เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
ลักขณสูตร คำทำนายมหาปุริสลัษณะ 32 และเหตุปัจจัย ที่ทำให้ได้ลักษณะนั้น 745
 

(เนื้อหาพอสังเขป)

คำทำนายของพราหมณ์
มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการเหล่านี้ ย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
   
ถ้าครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงธรรมเป็น พระราชาโดยธรรม
   
ถ้าออกผนวช จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

เหตุที่ได้เป็น มหาปุริสลักษณะของ พระมหาบุรุษ ๓๒
  - สัตว์ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
  - เพราะกรรมนี้อันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์
  - ผลกรรมที่สั่งสมทำให้ได้ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ ความเป็นอธิบดีทิพย์ รูปทิพย์...
  - ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นมนุษย์ย่อมได้มหาปุริสลักษณะนี้

สิ่งที่ฤาษีหรือพราหมณ์ทำไม่ได้
พวกฤาษีทรงจำมหาปุริสลักษณะของ พระมหาบุรุษ ๓๒ เหล่านี้ได้ แต่ไม่อาจทราบเหตุปัจจัยได้

ตถาคตสั่งสมกรรมดีไม่มากมาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน สมาทานมั่นในกุศลธรรม มีสมาทานไม่ ถอยหลัง ในกายสุจริต ในวจีสุจริต ในมโนสุจริต ในการบำเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษา อุโบสถ ในการปฏิบัติดีต่อมารดา ต่อบิดา ต่อสมณะ ปฏิบัติดีต่อพรหม เคารพต่อผู้ใหญ่... เพราะกรรมนั้น อันตนทำสั่งสม พอกพูนไพบูลย์

ยกตัวอย่างบางเรื่อง ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ได้ปุริสลักษณะ
เหตุ : ตถาคตเว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ว วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มีความ ละอาย มีความกรุณา หวังประโยชน์ แก่สัตว์ทั้งปวง
ผล : มีพระชนมายุยืน ดำรงอยู่นาน อภิบาลพระชนมายุยืนยาว ไม่มีใครๆ ที่เป็นมนุษย์ซึ่งเป็นข้าศึกศัตรู สามารถ ปลงพระชนม์ชีพ ในระหว่างได้

เหตุ : ผู้นำความสุขมาให้แก่ชนมาก บรรเทาภัยคือความหวาดกลัว และความหวาดเสียว
ผล : มีซี่กำพันหนึ่งมี กง มีดุมโดยรอบ ในฝ่าพระบาททั้งสอง

เหตุ :  ตถาคตทราบว่าการฆ่า อันเป็นเหตุให้สัตว์ตาย ว่าเป็นภัยแก่ตน เป็นผู้เว้น ขาดแล้ว
ผล : มีส้นพระบาทงาม..กายตรงคล้ายกายพรหม.. มีพระพาหางาม.. เป็นหนุ่มทรวดทรง สวย..นิ้วพระหัตถ์ และนิ้ว พระบาทยาวอ่อนดังปุยฝ้าย

เหตุ : ตถาคตเป็นผู้ให้ของที่ควรเคี้ยว และของที่ควรบริโภคอันประณีต และมีรสอร่อย และให้น้ำที่ควรซด ควรดื่ม
ผล : มีมังสะ อูม(มีกล้ามเนื้ออูม-นูน) ในที่ ๗ สถาน คือที่หลังพระหัตถ์ทั้งสอง.. . หลังพระบาททั้งสอง.. บนพระอังสา ทั้งสอง..ที่ลำพระศอ ฯลฯ

มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ
๑. ฝ่าท้าเรียบเท่ากัน
๒. ใต้ฝ่าเท้า มีจักร มีซี่กำ ข้างละพันมีกง มีดุมบริบูรณ์
๓. ส้นเท้ายาว
๔. นิ้วมือ นิ้วเท้า ยาวเสมอกัน ไม่เหลื่อมเหมือนคนทั่วไป
๕. ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อ่อนนุ่ม
๖. ลายมือ ลายฝ่าเท้า มีลายดุจตาข่าย
๗. ส้นเท้าสูง เมือนสังข์คว่ำ
๘. หน้าแข้ง เรียวดุจแข้งเนื้อทราย
๙. ยืนไม่ย่อตัวลง ปลายนิ้วยาวถึงเข่า
๑๐. องคชาติซ่อนในฝัก
๑๑. ผิวงาม มีสีดุจทองคำ
๑๒. ผิวละเอียด มีสีดุจสีทอง
๑๓. ทุกรูขุมขน มีขน 1 เส้น
๑๔. ปลายขนช้อนขึ้นเวียนขวา สีดุจดอกอัญชัน
๑๕. กายตรงเหมือนกายพรหม
๑๖. เนื้อเต็ม 7 แห่ง บ่าทั้งสอง หลังมือ หลังเท้า คอ
๑๗. กายท่อนบนเหมือน ราชสีห์
๑๘. เนื้อแผ่นหลังเต็ม ไม่มีร่องเหมือนคนทั่วไป
๑๙. ความสูง เท่ากับ 1 วาพอดี
๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากัน
๒๑. มีประสาทรับรสอันเลิศ
๒๒. มีคางดุจราชสีห์
๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่
๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน
๒๕. มีพระทนต์ชิดเป็นระเบียบ 
๒๖. มีเขี้ยวสีขาวงาม
๒๗. มีลิ้นกว้างใหญ
๒๘. สุรเสียงดุจเสียงพรหม สำเนียงเหมือนก กรวิก
๒๙. ตาดำเข้มเป็น สีนิล
๓๐. ดวงตา ดุจตาวัว
๓๑. ขนระหว่างคิ้วมีสีขาว อ่อนนุ่มเหมือนสำลี
๓๒. มีพระเศียร รับกับรูปหน้า



ปุริสลักษณะ 32 ประการ (แยกตามอวัยวะ)

กาย
1.กาย- กายตรงเหมือนกายพรหม
2.กาย- กายท่อนบนเหมือนกายของราชสีห์
3.กาย- ความสูง เท่ากับ 1 วาพอดี
4.กาย- เนื้อเต็ม 7 แห่ง บ่าทั้งสอง หลังมือ หลังเท้า และคอ
5.กาย- เนื้อแผ่นหลังเต็ม ไม่มีร่องเหมือนคนทั่วไป
6.กาย- ยืนไม่ย่อตัวลง ปลายนิ้วยาวถึงเข่า

ฟัน
7.ฟัน- มีฟัน ๔๐ ซี่
8.ฟัน- มีเขี้ยวสีขาวงาม
9.ฟัน- มีฟันชิดเป็นระเบียบ 
10.ฟัน- มีฟันเรียบเสมอกัน

เท้า
11.เท้า- ใต้ฝ่าเท้า มีจักร มีซี่กำ ข้างละพันมีกง มีดุมบริบูรณ์
12.เท้า- ฝ่าท้าเรียบเท่ากัน
13.เท้า- ส้นเท้ายาว
14.เท้า- ส้นเท้าสูง เมือนสังข์คว่ำ

ขน
15.ขน-รูขุมขน มีขน 1 เส้น
16.ขน-ปลายขน ช้อนขึ้นเวียนขวา สีดุจดอกอัญชัน
17.ขน-ขนระหว่างคิ้วมีสีขาว อ่อนนุ่มเหมือนสำลี

ตา
18.ตา-ตาดำเข้มเป็น สีนิล
19.ตา-ตาดุจตาวัว

ผิว
20.ผิว-ผิวงาม มีสีดุจทองคำ
21.ผิว-ผิวละเอียด มีสีดุจสีทอง

มือ
22.มือ-ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อ่อนนุ่ม
23.มือ-ลายมือ ลายฝ่าเท้า มีลายดุจตาข่าย

อื่นๆ
24.ศรีษะ- ศรีษะรับกับรูปหน้า
25.คอ-ลำคอกลมเท่ากัน
26.คาง- มีคางดุจราชสีห์
27.ลื้น- มีลิ้นกว้างใหญ่
28.นิ้ว- นิ้วมือ นิ้วเท้า ยาวเสมอกัน ไม่เหลื่อมเหมือนคนทั่วไป
29.อวัยวะพศ-องคชาติซ่อนในฝัก
30.หน้าแข้ง- เรียวดุจแข้งเนื้อทราย
31.เสียง- สุรเสียงดุจเสียงพรหม สำเนียงเหมือน นกกรวิก
32.ประสาท- มีประสาทรับรสอันเลิศ

 
 
 


ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค หน้าที่ ๑๑๓

๗. ลักขณสูตร (๓๐)


                [๑๓๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัส เรียกภิกษุทั้งหลายว่า

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัส พระพุทธพจน์นี้ว่า

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระมหาบุรุษผู้สมบูรณ์ด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ เหล่านี้ ย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ

