เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

รวมเรื่องสังขารทั้งหลาย (3) กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร 1669
  P1667 P1668 P1669 P1670 1671
รวมเรื่องสังขาร
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
  รวมเรื่องสังขาร
1 กรรม.. ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร (กรรมวรรคที่ ๔)
2 สังขารเหล่านี้ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด (อาหารสูตร)
3 ความเกิด-ความดับแห่ง สังขารทั้งหลาย (ทสพลสูตรที่ ๑)
4 ธรรมชาติที่อิงอาศัยกัน (อุปนิสสูตร)
5 รู้ปฏิจจตามนัยะแห่งอริยสัจสี่ทั้ง ๑๑ อาการ (ญาณวัตถุ ๔๔)
6 ในที่ใดมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้นย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย
7 ความดับ ความสงบ ความระงับ แห่งสังขารทั้งหลาย
8 ความยินดีในสังขารทั้งหลายย่อมเป็นไปเพื่อการเกิด..ย่อมตกลงเหวที่น่ากลัว
   
   
 


1
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๑๙

กรรม.. ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร (กรรมวรรคที่ ๔)

          [๒๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้ทราบ กรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ กรรมดำมีวิบากดำก็มี กรรมขาวมีวิบากขาวก็มี กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวก็มี กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมก็มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แล เรากระทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ทราบ

          [๒๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้ เรากระทำให้แจ้ง ด้วยปัญญา อันยิ่งเองแล้วประกาศให้ทราบ กรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ กรรมดำมีวิบากดำก็มี กรรมขาวมีวิบากขาวก็มี กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาวก็มี กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมก็มี
-----------------------------------------------------------------------------------------------

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย(๑) ก็กรรมดำมีวิบากดำเป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้
ย่อมปรุงแต่ง กายสังขาร อันมีความเบียดเบียน
ย่อมปรุงแต่ง วจีสังขาร อันมีความเบียดเบียน
ย่อมปรุงแต่ง มโนสังขาร อันมีความเบียดเบียน
          ครั้นแล้ว ย่อมเข้าถึงโลก ที่มีความเบียดเบียน ผัสสะอันมีความเบียดเบียน ย่อมถูกต้อง บุคคลนั้น ผู้เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียน
          เขาอันผัสสะ ที่มีความเบียดเบียนถูกต้องแล้ว ย่อมได้เสวยเวทนา ที่มีความ เบียดเบียน เป็นทุกข์โดยส่วนเดียว เปรียบเหมือน สัตว์นรก นี้เราเรียกว่ากรรมดำ มีวิบากดำ
-----------------------------------------------------------------------------------------------

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๒) ก็กรรมขาวมีวิบากขาวเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้
ย่อมปรุงแต่ง กายสังขาร...วจีสังขาร...มโนสังขาร อันไม่มีความเบียดเบียน
          ครั้นแล้ว ย่อมเข้าถึงโลก ที่ไม่มีความเบียดเบียน ผัสสะอันไม่มีความ เบียดเบียน ย่อมถูกต้อง บุคคลนั้น ผู้เข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน
          เขาอันผัสสะ ที่ไม่มีความเบียดเบียน ถูกต้องแล้ว ย่อมได้เสวยเวทนา อันไม่มี ความเบียดเบียน เป็นสุขโดยส่วนเดียว เปรียบเหมือนเทพชั้นสุภกิณหะ นี้เราเรียกว่า กรรมขาว มีวิบากขาว
-----------------------------------------------------------------------------------------------

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๓) ก็กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาวเป็นไฉน บุคคล บางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขาร..วจีสังขาร..มโนสังขาร อันมีความ เบียดเบียน บ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง
          ครั้นแล้ว ย่อมเข้าถึงโลก ที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ผัสสะ อันมีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูกต้องบุคคลนั้น ผู้เข้าถึง โลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง
          เขาอันผัสสะ ที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้างถูกต้องแล้ว ย่อมได้ เสวยเวทนา อันมีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง มีทั้งสุข และ ทั้งทุกข์ ระคนกัน เปรียบเหมือนมนุษย์ เทพบางพวก และวินิปาติกสัตว์ บางพวก นี้เราเรียกว่า กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว
-----------------------------------------------------------------------------------------------

