|
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์
(๑. มหานิทานสูตร มหา. ที. ๑๐/๖๗/๕๘ ตรัสแก่พระอานนท์ ที่กัมมาสทัมมนิคม แค้วนกุรุ)
ทรงขยายความปฏิจจสมุปบาท อย่างประหลาด ๑
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “ชรามรณะมี เพราะปัจจัยคือชาติ” ดังนี้ เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยาย ดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “ชรามรณะมี เพราะปัจจัยคือชาติ”
ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่า ชาติ จักไม่ได้มีแก่ใครๆ ในที่ไหนๆ
โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ กล่าวคือ เพื่อความเป็นเทพ แห่งหมู่เทพทั้งหลายก็ดี เพื่อความ เป็น คนธรรพ์ แห่งพวกคนธรรพ์ทั้งหลายก็ดี เพื่อความเป็น ยักษ์ แห่งพวก ยักษ์ทั้งหลาย ก็ดี เพื่อความเป็น ภูต แห่งพวกภูตทั้งหลายก็ดี เพื่อความเป็น มนุษย์ แห่งพวกมนุษย์ ทั้งหลายก็ดี เพื่อความเป็น สัตว์สี่เท้า แห่งพวกสัตว์สี่เท้าทั้งหลายก็ดี เพื่อความเป็น สัตว์มีปีก แห่งพวกสัตว์มีปีกทั้งหลายก็ดี เพื่อความเป็น สัตว์เลื้อยคลาน แห่งพวกสัตว์ เลื้อยคลานทั้งหลายก็ดี แล้วไซร้
ดูก่อนอานนท์ ! ชาติก็จักไม่ได้มีแล้วแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ๆ เพื่อความเป็น อย่างนี้แล. เมื่อชาติไม่มี เพราะความดับไปแห่งชาติโดยประการทั้งปวงแล้ว ชรามรณะ จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ (ปญฺญาเยถ) ไหมหนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”) ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละ คือสมุทัย นั่นแหละคือ ปัจจัย ของชรามรณะ นั้นคือ ชาติ
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “ชาติมี เพราะปัจจัยคือภพ” ดังนี้ เช่นนี้แล เป็นคำที่ เรา กล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยาย ดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “ชาติมี เพราะปัจจัยคือภพ”
ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่า ภพ จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหนๆ
โดยทุกชนิด โดยทุกอาการกล่าวคือ กามภพ ก็ดี รูปภพ ก็ดี อรูปภพ ก็ดี แล้วไซร้ เมื่อภพไม่มี เพราะ ความดับไปแห่งภพ โดยประการทั้งปวงแล้ว ชาติ จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหม หนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”) ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละ คือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของชาติ นั้นคือ ภพ
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “ภพมี เพราะปัจจัยคืออุปาทาน” ดังนี้ เช่นนี้แล เป็นคำที่เรา กล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยาย ดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “ภพมี เพราะปัจจัยคืออุปาทาน”
ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่า อุปาทาน จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหนๆ
โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ กล่าวคือ กามุปาทาน ก็ดี ทิฏฐุปาทาน ก็ดี สีลัพพัตตุปาทาน ก็ดี อัตตวาทุปาทาน ก็ดีแล้วไซร้ เมื่ออุปาทานไม่มี เพราะความดับไป แห่งอุปาทาน โดยประการทั้งปวงแล้ว ภพ จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ ไหมหนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”) ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละ คือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือ ปัจจัย ของภพ นั้นคือ อุปาทาน
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “อุปาทานมี เพราะปัจจัยคือตัณหา” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยาย ดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้ว่า “อุปาทานมี เพราะปัจจัยคือตัณหา”
ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่า ตัณหา จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหนๆ
โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ กล่าวคือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา แล้วไซร้ เมื่อตัณหาไม่มี เพราะความดับไปแห่งตัณหา โดยประการทั้งปวง แล้ว อุปาทาน จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”) ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละ คือสมุทัย นั่นแหละคือ ปัจจัย ของอุปาทาน นั้นคือ ตัณหา
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “ตัณหามี เพราะปัจจัยคือเวทนา” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยาย ดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “ตัณหามี เพราะปัจจัย คือเวทนา”
ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่า เวทนา จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหนๆ
โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ กล่าวคือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา
ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา แล้วไซร้ เมื่อเวทนาไม่มี เพราะความดับไปแห่งเวทนา โดยประการทั้งปวงแล้ว ตัณหา จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”) ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละ คือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือ ปัจจัย ของตัณหา นั้นคือ เวทนา
(เพราะอาศัยการหวงกั้น จึงมี เรื่องราวอันเกิดจากการหวงกั้น)
ดูก่อนอานนท์ ! ก็ด้วยอาการดังนี้แล (เป็นอันกล่าวได้ว่า)
เพราะอาศัย เวทนา จึงมี ตัณหา
เพราะอาศัยตัณหา จึงมี การแสวงหา (ปริเยสนา)
เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมี การได้ (ลาโภ)
เพราะอาศัยการได้ จึงมี ความปลงใจรัก (วินิจฺฉโย)
เพราะอาศัยความปลงใจรัก จึงมี ความกำหนัดด้วยความพอใจ (ฉนฺทราโค)
เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยความพอใจ จึงมี ความสยบมัวเมา (อชฺโฌสานํ)
เพราะอาศัยความสยบมัวเมา จึงมี ความจับอกจับใจ (ปริคฺคโห)
เพราะอาศัยความจับอกจับใจ จึงมี ความตระหนี่ (มจฺฉริยํ)
เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงมี การหวงกั้น (อารกฺโข)
เพราะอาศัยการหวงกั้น จึงมี เรื่องราวอันเกิดจากการหวงกั้น (อารกฺขาธิกรณํ)กล่าวคือ การใช้อาวุธไม่มีคม การใช้อาวุธมีคม การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวคำ หยาบว่า “มึง ! มึง !” การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จ ทั้งหลาย ธรรมอันเป็นบาป อกุศลเป็นอเนก ย่อมเกิดขึ้นพร้อม ด้วยอาการอย่างนี้ (เป็นอันว่า) ข้อความเช่นนี้ เป็นข้อความที่เราได้กล่าวไว้แล้ว.
ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับ หัวข้อที่เรากล่าวไว้กล่าวไว้แล้วว่า “ธรรมเป็นบาปอกุศลเป็นอเนก กล่าวคือ การใช้ อาวุธ ไม่มีคม การใช้อาวุธมีคม การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวคำ หยาบว่า ‘มึง ! มึง !’ การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จ ทั้งหลายเหล่านี้ ซึ่งเป็น เรื่องราวอันเกิดจาก การหวงกั้น ย่อมเกิดขึ้นพร้อม เพราะอาศัย การหวงกั้น” ดังนี้
ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าการหวงกั้น จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ แล้วไซร้ เมื่อการหวงกั้นไม่มี เพราะความดับไปแห่งการ หวงกั้น โดยประการ ทั้งปวงแล้ว ธรรมเป็นบาป อกุศลเป็นอเนก กล่าวคือ การใช้อาวุธ ไม่มีคม การใช้อาวุธมีคม การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวคำหยาบว่า “มึง ! มึง !” การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จทั้งหลาย จะพึงเกิดขึ้นพร้อมได้ ไหมหนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของความเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรม เป็นบาป อกุศล เป็นอเนกเหล่านี้ กล่าวคือการใช้อาวุธไม่มีคม การใช้อาวุธมีคม การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวคำหยาบว่า “มึง ! มึง !” การพูดคำส่อเสียด และการกล่าวเท็จ นั้นคือการหวงกั้น
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงมีการหวงกั้น” ดังนี้ เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.
