เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

 
เรื่องพระสารีบุตร หน้า 4/5 1484
  P1481 P1482 P1483 P1484 P1485
รวมพระสูตร พระสารีบุตร
 

(โดยย่อ)
(46) มหานิทเทส ๑ ขยายความพระไตรปิฎก เชื่อว่าเป็นผลงานของพระสารีบุตร P957
    46.1 ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง
    46.2 ผู้ปราถนากามเปรียบเหมือนถูกแทงด้วยลูกศร
    46.3 กามเสื่อมไปได้อย่างไร
    46.4 ว่าด้วยการเว้นขาดกามด้วยเหตุ ๒ ประการ
    46.5 ว่าด้วยทาส ๔ จำพวก
    46.6 ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง
    46.7 ว่าด้วยผู้มีสติทุกเมื่อ
    46.8 ว่าด้วยการละขาดจากกาม ๒ อย่าง
    46.9 ว่าด้วยนรชนเป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำคือกาย
(47) ยมกภิกษุมีทิฐิลามก คิดว่าพระขีณาสพตายแล้วสูญ ภิกษุท.จึงพากันเข้าหาพระสารีบุตร P1500
(48) พระเทวทัตหาพวกจากภิกษุบวชใหม่ ๕๐๐ รูป พ.ให้พระโมค และพระสารีบุตรพากลับ
(49) เทวดาเข้าเฝ้า รายงานว่าพระสารีบุตร กำลังแสดงธรรมที่ปราสาทของนางวิสาขา P1343
(50) การอยู่ด้วยโพชฌงค์ ๗แสดงธรรมโดยพระสารีบุตร


เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
รวมพระสูตร
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
(ดูทั้งหมด)

 


(46
)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๑

อัฏฐกวัคคิกะ

กามสุตตนิทเทสที่ ๑


(46.1)
ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง (วัตถุกาม กิเลสกาม)

(ย่อ)
วัตถุกามเป็นไฉน?
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทองบ้าน นิคม ราชธานี แว่นแคว้น ชนบท กองพลรบ คลัง และ วัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
อีกอย่างหนึ่ง : กามที่เป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก ชนิดเลว ปานกลาง ประณีต.. ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหา ความใคร่  ความกำหนัด อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา เหล่านี้
เรียกว่า วัตถุกาม

กิเลสกามเป็นไฉน? ความพอใจ ความกำหนัด ความพอใจและความกำหนัด ความดำริ ความกำหนัดมาก ความดำริและความกำหนัด ความพอใจคือความใคร่ ความกำหนัด คือความใคร่ ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ในกามทั้งหลาย ความปรารถนาในกาม ความเสน่หาในกามความเร่าร้อนในกาม ความหลงในกาม ความติดใจในกาม ห้วงคือกาม ความประกอบในกามความยึดถือในกาม เครื่องกั้นกาง คือกามฉันทะ

     [๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อสัตว์ปรารถนากามอยู่ ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่ สัตว์นั้นสัตว์นั้นได้ กามตามปรารถนาแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน.

[๒] กามในคำว่า เมื่อปรารถนากามอยู่ ได้แก่ กาม ๒ อย่าง โดยหัวข้อ คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑.

     วัตถุกามเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ เครื่องลาดเครื่อง นุ่งห่ม ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทองบ้าน นิคม ราชธานี แว่นแคว้น ชนบท กองพลรบ คลัง และวัตถุเป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วัตถุกาม. 
อีกอย่างหนึ่ง

- กามที่เป็นอดีต กามที่เป็นอนาคต กามที่เป็นปัจจุบัน
- ที่เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก
- ชนิดเลว ชนิดปานกลาง ชนิดประณีต
- เป็นของสัตว์ผู้เกิดในอบาย เป็นของมนุษย์ เป็นของทิพย์ที่ปรากฏเฉพาะหน้า
- ที่นิรมิตเอง ที่ผู้อื่นนิรมิต
- ที่หวงแหน ที่ไม่ได้
หวงแหน
- ที่ยึดถือว่าของเรา ที่ไม่ยึดถือว่าของเรา
- ธรรมที่เป็นกามาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นรูปาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นอรูปาวจร แม้ทั้งหมด
- ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหา
ชื่อว่า กาม เพราะอรรถว่า อันบุคคลพึงใคร่เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา กามเหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม.

     กิเลสกามเป็นไฉน? ความพอใจความกำหนัด ความพอใจและความกำหนัด ความดำริ ความกำหนัดมาก ความดำริและความกำหนัด ความพอใจคือความใคร่ ความกำหนัด คือความใคร่ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ในกามทั้งหลาย ความปรารถนาในกาม ความเสน่หาในกามความเร่าร้อนในกาม ความหลงในกาม ความติดใจในกาม ห้วงคือกาม ความประกอบในกามความยึดถือในกาม เครื่องกั้นกาง คือกามฉันทะ ชื่อว่า กาม. สมจริงดังคำว่า ดูกรกาม เราเห็นรากฐานของท่านแล้วว่า ท่านย่อมเกิดเพราะความดำริ เราจักไม่ดำริถึงท่าน ท่านจักไม่มีอย่างนี้. กามเหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม.
คำว่า เมื่อปรารถนากามอยู่ มีความว่า เมื่อใคร่ อยากได้ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย ชอบใจกามอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อปรารถนากามอยู่.

     [๓] คำว่า ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น มีความว่า คำว่า สัตว์นั้น ได้แก่ สัตว์ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาหรือมนุษย์.

      คำว่า กามนั้นได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ชอบใจ ซึ่งเรียกว่า วัตถุกาม. คำว่า ย่อมสำเร็จมีความว่า ย่อมสำเร็จ สำเร็จโดยชอบได้ ได้เฉพาะ ประสบ พบ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น.

     [๔] คำว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน มีความว่า คำว่า แน่นอน เป็นคำกล่าว โดยส่วนเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความสงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความเคลือบ แคลง เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองส่วน เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองอย่าง เป็นคำกล่าว ไม่รวมกัน เป็นคำกล่าวไม่ผิด คำว่าแน่นอนนี้ เป็นคำกล่าวกำหนดแน่.

     คำว่า อิ่ม คือ ความอิ่ม ความปราโมทย์ ความเบิกบานความบันเทิง ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความยินดี ความชื่นใจ ความชอบใจความเต็มใจ ที่ประกอบพร้อมเฉพาะ ด้วยกามคุณ ๕.

     คำว่า ใจ คือ จิต มนะ มานัส หทัย บัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ที่เกิดแต่ผัสสะเป็นต้นนั้น นี้เรียกว่า ใจ.

     ใจนี้ สหรคต คือ เกิดร่วม เกี่ยวข้อง ประกอบ เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน มีวัตถุอย่างเดียวกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน กับด้วยความอิ่มนี้.

     คำว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจ คือเป็นผู้มีใจยินดี มีใจร่าเริง มีใจเบิกบาน มีใจดี มีใจสูง มีใจปลาบปลื้ม เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน.

     [๕] คำว่า สัตว์นั้นได้กามตามปรารถนาแล้ว มีความว่า คำว่า ได้ คือ ได้ ได้แล้ว ได้เฉพาะ ประสบ พบ. คำว่า สัตว์ คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์. คำว่า ตามปรารถนา คือ รูป เสียง กลิ่น รส หรือโผฏฐัพพะ ตามปรารถนา ยินดี ประสงค์ มุ่งหมาย ชอบใจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์นั้นได้กาม ตามปรารถนาแล้ว.

    
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เมื่อสัตว์ ปรารถนากามอยู่ ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น สัตว์นั้นได้ กามตามปรารถนาแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน.



(46.2)
ผู้ปราถนากาม กามเปรียบเหมือนถูกแทงด้วยลูกศร

(ย่อ)
กาม เหมือนลูกศรแทง
เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว ถ้ากาม เหล่านั้นเสื่อมไป สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว

ความปรารถนาในกาม คือ เมื่อใคร่ อยากได้ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย ชอบใจ

คำว่าฉันทะได้แก่
ความพอใจในกาม ความกำหนัด ความเพลิน ความอยาก ความเสน่หา ความเร่าร้อน ความหลง ความติดใจในกาม

       [๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ เมื่อสัตว์มีฉันทะ เกิดแล้ว ถ้ากามเหล่านั้นเสื่อมไป สัตว์นั้น ย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูก ลูกศรแทง เข้าแล้ว.

      [๗] คำว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ มีความว่า คำว่า เมื่อสัตว์นั้น ได้แก่ สัตว์ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์.
คำว่าปรารถนากามอยู่ คือ เมื่อใคร่ อยากได้ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย ชอบใจ.
อีกอย่างหนึ่งสัตว์ย่อมไป ออกไป ลอยไป แล่นไป เพราะกามตัณหา เปรียบเหมือน มนุษย์ย่อมไป ออกไปลอยไป แล่นไปด้วยยานช้างบ้าง ยานม้าบ้าง ยานโคบ้าง ยานแพะบ้าง ยานแกะบ้าง ยานอูฐบ้างยานลาบ้าง ฉันใด สัตว์ย่อมไป ออกไป ลอยไป แล่นไป เพราะกามตัณหา ฉันนั้น เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่.

      [๘] คำว่า เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว ความว่า คำว่า ฉันทะ ได้แก่ ความพอใจ ในกาม ความกำหนัดในกาม ความเพลินในกาม ความอยากในกาม ความเสน่หา ในกาม ความเร่าร้อนในกาม ความหลงในกาม ความติดใจในกาม ห้วงคือกาม ความประกอบคือกาม ความยึดถือในกาม เครื่องกั้นกางคือกามฉันทะ ความพอใจ ในกามนั้น เกิดแล้ว เกิดพร้อม เกิดขึ้นเกิดเฉพาะ ปรากฏแล้วแก่สัตว์นั้น. คำว่า สัตว์ คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิตผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

(46.3)
กามเสื่อม ไปได้อย่างไร

(ย่อ)
กามเสื่อมไปอย่างไร : ถูกพระราชาริบไปบ้าง ถูกโจรลักไปบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกน้ำพัด ไปบ้าง ถูกพวกญาติผู้ไม่เป็นที่ชอบใจนำไปบ้าง ไม่พบโภคทรัพย์ที่เก็บ ฝังไว้บ้าง โภคทรัพย์ ย่อมเสื่อม เสียหาย กระจัดกระจาย รั่วไหล อันตรธาน

เพราะเหตุนั้น เมื่อสัตว์ปรารถนากามอยู่ มีฉันทะเกิดขึ้น ถ้ากามเหล่านั้นเสื่อมไป สัตว์นั้น ย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศร แทงเข้าแล้ว …ผู้ใด เว้นขาดกาม ทั้งหลาย ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกา(กำหนัด)นี้ ในโลกเสียได้

     [๙] คำว่า ถ้ากามเหล่านั้นเสื่อมไป มีความว่า กามเหล่านั้นเสื่อมไปบ้าง สัตว์นั้น เสื่อมจากกามทั้งหลายบ้าง.

