เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนาม วิปัสสี ทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรม 464
 
เนื้อหาในพระสูตรนี้พอสังเขป

อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี มีพระปริวิตก และทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรม
จึงน้อมไปเพื่อความ ขวนขวายน้อย ท้าวมหาพรหมจึงคิดว่า โลกจะฉิบหายเสียละหนอ



 
 
 

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ทีฆนิกาย มหาวรรค


อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนาม วิปัสสี ทรงท้อพระทัย ที่จะแสดงธรรม


            [๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้ทรงพระดำริว่า ไฉนหนอเราพึงแสดงธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย

            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้ทรงพระดำริว่า ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ส่วนหมู่สัตว์นี้ มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย ก็อันหมู่สัตว์ผู้มีอาลัย เป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย ยากที่จะเห็นได้ซึ่งฐานะนี้ คือ ปัจจัยแห่งสภาวธรรมอันเป็นที่อาศัยกันเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปบาท) ยาก ที่จะเห็นได้ซึ่งฐานะ แม้นี้คือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ ระงับแห่ง สังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดอุปธิทั้งปวงเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา คลายความกำหนัด ดับทุกข์ ก็และเราพึงแสดงธรรมแต่สัตว์เหล่าอื่น ไม่พึงรู้ทั่วถึง ธรรมของเรา นั้นพึงเป็นความลำบากแก่เรา นั้นพึงเป็นความเดือดร้อนแก่เรา ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า คาถาทั้งหลายที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ซึ่งพระองค์มิได้เคย สดับมาแล้ว แต่ก่อน ได้แจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนาม ว่าวิปัสสี ดังนี้ บัดนี้ ไม่ควรเลยที่จะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุ แล้วโดยแสนยาก ธรรมนี้อันสัตว์ที่ถูกราคะและ โทสะครอบงำแล้ว ไม่ตรัสรู้ได้โดยง่าย สัตว์ที่ถูก ราคะย้อมไว้ ถูกกองแห่งความมืดหุ้มห่อไว้แล้ว จักเห็นไม่ได้ซึ่งธรรม ที่มีปรกติไป ทวนกระแส อันละเอียด ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เป็นอณู ฯ

            [๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี พิจารณาเห็นดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย มิได้น้อมไป เพื่อจะทรงแสดงธรรม

            [๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งได้ทราบ พระปริวิตกใน พระทัยของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ด้วยใจ แล้วจึง ดำริว่า ผู้เจริญทั้งหลาย โลกจะฉิบหายเสียละหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย โลกจะพินาศ เสียละหนอ เพราะว่า พระทัยของพระผู้มี พระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ได้น้อมไปเพื่อความขวนขวาย น้อย เสียแล้ว มิได้น้อมไป เพื่อจะทรงแสดงธรรม ฯ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาพรหมนั้น หายไปในพรหมโลก มาปรากฏ เฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เหมือน บุรุษที่มีกำลัง เหยียดออก ซึ่งแขนที่คู้เข้าไว้ หรือคู้เข้าซึ่งแขนที่ได้เหยียดออกไว้ ฉะนั้น

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแลท้าวมหาพรหมกระทำผ้าอุตราสงค์ เฉวียงบ่า ข้างหนึ่ง คุกชาณุ มณฑลเบื้องขวาลงบนแผ่นดิน ประนมมือไปทาง ที่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ประทับอยู่แล้ว ได้กราบทูลกะ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสีว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงแสดงธรรม ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอพระสุคต จงทรงแสดงธรรม ในโลกนี้สัตว์ที่มีกิเลสเพียงดังธุลี ในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะมิได้ฟังธรรม สัตว์เหล่านั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ ยังจักมี

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวมหาพรหมนั้นกราบทูลเช่นนี้ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้ตรัสกะท้าวมหาพรหมนั้นว่าดูกรพรหม แม้เราก็ได้ดำริ แล้วเช่นนี้ว่า ไฉนหนอ เราพึงแสดงธรรม

            ดูกรพรหมแต่เรานั้นได้คิดเห็นดังนี้ว่าธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบประณีต จะคาดคะเน เอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะ บัณฑิต ส่วนหมู่ สัตว์นี้ มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วใน อาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย ก็อัน หมู่สัตว์ผู้มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย ยากที่จะเห็นได้ซึ่งฐานะนี้ คือ ปัจจัยแห่งสภาวะธรรม อันเป็นที่ อาศัยกันเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปบาท) ยากที่จะเห็นได้ซึ่งฐานะแม้นี้คือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ ระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา คลายความกำหนัด ดับทุกข์ ก็และเราพึงแสดงธรรม แต่สัตว์เหล่าอื่นไม่พึงรู้ทั่วถึง ธรรมของเรา นั้นพึงเป็นความ ลำบากแก่เรา นั้นพึงเป็นความเดือดร้อนแก่เรา

            ดูกรพรหม คาถาที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ซึ่งเรามิได้สดับมาแล้วแต่ก่อนหรือได้ แจ่มแจ้ง แล้วดังนี้ บัดนี้ ไม่ควรเลยที่จะประกาศธรรม ที่เราได้บรรลุแล้ว โดยแสนยาก ฯลฯ

            ดูกรพรหม เมื่อเราพิจารณาเห็นดังนี้ จิตก็น้อมไปเพื่อความ ขวนขวาย น้อย มิได้น้อมไปเพื่อจะแสดงธรรม

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่สอง ท้าวมหาพรหมนั้นก็ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสีดังนั้น...

