เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

โยธาชีววรรคที่ ๔.. หลากหลายพระสูตร และตรัสกับหลากหลายบุคคล 1602
  (ย่อ)
โยธาชีววรรคที่ ๔

(1) นักรบประกอบด้วยองค์ ๔ กับภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
(2) ไม่มีใครรับรองว่า อย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย อย่าเศร้าหมองเลย
(3) เราไม่กล่าวสิ่งที่ทำให้อกุศลเจริญ-กุศลเสื่อม จะกล่าวแต่สิ่งที่ทำให้อกุศลเสื่อม-กุศลเจริญ

(4) บุคคลที่สะดุ้งกลัวต่อความตาย และไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย เป็นไฉน
   (4.1) สะดุ้งกลัวต่อความตาย- เพราะยังมีความทะยานอยากในกาม ยังกำหนัด พอใจในกาม
   (4.2) สะดุ้งกลัวต่อความตาย- เพราะยังทะยานอยากในกาย ยังกำหนัด ยังพอใจ ในกาย ..
   (4.3) สะดุ้งกลัวต่อความตาย- เพราะทำแต่บาปกรรมที่เศร้าหมอง ไม่ได้ทำความดี ..
   (4.4) สะดุ้งกลัวต่อความตาย- เพราะยังเคลือบแคลงสงสัยในพระสัทธรรม
   (4.5) ไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย- เพราะปราศจากความกำหนัดในกาม
   (4.6) ไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย- เพราะปราศจากความอยาก ความพอใจ ในกาย
   (4.7) ไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย- เพราะทำแต่ความดี ไม่ได้ทำบาปที่เศร้าหมอง
   (4.8) ไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย- เพราะไม่เคลือบแคลงสงสัยในพระสัทธรรม

(5) สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการ ชื่อว่ากล่าวจริง ไม่ใช่กล่าวเท็จ
     - สัตว์ทั้งปวงไม่ควรฆ่า ...ชื่อว่ากล่าวจริงมิใช่กล่าวเท็จ
     - กามทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวน...ชื่อว่ากล่าวจริงมิใช่กล่าวเท็จ
     - ภพทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน...ชื่อว่ากล่าวจริงมิใช่กล่าวเท็จ
     - เราย่อมไม่มีในอะไรๆ เราย่อมไม่มีในความเป็นอะไรๆของใครๆ ...ชื่อว่ากล่าวจริง...

(6) ปัญหาของภิกษุรูปหนึ่ง
(7) อสัตตบุรุษ ไม่อาจรู้ได้ใน อสัตบุรุษ และสัตบุรุษ แต่สัตบุรุษเท่านั้น ที่พึงรู้ได้
(8) วาทะของ อุปกมัณฑิกาบุตร
(9) ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง ๔ ประการ กระทำให้แจ้งด้วยกาย ด้วยสติ ด้วยจักษุ ด้วยปัญญา

(10) บริษัทเช่นใดที่บุคคลหาได้ยากในโลก แม้ภิกษุสงฆ์นี้ก็เป็นเช่นนั้น
   (10.1) ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึงความเป็นเทพ
   (10.2) ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึงความเป็นพรหม
   (10.3) ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึงขั้น อเนญชา
   (10.4) ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึงความเป็นอริยะ
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)

 


พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๑๑

โยธาชีววรรคที่ ๔

(1)
นักรบประกอบด้วยองค์ ๔ กับภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
(ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย)

          [๑๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักรบประกอบด้วยองค์ ๔ จึงเป็นผู้ควรแก่ พระราชา เป็นผู้ควรที่พระราชาใช้สอย ย่อมถึงซึ่งการนับว่าเป็นอังคาพยพ ของ พระราชาทีเดียว
องค์ ๔ เป็นไฉน คือ
๑) นักรบในโลกนี้เป็นผู้ฉลาด
๒) เป็นผู้ยิงได้ไกล
๓) เป็นผู้ยิงได้เร็ว
๔) ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้

          ดูกรภิกษุทั้งหลายนักรบประกอบด้วย องค์ ๔ เหล่านี้แล ย่อมเป็นผู้ควรแก่ พระราชา เป็นผู้ควรที่พระราชาใช้สอย ย่อมถึง การนับว่าเป็นอังคาพยพของพระราชา ทีเดียว

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรทำ อัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑) เป็นผู้ฉลาดในฐานะ
๒) เป็นผู้ยิงได้ไกล
๓) เป็นผู้ยิงได้เร็ว
๔) ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๑) ก็ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในฐานะอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในฐานะอย่างนี้แล

