เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

ยัญแบบพระพุทธเจ้า ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อ กูฏทันตะ (กูฏทันตสูตร) 1642
(หัวเรื่องสำคัญ)
1) กูฏทันตสูตร ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อกูฏทันตะ (เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต)
2) พราหมณ์-คหบดีและชาวบ้านขาณุมัต เดินทางไปหาพระโคดม
3) พราหมณ์กูฏทันตะ บอกให้รอก่อน จะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย
4) พวกพราหมณ์ห้ามไว้ พราหมณ์กูฏทันตะไม่ควรเข้าเฝ้าพระโคดม
5) พวกพราหมณ์กล่าวว่า พระสมณโคดมควรจะเสด็จมาหาท่านกูฏทันตะ
6) พราหมณ์กูฏทันตะ กล่าวยกย่องพระสมณโคดมให้พวกพราหมณ์ทราบ
7) ชาวบ้านขาณุมัต ต้อนรับพระโคดมและคณะสงฆ์ จัดว่าเป็นแขกของเรา
8) เมื่อเข้าเฝ้าฯ บางพวกไหว้ไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกสนทนา บางพวกนิ่งเฉย
9) ทรงแสดงโอวาท ด้วยการกล่าวถึง พระเจ้ามหาวิชิตราช ผู้มั่งคั่ง
10) พระเจ้ามหาวิชิตราช ปราถนาจะบูชามหายัญเพื่อประโยชน์สุขแก่เรา
 
11) พราหมณ์ปุโรหิตทูลว่ายังไม่สมควร บ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม ยังมีโจร ควรกำจัดเสี้ยนหนามด้วยวิธี ๓ ประการ
12) เมื่อพลเมืองขวนขวายการงาน ก็จะไม่เบียดเบียน ก็ชื่นชมยินดี มีความสุข
13) คุณลักษณะของพระเจ้ามหาวิชิตราช ๘ อย่าง
14) คุณลักษณะของพระเจ้ามหาวิชิตราช ๘ อย่าง
15) คุณลักษณะของพราหมณ์ปุโรหิต ๔ อย่าง
16) ยัญพิธี ๓ ประการ
17) พราหมณ์ปุโรหิตถวายคำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ
18) พราหมณ์ปุโรหิตปลอบพระทัย พระเจ้ามหาวิชิตราชว่าไม่มีใครตำหนิได้ (ถ้าทำด้วยอาการ ๑๖อย่าง)
19) ในยัญนั้นไม่ต้องฆ่าโค และสัตว์ ไม่ตัดต้นไม้ ทาสกรรมกรไม่ถูกลงโทษ
20) ทานอื่นมีหรือไม่ ใช้ทรัพย์ และเตรียมการน้อยกว่า แต่มีอานิสงส์มากกว่า
 
21) ยัญของพระผู้มีพระภาคคือ มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เป็นยัญที่ใช้ทุนทรัพย์ แต่อานิสงส์มากกว่า
22) ยัญอื่นของพระผู้มีพระภาค มีอีกหรือไม่.. บรรลุบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
23) พราหมณ์กูฏทันตะ ขอเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้
24) พระผู้มีพระภาคตรัส อนุปุพพีกถา เรื่องศีล เรื่องสวรรค์ และโทษของกาม
25) พราหมณ์กูฏทันตะ บรรลุโสดาปัตติผล
  การออกเสียงคำที่อ่านยาก
  ขาณุมัต อ่านว่า ขา-นุ-มัด (ขา-ณุ-มัต)
  กูฏทันตะ อ่านว่า กู-ตะ-ทัน-ตะ (กู-ฏ-ทัน-ตะ)
  อัมพลัฏฐิกา อ่านว่า อัม-พะ-ลัด-ฐิ-กา (อัม-พ-ลัฏ-ฐิ-กา)
(เสียงอ่านพระสูตร ฉบับมหาจุฬา) ตอนที่1
(เสียงอ่านพระสูตร ฉบับมหาจุฬา) ตอนที่2

 


1)

พระไตรปิฎก [ฉบับมหาจุฬาฯ] เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒๕-๑๕๐

๕. กูฏทันตสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อ กูฏทันตะ

เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวบ้าน ขาณุมัต


            [๓๒๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้าน พราหมณ์ชาวมคธชื่อ ขาณุมัต ประทับอยู่ใน สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต สมัยนั้น พราหมณ์กูฏทันตะ ปกครองหมู่บ้าน ขาณุมัต ซึ่งมีประชากร และสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร และ น้ำหญ้า อุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ ที่พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพมคธ พระราชทาน ปูนบำเหน็จ ให้เป็น พรหมไทย (ส่วนพิเศษ)

        ในเวลานั้น พราหมณ์กูฏทันตะ กำลังเตรียมพิธีบูชามหายัญ โคเพศผู้ ลูกโค เพศผู้ ลูกโคเพศเมีย แพะ และแกะอย่างละ ๗๐๐ ตัว ถูกนำเข้าไปผูกที่หลักเพื่อฆ่า บูชายัญ

            [๓๒๔] พราหมณ์และคหบดี ชาวบ้านขาณุมัต ได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณ โคดมเป็น ศากยบุตร เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นมคธ พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัต โดยลำดับ ประทับอยู่ใน สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์ อันงาม ขจรไป อย่างนี้ว่า

        แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ด้วย พระองค์ เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลกเป็นสารถี ฝึกผู้ที่ ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ด้วยพระองค์เอง แล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามใน ท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ และ พยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดี อย่างแท้จริง”



2)

พราหมณ์-คหบดีและชาวบ้านขาณุมัต เดินทางไปหาพระโคดม

            [๓๒๕] ต่อมา พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ออกจากหมู่บ้าน ขาณุมัต เดินรวมกันเป็นหมู่ ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา

            [๓๒๖] ขณะนั้น พราหมณ์กูฏทันตะพักผ่อนกลางวันอยู่ ณ ปราสาทชั้นบน มองเห็น พราหมณ์ และคหบดีชาวบ้านขาณุมัตออกจากหมู่บ้านขาณุมัต เดินรวมกัน เป็นหมู่ ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา จึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาถามว่า “พ่ออำมาตย์ พราหมณ์ และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ออกจากหมู่บ้านขาณุมัต เดินรวมกันเป็นหมู่ ไปยัง สวนอัมพลัฏฐิกาทำไมกัน”

            [๓๒๗] อำมาตย์ที่ปรึกษาตอบว่า “ท่านขอรับ พระสมณโคดมเป็นศากยบุตร เสด็จออกผนวช จากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ในสวน อัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านพระโคดมนั้น มีกิตติศัพท์อันงาม ขจรไป อย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี ฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ คนเหล่านั้นพากันไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดมนั้น



3)

พราหมณ์กูฏทันตะ บอกให้รอก่อน จะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย

