เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  อริยสัจ หลายนัยยะ 561
 
 


อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า 111-114


อริยสัจ หลายนัยยะ


1) ประเภทหรือเค้าโครงของอริยสัจ 
หลักอริยสัจมีอย่างเดียว แต่คำอธิบายมีปริยายมากมาย 


ภิกษุ ท. ! ความจริงอันประเสริฐ ว่า “ นี้เป็น ทุกข์.. นี้เป็น เหตุให้เกิดทุกข์.. นี้เป็น ความดับไม่เหลือของทุกข์.. และนี้เป็นทาง ดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือ ของทุกข์..” ดังนี้

เป็นสิ่งที่เราได้บัญญัติแล้ว : แต่ในความจริงนั้น การพรรณาความ การกำหนด บทพยัญชนะ และการจำแนกเพื่อพิสดาร มีมากจนประมาณไม่ได้ (อปริมาณา วณฺณา อปริมาณา พฺยญฺชนาอปริมาณา สงฺกาสนา) ว่าปริยายเช่นนี้ๆ เป็นความจริงคือทุกข์ ถึงแม้เช่นนี้ก็เป็นความจริงคือทุกข์ ฯลฯ.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็น ความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ” ดังนี้เถิด.


2) อริยสัจสี่โดยสังเขป (นัยทั่วไป)

ภิกษุ ท. ! นี้แลคือ ความจริงอันประเสริฐ เรื่องความทุกข์ คือ ความเกิด ก็เป็นทุกข์ ความแก่ ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ ก็เป็นทุกข์ ความตาย ก็เป็นทุกข์, ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์ ความปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น เป็นทุกข์, กล่าวโดยย่อ 
ขันธ์ห้าที่ประกอบด้วย อุปาทาน เป็นทุกข์.

ภิกษุ ท. ! นี้แลคือ ความจริงอันประเสริฐ เรื่องแดนเกิดของความทุกข์ คือ ตัณหา 
อันเป็นเครื่องทำให้มีการเกิดอีก อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจ ความเพลิน อันเป็นเครื่องให้เพลิดเพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ตัณหาในกาม ตัณหาในความมีความเป็น ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น

ภิกษุ ท. ! นี้แลคือ ความจริงอันประเสริฐ เรื่องความดับไม่เหลือของความทุกข์ คือความดับสนิท เพราะจางไป โดยไม่มีเหลือ ของตัณหานั้นนั่นเอง คือความสละทิ้ง ความสลัดคืน ความปล่อย ความทำไม่ให้มีที่อาศัย ซึ่งตัณหานั้น.

ภิกษุ ท. ! นี้แลคือ ความจริงอันประเสริฐ เรื่องข้อปฏิบัติอันทำสัตว์ให้ลุถึง ความดับ ไม่เหลือของความทุกข์ คือข้อปฏิบัติ อันเป็นหนทางอันประเสริฐ อันประกอบด้วย องค์แปดประการนี้ ได้แก่ความเห็นที่ถูกต้อง ความดำริที่ถูกต้อง การ พูดจาที่ถูกต้อง การทำการงานที่ถูกต้อง การอาชีพที่ถูกต้อง ความพากเพียร ที่ถูกต้อง ความรำลึกที่ถูกต้อง ความตั้งใจมั่น ที่ถูกต้อง. 


3) อริยสัจสี่โดยสังเขป(อีกนัยหนึ่ง)
     (ทรงแสดงด้วยปัญจุปาทานขันธ์) 


ภิกษุ ท. ! ความจริงอันประเสริฐมีสี่อย่างเหล่านี้. สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ ความจริงอันประเสริฐ คือทุกข์, ความจริงอัน ประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์, ความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือของทุกข์, และความจริงอันประเสริฐ คือทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุ ท. ! ความจริงอันประเสริฐ คือทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า? คำตอบคือ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นห้าอย่าง. ห้าอย่างนั้น อะไรเล่า ? ห้าอย่างคือ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ได้แก่ รูป เวทนาสัญญา สังขาร และ วิญญาณ. ภิกษุ ท. ! อันนี้ เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ คือทุกข์.

ภิกษุ ท. ! ความจริงอันประเสริฐ คือเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? คือตัณหาอันใดนี้ ที่เป็นเครื่องนำให้มีการเกิดอีก อันประกอบด้วยความกำหนัด เพราะอำนาจความเพลิน มักทำให้เพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ตัณหาในกาม, ตัณหาใน ความมีความเป็น, ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น. ภิกษุ ท. ! อันนี้ เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ คือ เหตุให้เกิด ทุกข์.

ภิกษุ ท. ! ความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือของทุกข์เป็นอย่างไรเล่า ? คือความดับสนิทเพราะความจางคลายไป โดยไม่เหลือของตัณหานั้น ความสละ ลงเสีย ความสลัดทิ้งไป ความปล่อยวาง ความไม่อาลัยถึงซึ่งตัณหานั่นเอง อันใด. ภิกษุ ท. ! อันนี้ เรากล่าวว่าความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือ ของทุกข์.