        ถ้าครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงธรรมเป็น  พระราชา โดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้าง แก้ว ม้าแก้ว แก้วมณีนางแก้ว คฤหบดี แก้ว ปริณายกแก้วเป็นที่ ๗ พระราชบุตรของพระองค์ มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญมีรูปทรง สมเป็น วีรกษัตริย์สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม โดยเสมอมิต้องใช้ศัสตรา มิต้องใช้อาชญา มิได้มีเสนียด ครอบครองแผ่นดิน มีสาครเป็นขอบเขต มิได้มีเสาเขื่อน มิได้มีนิมิต ไม่มีเสี้ยนหนาม สำเร็จแพร่หลาย มีความเกษมสำราญ

        ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคา คือ กิเลสอันเปิดแล้วในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการนั้นเป็นไฉน ซึ่งพระมหาบุรุษประกอบแล้วย่อม มีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือถ้าครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ

        อนึ่งถ้าพระมหาบุรุษนั้น เสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระมหาบุรุษ ในโลกนี้    

๑. มีพระบาทประดิษฐานเป็นอันดี ภิกษุทั้งหลาย การที่พระมหาบุรุษมีพระบาท ประดิษฐานเป็นอันดี นี้เป็นมหาปุริสลักษณะของมหาบุรุษ
๒. ณ พื้นภายใต้ฝ่าพระบาท ๒ ของพระมหาบุรุษ มีจักรเกิดขึ้น มีซี่กำ ข้างละพันมีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ภิกษุทั้งหลายแม้การที่พื้นภายใต้ฝ่าพระบาททั้ง ๒ ของพระมหาบุรุษ มีจักรเกิดขึ้น มีซี่กำข้างละพัน มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง นี้ก็ มหาปุริสลักษณะของพระมหาบุรุษ
๓. มีส้นพระบาทยาว
๔. มีพระองคุลียาว (นิ้วมือนิ้วเท้า ยาวเสมอกัน ไม่เหลื่อมกันเหมือนคนทั่วไป)
๕. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม
๖. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย
๗. มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ (มีข้อเท้าอยู๋สูง)
๘. มีพระชงฆ์รี(แข้ง)เรียวดุจแข้งเนื้อทราย
๙. เสด็จสถิตยืนอยู่มิได้น้อมลง เอาฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองลูบคลำได้ถึงพระชาณุ(เข่า)ทั้งสอง
๑๐. มีพระคุยหะ(องคชาติ)เร้นอยู่ในฝัก
๑๑. มีพระฉวีวรรณดุจวรรณะแห่งทองคำ คือ มีพระตจะ ประดุจหุ้ม ด้วยทอง
๑๒. มีพระฉวีละเอียด เพราะพระฉวีละเอียด ธุลีละอองจึงมิติดอยู่ในพระกายได้
๑๓. มีพระโลมชาติ(ขน)เส้นหนึ่งๆ เกิดในขุมละเส้นๆ
๑๔. มีพระโลมชาติมีปลายขึ้นช้อยขึ้นข้างบน มีสีเขียว มีสีเหมือนดอกอัญชัญขดเป็น กุณฑลทักษิณาวัฏ
๑๕. มีพระกายตรงเหมือนกายพรหม
๑๖. มีพระมังสะ(เนื้อ)เต็มในที่ ๗ สถาน (หลังมือ หลังเท้า บ่าทั้งสอง และคอ)
๑๗. มีกึ่งพระกายท่อนบนเหมือนกึ่งกายท่อนหน้าของสีหะ
๑๘. มีระหว่างพระอังสะ(เนื้อ)เต็ม
๑๙. มีปริมณฑลดุจไม้นิโครธ วาของพระองค์ เท่ากับพระกายของพระองค์ พระกาย ของพระองค์ก็เท่ากับวาของพระองค์
๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากัน
๒๑. มีปลายเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารอันดี
๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์
๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่
๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน
๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่าง 
๒๖. มีพระทาฐะ(เขี้ยว)ขาวงาม
๒๗. มีพระชิวหาใหญ
๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงแห่งพรหม ตรัสมีสำเนียงดังนกกรวิก
๒๙. มีพระเนตรดำสนิท [ดำคม]
๓๐. มีดวงพระเนตรดุจตาแห่งโค
๓๑. มีพระอุณณาโลมบังเกิด ณ ระหว่างพระขนง มีสีขาวอ่อน ควรเปรียบด้วยนุ่น
๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้การที่พระมหา บุรุษมีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์นี้ ก็เป็นมหาปุริสลักษณะของ พระมหาบุรุษนั้น

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการเหล่านี้แล ที่มหาบุรุษประกอบ แล้ว ย่อมเป็นเหตุให้มีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น

        คือถ้าครองเรือนจะได้เป็น พระเจ้าจักรพรรดิ์ ฯลฯ อนึ่ง ถ้าพระมหา บุรุษนั้น ออกจากเรือนทรงผนวชเป็นบรรพชิต จะเป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า มีหลังคา คือ กิเลสอันเปิดแล้วในโลก

        ภิกษุทั้งหลาย พวกฤาษีแม้เป็นภายนอก ย่อมทรงจำมหาปุริสลักษณะของ พระมหาบุรุษ ๓๒ เหล่านี้ได้ แต่ฤาษีทั้งหลายนั้นย่อมไม่ทราบว่าเบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก สัตว์ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนี้อันตนทำสั่งสมพอกพูน ไพบูลย์ สัตว์ที่บำเพ็ญกุศลกรรมนั้น ย่อมครอบงำเทวดาทั้งหลายอื่น ในโลกสวรรค์ โดยสถาน ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ ความสุข ทิพย์ ยศทิพย์ ความเป็น อธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ และโผฏฐัพพทิพย์ ครั้นจุติ จากโลกสวรรค์นั้น แล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้

               
[๑๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ใน ชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้มีสมาทานมั่นในกุศลธรรม มีสมาทานไม่ถอยหลังในกายสุจริต ในวจีสุจริต ใน มโนสุจริต ในการบำเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในการปฏิบัติดี ในมารดา ในการปฏิบัติดีในบิดา ในการปฏิบัติดีในสมณะ ในการปฏิบัติดีในพรหม ในความเป็นผู้เคารพต่อผู้ใหญ่ในสกุล และในธรรม เป็นอธิกุศลอื่นๆ ตถาคตย่อม เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทำสั่งสม พอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมครอบงำเทวดาทั้งหลาย อื่นในโลกสวรรค์โดยสถาน ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ ความสุขทิพย์ ยศทิพย์ ความเป็นอธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ และโผฏฐัพพทิพย์ ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้วมาถึงความเป็น อย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริส ลักษณะนี้

                [๑๓๒] พระมหาบุรุษนั้น มีพระบาทตั้งอยู่เฉพาะเป็นอันดี คือ ทรงเหยียบ พระบาทเสมอกันบนพื้น ทรงยกพระบาทขึ้นก็เสมอกัน ทรงจดภาคพื้น ด้วยฝ่าพระบาท ทุกส่วนเสมอกัน พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครอง เรือน จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ดำรงอยู่ในธรรมเป็นอิสระ ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต

        ทรงชำนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคงสมบูรณ์ด้วยรตนะ ๗ ประการ คือ จักรรัตน์ หัสดีรัตน์ อัสวรัตน์ มณีรัตน์ อิตถีรัตน์ คฤบดีรัตน์ ปริณายกรัตน์เป็นที่ ๗ และมี พระราชโอรสมากกว่าพันล้วนเป็นผู้แกล้วกล้า มีพระรูป สมเป็น วีรกษัตริย์ สามารถ ย่ำยีเสนาแห่งปรปักษ์เสียได้ และพระมหาบุรุษนั้น ทรงชนะโดยธรรม มิต้องใช้ อาชญามิต้องใช้ศัสตรา ปกครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็นขอบเขต มิได้มีเสาเขื่อน มิได้มีนิมิต ไม่มีเสี้ยนหนาม มั่งคั่งแพร่หลาย มีความเกษม สำราญ มิได้มีเสนียด เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้ผลข้อนี้คือไม่มีใครๆ ที่เป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นข้าศึกศัตรู จะพึงข่มได้

        อนึ่งถ้าพระมหาบุรุษนั้น ออกจากเรือน ทรงผนวชเป็นบรรพชิต จะเป็นพระ อรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า จะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้ผล ข้อนี้ คือ ไม่มีเหล่าข้าศึกศัตรูภายใน หรือ ภายนอก คือราคะ โทสะ โมหะ หรือ สมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม ใครๆ ในโลกจะ พึงข่มได้ พระผู้มีพระภาคตรัส เนื้อความนี้ไว้ พระโบราณกเถระ ทั้งหลายจึงกล่าว คาถาประพันธ์นี้ ในพระลักษณะนั้นว่าฯ