     กามเหล่านั้น เสื่อมไปอย่างไร? เมื่อสัตว์นั้น ดำรงอยู่นั่นแหละ โภคะ (ทรัพย์) เหล่านั้น ถูกพระราชาริบไปบ้าง ถูกโจรลักไปบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกน้ำพัดไปบ้าง ถูกพวกญาติ ผู้ไม่เป็นที่ชอบใจนำไปบ้าง สัตว์นั้น ไม่พบโภคทรัพย์ที่เก็บฝังไว้บ้าง การงานที่ ประกอบ ไม่ดีเสียไปบ้าง คนผลาญสกุล ผู้แจกจ่ายกระจัดกระจาย ทำลายโภคะ เหล่านั้น ย่อมเกิดในสกุลบ้าง ความเป็นของ ไม่เที่ยงแห่งโภคะ เป็นที่แปด กาม เหล่านั้นย่อมเสื่อม เสียหาย กระจัดกระจาย รั่วไหล อันตรธาน สูญหายไปอย่างนี้.

     สัตว์นั้น ย่อมเสื่อมจากกามทั้งหลายอย่างไร? โภคะเหล่านั้น ยังตั้งอยู่นั้นแหละ สัตว์นั้นย่อมเคลื่อน ตาย อันตรธาน สูญหายไปจากโภคะเหล่านั้น สัตว์นั้นย่อมเสื่อม เสียหายกระจัดกระจาย รั่วไหล อันตรธาน สูญหายไปจาก กาม ทั้งหลายอย่างนี้ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โภคทรัพย์ทั้งหลาย ถูกโจรลักไป ถูกพระราชา ริบไป ถูกไฟไหม้ เสียหายอนึ่ง บุคคลผู้เป็นเจ้าของย่อมละทิ้งสรีรกาย กับทั้งข้าวของ เพราะความตาย นักปราชญ์ทราบเหตุนี้แล้ว พึงใช้สอยบ้าง พึงให้ ทานบ้าง ครั้นให้ทาน และใช้สอยตามสมควรแล้ว เป็นผู้ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าถึง สถาน คือ สวรรค์. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กามเหล่านั้นย่อมเสื่อมไป.

[๑๐] คำว่า สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว มีความว่า สัตว์ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยเหล็กแทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศร ที่ทำด้วยกระดูก แทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยงาแทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยเขาแทง เข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยไม้ แทงเข้าแล้วบ้าง ย่อมกระสับกระส่าย หวั่นไหว ดิ้นรน จุกเสียด เจ็บตัว เจ็บใจฉันใด ความโศกรำพัน เจ็บกาย เจ็บใจ และคับแค้นใจ ย่อมเกิดขึ้น เพราะวัตถุกามทั้งหลายแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป สัตว์นั้นถูกลูกศร คือกามแทง เข้าแล้ว ย่อมกระสับกระส่ายหวั่นไหวดิ้นรน จุกเสียด เจ็บกาย เจ็บใจ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูก ลูกศรแทงเข้าแล้ว.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ เมื่อสัตว์มีฉันทะ เกิดขึ้น ถ้ากามเหล่านั้นเสื่อมไป สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศร แทงเข้าแล้ว.

     [๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ใด ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย เหมือนบุคคล เว้นขาดหัวงูด้วยเท้า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้.



(46.4)
ว่าด้วยการเว้นขาดกามด้วยเหตุ ๒ ประการ
(โดยการข่มไว้ โดยการตัดขาด)

(ย่อ)
1. เว้นขาดโดยการข่มไว้ ด้วยการเจริญสติ
ข่มไว้ด้วยการเจริญพุทธานุสสติ.. ธัมมานุสสติ.. สังฆานุสสติ.. สีลานุสสติ ..จาคานุสสติ ...เจริญเทวตานุสสติ ...อานาปานัสสติ ...มรณานุสสติ ... กายคตาสติ ...อุปสมานุสสติ
   ข่มไว้ด้วยการเจริญภาวนา ฌาณ ๑-๘
แม้ผู้เจริญปฐมฌาน...ทุติยฌาน...ตติยฌาน...จตุตถฌาน... อากาสานัญจา... วิญญาณัญจา ...อากิญจัญญา ... เนวสัญญา

2. ย่อมเว้นขาดกาม โดยการตัดขาด
แม้บุคคล ผู้เจริญโสดาปัตติมรรค เว้นขาดกามอันให้ไปสู่อบาย
แม้บุคคล ผู้เจริญสกทาคามิมรรค เว้นขาดกามส่วนหยาบ
แม้บุคคล ผู้เจริญอนาคามิมรรค เว้นขาดกามอันเป็นส่วนละเอียด
แม้บุคคล ผู้เจริญอรหัตมรรค เว้นขาดกามโดยอาการทั้งปวง ไม่มิส่วนเหลือ

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้ใดย่อมเว้นขาด กามทั้งหลาย เหมือนบุคคล เว้นขาดหัวงูด้วยเท้า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้น ตัณหา

     [๑๒] คำว่า ผู้ใด ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย มีความว่า คำว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ผู้ประกอบอย่างใด ผู้ชนิดอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด ผู้ประกอบด้วย ธรรมใด เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร์ เป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต เป็นเทวดา หรือเป็นมนุษย์. กาม ในคำว่า ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย ได้แก่ กาม ๒ อย่าง โดยหัวข้อ คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑

วัตถุกามเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ ฯลฯ กามเหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ กามเหล่านี้ เรียกว่า กิเลสกาม.

คำว่า ย่อมเว้นขาดกามคือ ย่อมเว้นขาดกาม โดยเหตุ ๒ ประการ คือ
โดยการข่มไว้อย่าง ๑
โดยการตัดขาดอย่าง ๑.


ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้อย่างไร?
บุคคลผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยโครงกระดูก
เพราะอรรถว่า เป็นของมี ความยินดีน้อย ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยชิ้นเนื้อ
เพราะอรรถว่าเป็นของสาธารณะแก่ชน หมู่มาก ย่อมเว้นขาดกามโดย การข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยคบเพลิง
เพราะอรรถว่าเป็นของตามเผา ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง
เพราะอรรถว่าเป็นของ ให้เร่าร้อน มาก ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยความฝัน
เพราะอรรถว่าเป็นของปรากฏชั่วเวลา น้อย ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยของขอยืม
เพราะอรรถว่า เป็นของเป็นไปชั่วกาล ที่กำหนด ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยต้นไม้มีผลดก
เพราะอรรถว่า เป็นของ ให้กิ่งหัก และ ให้ต้นล้ม ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยดาบ และมีด
เพราะอรรถว่าเป็นของฟัน ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกหลาว
เพราะอรรถว่าเป็นของทิ่มแทง ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหัวงู
เพราะอรรถว่าเป็นของน่าสะพึงกลัว ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยกองไฟ
เพราะอรรถว่าเป็นดังไฟกองใหญ่ ให้เร่าร้อน

(ข่มไว้ด้วยการเจริญสติ)
ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ แม้ผู้เจริญพุทธานุสสติ
ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ แม้ผู้เจริญธัมมานุสสติ
ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ แม้ผู้เจริญสังฆานุสสติ ...  แม้ผู้เจริญสีลานุสสติ ...แม้ผู้เจริญจาคานุสสติ ... แม้ผู้เจริญเทวตานุสสติ ... แม้ผู้เจริญอานาปานัสสติ ... แม้ผู้เจริญมรณานุสสติ ... แม้ผู้เจริญกายคตาสติ ... แม้ผู้เจริญอุปสมานุสสติ ...

(ข่มไว้ด้วยการเจริญภาวนา ฌาณ ๑-๘)
แม้ผู้เจริญปฐมฌาน ... แม้ผู้เจริญทุติยฌาน ...  แม้ผู้เจริญตติยฌาน ... แม้ผู้เจริญจตุตถฌาน ... แม้ผู้เจริญอากาสานัญจายตนสมาบัติ ... แม้ผู้เจริญวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ... แม้ผู้เจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติ ... แม้ผู้เจริญเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.
ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้อย่างนี้.

ย่อมเว้นขาดกาม โดยการตัดขาดอย่างไร?
แม้บุคคล ผู้เจริญโสดาปัตติมรรคย่อมเว้นขาดกามอันให้ไปสู่อบายโดยการตัดขาด
แม้บุคคล ผู้เจริญสกทาคามิมรรค ย่อมเว้นขาดกามส่วนหยาบโดยการตัดขาด
แม้บุคคล ผู้เจริญอนาคามิมรรค ย่อมเว้นขาดกามอันเป็นส่วนละเอียดโดยการตัดขาด
แม้บุคคล ผู้เจริญอรหัตมรรค ย่อมเว้นขาดกามโดยอาการทั้งปวง โดยประการทั้งปวง หมดสิ้น มิได้มีส่วนเหลือ โดยการตัดขาด.

ย่อมเว้นขาดกามโดยการตัดขาดอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ใดย่อม เว้นขาดกามทั้งหลาย.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(เหมือนบุคคล เว้นขาดหัวงูด้วยเท้า)

[๑๓] คำว่า เหมือนบุคคล เว้นขาดหัวงูด้วยเท้า มีความว่า งูเรียกว่าสัปปะ.
เพราะอรรถว่าอะไร งูจึงเรียกว่าสัปปะ.
เพราะอรรถว่า เสือกไป งูจึงเรียกว่าสัปปะ.
เพราะอรรถว่า ขนดไป งูจึงเรียกว่าภุชคะ. 
เพราะอรรถว่า ไปด้วยอก งูจึงเรียกว่าอุรคะ.
เพราะอรรถว่า มีหัวตกไป งูจึงเรียกปันนคะ
เพราะอรรถว่า นอนด้วยหัว งูจึงเรียกว่าสิริสปะ.
เพราะอรรถว่า นอนในรู งูจึงเรียกว่าวิลาสยะ.
เพราะอรรถว่า นอนในถ้ำ งูจึงเรียกว่าคุหาสยะ.
เพราะอรรถว่า มีเขี้ยวเป็นอาวุธ งูจึงเรียกว่าทาฒาวุธ.
เพราะอรรถว่า มีพิษร้ายแรง งูจึงเรียกว่าโฆรวิสะ.
เพราะอรรถว่า มีลิ้นสองแฉก งูจึงเรียกว่าทุชิวหา.

เพราะอรรถว่าลิ้มรสด้วยลิ้นสองแฉก งูจึงเรียกว่าทิรสัญญู.

บุรุษผู้ใคร่ต่อชีวิต ไม่อยากตาย อยากได้สุข เกลียดทุกข์ พึงเว้น หลีก เลี้ยว อ้อมหนี หัวงูด้วยเท้า ฉันใด บุคคลผู้รักสุข เกลียดทุกข์ พึงเว้น หลีกเลี่ยง อ้อมหนีกาม ทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

[๑๔] คำว่า ผู้นั้น เป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ มีความว่า คำว่า ผู้นั้น คือ ผู้เว้นขาดกามทั้งหลาย.

