พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๗๔
เกสกัมพลสูตร
ความเห็นของมักขลิ ว่ากรรมไม่มี กิริยาไม่มี ความเพียรไม่มี
[๕๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผ้ากัมพลที่ทำด้วยผมมนุษย์ บัณฑิตกล่าวว่า เลวกว่าผ้าที่ช่างหูกทอแล้วทุกชนิด ผ้ากัมพลที่ทำด้วยผมมนุษย์ในฤดูหนาวก็เย็น ในฤดูร้อนก็ร้อน สีน่าเกลียด กลิ่นเหม็น สัมผัสไม่สบาย แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาทะของเจ้าลัทธิชื่อว่า มักขลิ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล บัณฑิต กล่าวว่า เลวกว่า วาทะของสมณะทุกพวก เจ้าลัทธิชื่อว่า มักขลิ เป็น โมฆบุรุษ มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า กรรมไม่มี กิริยาไม่มี ความเพียรไม่มี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้มีแล้วใน อดีตกาล ก็เป็นผู้ตรัสกรรม ตรัสกิริยาและตรัสความเพียร ถึงพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็ถูก โมฆบุรุษชื่อว่ามักขลิ คัดค้านว่า กรรมไม่มี กิริยาไม่มี ความเพียรไม่มี แม้พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จักมีในอนาคตกาลก็จักเป็นผู้ตรัส กรรม ตรัสกิริยา ตรัสความเพียร ถึงพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็ถูกโมฆบุรุษชื่อว่า มักขลิ คัดค้านว่า กรรมไม่มี กิริยาไม่มี ความเพียรไม่มี แม้เราผู้เป็นพระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า ในบัดนี้ ก็กล่าวกรรม กล่าวกิริยา กล่าวความเพียร แม้เราก็ถูกโมฆบุรุษ ชื่อว่ามักขลิคัดค้านว่า กรรมไม่มี กิริยาไม่มี ความเพียรไม่มี
(มักขลิคัดค้าน ทั้งพระผู้มีพระภาคทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ก็จะตรัส กรรมไม่มี กิริยาไม่มี ความเพียรไม่มี เช่นกัน)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลพึงวางไซดักปลาไว้ที่ปากอ่าว เพื่อใช่ประโยชน์เพื่อทุกข์ เพื่อความฉิบหาย เพื่อความพินาศแก่ปลาเป็นอันมาก แม้ฉันใดโมฆบุรุษชื่อว่ามักขลิ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เป็นเหมือนไซดักมนุษย์ เกิดขึ้นในโลกแล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ เพื่อทุกข์ เพื่อความฉิบหาย เพื่อความพินาศแก่สัตว์เป็นอันมาก ฯ
ฉบับหลวง ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๕
อัฏฐานบาลี /เอกธัมมาทิบาลี วรรคที่ ๓
ความเห็นวิปริตของ มักขลิ- โมษะบุรุษ
[๑๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียว เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อ เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์หิตสุขแก่เทพยดา และมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลคนเดียวคือใคร คือบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฐิ มีความเห็น ไม่วิปริต เขาทำให้คนเป็นอันมากออกจากอสัทธรรมแล้ว ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวนี้แลเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเป็น ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์หิตสุข แก่เทพยดา และมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
[๑๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งจะมีโทษ มากเหมือน มิจฉาทิฐิ นี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฐิเป็นอย่างยิ่ง ฯ
[๑๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นบุคคลอื่นแม้คนเดียว ที่ปฏิบัติเพื่อไม่ เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความฉิบหายมิใช่ ประโยชน์ เกื้อกูลเพื่อความทุกข์แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย เหมือนกับ โมฆบุรุษ ชื่อว่า มักขลิ นี้เลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลพึงทิ้งลอบ ไปที่ปากอ่าว เพื่อไม่เป็น ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์เพื่อความเสื่อม ความพินาศ แก่ปลาเป็นมาก แม้ฉันใด โมฆบุรุษชื่อว่า มักขลิ ก็ฉันนั้นเหมือน กันแลเป็นดังลอบสำหรับ ดักมนุษย์ เกิดขึ้นแล้วในโลก เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเสื่อม เพื่อความพินาศแก่สัตว์เป็นอันมาก ฯ