                [๑๓๓] พระมหาบุรุษยินดีในวจีสัจในธรรม [กุศลกรรมบถ] ความฝึกตน ความสำรวม ความเป็นผู้สะอาด ศีลที่เป็นอาลัย อุโบสถกรรม ความไม่เบียดเบียน เหล่าสัตว์ และ กรรมอันไม่สาหัส สมาทานแล้วมั่นคง ทรงประพฤติมาแล้ว อย่างรอบคอบ เพราะกรรม นั้น พระมหาบุรุษจึงหลีกไปสู่ไตรทิพย์ เสวยความสุขและสมบัติเป็นที่เพลิดเพลินยินดี จุติจากไตรทิพย์แล้ว เวียนมาในโลกนี้ เหยียบปฐพีด้วยฝ่าพระบาทอันเรียบ

        พวกพราหมณ์ ผู้ทำนายพระลักษณะมาประชุมกันแล้วทำนายว่า พระราชกุมารนี้ มีฝ่าพระบาทประดิษฐานเรียบ เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ก็ไม่มีใคร ข่มได้ พระลักษณะ นั้น ย่อมเป็นนิมิตส่อง เนื้อความนั้น พระราชกุมารนี้เมื่ออยู่ครองฆราวาส ไม่มีใคร สามารถ ข่มได้ มีแต่ครอบงำพวกปรปักษ์เหล่าศัตรูมิอาจย่ำยีได้ใครๆ ที่เป็นมนุษย์ ในโลกนี้ หาข่มได้ไม่ เพราะผลแห่งกุศล กรรมนั้น ถ้าพระราชกุมารเช่นนั้น เข้าถึง บรรพชา ทรงยินดียิ่งด้วยความพอใจในเนกขัมมะ จะมีพระปรีชาเห็นแจ่มแจ้ง เป็นอัครบุคคล ไม่ถึงความเป็นผู้อันใครๆ ข่มได้ ย่อมเป็นผู้สูงสุดกว่านรชน อันนี้แล เป็นธรรมดา ของ พระกุมารนั้น

                [๑๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อนได้ เป็นผู้นำความสุขมาให้แก่ชนเป็นอันมาก บรรเทาภัยคือความ หวาดกลัว และความ หวาดเสียว จัดความรักษาปกครองป้องกันโดยธรรม และบำเพ็ญทาน พร้อมด้วยวัตถุ อันเป็นบริวาร เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลก สวรรค์ เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสม พอกพูนไพบูลย์ ฯ

        ตถาคตย่อมครอบงำเทวดาทั้งหลายอื่น ในโลกสวรรค์โดยสถาน ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ ความสุขทิพย์ ยศทิพย์ ความเป็นอธิบดีทิพย์ รูปทิพย์  เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์และโผฏฐัพพทิพย์

        ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้ว มาถึงความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ เฉพาะซึ่ง มหาปุริสลักษณะ นี้ คือในฝ่าพระบาททั้ง ๒ มีจักรเกิดเป็นอันมาก มีซี่กำพันหนึ่ง มีกง มีดุม บริบูรณ์ ด้วยอาการทั้งปวง มีระหว่างอันกุศลกรรมแบ่งเป็นอันดี พระมหาบุรุษ สมบูรณ์ ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือน จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ฯลฯ

        เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา จะได้ผลข้อนี้ คือมีบริวารมาก คือ มีบริวาร เป็นพราหมณ์ เป็นคฤหบดี เป็นชาวนิคม เป็นชาวชนบท เป็นโหราจารย์ เป็นมหาอำมาตย์ เป็นกองทหาร เป็นนายประตู เป็นอำมาตย์ เป็นบริษัท เป็นเจ้า เป็นเศรษฐี เป็นราชกุมาร ถ้าพระมหาบุรุษนั้น ออกจากเรือนทรงผนวชเป็นบรรพชิต จะเป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลกเมื่อเป็นพระ พุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็น พระพุทธเจ้าจะได้ผลข้อนี้ คือ มีบริวารมาก คือ มีบริวาร เป็นภิกษุ เป็นภิกษุณี เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นอสูร เป็นนาค เป็นคนธรรพ์ พระผู้มีพระภาคตรัส เนื้อความนี้ไว้ พระโบราณกเถระ ทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะนั้นว่า

                [๑๓๕] พระมหาบุรุษเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนๆ ผู้นำความสุข มาให้ แก่ชนมาก บรรเทาภัยคือความหวาดกลัว และความหวาดเสียว ขวนขวาย ในความคุ้มครอง รักษา ป้องกัน เพราะกรรมนั้น พระมหาบุรุษจึงหลีกไปสู่ไตรทิพย์ เสวยความสุข และสมบัติ เป็นที่เพลิดเพลินยินดี ครั้นจุติจากไตรทิพย์ล้ว  เวียนมา ในโลกนี้ ย่อมได้ลายจักร ทั้งหลาย มีซี่กำพันหนึ่งมี กง มีดุมโดยรอบ ในฝ่าพระบาท ทั้ง ๒

        พวกพราหมณ์ผู้ ทำนายลักษณะ มาประชุมกันแล้วเห็นพระราชกุมารมี ลักษณะ อันเกิดด้วยบุญเป็นร้อยๆ แล้วทำนายว่า พระราชกุมารนี้จักมีบริวาร ย่ำยีเสียซึ่งศัตรู เพราะจักรทั้งหลาย มีกง โดยรอบอย่างนั้น ถ้าพระราชกุมารเช่นนั้นไม่เข้าถึงบรรพชา จะยังจักรใหเป็นไป และปกครองแผ่นดิน มีกษัตริย์ที่มียศมากเป็นอนุยนต์ติดตาม
ห้อมล้อมพระองค์ ถ้าและพระราชกุมารเช่นนั้น เข้าถึงบรรพชา เป็นผู้ยินดียิ่ง ด้วยความพอใจในเนกขัมมะ จะมีพระปรีชาเห็นแจ่มแจ้ง พวกเทวดา มนุษย์ อสูร ท้าวสักกะยักษ์ คนธรรพ์ นาค วิหค และสัตว์ ๔ เท้า ที่มียศมากจะห้อมล้อมพระองค์ ผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว

                [๑๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน  กำเนิดก่อนละ ปาณาติบาตแล้ว เว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ว วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มีความ ละอาย มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่  ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรม นั้น อันตนทำสั่งสมพอกพูน ไพบูลย์ ตถาคตย่อมครอบงำ เทวดาทั้งหลายอื่นในโลก สวรรค์ โดยสถาน ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ ความสุขทิพย์ ยศทิพย์ความเป็น อธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ และโผฏฐัพพ ทิพย์

        ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริส ลักษณะ ๓ ประการ คือส้นพระบาทยาว ๑ มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาท ยาว ๑ มีพระกายตรง ดังว่ากาย แห่งพรหม ๑ พระมหาบุรุษนั้นสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ทั้งหลาย นั้น ถ้าอยู่ครองเรือน จะเป็นพระเจ้า จักรพรรดิ์ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชา จะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาได้ผลข้อนี้ คือ มีพระชนมายุยืน ดำรงอยู่นาน อภิบาลพระชนมายุ ยืนยาว ไม่มีใครๆ ที่เป็นมนุษย์ซึ่งเป็นข้าศึกศัตรูสามารถ ปลงพระชนม์ชีพ ในระหว่างได้

        ถ้าพระมหาบุรุษนั้น ออกจากเรือนทรงผนวชเป็น บรรพชิต จะเป็น พระอรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อ เป็นพระพุทธเจ้า จะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้ผลข้อนี้ คือ มีพระชนมายุ ยืนดำรงอยู่นาน ทรงอภิบาล พระชนมายุยืนยาว ไม่มีข้าศึกศัตรูจะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา พรหม มาร ใครๆ ในโลก สามารถปลงพระชนม์ชีพในระหว่างได้ พระผู้มีพระภาคตรัส เนื้อความนี้ไว้ พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์ นี้ในพระลักษณะ เหล่านั้นว่า

                [๑๓๗] พระมหาบุรุษทรงทราบว่าการฆ่า อันเป็นเหตุให้สัตว์ตายว่า เป็นภัย แก่ตนได้ เป็นผู้เว้น ขาดแล้ว เบื้องหน้าแต่มรณะ ได้ไปแล้วสู่สวรรค์ เพราะกรรม ที่ทรงประพฤติ ดีแล้วนั้น เสวยวิบาก อันเป็นผลแห่งกรรมที่ทรงทำดีแล้ว จุติ [จากสวรรค์] แล้วเวียนมา ในโลกนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะ ๓ ในโลกนี้ คือ
มีส้นพระบาทยาวงาม ๑ พระกาย เกิดดีตรงสวยงาม ประหนึ่งว่ากาย พรหม มีพระพาหางาม มีความเป็นหนุ่มทรวดทรง สวยเป็นสุชาต ๑ มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้ว พระบาทยาวอ่อนดังปุยฝ้าย ๑ พระชนกเป็นต้น