ดูก่อนอานนท์! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดย ปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับ หัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงมีการหวงกั้น” ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าความตระหนี่ จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหนๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ แล้วไซร้ เมื่อความตระหนี่ไม่มี เพราะความดับ ไปแห่ง ความตระหนี่ โดยประการทั้งปวงแล้ว การหวงกั้น จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหม หนอ ?
(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือ ปัจจัยของการหวงกั้น นั้นคือ ความตระหนี่
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยความจับอกจับใจจึงมีความตระหนี่” ดังนี้ เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.
ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบ อธิบาย โดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับ หัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เพราะอาศัยความ จับอก จับใจ จึงมีความตระหนี่” ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าความจับอกจับใจ จักไม่ได้ มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ แล้วไซร้ เมื่อความจับอกจับใจ ไม่มี เพราะความ ดับไปแห่ง ความจับอกจับใจ โดยประการทั้งปวงแล้ว ความตระหนี่ จะมีขึ้น มาให้เห็นได้ ไหม หนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของความตระหนี่ นั้นคือ ความจับอกจับใจ
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยความสยบมัวเมา จึงมีความจับอก จับใจ” ดังนี้ เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้เธอต้อง ทราบ อธิบายโดยปริยาย ดังต่อไปนี้ที่ตรงกับ หัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เพราะอาศัย ความ สยบ มัวเมา จึงมีความจับอกจับใจ” ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหาก ความสยบมัวเมา จักไม่ได้ มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ แล้วไซร้ เมื่อความสยบ มัวเมาไม่มี เพราะความดับไปแห่ง ความสยบมัวเมา โดยประการทั้งปวงแล้ว ความจับอกจับใจ จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหม หนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของความจับอกจับใจ นั้นคือ ความสยบมัวเมา
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยความพอใจ จึงมี ความสยบมัวเมา” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้ แล้วว่า “เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยความพอใจ จึงมีความสยบมัวเมา”
ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่า ความ กำหนัดด้วยความพอใจ จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ แล้วไซร้ เมื่อความกำหนัดด้วยความพอใจ ไม่มี เพราะความดับไปแห่ง ความกำหนัดด้วยความพอใจ โดยประการทั้งปวงแล้ว ความสยบมัวเมา จะมีขึ้นมาให้ เห็น ได้ไหมหนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือ ปัจจัย ของความสยบมัวเมา นั้นคือ ความกำหนัด ด้วยความพอใจ
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยความปลงใจรัก จึงมีความกำหนัด ด้วยความพอใจ” ดังนี้ เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เพราะ อาศัยความปลงใจรัก จึงมีความกำหนัดด้วยความพอใจ” ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่า ความปลงใจรักจักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดย ทุกอาการแล้วไซร้ เมื่อความปลงใจรักไม่มี เพราะความดับไปแห่ง ความปลงใจรัก โดยประการทั้งปวงแล้ว ความกำหนัดด้วยความพอใจ จะมีขึ้นมาให้เห็น ได้ไหมหนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นและคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของความกำหนัดด้วยความพอใจ นั้นคือ ความปลงใจรัก
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยการได้ จึงมีความปลงใจรัก” ดังนี้ เช่นนี้แลเป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบาย โดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เพราะอาศัยการได้ จึงมีความปลงใจรัก” ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าการได้ จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ แล้วไซร้ เมื่อการได้ไม่มี เพราะความดับไปแห่งการ ได้โดย ประการทั้งปวงแล้ว ความปลงใจรัก จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของความปลงใจรัก นั้นคือการได้
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมีการได้” ดังนี้เช่นนี้แลเป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบาย โดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมีการได้” ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าการแสวงหา จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ แล้วไซร้ เมื่อการแสวงหาไม่มี เพราะความดับไปแห่งการ แสวงหา โดยประการทั้งปวงแล้ว การได้ จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุนั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของการได้ นั้นคือ การแสวงหา