ภิกษุ ท. ! ความจริงอันประเสริฐ คือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือ ของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? คือหนทาง อันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์๘ นี้นั่นเอง ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยง ชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ

ภิกษุ ท. ! อันนี้ เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ คือทางดำเนินให้ถึง ความดับ ไม่เหลือของทุกข์. ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แลคือ ความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง. ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้เป็นทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือ แห่งทุกข์ ”ดังนี้เถิด


4) อริยสัจสี่โดยสังเขป (อีกนัยหนึ่ง) 
     (ทรงแสดงด้วยอายตนะหก) 


ภิกษุ ท. ! อริยสัจมีสี่อย่างเหล่านี้.. สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ อริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือทุกขสมุทัย อริยสัจคือ ทุกขนิโรธ อริยสัจคือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

ิกษุ ท. ! อริยสัจคือทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? ควรจะกล่าวว่าได้แก่อายตนะภายในหก. อายตนะภายในหก เหล่าไหนเล่า ? คือจักขุอายตนะโสตะอายตนะ ฆานะอายตนะ ชิวหาอายตนะ กายะอายตนะ มนะอายตนะ.  ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า อริยสัจ คือทุกข์.

ภิกษุ ท. ! อริยสัจคือทุกขสมุทัย เป็นอย่างไรเล่า ? คือตัณหาอันใดนี้ ที่เป็นเครื่องนำให้มีการเกิดอีก อันประกอบด้วย ความกำหนัดเพราะอำนาจ ความเพลิน มักทำให้เพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหาภวตัณหา วิภวตัณหา ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า อริยสัจคือทุกขสมุทัย

ภิกษุ ท. ! อริยสัจคือทุกขนิโรธ เป็นอย่างไรเล่า ? คือความดับสนิท เพราะความ จางคลายไปโดยไม่เหลือของตัณหานั้น ความสละทิ้ง ความสลัดคืน ความปล่อยวาง ความไม่อาลัยถึง ซึ่งตัณหานั่นเอง ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า อริยสัจคือทุกขนิโรธ

ภิกษุ ท. ! อริยสัจคือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นอย่างไรเล่า? คือหนทางอันประเสริฐ ประกอบด้วย องค์แปดประการนี้นั่นเอง ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า อริยสัจคือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา


ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล อริยสัจ ๔ อย่าง.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำ ให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทุกขสมุทัย เป็นอย่างนี้ ทุกข-นิโรธ เป็นอย่างนี้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นอย่างนี้ ” ดังนี้.


5) ทรงวางลำดับแห่งอริยสัจ อย่างตายตัว 

....แน่ะภิกษุ ! ถูกแล้ว, ถูกแล้ว. แน่ะภิกษุ ! เธอจำอริยสัจสี่ประการ อันเราแสดงไว้แล้วโดยถูกต้อง คือ :
เราแสดงอริยสัจ คือทุกข์ ไว้เป็นข้อที่หนึ่ง
แสดงอริยสัจ คือเหตุให้เกิดทุกข์ ไว้เป็นข้อที่สอง
แสดงอริยสัจ คือความดับไม่เหลือของทุกข์ ไว้เป็นข้อที่สาม
และแสดงอริยสัจ คือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ไว้เป็นข้อที่สี่
แน่ะภิกษุ ! เธอจงทรงจำ

อริยสัจสี่ไว้โดยประการที่เราแสดงนั้นๆ เถิด. แน่ะภิกษุ ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้น แห่งทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้เป็นทางดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือ แห่งทุกข์ ”ดังนี้เถิด. 


6) อริยสัจสี่ในรูปแบบพิเศษ

ภิกษุ ท. ! ธรรม ๔ ประการเหล่านี้ มีอยู่.
สี่ประการคืออะไรเล่า? สี่ประการคือ

ธรรมที่ควรรอบรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง มีอยู่
ธรรมที่ควรละ ด้วยปัญญาอันยิ่ง มีอยู่
ธรรมที่ควรกระทำให้เจริญ ด้วยปัญญาอันยิ่ง มีอยู่
ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง มีอยู่.

ภิกษุ ท. ! ธรรมที่ควรรอบรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง เป็นอย่างไรเล่า? อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้เรากล่าวว่า เป็นธรรมที่ควรรอบรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง.

ภิกษุ ท. ! ธรรมที่ควรละ ด้วยปัญญาอันยิ่ง เป็นอย่างไรเล่า? อวิชชา และ ภวตัณหา เหล่านี้เรากล่าวว่า เป็นธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง.

ภิกษุ ท. ! ธรรมที่ควรกระทำให้เจริญ ด้วยปัญญาอันยิ่ง เป็นอย่างไรเล่า? สมถะ และ วิปัสสนา เหล่านี้เรากล่าวว่า เป็นธรรมที่ควรกระทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง.

ภิกษุ ท. ! ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง เป็นอย่างไรเล่า? วิชชา และ วิมุตติ เหล่านี้เรากล่าวว่า เป็นธรรมที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง.

ภิกษุ ท. ! ธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล มีอยู่. 


 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์