            [๓๒๘] ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะคิดว่า ‘เราได้ยินมาว่า พระสมณโคดม ทรงทราบ ยัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ ส่วนเราไม่รู้เลย แต่ปรารถนาจะ บูชามหายัญ ทางที่ดีเราควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม แล้วทูลถามยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖’

            [๓๒๙] พราหมณ์กูฏทันตะ จึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาสั่งว่า “พ่ออำมาตย์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงไปหาพราหมณ์ และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ครั้นแล้วจงบอก อย่างนี้ว่า ท่านขอรับ พราหมณ์กูฏทันตะพูดว่า ขอท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงรอก่อน พราหมณ์กูฏทันตะ จะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย

        อำมาตย์ที่ปรึกษารับคำของพราหมณ์กูฏทันตะ แล้วเข้าไปหาพราหมณ์และ คหบดี ชาวบ้านขาณุมัต ครั้นแล้วก็บอกว่า “ท่านขอรับ พราหมณ์กูฏทันตะพูดว่า ขอท่าน ผู้เจริญทั้งหลาย จงรอก่อน พราหมณ์กูฏทันตะ จะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม ด้วย”



4)

พวกพราหมณ์ห้ามไว้ พราหมณ์กูฏทันตะไม่ควรเข้าเฝ้าพระโคดม

            [๓๓๐] เวลานั้น พราหมณ์หลายร้อยคน พักอยู่ในหมู่บ้านขาณุมัต เพราะ ตั้งใจ จะบริโภคมหายัญ ของพราหมณ์กูฏทันตะ พอได้ฟังว่า ‘พราหมณ์กูฏทันตะ จักไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย’ จึงพากันไปหาพราหมณ์กูฏทันตะ

            [๓๓๑] ครั้นเข้าไปหาแล้วถามว่า ท่านกูฏทันตะจักไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม จริงหรือ”

        พราหมณ์กูฏทันตะตอบว่า “ใช่ เราคิดจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม”
พวกพราหมณ์ ห้ามว่า ท่านกูฏทันตะ อย่าได้ไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมเลย ท่านกูฏทันตะ ไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม ถ้าไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมเกียรติยศ ของท่านกูฏทันตะ จะเสื่อมเสียเกียรติยศของพระสมณโคดมจะเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ท่านกูฏทันตะ จึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม



5)

พวกพราหมณ์กล่าวว่า พระสมณโคดมควรจะเสด็จมาหาท่านกูฏทันต

         พระสมณโคดมต่างหาก ควรจะเสด็จมาหาท่านกูฏทันตะ เพราะว่า ท่าน กูฏทันตะ เป็นผู้มีชาติกำเนิดดี ทั้งฝ่าย บิดา และฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดี ตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้ เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้ ท่านกูฏทันตะ จึงไม่ควรไปเข้าเฝ้า พระสมณโคดม พระสมณโคดม ต่างหาก ควรจะเสด็จมาหาท่านกูฏทันตะ

        อนึ่ง ท่านกูฏทันตะเป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ฯลฯ

         เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์และ ประวัติศาสตร์ รู้ตัวบท และไวยากรณ์ ชำนาญ โลกายตศาสตร์ และลักษณะมหาบุรุษ ฯลฯ

         เป็นผู้มีรูปงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ดุจพรหม มีกายดุจ พรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก ฯลฯ

        เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญประกอบด้วยศีลที่เจริญ ฯลฯ

         เป็นผู้มีวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำ อ่อนหวานอย่างชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ

         เป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่ชน สอนมนตร์แก่มาณพ ๓๐๐ คน เหล่ามาณพ ผู้ต้องการมนตร์จำนวนมากจากทิศทางต่างชนบท พากันมาเรียนมนตร์ ในสำนักของ ท่านกูฏทันตะ ฯลฯ

         ท่านกูฏทันตะเป็นคนแก่ คนเฒ่า เป็นผู้ใหญ่ มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ล่วงกาล ผ่านวัยมามาก

        พราหมณ์กูฏทันตะแสดงพระพุทธคุณมาก ส่วนพระสมณโคดมเป็นคนหนุ่ม บวชแต่ยังหนุ่ม ฯลฯ

        ท่านกูฏทันตะ เป็นผู้ที่พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ และพราหมณ์โปกขรสาติ สักการะ เคารพ นับถือ บูชานอบน้อม ฯลฯ

        ท่านกูฏทันตะ ปกครองหมู่บ้านขาณุมัต ซึ่งมีประชากร และสัตว์เลี้ยง มากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร และน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ ที่พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพมคธ พระราชทาน ปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย

         ด้วยเหตุนี้ ท่านกูฏทันตะ จึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหา ท่านกูฏทันตะ”



6)

พราหมณ์กูฏทันตะ กล่าวยกย่องพระสมณโคดมให้พวกพราหมณ์ทราบ

            [๓๓๒] เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ พราหมณ์กูฏทันตะได้กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านโปรดฟังเราบ้าง เรานี่แหละควรไปเข้าเฝ้าท่าน พระโคดม ท่านพระโคดม ไม่ควรเสด็จมาหาเรา ได้ทราบว่าพระสมณโคดมทรงเป็น ผู้มีพระชาติ กำเนิดดี ทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี

         ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดี ตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้ เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้ท่านพระโคดม ไม่ควรเสด็จมาหาเรา เราต่างหาก ควรไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดม

        ท่านทั้งหลาย ข่าวว่า พระสมณโคดม ทรงละ พระประยูรญาติผนวชแล้ว ฯลฯ ทรงสละทรัพย์สินเงินทองมากมาย ทั้งที่ฝังอยู่ในพื้นดินและในอากาศผนวชแล้ว ฯลฯ พระสมณโคดม กำลังหนุ่มแน่น มีพระเกศาดำสนิท ทรงพระเจริญอยู่ในปฐมวัย เสด็จออกจากพระราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ

        เมื่อพระชนกพระชนนีไม่ทรงปรารถนา (จะให้เสด็จออกผนวช) มีน้ำพระเนตรชุ่ม พระพักตร์ ทรงกันแสงอยู่

        พระสมณโคดมทรงปลงพระเกศา และพระมัสสุ แล้ว ครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากพระราชวัง ไปผนวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ

        พระสมณโคดมมีพระรูปงดงาม น่าดูน่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ดุจ พรหม มีพระวรกาย ดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก ฯลฯ

        พระสมณโคดมทรงมีอริยศีล มีศีลที่เป็นกุศล ประกอบด้วยศีลที่เป็นกุศล ฯลฯ

        มีพระวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน อย่างชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ

        ทรงเป็นอาจารย์ และปาจารย์ (อาจารย์ของอาจารย์) ของหมู่ชนมากมาย พราหมณ์กูฏทันตะ แสดงพระพุทธคุณ ฯลฯ