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๔) ก็กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไป เพื่อความสิ้นกรรมเป็นไฉน
เจตนาใดเพื่อละกรรมดำ อันมีวิบากดำ ในบรรดากรรมเหล่านั้น ก็ดี
เจตนาใดเพื่อละกรรมขาว อันมีวิบากขาวก็ดี
เจตนาใดเพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวก็ดี นี้เราเรียกว่ากรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อม เป็นไป เพื่อความสิ้นกรรม

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แล เรากระทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ทราบ

          [๒๓๔] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อสิขาโมคคัลลานะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ หลายวัน มาแล้ว โสณกายนมาณพไปหาข้าพระองค์ ครั้นแล้ว ได้กล่าวว่า พระสมณโคดม ย่อมทรง บัญญัติ การไม่กระทำกรรมทั้งปวง ก็แลเมื่อ บัญญัติ การไม่กระทำกรรมทั้งปวง ชื่อว่า กล่าวความขาดสูญแห่งโลก ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ โลกนี้มีกรรมเป็นสภาพ ดำรงอยู่ด้วยการ ก่อกรรมมิใช่หรือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

          ดูกรพราหมณ์ เราไม่รู้สึกว่า ได้เห็นโสณกายนมาณพเลย ที่ไหนจะได้ปราศรัย เห็นปานนี้ กันเล่า ดูกรพราหมณ์กรรม ๔ ประการนี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้ทราบ๔ ประการเป็นไฉน คือ กรรมดำมีวิบากดำก็มี กรรมขาว มีวิบากขาวก็มี กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาวก็มี กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบาก ไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมก็มี

          ดูกรพราหมณ์ ก็กรรมดำมีวิบากดำเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุง แต่ง กายสังขาร ... วจีสังขาร ... มโนสังขาร อันมีความเบียดเบียน ... เขาอันผัสสะ ที่มีความเบียดเบียน ถูกต้องแล้ว ย่อมได้เสวยเวทนาอันมีความเบียดเบียน เป็นทุกข์ โดยส่วนเดียว เหมือนสัตว์นรก นี้เราเรียกว่ากรรมดำมีวิบากดำ

          ดูกรพราหมณ์ ก็กรรมขาวมีวิบากขาวเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรุงแต่ง กายสังขาร ...วจีสังขาร...มโนสังขาร อันไม่มีความเบียดเบียน... เขาอันผัสสะ ที่ไม่มี ความเบียดเบียน ถูกต้องแล้ว ย่อมได้เสวยเวทนา อันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข โดยส่วนเดียว เหมือนพวก เทพสุภกิณหะ นี้เราเรียกว่ากรรมขาวมีวิบากขาว

          ดูกรพราหมณ์ ก็กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวเป็นไฉน บุคคล บางคน ในโลกนี้ ปรุงแต่ง กายสังขาร... วจีสังขาร... มโนสังขาร อันมีความเบียดเบียน บ้าง ไม่มีความ เบียดเบียนบ้าง...เขาอันผัสสะ อันมีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ถูกต้องแล้ว ย่อมได้เสวยเวทนาอันมีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง มีทั้งสุขและทุกข์ระคนกัน เหมือนมนุษย์เทพบางพวก และวินิปาติกสัตว์บางพวก นี้เราเรียกว่ากรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว

          ดูกรพราหมณ์ ก็กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความ สิ้นกรรมเป็นไฉน เจตนาใดเพื่อละกรรมดำ มีวิบากดำในบรรดากรรมเหล่านั้นก็ดี ... นี้เราเรียกว่ากรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ดูกรพราหมณ์ กรรม ๔ ประการนี้แลเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้ทราบ

          [๒๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้ เรากระทำให้แจ้ง ด้วยปัญญา อันยิ่งเองแล้วประกาศให้ทราบ ๔ ประการเป็นไฉน คือ กรรมดำมีวิบากดำก็มี กรรมขาว มีวิบากขาว ก็มีกรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวก็มี กรรมไม่ดำ ไม่ขาวมีวิบาก ไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมก็มี

