พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๑
เรื่องอัมพัฏฐมาณพ
[๑๔๓] สมัยนั้นแล อัมพัฏฐมาณพ ศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติ เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจ ไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ อันอาจารย์ยกย่อง และรับรอง ในลัทธิปาพจน์ คือ ไตรวิทยา อันเป็นของอาจารย์ของตนว่า ฉันรู้สิ่งใด เธอรู้สิ่งนั้น เธอรู้สิ่งใด ฉันรู้สิ่งนั้น
ครั้งนั้นแล พราหมณ์โปกขรสาติ เรียกอัมพัฏฐมาณพ มาเล่าว่า พ่ออัมพัฏฐะ พระสมณะโคดมศากยบุตร พระองค์นี้ทรงผนวช จากศากยสกุล แล้วเสด็จจาริกไป ในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ถึงอิจฉานังคลคาม โดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคลวัน ใกล้อิจฉานังคลคาม ก็เกียรติศัพท์ อันงามของท่านพระโคดม พระองค์นั้นแล ขจรไปอย่างนี้ว่า
แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เอง โดยชอบ ถึงพร้อม ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ ที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบาน แล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่ง ของพระองค์เอง แล้วทรงสอน หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมงาม ในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดีแล
พ่ออัมพัฏฐะ พ่อจงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม ถึงที่ประทับ แล้วจงรู้ว่า เกียรติศัพท์ ของท่านพระโคดม พระองค์นั้นที่ขจรไป จริงตามนั้นหรือไม่ ท่านพระโคดม พระองค์นั้น ทรงคุณเช่นนั้นจริงหรือไม่ เราทั้งหลายจะได้รู้จักท่านพระโคดม พระองค์นั้น ไว้ โดยประการนั้น
อัมพัฏฐมาณพ ถามว่า ท่านก็ไฉนเล่า ข้าพเจ้าจึงได้รู้ว่าเกียรติศัพท์ ของท่าน พระโคดมพระองค์นั้น ที่ขจรไป จริงอย่างนั้นหรือไม่ ท่านพระโคดมพระองค์นั้น ทรงคุณเช่นนั้นจริงหรือไม่?
พราหมณ์โปกขรสาติตอบว่า พ่ออัมพัฏฐะ มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มาแล้วในมนต์ของเรา ซึ่งพระมหาบุรุษประกอบแล้ว ย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็น อย่างอื่น ถ้าครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชา โดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้วช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗ พระราชบุตรของพระองค์ มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศาตรา ครอบครองแผ่นดิน มีสาครเป็นขอบเขต ถ้าเสด็จออก ผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลส อันเปิดแล้วในโลก
พ่ออัมพัฏฐะ เราเป็นผู้สอนมนต์ พ่อเป็นผู้เรียนมนต์.
อัมพัฏฐมาณพ รับคำพราหมณ์โปกขรสาติแล้ว ลุกจากที่นั่ง ไหว้พราหมณ์ โปกขรสาติ กระทำประทักษิณ แล้วขึ้นรถม้าพร้อมด้วยมาณพหลายคน ขับตรงไป ยังราวป่าอิจฉานังคลวัน ตลอดภูมิประเทศเท่าที่รถจะไปได้ ลงจากรถเดินตรงไปยัง พระอาราม
[๑๔๔] สมัยนั้นแล ภิกษุหลายรูป กำลังจงกรมอยู่กลางแจ้ง ลำดับนั้น อัมพัฏฐมาณพเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น ถึงที่จงกรม ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้ กะภิกษุเหล่านั้นว่า ท่านผู้เจริญ เวลานี้ท่านพระโคดมพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน พวกข้าพเจ้าพากันเข้ามาที่นี่ เพื่อจะเฝ้าพระองค์ท่าน