[๑๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ๑ ผู้ที่ ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑ คนทั้งหมดนั้น ย่อมประสบกรรม(ชั่ว) มิใช่บุญเป็นอันมากข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว ฯ
[๑๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ๑ ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑ คนทั้งหมดนั้น ย่อมประสบบุญ เป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรม* ท่านกล่าวไว้ดีแล้ว ฯ
* (ธรรมของตถาคต คือ มรรคมีองค์แปด)
[๑๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทายกพึงรู้จักประมาณในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ปฏิคาหกไม่จำต้องรู้จักประมาณ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว ฯ
[๑๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิคาหกพึงรู้จักประมาณในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ทายกไม่จำต้องรู้จักประมาณ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ดีแล้ว ฯ
[๑๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ปรารภความเพียรในธรรมวินัย ที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว ฯ
[๒๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ย่อมอยู่เป็น ทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ดีแล้ว ฯ
[๒๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เกียจคร้านในธรรมวินัย ที่กล่าวไว้ชั่วย่อม อยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว ฯ
[๒๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียรในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ย่อมอยู่เป็นสุขข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ดีแล้ว ฯ
[๒๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคูถแม้เพียงเล็กน้อย ก็มีกลิ่นเหม็น ฉันใดภพแม้เพียงเล็กน้อยก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่สรรเสริญโดยที่สุดแม้ชั่วกาล เพียงลัดนิ้วมือเดียวเลย ฯ
[๒๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมูตร... น้ำลาย... หนอง... เลือดแม้เพียงเล็กน้อย ก็มีกลิ่นเหม็น แม้ฉันใด ภพแม้เพียงเล็กน้อยก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่สรรเสริญโดยที่สุดแม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือเดียวเลย ฯ
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๓
๘. มหาทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยมิจฉาทิฏฐิ
มิจฉาทิฏฐิ ของมักขลิ
[๔๓๑] พระนครสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมีอยู่ เพราะถือมั่นอะไร เพราะยึดมั่นอะไร จึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กองนี้ ไม่มีใครทำไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีแบบอย่าง อันใคร เนรมิต เป็นสภาพไม่มีผล ตั้งอยู่มั่นคง ดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กองนั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิด สุข หรือทุกข์แก่กันและกัน.
สภาวะ ๗ กองเป็นไฉน? คือ กองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ ชีวะ
(ความเห็นของวักขลิ)
สภาวะ ๗ กองนี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีแบบอย่าง อันใครเนรมิต เป็นสภาพยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นคงดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคง ดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กองนั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิด สุข หรือทุกข์ แก่กันและกัน.
แม้ผู้ใดจะเอาศัสตราอย่างคมตัดศีรษะกัน ไม่ชื่อว่าใคร ปลงชีวิตใคร. เป็นแต่ศัสตราสอดเข้าไปตามช่องระหว่าง ๗ กองเท่านั้น.