        ทรงบำรุงพระราชกุมาร เพื่อให้มีพระชนมายุ เป็นไปนาน เพราะพระองค์ทรง สมบูรณ์ ด้วยปุริสลักษณะ ๓ ประการถ้าพระราชกุมารเป็นคฤหัสถ์ ก็จะให้พระชนม์ชีพ เป็นไปนาน ถ้าทรงผนวชก็จะให้พระชนม์ชีพเป็นไปนานกว่านั้น เพื่อให้วสี และ อิทธิเจริญไป พระลักษณะนั้นเป็นนิมิต เพื่อความเป็นผู้มีชนมายุยืนด้วยประการดังนี้

                [๑๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็น ผู้ให้ของที่ควรเคี้ยว และของที่ควรบริโภคอันประณีต และมีรสอร่อย และให้น้ำ ที่ควร ซดควรดื่ม ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะ กรรมนั้นอันตนทำสั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ 

        ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริส  ลักษณะนี้ คือมีมังสะอูม(กล้ามเนื้ออูม-นูน) ในที่ ๗ สถาน คือที่หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ ก็มีมังสะอูมที่หลัง พระบาททั้ง ๒ ก็มีมังสะอูม ที่บนพระอังสา(ไหล่) ทั้ง ๒ ก็มีมังสะอูม ที่ลำพระศอ ก็มีมังสะอูม พระมหาบุรุษสมบูรณ์ ด้วยลักษณะนั้นถ้าอยู่ครองเรือนจะเป็น พระเจ้าจักรพรรดิ์ ฯลฯ

        เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้ คือย่อมเป็นผู้ได้ ของที่ควรเคี้ยว และของที่ควรบริโภคอัน ประณีตและมีรสอร่อย และได้น้ำที่ควรซด ควรดื่ม ถ้าพระมหาบุรุษนั้น ออกจากเรือนทรงผนวช เป็นบรรพชิต จะเป็นพระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้ คือ ทรงได้ของที่ควรเคี้ยว และของที่ควรบริโภค อันประณีต และมีรสอร่อย และทรงได้น้ำที่ควรซดควรดื่ม พระผู้มีพระภาค ตรัส เนื้อความนี้ไว้ พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะนั้น ว่า

                [๑๓๙] พระมหาบุรุษอุดม เป็นผู้ให้ของที่ควรเคี้ยวและของที่ควร บริโภค และน้ำ ที่ควรซด ควรดื่ม มีรสอันเลิศ เพราะกรรมที่ทรงประพฤติดีแล้ว นั้น พระมหาบุรุษนั้น จึงบันเทิงใจอยู่นาน ในสวนนันทวัน มาในโลกนี้ย่อมได้ มังสะอูมเจ็ดแห่ง และได้พื้น พระหัตถ์ และพระบาท อ่อนนุ่ม บัณฑิตผู้ฉลาดในนิมิต แห่งลักษณะ กล่าวไว้เพื่อความ เป็นผู้ได้ของควรเคี้ยว และโภชนะ อันมีรสลักษณะ นั้น ใช่ว่าจะส่องอรรถ แม้แก่ พระมหาบุรุษผู้เป็นคฤหัสถ์เท่านั้น ถึงพระมหาบุรุษ ทรงผนวช ก็ได้ขัชชโภชนาทิวัตถุ นั้นเหมือนกัน พระองค์เป็นผู้ได้ ของ ควรเคี้ยว และโภชนะมีรสอันอุดม บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวแล้วว่าพระองค์เป็นผู้ตัด กิเลส เป็นเครื่องผูกของคฤหัสถ์ทั้งปวงเสีย

                [๑๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็น ผู้สงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ การให้ การกล่าว คำเป็นที่รัก การประพฤติ ให้เป็น ประโยชน์ และความเป็นผู้มีตนเสมอ ตถาคต ย่อมเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกเพราะกรรมนั้น อันตนทำ สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ

        ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริส ลักษณะ ทั้ง ๒ นี้ คือ พระหัตถ์และพระบาทมีพื้นอ่อนนุ่ม ๑ และมีพระหัตถ์ และ พระบาทมีลาย ดังว่าร่างข่าย ๑ พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้ง ๒ นั้น ถ้าอยู่ครองเรือน จะได้เป็น พระเจ้าจักรพรรดิ์ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา จะได้รับ ผลข้อนี้ คือมีบริวารชนอัน พระองค์ ทรงสงเคราะห์แล้ว เป็นอย่างดี บริวารชน ที่พระองค์ทรงสงเคราะห์เป็นอย่างดีนั้น เป็นพราหมณ์ เป็นคฤหบดี เป็นชาวนิคม เป็นชาวชนบท เป็นโหราจารย์ เป็นมหาอำมาตย์ เป็นกองทหารเป็นนายประตู เป็นอำมาตย์ เป็นบริษัท เป็นเจ้า เป็นเศรษฐี เป็นราชกุมาร ถ้าพระมหาบุรุษนั้น ออกจากเรือนทรงผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก

        เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้ คือ มีบริวารชน อันพระองค์ทรง สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี บริวารชนที่พระองค์ทรง สงเคราะห์ เป็นอย่างดีนั้น เป็นภิกษุ เป็นภิกษุณี เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นอสูร เป็นนาค เป็นคนธรรพ์ พระผู้มีพระภาคตรัส เนื้อความนี้ไว้ พระโบราณ กเถระทั้งหลายจึงกล่าวคาถา ประพันธ์นี้ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า

          [๑๔๑] พระมหาบุรุษ ทำแล้ว ประพฤติแล้ว ซึ่งการให้ ๑ ซึ่งความเป็น ผู้ประพฤติ ให้เป็นประโยชน์ ๑ ซึ่งความเป็นผู้กล่าวคำเป็นที่รัก ๑ ซึ่งความเป็น ผู้มีพระฉันทะเสมอกัน ๑ ให้เป็นความสงเคราะห์อย่างดีแก่ชนเป็นอันมาก ย่อมไปสู่สวรรค์ด้วยคุณอันตนมิได้ดูหมิ่น จุติ [จากสวรรค์] แล้วเวียนมาในโลกนี้ เป็นพระกุมารยังหนุ่มแน่นงดงามย่อมได้เฉพาะ ซึ่งความเป็น ผู้มีฝ่าพระหัตถ์ และฝ่า พระบาทอ่อนนุ่มด้วย ซึ่งความเป็นผู้มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาท มีลายเป็นร่าง ข่ายงามยิ่ง และมีส่วนสวยน่าชมด้วย

        พระองค์มาสู่แผ่นดินนี้ มีบริวารชนอันพระองค์พึงตรวจตราและสงเคราะห์ดี ตรัสถ้อยคำเป็นที่น่ารัก แสวงหาผลประโยชน์เกื้อกูลและความสุขให้ ทรงประพฤติ ความดีมากหลายที่พระองค์โปรดยิ่ง ถ้าพระองค์ทรงละความบริโภคกามารมณ์ทั้งปวง เป็นพระชินะตรัสธรรมกถาแก่ประชุมชน ประชุมชน ก็จะสนองคำของพระองค์ เลื่อมใสยิ่งนัก ครั้งฟังธรรมแล้ว ย่อมจะพากันประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ฯ

          [๑๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้กล่าววาจา ประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม แนะนำ ประชาชน เป็นอันมาก เป็นผู้นำประโยชน์ และความสุขมา ให้ แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้บูชาธรรม เป็นปรกติ ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ฯลฯ จุติจากโลก สวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะ

        ซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการนี้ คือมีพระบาทดุจสังข์คว่ำ ๑ มีพระโลมชาติ ล้วนมี ปลายช้อนขึ้น ข้างบนทุกๆเส้น ๑ พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้ง ๒ นั้น ถ้าอยู่ ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็น พระราชาจะได้รับผลข้อนี้ คือเป็นผู้เลิศประเสริฐ เป็นประธานสูงสุด ดีกว่าหมู่ชนที่ บริโภคกาม

        ถ้าพระมหาบุรุษออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าได้รับผล ข้อนี้ คือ เป็นผู้เลิศประเสริฐ เป็นประธานสูงสุด ดีกว่าสรรพสัตว์ พระผู้มีพระภาคตรัสเนื้อความนี้ไว้พระโบราณ กเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า