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น คิดเห็นร่วมกันเช่นนี้ว่า อัมพัฏฐมาณพผู้นี้ เป็นคน เกิดในสกุลที่มีชื่อเสียง ทั้งเป็นศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติ ผู้มีชื่อเสียง อันการ สนทนาปราศรัยกับพวกกุลบุตร เห็นปานนี้ ย่อมไม่เป็นการหนักพระทัยแก่พระผู้มี พระภาคเลย ดังนี้แล้วจึงตอบอัมพัฏฐมาณพว่า อัมพัฏฐะ นั่นพระวิหารมีประตูปิดอยู่ ท่านจงสงบเสียงเข้าไปทางพระวิหารนั้นค่อยๆ เข้าไปที่เฉลียง กระแอมไอแล้ว เคาะบานประตูเถิด พระผู้มีพระภาคจักทรงเปิดประตูรับท่าน
ลำดับนั้น อัมพัฏฐมาณพสงบเสียง เข้าไปทางพระวิหาร ซึ่งมีประตูปิดอยู่นั้น ค่อยๆเข้าไปยังเฉลียง กระแอมไอแล้ว เคาะบานประตู พระผู้มีพระภาคทรงเปิดประตู อัมพัฏฐมาณพเข้าไปแล้ว แม้พวกมาณพก็พากันเข้าไปปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
[๑๔๕] ฝ่ายอัมพัฏฐมาณพ เดินปราศรัยบ้าง ยืนปราศรัยบ้าง กับพระผู้มีพระภาคผู้ประทับนั่งอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า อัมพัฏฐะ เธอเคยสนทนาปราศรัย กับพวกพราหมณ์ผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ เหมือนดังเธอ เดินบ้างยืนบ้าง สนทนาปราศรัยกับเราผู้นั่งอยู่เช่นนี้หรือ?(พราหมณ์มานพ ยืนบ้าง เดินบ้าง แสดงอาการไม่เคารพพระศาสดา)
อ. ข้อนี้หามิได้ พระโคดมผู้เจริญ เพราะว่าพราหมณ์ผู้เดิน ก็ควรเจรจา กับ พราหมณ์ผู้เดิน พราหมณ์ผู้ยืนก็ควรเจรจา กับพราหมณ์ผู้ยืน พราหมณ์ผู้นั่ง ก็ควรเจรจา กับพราหมณ์ผู้นั่ง พราหมณ์ผู้นอนก็ควรเจรจากับพราหมณ์ผู้นอน
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แต่ผู้ใดเป็นสมณะโล้น เป็นคฤหบดีเชื้อสายกัณหโคตร เกิดจากพระบาทของท้าวมหาพรหม ข้าพเจ้าย่อมสนทนาปราศรัยกับผู้นั้น เหมือนกับ ที่สนทนาปราศรัยกับพระโคดมผู้เจริญนี้
อัมพัฏฐะ ก็เธอมีธุระจึงได้มาที่นี้ ก็พวกเธอมาเพื่อประโยชน์อันใดแล พึงใส่ใจ ถึงประโยชน์นั้นแหละไว้ให้ดี ก็อัมพัฏฐมาณพ ยังไม่ได้รับการศึกษาเลย สำคัญตัวว่า ได้รับการศึกษาดีแล้ว จะมีอะไรอีกเล่า นอกจากไม่ได้รับการศึกษา
ลำดับนั้น อัมพัฏฐมาณพถูกพระผู้มีพระภาค ตรัสตำหนิด้วยพระวาจาว่า เป็นคนไม่ได้รับการศึกษา โกรธ ขัดใจ เมื่อจะด่าข่มว่ากล่าวพระผู้มีพระภาค คิดว่าเรา จักต้องให้พระสมณโคดมได้รับความเสียหาย ได้กล่าวคำนี้ กะ พระผู้มีพระภาคว่า ท่านโคดม พวกชาติศากยะดุร้าย หยาบช้า มีใจเบา พูดพล่าม เป็นแต่พวก คฤหบดีแท้ๆ ยังไม่สักการะพวกพราหมณ์ ไม่เคารพพวกพราหมณ์ ไม่นับถือพวก พราหมณ์ ไม่บูชาพวกพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมพวกพราหมณ์
ท่านโคดม การที่พวกศากยะ เป็นแต่พวกคฤหบดีแท้ๆ แต่ไม่สักการะพวก พราหมณ์ ไม่เคารพพวกพราหมณ์ ไม่นับถือพวกพราหมณ์ ไม่บูชาพวกพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมพวก พราหมณ์นี้ไม่เหมาะไม่สมควรเลย
อัมพัฏฐมาณพ กดพวกศากยะว่า เป็นแต่พวกคฤหบดีแท้ๆ นี้เป็นครั้งแรก ด้วยประการฉะนี้
[๑๔๖] อัมพัฏฐะ ก็พวกศากยะได้ทำผิดต่อเธออย่างไร?.