        ทรงสิ้นกามราคะไม่ประดับตกแต่ง ฯลฯ

        ทรงเป็นกรรมวาที กิริยวาที ไม่ทรงมุ่งร้ายต่อพราหมณ์ ฯลฯ

        ผนวชแล้วจากตระกูลสูง คือขัตติยตระกูลอันบริสุทธิ์ ฯลฯ

        ผนวชแล้วจากตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มากมีโภคะมาก ฯลฯ

        ประชาชนต่างบ้านต่างเมืองพากันมาทูลถามปัญหา พระสมณโคดม ฯลฯ

        ทวยเทพหลายพันองค์ถวายชีวิต ถึงพระสมณโคดมเป็นที่พึ่ง ฯลฯ

        พระสมณโคดม ทรงมีพระกิตติศัพท์ อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อม ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ฯลฯ

        พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะ มหาบุรุษ ๓๒ ประการ ฯลฯ

        ทรงมีปกติตรัสเชื้อเชิญ ตรัสผูกมิตรไมตรีอ่อนหวาน ไม่ทรงสยิ้วพระพักตร์ (ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด) ทรงเบิกบาน มักตรัสทักทายก่อน ฯลฯ

        ทรงเป็นผู้ที่บริษัท ๔ - สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ
ในที่นี้หมายถึง คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัท สมณะบริษัท

        เทวดาและมนุษย์มากมายเลื่อมใสพระสมณโคดม ฯลฯ

        พวกอมนุษย์ย่อมไม่เบียดเบียนมนุษย์ในหมู่บ้าน หรือนิคมที่พระสมณโคดม ทรงพำนักอยู่ ฯลฯ

        พระสมณโคดมทรงเป็นหัวหน้า ทรงเป็นคณาจารย์ ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น ผู้ยอดเยี่ยมกว่าเจ้าลัทธิอื่นๆ ไม่ทรงรุ่งเรืองพระยศ เหมือนพวก สมณพราหมณ์ที่ รุ่งเรืองยศ ที่แท้ทรงรุ่งเรืองพระยศเพราะทรงมีวิชชาและจรณะ อันยอดเยี่ยม ฯลฯ

        พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพมคธพร้อมทั้งพระราชโอรส พระมเหสี ข้าราชบริพาร และหมู่อำมาตย์ ต่างมอบชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ

        พระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งพระราชโอรส พระมเหสี ข้าราชบริพาร และหมู่ อำมาตย์ ต่างมอบชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ

        พราหมณ์โปกขรสาติ พร้อมทั้งบุตร ภรรยา ข้าราชการ และหมู่อำมาตย์ ต่างมอบชีวิต ถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ

        พระสมณโคดม ทรงเป็นผู้ที่พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ ทรงสักการะเคารพ นับถือบูชา นอบน้อม ฯลฯ

        ทรงเป็นผู้ที่ พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ

        ทรงเป็นผู้ที่ พราหมณ์โปกขรสาติ สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ



7)

ชาวบ้านขาณุมัต ต้อนรับพระโคดมและคณะสงฆ์ จัดว่าเป็นแขกของเรา

        พระสมณโคดมเสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้าน ขาณุมัต ท่านทั้งหลาย สมณพราหมณ์ที่มาสู่เขตหมู่บ้านของเรา จัดว่าเป็นแขกของเรา ซึ่งพวกเราควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และนอบน้อม

         พระสมณโคดมเสด็จมาถึงหมู่บ้าน ขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ที่สวน อัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต พระสมณโคดมจึงจัดเป็นแขกของเรา ที่พวกเรา ควรสักการะ เคารพนับถือ บูชา และนอบน้อม ฯลฯ

        ด้วยเหตุนี้ พระสมณโคดม จึงไม่ควรเสด็จมาหาเรา เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้า พระสมณโคดม เราทราบพระคุณของพระสมณโคดมเพียงเท่านี้ แต่พระสมณโคดม ไม่ใช่ว่าจะมีพระคุณ เพียงเท่านี้ แท้จริงแล้วพระสมณโคดมมีพระคุณนับประมาณ มิได้

            [๓๓๓] เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะกล่าวอย่างนี้ พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่า “ท่านกูฏทันตะ กล่าวยกย่องพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ ถึงหากท่านพระโคดม พระองค์นั้นจะประทับอยู่ไกลจาก ที่นี่ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ (1,600 กม) ก็สมควรอยู่ ที่กุลบุตร ผู้มีศรัทธา จะไปเข้าเฝ้า แม้จะต้องขนเสบียงไปก็ควร”

        พราหมณ์กูฏทันตะกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พวกเราทั้งหมดจักไปเข้าเฝ้าพระสมณ โคดมด้วยกัน”



8)

เมื่อเข้าเฝ้าฯ บางพวกไหว้ไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกสนทนา บางพวกนิ่งเฉย

             [๓๓๔] ต่อมา พราหมณ์กูฏทันตะ พร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ พากัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ที่สวนอัมพลัฏฐิกา ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาค ครั้นสนทนา พอคุ้นเคยดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควร ฝ่ายพราหมณ์และคหบดีชาวบ้าน ขาณุมัต บางพวกกราบพระผู้มีพระภาค บางพวกสนทนา บางพวกไหว้ไปทางพระผู้มี พระภาค บางพวกประกาศชื่อและตระกูล บางพวกนิ่งเฉย แล้วนั่ง ณ ที่สมควร

            [๓๓๕] พราหมณ์กูฏทันตะนั่งลงกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ยิน มาว่า พระสมณโคดมทรงทราบ ยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖ ส่วน ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอประทานวโรกาส ขอท่าน พระโคดม โปรดแสดงยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖ แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”



9)
ทรงแสดงโอวาท ด้วยการกล่าวถึง พระเจ้ามหาวิชิตราช ผู้มั่งคั่ง


            [๓๓๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจ ให้ดี เราจะแสดง ” พราหมณ์กูฏทันตะทูลรับสนองพระดำรัส ของพระผู้มีพระภาค แล้วพระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า “พราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง

          ต่อมาท้าวเธอประทับอยู่ตามลำพังทรงคิดคำนึงว่า ‘เราได้ถือครองโภคสมบัติ ที่เป็น ของมนุษย์อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดน ที่กว้างใหญ่ ทางที่ดี เราพึงบูชามหายัญ ที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’

10)
พระเจ้ามหาวิชิตราช ปราถนาจะบูชามหายัญเพื่อประโยชน์สุขแก่เรา

            [๓๓๗] ท้าวเธอจึงรับสั่งให้เรียกพราหมณ์ปุโรหิตมารับสั่งว่า ‘พราหมณ์ วันนี้เราพักอยู่ตามลำพัง เกิดความคิดคำนึงขึ้นว่า เราได้ถือครองโภคสมบัติที่เป็นของ มนุษย์ อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้ว ครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดี เราพึงบูชา มหายัญ ที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุข แก่เราตลอดกาลนาน พราหมณ์ เราปรารถนา จะบูชามหายัญ ขอท่านผู้เจริญ โปรดแนะนำวิธีบูชายัญ ที่จะอำนวย ประโยชน์สุขแก่เรา ตลอดกาลนาน’