                [๑๔๓] พระมหาบุรุษ พิจารณาก่อน จึงกล่าวคำอันประกอบด้วยอรรถ และ ธรรมแสดงแล้วกะประชาชนเป็นอันมาก เป็นผู้นำประโยชน์และความสุข มาให้ แก่สัตว์ ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ตระหนี่ได้เสียสละบูชาธรรมแล้ว พระองค์ย่อม ไปสู่ สุคติ บันเทิงอยู่ ในสุคตินั้น เพราะกรรมอันพระองค์ประพฤติดีแล้ว มาในโลกนี้ ย่อมได้ลักษณะ ๒ ประการ เพื่อความเป็นผู้มีความสุขอันอุดม พระมหาบุรุษนั่นนั้น มีพระโลมชาติมีปลาย ช้อนขึ้นข้างบนและมีพระบาทดำรงอยู่แล้ว เป็นอันดี อัน พระมังสะ และโลหิตปิดบัง อันหนังหุ้มห่อแล้ว และมีพระเพลา เบื้องบนงาม พระมหาบุรุษเช่นนั้น ถ้าอยู่ครองเรือน จะถึงความเป็นผู้เลิศกว่าพวก ที่บริโภคกาม ไม่มีใครๆ ยิ่งกว่าพระองค์ทรงครอบงำ ชมพูทวีปเสียสิ้น

        อนึ่ง หากพระองค์ทรงผนวช ก็จะทรงพระวิริยะอย่างประเสริฐ ถึงความเป็นผู้เลิศ กว่าสรรพสัตว์ ไม่มีใครๆยิ่งกว่า พระองค์ได้ทรงครอบงำโลกทั้งปวงอยู่ ฯ

                [๑๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้ตั้งใจ สอน ศีลปะ วิชชา จรณะ [ข้อที่ควรประพฤติ] หรือกรรม [ปัญญาเป็นเครื่องรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน] ด้วยมนสิการว่า ทำไฉนชน ทั้งหลายนี้ พึงรู้เร็ว พึงสำเร็จเร็ว ไม่พึงลำบากนาน ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทำ สั่งสมพอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ

        ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ ความเป็นอย่างนี้ย่อมได้เฉพาะ ซึ่งมหาปุริส ลักษณะนี้ คือ มีพระชงฆ์เรียว ดังแข้ง แห่งเนื้อทรายพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วย ลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ฯลฯ

        เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้ คือจะทรงได้ เฉพาะ ซึ่ง หัตถาทิวาหนะอันคู่ควรแก่พระราชา ซึ่งเป็นองค์แห่งเสนาของพระราชา โดยพลัน ฯลฯ

        ถ้าพระมหาบุรุษนั้นออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลส อันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้ คือจะทรงได้เฉพาะ ซึ่งจีวราทิปัจจัยอันสมควร แก่สมณะ และจตุบริษัทอันเป็นองค์ของสมณะ และทรงได้บริขาร เป็นสมณูปโภค อันสมควรแก่สมณะ โดยพลัน พระผู้มีพระภาคตรัสเนื้อความนี้ไว้ พระโบราณกเถระ ทั้งหลายจึงกล่าวคาถา ประพันธ์นี้ในพระลักษณะนั้นว่า

                [๑๔๕] พระมหาบุรุษปรารถนาอยู่ว่า ทำไฉน พวกศึกษาเหล่านี้จะรู้ แจ่มแจ้งเร็ว ในศิลปะ ในวิชชา ในจรณะ และในกรรม และด่วนบอกศิลปะที่ไม่ เป็นไปเพื่อจะ เบียดเบียนแก่ใครๆ ด้วยความตั้งใจว่า ผู้ศึกษาจะไม่ลำบากนาน ครั้นทำ กุศลกรรม มีความสุข เป็นผลนั้นแล้ว ย่อมได้พระชงฆ์ทั้งคู่เป็นที่ชอบใจ มีทรวดทรงดี กลมกล่อม เป็นสุชาต เรียวไปโดยลำดับมีโลมชาติมีปลายช้อยขึ้น ข้างบน มีหนัง อันละเอียด หุ้มห่อแล้ว 

        บัณฑิตทั้งหลายชมพระมหาบุรุษนั้นว่า พระองค์มีพระชงฆ์ดังว่าแข้งแห่ง เนื้อทราย และชมพระลักษณะ คือโลมชาติเส้นหนึ่งๆ อันประกอบด้วยสมบัติที่ใครๆ ปรารถนารวม เข้าไว้ในที่นี้ พระมหาบุรุษ เมื่อยังไม่ทรง ผนวช ก็ได้ลักษณะนั้น ในที่นี้ เร็วพลัน ถ้าพระมหาบุรุษเช่นนั้นเข้าถึงบรรพชา ทรงยินดียิ่งแล้วด้วยความพอ พระทัยใน เนกขัมมะ มีพระปรีชาเห็นแจ่มแจ้งทรงพระวิริยะยอดเยี่ยม จะทรงได้พระลักษณะ เป็นอนุโลม แก่พระลักษณะที่สมควรเร็วพลัน

                [๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้เข้าหาสมณะ หรือพราหมณ์แล้วซักถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กรรม ส่วนกุศลเป็นอย่างไรกรรมส่วนอกุศลเป็นอย่างไร กรรมส่วนที่มีโทษเป็น อย่างไร กรรมส่วนที่ไม่มีโทษเป็นอย่างไร กรรมที่ควรเสพเป็นอย่างไร กรรมที่ ไม่ควรเสพ เป็นอย่างไร

กรรมอะไรข้าพเจ้าทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน อนึ่งกรรมอะไร ข้าพเจ้าทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อเป็นประโยชน์ เพื่อสุขตลอดกาลนาน ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทำ สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ

        ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่ง มหาปุริส ลักษณะ นี้ คือมีพระฉวีสุขุม ละเอียด เพราะพระฉวีสุขุมและละเอียด ธุลีละอองมิติด พระกายได้ พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไรเมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้ คือ มีปัญญามาก ไม่มีบรรดากามโภคีชนผู้ใดผู้หนึ่งมีปัญญาเสมอ หรือ มีปัญญาประเสริฐ กว่าพระองค์

        ถ้าพระมหาบุรุษนั้นออกจากเรือน ผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลส อันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้ คือ มีพระปรีชามาก มีพระปรีชากว้างขวาง มีพระปรีชาร่าเริง มีพระปรีชาว่องไว มีพระปรีชาเฉียบแหลม มีพระปรีชาทำลายกิเลส ไม่มีบรรดาสรรพสัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งมีปัญญา เสมอ หรือมีปัญญาประเสริฐกว่าพระองค์ พระผู้มีพระภาค ตรัสเนื้อความนี้ไว้ พระโบราณกเถระทั้งหลายจึงกล่าวคาถา ประพันธ์นี้ ในพระลักษณะนั้นว่า

                [๑๔๗] พระมหาบุรุษ เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนๆ ประสงค์จะรู้ทั่วถึง เข้าหาบรรพชิต สอบถาม ตั้งใจฟังด้วยดี มุ่งความเจริญอยู่ภายในไตร่ตรอง กถา อันประกอบด้วยอรรถ มาอุบัติเป็นมนุษย์ มีพระฉวีละเอียด เพราะกรรมอัน ดำเนินไป เพื่อความได้เฉพาะซึ่งปัญญา บัณฑิตผู้ฉลาดในลักษณะและนิมิตทำนายว่า พระราชกุมารเช่นนี้ จะทรงหยั่งทราบอรรถอันสุขุมแล้วเห็นอยู่ ถ้าไม่เข้าถึงบรรพชา ก็จะยังจักรให้เป็นไป ปกครองแผ่นดิน ในการสั่งสอนสิ่งที่เป็นประโยชน์ และในการ กำหนด ไม่มีใครประเสริฐ หรือเสมอเท่าพระองค์ ถ้าพระราชกุมารเช่นนั้น เข้าถึง บรรพชา ยินดียิ่งด้วยความพอพระทัยในเนกขัมมะ จะมีพระปรีชาเห็นแจ่มแจ้ง ทรงได้พระปรีชาอันพิเศษ อันยอดเยี่ยมบรรลุพระโพธิญาณ ทรงพระปรีชาอันประเสริฐ กว้างขวางดังแผ่นดิน ฯ

                [๑๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้ไม่มี ความโกรธ ไม่มีความแค้นใจ แม้ถูกคนหมู่มาก ว่าเอา ก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธ ไม่ปองร้ายไม่จองผลาญ ไม่ทำความ โกรธความเคืองและ ความเสียใจ ให้ปรากฎ และเป็นผู้ให้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อน และให้ผ้า สำหรับนุ่งห่ม คือ ผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อละเอียด ผ้าไหมมี เนื้อละเอียด ผ้ากัมพล มีเนื้อ ละเอียด ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทำ สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ

        ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริส ลักษณะนี้ คือมีวรรณะดังทองคำ มีผิวหนังคล้ายทองคำ พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วย ลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชา จะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้ คือ จะได้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อน ทั้งได้ผ้า สำหรับนุ่งห่ม คือผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อละเอียด ผ้าไหมมีเนื้อ ละเอียด ผ้ากัมพลมีเนื้อละเอียด

        ถ้าพระมหาบุรุษนั้นออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้ คือ ทรงได้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อน ทรงได้ผ้าสำหรับนุ่งห่ม คือ ผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อ ละเอียด ผ้าไหมมีเนื้อละเอียด ผ้ากัมพลมีเนื้อละเอียด พระผู้มีพระภาคตรัสเนื้อความนี้ไว้ พระโบราณกเถระ ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะนั้นว่า