ท่านโคดม ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ไปยัง นครกบิลพัสดุ์ ด้วยกรณียกิจบางอย่าง ของพราหมณ์โปกขรสาติ ผู้อาจารย์ ได้เดินเข้าไปยังสัณฐาคาร ของพวกศากยะ เวลานั้นพวกศากยะ และศากยกุมารมากด้วยกัน นั่งเหนืออาสนะสูงๆ ในสัณฐาคาร เอานิ้วมือสะกิดกัน และกันเฮฮาอยู่ เห็นทีจะหัวเราะเยาะข้าพเจ้าเป็นแน่ ไม่มีใครเ ชื้อเชิญให้ข้าพเจ้านั่งเลย
ท่านโคดม ข้อที่พวกศากยะ เป็นแต่พวกคฤหบดีแท้ๆ แต่ไม่สักการะ พวกพราหมณ์ ไม่เคารพพวกพราหมณ์ ไม่นับถือพวกพราหมณ์ ไม่บูชาพวกพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมพวกพราหมณ์นี้ ไม่เหมาะไม่สมควรเลย
อัมพัฏฐมาณพกดพวกศากยะว่า เป็นแต่พวกคฤหบดีแท้ๆ นี้เป็นครั้งที่สอง ด้วยประการฉะนี้
[๑๔๗] อัมพัฏฐะ แม้นางนกไส้ก็ยังเป็นสัตว์พูดได้ตามความปรารถนา ในรัง ของตน ก็พระนครกบิลพัสดุ์ เป็นถิ่นของพวกศากยะ อัมพัฏฐะไม่ควรจะข้องใจ เพราะการหัวเราะเยาะเพียงเล็กน้อยนี้เลย
ท่านโคดม วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ เวสส์ ศูทร บรรดา วรรณะ ๔ เหล่านี้ ๓ วรรณะ คือ กษัตริย์ เวสส์ ศูทร เป็นคนบำเรอของพราหมณ์ พวกเดียว
โดยแท้
ท่านโคดม ข้อที่พวกศากยะ เป็นแต่พวกคฤหบดีแท้ๆ แต่ไม่สักการะ พวกพราหมณ์ ไม่เคารพพวกพราหมณ์ ไม่นับถือพวกพราหมณ์ ไม่บูชาพวกพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมพวกพราหมณ์นี้ ไม่เหมาะไม่สมควรเลย
อัมพัฏฐมาณพ กดพวกศากยะว่า เป็นแต่พวกคฤหบดีแท้ๆ นี้เป็นครั้งที่สาม ด้วยประการฉะนี้
[๑๔๘] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงพระดำริเช่นนี้ว่า อัมพัฏฐมาณพผู้นี้ กล่าวเหยียบย่ำพวกศากยะอย่างหนัก โดยเรียกว่า เป็นแต่พวกคฤหบดีแท้ๆ ถ้ากระไร เราจะพึงถามถึงโคตรเธอดูบ้าง
แล้วพระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ กับ อัมพัฏฐมาณพ ว่า
อัมพัฏฐะ เธอมีโคตรว่าอย่างไร?