11)
พราหมณ์ปุโรหิตทูลว่ายังไม่สมควร บ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม ยังมีโจร ควรกำจัดเสี้ยนหนามด้วยวิธี ๓ ประการ

            [๓๓๘] เมื่อท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า ‘บ้านเมือง ของพระองค์ ยังมีเสี้ยนหนาม มีการเบียดเบียน โจรยังปล้นบ้าน ปล้นนิคม ปล้นเมืองหลวง ดักจี้ ในทางเปลี่ยว เมื่อบ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม พระองค์จะโปรดให้ ฟื้นฟูพลีกรรมขึ้น ก็จะชื่อว่าทรงกระทำสิ่ง ที่ไม่สมควร พระองค์มีพระราชดำริอย่างนี้ว่า ‘เราจักปราบ ปรามเสี้ยนหนามคือโจร ด้วยการ ประหาร จองจำ ปรับไหมตำหนิโทษ หรือเนรเทศ’ อย่างนี้ไม่ใช่การกำจัดเสี้ยนหนาม คือโจร ที่ถูกต้อง เพราะว่า โจรที่เหลือ จากที่กำจัด ไปแล้ว จักมาเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ ในภายหลังได้
แต่การ กำจัด เสี้ยนหนาม คือโจรที่ถูกต้อง ต้องอาศัยวิธีการต่อไปนี้ คือ

        ๑. ขอให้พระองค์พระราชทานพันธุ์พืช และอาหารให้แก่พลเมือง ผู้ขะมัก เขม้น ในเกษตรกรรม และการเลี้ยงปศุสัตว์ในบ้านเมืองของพระองค์

        ๒. ขอให้พระองค์พระราชทานต้นทุน ให้แก่พลเมือง ผู้ขะมักเขม้น ใน พาณิชยกรรม ในบ้านเมือง ของพระองค์

        ๓. ขอให้พระองค์พระราชทานอาหาร และเงินเดือนแก่ข้าราชการ ที่ขยัน ขันแข็ง ในบ้านเมือง ของพระองค์



12)

เมื่อพลเมืองขวนขวายการงาน ก็จะไม่เบียดเบียน ก็ชื่นชมยินดี มีความสุข

        พลเมืองเหล่านั้นจักขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันเบียดเบียน บ้านเมือง ของพระองค์ และจักมีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองก็จะอยู่ ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนจะชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุข กับ ครอบครัว - อยู่อย่างไม่ต้องปิด ประตูบ้าน’

        พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำของพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ได้พระราชทาน พันธุ์พืช และ อาหาร แก่พลเมือง ที่ขะมักเขม้นในเกษตรกรรม และการเลี้ยงปศุสัตว์ พระราชทาน ต้นทุน ให้แก่พลเมือง ผู้ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม พระราชทานอาหาร และเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็ง ในบ้านเมืองของพระองค์ พลเมืองเหล่านั้น ขวนขวาย ในหน้าที่การงานของตน ไม่พากัน เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ และได้มีกอง พระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนต่างชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน

        ต่อมา ท้าวเธอรับสั่งให้พราหมณ์ปุโรหิตเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า ‘ท่านผู้เจริญ เราได้กำจัด เสี้ยนหนาม คือโจรจนหมดสิ้นด้วยวิธีการของท่าน และได้มีกองราช ทรัพย์ อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชน ต่างชื่นชม ยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านผู้เจริญโปรดแนะนำวิธีบูชายัญ ที่จะอำนวย ประโยชน์สุข แก่เราตลอดกาลนาน’

            [๓๓๙] พราหมณ์ปุโรหิตจึงกราบทูลว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์โปรดรับสั่ง ให้เชิญ (1) เจ้าผู้ครองเมือง ที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท ทั่วพระราชอาณาเขต ของ พระองค์ โปรดรับสั่ง ให้เชิญ (2) อำมาตย์ ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ใน ชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ โปรดรับสั่ง ให้เชิญ (3)พราหมณ์มหาศาล ที่อยู่ ในนิคม และอยู่ ในชนบททั่วพระราชอาณาเขต ของ พระองค์ และโปรดรับสั่ง ให้เชิญ (4) คหบดีผู้มั่งคั่ง ที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท ทั่วพระราชอาณาเขตของ พระองค์ มาปรึกษาว่าท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอพวกท่าน ผู้เจริญ จงร่วมมือกับเราเพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน



13)

คุณลักษณะของพระเจ้ามหาวิชิตราช ๘ อย่าง

        พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิต แล้วรับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครอง เมือง ที่อยู่ในนิคม และอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ รับสั่งให้เชิญ อำมาตย์ ราชบริพาร ที่อยู่ในนิคม และอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ รับสั่งให้เชิญพราหมณ์มหาศาล ที่อยู่ในนิคม และอยู่ในชนบททั่วพระราช อาณาเขต ของพระองค์ และรับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคม และอยู่ในชนบททั่ว พระราชอาณาเขต ของพระองค์มาปรึกษาว่า

         ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราปรารถนา จะบูชามหายัญ ขอพวกท่านผู้เจริญจง ร่วมมือ กับเรา เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่เรา ตลอดกาลนาน’ คนเหล่านั้นกราบทูลว่า ‘ขอพระองค์จงทรงบูชายัญเถิด ตอนนี้ เป็นเวลา บูชายัญ’ บุคคล ๔ พวกนี้ ที่เห็นชอบ ตามพระราชดำริ จัดเป็นองค์ประกอบ ของยัญนั้น

14)
คุณลักษณะของพระเจ้ามหาวิชิตราช ๘ อย่าง

            [๓๔๐] พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยคุณลักษณะ ๘ อย่าง คือ

        ๑. ทรงมีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ ดี ตลอดเจ็ด ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล

        ๒. ทรงมีพระรูปงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม มีพระวรกาย ดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก

        ๓. ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้อง พระคลัง

        ๔. ทรงมีกองทหารที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า- อยู่ในระเบียบ วินัย คอยรับ พระบัญชา มีพระบรมเดชานุภาพดังจะเผาผลาญข้าศึกได้ ด้วยพระราช อิสริยยศ

        ๕. ทรงมีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก- ทรงเป็นทานบดี- มิได้ทรงปิด ประตู- ทรงเป็นดุจโรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้าคนเดินทาง วณิพก และยาจก ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เนืองๆ

        ๖. ทรงรู้เรื่องราวที่ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้นๆ ไว้มาก

        ๗. ทรงทราบความหมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้คือจุดมุ่งหมายแห่ง ภาษิตนี้ๆ