อนึ่ง กำเนิดที่เป็นประธาน ๑,๔๐๖,๖๐๐ กรรม ๖,๐๐๐ กรรม ๖๐๐ กรรม ๕๐๐ กรรม ๕ กรรม๓ กรรม ๑ กรรมกึ่ง ปฏิปทา ๖๒ อันตร ๖๒ กัป ๖๒ อภิชาติ ๖ ปุริสภูมิ ๘ อาชีวะ ๔,๙๐๐ปริพาชก ๔,๙๐๐ นาควาส ๔,๙๐๐ อินทรีย์ ๒,๐๐๐ นรก ๓,๐๐๐ รโชธาตุ ๓๖ สัญญีครรภ์ ๗ อสัญญีครรภ์ ๗ นิคัณฐครรภ์ ๗ สภาวทิพย์ ๗ มนุษย์ ๗ ปีศาจ ๗ สระ ๗ ปวุฏใหญ่ ๗ ปวุฏ ๗๐๐ เหวใหญ่ ๗ เหวน้อย ๗๐๐ มหาสุบิน ๗ สุบิน ๗๐๐ มหากัป ๘๔๐,๐๐๐ เหล่านี้
ทั้งพาลและบัณฑิตเร่ร่อนท่องเที่ยวไปแล้ว จักทำที่สุด ทุกข์ได้ ความหวังว่า เราจัก อบรมกรรมที่ยังไม่อำนวยผลให้อำนวยผล หรือเราสัมผัส ถูกต้องกรรมที่อำนวย ผลแล้ว จักทำให้สุดสิ้นด้วยศีลด้วยพรต ด้วยตบะ หรือ ด้วยพรหมจรรย์นี้ ไม่มีในที่นั้น สุขทุกข์ ที่ทำให้มีที่สิ้นสุดได้เหมือนตวง ของให้หมดด้วย ทะนาน ย่อมไม่มีในสงสาร ด้วย อาการอย่างนี้เลย ไม่มีความเสื่อมและความเจริญ ไม่มีการเลื่อนขึ้นและเลื่อนลง.
พาลและบัณฑิตเร่ร่อนไป เสวยสุขและทุกข์เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคล ขว้างไป ย่อมคลี่หมดลงไปเอง ฉะนั้น. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ
(วักขลิเห็นว่า กรรมเหมือนกลุ่มด้าย เมื่อขว้างไป เดี่ยวก็จะคลีไป หมดไปเอง)
(ความเห็นของตถาคต)
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูปมีอยู่ เพราะถือมั่นรูป เพราะยึดมั่นรูป จึงเกิดทิฏฐิขึ้น อย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ฯลฯ พาลและ บัณฑิตเร่ร่อนไป เสวยสุขและทุกข์เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไป ย่อมคลี่หมด ไปเอง ฉะนั้น. เมื่อ เวทนามีอยู่ ... เมื่อสัญญามีอยู่ ... เมื่อสังขารมีอยู่ ... เมื่อวิญญาณ มีอยู่ เพราะถือมั่นวิญญาณเพราะยึดมั่นวิญญาณ จึงเกิด ทิฏฐิ ขึ้นอย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ฯลฯ พาล และบัณฑิตเร่ร่อน ไป เสวยสุขและทุกข์เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไป ย่อมคลี่หมดไปเอง ฉะนั้น.
[๔๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ถือมั่นใน สิ่งนั้น จะพึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่าง อันใคร ทำฯลฯ พาลและบัณฑิตเร่ร่อนไป เสวยสุขและทุกข์ เองเหมือนกลุ่มด้าย ที่บุคคล ขว้างไป ย่อมคลี่หมดไปเอง ฉะนั้น บ้างไหม?
ภิ. ไม่พึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา.. สัญญา ..สังขาร ..วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ถือมั่น สิ่งนั้นจะพึง เกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่าง อันใครทำ ฯลฯ พาลและบัณฑิตเร่ร่อนไป เสวยสุขและทุกข์เอง เหมือนกลุ่มด้าย ที่บุคคล ขว้างไป ย่อมคลี่หมดไปเอง ฉะนั้น บ้างไหม?
ภิ. ไม่พึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.
พ. สิ่งใดที่ได้เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้ทราบแล้ว รู้แจ้งแล้ว บรรลุแล้ว แสวงหา แล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจ แม้สิ่งนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ถือมั่นสิ่งนั้น จะพึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอัน ใครทำ ฯลฯพาลและบัณฑิตเร่ร่อนไป เสวยสุขและทุกข์เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคล ขว้างไป ย่อมคลี่หมดไปเอง ฉะนั้น บ้างไหม?
ภิ. ไม่พึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล อริยสาวกละความสงสัยในฐานะ ๖ นี้ ชื่อว่าเป็น อัน ละ ความสงสัยแม้ในทุกข์ แม้ในทุกขสมุทัย แม้ในทุกขนิโรธ แม้ในทุกขนิโรธคา มินีปฏิปทา.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น อริยสาวกนี้เราเรียกว่า เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ ตกต่ำ เป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า
|