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมดำมีวิบากดำเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ ฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้ง แห่งความประมาทนี้ เราเรียกว่ากรรมดำมีวิบากดำ

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมขาวมีวิบากขาวเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการ พูดเท็จ จากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เราเรียกว่ากรรมขาวมีวิบากขาว

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวเป็นไฉน บุคคล บางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขาร อันมีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความ เบียดเบียนบ้าง ฯลฯ นี้เราเรียกว่ากรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อ ความสิ้นกรรมเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เจตนาใดเพื่อละกรรมดำ อันมีวิบากดำ ในบรรดากรรมเหล่านั้นก็ดี ฯลฯ นี้เราเรียกว่ากรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แล เรากระทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ทราบ

          [๒๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ทราบ ๔ ประการเป็นไฉน คือ กรรมดำมีวิบากดำก็มี กรรมขาวมีวิบากขาวก็มี กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวก็มี กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมก็มี

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมดำมีวิบากดำเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ มีจิตประทุษร้ายต่อพระตถาคต ยังพระโลหิต ให้ห้อขึ้น ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน นี้เราเรียกว่ากรรมดำมีวิบากดำ

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมขาวมีวิบากขาวเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการ พูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มากไป ด้วยความเพ่งเล็ง มีจิตไม่พยาบาทมีความเห็นชอบ นี้เราเรียกว่ากรรมขาวมีวิบากขาว

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวเป็นไฉน บุคคล บางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขาร อันมีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความ เบียดเบียนบ้าง ฯลฯ นี้เราเรียกว่ากรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อ ความสิ้นกรรมเป็นไฉน เจตนาใดเพื่อละกรรมดำ อันมีวิบากดำในบรรดากรรม เหล่านั้น ก็ดี ฯลฯ นี้เราเรียกว่ากรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความ สิ้นกรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ประการนี้แล เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่ง เอง แล้วประกาศให้ทราบ

          [๒๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่งเองแล้วประกาศให้ทราบ ๔ ประการเป็นไฉน กรรมดำมีวิบากดำก็มีกรรมขาว มีวิบากขาวก็มี กรรมทั้งดำทั้งขาวมี วิบากทั้งดำทั้งขาวก็มี กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบาก ไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมก็มี

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมดำมีวิบากดำเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขาร อันมีความเบียดเบียน ฯลฯ นี้เราเรียกว่ากรรมดำมีวิบากดำ

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมขาวมีวิบากขาวเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขาร อันไม่มีความเบียดเบียน ฯลฯ นี้เรียกว่ากรรมขาวมีวิบากขาว

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขาร อันมีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ฯลฯ นี้เราเรียกว่ากรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อ ความสิ้นกรรมเป็นไฉน สัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เราเรียกว่ากรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่งเองแล้วประกาศให้ทราบ

          [๒๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้ เรากระทำให้แจ้ง ด้วยปัญญา อันยิ่งเองแล้วประกาศให้ทราบ ๔ ประการเป็นไฉน กรรมดำมีวิบากดำก็มี กรรมขาว มีวิบากขาวก็มี กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวก็มี กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ้นกรรมก็มี ฯ

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมดำมีวิบากดำเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขาร อันมีความเบียดเบียน ฯลฯ นี้เราเรียกว่ากรรมดำมีวิบากดำ

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมขาวมีวิบากขาวเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขาร อันไม่มีความเบียดเบียน ฯลฯ นี้เราเรียกว่ากรรมขาวมีวิบากขาว

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวเป็นไฉน บุคคล บางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขาร อันมีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความ เบียดเบียนบ้าง ฯลฯ นี้เราเรียกว่ากรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อ ความสิ้นกรรมเป็นไฉน สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ นี้เราเรียกว่ากรรม ไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ทราบ
........ 



