1)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎ หน้าที่ ๑๒๙
ปัคคัยหสูตรที่ ๑
(ปุถุชนเป็นผู้มีรูป เสียง กลิ่น..ธรรมารมณ์เป็นที่มายินดี เมื่อรูป เสียง กลิ่น.. แปรปรวน คลายไป ดับไป ย่อมอยู่เป็นทุกข์)
[๒๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เทวดาและมนุษย์
เป็นผู้มี รูป เป็นที่มายินดี
เป็นผู้ยินดีแล้ว ในรูป
เป็นผู้เพลิดเพลินแล้ว ในรูป
เพราะรูปแปรปรวน คลายไป และดับไป เทวดาและมนุษย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์
เทวดาและมนุษย์
เป็นผู้มี เสียง ป็นที่มายินดี ...
เป็นผู้มี กลิ่น เป็นที่มายินดี ...
เป็นผู้มี รส เป็นที่มายินดี ...
เป็นผู้มี โผฏฐัพพะ เป็นที่มายินดี ...
เป็นผู้มี ธรรมารมณ์ เป็นที่มายินดี
เป็นผู้ยินดีแล้ว ในธรรมารมณ์
เป็นผู้เพลิดเพลินแล้วในธรรมารมณ์
เพราะธรรมารมณ์แปรปรวน คลายไปและดับไป เทวดาและมนุษย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์
2)
(ตถาคตรู้แจ้งแล้ว ไม่เป็นผู้มีรูป เสียง เป็นที่มายินดี เมื่อรูป เสียง กลิ่น..
ธรรมารมณ์แปรปรวน คลายไป ดับไป ย่อมอยู่เป็นสุข)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนตถาคต ผู้เป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ รู้แจ้งแล้ว ซึ่งความเกิดขึ้น ความดับไป คุณ โทษและอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งรูปทั้งหลาย ตามความเป็นจริง
ไม่ เป็นผู้มี รูป เป็นที่มายินดี
ไม่ เป็นผู้ยินดีแล้วในรูป
ไม่ เป็นผู้เพลิดเพลินแล้วในรูป
เพราะรูปแปรปรวน คลายไปและดับไป ตถาคตย่อมอยู่เป็นสุข
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตผู้---เป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ รู้แจ้งแล้วซึ่ง ความเกิดขึ้นความดับไปคุณโทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่ง เสียง ... กลิ่น ... รส ... โผฏฐัพพะ ...ธรรมารมณ์ ตามความเป็นจริง
ย่อม
ไม่ เป็นผู้มีธรรมารมณ์ เป็นที่มายินดี
ไม่ เป็นผู้ยินดีแล้ว ในธรรมารมณ์
ไม่ เป็นผู้เพลิดเพลินแล้ว ในธรรมารมณ์
เพราะธรรมารมณ์แปรปรวนไป คลายไปและดับไป ตถาคตก็ย่อมอยู่เป็นสุข
ครั้นพระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
---------------------------------------------------------------------------------------------
3)
(การเห็นของพระอริยะ ย่อมเห็นตรงกันข้ามกับชาวโลกทั้งปวง)
[๒๑๗] รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งสิ้น อันน่าปรารถนา น่าใคร่และน่าพอใจ ที่กล่าวกันว่ามีอยู่ประมาณเท่าใด รูปารมณ์เป็นต้นเหล่านั้นนั่นแล เป็นสิ่งอันชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก สมมติว่าเป็นสุข ถ้าว่ารูปารมณ์เป็นต้นเหล่านั้น ดับไปในที่ใดที่นั้น
เทวดา และมนุษย์เหล่านั้นสมมติว่า เป็นทุกข์
ส่วนว่าพระอริยะเจ้าทั้งหลาย เห็นการดับสักกายะ
(รูปารมณ์เป็นต้นที่บุคคล ถือว่าเป็นของตน) ว่าเป็นสุข
การเห็นของพระอริยะเจ้าทั้งหลาย ผู้เห็นอยู่นี้ ย่อมเป็นข้าศึกกับชาวโลกทั้งปวง
บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่า เป็นสุข
พระอริยะเจ้าทั้งหลายกล่าวสิ่งนั้นว่า เป็นทุกข์
บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่า เป็นทุกข์
พระอริยะเจ้าทั้งหลายรู้แจ้งสิ่งนั้นว่า เป็นสุข
เธอจงเห็นธรรมที่รู้ได้ยาก
4)
(ความมืดย่อมมีแก่บุคคลผู้ไม่เห็นนิพพาน)
คนพาลผู้หลงไม่รู้แจ้งในนิพพานนี้
ความมืดย่อมมีแก่บุคคลผู้ถูกนิวรณ์หุ้มห่อ
เหมือนความมัวมนย่อมมีแก่บุคคล ผู้ไม่เห็น
นิพพานย่อมมีแก่สัตบุรุษ
เหมือนแสงสว่างย่อมมีแก่บุคคลผู้เห็นชนทั้งหลายแสวงหา
ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพาน อันมีในที่ใกล้
ธรรมนี้อันบุคคล ผู้ถูกความกำหนัดในภพครอบงำ ผู้แล่นไปตามกระแส ตัณหาในภพ ผู้อันบ่วงแห่งมาร ท่วมทับ ไม่ตรัสรู้ได้ง่าย
ใครหนอ เว้นจาก พระอริยะเจ้าทั้งหลายแล้ว ย่อมควรเพื่อจะตรัสรู้นิพพานบท ที่พระอริยะเจ้าทั้งหลายรู้ โดยชอบ เป็นผู้ไม่มีอาสวะปรินิพพาน
|