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๒) ก็ภิกษุเป็นผู้ยิงได้ไกลอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็น อดีต อนาคตและปัจจุบันเป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งไกลและใกล้รูปทั้งหมด นั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ย่อมเห็น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งไกลและใกล้ วิญญาณทั้งหมดนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเราไม่ใช่ ตัวตนของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ยิงได้ไกลอย่างนี้แล

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๓) ก็ภิกษุเป็นผู้ยิงได้เร็วอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความ ดับทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ยิงได้เร็วอย่างนี้แล

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๔) ก็ภิกษุเป็นผู้ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำลายกองอวิชชาใหญ่เสียได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้อย่างนี้แล

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของ คำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลีเป็นนาบุญ ของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖๖

(2)
ไม่มีใครรับรองว่า อย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย อย่าเศร้าหมองเลย
(ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย)

          [๑๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม่มีใครๆ จะเป็นสมณะพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือผู้ใดผู้หนึ่งในโลก ที่จะรับรองธรรม ๔ ประการได้

ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
ไม่มีใครๆ
... ที่จะรับรองว่า
สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา อย่าแก่
ไม่มีใครๆ ... ที่จะรับรองว่า สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา อย่าเจ็บไข้
ไม่มีใครๆ ... ที่จะรับรองว่า สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา อย่าตาย
อนึ่ง ไม่มีใครๆ ... ที่จะรับรองว่า วิบากแห่งกรรม อันลามก เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก มีชาติ ชรา และมรณะต่อไป อย่าบังเกิด

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม่มีใครๆ จะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือผู้หนึ่ง ผู้ใดในโลก ที่จะรับรองธรรม ๔ ประการนี้แล
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก
หน้าที่ ๑๖๖

(3)
เราจะไม่กล่าวในสิ่งที่ทำให้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป
(เราจะกล่าวแต่สิ่งที่ทำให้ อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น)
(ตรัสกับ วัสการพราหมณ์ )

          [๑๘๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาป สถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล วัสการพราหมณ์ผู้เป็น มหาอำมาตย์ ในแคว้นมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

          ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะ อย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนเห็นว่า เราเห็นอย่างนี้โทษ แต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนได้ฟังมาว่า เราได้ฟังมาอย่างนี้โทษ แต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนทราบ (ทางจมูก ลิ้น กาย) ว่า เราทราบอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนรู้แจ้ง(ทางใจ) ว่า เรารู้แจ้งอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี

          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์
เราไม่กล่าวสิ่งที่เห็น (ทางตา) ทั้งหมดว่า ควรกล่าว
และ ไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

เราไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟัง (ทางหู) ทั้งหมดว่า ควรกล่าว
และ ไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

เราไม่กล่าว สิ่งที่ทราบ
(จมูก ลิ้น กาย) ทั้งหมดว่า ควรกล่าว
และ ไม่กล่าวสิ่งที่ทราบทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

เราไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้ง (ทางใจ) ทั้งหมดว่า ควรกล่าว
และ ไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

          ดูกรพราหมณ์ แท้จริง
เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป เรากล่าว สิ่งที่ได้เห็นเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรกล่าว

แต่เมื่อบุคคลกล่าว สิ่งที่ได้เห็นอันใด อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็น เห็นปานนั้นว่า ควรกล่าว

          ดูกรพราหมณ์ เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาอันใด ... สิ่งที่ได้ทราบอันใด ... สิ่งที่รู้แจ้งมาอันใด อกุศลธรรมเจริญขึ้นกุศลธรรมเสื่อมไป เรากล่าวสิ่งที่ได้ฟังมา เห็นปานนั้น ... สิ่งที่ได้ทราบมาเห็นปานนั้น ... สิ่งที่รู้แจ้งเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรกล่าว แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาอันใด ... สิ่งที่ได้ทราบมาอันใด ... สิ่งที่รู้แจ้งอันใด อกุศลธรรมเสื่อมไปกุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาเห็นปานนั้น ... สิ่งที่ได้ทราบมาเห็นปานนั้น ... สิ่งที่รู้แจ้งเห็นปานนั้นว่า ควรกล่าว ครั้งนั้นแล วัสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ ในแคว้นมคธ ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของ พระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก
หน้าที่ ๑๖๗
(4)
บุคคลที่สะดุ้งกลัวต่อความตาย และไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย เป็นไฉน
(ตรัสกับ พราหมณ์ชื่อชานุโสณี)

           [๑๘๔] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อชานุโสณี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ไม่มี

          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์
สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่
สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่กลัวไม่ถึงความ สะดุ้งต่อความตาย มีอยู่

