พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๒๕
วังคีสสังยุต
นิกขันตสูตรที่ ๑
(พระวังคีสะ เห็นสตรีแล้วเกิดความกำหนัด ไม่เป็นลาภของเราหนอ เราได้ชั่วเสียแล้วหนอ อย่ากระนั้นเลย เราพึงบรรเทาความกระสัน ยังความยินดีให้เกิดขึ้นแก่ตน ด้วยตนเองเถิด )
[๗๒๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระวังคีสะ อยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวี กับ ท่านพระนิโครธ กัปปะ ผู้เป็นอุปัชฌาย์ ก็สมัยนั้น ท่านพระวังคีสะ ยังเป็นภิกษุใหม่บวชได้ไม่นาน ถูกละไว้ให้เฝ้าวิหาร
[๗๒๘] ครั้งนั้น สตรีเป็นอันมาก ประดับประดาร่างกายแล้ว เข้าไปยัง อาราม เที่ยวดูที่อยู่ของพวกภิกษุ ครั้งนั้นแลความกระสันย่อมบังเกิดขึ้น ความกำหนัด ย่อมรบกวนจิตของ ท่านพระวังคีสะ เพราะได้เห็นสตรีเหล่านั้น
ลำดับนั้น ท่านพระวังคีสะ มีความคิดดังนี้ว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ไม่ใช่ลาภ ของเราหนอ เราได้ชั่วเสียแล้วหนอ เราไม่ได้ดีเสียแล้วหนอ ที่เราเกิด ความกระสัน ที่ความกำหนัดรบกวนจิตเรา เหตุที่คนอื่นๆ จะพึงบรรเทาความกระสัน แล้วยังความยินดี ให้บังเกิดขึ้นแก่เรา ในความกำหนัดที่บังเกิดขึ้น แล้วนี้เราจะได้ แต่ที่ไหน อย่ากระนั้นเลย เราพึงบรรเทาความกระสันเสียแล้ว ยังความยินดี ให้เกิดขึ้นแก่ตน ด้วยตนเองเถิด
[๗๒๙] ในกาลนั้นแล ท่านพระวังคีสะ บรรเทาความกระสันเสียแล้ว ยัง ความยินดีให้เกิดขึ้นแก่ตนเองแล้ว ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ในเวลานั้นว่าวิตก ทั้งหลาย เป็นเหตุให้คะนอง (เกิดมา) แต่ฝ่ายธรรมดำเหล่านี้ ย่อมวิ่งเข้ามาสู่เรา ผู้ออกจาก เรือนบวช เป็นผู้ไม่มีเหย้าเรือนแล้ว
บุตรของคนชั้นสูงทั้งหลาย ผู้มีฝีมืออันเชี่ยวชาญ ศึกษาดีแล้ว ทรงธนูไว้ มั่นคง พึงทำจำนวนคน ที่ไม่ยอมหนีตั้งพัน ๆ ให้กระจัดกระจายไปรอบด้าน (ฉันใด) ถึงแม้ว่าสตรีมากยิ่งกว่านี้จักมา สตรีเหล่านั้น ก็จักเบียดเบียนเรา ผู้ตั้งมั่นแล้วในธรรม ของตนไม่ได้เลย (ฉันนั้น) เพราะว่า เราได้ฟังทางเป็นที่ไปสู่พระนิพพานนี้ ในที่ เฉพาะพระพักตร์ ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์แล้วใจของเรายินดีแล้ว ในทางเป็นที่ไปสู่พระนิพพานนั้น
แน่ะมารผู้ชั่วร้าย ถ้าท่านจะเข้ามาหาเรา ผู้อยู่อย่างนี้ แน่ะมฤตยุราช เราจักทำโดยวิธีที่ท่าน จักไม่เห็นแม้ซึ่งทางของเราได้เลย ดังนี้
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๒๖
อรติสูตรที่ ๒
พระวังคีสะเป็นผู้ติดแล้ว ในอุปธิทั้งหลายคือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพารมณ์ วิตกของคนทั้งหลาย อาศัย ปิยรูป สาตรูป ๖๐ เป็นอันมาก
[๗๓๐] สมัยหนึ่ง ท่านวังคีสะ อยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวี กับ ท่านพระนิโครธกัปปะ ผู้เป็นอุปัชฌาย์ โดยสมัยนั้นแล ท่านพระนิโครธกัปปะ กลับจากบิณฑบาต ในเวลาปัจฉาภัต ย่อมเข้าไปสู่วิหาร ย่อมออกในเวลาเย็น บ้าง ในวันรุ่งขึ้น หรือ ในเวลาภิกษาจารบ้าง
[๗๓๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ความกระสันย่อมบังเกิดขึ้น ความกำหนัด ย่อม รบกวนจิตของท่านพระวังคีสะ ลำดับนั้น ท่านพระวังคีสะ มีความคิดดังนี้ว่า ไม่เป็นลาภ ของเราหนอ ไม่ใช่ลาภของเราหนอ เราได้ชั่วเสียแล้วหนอ เราไม่ได้ดี เสียแล้วหนอ ที่เราเกิดความกระสันขึ้นแล้ว ที่ความกำหนัดรบกวนจิตเรา เราจะได้ เหตุที่คนอื่นๆ จะพึงบรรเทาความกระสันแล้ว ยังความยินดีให้เกิดขึ้นแก่เราในความ กำหนัด ที่เกิดขึ้นแล้วนี้แต่ที่ไหน อย่ากระนั้นเลย เราพึงบรรเทาความกระสันแล้ว ยังความยินดีให้เกิดขึ้น แก่ตนด้วยตนเองเถิด