กัณหายนโคตร ท่านโคดม
อัมพัฏฐะ ก็เธอระลึกถึงโคตรเก่าแก่ อันเป็นของมารดาบิดาดูเถิด พวกศากยะ เป็นลูกเจ้าเธอ เป็นลูกนางทาสีของพวกศากยะ ก็พวกศากยะ เขาพากันอ้างถึง พระเจ้า อุกกากราช ว่าเป็นบรรพบุรุษ
ว่าด้วยศากยวงศ์ (วงศ์ของพระพุทธเจ้า)
[๑๔๙] อัมพัฏฐะ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าอุกกากราชทรงพระประสงค์ จะพระราชทานสมบัติให้แก่พระโอรสของพระมเหสี ผู้ที่ทรงรักใคร่โปรดปราน จึงทรง รับสั่งให้พระเชฏฐกุมาร คือพระอุกกามุขราชกุมาร พระกรกัณฑุราชกุมาร พระหัตถินีก ราชกุมาร และพระสีนิปุระราชกุมาร ออกจากพระราชอาณาเขต พระกุมารเหล่านั้น เสด็จออกจากพระราชอาณาเขตแล้ว จึงไปตั้งสำนักอาศัยอยู่ ณ ราวป่าไม้สากะใหญ่ ริมฝั่งสระโปกขรณี ข้างภูเขาหิมพานต์ พระราชกุมารเหล่านั้น ทรงสำเร็จการอยู่ร่วมกับ พวกพระภคินีของพระองค์เอง เพราะกลัวพระชาติจะระคนปนกัน.
อัมพัฏฐะ ต่อมาพระเจ้าอุกกากราช ตรัสถามหมู่อำมาตย์ราชบริษัทว่า บัดนี้ พวกกุมารอยู่กัน ณ ที่ไหน?.
พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ขอเดชะ มีราวป่าไม้สากะใหญ่อยู่ริมฝั่งสระโบกขรณี ข้างภูเขาหิมพานต์ บัดนี้ พระราชกุมารทั้งหลายอยู่ ณ ที่นั้น พระราชกุมารเหล่านั้น ทรงสำเร็จการอยู่ร่วมกับพวกพระภคินีของพระองค์เอง เพราะกลัวพระชาติจะระคน ปนกัน.
อัมพัฏฐะ ทีนั้นพระเจ้าอุกกากราช ทรงเปล่งพระอุทานว่า ท่านทั้งหลาย พวกกุมารสามารถหนอ พวกกุมารสามารถยอดเยี่ยมหนอ.
อัมพัฏฐะ ก็พวกที่ชื่อว่าศากยะปรากฏตั้งแต่กาลครั้งนั้นเป็นต้นมา และพระเจ้า อุกกากราชพระองค์นั้น เป็นบรรพบุรุษของพวกศากยะ และพระเจ้า อุกกากราช มีนางทาสีคนหนึ่งชื่อทิสา นางคลอดบุตรคนหนึ่ง ชื่อกัณหะกัณหะพอเกิดมาก็พูดได้ว่า แม่จงชำระฉัน จงให้ฉันอาบน้ำ แม่จ๋า ขอแม่จงปลดเปลื้องฉันจากสิ่งโสโครกนี้ ฉันเกิดมาเพื่อประโยชน์แก่แม่.
อัมพัฏฐะ มนุษย์สมัยนี้เรียกปีศาจว่า ปีศาจ ฉันใด มนุษย์สมัยนั้นก็ฉันนั้น เรียกปีศาจว่า คนดำ มนุษย์เหล่านั้นจึงกล่าวกันเช่นนี้ว่า ทารกนี้พอเกิดมาก็พูดได้ คนดำเกิดแล้วปีศาจเกิดแล้ว. อัมพัฏฐะ ก็พวกที่ชื่อว่ากัณหายนะ ปรากฏตั้งแต่กาล ครั้งนั้น เป็นต้นมา และกัณหะนั้นเป็นบรรพบุรุษ ของพวกกัณหายนะ.
อัมพัฏฐะ เธอระลึกถึงโคตรเก่าแก่ อันเป็นของมารดาบิดาดูเถิด พวกศากยะ เป็นลูกเจ้าเธอ เป็นลูกทาสีของพวกศากยะ ด้วยประการฉะนี้แล.
