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ
จิตมีราคะ ก็พึงรู้ว่า จิตมีราคะ
หรือจิตปราศจากราคะ ก็พึงรู้ว่า จิตปราศจากราคะ

จิตมีมีโทสะ ก็พึงรู้ว่า จิตมีโทสะ
หรือ จิตปราศจากโทสะก็พึงรู้ว่า จิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะ ก็พึงรู้ว่า จิตมีโมหะ
หรือ จิตปราศจากโมหะก็พึงรู้ว่า จิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ ก็พึงรู้ว่า จิตหดหู่
หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็พึงรู้ว่า จิตฟุ้งซ่าน

จิตเป็นมหรคต ก็พึงรู้ว่า จิตเป็นมหรคต
หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็พึงรู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคตจิต

มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็พึงรู้ว่า จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็พึงรู้ว่า จิตไม่มีจิตอื่นกว่า

จิตเป็นสมาธิก็พึงรู้ว่า จิตเป็นสมาธิ
หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็พึงรู้ว่า จิตไม่เป็นสมาธิ

จิตหลุดพ้น ก็พึงผู้ว่า จิตหลุดพ้น
หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็พึงรู้ว่า จิตไม่หลุดพ้น

เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยาน ในธรรมนั้นๆ ได้ ในเมื่อเหตุมีอยู่ๆ

          ถ้าเธอหวังว่า เราพึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่ง บ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ พึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้ง อุเทศ ด้วยประการดังนี้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยาน ในธรรมนั้นๆ ได้ ในเมื่อ เหตุมีอยู่ๆ

          ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์ ฯลฯด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของ มนุษย์ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควร เป็นพยาน ในธรรมนั้นๆ ได้ ในเมื่อเหตุมีอยู่ๆ

          ถ้าเธอหวังว่า เราพึงกระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะ มิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยาน ในธรรมนั้นๆ ได้ ในเมื่อเหตุมีอยู่ๆ

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์