        ๘. ทรงเป็นบัณฑิตมีพระปรีชาสามารถดำริเรื่องราวในอดีต อนาคตและ ปัจจุบันได้

        พระเจ้า มหาวิชิตราช ทรงประกอบด้วยคุณลักษณะ ๘ อย่างดังกล่าวนี้ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบ แห่งยัญนั้นโดยแท้
พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า
ผู้ที่ไม่ใช่มีเพียงศรัทธาอย่างเดียว แต่เป็นผู้ที่สามารถบริจาคได้ด้วย
ผู้เป็นนายแห่งทาน ไม่ใช่เป็นทาสหรือเป็นสหายของทาน กล่าวคือ ตนเองใช้สอยตามมี ตามเกิด แต่บริจาคของดีของประณีตให้แก่คนอื่น (ที.สี.อ. ๓๔๐/๒๖๗)
มิได้ปิดประตู หมายถึงไม่ทรงตระหนี่ แต่ยินดีต้อนรับคนอนาถา ตลอดเวลา



15)
คุณลักษณะของพราหมณ์ปุโรหิต ๔ อย่าง

             [๓๔๑] พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ อย่าง คือ

        ๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดี ทั้งฝ่ายบิดา และฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดี ตลอด เจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล

        ๒. เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์เกฏุภ ศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายต ศาสตร์ และ ลักษณะมหาบุรุษ

        ๓. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ

        ๔. เป็นบัณฑิต มีปัญญาเฉียบ แหลมลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ ผู้รับการบูชา พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ อย่างดังกล่าวนี้ ซึ่งถือเป็น องค์ประกอบแห่งยัญ นั้นโดยแท้

16)
ยัญพิธี ๓ ประการ

            [๓๔๒] ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตแสดงยัญพิธี ๓ ประการถวายแด่พระเจ้า มหา วิชิตราช ก่อนจะทรงบูชายัญว่า พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลถวายคำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ

        ๑. เมื่อพระองค์ปรารถนาจะทรงบูชามหายัญ ก็ไม่ควรทำความเดือดร้อน พระทัย ว่า กองโภคสมบัติ อันยิ่งใหญ่ของเราจักสิ้นเปลือง

        ๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ก็ไม่ควรทำความเดือดร้อน พระทัย ว่า กองโภคสมบัติ อันยิ่งใหญ่ของเรากำลังสิ้นเปลืองไป

        ๓. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญแล้ว ก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระทัยว่า กองโภค สมบัติ อันยิ่งใหญ่ของเราได้สิ้นเปลืองไปแล้ว

        พราหมณ์ปุโรหิตแสดงยัญพิธี ๓ ประการดังกล่าวนี้ถวายแด่พระเจ้ามหา วิชิตราช ก่อน จะทรงบูชายัญ



17)

พราหมณ์ปุโรหิตถวายคำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ

            [๓๔๓] ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิต ขจัดความเดือดร้อนพระทัยของพระเจ้า มหาวิชิตราช เพราะผู้รับทานด้วยอาการ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ คือ

        ๑. ทั้งพวกที่ฆ่าสัตว์ ทั้งพวกที่เว้นขาด จากการฆ่าสัตว์ จักพากันมาสู่พิธี บูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ฆ่าสัตว์จักได้รับผลกรรมของเขา เอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะ พวกที่เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

        ๒. ทั้งพวกที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ทั้งพวกที่เว้นขาด จากการ ถือเอา สิ่งของ ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักได้รับผลกรรม ของเขาเอง ขอพระองค์ ทรงเจาะจง เฉพาะ พวกที่เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของ ที่เจ้าของเขา ไม่ได้ให้เท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ พระทัย ให้เลื่อมใสในภายในเถิด

        ๓. ทั้งพวกที่ประพฤติผิดในกาม ทั้งพวกที่เว้นขาด จากการประพฤติผิด ในกาม จักพากันมาสู่ พิธีบูชายัญของพระองค์ พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลถวาย คำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ประพฤติผิด ในกาม จักได้รับ ผลกรรม ของเขาเอง ขอพระองค์ ทรงเจาะจงเฉพาะ พวกที่เว้นขาด จากการ ประพฤติ ผิดในกามเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้ เลื่อมใส ในภายในเถิด

        ๔. ทั้งพวกที่กล่าวคำเท็จ ทั้งพวกที่เว้นขาด จากการกล่าวคำเท็จ จักพากัน มา สู่พิธี บูชายัญ ของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้นพวกที่กล่าวคำเท็จ จักได้รับผล กรรม ของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะ พวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเท็จ เท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใส ใน ภายในเถิด

        ๕. ทั้งพวกที่กล่าวคำส่อเสียด ทั้งพวกที่เว้นขาด จากการกล่าวคำส่อเสียด จักพากัน มาสู่ พิธีบูชา ยัญของพระองค์ บรรดาชน ๒พวกนั้น พวกที่กล่าวคำส่อเสียด จักได้รับ ผลกรรม ของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาด จากการ กล่าวคำ ส่อเสียดเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัย ให้เลื่อมใส ในภายในเถิด

        ๖. ทั้งพวกที่กล่าวคำหยาบ ทั้งพวกที่เว้นขาด จากการกล่าวคำหยาบ จักพากันมาสู่พิธี บูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้นพวกที่กล่าวคำหยาบ จักได้รับผล กรรม ของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะ พวกที่เว้นขาดจากการ กล่าวคำหยาบ เท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้ เลื่อมใส ในภายในเถิด

        ๗. ทั้งพวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อ ทั้งพวกที่เว้นขาด จากการกล่าวคำเพ้อเจ้อจัก พากันมาสู่ พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒พวกนั้น พวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อ จักได้รับผลกรรม ของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะ พวกที่เว้นขาดจากการ กล่าวคำเพ้อเจ้อเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัย ให้เลื่อมใสในภายในเถิด

        ๘. ทั้งพวกที่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ทั้งพวกที่ไม่เพ่งเล็งอยากได้ ของเขา จักพากัน มา สู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้นพวกที่เพ่งเล็ง อยากได้ ของเขา จักได้รับ ผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวก ที่ไม่เพ่งเล็ง อยากได้ ของเขา เท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และ ทรงทำพระทัย ให้เลื่อมใส ในภายในเถิด

        ๙. ทั้งพวกที่มีจิตพยาบาท ทั้งพวกที่ไม่มีจิตพยาบาท จักพากันมาสู่พิธี บูชายัญ ของ พระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่มีจิตพยาบาทจักได้รับผลกรรม ของเขาเอง ขอพระองค์ ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่ไม่มีจิตพยาบาทเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

        ๑๐. ทั้งพวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทั้งพวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จักพากันมาสู่พิ ธีบูชา ยัญของ พระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิจักได้รับผลกรรม ของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