2

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๐

สังขารเหล่านี้ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด (อาหารสูตร)

          [๒๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน อนาถปิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ เหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์ หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ เป็นไฉน คือ
(๑) กวฬีการาหารหยาบ หรือละเอียด
(๒) ผัสสาหาร
(๓) มโนสัญเจตนาหาร
(๔) วิญญาณาหาร

          อาหาร ๔ เหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิด มาแล้วหรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ ผู้แสวงหาที่เกิด

          [๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาหาร ๔ เหล่านี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไร เป็นที่ ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด อาหาร ๔ เหล่านี้ มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นที่ตั้งขึ้น มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด

     ก็ตัณหานี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็น แดนเกิด ตัณหามีเวทนาเป็นเหตุ มีเวทนาเป็นที่ตั้งขึ้น มีเวทนาเป็นกำเนิดมีเวทนา เป็นแดนเกิด

     ก็เวทนานี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็น แดนเกิด เวทนามีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นที่ตั้งขึ้น มีผัสสะเป็น กำเนิด มีผัสสะเป็น แดนเกิด

     ก็ผัสสะนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ผัสสะมีสฬายตนะเป็นเหตุ มีสฬายตนะ เป็นที่ตั้งขึ้น มีสฬายตนะเป็นกำเนิด มีสฬายตนะ เป็นแดนเกิด

     ก็สฬายตนะนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็น แดนเกิด สฬายตนะมีนามรูปเป็นเหตุ มีนามรูปเป็นที่ตั้งขึ้น มีนามรูป เป็นกำเนิด มีนามรูป เป็นแดนเกิด

     ก็นามรูปนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด นามรูปมีวิญญาณเป็นเหตุ มีวิญญาณเป็นที่ตั้งขึ้น มีวิญญาณ เป็นกำเนิด มีวิญญาณ เป็นแดนเกิด

     ก็วิญญาณนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็น แดนเกิด วิญญาณมีสังขารเป็นเหตุ มีสังขารเป็นที่ตั้งขึ้น มีสังขารเป็นกำเนิด มีสังขารเป็นแดนเกิด

     ก็สังขารเหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็น แดนเกิด สังขารทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นที่ตั้งขึ้น มีอวิชชาเป็นกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... ดังพรรณนามาฉะนี้ ความเกิดขึ้นแห่งกอง ทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี ด้วยประการอย่างนี้

          [๓๐] ก็เพราะอวิชชานั้นแหละดับ ด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขาร จึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการ อย่างนี้



3

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕

ความเกิด-ความดับแห่ง สังขารทั้งหลาย (ทสพลสูตรที่ ๑)

          [๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคต ประกอบด้วย ทสพลญาณ และจตุเวสารัชชญาณ จึงปฏิญาณฐานะของผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัททั้งหลาย ยังพรหมจักรให้เป็นไปว่า

ดังนี้รูป ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป ดังนี้ความดับแห่งรูป
ดังนี้เวทนา ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา ดังนี้ความดับแห่งเวทนา
ดังนี้สัญญา ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา ดังนี้ความดับแห่งสัญญา
ดังนี้สังขารทั้งหลาย ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่ง สังขารทั้งหลาย ดังนี้ความดับแห่ง สังขาร ทั้งหลาย
ดังนี้วิญญาณ ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ดังนี้ความดับแห่งวิญญาณ

     ด้วยเหตุนี้ เมื่อปัจจัยนี้มีอยู่ ผลนี้ย่อมมีเพราะการบังเกิดขึ้นแห่งปัจจัยนี้ ผลนี้จึง บังเกิดขึ้นเมื่อปัจจัยนี้ไม่มีอยู่ ผลนี้ย่อมไม่มีเพราะการดับแห่งปัจจัยนี้ ผลนี้จึงดับ

     ข้อนี้ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมี สังขาร เพราะ สังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

     ก็เพราะอวิชชานั่นแหละ ดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะ สังขาร ดับ วิญญาณจึงดับ..ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วย ประการ อย่างนี้



4

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๗

ธรรมชาติที่อิงอาศัยกัน (อุปนิสสูตร)

          [๖๘] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายเมื่อเรารู้อยู่ เห็นอยู่ เราจึงกล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เมื่อเราไม่รู้ไม่เห็น เราก็มิได้กล่าว ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

          ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรารู้เราเห็นอะไรเล่า ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมี เมื่อเรารู้ เราเห็นว่าดังนี้รูป ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป ดังนี้ความดับแห่งรูป ... ดังนี้เวทนา ... ดังนี้สัญญา ...ดังนี้ สังขารทั้งหลาย ... ดังนี้วิญญาณ ดังนี้ความ เกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ดังนี้ความดับแห่งวิญญาณ ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมี

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรารู้ เราเห็นอย่างนี้แล ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมมี

          [๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมเป็นที่สิ้นไป เกิดขึ้นแล้ว ญาณในธรรม เป็นที่สิ้นไป อันนั้นแม้ใด มีอยู่ เรากล่าวญาณแม้นั้นว่า มีเหตุเป็นที่อิงอาศัย มิได้ กล่าวว่า ไม่มีเหตุเป็นที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งญาณในธรรม เป็นที่สิ้นไป ควรกล่าวว่า วิมุตติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งวิมุตติว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งวิมุตติ ควรกล่าวว่าวิราคะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งวิราคะว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุ ที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งวิราคะ ควรกล่าวว่า นิพพิทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งนิพพิทาว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุ ที่อิงอาศัย ดูกรภิกษุดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งยถาภูตญาณทัสสนะว่า มีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งยถาภูตญาณทัสสนะ ควรกล่าวว่าสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งสมาธิว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งสมาธิควรกล่าวว่า สุข ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งสุขว่า มีเหตุที่อิงอาศัยมิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุ ที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งสุข ควรกล่าวว่า ปัสสัทธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งปัสสัทธิว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่า ไม่มีเหตุที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งปัสสัทธิ ควรกล่าวว่า ปีติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งปีติว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุ ที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลายก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งปีติ ควรกล่าวว่า ความปราโมทย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งความปราโมทย์ ว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่า ไม่มีเหตุที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งความปราโมทย์ควรกล่าวว่า ศรัทธา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งศรัทธาว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่า ไม่มีเหตุที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งศรัทธาควรกล่าวว่า ทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งทุกข์ว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่า ไม่มีเหตุที่อิง อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งทุกข์ ควรกล่าวว่า ชาติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งชาติว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุ ที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแอาศัยแห่งเวทนา ควรกล่าวว่า ผัสสะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งผัสสะว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งผัสสะ ควรกล่าวว่า สฬายตนะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งสฬายตนะว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งสฬายตนะ ควรกล่าวว่า นามรูป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งนามรูปว่า มีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุ ที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งนามรูปควรกล่าวว่า วิญญาณ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งวิญญาณว่า มีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุ ที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งวิญญาณ ควรกล่าวว่า สังขารทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่ง สังขารทั้งหลายว่า มีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่ง สังขารทั้งหลาย ควรกล่าวว่า อวิชชา ด้วยเหตุดังนี้แล

ภิกษุทั้งหลาย
สังขารทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นที่อิงอาศัย
วิญญาณ มี สังขารเป็นที่อิงอาศัย
นามรูปมีวิญญาณเป็นที่อิงอาศัย
ผัสสะมีสฬายตนะ เป็นที่อิงอาศัย
เวทนามีผัสสะเป็นที่อิงอาศัย
ตัณหามีเวทนาเป็นที่อิงอาศัย
อุปาทานมีตัณหาเป็นที่อิงอาศัย
ภพมีอุปาทานเป็นที่อิงอาศัย
ชาติมีภพเป็นที่อิงอาศัย
ทุกข์มีชาติเป็นที่อิงอาศัย
ศรัทธามีทุกข์เป็นที่อิงอาศัย
ความปราโมทย์มีศรัทธาเป็นที่อิงอาศัย
ปีติมีปราโมทย์เป็นที่อิงอาศัย
ปัสสัทธิมีปีติเป็นที่อิงอาศัย
สุขมีปัสสัทธิเป็นที่อิงอาศัย
สมาธิมีสุขเป็นที่อิงอาศัย
ยถาภูตญาณทัสสนะมีสมาธิเป็นที่อิงอาศัย
นิพพิทามียถาภูตญาณทัสสนะเป็นที่อิงอาศัย
วิราคะมีนิพพิทาเป็นที่อิงอาศัย
วิมุตติมีวิราคะเป็นที่อิงอาศัย
ญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไปมีวิมุตติเป็นที่อิงอาศัย