ว่าด้วยวงศ์ของอัมพัฏฐมาณพ
[๑๕๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาณพเหล่านั้น ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า พระโคดมผู้เจริญ ขอพระองค์อย่าทรงเหยียดหยาม อัมพัฏฐมาณพ ด้วยพระวาทะว่า เป็นลูกทาสี (คนรับใช้) ให้หนักนักเลย
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อัมพัฏฐมาณพมีชาติดี เป็นบุตรผู้มีสกุล เป็นพหูสูต เจรจาไพเราะ เป็นบัณฑิต และเธอสามารถจะโต้ตอบในคำนี้กับพระโคดมผู้เจริญได้.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะมาณพเหล่านั้นว่า ถ้าพวกเธอคิดเช่นนี้ว่า อัมพัฏฐมาณพมีชาติทราม มิใช่บุตรผู้มีสกุล มีสุตะน้อย เจรจาไม่ไพเราะ มีปัญญาทราม และไม่สามารถจะโต้ตอบในคำนี้กับพระสมณโคดมได้ อัมพัฏฐมาณพจงหยุดเสียเถิด พวกเธอจงโต้ตอบกับเราในคำนี้
ก็ถ้าพวกเธอคิดเช่นนี้ว่า อัมพัฏฐมาณพมีชาติดี เป็นบุตรผู้มีสกุล เป็นพหูสูตร เจรจาไพเราะ เป็นบัณฑิต และสามารถจะโต้ตอบในคำนี้ กับพระสมณโคดมได้ พวกเธอ จงหยุดเสียเถิดอัมพัฏฐมาณพจงโต้ตอบกับเราในคำนี้.
มาณพเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อัมพัฏฐมาณพมีชาติดี เป็นบุตรผู้มีสกุลเป็นพหูสูตร เจรจาไพเราะ เป็นบัณฑิต และสามารถจะโต้ตอบในคำนี้ กับพระโคดมได้ พวกข้าพเจ้าจักนิ่งละ อัมพัฏฐมาณพจงโต้ตอบกับพระโคดม ในคำนี้เถิด
[๑๕๑] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสกะอัมพัฏฐมาณพว่า อัมพัฏฐะ ปัญหา ประกอบด้วยเหตุนี้แล มาถึงเธอเข้าแล้ว ถึงแม้จะไม่ปรารถนา เธอก็ต้องแก้ ถ้าเธอจัก ไม่แก้ก็ดี จักกลบเกลื่อนด้วยคำอื่นเสียก็ดี จักนิ่งเสียก็ดี หรือจักหลีกไปเสียก็ดี ศีรษะ ของเธอจักแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง ณ ที่นี้แหละ
อัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอได้ยินพวกพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาว่าอย่างไร พวกกัณหายนะเกิดมาจากใครก่อน และ ใครเป็นบรรพบุรุษของพวกกันหายนะ(กัณหายนโคตร)
เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสเช่นนี้แล้ว อัมพัฏฐมาณพได้นิ่งเสีย.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามอัมพัฏฐมาณพ แม้เป็นครั้งที่สองว่า อัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอได้ยินพวกพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ผู้เป็นอาจารย์ และเป็นปาจารย์เล่ากันมาว่าอย่างไร พวกกัณหายนะเกิดมาจากใครก่อน และใครเป็น บรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ.
แม้ครั้งที่สอง อัมพัฏฐมาณพก็ได้นิ่งเสีย.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะอัมพัฏฐมาณพว่า อัมพัฏฐะ เธอจงแก้เดี๋ยวนี้ บัดนี้ไม่ใช่เวลาของเธอจะนิ่งอัมพัฏฐะ เพราะผู้ใดถูกตถาคตถามปัญหา อันประกอบด้วย เหตุ ถึงสามครั้งแล้ว ไม่แก้ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง ณ ที่นี่แหละ.
[๑๕๒] สมัยนั้น ยักษ์วชิรปาณี ถือค้อนเหล็กใหญ่ ลุกโพลงโชติช่วง ยืนอยู่ ในอากาศเบื้องบนอัมพัฏฐมาณพ คิดว่า ถ้าอัมพัฏฐมาณพนี้ถูกพระผู้มีพระภาค ตรัสถาม ปัญหาที่ประกอบด้วยเหตุถึงสามครั้งแล้ว แต่ไม่แก้ เราจักต่อยศีรษะของเขา ให้แตก เป็นเจ็ดเสี่ยง ณ ที่นี้แหละ.