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยตัณหา จึงมีการแสวงหา” ดังนี้ เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบาย โดย ปริยาย ดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เพราะอาศัยตัณหา จึงมีการ แสวงหา” ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าตัณหา จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ กล่าวคือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา แล้วไซร้ เมื่อตัณหาไม่มี เพราะความดับไปแห่งตัณหา โดยประการทั้งปวงแล้ว การแสวงหา จะมีขึ้นมาให้เห็น ได้ไหมหนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของการแสวงหา นั้นคือ ตัณหา
[๖๐](ฉบับหลวง) ๒. มหานิทานสูตร (๑๕)
ดูก่อนอานนท์ ! ก็ด้วยอาการดังนี้ แล (เป็นอันกล่าวได้ว่า) ธรรมทั้งสอง๑ เหล่านี้ รวมเป็นธรรมที่มีมูล อันเดียวกันในเวทนา คือเวทนาอย่างเดียวก็เป็นมูลสำหรับ ให้เกิด ตัณหาแต่ละอย่าง ๆ ทั้งสองอย่างได้
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เวทนามี เพราะปัจจัยคือผัสสะ” ดังนี้ เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยาย ดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เวทนามี เพราะปัจจัยคือผัสสะ” ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าผัสสะ จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดย ทุกอาการ กล่าวคือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโน สัมผัส แล้วไซร้ เมื่อผัสสะไม่มี เพราะความดับไปแห่งผัสสะ โดยประการทั้งปวงแล้ว เวทนา จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ? (ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของเวทนา นั้นคือ ผัสสะ
-----------------------------------------------------------------------------------------
๑. ธรรมทั้งสองในที่นี้ คือ ตัณหา ในบทว่า “เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา” นี้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง คือ ตัณหา ที่ทำหน้าที่แสวงหาอารมณ์หรือเพลิดเพลินในอารมณ์ รวมเป็นสอง อย่าง ด้วยกัน อย่างแรก ได้ในบทว่า โปโนพฺภวิกา, ที่อรรถกถาเรียกว่า วัฏฏมูลตัณหา อย่างหลังได้ในบทว่า ตตฺรตตฺราภินนฺทินี หรือที่อรรถกถาเรียกว่า สมุทาจารตัณหา.
-----------------------------------------------------------------------------------------
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “ผัสสะมี เพราะปัจจัยคือ นามรูป” ดังนี้ เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยาย ดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “ผัสสะมี เพราะปัจจัยคือนามรูป๑”
นาม รูป
ดูก่อนอานนท์ ! การบัญญัติซึ่ง หมู่แห่งนาม ย่อมมีได้โดยอาศัยอาการ ลิงค์ (เพศ) นิมิต อุเทศ ทั้งหลายเป็นหลัก เมื่ออาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ เหล่านั้น ไม่มีเสียแล้ว การสัมผัส ด้วยการเรียกชื่อ (อธิวจนสมฺผสฺโส) ในกรณีอันเกี่ยวกับ รูปกาย จะมีขึ้นมา ให้เห็นได้ไหม หนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! การบัญญัติซึ่ง หมู่แห่งรูป ย่อมมีได้โดยอาศัยอาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ ทั้งหลายเป็นหลัก เมื่ออาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ เหล่านั้น ไม่มีเสียแล้ว การสัมผัส ด้วยการกระทบ (ปฏิฆสมฺผสฺโส) ในกรณีอันเกี่ยวกับ นามกาย จะมี ขึ้นมา ให้เห็นได้ไหม หนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! การบัญญัติซึ่ง หมู่แห่งนามด้วย ซึ่ง หมู่แห่งรูปด้วย ย่อมมีได้ โดยอาศัยอาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ ทั้งหลายเป็นหลัก เมื่ออาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ เหล่านั้น ไม่มีเสียแล้ว การสัมผัสด้วยการเรียกชื่อ ก็ดี การสัมผัสด้วยการกระทบ ก็ดี จะมีขึ้นมาให้ เห็นได้ไหมหนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! การบัญญัติซึ่งนามรูป ย่อมมีได้โดยอาศัยอาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ ทั้งหลายเป็นหลัก เมื่ออาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ เหล่านั้น ไม่มีเสียแล้ว ผัสสะ จะมีขึ้นมา ให้เห็นได้ไหมหนอ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
-----------------------------------------------------------------------------------------
๑. พึงสังเกตไว้ว่า ปฏิจจสมุปบาท แบบที่หยุดลงเพียงนามรูป-วิญญาณ ไม่เลยขึ้นไปถึง สังขาร และอวิชชานี้ สำหรับ สูตรนี้ ไม่มี สฬายตนะ เหมือนสูตรอื่น ๆ แห่งแบบนี้.