                ๑๔๙] พระมหาบุรุษอธิษฐานความเป็นผู้ไม่โกรธไว้ และได้ให้ทาน คือผ้า เป็นอันมาก ล้วนแต่มีเนื้อละเอียด และมีสีดี เป็นผู้ดำรงอยู่ในภพก่อนๆ ทรงเสีย สละเหมือนฝนตก ทั่วแผ่นดิน ครั้นทรงทำกุศลกรรมนั้นแล้วจุติ จากมนุษยโลก เข้าถึง เทวโลก เสวยวิบาก อันเป็นผลกรรมที่ทำไว้ดีมีพระฉวี เปรียบด้วยทอง ดุจพระอินทร์ ผู้ประเสริฐกว่า สุรเทวดา ย่อมลบล้นอยู่ในเทวโลก

        ถ้าเสด็จครองเรือนยังไม่ประสงค์ที่จะทรงผนวช ก็จะทรงปกครองแผ่นดินใหญ่ ทรงได้เฉพาะซึ่งสัตตรตนะ และความเป็นผู้มี พระฉวีสะอาด ละเอียดงาม ลบล้น ประชุมชน ในโลกนี้ ถ้าเข้าถึงบรรพชา ก็จะทรงได้ ซึ่งผ้าสำหรับทรงครอง เป็นผ้าเครื่องนุ่งห่มอย่างดีและเสวย ผลกรรมที่เป็น ประโยชน์ดีที่ทรงทำไว้ในภพก่อน ความหมดสิ้นแห่งผลกรรมที่พระองค์ทำแล้ว หามีไม่

                [๑๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้นำพวกญาติมิตรสหาย ผู้มีใจดีที่สูญหายพลัดพรากไปนาน ให้กลับมา พบกัน นำมารดากับบุตรให้พบกัน นำบุตรกับมารดาให้พบกัน นำบิดากับบุตร ให้พบกัน นำบุตรกับบิดาให้พบกัน นำบิดากับพี่น้องให้พบกัน นำพี่ชายกับ น้องสาวให้พบกัน นำน้องสาวกับพี่ชายให้พบกัน

        ครั้นทำเขาให้พร้อมเพรียงกันแล้ว ก็ชื่นชม ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทำ สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ

        ครั้นจุติจากสวรรค์แล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริส ลักษณะนี้ คือมีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา จะได้รับผลข้อนี้ คือมีพระโอรสมาก พระราชบุตรของพระองค์ มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้

        ถ้าพระมหาบุรุษนั้นออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลส อันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้ คือ มีพระโอรสมาก พระโอรสของพระองค์ มีจำนวนหลายพัน ล้วนเป็นผู้แกล้วกล้า มีความเพียรเป็นองค์สมบัติ กำจัดปรเสนา เสียได้ พระผู้มีพระภาคตรัสเนื้อความนี้ไว้ พระโบราณกเถระทั้งหลายจึงกล่าวคาถา ประพันธ์นี้ ในพระลักษณะ นั้น ว่า

                [๑๕๑] พระมหาบุรุษเป็นมนุษย์ในชาติก่อนๆ ได้ทรงนำพวกญาติ มิตรสหาย ที่สูญหาย พลัดพรากไปนาน ให้กลับมาพบกัน ครั้นทำให้เขา พร้อมเพรียงกัน แล้วก็ชื่นชม เพราะกุศลกรรมนั้น พระองค์จึงหลีกไปสู่ไตรทิพย์ เสวยความสุขและ สมบัติ เป็นที่เพลิดเพลินยินดี จุติจากเทวโลกแล้วเวียนมาเกิด ในโลกนี้ ย่อมได้อง คาพยพ ที่ปิดบังด้วยผ้าตั้งอยู่ในฝัก

        พระมหาบุรุษเช่นนั้นมีพระโอรสมาก พระโอรสของพระองค์มากกว่าพัน เป็นผู้กล้าหาญ เป็นวีรบุรุษ สามารถให้ศัตรูพ่ายไป ให้ปีติเกิดและทูลปิยพจน์แก่ พระมหาบุรุษ ที่ยังทรงเป็นคฤหัสถ์ เมื่อพระมหาบุรุษทรงผนวชบำเพ็ญพรต มีพระโอรส มากกว่านั้น ล้วนแต่ดำเนินตามพระพุทธพจน์ พระลักษณะนั้น ย่อมเป็นนิมิตส่องความนั้น สำหรับพระมหาบุรุษที่เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต

                [๑๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน  กำเนิดก่อน เมื่อตรวจดูมหาชน ที่ควรสงเคราะห์ ย่อมรู้จักชนที่เสมอกัน รู้จักเอง รู้จักบุรุษ รู้จักบุรุษ พิเศษหยั่งทราบว่าบุคคลนี้ ควรแก่สักการะนี้ บุคคลนี้ ควรแก่สักการะ นี้ ดังนี้ แล้วทำกิจ เป็นประโยชน์อันพิเศษ

        ในบุคคลนั้นๆ ในกาลก่อนๆตถาคต ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้า แต่ตาย เพราะกายแตกเพราะกรรมนั้น อันตนทำ สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจาก สวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะ ซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการนี้ คือ มีพระกายเป็นปริมณฑลดังว่านิโครธพฤกษ์ ๑ เมื่อทรงยืนอยู่ ไม่ต้องทรงน้อม พระกายลง ย่อมลูบคลำพระชาณุทั้ง ๒ ด้วยฝ่ายพระหัตถ์ทั้ง ๒ ได้ ๑ พระมหาบุรุษ สมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้ง ๒ นั้นถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชา จะได้อะไร เมื่อเป็นระราชาจะได้รับผลข้อนี้ คือ เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์น่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีคลังเต็มบริบูรณ์

        ถ้าพระมหาบุรุษนั้นออกจากเรือน ผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลส อันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้ คือเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ทรัพย์ของพระองค์นั้นคือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะสุตะ จาคะ ปัญญา เป็นทรัพย์ อย่างหนึ่งๆ พระผู้มีพระภาคตรัสเนื้อความนี้ไว้ พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า

                [๑๕๓] พระมหาบุรุษ เมื่อตรวจดูมหาชนที่ควรสงเคราะห์ พิจารณาแล้ว สอดส่องแล้ว คิดแล้วหยั่งทราบว่า บุคคลนี้ควรแก่สักการะนี้ ดังนี้แล้วทำกิจ พิเศษของบุรุษ ในบุคคลนั้นๆ ในกาลก่อน ก็แหละพระมหาบุรุษ ทรงยืนตรงไม่ต้อง น้อมพระกายลง ก็ถูกต้องพระชาณุทั้ง ๒ ด้วยพระกรทั้ง ๒ ได้ และมีพระกายเป็น ปริมณฑล ดังว่า ต้นนิโครธที่งอกงามบนแผ่นดิน ด้วยผลกรรมที่ ประพฤติมาดีแล้ว ยังเป็นส่วนเหลือ มนุษย์ทั้งหลาย ที่มีปัญญาอันละเอียด รู้จัก ลักษณะ เป็นนิมิตมาก อย่างทำนายว่า พระราชโอรสนี้เป็นพระดรุณกุมาร ยังทรงพระเยาว์ ย่อมได้เฉพาะ ซึ่งลักษณะอันคู่ควร แก่คฤหัสถ์มากอย่าง กามโภคะอันสมควรแก่คฤหัสถ์เป็นอันมาก ย่อมมีแก่พระราชกุมาร ผู้เป็นใหญ่ใน แผ่นดิน ในนกกะเรียน นกดุเหว่า อันมีเสียงหวาน ประสานเสียง มีนกร้องว่าชีวะชีวะ และบางเหล่ามีเสียงปลุกใจ มีไก่ป่า มีปู และ นก โปกขรสาตกะ อยู่ในสระประทุม ในที่นั้นมีเสียงนกสุกะ และนกสาลิกา และหมู่ นก ทัณฑมานวกะ [มีหน้าเหมือนมนุษย์] สระนฬินีของท้าว กุเวรนั้นงดงาม อยู่ตลอดเวลา ทุกเมื่อ ฯ



(ลักขณสูตร คำทำนายมหาปุริสลัษณะ ๓๒)