ตัณหาเรียกว่า วิสัตติกา ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า
ความพอใจ ความชอบใจ ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยสามารถ แห่งความเพลิดเพลิน ความกำหนัดกล้าแห่งจิต ความปรารถนา ความหลง ความติดใจ ความยินดี ความยินดีทั่วไป ความข้อง ความติดพัน ความแสวงหา ความลวง ความให้สัตว์เกิด ความให้สัตว์เกี่ยวกับทุกข์ ความเย็บไว้ ความเป็นดังว่าข่าย ความเป็นดังว่ากระแสน้ำ ความซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ความเป็นดังว่าเส้นด้าย ความกระจายไป ความให้อายุเสื่อมไป ความเป็นเพื่อน ความตั้งมั่น เครื่องนำไปสู่ภพ ความติดอารมณ์ ความตั้งอยู่ในอารมณ์ ความสนิทความรัก ความเพ่งเล็ง ความผูกพัน ความหวัง ความจำนง ความประสงค์ ความหวังในรูปความหวังในเสียง ความหวังในกลิ่น ความหวังในรส ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวังในลาภ ความหวังในทรัพย์ ความหวังในบุตร ความหวังในชีวิต ความปรารถนา ความให้สัตว์ปรารถนา ความที่จิตปรารถนา ความเหนี่ยวรั้ง ความให้สัตว์เหนี่ยวรั้ง ความที่จิตเหนี่ยวรั้งความหวั่นไหว อาการแห่งความหวั่นไหว ความพรั่งพร้อมด้วยความหวั่นไหว ความกำเริบความใคร่ดี ความกำหนัดในที่ผิดธรรม ความโลภไม่เสมอ ความใคร่ อาการแห่งความใคร่ ความมุ่งหมาย ความปอง ความปรารถนาดี กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ โยคะ คันถะ อุปาทาน ความกั้น ความปิด ความบัง ความผูกความเข้าไปเศร้าหมอง ความนอนเนื่อง ความกลุ้มรุมจิต ความเป็นดังว่าเถาวัลย์ ความปรารถนาวัตถุต่างๆ รากเง่าแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แดนเกิดแห่งทุกข์ บ่วงมาร เบ็ดมาร วิสัยมารแม่น้ำตัณหา ข่ายตัณหา โซ่ตัณหา สมุทรตัณหา อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล เรียกว่า วิสัตติกา.

คำว่า วิสัตติกา ความว่า เพราะอรรถว่าอะไร ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา.
[อันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ] เพราะอรรถว่า ซ่านไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.
เพราะอรรถว่าแผ่ไป ตัณหาจึงชื่อว่าสัตติกา.
เพราะอรรถว่าแล่นไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.
เพราะอรรถว่าครอบงำ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.
เพราะอรรถว่าสะท้อนไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.
เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้พูดผิด ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.
เพราะอรรถว่ามีมูลรากเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.
เพราะอรรถว่ามีผลเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.
เพราะอรรถว่าเปรียบด้วยเครื่องบริโภคเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา.

อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้นแผ่ไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุลคณะ ที่อยู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารกามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญา

ภพเอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ ในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน แล่นไป ซ่านไปในรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยินแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบแล้ว และ ในธรรม ที่พึงรู้แจ้งตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา.

คำว่า ในโลก คือ อบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก.

คำว่า เป็นผู้มีสติ ได้แก่เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ เมื่อเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในกาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในเวทนาทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในจิต ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เมื่อเจริญธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ.

เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔อย่าง แม้อื่นอีก คือ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเว้นจากความเป็นผู้ ไม่มีสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้กระทำธรรมทั้งหลาย ที่ควรทำด้วยสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้กำจัดธรรมทั้งหลาย ที่เป็น ข้าศึกต่อสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หลงลืมธรรมทั้งหลาย ที่เป็นนิมิตแห่งสติ.

เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เพราะเป็นผู้อยู่ด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เพราะเป็นผู้คล่องแคล่วด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เพราะเป็นผู้ไม่หวนกลับจากสติ.

เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ระลึกได้
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้สงบ
ชื่อว่าเป็น ผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ระงับ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ของสัตบุรุษ.

ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะพุทธานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะธรรมานุสสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะสังฆานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะสีลานุสสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะจาคานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเทวตานุสสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะอานาปานัสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะมรณานุสสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะกายคตาสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะอุปสมานุสสติ.

ความระลึก ความระลึกถึง ความระลึกเฉพาะ ความระลึก กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค ธรรมนี้เรียกว่า สติ.

บุคคลเป็นผู้เข้าใกล้ เข้าชิด เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ประกอบด้วยสตินี้ บุคคลนั้นเรียกว่า มีสติ.

คำว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ มีความว่า เป็นผู้มีสติ ย่อมข้าม ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลย ตัณหาชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้

    
  เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้ใดย่อมเว้นขาด กามทั้งหลายเหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้น ตัณหา อันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้.

[๑๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นรชนใด ย่อมปรารถนาไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส คนภายใน สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก.

[๑๖] คำว่า ไร่นา ที่ดิน เงิน มีความว่า ไร่นา คือ ไร่ข้าวสาลี ไร่ข้าวจ้าว ไร่ถั่วเขียว ไร่ถั่วราชมาส ไร่ข้าวเหนียว ไร่ข้าวละมาน ไร่งา. คำว่า ที่ดิน คือ ที่เรือน ที่ฉาง ที่หน้าเรือน ที่หลังเรือน ที่สวน ที่อยู่. คำว่า เงิน คือ กหาปณะ เรียกว่า เงิน เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ไร่นา ที่ดิน เงิน.



(46.5)
ว่าด้วยทาส ๔ จำพวก

(ย่อ)
 ทาส ๔ จำพวก
    1.ทาสที่เกิดภายใน
    2.ทาสที่ซื้อมา ด้วยทรัพย์
    3.ผู้ที่สมัครเข้าถึง ความเป็นทาสเอง
    4.เชลยผู้ที่เข้าถึง ความเป็นทาส


      [๑๗] คำว่า โค ม้า ทาส คนภายใน มีความว่า โคทั้งหลายเรียกว่า โค.
ปสุสัตว์เป็นต้น เรียกว่า ม้า. คำว่า ทาส ได้แก่ ทาส ๔ จำพวก คือ
      ทาสที่เกิดภายใน ๑
      ทาสที่ซื้อมา ด้วยทรัพย์ ๑
      ผู้ที่สมัครเข้าถึง ความเป็นทาสเอง ๑

      เชลยผู้ที่เข้าถึง ความเป็นทาส ๑.

      สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คนบางพวกเป็นทาส โดยกำเนิด บ้าง คนบางพวก เป็นทาสที่เขาซื้อมาด้วยทรัพย์บ้าง คนบางพวกสมัครเข้าเป็นทาส เองบ้าง คนบางพวก เป็นทาส เพราะตกเป็นเชลยบ้าง.
      คำว่า คนภายใน ได้แก่ บุรุษ ๓ จำพวก คือ คนรับจ้าง ๑ กรรมกร ๑ พวกอยู่อาศัย ๑ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า โค ม้า ทาส คนภายใน.

      [๑๘] คำว่า สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก มีความว่าสตรีที่มีเจ้าของเรียกว่าสตรี
      คำว่า พวกพ้อง ได้แก่ พวกพ้อง ๔ จำพวก คือ พวกพ้องโดยเป็นญาติ ชื่อว่าพวกพ้อง ๑ พวกพ้องโดยโคตร ชื่อว่าพวกพ้อง ๑ พวกพ้องโดยการเรียนมนต์ ชื่อว่าพวกพ้อง ๑ พวกพ้องโดยการเรียนศิลปะ ชื่อว่าพวกพ้อง ๑.
      คำว่า กามเป็นอันมาก คือ กามมาก.
      กามมากเหล่านี้ได้แก่ รูปที่ชอบใจ เสียงที่ชอบใจ กลิ่นที่ชอบใจ รสที่ชอบใจ โผฏฐัพพะที่ชอบใจ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก.

      [๑๙] คำว่า นรชนใด ย่อมปรารถนา มีความว่า คำว่า ใด คือ เช่นใด ประกอบอย่างใด จัดแจงอย่างใด มีประการอย่างใด ถึงฐานะอย่างใด ประกอบด้วย ธรรมใด คือ เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือ เป็นมนุษย์ คำว่า นรชนคือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์.

     คำว่า ย่อม ปรารถนา คือ ย่อมปรารถนา ย่อมตามปรารถนา ย่อมปรารถนา ทั่วไป ย่อมติดพัน ในวัตถุกามทั้งหลาย ด้วยกิเลสกาม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนใด ย่อมปรารถนา

      เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า นรชนใด ย่อมปรารถนา ไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส คนภายในสตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก.

      [๒๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำนรชนนั้น เหล่าอันตราย ย่อมย่ำยีนรชนนั้น เพราะอันตรายนั้น ทุกข์ย่อมติดตามนรชนนั้นไป เหมือนน้ำไหลเข้าสู่เรือที่แตกแล้ว ฉะนั้น.

      [๒๑] คำว่า เหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำนรชนนั้น มีความว่า คำว่า ไม่มีกำลัง คือ กิเลสอันไม่มีกำลัง คือ ทุรพล มีกำลังน้อย มีเรี่ยวแรงน้อย เลว ทราม เสื่อมตกต่ำ ลามก มีอัธยาศัยเลว เล็กน้อย กิเลสเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่ ท่วมทับกำจัด ย่ำยีบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำ นรชนนั้นแม้ด้วยประการอย่างนี้.

      อีกนัยหนึ่ง สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละหิริพละ โอตตัปปพละ ไม่มีแก่บุคคลใด กิเลสเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่ท่วมทับ กำจัด ย่ำยี บุคคลนั้น ผู้ไม่มีกำลัง มีกำลังทราม มีกำลังน้อย มีเรี่ยวแรงน้อย เลวทราม เสื่อม ตกต่ำ ลามก มีอัธยาศัยเลว เล็กน้อย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหล่ากิเลส อันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำนรชนนั้น แม้ด้วยประการอย่างนี้.



(46.6)
ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง
(อันตรายที่ปรากฏ-อันตรายที่ปกปิด)

(ย่อ)
อันตรายที่ปรากฏเป็นไฉน? คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง โจร คนที่ทำกรรมชั่ว คนที่เตรียมจะทำกรรมชั่ว โรคทางกาย เซื่อมซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคลมบ้าหมู อาพาธ  อาพาธเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระปวดปัสสาวะ ความสัมผัสแห่ง เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน ฯลฯ

อันตรายที่ปกปิดเป็นไฉน? คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ผูกโกรธไว้ ลบลู่คุณท่าน ตระหนี่ มายา โอ้อวด หัวดื้อ แข่งดี ประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวน กระวาย ทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อภิสังขาร คือ อกุศลธรรมทั้งปวง



      [๒๒] คำว่า เหล่าอันตรายย่อมย่ำยีนรชนนั้น มีความว่า อันตราย ได้แก่ อันตราย ๒อย่าง คือ อันตรายที่ปรากฏ ๑ อันตรายที่ปกปิด ๑.

      อันตรายที่ปรากฏเป็นไฉน? คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาป่า โค กระบือ ช้าง งู แมลงป่อง ตะขาบ โจร คนที่ทำกรรมชั่ว คนที่เตรียมจะทำ กรรมชั่ว และโรคทางจักษุ โรคทางโสต โรคทางฆานะ โรคทางชิวหา โรคทางกาย โรคทางศีรษะ โรคทางหู โรคทางปาก โรคทางฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้ เซื่อมซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคขี้กลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราดหูด โรคละลอกโรคคุดทะราดบวม โรคอาเจียรโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวงอาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะ เป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลม เป็นสมุฏฐาน อาพาธสันนิบาตอาพาธ เกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธเกิดแต่การบริหาร ไม่สม่ำเสมอ อาพาธเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระปวดปัสสาวะ ความสัมผัสแห่ง เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน อันตรายเหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ปรากฏ.