พระผู้มีพระภาคและอัมพัฏฐมาณพเท่านั้น เห็นยักษ์วชิรปาณีนั้น
ครั้งนั้นอัมพัฏฐมาณพ ตกใจกลัวขนพองสยองเกล้า ทูลขอให้พระผู้มีพระภาค นั่นเอง เป็นที่ต้านทาน ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคนั่นเองเป็นที่เร้น ทูลขอให้พระผู้มี พระภาคนั่นเอง เป็นที่พึ่งกระเถิบเข้าไปนั่งใกล้ๆ แล้วกราบทูลว่า
พระโคดมผู้เจริญได้ตรัสคำอะไรนั่น ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดตรัสอีกครั้งเถิด
อัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอได้ยินพวกพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ เล่ากันมาว่าอย่างไร พวกกัณหายนะเกิดมาจากใครก่อน และใครเป็นบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ?.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ยินมา เหมือนอย่างที่พระโคดมผู้เจริญ ตรัสนั่นแหละ พวกกัณหายนะเกิดมาจากกัณหะนั้นก่อน และก็กัณหะนั้น เป็นบรรพบุรุษ ของพวกกัณหายนะ.
[๑๕๓] เมื่ออัมพัฏฐมาณพ กล่าวเช่นนี้แล้ว มาณพเหล่านั้น ส่งเสียงอื้ออึง เกรียวกราว ว่าท่านผู้เจริญ ได้ยินว่าอัมพัฏฐมาณพ มีชาติทราม มิใช่บุตรผู้มีสกุล เป็นลูก ทาสีของพวกศากยะ ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่าพวกศากยะ เป็นโอรสของเจ้านาย อัมพัฏฐมาณพ พวกเราไพล่ไปสำคัญเสีย ว่าพระสมณโคดม ผู้ธรรมวาทีพระองค์เดียว ควรจะถูกรุกรานเสียได้ (พวกมาณพด้วยกัน บอกความจริงว่า อัมพัฏฐมาณพ เป็นลูกทาสี หรือลูกคนใช้ ของ ตระกูลศากยะ ซึ่งเป็นตระกูลของพระพุทธเจ้า)
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงดำริเช่นนี้ว่า มาณพเหล่านี้ พากันเหยียดหยาม อัมพัฏฐมาณพ ด้วยวาทะว่า เป็นลูกทาสีหนักนัก ถ้ากระไรเราพึงช่วยปลดเปลื้องให้ (ช่วยแก้ต่าง)
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ กะมาณพเหล่านั้นว่า ดูกรมาณพ พวกเธออย่าเหยียดหยาม อัมพัฏฐมาณพด้วยวาทะว่า เป็นลูกทาสี ให้หนักนัก เพราะกัณหะนั้นได้เป็นฤาษีคนสำคัญ เธอไปยังทักษิณาชนบท เรียนมนต์ อันประเสริฐ แล้วเข้าไปเฝ้าพระอุกกากราช ทูลขอพระราชธิดาพระนามว่ามัททรูปี พระเจ้าอุกกากราชทรงพระพิโรธ ขัดพระทัยแก่พระฤาษีนั้นว่า บังอาจอย่างนี้เจียวหนอ ฤาษีเป็นลูกทาสีของเราแท้ๆ ยังมาขอธิดาชื่อว่ามัททรูปี แล้วทรงขึ้นพระแสงศร ท้าวเธอไม่อาจจะทรงแผลง และไม่อาจจะทรงลดลง.