[๗๓๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ บรรเทาความกระสันแล้ว ยังความ ยินดีให้เกิดขึ้นแก่ตนด้วยตนเอง ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ในเวลานั้นว่าบุคคลใด ละ ความไม่ยินดี (ในศาสนา) และความยินดี (ในกามคุณทั้งหลาย) และวิตกอันอาศัย เรือนโดยประการทั้งปวงแล้ว ไม่พึงทำป่าใหญ่ คือกิเลสในอารมณ์ไหนๆ เป็นผู้ไม่มี ป่าคือกิเลส เป็นผู้ไม่น้อมใจไปแล้ว ผู้นั้นแลชื่อว่าเป็นภิกษุ
รูปอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้ ที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินก็ดี ทั้งตั้งอยู่ในเวหาส ก็ดี ที่อยู่ในแผ่นดินก็ดี ย่อมทรุดโทรม เป็นของไม่เที่ยงทั้งหมด บุคคลทั้งหลาย ผู้สำนึก ตน ย่อมถึงความตกลงอย่างนี้เที่ยวไป
ชนทั้งหลายเป็นผู้ติดแล้ว ในอุปธิทั้งหลายคือ ในรูป อันตนเห็นแล้ว ในเสียง อันตนได้ฟังแล้ว ในกลิ่น และรส อันตนได้กระทบแล้ว และ ใน โผฏฐัพพารมณ์ อันตนรู้แล้ว ท่านจงบรรเทาความพอใจในกามคุณ ๕ เหล่านั้น เป็นผู้ไม่หวั่นไหว บุคคลใดไม่ติดอยู่ในกามคุณ ๕ เหล่านั้น บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลนั้นว่า เป็นมุนี
วิตกของคนทั้งหลาย อาศัย ปิยรูป สาตรูป * ๖๐ เป็นอันมาก ตั้งลงแล้ว โดยไม่เป็นธรรมในหมู่ปุถุชน บุคคลไม่พึงถึง วังวนกิเลส ในอารมณ์ไหนๆ และบุคคล ผู้ไม่พูดจาชั่วหยาบ จึงชื่อว่าเป็นภิกษุ
* (เป็นที่รัก) (เป็นที่ยินดี)
บัณฑิตผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ตลอดกาลนาน ผู้ไม่ลวงโลก ผู้มีปัญญาแก่กล้า ผู้ไม่ทะเยอทะยาน เป็นมุนี ผู้ถึงบทอันระงับแล้ว อาศัยพระนิพพาน เป็นผู้ดับกิเลส ได้แล้ว ย่อมรอคอยกาล (เป็นที่ปรินิพพาน) ดังนี้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ปิยรูป สาตรูป ๖๐ (สิ่งที่มีสภาวะน่ารักน่าชื่นใจ เป็นที่เกิดและเป็นที่ดับของตัณหา)
หมวด 1 อายตนะภายใน 6
หมวด 2 อายตนะภายนอก 6
หมวด 3 วิญญาณ 6
หมวด 4 สัมผัส 6
หมวด 5 เวทนา 6
หมวด 6 สัญญา 6
หมวด 7 สัญเจตนา 6
หมวด 8 ตัณหา 6
หมวด 9 ได้แก่ วิตก 6 คือ รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก (ความตริตรึกเกี่ยวกับรูป ฯลฯ)
หมวด 10 ได้แก่ วิจาร 6 คือ รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร (ความตรองเกี่ยวกับรูป ฯลฯ
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๒๗
เปสลาติมัญญนาสูตรที่ ๓
พระวังคีสะ ดูหมิ่นภิกษุผู้มีศีล ยังความวิปฏิสาร (ทุกข์ใจร้อนใจ)ให้เกิดขึ้น คิดว่า ไม่เป็น ลาภของเราหนอ ไม่ใช่ลาภของเราหนอ เราได้ชั่วเสียแล้วหนอ เราไม่ได้ดีเสียแล้วหนอ
[๗๓๓] สมัยหนึ่ง ท่านพระวังคีสะ อยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวี กับท่านพระนิโครธกัปปะ ผู้อุปัชฌาย์ ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระวังคีสะ นึกดูหมิ่น ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีศีล เป็นที่รักเหล่าอื่น ด้วยปฏิภาณของตน
ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ มีความคิดดังนี้ว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ไม่ใช่ ลาภของเราหนอ เราได้ชั่วเสียแล้วหนอ เราไม่ได้ดีเสียแล้วหนอ ที่เราดูหมิ่น ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีศีลเป็นที่รักเหล่าอื่น ด้วยปฏิภาณของตน ดังนี้