(4.1)
สะดุ้งกลัวต่อความตาย- เพราะยังมีความทะยานอยากในกาม ยังกำหนัด พอใจในกาม

          ดูกรพราหมณ์ ก็สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้ง ต่อความตายเป็นไฉน
          บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้
ยังไม่ปราศจากความกำหนัด
ยังไม่ปราศจาก ความพอใจ
ยังไม่ปราศจากความรัก
ยังไม่ปราศจากความ กระหาย
ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน
ยังไม่ปราศจากความทะยานอยาก ในกามทั้งหลาย


มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใด อย่างหนึ่ง ถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กามอันเป็นที่รักจักละเราไป เสียละ หนอ และเราก็จะต้องละกามอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญถึงความหลงใหล ดูกรพราหมณ์ บุคคลนี้แล ผู้มีความตาย เป็นธรรมดา ย่อมกลัวถึงความสะดุ้ง ต่อความตาย

(4.2)
สะดุ้งกลัวต่อความตาย- เพราะยังทยานอยากในกาย ยังกำหนัด พอใจ ในกาย ..

          อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้
ยังไม่ปราศจากความกำหนัด
ยังไม่ปราศจากความพอใจ
ยังไม่ปราศจากความรัก
ยังไม่ปราศจากความกระหาย
ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน
ยังไม่ปราศจากความทะยานอยาก ในกาย


มีโรคหนัก อย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักจักละเราไปละหนอ และเราก็จักละกาย อันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก... ดูกรพราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล ผู้มีความตาย เป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

(4.3)
สะดุ้งกลัวต่อความตาย- เพราะทำแต่บาปกรรมที่เศร้าหมอง ไม่ได้ทำความดี ..

          อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้ไม่ได้ทำความดีไว้
ไม่ได้ทำกุศลไว้
ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัวไว้
ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรม ที่เศร้าหมอง


มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนัก อย่างใด อย่างหนึ่ง ถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศล ไว้ ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัวไว้ ทำแต่บาปทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรม ที่เศร้าหมอง ดูกรผู้เจริญ คติของคนไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำความ ป้องกัน ความกลัว ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง มีประมาณ เท่าใด เราละไปแล้ว ย่อมไปสู่คตินั้น เขาย่อมเศร้าโศก... ดูกรพราหมณ์ แม้บุคคล นี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความ สะดุ้งต่อความตาย

(4.4)
สะดุ้งกลัวต่อความตาย- เพราะยังเคลือบแคลงสงสัยในพระสัทธรรม

          อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้มีความสงสัยเคลือบแคลง
ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม


มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขา มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เรามีความ สงสัย เคลือบแคลง ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม เขาย่อมเศร้าโศก... ดูกรพราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความ สะดุ้งต่อ ความตาย ดูกรพราหมณ์ บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้ง ต่อความตาย

(4.5)
บุคคลไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย- เพราะปราศจากความกำหนัดในกาม

          ดูกรพราหมณ์ บุคคลมีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้ง ต่อความตาย เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด
ปราศจากความพอใจ
ปราศจากความรัก
ปราศจากความกระหาย
ปราศจากความเร่าร้อน
ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย


มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กามทั้งหลายอันเป็นที่รัก จักละเรา ไปเสียละหนอ และเราก็จักละกามอันเป็นที่รักไป เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล ดูกรพราหมณ์ บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความ สะดุ้งต่อความตาย

(4.6)
บุคคลไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย- เพราะปราศจากความอยาก ความพอใจ ในกาย

          อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด
ปราศจาก ความพอใจ
ปราศจากความรัก
ปราศจากความกระหาย
ปราศจากความเร่าร้อน
ปราศจากความทะยานอยากในกาย


มีโรคหนักอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนัก อย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มีปริวิตกอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักจักละ เราไปละหนอ และเราก็จักละกาย อันเป็นที่รักนี้ไป เขาย่อมไม่เศร้าโศก... ดูกรพราหมณ์ บุคคลแม้นี้แล มีความตาย เป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึง ความสะดุ้งต่อความตาย

(4.7)
บุคคลไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย เพราะทำแต่ความดี ไม่ได้ทำบาปที่เศร้าหมอง

          อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้ไม่ได้กระทำบาป
ไม่ได้ทำกรรม ที่หยาบช้า
ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง
เป็นผู้ทำความดีไว้ ทำกุศลไว้
ทำกรรมเครื่อง ป้องกัน ความกลัวไว้


มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนัก อย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำกรรม อันเป็นบาป ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมองเป็นผู้ทำกรรมดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้ คติของบุคคลผู้ไม่ได้ทำบาปไว้ ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง ทำกรรมดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรม เครื่องป้องกันความกลัวไว้เพียงใด เราละไปแล้วจักไปสู่คตินั้น เขาย่อมไม่เศร้าโศก...
ดูกรพราหมณ์ แม้บุคคลนั้นแล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความ สะดุ้ง ต่อความตาย

(4.8)

บุคคลไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย เพราะไม่เคลือบแคลงสงสัยในพระสัทธรรม

          อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้ไม่มีความสงสัย
ไม่มีความเคลือบแคลง ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม


มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตก อย่างนี้ ว่า เราไม่มีความสงสัย ไม่มีความเคลือบ แคลง ถึงความตกลงใจใน พระสัทธรรม เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล ดูกรพราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึง ความสะดุ้ง ต่อความตาย

           ดูกรพราหมณ์ บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

          พราหมณ์ชานุโสณี ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

(5)


พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎ
ก หน้าที่ ๑๖๙

สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการ ชื่อว่ากล่าวจริง ไม่ใช่กล่าวเท็จ
(ตรัสกับ อันนภาระปริพาชก )

  สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการ ชื่อว่ากล่าวจริง ไม่ใช่กล่าวเท็จ
   - สัตว์ทั้งปวงไม่ควรฆ่า ...ชื่อว่ากล่าวจริงมิใช่กล่าวเท็จ
   - กามทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวน...ชื่อว่ากล่าวจริงมิใช่กล่าวเท็จ
   - ภพทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน...ชื่อว่ากล่าวจริงมิใช่กล่าวเท็จ
   - เราย่อมไม่มีในอะไรๆ เราย่อมไม่มีในความเป็นอะไรๆของใครๆ ...ชื่อว่ากล่าวจริง

          [๑๘๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนคร ราชคฤห์ สมัยนั้นแล ปริพาชกผู้มีชื่อเสียงมากด้วยกัน คือ ปริพาชก ชื่อ อันนภาระ ชื่อวธระ ชื่อสกุลุทายี และปริพาชกผู้มีชื่อเสียงเหล่าอื่น อาศัยอยู่ในปริพาชการาม ริมฝั่งแม่น้ำสัปปินี

          ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็น แล้วเสด็จเข้าไป ทางปริพาชการาม ริมฝั่งแม่น้ำสัปปินี สมัยนั้นแล ปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น กำลังนั่งประชุมสนทนากันอยู่ว่า สัจจะของพราหมณ์แม้อย่างนี้ๆ

          ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค เสด็จเข้าไปหาปริพาชกเหล่านั้น ประทับนั่งบน อาสนะที่เขาปูลาดไว้

          ครั้นแล้วได้ตรัสถามปริพาชกเหล่านั้นว่า ดูกรปริพาชกทั้งหลาย บัดนี้ท่าน ทั้งหลาย นั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ และ ท่านทั้งหลายกำลังนั่ง สนทนา อะไรกันค้างอยู่ ปริพาชกเหล่านั้นกราบทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลาย กำลังนั่งประชุมสนทนากันอยู่ว่าสัจจะของพราหมณ์ แม้อย่างนี้ๆ

          พ. ดูกรปริพาชกทั้งหลาย สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการนี้ อันเรากระทำ ให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศแล้ว ๔ ประการเป็นไฉน คือ พราหมณ์บางคน ในโลกนี้ กล่าวอย่างนี้ว่า (๑) สัตว์ทั้งปวงไม่ควรฆ่า เมื่อพราหมณ์กล่าวดังนี้ ชื่อว่า กล่าวจริง มิใช่กล่าวเท็จ และด้วยการกล่าวจริงนั้น เขาไม่สำคัญตัวว่า เราเป็นสมณะ เราเป็น พราหมณ์ เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา เราเป็นผู้เสมอกับเขาเราเป็นผู้เลวกว่าเขา อนึ่ง เขารู้ยิ่งสัจจะในความปฏิบัตินั้นแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเอ็นดูอนุเคราะห์ เหล่าสัตว์ นั้นแหละ

          อีกประการหนึ่ง พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า(๒) กามทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มี ความแปรปรวนเป็นธรรมดา เมื่อพราหมณ์กล่าวดังนี้ ชื่อว่ากล่าวจริง มิใช่กล่าวเท็จ และด้วยการกล่าวจริงนั้น เขาย่อมไม่สำคัญตัวว่า เราเป็นสมณะ ...อนึ่ง เขารู้ยิ่งสัจจะ ในความปฏิบัตินั้นแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกาม ทั้งหลายนั่นแหละ