[๑๕๔] ดูกรมาณพ ครั้งนั้น หมู่อำมาตย์ราชบริษัท พากันเข้าไปหากัณหฤาษี แล้วได้กล่าวคำนี้ กะกัณหฤาษีว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอความสุขสวัสดีจงมีแต่พระราชา ขอความสวัสดีจงมีแด่พระราชา ฤาษีตอบว่าความสวัสดีจักมีแด่พระราชา แต่ว่าท้าวเธอ จักทรงแผลงพระแสงศรลงไปเบื้องต่ำ แผ่นดินจักทรุด ตลอดพระราช อาณาเขต อำมาตย์กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอความสวัสดีจงมีแด่พระราชา ขอความสวัสดี จงมีแก่ชนบท ฤาษีตอบว่า ความสวัสดีจักมีแด่พระราชา ความสวัสดี จักมีแก่ชนบท แต่ถ้าท้าวเธอ จักทรงแผลงพระแสงศรขึ้นไป เบื้องบนฝนจักไม่ตก ทั่วพระราช อาณาเขต ถึงเจ็ดปี อำมาตย์กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอความสวัสดีจงมี แด่พระราชา ขอความสวัสดีจงมีแก่ชนบท ขอฝนจงตกเถิด ฤาษีตอบว่า ความสวัสดี จักมีแด่พระราชา ความสวัสดีจักมีแก่ชนบท ฝนจักตก แต่พระราชา ต้องทรงวาง พระแสงศรไว้ที่พระราชกุมารพระองค์ใหญ่ ด้วยทรงพระดำริว่า พระราชกุมารจัก เป็นผู้มีความสวัสดี หายสยดสยองดังนี้.
ดูกรมาณพ ลำดับนั้นพระเจ้าอุกกากราช ได้ทรงวางพระแสงศร ไว้ที่ พระราชกุมาร พระองค์ใหญ่ ด้วยทรงพระดำริว่า พระราชกุมารจักเป็นผู้มีความสวัสดี หายสยดสยอง ดังนี้ครั้นท้าวเธอทรงวางพระแสงศรไว้ที่พระราชกุมาร พระองค์ใหญ่ แล้ว พระราชกุมารก็เป็นผู้มีความสวัสดี หายสยดสยอง พระเจ้าอุกกากราช ทรงกลัว ถูกขู่ ด้วยพรหมทัณฑ์ จึงได้พระราชทานพระนางมัททรูปีราชธิดาแก่ฤาษีนั้น.
ดูกรมาณพ พวกเธออย่าเหยียดหยาม อัมพัฏฐมาณพด้วยวาทะว่าเป็นลูกทาสี ให้หนักนักเลย กัณหะนั้นได้เป็นฤาษีสำคัญแล้ว.
[๑๕๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะอัมพัฏฐมาณพว่า ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ขัตติยกุมารในโลกนี้ พึงสำเร็จการอยู่ร่วมกับ นาง พราหมณกัญญา เพราะอาศัยการอยู่ร่วมกันของคนทั้งสองนั้น พึงเกิดบุตรขึ้น บุตรผู้เกิด แต่นางพราหมณกัญญา กับขัตติยกุมารนั้น จะควรได้ที่นั่ง หรือน้ำ ในหมู่ พราหมณ์ บ้างหรือไม่?
ควรได้ พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์ จะควรเชิญเขาให้บริโภค ในการเลี้ยงเพื่อผู้ตายในการเลี้ยง เพื่อ การมงคล ในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยงเพื่อแขกบ้างหรือไม่?
ควรเชิญเขาให้บริโภคได้ พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์จะควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่?
ควรบอกให้ พระโคดมผู้เจริญ.
เขาควรจะถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่?
เขาไม่ควรถูกห้ามเลย พระโคดมผู้เจริญ.
เขาควรจะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์ได้บ้างหรือไม่?
ข้อนี้ไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ.
เพราะเหตุอะไร?
เพราะเขาไม่บริสุทธิ์ข้างฝ่ายมารดา.
[๑๕๖] ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณกุมาร ในโลกนี้ พึงสำเร็จการอยู่ร่วมกับ นางขัตติยกัญญา เพราะอาศัยการอยู่ร่วมของคน ทั้งสองนั้น พึงเกิดบุตรขึ้นบุตร ผู้เกิดแต่ขัตติยกัญญา กับพราหมณกุมาร จะควรได้ที่นั่ง หรือน้ำในหมู่พราหมณ์บ้างหรือไม่?
ควรได้ พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์ จะควรเชิญเขาให้บริโภค ในการเลี้ยงเพื่อผู้ตาย ในการเลี้ยง เพื่อการมงคล ในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยงเพื่อแขก ได้บ้างหรือไม่?
ควรเชิญเขาให้บริโภคได้ พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์ควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่?
ควรบอกให้ พระโคดมผู้เจริญ.
เขาควรถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่?
เขาไม่ควรถูกห้ามเลย พระโคดมผู้เจริญ.
เขาควรจะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์ได้บ้างหรือไม่?
ข้อนี้ไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ.
เพราะเหตุอะไร?
เพราะเขาไม่บริสุทธิ์ฝ่ายบิดา.
[๑๕๗] ดูกรอัมพัฏฐะ เมื่อเทียบหญิงกับหญิงก็ดี เมื่อเทียบชายกับชายก็ดี กษัตริย์พวกเดียวประเสริฐ พวกพราหมณ์เลว ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความ ข้อนั้น เป็นไฉน พราหมณ์ทั้งหลาย ในโลกนี้ พึงโกนศีรษะพราหมณ์คนหนึ่ง มอมด้วยเถ้า เนรเทศเสียจากแว่นแคว้น หรือจากเมืองเพราะโทษบางอย่าง เขาจะควรได้ที่นั่ง หรือ น้ำ ในหมู่พราหมณ์บ้างหรือไม่?
ไม่ควรได้เลย พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์ ควรเชิญเขาให้บริโภค ในการเลี้ยงเพื่อผู้ตาย ในการเลี้ยงเพื่อก ารมงคล ในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยง เพื่อแขกได้บ้างหรือไม่?
ไม่ควรเชิญเขาให้บริโภคเลย พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์ควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่?
ไม่ควรบอกให้เลย พระโคดมผู้เจริญ.
เขาควรถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่?
เขาควรถูกห้ามทีเดียว พระโคดมผู้เจริญ.
[๑๕๘] อัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน กษัตริย์ทั้งหลายในโลกนี้ พึงปลงเกศา กษัตริย์องค์หนึ่ง มอมด้วยเถ้า แล้วเนรเทศเสียจากแว่นแคว้น หรือ จากเมือง เพราะโทษบางอย่าง เขาจะควรได้ที่นั่ง หรือน้ำในหมู่พราหมณ์ บ้าง หรือไม่?
ควรได้ พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์ ควรเชิญเขาให้บริโภคในการเลี้ยงเพื่อผู้ตาย ในการเลี้ยงเพื่อ การมงคล ในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยงเพื่อแขกได้บ้างหรือไม่?
ควรเชิญให้เขาบริโภคได้ พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์ควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่?
ควรบอกให้ พระโคดมผู้เจริญ.
เขาควรถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่?
เขาไม่ควรถูกห้ามเลย พระโคดมผู้เจริญ.
ดูกรอัมพัฏฐะ กษัตริย์ย่อมถึงความเป็นผู้เลวอย่างยิ่ง เพราะเหตุที่ถูกกษัตริย์ ด้วยกันปลงพระเกศา มอมด้วยเถ้า แล้วเนรเทศเสีย จากแว่นแคว้นหรือจากเมือง ดูกรอัมพัฏฐะแม้ในเมื่อกษัตริย์ ถึงความเป็นคนเลวอย่างยิ่งเช่นนี้ พวกกษัตริย์ ก็ยังประเสริฐ พวกพราหมณ์เลวด้วยประการฉะนี้.
สมจริงดังคาถา ที่สนังกุมารพรหมได้ภาษิตไว้ ดังนี้
คาถาสนังกุมารพรหม (คำพูดของเทวดา)
[๑๕๙] กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด
ในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร
ท่านผู้ถึง พร้อมด้วยวิชชา และจรณะเป็นผู้ประเสริฐที่สุด
ในหมู่เทวดาและมนุษย์.
[๑๖๐] ดูกรอัมพัฏฐะ ก็คาถานี้นั้น สนังกุมารพรหมขับถูกไม่ผิด ภาษิตไว้ถูก ไม่ผิดประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เราเห็นด้วย ดูกรอัมพัฏฐะ ถึงเราก็กล่าวเช่นนี้ว่า
[๑๖๑] กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด
ในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร
ท่านผู้ถึงพร้อม ด้วยวิชชา และจรณะเป็นผู้ประเสริฐที่สุด
ในหมู่เทวดาและมนุษย์.
|