        พราหมณ์ปุโรหิต ขจัดความเดือดร้อนพระทัยของ พระเจ้ามหาวิชิตราช เพราะ ผู้รับทาน ด้วยอาการ ๑๐ อย่างนี้ก่อนจะทรงบูชายัญพระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชายัญ ด้วย อาการ ๑๖ อย่าง



18)

พราหมณ์ปุโรหิตปลอบพระทัย พระเจ้ามหาวิชิตราชว่าไม่มีใครตำหนิได้ (ถ้าทำด้วยอาการ ๑๖อย่าง)

            [๓๔๔] ต่อมา พราหมณ์ปุโรหิตได้กราบทูลชี้แจงให้เห็นชัด ชักชวนให้ อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราช ผู้จะทรงบูชามหายัญ ให้อาจหาญ แกล้วกล้า ปลอบชโลมพระทัยให้สดชื่นร่าเริงด้วยอาการ ๑๖ อย่าง คือ

        ๑. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆจะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคม และอยู่ในชนบท มาปรึกษา ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใคร ตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครองเมือง ที่อยู่ใน นิคมและอยู่ในชนบท มาปรึกษาแล้ว โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรง บูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

        ๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชา มหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคม และอยู่ใน ชนบทมาปรึกษา ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้ โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญอำมาตย์ ราชบริพาร ที่อยู่ ในนิคม และอยู่ในชนบท มาปรึกษาแล้วโปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรง บูชา ทรงบริจาคทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใส ในภายในเถิด

        ๓. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชา มหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคม และอยู่ใน ชนบท มาปรึกษา ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใคร ตำหนิ พระองค์ได้ โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญพราหมณ์ มหาศาล ที่อยู่ในนิคม และอยู่ใน ชนบทมาปรึกษาแล้วโปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใส ในภายในเถิด

        ๔. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชา มหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคม และอยู่ในชนบท มาปรึกษา ทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใคร ตำหนิ พระองค์ ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญคหบดี ผู้มั่งคั่งที่อยู่ใน นิคม และอยู่ในชนบท มาปรึกษาแล้ว โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ ได้ทรง บูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใส ในภายในเถิด

        ๕. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชา มหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มีพระชาติกำเนิด ดีทั้งฝ่าย พระชนก และ ฝ่ายพระชนนี ไม่ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้ ที่จะถูกคัดค้าน ตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูลว่า ถึงกระนั้น ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ ทรงเป็นผู้มี พระชาติ กำเนิด ดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ทรงถือปฏิสนธิ บริสุทธิ์ ดี ตลอดเจ็ดชั่ว บรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติ ตระกูล โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใส ในภายในเถิด

        ๖. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆจะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชามหายัญโดยที่พระองค์มีพระรูปไม่งดงามไม่น่าดู ไม่น่าเลื่อมใส พระฉวีวรรณ ไม่ผุดผ่องดุจพรหม ไม่มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นไม่ยากเลย ถึงกระนั้น พระองค์ ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใคร ตำหนิ พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์มีพระรูปงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณ ผุดผ่องยิ่ง นักดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็น ยากนัก โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ ได้ทรงบูชา ทรงบริจาคทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

        ๗. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชา มหายัญ โดยที่พระองค์ไมทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ ธัญญาหาร เต็มท้องพระคลัง ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ ทรงเป็นกษัตริย์ ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้อง พระคลัง โปรดทรง ทราบ ตามนี้เถิดขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ พระทัย ให้เลื่อมใสในภายในเถิด

        ๘. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชา มหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงมีกองทหารที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า อยู่ในระเบียบวินัยคอยรับพระบัญชา ไม่ทรงมีพระบรมเดชานุภาพ ดังว่าจะเผา ผลาญ ข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ ทรงมีกองทหาร ที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า อยู่ในระเบียบวินัย คอยรับ พระบัญชา ทรงมีพระบรมเดชานุภาพ ดังว่าจะเผาผลาญข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ โปรดทร' ทราบ ตามนี้เถิดขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรง ทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

        ๙. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรง บูชา มหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงมีพระราชศรัทธา ไม่ทรงเป็นทายก ไม่ทรง เป็นทานบดี ทรงปิดประตูไว้ไม่ทรงเป็นดุจโรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้น อยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ ทรงมี พระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก ทรงเป็นทานบดี มิได้ทรงปิดประตู ทรงเป็นดุจ โรงทานของ สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ทรงบำเพ็ญ พระราชกุศล อยู่เนืองๆ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

        ๑๐. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชา มหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงรู้เรื่องราวที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้นๆ ไว้มาก ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใคร ตำหนิพระองค์ได้ โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงรู้เรื่องราวที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้นๆ ไว้มากโปรดทรงทราบ ตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัย ให้เลื่อมใส ในภายในเถิด

        ๑๑. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชา มหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงทราบความหมายแห่งภาษิต ที่ได้ทรงศึกษา นั้นว่า นี้คือ จุดมุ่งหมายแห่งภาษิตนี้ๆ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ ทรงทราบความหมาย แห่งภาษิต ที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้คือจุดมุ่งหมายแห่งภาษิตนี้ๆ โปรดทรงทราบ ตามนี้ เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใส ในภายในเถิด

        ๑๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชา มหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นบัณฑิตไม่ทรงเฉียบแหลม ไม่ทรงมี พระปรีชาสามารถ ไม่สามารถจะ ทรงดำริอรรถที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใคร ตำหนิ พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ ทรงเป็น บัณฑิตเฉียบแหลม ทรงมีพระ ปรีชาสามารถ ทรงสามารถ ที่จะดำริ อรรถที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ โปรด ทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนาและทรงทำ พระทัย ให้เลื่อมใส ในภายในเถิด

        ๑๓. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชา มหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ ไม่ใช่เป็นผู้มีชาติกำเนิดดี ทั้งฝ่ายบิดา และฝ่าย มารดา ไม่ใช่ผู้ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้ที่จะถูกคัดค้านตำหนิได้ เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรง บูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่ว บรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้ เพราะอ้างถึง ชาติตระกูล โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชาทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใส ในภายในเถิด

        ๑๔. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชา มหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ไม่ใช่ผู้คงแก่เรียน ไม่ทรงจำมนตร์ ไม่รู้จบ ไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และ ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ผู้รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ไม่ใช่ผู้ชำนาญโลกายตศาสตร์ และลักษณะมหาบุรุษ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ พระองค์ได้ โดยธรรมเพราะพราหมณ์ปุโรหิต ของพระองค์ เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษร-ศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญ โลกายตศาสตร์ และลักษณะมหาบุรุษ โปรดทรงทราบ ตามนี้เถิดขอพระองค์ได้ทรง บูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัย ให้เลื่อมใสในภายในเถิด