-----------------------------------------------------------------------------------------
ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้นแหละ ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือ นิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของผัสสะ นั้นคือ นามรูป.
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “นามรูปมี เพราะปัจจัยคือวิญญาณ” ดังนี้ เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.
ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบาย โดยปริยาย ดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า นามรูปมี เพราะปัจจัย คือ วิญญาณ
ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณ จักไม่ก้าวลงในท้องแห่งมารดา แล้วไซร้ นามรูป จักปรุงตัวขึ้นมาในท้องแห่ง มารดา ได้ไหม ? (ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณก้าวลงในท้องแห่งมารดาแล้ว* จักสลายลง เสียแล้วไซร้ นามรูป จักบังเกิดขึ้น เพื่อความเป็นอย่างนี้ได้ไหม ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณของเด็กอ่อน ที่เป็นชายก็ตาม เป็นหญิงก็ตาม จักขาดลงเสียแล้วไซร้ นามรูป จักถึงซึ่งความเจริญ ความงอกงาม ความไพบูลย์บ้าง หรือ ? (“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของ นามรูป นั้นคือ วิญญาณ
-----------------------------------------------------------------------------------------
* ข้อความนี้ เป็นข้อความที่มีลักษณะเป็นปฏิจจสมุปบาทอย่างภาษาคน, หรือภาษาศีลธรรม. แต่เราอาจถือเอา ข้อความนี้ เป็นเพียงอุปมา แล้วถือเอาข้อความในภาษาธรรมเป็นอุปไมย. หรือมิฉะนั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องศีลธรรม โดยส่วนเดียว.
-----------------------------------------------------------------------------------------
ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “วิญญาณมี เพราะปัจจัยคือนามรูป” ดังนี้ เช่นนี้ แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดย ปริยาย ดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “วิญญาณมี เพราะปัจจัยคือ นามรูป”
ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญาณ จักไม่ได้มีที่ตั้งที่อาศัยในนามรูป แล้วไซร้ ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งทุกข์ คือชาติชรามรณะต่อไป จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหม ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)
ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้นแหละ ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือ นิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของวิญญาณ นั่นคือ นามรูป.
ดูก่อนอานนท์ ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ สัตว์โลก จึงเกิดบ้าง จึงแก่บ้าง จึงตายบ้าง จึงจุติบ้าง จึงอุบัติบ้าง คลองแห่งการเรียก (อธิวจน) ก็มีเพียงเท่านี้ คลองแห่งการพูดจา (นิรุตฺติ) ก็มีเพียงเท่านี้ คลองแห่งการบัญญัติ (ปญฺญตฺติ) ก็มี เพียงเท่านี้ เรื่องที่จะต้องรู้ ด้วย ปัญญา (ปญฺญาวจร) ก็มีเพียงเท่านี้ ความเวียนว่าย ในวัฏฏะ ก็มีเพียงเท่านี้ นามรูปพร้อมทั้งวิญญาณตั้งอยู่ เพื่อการบัญญัติ ซึ่งความเป็น อย่างนี้ (ของนามรูปกับวิญญาณ นั่นเอง).
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่องต่อไป (Page 954)
(ธาตุ ๓ อย่าง เป็นที่ตั้งแห่งความเป็นไปได้ของปฏิจจสมุปบาท๑)
|