          [๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเมล็ดใหญ่ตกอยู่บนยอดภูเขา น้ำนั้นไหลไป ตามที่ลุ่ม ยังซอกเขา ระแหง และห้วยให้เต็ม ซอกเขาระแหงและห้วย ทั้งหลาย เต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังหนองทั้งหลายให้เต็ม หนองทั้งหลายเต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังบึง ทั้งหลายให้เต็มบึงทั้งหลายเต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังแม่น้ำน้อยๆ ให้เต็มแม่น้ำน้อยๆ เต็มเปี่ยมแล้วย่อมยังแม่น้ำใหญ่ๆ ให้เต็ม แม้น้ำใหญ่ๆ เต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยัง มหาสมุทรให้เต็ม แม้ฉันใด

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นที่อิงอาศัย ฯลฯ ญาณในธรรม เป็นที่สิ้นไป มีวิมุตติเป็นที่อิงอาศัย ฉันนั้นเหมือนกันแล



5

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๐


รู้ปฏิจจตามนัยะแห่งอริยสัจสี่ทั้ง ๑๑ อาการ (ญาณวัตถุ ๔๔)

 ญานวัตถุ ๔๔  (หมวด ๑๑ สังขารทั้งหลาย)
 ๑ ญาณ คือความรู้ ในสังขารทั้งหลาย
 ๒ ญาณ คือความรู้ ในเหตุให้เกิดขึ้นแห่งสังขาร
 ๓ ญาณ คือความรู้ ในความดับไม่เหลือแห่งสังขาร
 ๔ ญาณ คือความรู้ ในข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งสังขาร

           [๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล
๑) ภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงชรามรณะอย่างนี้
ย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดแห่งชรามรณะอย่างนี้
ย่อมรู้ทั่วถึงความดับแห่งชรามรณะอย่างนี้
ย่อมรู้ทั่วถึงข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชรามรณะอย่างนี้
๒) ย่อมรู้ทั่วถึงชาติอย่างนี้ ฯลฯ
๓) ย่อมรู้ทั่วถึงภพอย่างนี้ ฯลฯ
๔) ย่อมรู้ทั่วถึงอุปาทานอย่างนี้ ฯลฯ
๕) ย่อมรู้ทั่วถึงตัณหาอย่างนี้ ฯลฯ
๖) ย่อมรู้ทั่วถึงเวทนาอย่างนี้ ฯลฯ
๗) ย่อมรู้ทั่วถึงผัสสะอย่างนี้ ฯลฯ
๘) ย่อมรู้ทั่วถึงสฬายตนะอย่างนี้ ฯลฯ
๙) ย่อมรู้ทั่วถึงนามรูปอย่างนี้ ฯลฯ
๑๐) ย่อมรู้ทั่วถึงวิญญาณอย่างนี้ ฯลฯ
๑๑) ย่อมรู้ทั่วถึง สังขารทั้งหลาย อย่างนี้
ย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดแห่ง สังขาร อย่างนี้
ย่อมรู้ทั่วถึงความดับแห่ง สังขาร อย่างนี้
ย่อมรู้ทั่วถึงข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่ง สังขาร อย่างนี้

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลนั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า
เป็นผู้สมบูรณ์ด้วย ทิฐิบ้าง เป็นผู้สมบูรณ์ด้วย ทัศนะบ้าง
เป็นผู้มาถึงสัทธรรมนี้บ้าง เห็นสัทธรรมนี้บ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยญาณอันเป็นเสกขะบ้าง
เป็นผู้ประกอบด้วยวิชชาอันเป็นเสกขะบ้าง
เป็นผู้บรรลุกระแสแห่งธรรมบ้าง
เป็นพระอริยะมีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลสบ้าง
ว่าอยู่ชิดประตูอมตนิพพานบ้าง



6

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๙

ในที่ใดมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้นย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย (อัตถิราคสูตร)

           [๒๔๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย มาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างเพื่อความดำรงอยู่ของสัตวโลก ที่เกิด มาแล้ว เพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ อย่างนั้น คือ ๑ กวฬีการาหาร หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง๒ ผัสสาหาร ๓ มโนสัญเจตนาหาร ๔ วิญญาณาหาร อาหาร ๔ อย่างนี้แล เพื่อความดำรงอยู่ของสัตวโลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด

           [๒๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทยานอยาก มีอยู่ในกวฬีการาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในกวฬีการาหารนั้น
ในที่ใด วิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป
ในที่ใด มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมมีควเจริญแห่ง สังขารทั้งหลาย
ในที่ใด มีความเจริญแห่ง สังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป
ในที่ใด มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป
ในที่ใด มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่ามีความโศก มีธุลี (คือราคะ) มีความ คับแค้น

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทยานอยากมีอยู่ใน ผัสสาหารไซร้ ... ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทยานอยาก มีอยู่ในมโน สัญเจตนาหารไซร้ ... ถ้าความยินดีความเพลิดเพลิน ความทยานอยากมีอยู่ ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในวิญญาณาหารนั้น

ในที่ใด วิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป
ในที่ใด มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมมีความเจริญแห่ง สังขารทั้งหลาย
ในที่ใด มีความเจริญแห่ง สังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป
ในที่ใด มีการเกิดในภพใหม่ต่อไปในที่นั้น ย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป
ในที่ใด มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่ามีความโศกมีธุลี มีความคับแค้น

           [๒๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีน้ำย้อม ครั่ง ขมิ้น สีเขียวหรือสีบานเย็น ช่างย้อมหรือช่างเขียนพึงเขียนรูปสตรี หรือรูปบุรุษให้มีอวัยวะน้อยใหญ่ได้ครบถ้วน ที่แผ่นหินขาว แผ่นกระดาน ฝาผนัง หรือที่ผืนผ้า แม้ฉันใด

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าความยินดีความเพลิดเพลิน ความทยาน อยาก มีอยู่ในกวฬีการาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในกวฬีการาหารนั้น

ในที่ใด วิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป
ในที่ใด มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมมีความเจริญแห่ง สังขารทั้งหลาย
ในที่ใด มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป
ในที่ใด มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป
ในที่ใด มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่ามีความโศก มีธุลี มีความคับแค้น

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทยานอยาก มีอยู่ในผัสสาหารไซร้ ... ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทยานอยาก มีอยู่ในมโนสัญเจตนาหารไซร้ ... ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทยานอยาก มีอยู่ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในวิญญาณาหารนั้น

ในที่ใด วิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้นย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป
ในที่ใด มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมมีความเจริญแห่ง สังขารทั้งหลาย
ในที่ใด มีความเจริญแห่ง สังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป
ในที่ใด มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป
ในที่ใด มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่า มีความโศก มีธุลี มีความคับแค้น

           [๒๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทยานอยาก ไม่มีอยู่ในกวฬีการาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงามในกวฬีการาหารนั้น

ในที่ใด วิญญาณไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป
ในที่ใด ไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย
ในที่ใด ไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้นย่อมไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป
ในที่ใด ไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้นย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป
ในที่ใด ไม่มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่าไม่มีความโศกไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น

           ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทยานอยาก ไม่มีในผัสสาหาร ...ไม่มีในมโนสัญเจตนาหาร ... ไม่มีในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในอาหารนั้น

ในที่ใด วิญญาณไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงาม ในที่นั้นย่อมไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป

ในที่ใด ไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้นย่อมไม่มีความเจริญแห่ง สังขารทั้งหลาย

ในที่ใด ไม่มีความเจริญแห่ง สังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมไม่มีความเกิดในภพใหม่ ต่อไป

ในที่ใด ไม่มีความเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป

ในที่ใด ไม่มีชาติชรามรณะต่อไปภิกษุทั้งหลายเราเรียกที่นั้นว่า ไม่มีความโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น

           [๒๔๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรือนยอด[ปราสาท] หรือศาลามีสองยอด หน้าต่างด้านทิศตะวันออก อันบุคคลเปิดไปทางเหนือ หรือทางใต้ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปแสงสว่างส่องเข้าไปทางหน้าต่าง จะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน  ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ตั้งอยู่ที่ฝาด้านตะวันตก พระเจ้าข้า