                [๒๑๓] แต่ทิศนี้ไป ทิศที่ชนเรียกกันว่าอุตตรทิศ ที่ท้าวมหาราชผู้ทรงยศ เป็นเจ้า เป็นใหญ่ของยักษ์ทั้งหลาย ทรงนามว่าท้าวกุเวร อันยักษ์ทั้งหลายแวดล้อม แล้ว ทรงโปรดปรานด้วยการฟ้อนรำขับร้อง ทรงอภิบาล อยู่ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า โอรสของท้าวเธอมีมากองค์มีพระนามเดียวกัน ทั้งเก้าสิบเอ็ดพระองค์ มีพระนามว่า อินทะทรงพระกำลังมาก ทั้งท้าวกุเวรและโอรสเหล่านั้น ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้เบิกบานแล้ว ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่ง พระอาทิตย์พากันถวายบังคมพระพุทธเจ้าซึ่งเป็น ผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้ามแต่ที่ไกลว่า พระบุรุษอาชาไนย ข้าพระพุทธเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระองค์ พระอุดมบุรุษ ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมแด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงตรวจดูมหาชน ด้วยพระญาณอันฉลาด แม้พวกอมนุษย์ ก็ถวายบังคม พระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้สดับมาอย่างนั้นเนืองๆ

        ฉะนั้น จึงกล่าวเช่นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถามเขาว่าพวกท่าน ถวายบังคม พระชินโคดม หรือเขาพากันตอบว่า ถวายบังคมพระชินโคดม ข้าพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย ขอถวายบังคมพระพุทธโคดม ผู้ถึงพร้อมด้วย วิชชาและจรณะ

                [๒๑๔] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะนี้นั้นแล ย่อมเป็นไป เพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณีอุบาสก และอุบาสิกาฉะนี้แล

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้ใดผู้หนึ่ง จักเรียนการรักษา อันชื่อว่าอาฏานาฏิยะ นี้ให้แม่นยำ ให้บริบูรณ์แล้ว

ถ้าอมนุษย์เป็นยักษ์ก็ตาม ยักษิณี ก็ตาม บุตรยักษ์ก็ตาม ธิดายักษ์ก็ตาม ยักษ์มหาอำมาตย์ ก็ตาม ยักษ์บริษัท ก็ตาม ยักษ์ผู้รับใช้ก็ตาม

เป็นคนธรรพ์ก็ตาม นางคนธรรพ์ก็ตาม บุตรคนธรรพ์ก็ตาม ธิดาคนธรรพ์ก็ตาม คนธรรพ์มหาอำมาตย์ก็ตาม คนธรรพ์บริษัทก็ตาม คนธรรพ์ผู้รับใช้ก็ตาม

เป็นกุมภัณฑ์ก็ตาม นางกุมภัณฑ์ก็ตาม บุตรกุมภัณฑ์ก็ตาม ธิดากุมภัณฑ์ก็ตาม กุมภัณฑ์มหาอำมาตย์ก็ตาม กุมภัณฑ์บริษัทก็ตาม กุมภัณฑ์ผู้รับใช้ก็ตาม

เป็นนาคก็ตาม นางนาคก็ตาม บุตรนาคก็ตาม ธิดานาคก็ตาม นาคมหาอำมาตย์ก็ตาม นาคบริษัทก็ตาม นาคผู้รับใช้ก็ตาม ซึ่งมีจิตประทุษร้ายพึงเดินตาม ยืนใกล้ นั่งใกล้นอนใกล้ ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี ซึ่งกำลังเดิน ยืน นั่ง นอนอยู่

        ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อมนุษย์นี้ไม่พึงได้สักการะหรือเคารพ ในบ้าน หรือในนิคม ไม่พึงได้เหย้าเรือน หรือที่อยู่ ในราชธานีซึ่งมีนามว่า อาฬกมันทา ไม่พึงได้เข้าสู่ที่ ประชุมของพวกยักษ์

        อนึ่งพวก อมนุษย์ ทั้งหลาย จะไม่พึงทำ อาวาหะ วิวาหะกับมัน พึงบริภาษมันด้วยคำ บริภาษ อย่างเหยียดหยามเต็มที่ พึงคว่ำบาตรเปล่าบนศีรษะมัน หรือพึงทุบศีรษะ ของมัน ให้แตกออก ๗ เสี่ยง 

        ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ มีอยู่บ้าง ที่พวกอมนุษย์ที่ดุร้าย หยาบช้า กล้าแข็ง มันย่อม ไม่เชื่อถือถ้อยคำ ของท้าวมหาราช ไม่เชื่อถือถ้อยคำของ ราชบุรุษ ผู้ใหญ่แห่งท้าว มหาราช ไม่เชื่อถือถ้อยคำของราชบุรุษ ที่เป็นชั้นรองๆ แห่งท้าวมหาราชพวกมันนั้น เรียกได้ว่าเป็นข้าศึกของท้าวมหาราช เปรียบเหมือน พวกโจร ในแว่นแคว้นของ พระเจ้ามคธ

        พวกมันหาได้เชื่อถือถ้อยคำของพระเจ้ามคธไม่ หาเชื่อถือถ้อยคำของราชบุรุษ ผู้ใหญ่ แห่งพระเจ้ามคธไม่ หาเชื่อถือถ้อยคำของพวกราชบุรุษที่เป็นชั้นรองๆ ของพระเจ้ามคธ ไม่ มหาโจรเหล่านั้นๆ เรียกได้ว่าเป็นข้าศึก ของพระเจ้ามคธฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์

อมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นยักษ์ ก็ตามยักษิณีก็ตาม บุตรยักษ์ก็ตาม ธิดายักษ์ก็ตาม ยักษ์มหาอำมาตย์ก็ตาม ยักษ์บริษัทก็ตาม ยักษ์ผู้รับใช้ก็ตาม เป็นคนธรรพ์ก็ตาม นางคนธรรพ์ก็ตาม บุตรคนธรรพ์ก็ตาม ธิดาคนธรรพ์ก็ตาม คนธรรพ์มหาอำมาตย์ก็ตาม คนธรรพ์บริษัทก็ตาม คนธรรพ์ผู้รับใช้ก็ตาม เป็นกุมภัณฑ์ก็ตาม นางกุมภัณฑ์ก็ตาม บุตรกุมภัณฑ์ก็ตามธิดากุมภัณฑ์ก็ตาม กุมภัณฑ์มหาอำมาตย์ก็ตาม กุมภัณฑ์บริษัท ก็ตาม กุมภัณฑ์ผู้รับใช้ก็ตาม เป็นนาคก็ตาม นางนาคก็ตาม บุตรนาคก็ตาม ธิดานาค ก็ตาม นาคมหาอำมาตย์ก็ตาม นาคบริษัทก็ตาม นาคผู้รับใช้ก็ตาม มีจิตประทุษร้าย พึงเดินตาม ยืนใกล้ นั่งใกล้ นอนใกล้ ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี อุบาสก ก็ดี อุบาสิกา ก็ดี ซึ่งกำลังเดิน ยืน นั่ง นอนอยู่ อันภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกานั้น พึงยกโทษพึง คร่ำครวญ พึงร้องแก่ยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดี มหาเสนาบดีว่า ยักษ์ตนนี้ย่อมจับ ยักษ์ตน นี้ย่อมสิง ยักษ์ตนนี้ ย่อมเบียดเบียน ยักษ์ตนนี้ย่อมบีบคั้น ยักษ์ตนนี้ย่อมทำ ให้ลำบาก ยักษ์ตนนี้ ย่อมทำให้ยาก ยักษ์ตนนี้ย่อมไม่ปล่อย ดังนี้

                [๒๑๕] พวกยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดี มหาเสนาบดี เป็นไฉน  คือ อินทะ ๑โสมะ ๑ วรุณะ ๑ ภารทวาชะ ๑ ปชาบดี ๑ จันทนะ ๑ กามเสฏฐะ ๑ กินนุ ๑ ฆัณฑุ ๑ นิฆัณฑุ ๑ ปนาทะ ๑ โอปมัญญะ ๑ เทวสูตะ ๑มาตลิ ๑ จิตตเสนะ ๑คันธัพพะ ๑ นโฬราชา ๑ ชโนสภะ ๑ สาตาคิระ ๑ เหมวตะ ๑ ปุณณากะ ๑ กรติยะ ๑ คุละ ๑ สิวกะ ๑ มุจจลินทะ๑  เวสสามิตตะ ๑ ยุคันธระ ๑ โคปาละ ๑ สุปปเคธะ ๑ หิริ ๑ เนตติ ๑ มันทิยะ ๑ ปัญจาลจันทะ ๑ อาลวกะ ๑ ปชุณณะ ๑ สุมุขะ ๑ทธิมุขะ ๑ มณิ ๑ มานิจระ ๑ ทีฆะ ๑ กับเสริสกะ ๑

                [๒๑๖] อันภิกษุเป็นต้นนั้น พึงยกโทษ พึงคร่ำครวญ พึงร้องแก่ยักษ์  มหายักษ์ เสนาบดี มหาเสนาบดี เหล่านี้ว่า ยักษ์ตนนี้ย่อมจับ ยักษ์ตนนี้ย่อมสิงยักษ์ ตนนี้ ย่อมเบียดเบียนยักษ์ตนนี้ย่อมบีบคั้น ยักษ์ตนนี้ ย่อมทำให้ลำบาก ยักษ์ตนนี้ ย่อมทำให้ยาก ยักษ์ตนนี้ย่อมไม่ปล่อย ดังนี้

