ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า 221
ศีลเป็นฐานรองรับสติปัฏฐานสี่
ภิกษุ ท. ! ถ้าอย่างนั้น ในเรื่องนี้เธอจงชำระสิ่งอันเป็นเบื้องต้น ในกุศล ทั้งหลายให้บริสุทธิ์ก่อนเถิด. อะไรก็เป็นสิ่งเบื้องต้นของสิ่งอันเป็นกุศล ทั้งหลายเล่า สิ่งเบื้องต้นนั้นก็ได้แก่ศีล อันบริสุทธิ์หมดจดด้วยดี และ ทิฏฐิ (ความเห็น) ที่ถูกตรง.
ภิกษุ ! โดยกาลใดแล ศีลของเธอเป็นศีลที่บริสุทธิ์หมดจดด้วยดีและ ทิฏฐิ ก็จักเป็นความเห็นที่ถูกตรงด้วย โดยกาลนั้น เธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้วพึงอบรม สติปัฏฐานสี่ โดยวิธีทั้งสาม๑เถิด. สติปัฏฐานสี่อะไรบ้างเล่า ?
สติปัฏฐานสี่คือ
ภิกษุ ! เธอจงพิจารณาเห็นกายในกาย ณ ภายใน อยู่เนืองๆก็ดี จงพิจารณาเห็นกาย ในกาย ณ ภายนอก อยู่เนือง ๆ ก็ดี จงพิจารณาเห็นกาย ในกาย ทั้งภายในและ ภายนอก อยู่เนือง ๆ ก็ดี เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่ว พร้อม มีสติพึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย.
(ในเวทนา จิต และธรรม ก็ตรัสทำนองเดียวกับในกาย).
ภิกษุ ! แต่กาลใดแล เธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จักอบรม สติปัฏฐานสี่เหล่านี้ โดยวิธีสาม ด้วยอาการอย่างนี้ แต่กาลนั้น คืนหรือวัน ของเธอจักผ่านไป โดยหวังได้ แต่ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้.
ศีลเป็นฐานรองรับสติปัฏฐานสี่ (อีกนัยหนึ่ง)
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์หน้า 221-1
ภิกษุ ! ถ้าอย่างนั้น ในเรื่องนี้เธอจงชำระสิ่งอันเป็นเบื้องต้นในกุศลทั้งหลาย ให้บริสุทธิ์เสียก่อน เถิด. ก็อะไรเป็นสิ่งเบื้องต้นของสิ่งอันเป็นกุศล ทั้งหลายเล่า ?
ภิกษุ ! ในกรณีนี้เธอจงเป็นผู้สำรวมด้วย ปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและ โคจรอยู่เถิด จงมีปรกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษา อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย.
ภิกษุ ! โดยกาลใดแล เธอจักสำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อม ด้วยมรรยาทและ โคจร มีปรกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายแม้มีประมาณน้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ใน สิกขาบททั้งหลาย โดยกาลนั้น เธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว พึงอบรม สติปัฏฐานสี่เถิด.
สติปัฏฐานสี่อะไรบ้างเล่า ? สติปัฏฐานสี่คือ
ภิกษุ ! ในกรณีนี้เธอ
จงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนืองๆ
จงพิจารณา เห็นเวทนาในเวทนา ทั้งหลายอยู่เนือง ๆ จงพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เนือง ๆ
จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เนือง ๆ
เป็นผู้มีความเพียร เผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติพึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย.
ภิกษุ ! แต่กาลใด เธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จักอบรมสติปัฏฐาน สี่เหล่านี้ ด้วยอาการ อย่างนี้ แต่กาลนั้น คืนหรือวันของเธอจักผ่านไปโดย หวังได้แต่ความเจริญ ในกุศลธรรม ทั้งหลาย อย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้.
-------------------------------------------------------------------------------
๑. บาลีพระพุทธภาษิต มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๔๙/๘๒๘, ตรัสแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ที่เชตวัน ซึ่งท่านผู้นี้ต้องการจะออกไปทำความเพียร เผากิเลส, ทูลขอให้พระองค์แสดง ธรรมย่อ ๆ พอที่จะส่งจิตใจไปตามธรรมนั้นได้.
-------------------------------------------------------------------------------
ศีลเป็นฐานรองรับโพชฌงค์เจ็ด
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า 222
ภิกษุ ท. ! เปรียบเสมือนสัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง สำเร็จอิริยาบทสี่คือ เดินในบางคราว ยืนในบางคราว นั่งในบางคราว นอนในบางคราว สัตว์เหล่านั้น ทั้งหมด อาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่เหนือแผ่นดิน จึงสำเร็จอิริยาบถสี่นั้นได้ฉันใด
ภิกษุ ท. ! ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว ย่อมอบรมโพชฌงค์๗ ให้เกิดขึ้นได้ย่อมทำ โพชฌงค์๗ ให้มีมากขึ้นได้.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว ย่อมอบรมโพชฌงค์๗ ให้เกิดขึ้นได้ย่อมทำ โพชฌงค์๗ ให้มีมากขึ้นได้เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมอบรม สติ สัมโพชฌงค์ (1)
ย่อมอบรม ธัมมวิจย-สัมโพชฌงค์ (2)
ย่อมอบรม วิริย สัมโพชฌงค์ (3)
ย่อมอบรม ปีติ สัมโพชฌงค์ (4)
ย่อมอบรม ปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์ (5)
ย่อมอบรม สมาธิ สัมโพชฌงค์ (6)
ย่อมอบรม อุเบกขา สัมโพชฌงค์ (7)
ชนิดที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป เพื่อความปล่อยวาง.
ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้วย่อมอบรมโพชฌงค์๗ ให้เกิดขึ้นได้ย่อมทำโพชฌงค์๗ ให้มีมากขึ้นได้.
ศีลเป็นฐานรองรับอริยมรรคมีองค์แปด
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า 223
ภิกษุ ท. ! การงานประเภทใดประเภทหนึ่งที่ต้องทำด้วยกำลัง อันบุคคลกระทำอยู่ การงานเหล่านั้นทั้งหมด ต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่บนแผ่นดิน บุคคลจึงทำการงาน ที่ต้องทำด้วยกำลังเหล่านั้นได้ด้วยอาการอย่างนี้ฉันใด
ภิกษุ ท. ! ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว ย่อมอบรมอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้เกิดขึ้นได้ ย่อมทำอริยมรรคมีองค์๘ ให้มากขึ้นได้ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว ย่อมอบรมอริยมรรคมีองค์๘ ให้เกิดขึ้นได้ ย่อมทำอริยมรรคมีองค์๘ ให้มากขึ้นได้เป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุ ท.ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอบรมสัมมาทิฏฐิ ย่อมอบรมสัมมาสังกัปปะ ย่อมอบรมสัมมาวาจา ย่อมอบรมสัมมา กัมมันตะ ย่อมอบรมสัมมาอาชีวะ ย่อมอบรมสัมมาวายามะ ย่อมอบรมสัมมาสติ และย่อมอบรมสัมมาสมาธิ ชนิด ที่โอนไปสู่นิพพาน เอนไปสู่นิพพาน เอียงไปสู่นิพพาน.
ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการ อย่างนี้แล ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว ย่อมทำอริยมรรค มีองค์๘ ให้เกิดขึ้นได้ย่อมทำอริยมรรคมีองค์๘ ให้มากขึ้นได้. |