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าฝาด้านตะวันตกไม่มีเล่า แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ ณที่ไหน
ภิ. ที่แผ่นดิน พระเจ้าข้า

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแผ่นดินไม่มีเล่า แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน
ภิ. ที่น้ำ พระเจ้าข้า

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าน้ำไม่มีเล่า แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน
ภิ. ไม่ตั้งอยู่เลย พระเจ้าข้า

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มีอยู่ในกวฬีการาหารไซร้ ...ในผัสสาหารไซร้ ...ในมโนสัญ เจตนาหารไซร้...ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงามในวิญญาณาหาร นั้น

ในที่ใด วิญญาณไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป
ในที่ใด ไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้นย่อมไม่มีความเจริญแห่ง สังขารทั้งหลาย
ในที่ใด ไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้นย่อมไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป
ในที่ใด ไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้นย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป
ในที่ใด ไม่มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่าไม่มีความโศก ไม่มีธุลีไม่มีความคับแค้น



7

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๔


ความดับ ความสงบ ความระงับ แห่งสังขารทั้งหลาย

           [๔๐๐] ดูกรอานนท์ โดยที่แท้ เราได้กล่าวความดับแห่ง สังขารทั้งหลาย โดยลำดับแล้ว คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมดับ ฯลฯ เมื่อเข้าสัญญา เวทยิตนิโรธ สัญญา และเวทนาย่อมดับ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้ขีณาสพย่อมดับ

           [๔๐๑] ดูกรอานนท์ โดยที่แท้ เราได้กล่าวความสงบแห่ง สังขารทั้งหลาย โดยลำดับแล้ว คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมสงบ ฯลฯ เมื่อเข้าสัญญา เวทยิต นิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมสงบ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมสงบ

           [๔๐๒] ดูกรอานนท์ โดยที่แท้ เราได้กล่าวความระงับแห่ง สังขารทั้งหลาย โดยลำดับแล้ว คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมระงับ ฯลฯ เมื่อเข้าสัญญา เวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมระงับ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมระงับ



8

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๔๓

ความยินดีในสังขารทั้งหลายย่อมเป็นไปเพื่อการเกิด..ย่อมตกลงเหวที่น่ากลัว
(ว่าด้วยเหวคือความเกิด)

           [๑๗๒๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายมาเถิด เราจักเข้าไปยังยอดเขากั้นเขตแดน เพื่อพักกลางวัน ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

            ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก เสด็จเข้าไปยังยอดเขา กั้นเขตแดน ภิกษุรูปหนึ่งได้เห็นเหวใหญ่บนยอดเขากั้นเขตแดน ครั้นแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหวนี้ใหญ่ เหวนี้ใหญ่แท้ๆ เหวอื่นที่ใหญ่กว่า และน่ากลัวกว่าเหวนี้มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัส ตอบว่า เหวอื่นที่ใหญ่ กว่าและน่ากลัวกว่าเหวนี้มีอยู่

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เหวอื่นที่ใหญ่กว่าและน่ากลัวกว่าเหวนี้เป็นไฉน?

           [๑๗๒๙] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อม ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือ พราหมณ์ เหล่านั้นย่อมยินดีใน สังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ... เพื่อความแก่ ... เพื่อความตาย ...เพื่อความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส และความ คับแค้นใจ ยินดีแล้ว ย่อมปรุงแต่ง สังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด บ้าง ... และความคับแค้นใจบ้าง

         ครั้นปรุงแต่งแล้ว ย่อมตกลงสู่เหวคือความเกิดบ้าง ... และความคับแค้นใจบ้าง เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่พ้นไป จากความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส ความคับแค้นใจ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์

           [๑๗๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้น ย่อมไม่ยินดีในสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ... และความคับแค้น ใจ ไม่ยินดีแล้วย่อมไม่ปรุงแต่ง สังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด... และความ คับแค้นใจ ครั้นไม่ปรุงแต่งแล้ว ย่อมไม่ตกลงสู่เหวคือความเกิดบ้าง ... และความ คับแค้น ใจบ้าง เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมพ้นจากความเกิด ... และความคับแค้นใจ ย่อมพ้นจากทุกข์

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์