                [๒๑๗] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะนี้นั้นแล ย่อมเป็นไป เพื่อความคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายฉะนี้

        ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ และบัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้มีกิจมาก มีกรณีย์มาก ขอทูลลาไป ฯ

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจงทรงทราบกาลอันควร ณ บัดนี้เถิด

                [๒๑๘] ลำดับนั้นแล ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ทรงกระทำ ประทักษิณ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นแล ฝ่ายยักษ์เหล่านั้น ก็พากันลุกขึ้นจากอาสนะ บางพวกถวายบังคม พระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง บางพวกได้ปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค

        ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว อันตรธานไป ในที่นั้นเอง บางพวก ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับแล้ว อันตรธานไป ในที่นั้นเอง บางพวก ประกาศนามและโคตร แล้วอันตรธานไป ในที่นั้นเอง บางพวกนิ่งอยู่แล้ว อันตรธานไป ในที่นั้นเอง

สุขอุปบัติ ๓ อย่าง
        ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์พวกที่ยังความสุขให้เกิดขึ้นๆ แล้วย่อมอยู่เป็นสุข มีอยู่ เช่น พวกเทพเหล่า พรหมกายิกา ฉะนั้น นี้เป็นสุขอุปบัติข้อที่หนึ่ง

        ๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์พวกที่อิ่มเอิบบริบูรณ์ถูกต้อง ด้วยความสุขมีอยู่ สัตว์เหล่านั้น บางครั้งบางคราว เปล่งอุทานว่า สุขหนอๆ ดังนี้ เช่น พวกเทพเหล่า อาภัสสราฉะนั้น นี้เป็นสุขอุปบัติข้อที่สอง

        ๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์พวกที่อิ่มเอิบบริบูรณ์ถูกต้อง ด้วยความสุขมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นสันโดษ เสวยความสุขทางจิตอันประณีตเท่านั้น เช่น พวกเทพเหล่า สุภกิณหา ฉะนั้นนี้เป็นสุขอุปบัติ ข้อที่สาม

ปัญญา ๓ อย่าง
๑. เสกขปัญญา                 [ปัญญาที่เป็นของพระเสขะ]
๒. อเสกขปัญญา               [ปัญญาที่เป็นของพระอเสขะ]
๓. เนวเสกขานาเสกขปัญญา  [ปัญญาที่เป็นของพระเสขะก็ไม่ใช่ของพระอเสขะ
ก็ไม่ใช่]

ปัญญาอีก ๓ อย่าง
๑. จินตามยปัญญา       [ปัญญาสำเร็จด้วยการคิด]
๒. สุตามยปัญญา         [ปัญญาสำเร็จด้วยการฟัง]
๓. ภาวนามยปัญญา      [ปัญญาสำเร็จด้วยการอบรม]

อาวุธ ๓ อย่าง
๑. สุตาวุธ            [อาวุธคือการฟัง]
๒. ปวิเวกาวุธ        [อาวุธคือความสงัด]
๓. ปัญญาวุธ         [อาวุธคือปัญญา]

อินทรีย์ ๓ อย่าง
๑. อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ [อินทรีย์ที่เกิดแก่ผู้ปฏิบัติด้วยคิดว่าเราจักรู้ธรรมที่เรา ยังไม่รู้]
๒. อัญญินทรีย์         [อินทรีย์คือความตรัสรู้]
๓. อัญญาตาวินทรีย์   [อินทรีย์คือความรู้ทั่วถึง]

จักษุ ๓ อย่าง
๑. มังสจักขุ           [ตาเนื้อ ตาปรกติ]
๒. ทิพพจักขุ          [จักษุทิพย์]
๓. ปัญญาจักขุ        [จักษุคือปัญญา]

สิกขา ๓ อย่าง
๑. อธิศีลสิกขา         [สิกขาคือศีลยิ่ง]
๒. อธิจิตตสิกขา       [สิกขาคือจิตยิ่ง]
๓. อธิปัญญาสิกขา      [สิกขาคือปัญญายิ่ง]

ภาวนา ๓ อย่าง
๑. กายภาวนา         [การอบรมกาย]
๒. จิตตภาวนา         [การอบรมจิต]
๓. ปัญญาภาวนา      [การอบรมปัญญา]

อนุตตริยะ ๓ อย่าง
๑. ทัสสนานุตตริยะ    [ความเห็นอย่างยอดเยี่ยม]
๒. ปฏิปทานุตตริยะ     [ความปฏิบัติอย่างยอดเยี่ยม]
๓. วิมุตตานุตตริยะ      [ความพ้นอย่างยอดเยี่ยม]

สมาธิ ๓ อย่าง
๑. สวิตักกวิจารสมาธิ       [สมาธิที่ยังมีวิตกวิจาร]
๒. อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ  [สมาธิที่ไม่มีวิตก มีเพียงวิจาร]
๓. อวิตักกวิจารสมาธิ       [สมาธิที่ไม่มีวิตกวิจาร]

สมาธิอีก ๓ อย่าง
๑. สุญญตสมาธิ      [สมาธิที่ว่างเปล่า]
๒. อนิมิตตสมาธิ      [สมาธิที่หานิมิตมิได้]
๓. อัปปณิหิตสมาธิ   [สมาธิที่หาที่ตั้งมิได้]

โสเจยยะ ๓ อย่าง
๑. กายโสเจยยะ      [ความสะอาดทางกาย]
๒. วจีโสเจยยะ        [ความสะอาดทางวาจา]
๓. มโนโสเจยยะ      [ความสะอาดทางใจ]

โมเนยยะ ๓ อย่าง
๑. กายโมเนยยะ      [ธรรมที่ทำให้เป็นมุนีทางกาย]
๒. วจีโมเนยยะ       [ธรรมที่ทำให้เป็นมุนีทางวาจา]
๓. มโนโมเนยยะ      [ธรรมที่ทำให้เป็นมุนีทางใจ]

โกสัลละ ๓ อย่าง
๑. อายโกสัลละ   [ความเป็นผู้ฉลาดในเหตุแห่งความเจริญ]
๒. อปายโกสัลละ [ความเป็นผู้ฉลาดในเหตุแห่งความเสื่อม]
๓. อุปายโกสัลละ [ความเป็นผู้ฉลาดในเหตุแห่งความเจริญและความเสื่อม]

มทะ ความเมา ๓ อย่าง
๑. อาโรคยมทะ       [ความเมาในความไม่มีโรค]
๒. โยพพนมทะ       [ความเมาในความเป็นหนุ่มสาว]
๓. ชาติมทะ           [ความเมาในชาติ]

อธิปเตยยะ ๓ อย่าง
๑. อัตตาธิปเตยยะ     [ความมีตนเป็นใหญ่]
๒. โลกาธิปเตยยะ     [ความมีโลกเป็นใหญ่]
๓. ธัมมาธิปเตยยะ     [ความมีธรรมเป็นใหญ่]

กถาวัตถุ ๓ อย่าง
๑. ปรารภกาลส่วนอดีตกล่าวถ้อยคำว่า กาลที่ล่วงไปแล้วได้มีแล้วอย่างนี้
๒. ปรารภกาลส่วนอนาคตกล่าวถ้อยคำว่า กาลที่ยังไม่มาถึงจักมีอย่างนี้
๓. ปรารภกาลส่วนที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในบัดนี้  กล่าวถ้อยคำว่า กาลส่วนที่เกิดขึ้น
เฉพาะหน้าบัดนี้เป็นอยู่อย่างนี้ ฯ

วิชชา ๓ อย่าง
๑. บุพเพนิวาสานุสสติญาณวิชชา [วิชชาคือความรู้จักระลึกชาติในก่อนได้]
๒. จุตูปปาตญาณวิชชา  [วิชชาคือความรู้จักกำหนดจุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย]
๓. อาสวักขยญาณวิชชา  [วิชชาคือความรู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป]

วิหารธรรม ๓ อย่าง
๑. ทิพยวิหาร    [ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของเทพดา]
๒. พรหมวิหาร   [ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม]
๓. อริยวิหาร     [ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะ]

ปาฏิหาริยะ ๓ อย่าง
๑. อิทธิปาฏิหาริยะ         [ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์]
๒. อาเทสนาปาฏิหาริยะ   [ดักใจเป็นอัศจรรย์]
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริยะ    [คำสอนเป็นอัศจรรย์]

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมมีประเภทละ ๓ เหล่านี้แล อันพระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว พวกเรา ทั้งหมดด้วยกันพึงสังคายนา ไม่ควรแก่งแย่งกัน ในธรรมนั้น การที่ พรหมจรรย์นี้ พึงยั่งยืนตั้งอยู่นาน นั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ ชนมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลกเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย

จบหมวด ๓

 


 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์