        ๑๕. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชา มหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ไม่ใช่ผู้มีศีล ไม่มีศีลที่เจริญ ไม่ประกอบด้วยศีลที่เจริญ ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของ พระองค์ เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใส ในภายในเถิด

        ๑๖. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงบูชา มหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ ไม่ใช่บัณฑิตผู้เฉลียวฉลาด มีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชา ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยัง ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้เฉลียวฉลาด มีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชา โปรดทรงทราบ ตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชาทรง บริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัย ให้เลื่อมใส ในภายในเถิด

        พราหมณ์ปุโรหิตได้กราบทูลชี้แจงให้เห็นชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไป ปฏิบัติ เร้าพระทัย ของพระเจ้ามหาวิชิตราช ผู้จะทรงบูชามหายัญให้อาจหาญ แกล้วกล้า ปลอบชโลมพระทัยให้สดชื่นร่าเริง ด้วยอาการ ๑๖ อย่างเหล่านี้แล



19)
ในยัญนั้นไม่ต้องฆ่าโค และสัตว์ ไม่ตัดต้นไม้ ทาสกรรมกรไม่ถูกลงโทษ

            [๓๔๕] ในยัญนั้นไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้ มาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น แม้เหล่าชน ที่เป็นทาส คนรับใช้ กรรมกรของพระเจ้ามหาวิชิตราช ก็ไม่ถูกลงอาชญา ไม่มีภัย คุกคาม ไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟายทำบริกรรม แท้จริง คนที่ปรารถนาจะทำจึงได้ทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ ทำแต่สิ่งที่ปรารถนาเท่านั้น สิ่งที่ไม่ปรารถนาไม่ต้องทำ ยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพียงเพราะเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย เท่านั้น

            [๓๔๖] ต่อมา พวกเจ้าผู้ครองเมือง ที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พวกอำมาตย์ ราชบริพาร ที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พวกพราหมณ์มหาศาล ที่อยู่ในนิคม และอยู่ใน ชนบท พวกคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พากันนำทรัพย์ จำนวนมาก เข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาวิชิตราช กราบทูลว่า ‘ขอเดชะข้าพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย ได้นำทรัพย์จำนวนมากนี้มาเพื่อพระองค์ ขอพระองค์ทรงรับไว้เถิด’

        ท้าวเธอตรัสว่า ‘อย่าเลย ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราเองได้รวบรวมทรัพย์สิน จำนวนมาก มาจากภาษีอากรอันชอบธรรม ทรัพย์ที่พวกท่านนำมาก็จงเป็นของพวก ท่านเถิด และพวกท่านจงนำทรัพย์จากที่นี่ไปเพิ่มอีก’

        คนเหล่านั้นเมื่อถูกปฏิเสธ จึงจากไปปรึกษาหารือกันว่า ‘การที่พวกเราจะรับ ทรัพย์สิน เหล่านี้ กลับคืนไปยังบ้านเมืองของตนอีกนั้น ไม่เป็นการสมควรเลย พระเจ้ามหา วิชิตราช กำลังทรงบูชามหายัญ เอาเถอะพวกเรามาร่วมบูชายัญ โดยเสด็จ พระราชกุศล กันเถิด’

            [๓๔๗] ต่อมา พวกเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคม และอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญ ทาน ทางทิศตะวันออก แห่งหลุมยัญ พวกอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคม และอยู่ใน ชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศใต้แห่งหลุมยัญ พวกพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคม และอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศตะวันตก แห่งหลุมยัญ พวกคหบดี ผู้มั่งคั่ง ที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท เริ่มบำเพ็ญทานทางทิศเหนือแห่งหลุมยัญ

        แม้ในยัญของเจ้าผู้ครองเมืองเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกรและ สัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อ เบียดเบียน สัตว์อื่น แม้เหล่าชนที่เป็นทาส คนรับใช้ กรรมกรของเจ้าผู้ครองเมือง เป็นต้นเหล่านั้น ก็ไม่ถูกลงอาชญา ไม่มีภัยคุกคาม ไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟายทำ บริกรรม แท้จริง คนที่ปรารถนาจะทำจึงได้ทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ ทำแต่สิ่ง ที่ปรารถนา เท่านั้น สิ่งที่ไม่ปรารถนาไม่ต้องทำ ยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพียงเพราะเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเท่านั้น

        บุคคล ๔ พวกเห็นชอบตามพระราชดำริ พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงประกอบด้วย คุณลักษณะ ๘ อย่าง พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ อย่าง และยัญพิธีอีก ๓ ประการ จึงรวมเรียกว่า ยัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖”

            [๓๔๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พวกพราหมณ์ได้ส่งเสียงอื้ออึงว่า
“โอ! ยัญ โอ! ยัญสมบัติ” ส่วนพราหมณ์กูฏทันตะนั่งนิ่ง ทันใดนั้น พวกพราหมณ์ ได้ถามพราหมณ์กูฏทันตะว่า “เหตุใด ท่านกูฏทันตะ จึงไม่ชื่นชมสุภาษิตของ พระสมณโคดม ว่าเป็นคำกล่าวถูกต้องเล่า”

        พราหมณ์กูฏทันตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะไม่ชื่นชมสุภาษิต ของ พระสมณโคดม ว่าเป็นคำกล่าวถูกต้องก็หาไม่ แม้ผู้ไม่ชื่นชมสุภาษิตของ พระสมณ โคดม ว่าเป็นคำกล่าวถูกต้อง ศีรษะของเขาจะแตก ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าก็ยัง รู้สึกอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่ได้ตรัสอย่างนี้ว่า เราได้สดับมาอย่างนี้ หรือว่ เรื่องนี้ ควรเป็นอย่างนี้ แต่พระองค์ตรัสว่า เหตุอย่างนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในกาลนั้น เรื่องเช่นนี้ ได้มีแล้วในกาลนั้น

        ข้าพเจ้าคิดว่า พระสมณโคดม ทรงเป็นพระเจ้ามหาวิชิตราช ผู้เป็นเจ้าของแห่ง ยัญในครั้งโน้นเสียเอง หรือพระองค์ทรงเป็นพราหมณ์ปุโรหิต ผู้อำนวยการบูชายัญนั้น แน่นอน” ทูลถามว่า “ท่านพระโคดมย่อมทรงทราบ แจ้งชัด หรือว่า ผู้บูชายัญหรือ ผู้อำนวยการบูชายัญเห็นปานนั้น หลังจากตายแล้วไปบังเกิดใน สุคติ โลกสวรรค์”

         พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เรารู้แจ้งชัดว่า ผู้บูชายัญหรือผู้อำนวย การบูชายัญ เห็นปานนั้น หลังจากตายแล้วไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ สมัยนั้น เราได้(เกิด)เป็นพราหมณ์ปุโรหิตผู้อำนวยการบูชายัญนั้น” ยัญที่สืบตระกูลกันมาคือ นิตยทาน (ทานที่ให้ทุกวัน)