          อีกประการหนึ่ง พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า (๓) ภพทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เมื่อพราหมณ์กล่าวดังนี้ ชื่อว่ากล่าวจริง มิใช่กล่าว เท็จ และด้วยการกล่าวจริงนั้น เขาย่อมไม่สำคัญตัวว่า เราเป็นสมณะ ... อนึ่ง เขารู้ยิ่ง สัจจะในความปฏิบัตินั้นแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับภพทั้งหลายนั่นแหละ

          อีกประการหนึ่ง พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า (๔) เราย่อมไม่มีในอะไรๆเรา ย่อมไม่มีในความเป็นอะไรๆ ของใครๆ อนึ่ง ใครๆ ย่อมไม่มีในอะไรๆ ความเป็น อะไรๆ ของใครๆ ย่อมไม่มีในความเป็นอะไรๆ ของเรา เมื่อเขากล่าวดังนี้ ชื่อว่ากล่าวจริง มิใช่กล่าวเท็จ และด้วยการกล่าวจริงนั้น เขาย่อมไม่สำคัญตัวว่า เราเป็นสมณะ เราเป็นพราหมณ์ เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขาเราเป็นผู้เสมอเขา เราเป็นผู้เลวกว่าเขา

          อนึ่ง เขารู้ยิ่งสัจจะ ในความปฏิบัตินั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้ดำเนินปฏิปทา อันหา ความกังวลมิได้ทีเดียว ดูกรปริพาชกทั้งหลาย สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการนี้แล อันเราทำให้แจ้งด้วย ปัญญา อันยิ่งเอง ประกาศแล้ว

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

(6)

พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก
หน้าที่ ๑๗๑
(ตรัสกับภิกษุรูปหนึ่ง)

ปัญหาของภิกษุรูปหนึ่ง

          [๑๘๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกอันอะไรหนอแลนำไป โลกอันอะไร ชักมา และบุคคลย่อมลุอำนาจของอะไรที่บังเกิดขึ้นแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอ เข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า โลกอันอะไรหนอแลนำไป โลกอันอะไรชักมา และบุคคลย่อม ลุอำนาจ ของอะไร ที่บังเกิดขึ้นแล้ว ดังนี้หรือ
          ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า
          พ. ดูกรภิกษุ โลกอันจิตแลนำไป อันจิตชักมา และบุคคลย่อมลุอำนาจ ของจิต ที่บังเกิดขึ้นแล้ว ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า
------------------------------------------------------------------------------------
          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคล จึงเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม
          พ. ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉา ของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้ ด้วยเหตุ เพียงเท่าไรหนอแล บุคคล จึงเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้หรือ
          ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า
          พ. ดูกรภิกษุ เราแสดงธรรมเป็นอันมาก คือ สุตตะ...เวทัลละ ถ้าแม้ภิกษุ รู้ ทั่วถึง อรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งคาถา ๔ บาทแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ ธรรมไซร้ ก็ควรเรียกว่า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม          ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า
------------------------------------------------------------------------------------
          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส ผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ แลบุคคลจึงเป็นผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส
          พ. ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉา ของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าบุคคลผู้สดับมีปัญญา ชำแรกกิเลส ผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส ดังนี้หรือ
          ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า
          พ. ดูกรภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า นี้ทุกข์ และเห็นแจ้งแทง ตลอด เนื้อความแห่งคำที่สดับนั้น ด้วยปัญญา ได้สดับว่า นี้ทุกขสมุทัย และได้เห็นแจ้ง แทงตลอด เนื้อความแห่งคำที่สดับนั้น ด้วยปัญญา ได้สดับว่า นี้ทุกขนิโรธ และเห็นแจ้ง แทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วยปัญญา ได้สดับว่า นี้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา และเห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความ แห่งคำ ที่สดับนั้น ด้วยปัญญา ดูกรภิกษุ บุคคลเป็นผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลสอย่างนี้แล

          ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแลบุคคล จึงเป็นบัณฑิตมีปัญญามาก

          พ. ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉา ของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าบุคคลผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ดังนี้หรือ

          ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

          พ. ดูกรภิกษุ บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามากในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่คิดเพื่อ เบียดเบียนตน ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น เมื่อคิด ย่อมคิดเพื่อเกื้อกูลแก่ตน เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เกื้อกูลแก่ตนและผู้อื่น และเกื้อกูล แก่โลกทั้งหมดทีเดียว ดูกรภิกษุ บุคคลเป็นบัณฑิตมีปัญญามากอย่างนี้แล

------------------------------------------------------------------------------------

(7)

พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๒

อสัตตบุรุษ ไม่อาจรู้ได้ใน อสัตบุรุษ และสัตบุรุษ สัตบุรุษเท่านั้นที่พึงรู้ได้
(ตรัสกับวัสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์)

          [๑๘๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทก นิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล วัสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ ของแคว้น มคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่าน การปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า

         ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อสัตบุรุษ จะพึงรู้ อสัตบุรุษ ด้วยกันได้หรือ หนอ ว่าท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์ ข้อที่ อสัตบุรุษ จะพึงรู้ อสัตบุรุษ ด้วยกันว่า ท่านผู้นี้เป็น อสัตบุรุษ ดังนี้ ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ที่จะเป็นได้เลย

          ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อสัตบุรุษจะพึงรู้สัตบุรุษได้หรือหนอว่าท่านผู้นี้เป็น สัตบุรุษ  พ. ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อที่ อสัตบุรุษ จะพึงรู้ สัตบุรุษ ว่า ท่านผู้นี้เป็น สัตบุรุษ ดังนี้ ก็ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส จะพึงเป็นได้

          ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สัตบุรุษ พึงรู้ สัตบุรุษ ด้วยกันได้หรือหนอ แล ว่าท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ พ. ดูกรพราหมณ์ ข้อที่ สัตบุรุษ พึงรู้ สัตบุรุษ ด้วยกันว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ดังนี้ เป็นฐานะเป็นโอกาสที่มีได้

          ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สัตบุรุษ พึงรู้ อสัตบุรุษ ได้หรือหนอว่า ท่านผู้นี้ เป็น อสัตบุรุษ  พ. ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อที่สัตบุรุษพึงรู้อสัตบุรุษว่า ท่านผู้นี้เป็น อสัตบุรุษ ดังนี้ ก็เป็นฐานะ เป็นโอกาสที่มีได้

          ว. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ข้อที่พระโคดมตรัส ชอบแล้วว่า ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้อสัตบุรุษด้วยกันว่า ท่านผู้นี้เป็น อสัตบุรุษ ดังนี้ ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะเป็นได้ ข้อที่อสัตบุรุษ จะพึงรู้สัตบุรุษว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ดังนี้ ก็ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะเป็นได้ ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้ สัตบุรุษด้วยกันว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ดังนี้เป็นฐานะเป็น โอกาสที่มีได้ และข้อที่ สัตบุรุษ จะพึงรู้อสัตบุรุษว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ดังนี้ ก็เป็นฐานะเป็นโอกาสที่มีได้

          ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมัยหนึ่ง ในบริษัทของ โตเทยยพราหมณ์ พวกบริษัท กล่าวติเตียนผู้อื่นว่า พระเจ้าเอเฬยยะ ผู้ทรงเลื่อมใสยิ่งนักในสมณรามบุตร เป็นพาล ทรงกระทำความเคารพอย่างยิ่งเห็นปานนี้ คือ ทรงอภิวาท ทรงลุกรับ ทรงกระทำ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมในสมณรามบุตร แม้ข้าราชบริพาร ของพระเจ้า เอเฬยยะ เหล่านี้ คือ ยมกะโมคคัลละ อุคคะ นาวินากี คันธัพพะ และอัคคิเวสสะ ผู้เลื่อมใส ยิ่งนักในสมณรามบุตร ก็เป็นพาล และกระทำความเคารพอย่างยิ่ง เห็นปานนี้ คือ อภิวาทลุกรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรม ในสมณรามบุตร ส่วนโตเทยยพราหมณ์ แนะนำ บริษัทเหล่านั้นโดยนัยนี้ว่า

          ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้าเอเฬยยะเป็น บัณฑิต ทรงสามารถเล็งเห็นประโยชน์ยิ่งกว่าผู้สามารถเล็งเห็นประโยชน์ ในกิจ ที่ควรทำ และกิจที่ควรทำอันยิ่ง ในคำที่ควรพูดและคำที่ควรพูดอันยิ่ง พวกบริวารรับว่า เป็นอย่างนั้น

          ท่านผู้เจริญ โตเทยยพราหมณ์กล่าวต่อไปว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เพราะเหตุ ที่สมณรามบุตร เป็นผู้ฉลาดกว่าพระเจ้าเอเฬยยะ เป็นผู้สามารถเล็งเห็นประโยชน์ ยิ่งกว่า ฉะนั้น พระเจ้าเอเฬยยะจึงทรงเลื่อมใสยิ่งนัก ในสมณรามบุตร และทรงกระทำ ความเคารพอย่างยิ่งเห็นปานนี้ คือ ทรงอภิวาท ทรงลุกรับ ทรงทำอัญชลีกรรม และ สามีจิกรรม ในสมณรามบุตร

          ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้าราชบริพารของ พระเจ้าเอเฬยยะ คือ ยมกะ โมคคัลละ อุคคะ นาวินากี คันธัพพะอัคคิเวสสะ เป็นผู้ฉลาด สามารถเล็งเห็นประโยชน์ยิ่งกว่าผู้สามารถเล็งเห็นประโยชน์ ในกิจ ที่ควรทำ และกิจที่ควรทำอันยิ่ง ในคำที่ควรพูดและคำที่ควรพูดอันยิ่ง พวกบริวาร รับว่าเป็นอย่างนั้นท่านผู้เจริญ โตเทยยพราหมณ์กล่าวต่อไปว่า เพราะเหตุที่ สมณรามบุตร เป็นบัณฑิตยิ่งกว่าข้าราชบริพาร ผู้เป็นบัณฑิตของพระเจ้าเอเฬยยะ เป็นผู้สามารถเล็งเห็นประโยชน์ ยิ่งกว่าผู้สามารถเล็งเห็นประโยชน์ ในกิจที่ควรทำ และกิจที่ควรทำอันยิ่ง ในคำที่ควรพูดและคำที่ควรพูดอันยิ่ง ฉะนั้นพวกข้าราชบริพาร ของพระเจ้าเอเฬยยะ จึงเลื่อมใสยิ่งนักในสมณรามบุตร และกระทำความเคารพ อย่างยิ่ง เห็นปานนี้ คือ อภิวาท ลุกรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรม ในสมณรามบุตร

          ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ข้อที่พระโคดมผู้เจริญ ตรัสนั้นชอบแล้ว...ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บัดนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายขอทูลลาไป ข้าพระองค์ทั้งหลายมีกิจมาก มีกรณียะมาก

          พ. ดูกรพราหมณ์ ท่านจงรู้กาลอันควรในบัดนี้เถิด

          ครั้งนั้นแล วัสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ของแคว้นมคธ ชื่นชมอนุโมทนา ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป

------------------------------------------------------------------------------------

(8)

พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๔
(ตรัสกับ อุปกมัณฑิกาบุตร)

วาทะของ อุปกมัณฑิกาบุตร

          [๑๘๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุง ราชคฤห์ ครั้งนั้นแล อุปกมัณฑิกาบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวติเตียนผู้อื่น ผู้นั้นทั้งหมดย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียน

           พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

          ดูกรอุปกะ ถ้าบุคคล กล่าวติเตียนผู้อื่น เมื่อเขากล่าวติเตียนผู้อื่นอยู่ ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูก ครหาติเตียนไซร้

          ดูกรอุปกะ ท่านนั่นแหละกล่าวติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรม เกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียน

          อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลพึงจับปลาที่พอผุดขึ้นเท่านั้น ด้วยแหใหญ่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พอเอ่ยขึ้นเท่านั้น พระผู้มีพระภาค ก็ทรงจับด้วยบ่วง คือวาทะอันใหญ่

          พ. ดูกรอุปกะ เราบัญญัติแล้วว่า นี้เป็นอกุศลแล บท พยัญชนะธรรมเทศนา ของตถาคตในข้อนั้น หาประมาณมิได้ว่า นี้เป็นอกุศลแม้เพราะเหตุนี้ อนึ่ง เราบัญญัติว่า อกุศลนี้นั้นแล ควรละเสีย บทพยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคต ในข้อนั้น หาประมาณ มิได้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ อกุศลนี้ควรละเสียอนึ่ง เราบัญญัติไว้แล้วว่า นี้เป็นกุศลแล บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้น หาประมาณมิได้ว่า นี้เป็นกุศลแม้ เพราะเหตุนี้ อนึ่ง เราบัญญัติว่า กุศลนี้นั้นแล ควรบำเพ็ญ บทพยัญชนะ ธรรมเทศนา ของตถาคตในข้อนั้น หาประมาณมิได้ว่า กุศลนี้ควรบำเพ็ญแม้เพราะเหตุนี้

          ลำดับนั้นแล อุปกมัณฑิกาบุตร ชื่นชมอนุโมทนาภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหีบุตร ครั้นแล้วได้กราบทูลการสนทนาปราศรัย กับพระผู้มีพระภาคทั้งหมดนั้น แก่พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร เมื่ออุปกมัณฑิกาบุตร กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรูเวเทหีบุตร ทรงกริ้ว ไม่ทรงพอพระทัย ได้ตรัสกะ อุปกมัณฑิกาบุตรว่า เจ้าเด็กลูกชาวนาเกลือนี่อวดดี ปากกล้า บังอาจ จักสำคัญพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ว่าควรรุกราน เจ้าอุปกะจงหลีกไป จงพินาศ ฉันอย่าได้เห็นเจ้าเลย