     อันตรายที่ปกปิดเป็นไฉน? คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ผูกโกรธไว้ ลบลู่คุณท่าน ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ มายา โอ้อวด หัวดื้อ แข่งดี ถือตัวดูหมิ่นท่าน มัวเมา ประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวน กระวาย ทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อภิสังขาร คือ อกุศลธรรมทั้งปวง อันตรายเหล่านี้ เรียกว่าอันตรายที่ปกปิด.

....ฯลฯ......



(46.7)
ว่าด้วยผู้มีสติทุกเมื่อ

(ย่อ)
คำว่า มีสติ (เจริญสติปัฏฐาน ๔)
ได้แก่เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑) เมื่อเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในกาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
๒) เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในเวทนาทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
๓) เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในจิต ก็ชื่อว่า เป็นผู้มีสติ
๔) เมื่อเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในธรรมทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ


     [๒๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะเหตุนั้น สัตว์ผู้เกิดมา พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงเว้นขาดกามทั้งหลาย ครั้นเว้นขาดกามเหล่านั้นแล้ว พึงข้ามโอฆะได้ เหมือนบุคคล วิดน้ำในเรือแล้วไปถึงฝั่ง ฉะนั้น.

      [๒๖] คำว่า เพราะเหตุนั้น สัตว์ผู้เกิดมา พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ มีความว่า คำว่าเพราะเหตุนั้น คือ เพราะฉะนั้น เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนิทานนั้น สัตว์ผู้เกิดมา เมื่อเห็นโทษนั้นในกามทั้งหลาย ฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะเหตุนั้น. คำว่าสัตว์ผู้เกิดมา ได้แก่ สัตว์ นรชน มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรมมนุษย์.

       คำว่า ในกาลทุกเมื่อ คือ ในกาลทุกเมื่อ ในกาลทั้งปวง ตลอดกาลทั้งปวง ตลอดกาลเป็นนิตย์ ตลอดกาลยั่งยืน ตลอดกาลเป็นนิรันดร์ ตลอดกาลเป็นอันเดียว ตลอดกาลติดต่อตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาลไม่ขาดระยะ ตลอดกาลไม่มีระหว่าง ตลอดกาลสืบเนื่อง ตลอดกาลไม่ขาดสาย ตลอดกาลกระชั้นชิด ในการก่อนภัต ในกาลหลังภัต ในยามต้น ในยามกลางในยามหลัง ในข้างแรม ในข้างขึ้น ในฤดูฝน ในฤดูหนาว ในฤดูร้อน ในตอนวัยต้น  ใน ตอนวัยกลาง ในตอนวัยหลัง.

       คำว่า มีสติ (๑)- ได้แก่เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ
เมื่อเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ
เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ก็ชื่อว่า เป็นผู้มีสติ
เมื่อเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ

       เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเว้นจากความ เป็นผู้ไม่มีสติ ฯลฯ บุคคลเป็นผู้เข้าใกล้ เข้าชิด เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ประกอบด้วยสตินี้ บุคคลนั้นเรียกว่า มีสติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์ผู้เกิดมาพึง เป็นผู้มีสติ ทุกเมื่อ.



(46.8)
การละขาดจากกาม 2 อย่าง

     [๒๗] คำว่า พึงเว้นขาดกามทั้งหลาย มีความว่า กามทั้งหลาย ได้แก่ กาม ๒ อย่างโดยหัวข้อ คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑.

     วัตถุกามเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันเป็นที่ชอบใจ ฯลฯ กามเหล่านี้ เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ กามเหล่านี้ เรียกว่า กิเลสกาม. (อธิบายว่าด้วยกามสองอย่าง)

     คำว่า พึงเว้นขาดกามทั้งหลาย คือ พึงเว้นขาดกามทั้งหลาย
โดยเหตุ ๒ ประการ คือ โดยการข่มไว้อย่าง ๑ โดยการตัดขาดอย่าง ๑.

     พึงละเว้นขาดกาม โดยการข่มไว้อย่างไร?
สัตว์ผู้เกิดมาเมื่อเห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยโครงกระดูก เพราะอรรถว่าเป็นของ มีความยินดีน้อย พึงเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ เมื่อเห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วย ชิ้นเนื้อ เพราะอรรถว่าเป็นของสาธารณ์แก่ชนหมู่มาก พึงเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ เมื่อเห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วย คบเพลิง เพราะอรรถว่าเป็นของตามเผา พึงเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ฯลฯ แม้เจริญเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ พึงเว้นขาดกามโดยการข่มไว้. พึงเว้นขาดกามโดยการข่มไว้อย่างนี้ ฯลฯ พึงเว้นขาด กามโดยการตัดขาดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าพึงเว้นขาดกามทั้งหลาย.

     [๒๘] คำว่า ครั้นเว้นขาดกามเหล่านั้นแล้ว พึงข้ามโอฆะได้ มีความว่า คำว่า เหล่านั้น คือ สัตว์ผู้เกิดมา กำหนดรู้วัตถุกามทั้งหลาย ละ  ละทั่ว บรรเทา ทำให้สูญสิ้น ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ซึ่งกิเลสกาม คือ ละ ละทั่ว บรรเทา ทำให้สูญสิ้น ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ซึ่งกามฉันทนิวรณ์ ... พยาบาทนิวรณ์ ... ถีนมิทธนิวรณ์ ... อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ละ ละทั่ว บรรเทา ทำให้สูญสิ้น ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ซึ่งวิจิกิจฉานิวรณ์ พึงข้าม ข้ามขึ้นข้ามพ้น ก้าวล่วง เป็นไปล่วง กามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฏฐิโอฆะ อวิชชาโอฆะ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ครั้นเว้นขาดกามเหล่านั้นแล้ว พึงข้ามโอฆะได้.

     [๒๙] คำว่า เหมือนบุคคลวิดน้ำในเรือแล้วไปถึงฝั่ง ฉะนั้น มีความว่า บุคคลวิด สาดออก ทิ้งออกซึ่งน้ำในเรืออันทำให้หนัก บรรทุกหนักแล้ว พึงไปถึงฝั่งด้วยเรือที่เบา โดยเร็วไว โดยไม่ลำบาก ฉันใด สัตว์ผู้เกิดมา กำหนดรู้วัตถุกามทั้งหลาย ละ ละทั่ว บรรเทาทำให้สูญสิ้น ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ซึ่งกิเลสกาม คือ ละ ละทั่ว บรรเทา ทำให้สูญสิ้นให้ถึงความไม่มีในภายหลังซึ่งกามฉันทนิวรณ์ ... พยาบาทนิวรณ์ ... ถีนมิทธนิวรณ์ ... อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ... วิจิกิจฉานิวรณ์ พึงไปถึงฝั่งโดยเร็วไว โดยไม่ลำบาก ฉันนั้น. อมตนิพพานเรียกว่า ฝั่ง ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหาเป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับ เป็นที่ออกไป จากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด พึงถึง บรรลุถูกต้อง ทำให้แจ้งซึ่งฝั่ง. คำว่า ถึงฝั่ง คือ ผู้ใด ใคร่เพื่อจะถึงฝั่ง ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ถึงฝั่งผู้ใดย่อมไปสู่ฝั่ง ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ถึงฝั่ง ผู้ใด ถึงฝั่งแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ถึงฝั่ง.

     สมเด็จจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลผู้ข้ามพ้นแล้วถึงฝั่งแล้ว ดำรงอยู่ บนบก ชื่อว่า เป็นพราหมณ์.

....ฯลฯ......


คุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๒

(46.9)
ว่าด้วยนรชนเป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำ คือ กาย

[๓๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่านรชนเป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำ เป็นผู้อันกิเลสมาก ปิดบัง ไว้แล้ว นรชนเมื่อตั้งอยู่ ก็ หยั่งลงในที่หลง นรชนเช่นนั้น ย่อมอยู่ไกลจากวิเวก ก็เพราะ กามทั้งหลายใน โลก ไม่เป็นของอันนรชนละได้โดยง่าย.

     [๓๑] คำว่า นรชนเป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำ เป็นผู้อันกิเลสมากปิดบังไว้แล้ว มีความว่า ทรงตรัสคำว่า เป็นผู้ข้องไว้ก่อน. ก็แต่ว่าถ้ำควรกล่าวก่อน กายเรียกว่า ถ้ำ. คำว่า กายก็ดี ถ้ำก็ดี ร่างกายก็ดี ร่างกายของตนก็ดี เรือก็ดี รถก็ดี ธงก็ดี จอมปลวกก็ดี รังก็ดี เมืองก็ดีกระท่อมก็ดี ฝีก็ดี หม้อก็ดี เหล่านี้เป็นชื่อของกาย.

     คำว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำ คือ ข้อง เกี่ยวข้อง ข้องทั่วไป ติดอยู่ พันอยู่ เกี่ยวพันอยู่ ในถ้ำ เหมือนสิ่งของที่ข้อง เกี่ยวข้อง ข้องทั่วไป ติดอยู่ พันอยู่ เกี่ยวพันอยู่ที่ตะปู ซึ่งตอกติดไว้ที่ฝา หรือที่ไม้ข้อ ฉะนั้น.

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิน ความปรารถนา ในรูป ความเข้าไปถือ ความเข้าไปยึดในรูป อันเป็นความตั้งมั่น ความถือมั่น และ ความนอน ตามแห่งจิต บุคคลมาเกี่ยวข้องอยู่ในความพอใจเป็นต้นนั้น เพราะเพราะนั้น. จึงเรียกว่า สัตว์.

คำว่า สัตว์เป็นชื่อของผู้เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น. จึงชื่อว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำ.

คำว่าผู้อันกิเลสมากปิดบังไว้แล้ว คือ ผู้อันกิเลสมากปิดบังไว้แล้ว คือ ผู้อันกิเลส เป็นอันมาก ปิดบังไว้แล้ว คือ อันความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลง ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบลู่ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความดื้อ ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท ปิดบังไว้แล้ว อันกิเลสทั้งปวง อันทุจริตทั้งปวงอันความกระวนกระวายทั้งปวง อันความเร่าร้อนทั้งปวง อันความเดือดร้อนทั้งปวง อันอภิสังขารคืออกุศลธรรมทั้งปวง บ้งไว้ คลุมไว้ หุ้มห่อไว้ ปิดไว้ ปิดบังไว้ ปกปิดไว้ ปกคลุมไว้ครอบงำไว้แล้ว  เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำ เป็นผู้อันกิเลสมากปิดบังไว้แล้ว.

     [๓๒] คำว่า นรชนเมื่อตั้งอยู่ ก็หยั่งลงในที่หลง มีความว่า คำว่า นรชน เมื่อตั้งอยู่ ก็เป็นผู้กำหนัด ย่อมตั้งอยู่ด้วยสามารถความกำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง ย่อมตั้งอยู่ ด้วยความสามารถความขัดเคือง เป็นผู้หลง ย่อมตั้งอยู่ด้วยความสามารถความหลง เป็นผู้ผูกพัน ย่อมตั้งอยู่ด้วยสามารถความถือตัว เป็นผู้ยึดถือ ย่อมตั้งอยู่ ด้วยความสามารถความเห็น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ย่อมตั้งอยู่ด้วยสามารถความฟุ้งซ่าน เป็นผู้ไม่แน่นอน ย่อมตั้งอยู่ด้วยสามารถความสงสัย เป็นถึงความมั่นคง ย่อมตั้งอยู่ ด้วยสามารถ กิเลสที่นอนเนื่อง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนเมื่อตั้งอยู่ แม้ด้วยประการ อย่างนี้.

     สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด มีอยู่ หากว่าภิกษุเพลิดเพลิน ชมเชย ยึดถือรูปนั้น ตั้งอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยโสต ... กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานะ ... รสที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย ... ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยมนะ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดมีอยู่ หากภิกษุเพลิดเพลิน ชมเชย ยึดถือธรรมนั้นตั้งอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนเมื่อตั้งอยู่แม้ด้วยประการอย่างนี้.

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงรูป เมื่อตั้งอยู่ ย่อมมีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง ซ่องเสพความเพลิดเพลินตั้งอยู่ ย่อมถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงเวทนา ... วิญญาณที่เข้าถึงสัญญา ... หรือวิญญาณที่เข้าถึงสังขาร เมื่อตั้งอยู่ ย่อมมีสังขาร เป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง ซ่องเสพความเพลิดเพลินตั้งอยู่ ย่อมถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนเมื่อตั้งอยู่ แม้ด้วยประการอย่างนี้

     สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่า ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความปรารถนา มีอยู่ในกาวฬิงการาหาร วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น วิญญาณตั้งอยู่งอกงามในที่ใด ความหยั่งลงแห่งนามรูปก็มีอยู่ในที่นั้น ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลายมีอยู่ในที่ใด ความเกิดในภพใหม่ต่อไป ก็มีอยู่ในที่นั้น ความเกิดในภพใหม่ต่อไปมีอยู่ในที่ใดชาติ ชรา มรณะต่อไปก็มีอยู่ในที่นั้น ชาติ ชรา มรณะต่อไปมีอยู่ในที่ใด ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่า ที่นั้นมีความโศก มีความหม่นหมอง มีความคับแค้น.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความปรารถนา มีอยู่ใน ผัสสาหาร ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความปรารถนา มีอยู่ในมโนสัญญาเจตนาหาร ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่า ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความปรารถนา มีอยู่ในวิญญาณาหาร วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น

วิญญาณตั้งอยู่งอกงามในที่ใด ความหยั่งลงแห่งนามรูปก็มีอยู่ในที่นั้น ความหยั่งลง แห่งนามรูป มีอยู่ในที่ใด ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลายก็มีอยู่ในที่นั้น ความเจริญ แห่งสังขารทั้งหลาย มีอยู่ในที่ใด ความเกิดในภพใหม่ต่อไปก็มีอยู่ในที่นั้น ความเกิด ในภพใหม่ต่อไปมีอยู่ในที่ใด ชาติ ชรา มรณะต่อไปก็มีอยู่ในที่นั้น ชาติ ชรา มรณะ ต่อไป มีอยู่ในที่ใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ที่นั้นมีความโศก มีความหม่นหมอง มีความคับแค้น เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า นรชนเมื่อตั้งอยู่ แม้ด้วยประการอย่างนี้.

คำว่า หยั่งลงในที่หลง มีความว่า กามคุณ ๔ คือ รูปที่พึงเห็นแจ้งด้วยจักษุ ที่น่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยโสต ...กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานะ ... รสที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา ...

โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ที่หลงเพราะเหตุไร กามคุณ ๕ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ที่หลง. เพราะเหตุว่า เทวดาและมนุษย์โดยมาก ย่อมหลง หลงพร้อม หลงเสมอ เป็นผู้หลง เป็นผู้หลงพร้อม เป็นผู้หลงเสมอในกามคุณ ๕ เป็นผู้อันอวิชชาทำให้ตาบอด หุ้มห่อไว้ ปิดไว้ ปิดบังไว้ ปกปิดไว้ ปกคลุมไว้ครอบงำ แล้ว เพราะเหตุนั้น กามคุณ ๕ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ที่หลง.

คำว่า หยั่งลงในที่หลงคือ หยั่งลง ก้าวลง หมกมุ่น จมลงในที่หลง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนเมื่อตั้งอยู่ก็หยั่งลงในที่หลง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ ของผู้จัดทำเว็บไซต์ anakame.com
พระสูตรนี้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างยาวและละเอียดลึกซึ้ง มีสำนวนภาษาที่แตกต่างไปจากของ พระศาสดา จึงไม่แน่ใจว่าเป็นอรรถกถา(คำแต่งใหม่)หรือไม่ แม้จะมีผู้วิเคราะห์แล้วว่า น่าจะเป็นการขยายความของพระสารีบุตร แต่ก็ยังไม่ปักใจเชื่อใจนัก เพราะมีคำศัพท์ที่ไม่คุ้นหูมากมาย.. ผู้สนใจสามารถศึกษาพระสูตรชุดเต็มทั้งหมดตามลิ้งนี้ P957  P958  P959  P960  P961

(มหานิทเทส คัมภีร์ว่าด้วยศาสตร์ขยายความพระไตรปิฎก ชื่อว่าเป็นผลงานของพระสารีบุตร)



(47)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ หน้าที่ ๑๐๖

๓. ยมกสูตร
ยมกภิกษุมีทิฐิลามก คิดว่าอรหันต์ขีณาสพตายแล้วสูญ

(โดยย่อ)

พระขีณาสพตายแล้วสูญหรือไม่ยมกสูตร
ยมกภิกษุ คิดว่าตนเองรู้ธรรมทั่วถึง คิดว่า พระขีณาสพ (พระอรหันต์ ผู้ส้นอาสวะ) เมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมไม่เกิดอีกจริง ภิกษุทั้งหลายที่ได้ยิน ยมก เกิดทิฐิลามกเช่นนั้นจึงกล่าว่า

ภิกษุท. ดูกรอาวุโสยมกะ ท่านอย่าพูดอย่างนั้น อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค.. ไม่ดีเลย เพราะพระองค์ ไม่ตรัสอย่างนี้.... แต่ยมกภิกษุ ก็ยืนยันความเชื่อนั้นอยู่ จึงพากันไปหาพระสารีบุตร

สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ย. ไม่เที่ยง.. (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ไม่เที่ยงเช่นกัน)

สา. เพราะเหตุนี้พระอริยสาวกผู้ใดสดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นมิได้มีอีก
—---------------------------------------------------------
สา. ท่านเห็นรูป ว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ไม่เป็นสัตว์เป็นบุคคลเช่นกัน)

สา. ท่านเห็นว่า สัตว์บุคคลมีในรูปหรือ?
ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน
(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ไม่มีในรูปเช่นกัน)

—------------------------------------------------------
สา. โดยที่แท้ ท่านจะค้นหาสัตว์บุคคล ในขันธ์ ๕ เหล่านี้ ในปัจจุบันไม่ได้เลย ควรแล้วหรือที่ท่านจะ ยืนยันว่าเรารู้ทั่วถึงธรรม ว่าพระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก
ย. เมื่อก่อนผมไม่รู้อย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้ผมก็ได้บรรลุธรรมแล้ว เพราะฟังธรรมของท่านพระสารีบุตร
—-------------------------------------------------------
สา. ถ้าท่านถูกถามว่าพระอรหันตขีณาสพ เมื่อตายไปแล้วย่อมเป็นอะไร ท่านจะแก้ว่าอย่างไร ?
ย.พึงกล่าวว่า รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เช่นเดียวกับรูป)
สา. ดีละๆ ยมกะ
—------------------------------------------------
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อม…
ย่อมเห็นรูป โดยความเป็นตน
ย่อมเห็นตน มีรูป
ย่อมเห็นรูป ในตน
ย่อมเห็นตน ในรูป
(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เช่นกัน)

เขาย่อมไม่รู้ชัด ตามความเป็นจริง ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันปัจจัยแต่ง อันเป็นผู้ฆ่า ว่าเป็นผู้ฆ่า ว่าเป็นตัวตนของเรา

อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันปุถุชนนั้นเข้าไปถือมั่น ยึดมั่นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน

ส่วนปุถุชนผู้ได้สดับ ย่อม เห็นตรงกันข้ามกับที่กว่าวมา… คือ
- ไม่เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน
- รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่ง รูป เวทนา… ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา …

อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันอริยสาวกนั้น ไม่เข้าไปถือมั่น ยึดมั่นแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน


             [๑๙๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร อยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ก็โดยสมัยนั้นแล ยมกภิกษุ เกิดทิฏฐิ อันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่าเราย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้วย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก

             ภิกษุหลายรูป ได้ฟังแล้วว่า ได้ยินว่า ยมกภิกษุ เกิดทิฏฐิอันชั่วช้า เป็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก

             ครั้งนั้นภิกษุเหล่านั้น จึงพากันเข้าไปหาท่านยมกภิกษุถึงที่อยู่ ได้สนทนา ปราศรัย กับท่านยมกภิกษุ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยชวนให้ระลึก ถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

              ครั้นแล้ว จึงถามท่านยมกภิกษุว่าดูกรท่านยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิ อันชั่วช้า เห็นปานนี้ว่า เรารู้ว่าทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีกจริง หรือ? ท่านยมกะกล่าวว่า อย่างนั้น อาวุโส

             ภิ. ดูกรอาวุโสยมกะ ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น อย่าได้กล่าวตู่ พระผู้มี พระภาค เพราะการกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่พึง ตรัสอย่างนี้ ว่าพระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก

             ท่านยมกะ เมื่อถูกภิกษุเหล่านั้นกล่าวแม้อย่างนี้ ยังขืนกล่าวถือทิฏฐิ อันชั่วช้านั้น อย่างหนักแน่นอย่างนั้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก

             ภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่อาจเพื่อจะยังท่านยมกะ ให้ถอนทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้ จึงลุกจากอาสนะ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จึงกล่าวกะท่าน พระสารีบุตรว่า ข้าแต่ท่านสารีบุตร ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่ว ถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อม ขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ขอโอกาสนิมนต์ท่านพระสารีบุตร ไปหายมก ภิกษุถึงที่อยู่ เพื่ออนุเคราะห์เถิด. ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

             [๑๙๙] ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระสารีบุตร ออกจากที่พักผ่อนแล้ว เข้าไปหาท่านยมกะถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับท่านยมกะ ครั้นผ่านการสนทนา ปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามท่าน ยมกะว่า

             ดูกรอาวุโสยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึง ธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อม ขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ดังนี้ จริงหรือ? ท่านยมกะตอบว่าอย่างนั้นแล ท่านสารีบุตร.

       สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
       ย. ไม่เที่ยง ท่าน ฯลฯ

       สา. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
       ย. ไม่เที่ยง ท่าน ฯลฯ

      สา. เพราะเหตุนี้นั้นแล ยมกะ พระอริยสาวกผู้ใดสดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก

             [๒๐๐] สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นรูป ว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

      สา. ท่านเห็นเวทนาว่าสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

      สา. ท่านเห็นสัญญาว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

      สา. ท่านเห็นสังขารว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

      สา. ท่านเห็นวิญญาณว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

             [๒๐๑] สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นว่า สัตว์บุคคลมีในรูปหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากรูปหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในเวทนาหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากเวทนาหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในสัญญาหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในสังขารหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากสังขารหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในวิญญาณหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากวิญญาณหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

-------------------------------------------------------------------------------------------------

             [๒๐๒] สา. ดูกรยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นรูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นสัตว์บุคคลหรือ?
       ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

             [๒๐๓] สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็น ว่าสัตว์บุคคลนี้นั้นไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ หรือ?
       ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

             สา. ดูกรท่านยมกะ ก็โดยที่จริง โดยที่แท้ ท่านจะค้นหาสัตว์บุคคล ใน ขันธ์ ๕ เหล่านี้ในปัจจุบันไม่ได้เลย ควรแลหรือ ที่ท่านจะยืนยันว่า เรารู้ทั่วถึง ธรรม ตามที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อม ขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.