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่สาม ท้าวมหาพรหมนั้นก็ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสีว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงแสดงธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระสุคตจงทรงแสดง ธรรมในโลกนี้ สัตว์ที่มี กิเลสเพียงดังธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะมิได้ฟังธรรม สัตว์เหล่านั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้รู้ทั่วถึงธรรมได้ ยังจักมีอยู่ดังนี้

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ทรงทราบการทูลเชิญของพรหม แล้วทรงอาศัยพระกรุณา ในหมู่สัตว์ จึงได้ตรวจดูโลก ด้วยพุทธจักษุ

            ภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี เมื่อทรง ตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุก็ได้ทรงเห็นหมู่สัตว์
      บางพวก มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุน้อย
      บางพวก
มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุมาก บางพวกมีอินทรีย์แก่กล้า
      บางพวก มีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอาการ ดีบางพวกมีอาการ ทราม
      บางพวก จะพึงให้รู้แจ้งได้ง่าย บางพวกจะพึงให้รู้แจ้งได้ยาก
      บางพวก เป็นภัพพ สัตว์ บางพวกเป็นอภัพพสัตว์
      บางพวก มักเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย

            ในกออุบล หรือกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกอุบล ดอกบัวหลวงหรือ ดอกบัวขาว เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ น้ำเลี้ยงอุปถัมภ์ไว้ บางเหล่า ยังจมอยู่ ภายในน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่ เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งขึ้นพ้นน้ำ อันน้ำมิได้ติดใบ แม้ฉันใด

            ภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ที่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ทรงตรวจดูด้วยพุทธจักษุ ทรงเห็นก็ฉันนั้นเหมือนกัน บางพวกมีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุน้อย
บางพวกมีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุมาก
บางพวกมี อินทรีย์แก่กล้า
บางพวกมีอินทรีย์อ่อน
บางพวกมีอาการดี
บางพวกมีอาการทราม
บางพวกจะพึง ให้รู้แจ้งได้ง่าย
บางพวกจะพึงให้รู้แจ้งได้ยาก
บางพวกเป็นภัพพสัตว์บางพวกเป็นอภัพพสัตว์ บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาพรหมทราบพระปริวิตกในพระทัย ของพระผู้มี พระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ด้วยใจแล้ว จึงได้กราบทูล พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ด้วยคาถา ทั้งหลาย ความว่า

            [๔๕] ผู้ที่ยืนอยู่ยอดภูเขาสิลาล้วน พึงเห็นประชุมชน ได้โดยรอบ ฉันใด ท่านผู้มีเมธา ดีมีจักษุโดยรอบ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ขึ้นสู่ปราสาทอันสำเร็จแล้วด้วยธรรม เป็นผู้ ปราศจากความเศร้าโศก ทรงพิจารณา เห็นประชุมชนผู้เกลื่อนกล่น ไปด้วยความเศร้าโศก ถูกชาติและชราครอบงำแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้กล้า ผู้ชนะสงครามแล้ว เป็นนายพวก ปราศจากหนี้ ขอพระองค์จงเสด็จลุกขึ้น เปิดเผยโลก ขอผู้มีพระภาค จงทรงแสดงธรรม ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ ยังจักมี

            [๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวมหาพรหมนั้นได้กราบทูลแล้ว ดังนี้ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี จึงได้ตรัสกะ ท้าวมหาพรหม นั้น ด้วยพระคาถา ว่าเราได้เปิดเผยประตูอมตะไว้สำหรับท่านแล้ว ผู้มีโสตจงปล่อยศรัทธา มาเถิด ดูกรพรหม เรารู้สึกลำบาก จึงมิได้กล่าวธรรม อันประณีต ซึ่งเราให้คล่องแคล่ว แล้วในหมู่มนุษย์ ดังนี้

            [๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาพรหมคิดว่าเราเป็นผู้มีโอกาส อันพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้ทรงกระทำแล้ว เพื่อจะทรงแสดงธรรม จึงถวาย บังคมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี กระทำประทักษิณ แล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง

            [๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ทรงพระดำริว่า เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อน เล่าหนอ ใครจะรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้เร็วพลันทีเดียว

            ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้ทรงพระดำริว่า พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะ และบุตร ปุโรหิตชื่อว่า ติสสะ นี้ ผู้อาศัยอยู่ใน พระนครพันธุมดีราชธานี เป็นคนฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีกิเลส เพียง ดังธุลีในจักษุเบาบางสิ้นกาลนาน ไฉนหนอ เราพึงแสดงธรรมแก่ พระราชโอรส พระนามว่าขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อว่า ติสสะ ก่อน คนทั้งสองนั้นจักรู้ ทั่วถึง ธรรมนี้ได้รวดเร็วทีเดียว

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์