พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๓๖ การเข้าไปหาอาฬารดาบส [๔๘๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราชกุมาร ก่อนแต่ตรัสรู้ แม้เมื่ออาตมภาพ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ก็มีความคิดเห็นว่า ความสุข อันบุคคลจะพึงถึงได้ด้วย ความสุข ไม่มีความสุข อันบุคคลจะพึงถึงได้ด้วยทุกข์แล ดูกรราชกุมาร สมัยต่อมาเมื่ออาตมภาพ ยังเป็นหนุ่มมีผมดำสนิท ประกอบด้วยวัย กำลังเจริญ เป็นปฐมวัย เมื่อมารดาบิดาไม่ปรารถา (จะให้บวช) ร้องไห้น้ำตานองหน้า อยู่ ได้ปลงผม และ หนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต. ครั้นบวชอย่างนี้แล้ว แสวงหาว่าอะไรจะเป็นกุศล ค้นคว้า สันติ วรบทอันไม่มีสิ่งอื่น ยิ่งขึ้น ไปกว่า จึงได้เข้าไปอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วได้กล่าวว่า ดูกรท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้. ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพ กล่าวเช่นนี้แล้วอาฬารดาบส กาลามโคตร ได้กล่าวกะอาตมภาพ ว่า ท่านจงอยู่เถิด ธรรมนี้เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่บุรุษผู้ฉลาด พึงทำลัทธิของอาจารย์ตน ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วบรรลุไม่นานเลย อาตมภาพเล่าเรียนธรรมนั้น ได้โดย ฉับพลัน ไม่นานเลย. กล่าวญาณวาท และเถรวาทได้ด้วย อาการเพียงหุบปาก * เจรจา เท่านั้น อนึ่ง ทั้งอาตมภาพ และผู้อื่นปฏิญาณได้ว่า เรารู้เราเห็น. *คุยกันด้วยอำนาจทางจิต หรืออาเนญชาสมาบัติ (ระดับอรูปสัญญา) อาตมภาพนั้นมีความคิดว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร จะประกาศได้ว่า เราทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งเองบรรลุ ถึงธรรมนี้ด้วยเหตุ เพียงศรัทธาเท่านั้น ดังนี้ ก็หาไม่ ที่จริง อาฬารดาบส กาลามโคตรรู้เห็นธรรมนี้อยู่. ครั้นแล้วอาตมภาพ เข้าไปหา อาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วได้ถามว่า ดูกรท่านกาลามะ ท่านทำธรรมนี้ให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุแล้วประกาศ ให้ทราบ ด้วยเหตุเพียง เท่าไรหนอ? เมื่ออาตมภาพ กล่าวเช่นนี้แล้ว อาฬารดาบส กาลามโคตรได้ประกาศ อากิญจัญญายตนะ อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้น มีศรัทธาหามิได้ ถึงเราก็มี ศรัทธา อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้น มีความเพียร ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มีปัญญา หามิได้ถึงเราก็มีความเพียร ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มีปัญญา อย่ากระนั้น เลย เราพึง ตั้งความเพียรเพื่อทำธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศ ว่า ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญา อันยิ่งเองแล้ว เข้าถึงอยู่นั้นให้แจ้งเถิด. อาตมภาพนั้นทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วบรรลุธรรมนั้นโดย ฉับพลัน ไม่นานเลย ครั้นแล้วได้เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วได้ถามว่า ดูกรท่านกาลามะ ท่านทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมนี้ประกาศให้ทราบ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ? อาฬารดาบส กาลามโคตรตอบว่า ดูกรอาวุโส เราทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญา อันยิ่งเองบรรลุธรรมนี้ แล้วประกาศให้ทราบ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล. อาตมภาพได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโส แม้เราก็ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุ ธรรมนี้แล้วประกาศให้ทราบ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้. อาฬารดาบส กาลามโคตรกล่าวว่า ดูกรอาวุโส เป็นลาภของเราทั้งหลายหนอ เราทั้งหลายได้ดีแล้ว ที่เราทั้งหลายได้พบท่าน สพรหมจารีเช่นท่าน เราทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมใดแล้วประกาศให้ทราบ ท่านก็ทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญา อันยิ่งเอง บรรลุธรรมใดแล้วประกาศให้ทราบ ท่านก็ทำให้แจ้งชัดด้วย ปัญญา อันยิ่งเอง บรรลุธรรมนั้นแล้วประกาศให้ทราบเรา ก็ทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญา อันยิ่งเอง บรรลุธรรมนั้น แล้วประกาศให้ทราบ ดังนี้ เรารู้ธรรมใดท่านก็รู้ธรรมนั้น ท่านรู้ธรรมใด เราก็รู้ธรรมนั้นดังนี้ เราเช่นใด ท่านก็เช่นนั้น ท่านเช่นใดเราก็เช่นนั้น ดังนี้ ดูกรอาวุโส บัดนี้ เราทั้งสอง จงมาอยู่ช่วยกันบริหารหมู่คณะเถิด. ดูกรราชกุมาร อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นอาจารย์ของอาตมภาพ ยังตั้งให้อาตมภาพ ผู้เป็น อันเตวาสิกไว้เสมอตน และยังบูชาอาตมภาพ ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ด้วยประการฉะนี้. อาตมภาพนั้นมีความคิดเห็นว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ สนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่งเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ย่อมเป็นไปเพียงให้ อุปบัติใน อากิญจัญญายตนพรหม เท่านั้น. อาตมภาพไม่พอใจธรรมนั้น เบื่อจากธรรมนั้น แล้วหลีกไปเสีย. ............................................................................................................................ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ) เล่มที่ ๑๓สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๓๘ การเข้าไปหาอุทกดาบส [๔๙๐] ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพแสวงหาอะไรเป็นกุศล ค้นคว้า สันติวรบท อันไม่มีสิ่งอื่น ยิ่งไปกว่า จึงเข้าไปหาอุทกดาบส รวมบุตรแล้วได้กล่าวว่า ดูกรท่านรามะ ข้าพเจ้าปรารถนา จะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้. เมื่ออาตมภาพ กล่าวเช่นนี้แล้ว อุทกดาบส รามบุตร ได้กล่าวว่า อยู่เถิดท่าน บุรุษผู้ฉลาดพึงทำให้ แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ไม่นานเลยก็บรรลุ ลัทธิของอาจารย์ตนแล้ว อยู่ในธรรมใด ธรรมนี้เช่นนั้น. อาตมภาพเล่าเรียนธรรมนั้นได้ โดยฉับพลันไม่นานเลย. กล่าวญาณวาท และ เถรวาทได้ ด้วยอาการ เพียงหุบปาก*เจรจาเท่านั้น *คุยกันด้วยอำนาจทางจิต หรืออาเนญชาสมาบัติ (ระดับอรูปสัญญา) อนึ่ง ทั้งอาตมภาพและผู้อื่นปฏิญาณได้ว่า เรารู้เราเห็น. อาตมภาพมีความคิดเห็นว่า ท่านรามบุตร จะได้ประกาศว่า เราทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมนี้ ด้วยอาการเพียงศรัทธาเท่านั้น ดังนี้ ก็หาไม่ที่จริงท่านรามบุตร รู้เห็นธรรมนี้อยู่. ครั้นแล้ว อาตมภาพจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตร แล้วได้ถามว่า ดูกรท่านรามะ ท่านทำธรรมนี้ให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุแล้วประกาศ ให้ทราบ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ. เมื่ออาตมภาพ กล่าวเช่นนี้ อุทกดาบส รามบุตรได้ประกาศ เนวสัญญานาสัญญายตนะ อาตมภาพมีความคิดเห็นว่าท่านรามะเท่านั้นมีศรัทธาหามิได้ ถึงเราก็มีศรัทธาท่าน รามะเท่านั้น มีความเพียร ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มีปัญญาหามิได้ ถึงเราก็มีความเพียร ...มีสติ ... มีสมาธิ ... มีปัญญา อย่ากระนั้นเลย เราพึงตั้งความเพียรเพื่อทำธรรม ที่ท่านรามะ ประกาศว่า ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วบรรลุธรรมนั้น ให้แจ้งเถิด. อาตมภาพได้ทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วบรรลุธรรมนั้นโดย ฉับพลัน ไม่นานเลย. ครั้นแล้วอาตมภาพเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วได้ถามว่า ดูกรท่านรามะ ท่านทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมนี้ แล้วประกาศให้ทราบ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ หรือ? อุทกดาบส รามบุตรตอบว่า ดูกรอาวุโส เราทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมนี้แล้วประกาศให้ทราบด้วยเหตุเพียงเท่านี้. อาตมภาพได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโส แม้เราก็ทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้. อุทกดาบส รามบุตรกล่าวว่า ดูกรอาวุโส เป็นลาภของเราทั้งหลาย เราทั้งหลาย ได้ดีแล้ว ที่เราทั้งหลายได้พบ ท่านสพรหมจารี เช่นท่าน รามะทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมใดแล้ว ประกาศให้ทราบ ท่านก็ทำให้แจ้งชัดด้วย ปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมนั้นอยู่ ท่าน ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมใด รามะก็ทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมนั้น แล้วประกาศให้ทราบ ดังนี้ รามะรู้ยิ่งธรรมใด ท่านก็รู้ธรรมนั้น ท่านรู้ธรรมใดรามะ ก็รู้ยิ่งธรรมนั้น ดังนี้ รามะเช่นใด ท่านก็เช่นนั้น ท่านเช่นใด รามะก็เช่นนั้น ดังนี้ ดูกรอาวุโส บัดนี้เชิญท่านมาบริหารหมู่คณะนี้เถิด. ดูกรราชกุมาร อุทกดาบสรามบุตร เป็นเพื่อนสพรหมจารีของอาตมภาพ ตั้งอาตมภาพไว้ ในตำแหน่งอาจารย์ และบูชาอาตมภาพ ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง. อาตมภาพ มีความคิดเห็นว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงให้อุปบัติใน เนวสัญญานาสัญญายตนพรหมเท่านั้น. อาตมภาพไม่พอใจธรรมนั้น เบื่อจากธรรมนั้นหลีกไป