20)

ทานอื่นมีหรือไม่ ใช้ทรัพย์ และเตรียมการน้อยกว่า แต่มีอานิสงส์มากกว่า

            [๓๔๙] พราหมณ์กูฏทันตะทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่น อีกหรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญ สมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”

        พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์” เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ นิตยทานที่ทำสืบ กันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์ และมีการตระเตรียม น้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”

        เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม อะไรคือเหตุ อะไรคือปัจจัย ให้นิตยทาน ที่ทำ สืบกันมา ถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์ มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”

        พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ พระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรค ย่อมไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น เพราะในยัญนั้นยังปรากฏว่า มีการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง จับคอลากไปบ้าง ฉะนั้นพระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรค จึงไม่เข้าไปสู่ยัญ เช่นนั้น ส่วนนิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีลนั้น พระอรหันต์ หรือ ท่านที่บรรลุอรหัตตมรรค จึงเข้าไปสู่ยัญเช่นนี้ได้ เพราะในยัญนั้นไม่ปรากฏว่า มีการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง จับคอลากไปบ้าง ฉะนั้นพระอรหันต์หรือท่านที่ บรรลุ อรหัตตมรรค จึงเข้าไปสู่ยัญเช่นนี้ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นิตยทานที่ทำสืบกันมานั้น ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”

            [๓๕๐] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์ และมีการ ตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการมี องค์ประกอบ ๑๖ และกว่านิตยทานที่ทำสืบกันมานี้”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์” ยัญที่สืบตระกูลกันมาคือนิตยทาน
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยัญของบุคคลผู้สร้างวิหารอุทิศพระสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์ และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่า ยัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ และกว่านิตยทานที่ทำสืบกันมานี้”

            [๓๕๑] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์ และมีการ ตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการมี องค์ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมาและกว่าวิหารทานนี้”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”



21)
ยัญของพระผู้มีพระภาคคือ มีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นยัญที่ใช้ทุนทรัย์ และเตรียมการน้อยกว่า แต่อานิสงส์มากกว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยัญของบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใส ถึงพระพุทธเจ้าพร้อมทั้ง พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์ และมีการตระเตรียม น้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ กว่า นิตยทานที่ทำสืบกันมา และกว่าวิหารทานนี้”

            [๓๕๒] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์ และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทาน และกว่า สรณคมน์นี้”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”

เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”

        พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า การที่บุคคลผู้มีจิตเลื่อมใส สมาทานสิกขาบท ทั้งหลาย คือ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนาเป็นเหตุเว้น จากการถือเอา สิ่งของ ที่เจ้าของ เขาไม่ได้ให้ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เจตนา เป็นเหตุเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการเสพของมึนเมา คือสุรา และเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์ และมีการตระเตรียม น้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการมี องค์ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทาน ที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทาน และกว่าสรณคมน์นี้”
(เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สมาทานสิกขาบท ๕ ประการ)



22)

ยัญอื่นมีอีกหรือไม่.. บรรลุบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

            [๓๕๓] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์ และ มีการ ตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทาน กว่าสรณคมน์ และกว่าสิกขาบท เหล่านี้”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่นี้ เป็นยัญซึ่งใช้ ทุนทรัพย์ และมีการตระเตรียมน้อยกว่า

        แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้ว ก่อนๆ ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์ และมีการตระ เตรียม น้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญ ที่กล่าว มาแล้ว ก่อนๆ ฯลฯ
น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์ และมีการตระเตรียม น้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้วก่อนๆ ฯลฯ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้อีก ต่อไป’

       นี้แลเป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์ และมีการตระเตรียม น้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์ มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้วก่อนๆ พราหมณ์ไม่มียัญสมบัติอื่นๆ ที่จะดียิ่งกว่า หรือ ประณีตกว่ายัญสมบัตินี้อีกแล้ว” พราหมณ์กูฏทันตะประกาศตน เป็นอุบาสก

23)
พราหมณ์กูฏทันตะ ขอเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้

            [๓๕๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พราหมณ์กูฏทันตะได้กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่าน พระโคดมภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศ ธรรมแจ่มแจ้ง โดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทางหรือตามประทีบในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดม จงทรงจำ ข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป จนตลอดชีวิต ข้าพระองค์ ได้ปล่อยโคเพศผู้ ลูกโคเพศผู้ ลูกโคเพศเมีย แพะ แกะ อย่างละ ๗๐๐ตัว ได้ให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอสัตว์เหล่านั้นจงได้ กินหญ้า เขียวสด ได้ดื่มน้ำเย็นกระแส ลมอ่อนๆ จงพัดถูกตัวสัตว์เหล่านั้นเถิด”

24)
พระผู้มีพระภาคตรัส อนุปุพพีกถา เรื่องศีล เรื่องสวรรค์ และโทษของกาม

            [๓๕๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพีกถา คือ ทรงประกาศเรื่อง ทาน เรื่องศีล เรื่องสวรรค์ เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม และ อานิสงส์ ในการ ออกบวชแก่พราหมณ์กูฏทันตะ เมื่อทรงทราบว่าพราหมณ์กูฏทันตะ มีจิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบานผ่องใส จึงทรงประกาศ สามุกกังสิกเทศนา คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันไร้ธุลีคือกิเลส ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่ พราหมณ์ กูฏทันตะ บนที่นั่งนั่นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือน ผ้าขาว สะอาด ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

            [๓๕๖] ครั้นพราหมณ์กูฏทันตะเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม หมดความ สงสัย ไม่มีคำถามใดๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีก ในหลักคำสอน ของ พระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์ โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด”

            [๓๕๗] ทีนั้น พราหมณ์กูฏทันตะ ทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับ นิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่ง กราบพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป ครั้นล่ว งราตรีนั้น เขาได้สั่งให้จัดของขบฉันอย่างประณีตไว้ในโรงพิธีบูชายัญของตน แล้วให้ คนไป กราบทูล ภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม ได้เวลาแล้วภัตตาหาร เสร็จแล้ว”



25)

พราหมณ์กูฏทันตะ บรรลุโสดาปัตติผล

            [๓๕๘] ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เสด็จไปยัง โรงพิธีบูชายัญของพราหมณ์กูฏทันตะ พร้อมกับภิกษุสงฆ์แล้วประทับนั่ง บนอาสนะ ที่ปูไว้

        จากนั้น พราหมณ์กูฏทันตะได้นำของขบฉันอันประณีต ประเคนภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้า ทรงเป็นประธานให้อิ่มหนำด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาค เสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์ พราหมณ์กูฏทันตะจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้พราหมณ์กูฏทันตะเห็นชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไป ปฏิบัติ เร้าใจให้ อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจาก อาสนะ เสด็จจากไป

กูฏทันตสูตรที่ ๕ จบ

 
 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์