             ย. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร เมื่อก่อนผมไม่รู้อย่างนี้ จึงได้เกิดทิฏฐิอันชั่วช้า อย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้ ผมละทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้แล้ว และผมก็ได้บรรลุธรรมแล้ว เพราะฟังธรรมเทศนานี้ ของท่านพระสารีบุตร.

             [๒๐๔] สา. ดูกรท่านยมกะ ถ้าชนทั้งหลาย พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ท่านยมกะ ภิกษุผู้ที่เป็นพระอรหันตขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเป็นอะไร ท่านถูกถามอย่างนั้น จะพึงกล่าวแก้ว่าอย่างไร ?

             ย. ข้าแต่ท่านสารีบุตร ถ้าเขาถามอย่างนั้น ผมพึงกล่าวแก้อย่างนี้ว่า รูปแลไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ ข้าแต่ท่านสารีบุตร ผมถูกเขาถามอย่างนั้น พึงกล่าวแก้อย่างนี้

             [๒๐๕] สา. ดีละๆ ยมกะ ถ้าอย่างนั้น เราจักอุปมาให้ท่านฟัง เพื่อหยั่งรู้ ความข้อนั้นให้ยิ่งๆ ขึ้น. ดูกรท่านยมกะ เปรียบเหมือนคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดี ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขารักษาตัวกวดขัน เกิดมีบุรุษคนหนึ่ง ประสงค์ความพินาศ ประสงค์ความไม่เป็นประโยชน์ ประสงค์ความไม่ปลอดภัย อยากจะปลงชีวิตเขาเสีย เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่าคฤหบดีและบุตรคฤหบดีนี้ เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขามีการรักษาอย่างกวดขัน การที่จะ อุกอาจปลงชีวิตนี้ ไม่ใช่เป็นการทำได้ง่ายเลย อย่ากระนั้นเลย เราพึงใช้อุบาย ปลงชีวิต.

              บุรุษนั้น พึงเข้าไปหาคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ผมขอเป็นคนรับใช้ท่าน.

             คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น พึงรับบุรุษนั้นไว้ใช้ เขาพึงรับใช้เรียบร้อยดี ทุกประการคือ มีปรกติตื่นก่อน นอนภายหลัง คอยฟังคำสั่ง ประพฤติให้เป็นที่พอใจ กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักใคร่ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น เชื่อเขาโดยความเป็นมิตร โดยความเป็นสหาย และถึงความไว้วางใจในเขา.

             เมื่อใด บุรุษนั้นพึงคิดว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ไว้ใจเราดีแล้ว เมื่อนั้น บุรุษนั้นรู้ว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีอยู่ในที่ลับ พึงปลงชีวิตเสียด้วยศาตราอันคม.

             ท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในกาลใด บุรุษนั้นเข้าไป หาคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดีโน้นแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ผมขอรับใช้ท่านแม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าอยู่แล้ว ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น หารู้จักบุรุษผู้ฆ่าว่า เป็นผู้ฆ่าเราไม่.

             ในกาลใด บุรุษนั้นตื่นก่อน นอนภายหลังคอยฟังคำสั่ง ประพฤติให้เป็น ที่พอใจ กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักใคร่ แม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าอยู่แล้ว ก็แต่ คฤหบดี หรือบุตรคฤหบดีนั้น หารู้จักบุรุษผู้ฆ่านั้นว่า เป็นผู้ฆ่าเราไม่.

              และในกาลใด บุรุษนั้นรู้ว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นอยู่ในที่ลับ จึงปลงชีวิตเสีย ด้วยศาตราอันคมแม้ในกาลนั้น เขาเป็นผู้ฆ่านั่นเอง ก็แต่คฤหบดี หรือบุตรคฤหบดีนั้น หารู้จักบุรุษนั้นว่าเป็นผู้ฆ่าเราไม่.

ย. อย่างนั้น ท่าน.

             [๒๐๖] สา. ดูกรท่านยมกะ ข้ออุปมานี้ฉันใด ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่ได้เห็น พระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็น สัตบุรุษ ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมเห็นรูป โดยความเป็นตน
ย่อมเห็นตนมีรูป
ย่อมเห็นรูปในตน หรือ
ย่อมเห็นตนในรูป
ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ
ย่อมเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ
ย่อมเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ฯลฯ
ย่อมเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน
ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ
ย่อมเห็นวิญญาณในตน หรือ
ย่อมเห็นตนในวิญญาณ.

             เขาย่อมไม่รู้ชัด ตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยงว่า ไม่เที่ยง
              ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ว่า เป็นทุกข์
              ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตาว่า เป็นอนัตตา
              ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่งว่า อันปัจจัยแต่ง
              ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ อันเป็นผู้ฆ่า ว่าเป็นผู้ฆ่า.

             เขาย่อมเข้าไปถือมั่น ยึดมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณว่า เป็นตัวตนของเรา.

             อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันปุถุชนนั้นเข้าไปถือมั่น ยึดมั่นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน

             [๒๐๗] ดูกรท่านยมกะ ส่วนพระอริยสาวกผู้สดับแล้ว ได้เห็นพระอริยะ ทั้งหลาย ฉลาดในอริยธรรม ได้รับแนะนำในอริยธรรมดีแล้ว ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ฉลาดในสัปปุริสธรรมได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรมดีแล้ว
ย่อมไม่เห็นรูป โดยความเป็นตน
ย่อมไม่เห็นตน มีรูป
ย่อมไม่เห็นรูป ในตน หรือ
ย่อมไม่เห็นตน ในรูป
ย่อมไม่เห็นเวทนา โดยความเป็นตน ฯลฯ
ย่อมไม่เห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ
ย่อมไม่เห็นสังขาร โดยความเป็นตน ฯลฯ
ย่อมไม่เห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน
ย่อมไม่เห็นตน มีวิญญาณ
ย่อมไม่เห็นวิญญาณ ในตน
หรือย่อมไม่เห็นตน ในวิญญาณ.

             เขาย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อัน ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง.
             ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อัน เป็นทุกข์ ว่าเป็นทุกข์.
             ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็น อนัตตาว่า เป็นอนัตตา.
             ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อัน ปัจจัยปรุงแต่ง ว่าปัจจัยปรุงแต่ง.
             ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อัน เป็นผู้ฆ่า ว่าเป็นผู้ฆ่า.
             เขาย่อมไม่เข้าไปถือมั่น ยึดมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณว่า เป็นตัวตนของเรา.

             อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันอริยสาวกนั้น ไม่เข้าไปถือมั่น ยึดมั่นแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน.

             ย. ข้าแต่ท่านสารีบุตร ข้อที่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ของท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย ผู้เช่นนั้น เป็นผู้อนุเคราะห์ ใคร่ประโยชน์ เป็นผู้ว่ากล่าวพร่ำสอน ย่อมเป็นอย่างนั้นแท้ ก็แลจิตของผมหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่น เพราะได้ฟังธรรมเทศนานี้ของท่านสารีบุตร



(48)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๑๓๐

พระเทวทัตหาพรรคพวกจากภิกษุบวชใหม่ ๕๐๐ รูป

(ความย่อ

พระเทวทัตหาพรรคพวกจากภิกษุบวชใหม่ ๕๐๐ รูป
สมัยนั้น พระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี ประมาณ ๕๐๐ รูป เป็น พระบวชใหม่และรู้พระธรรมวินัย น้อย พวกเธอจับสลากด้วยเข้าใจว่า นี้ธรรม นี้วินัย นี้สัตถุศาสน์ ลำดับนั้น พระเทวทัต ทำลาย สงฆ์แล้ว พาภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป หลีกไปทางคยาสีสะประเทศ

พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เข้าเฝ้า
ครั้งนั้น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าฯเพื่อกราบทูล ทรงตรัสว่า พวกเธอ จักมีความ การุญ ในภิกษุใหม่เหล่านั้นมิใช่หรือ เธอจงรีบไป ภิกษุเหล่านั้นกำลังจะถึงความย่อยยับ

พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พาภิกษุ ๕๐๐ กลับ
พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ไปพบพระเทวทัต ขณะนั่งแสดงธรรมอยู่ พระเทวทัตกล่าวกะ ภิกษุ ว่า เห็นไหม ธรรมเรากล่าวดีแล้ว พระสารีบุตร โมคคัลลานะอัครสาวก ของพระสมณ โคดม ยังพากันมาสู่สำนักเรา ต้องชอบใจธรรม ของเราแน่

พระโกกาลิกะ* เตือนพระเทวทัต
ท่านอย่าไว้ วางใจพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ทั้งสองมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจ แก่ความปรารถนาลามก พระเทวทัตกล่าวว่า อย่าเลย ท่านทั้งสองมาดี เพราะชอบใจธรรม ของเรา *พระโกกาลิกะ ติเตียนพระสารีบุตร และพระโมคหลังมรณะภาพได้ไปเกิดในปทุมนรก

พระเทวทัต เชื้อเชิญให้พระสารีบุตร กับพระโมค แสดงธรรมด้วย
พระเทวทัตนิมนต์ ท่านพระสารีบุตร กับพระโมคคัลลานะ ให้แสดงธรรม กล่าวว่าเราเมื่อยหลัง จักเอน พระสารีบุตรรับคำ ครั้งนั้น พระสารีบุตร กล่าวสอนภิกษุด้วยธรรมีกถา อันเป็นอนุศาสนี เจือด้วยอาเทสนาปาฏิหาริย์  ส่วนพระมหาโมคคัลลานะ กล่าวสอนด้วยธรรมีกถา อันเป็น อนุศาสนี เจือด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ จากนั้นพระสารีบุตร พระโมค พาภิกษุ ๕๐๐ รูป ไปทางพระเวฬุวัน

พระโกกาลิกะปลุกพระเทวทัต
ครั้งนั้น พระโกกาลิกะปลุกพระเทวทัต ให้ลุกขึ้นด้วยคำว่า ท่านเทวทัต ลุก ขึ้นเถิดพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พาภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว เราบอกท่านแล้ว มิใช่หรือว่า อย่าไว้วางใจ พระ สารีบุตร พระโมคคัลลานะ เพราะเธอทั้งสองมีความ ปรารถนาลามก ถึงอำนาจความปรารถนา ลามก

ครั้งนั้น โลหิตร้อนได้พุ่งออกจากปากพระเทวทัต ในที่นั้นเอง ฯ
(อรรถกถาแต่งว่า เสียชีวิตเนื่องจากธรณีสูบ-วิกิพีเดีย)

พระเทวทัตจักเกิดในอบาย
เทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๘ (โลกธรรม ๘) ประการครอบงำ ย่ำยีแล้ว จักเกิดในอบาย ตกนรก ชั่วกัป ช่วยเหลือไม่ได้ (ตกนรกอเวจี มีประตูถึง ๔ ประตูอันน่ากลัว)

พระเทวทัตหาพรรคพวกจากภิกษุบวชใหม่ ๕๐๐ รูป

            [๓๘๙] ครั้งนั้น ถึงวันอุโบสถ พระเทวทัตลุกจากอาสนะ ประกาศให้ ภิกษุทั้งหลายจับสลากว่า ท่านทั้งหลาย พวกเราเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมแล้ว ทูลขอวัตถุ ๕ ประการว่าพระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสคุณแห่งความเป็นผู้ มักน้อย ...

            การปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย วัตถุ ๕ ประการนี้ ย่อมเป็น ไปเพื่อ ความเป็น ผู้มักน้อย ... การปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย ข้าพระพุทธเจ้าขอ ประทาน พระวโรกาส ภิกษุทั้งหลายพึงถืออยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใด อาศัยบ้าน อยู่ รูปนั้นพึงต้องโทษ ... ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดพึง ฉันปลา และเนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ

            วัตถุ ๕ ประการนี้ พระสมณโคดม ไม่ทรงอนุญาต แต่พวกเรานั้นย่อม สมาทาน ประพฤติ ตามวัตถุ ๕ ประการนี้ วัตถุ    ๕ ประการนี้ ชอบแก่ท่าน ผู้ใด ท่านผู้นั้นจงจับสลาก

            [๓๙๐] สมัยนั้น พระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี ประมาณ ๕๐๐ รูป เป็นพระ บวชใหม่และรู้พระธรรมวินัยน้อย พวกเธอจับสลากด้วยเข้าใจว่า นี้ธรรม นี้วินัย นี้สัตถุศาสน์ ลำดับนั้น พระเทวทัตทำลายสงฆ์แล้ว พาภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป หลีกไปทางคยาสีสะ*ประเทศ (พระเทวทัตพาพระบวชใหม่ไปทาง คยาสีสะ)
* (ตำบลหนึ่งในเมืองคยา แคว้นมคธ)

            [๓๙๑] ครั้งนั้น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระสารีบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระเทวทัตทำลายสงฆ์แล้ว พาภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปหลีกไปทาง คยาสีสะประเทศ

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร โมคคัลลานะ พวกเธอจักมีความ การุญ ใน ภิกษุใหม่เหล่านั้นมิใช่หรือ พวกเธอจงรีบไป ภิกษุเหล่านั้นกำลังจะถึง  ความย่อยยับ

พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วเดินทางไปคยาสีสะประเทศ



ภิกษุรูปหนึ่งยืนร้องให้

            [๓๙๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งยืนร้องไห้ อยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค จึงพระผู้มี พระภาคตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ* เธอร้องไห้ทำไม

            ภิกษุนั้นกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็น อัครสาวกของ พระผู้มีพระภาค ไปในสำนักพระเทวทัต คงจะชอบใจธรรมของ พระเทวทัต

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ข้อที่สารีบุตรโมคคัลลานะ จะพึงชอบใจ ธรรมของเทวทัต นั่นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่เธอทั้งสองไปเพื่อซ้อมความเข้าใจกะ ภิกษุ
*(ภิกษุร้องให้เกิดความเข้าใผิด)

พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ พาภิกษุ ๕๐๐ กลับ

            [๓๙๓] สมัยนั้น พระเทวทัตอันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อม แล้วนั่งแสดงธรรมอยู่ เธอได้เห็นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ มาแต่ไกล จึงเตือนภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เห็นไหม ธรรมเรากล่าวดีแล้ว พระสารีบุตร โมคคัลลานะอัครสาวก ของพระสมณโคดม พากันมาสู่สำนักเรา ต้องชอบใจธรรม ของเรา

            เมื่อพระเทวทัต กล่าวอย่างนี้แล้ว พระโกกาลิกะ* ได้กล่าวกะพระเทวทัตว่า ท่านเทวทัต ท่านอย่าไว้ วางใจพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ เพราะเธอ ทั้งสอง มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแก่ความปรารถนาลามก พระเทวทัตกล่าวว่า  อย่าเลย คุณ ท่านทั้งสองมาดี เพราะชอบใจธรรมของเรา
*(พระโกกาลิกะ ต่อมาได้กล่าวตู่พระสารีบุตร และพระโมค- ว่าเป็นผู้มีความปรารถนาอันเลวทราม  ต่อหน้าพระศาสดา จากนั้นได้ทำกาละ เข้าถึง ปทุมนรก อายุ 1 กัป อ่าน โกกาลิกสูตร )

            ลำดับนั้น ท่านพระเทวทัตนิมนต์ท่านพระสารีบุตร ด้วยอาสนะกึ่งหนึ่ง ว่า มาเถิด ท่านสารีบุตร นิมนต์นั่งบนอาสนะนี้ ท่านพระสารีบุตรห้ามว่า อย่าเลย ท่าน แล้วถืออาสนะแห่งหนึ่ง นั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แม้ท่านพระมหา โมคคัลลานะ ก็ถืออาสนะแห่งหนึ่งนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

            ลำดับนั้น พระเทวทัต แสดงธรรม กถาให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงหลายราตรี แล้วเชื้อเชิญ ท่านพระสารีบุตรว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุสงฆ์ ปราศจาก ถีนมิทธะแล้วธรรมีกถาของภิกษุทั้งหลายจงแจ่มแจ้งกะท่าน เราเมื่อยหลัง จักเอน ท่านพระสารีบุตรรับคำพระเทวทัตแล้ว (พระเทวทัตขอให้พระสารีบุตรแสดงธรรม ต่อ)

            ลำดับนั้น พระเทวทัตปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น แล้วจำวัตรโดยข้างเบื้องขวา เธอเหน็ดเหนื่อย หมดสติสัมปชัญญะ ครู่เดียวเท่านั้น ก็หลับไป

            [๓๙๔] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตร กล่าวสอนพร่ำสอนภิกษุทั้งหลาย ด้วย ธรรมีกถา อันเป็นอนุศาสนี เจือด้วยอาเทสนาปาฏิหาริย์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ กล่าวสอน พร่ำสอน ภิกษุทั้งหลายด้วยธรรมีกถา อันเป็นอนุศาสนี เจือด้วยอิทธิ ปาฏิหาริย์

            ขณะเมื่อภิกษุเหล่านั้นอันท่านพระสารีบุตรกล่าวสอนอยู่ พร่ำสอน อยู่ด้วย อนุศาสนี เจือด้วยอาเทศนาปาฏิหาริย์ และอันท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวสอน อยู่ พร่ำสอนอยู่ ด้วยอนุศาสนีเจือด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ ดวงตาเห็นธรรมที่ ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งหมด มีความดับเป็นธรรมดา ที่นั้น ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลาย  มาว่า ท่านทั้งหลาย เราจักไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ผู้ใดชอบใจธรรมของพระผู้มี พระภาคนั้น ผู้นั้นจงมา

            ครั้งนั้น พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ พาภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้นเข้าไป ทางพระเวฬุวัน

            ครั้งนั้น พระโกกาลิกะปลุกพระเทวทัต ให้ลุกขึ้นด้วยคำว่า ท่านเทวทัต ลุก ขึ้นเถิดพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พาภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว เราบอกท่านแล้ว มิใช่หรือว่า อย่าไว้วางใจพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เพราะเธอทั้งสองมีความ ปรารถนาลามก ถึงอำนาจความปรารถนาลามก

ครั้งนั้น โลหิตร้อนได้พุ่งออกจากปากพระเทวทัต ในที่นั้นเอง ฯ

            [๓๙๕] ครั้งนั้น พระสารีบุตรพระโมคคัลลานะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระสารีบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าพระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส ภิกษุทั้งหลาย ผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ทำลาย พึงอุปสมบทใหม่

            พ. อย่าเลย สารีบุตร เธออย่าพอใจการอุปสมบทใหม่ของพวกภิกษุผู้ ประพฤติ ตามภิกษุผู้ทำลาย เลย ดูกรสารีบุตร ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้พวกภิกษุ ผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ทำลาย แสดง อาบัติถุลลัจจัย* ก็เทวทัตปฏิบัติแก่เธออย่างไร
* (อาบัติถุลลัจจัย คืออาบัติเบาที่เปรียบด้วยลหุโทษ ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้น ต้องประจานตน ต่อหน้าภิกษุด้วยกัน)

            ส. พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาให้ภิกษุทั้งหลาย เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ตลอดราตรีเป็นอันมาก แล้วได้รับสั่งกะ  ข้าพระพุทธเจ้าว่า ดูกรสารีบุตรภิกษุสงฆ์ปราศจาก ถีนมิทธะแล้ว ธรรมีกถาของภิกษุ ทั้งหลายจงแจ่มแจ้งแก่เธอ เราเมื่อยหลัง ดังนี้ฉันใด พระเทวทัต ก็ได้ปฏิบัติ ฉันนั้นเหมือนกัน พระพุทธเจ้าข้า ฯ
--------------------------------------------------------------------------------------------------

ทรงอุปมาว่า พระเทวทัตเลียนแบบเรา ทำให้ช้างที่ติดตาม ตายทั้งโขลง

            [๓๙๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีสระใหญ่อยู่ในราวป่า ช้างทั้งหลายอาศัยสระนั้นอยู่ และพวกมัน พากันลงสระนั้นเอางวง ถอนเง่าและ รากบัวล้างให้สะอาดจนไม่มีตม แล้วเคี้ยวกลืน กิน เง่าและรากบัวนั้น เง่าและรากบัวนั้น ย่อมบำรุงวรรณะ และกำลังของช้างเหล่านั้น และช้างเหล่านั้นก็ไม่เข้าถึงความตาย หรือความทุกข์ปางตาย มีข้อนั้นเป็นเหตุ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนลูกช้างตัวเล็กๆ เอาอย่างช้างใหญ่เหล่านั้น และ พากันลงสระ นั้น เอางวงถอนเง่า และรากบัวแล้วไม่ล้างให้สะอาดเคี้ยวกลืน กินทั้งที่มี ตม เง่าและ รากบัวนั้น ย่อมไม่บำรุงวรรณะและกำลัง ของลูกช้างเหล่านั้น และพวกมัน ย่อมเข้าถึง ความตาย หรือความทุกข์ปางตาย มีข้อนั้นเป็นเหตุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตเลียน แบบ เราจักตายอย่างคนกำพร้า อย่างนั้นเหมือนกันฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสประพันธคาถา ว่าดังนี้:

            [๓๙๗] เมื่อช้างใหญ่คุมฝูง ขุดดิน กินเง่าบัวอยู่ในสระใหญ่ ลูกช้างกินเง่าบัว ทั้งที่มีตมแล้วตาย ฉันใด เทวทัตเลียนแบบเรา แล้วจักตายอย่างคนกำพร้า ฉันนั้น


พระเทวทัตจักเกิดในอบาย

            [๔๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการครอบงำ ย่ำยีแล้ว จักเกิดในอบาย ตกนรกชั่วกัป ช่วยเหลือไม่ได้ อสัทธรรม* ๘ ประการ เป็นไฉน คือ
๑. เทวทัตมีจิต อันลาภครอบงำ ย่ำยีแล้ว จักเกิดในอบายตกนรก ตั้งอยู่ตลอด กัปช่วยเหลือไม่ได้
๒. เทวทัตมีจิต อันความเสื่อมลาภครอบงำ ย่ำยีแล้ว ...
๓. เทวทัตมีจิต อันยศ ครอบงำ ย่ำยีแล้ว ...
๔. เทวทัตมีจิต อันความเสื่อมยศ ครอบงำ ย่ำยีแล้ว ...
๕. เทวทัตมีจิต อันสักการะ ครอบงำ ย่ำยีแล้ว ...
๖. เทวทัตมีจิต อันความเสื่อมสักการะ ครอบงำ ย่ำยีแล้ว ...
๗. เทวทัตมีจิต อันความปรารถนาลามก ครอบงำ ย่ำยีแล้ว ...
๘. เทวทัตมีจิต อันความเป็นมิตรชั่ว ครอบงำ ย่ำยีแล้วจักเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป ช่วยเหลือไม่ได้
*(โลกธรรม ๘)