------------------------------------------------------------------------------

(9)

พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๕

ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง ๔ ประการ กระทำให้แจ้งด้วยกาย สติ จักษุ ปัญญา
(ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย)

          [๑๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยกาย ก็มี
ที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยสติ ก็มี
ที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยจักษุ ก็มี
ที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญา ก็มี

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยกาย เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
  - วิโมกข์ ๘ ควรกระทำให้แจ้งด้วยกาย
  - ก็ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง ด้วยสติเป็นไฉน ปุพเพนิวาสควรกระทำให้แจ้งด้วยสติ
  - ก็ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง ด้วยจักษุเป็นไฉน การจุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย ควรกระทำให้แจ้งด้วยจักษุ
  - ก็ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาเป็นไฉน ความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ควรกระทำ ให้แจ้งด้วยปัญญา
           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง ๔ ประการนี้แล

------------------------------------------------------------------------------

(10)

พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๖
บริษัทเช่นใดที่บุคคลหาได้ยากในโลก แม้ภิกษุสงฆ์นี้ก็เป็นเช่นนั้น
(ตรัสกับหมู่ภิกษุสงฆ์)

          [๑๙๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพารามปราสาท ของ มิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคแวดล้อมด้วย ภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งในวันอุโบสถ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้นิ่งเงียบแล้ว ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เงียบ ปราศจากเสียงสนทนา บริสุทธิ์ ตั้งอยู่ใน สาระ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์นี้ก็เป็นเช่นนั้น บริษัทเช่นใดที่บุคคล หาได้ยาก แม้เพื่อจะเห็นในโลก ภิกษุสงฆ์นี้ก็เป็นเช่นนั้น บริษัทนี้ก็เป็นเช่นนั้น บริษัทเช่นใด เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า

          ภิกษุสงฆ์นี้ก็เป็นเช่นนั้น บริษัทนี้ก็เป็นเช่นนั้น แม้ของน้อยที่เขาให้ในบริษัท เช่นใด ย่อมเป็นของมาก ของมากที่เขาให้ในบริษัทเช่นใด ย่อมเป็นของมากยิ่งกว่า

          ภิกษุสงฆ์นี้ก็เป็นเช่นนั้น บริษัทนี้ก็เป็นเช่นนั้น การไปเพื่อจะดูบริษัทเช่นใด แม้จะนับด้วยโยชน์ ถึงจะต้องเอาเสบียงทางไปก็ควร

          ภิกษุสงฆ์นี้ ก็เป็นเช่นนั้น ภิกษุสงฆ์นี้เห็นปานนั้น คือ ในภิกษุสงฆ์นี้
ภิกษุทั้งหลายที่ถึงความเป็นเทพก็มี
ภิกษุทั้งหลายที่ถึงความเป็นพรหมก็มี
ภิกษุทั้งหลายที่ถึงชั้นอเนญชาก็มี
ภิกษุทั้งหลายที่ถึงความเป็นอริยะก็มี


--------------------------------------------------------------


(10.1)
พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๖
ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึงความเป็นเทพ
(ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย)

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นเทพ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ
บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ
บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ
บรรลุตติยฌาน ฯลฯ
บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ


          ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าถึงความเป็นเทพ
------------------------------------------------------------------------------

(10.2)
พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๖
ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึงความเป็นพรหม

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นพรหม
ภิกษุในธรรมวินัย นี้
มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุก สถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีใจประกอบด้วยกรุณา...
มีใจประกอบด้วยมุทิตา...
มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างเบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุก สถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นพรหม
------------------------------------------------------------------------------

(10.3)
พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๖
ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึงขั้น อเนญชา

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าถึงชั้น อเนญชา ภิกษุในธรรมวินัยนี้
          เพราะล่วงรูปสัญญา
โดยประการทั้งปวง
          เพราะดับสิ้นปฏิฆสัญญา
          เพราะไม่มนสิการถึงนานัตตสัญญา บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ด้วยบริกรรม ว่าอากาศไม่มีที่สุด
          เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตน ฌาน ด้วยบริกรรมว่าวิญญาณไม่มีที่สุด
          เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตน ฌาน ด้วยบริกรรมว่า อะไรๆ ไม่มี
           เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะ โดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานา สัญญายตนฌาน
          ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลภิกษุจึงชื่อว่าถึงชั้นอเนญชา
------------------------------------------------------------------------------

(10.4)
พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๖
ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึงความเป็นอริยะ

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นอริยะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (รู้ชัดอริยสัจ)

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นอริยะ


 

 


 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์