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมีจิตอัน อสัทธรรม ๘ ประการนี้แล ครอบงำ  ย่ำยีแล้ว จักเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป ช่วยเหลือไม่ได้

           [๔๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมีจิตอัน อสัทธรรม ๓ ประการ ครอบงำ ย่ำยี จักเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป ช่วยเหลือไม่ได้อสัทธรรม ๓ ประการ เป็นไฉน คือ:
๑. ความปรารถนาลามก
๒. ความมีมิตรชั่ว
๓. พอบรรลุคุณวิเศษเพียงคั่นต่ำ
*ก็เลิกเสียในระหว่าง
*(น่าจะขั้นต่ำ)

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๓ ประการนี้แล ครอบงำย่ำยี จักเกิดใน อบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป ช่วยเหลือไม่ได้

นิคมคาถา

[๔๐๓] ใครๆจงอย่าเกิดเป็นคนปรารถนาลามก ในโลก ท่านทั้งหลายจงรู้จัก เทวทัต นั้นตามเหตุแม้นี้ว่า มีคติเหมือนคติของคนปรารถนาลามก เทวทัตปรากฏว่า เป็นบัณฑิต รู้กันว่าเป็นผู้อบรมตนแล้ว เราก็ได้ทราบว่า เทวทัต ตั้งอยู่ดุจผู้รุ่งเรือง ด้วยยศ เธอสั่งสมความประมาทเบียดเบียนตถาคตนั้น จึงตกนรกอเวจี มีประตูถึง ๔ ประตูอันน่ากลัว

            ก็ผู้ใดประทุษร้าย ต่อผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้ไม่ทำบาปกรรมบาปย่อมถูกต้อง เฉพาะผู้นั้น ผู้มีจิตประทุษร้าย ไม่เอื้อเฟื้อผู้ใดตั้งใจประทุษร้ายมหาสมุทร ด้วยยาพิษ เป็นหม้อๆ

            ผู้นั้นไม่ควรประทุษร้ายด้วยยาพิษนั้น เพราะมหาสมุทรเป็นสิ่งที่ น่ากลัว ฉันใด ผู้ใดเบียดเบียนตถาคตผู้เสด็จไปดีแล้ว มีพระทัยสงบด้วยกล่าวติเตียน การกล่าว ติเตียน ในตถาคตนั้น ฟังไม่ขึ้น ฉันนั้นเหมือนกัน

            ภิกษุผู้ดำเนินตามมรรคาของ พระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า พระองค์ใด พึงถึงความสิ้นทุกข์ บัณฑิตพึงกระทำ พระพุทธเจ้า หรือสาวกของ พระพุทธเจ้า ผู้เช่นนั้นให้เป็นมิตร และพึงคบหาท่าน



(49)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐  หน้าที่ ๖๑

เทวดาเข้าเฝ้า รายงานว่าพระสารีบุตร กำลังแสดงธรรม เรื่องสังโยชน์ ที่ปราสาทของนางวิสาขา
P1343

            ครั้งนั้นแล เทวดาที่มีจิตเสมอกันมากองค์เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรนั่น กำลังเทศนา ถึงบุคคล ที่มีสังโยชน์ในภายใน และบุคคลที่มีสังโยชน์ ในภายนอก แก่ภิกษุทั้งหลาย อยู่ที่ปราสาท ของนางวิสาขามิคารมารดา ในบุพพาราม

             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บริษัทร่าเริง ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มี พระภาค จงทรงพระกรุณา เสด็จไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่เถิด พระผู้มีพระภาค ทรงรับคำ อาราธนาด้วยดุษณีภาพ

             ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงหายจากพระเชตวันวิหาร ไปปรากฏ เฉพาะหน้า ท่านพระสารีบุตร ที่ปราสาทของนาง วิสาขามิคารมารดา ในบุพพาราม เหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับนั่ง บนอาสนะที่ปูลาดไว้ แม้ท่านพระสารีบุตร ก็ได้ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค แล้วนั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะท่าน พระสารีบุตรว่า

             ดูกรสารีบุตร เทวดาที่มีจิตเสมอกันมากองค์ เข้าไปหาเราจนถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วบอกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกำลังเทศนา ถึงบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายใน และบุคคลที่มี สังโยชน์ในภายนอก แก่ภิกษุทั้งหลาย อยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ในบุพพาราม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บริษัทร่าเริง ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มี พระภาคทรงพระกรุณา เสด็จไปหาท่านพระสารีบุตร จนถึงที่อยู่เถิด

             ดูกรสารีบุตร ก็เทวดาเหล่านั้นยืนอยู่ ในโอกาสแม้เท่าปลายเหล็กแหลม จดลง ๑๐ องค์บ้าง ๒๐ องค์บ้าง ๓๐ องค์บ้าง ๔๐ องค์บ้าง ๕๐ องค์บ้าง ๖๐ องค์ บ้าง แต่ก็ไม่เบียดกันและกัน (เทวดามารวมตัวแบบแออัดยัดเยียด แต่ไม่เบียดกัน พระสารีบุตร ไม่มีทิพย์จักษุ จึงมองไม่เห็น)

             ดูกรสารีบุตร ก็เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า จิตอย่างนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้ เทวดาเหล่านั้น ยืนอยู่ได้ในโอกาส แม้เท่าปลายเหล็กแหลมจดลง ๑๐ องค์บ้าง ... ๖๐ องค์บ้าง เป็นจิต อันเทวดาเหล่านั้น อบรมแล้วในภพนั้น แน่นอน ดูกรสารีบุตร ก็ข้อนั้นเธอไม่ควรเห็นเช่นนี้

             ดูกรสารีบุตรก็จิตอย่างนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาเหล่านั้น ยืนอยู่ได้ ในโอกาส แม้เท่า ปลายเหล็ก แหลมจดลง ๑๐ องค์บ้าง ฯลฯ แต่ก็ไม่เบียดกัน และกัน เทวดาเหล่านั้น ได้อบรมแล้วในศาสนานี้เอง เพราะฉะนั้นแหละสารีบุตร เธอพึงศึกษา อย่างนี้ว่า จักเป็นผู้ มีอินทรีย์สงบ มีใจระงับอยู่ เธอควรศึกษา เช่นนี้แหละ สารีบุตร กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจระงับ จักสงบระงับ เพราะฉะนั้นแหละ

             สารีบุตร เธอพึงศึกษาว่า จักนำกายและจิต ที่สงบระงับแล้วเท่านั้นเข้าไป ในพรหมจารีทั้งหลาย ดูกรสารีบุตร เธอควรศึกษาเช่นนี้แหละ ดูกรสารีบุตร พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ที่ไม่ได้ฟังธรรมบรรยายนี้ ได้พากันฉิบหายเสียแล้ว



(50)

หนังสือพุทธวจน หน้า 383

วัตตสูตร
การอยู่ด้วยโพชฌงค์ ๗
B383

สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถ บิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถีณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย1 ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตร แล้วท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวว่า

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน ? คือ
สติสัมโพชฌงค์ ๑
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ๑
วิริยสัมโพชฌงค์ ๑
ปีติสัมโพชฌงค์ ๑
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ๑
สมาธิสัมโพชฌงค์ ๑
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย2 โพชฌงค์ ๗ ประการนี้แล.

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย บรรดาโพชฌงค์ ๗ ประการนี้ เราประสงค์จะอยู่ด้วย โพชฌงค์ ข้อใดๆ ในเวลาเช้าก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ เราประสงค์จะอยู่ด้วย โพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ เราประสงค์จะอยู่ด้วย โพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ.

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าสติสัมโพชฌงค์มีอยู่แก่เรา ดังพรรณนามานี้ เราก็รู้ว่าสติสัม โพชฌงค์ของเราหาประมาณมิได้ อันเราปรารภดีแล้ว สติสัมโพชฌงค์ เมื่อยังตั้งอยู่ เราก็รู้ว่าตั้งอยู่ ถ้าแม้สติสัมโพชฌงค์ของเราเคลื่อนไปเราก็รู้ว่าเคลื่อนไป เพราะสิ่งนี้เป็น ปัจจัย.

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่แก่เรา ดังพรรณนามานี้ เราก็รู้ว่า อุเบกขา สัมโพชฌงค์ของเราหาประมาณมิได้ อันเราปรารภดีแล้ว อุเบกขา สัมโพชฌงค์ เมื่อยังตั้งอยู่ เราก็รู้ว่าตั้งอยู่ ถ้าแม้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของเรา เคลื่อนไป เราก็รู้ว่า เคลื่อนไป เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย.

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย หีบผ้าของพระราชาหรือของราชมหาอำมาตย์ เต็มด้วยผ้าสีต่างๆ พระราชา หรือราชมหาอำมาตย์ ประสงค์จะนุ่งห่มผ้าชุดใดๆ ในเวลาเช้าก็นุงห่มผ้า ชุดนั้นๆ ได้  ประสงค์จะนุ่งห่มผ้าชุดใดๆ ในเวลาเที่ยง
1 ข้อสังเกต ในบาลีเป็นคำว่า “อาวุโส” ดังนั้นน่าจะใช้คำว่า “ดูกรผู้มีอายุ” -ผู้รวบรวม
2 ข้อสังเกต ในบาลีเป็นคำว่า “อาวุโส” ดังนั้นน่าจะใช้คำว่า “ดูกรผู้มีอายุ” -ผู้รวบรวม

ก็นุ่งห่มผ้าชุดนั้นๆ ได้ ประสงค์จะนุ่งห่มผ้าชุดใดๆ ในเวลาเย็น ก็นุ่งห่มผ้า ชุดนั้นๆ ได้ แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน บรรดาโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ เราประสงค์จะ อยู่ด้วยโพชฌงค์ ข้อใดๆ ในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆประสงค์จะอยู่ด้วย โพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ ประสงค์จะอยู่ด้วยโพชฌงค์ ข้อใดๆในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ.

ถ้าสติสัมโพชฌงค์มีอยู่แก่เรา ดังพรรณนามานี้ เราก็รู้ว่า สติสัมโพชฌงค์ ของเราหา ประมาณ มิได้ อันเราปรารภดีแล้ว สติสัมโพชฌงค์เมื่อยังตั้งอยู่ เราก็รู้ว่า ตั้งอยู่ ถ้าแม้สติสัมโพชฌงค์ของเราเคลื่อนไป เราก็รู้ว่าเคลื่อนไป เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ฯลฯ.

ถ้าอุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่แก่เรา ดังพรรณนามานี้ เราก็รู้ว่าอุเบกขา สัมโพชฌงค์ ของเรา หาประมาณมิได้ อันเราปรารภดีแล้ว อุเบกขาสัมโพชฌงค์เมื่อยัง ตั้งอยู่ เราก็รู้ว่าตั้งอยู่ ถ้าแม้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของเรา เคลื่อนไปเราก็รู้ว่าเคลื่อนไป เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย.





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์