[๗๓๔] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ยังความ วิปฏิสาร (ทุกข์ใจร้อนใจ จาก การทำผิด) ให้เกิดขึ้นแก่ตน ด้วยตนเองแล้วได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า
ดูกรท่านผู้เป็นสาวกของพระโคดม ท่านจงละมานะเสีย ท่านจงละหนทาง แห่งมานะ ในโลกนี้เสีย อย่าให้มีส่วนเหลือได้ (เพราะ) หมู่สัตว์ผู้อันความลบหลู่ ทำให้มัวหมอง แล้วย่อมเป็นผู้มีความเดือดร้อนตลอดกาลนาน
สัตว์ทั้งหลายผู้อันมานะ กำจัดแล้วย่อมตกนรก ชนทั้งหลาย ผู้อันมานะ กำจัดแล้ว เข้าถึงนรกแล้ว ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน ภิกษุผู้ชำนะกิเลสด้วยมรรค เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ย่อมไม่เศร้าโศกเลยในกาลไหนๆย่อมได้รับเกียรติคุณ และความสุข บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมเรียกภิกษุผู้เช่นนั้นว่า เป็นผู้เห็นธรรม เพราะฉะนั้น ท่านจงเป็น ผู้ไม่มีกิเลส เพียงตะปูเครื่องตรึงใจในโลกนี้ เป็นผู้มีความเพียร จงละนิวรณ์ทั้งหลาย เสีย เป็นผู้บริสุทธิ์ และละมานะอย่าให้มีส่วนเหลือแล้ว ทำที่สุดแห่งกิเลส ด้วยวิชชา เป็นผู้สงบระงับ ดังนี้
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๒๘
อานันทสูตรที่ ๔
ท่านพระวังคีสะ ขณะเดินบิณฑบาต ตามหลังพระอานนท์ เกิดความกำหนัด รบกวน จิต จึงบอกกับพระอานนท์ พระอานนท์กล่าวว่า จิตของท่านรุ่มร้อน เพราะสัญญาอัน วิปลาส ท่านจงละเว้นนิมิต อันสวยงาม อันเป็นที่ตั้งแห่งราคะเสีย ท่านจงเห็นสังขาร ทั้งหลายโดย ความเป็นของแปรปรวน โดยเป็นทุกข์ และอย่าเห็นโดยความเป็นตน ท่านจงดับราคะอัน แรงกล้า ท่านจงอย่าถูกราคะเผาผลาญบ่อยๆ
[๗๓๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์ อยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ครั้งนั้นแล ในเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ นุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไป เที่ยวบิณฑบาต ในพระนครสาวัตถี มี ท่านพระวังคีสะ เป็นปัจฉาสมณะ (อยู่ข้างหลัง) ก็โดยสมัยนั้นแล ความกระสันได้เกิดขึ้น ความกำหนัด ย่อมรบกวนจิต ของ ท่านพระวังคีสะ
[๗๓๖] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ ด้วยคาถา ว่าข้าพเจ้าเร่าร้อน เพราะกามราคะ จิตของข้าพเจ้ารุ่มร้อน ขอท่านจงบอกวิธี
เป็นเครื่องดับราคะ เพื่ออนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านผู้โคดม
ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า
[๗๓๗] จิตของท่านรุ่มร้อน เพราะสัญญาอันวิปลาส ท่านจงละเว้น นิมิต อันสวยงาม อันเป็นที่ตั้งแห่งราคะเสีย ท่านจงเห็นสังขารทั้งหลาย โดยความ เป็นของแปรปรวน โดยเป็นทุกข์ และอย่าเห็น โดยความเป็นตน ท่านจงดับราคะอัน แรงกล้า ท่านจงอย่าถูกราคะเผาผลาญบ่อยๆ ท่านจงเจริญจิตในอสุภกัมมัฏฐาน ให้ เป็นจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ตั้งมั่นด้วยดีเถิด ท่านจงมี กายคตาสติ ท่านจงเป็นผู้มาก ด้วยความหน่าย ท่านจงเจริญความไม่มีนิมิต และจงถอนมานานุสัยเสีย เพราะการรู้ เท่าถึงมานะ ท่านจักเป็นผู้สงบระงับเที่ยวไป ดังนี้
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๒๙
สุภาษิตสูตรที่ ๕
(วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นวาจาสุภาษิต)
ท่านพระวังคีสะ ได้ทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถา เฉพาะพระพักตร์ว่า บุคคล พึงกล่าว แต่วาจาที่ไม่เป็นเหตุยังตนให้เดือดร้อน และไม่เป็นเหตุเบียดเบียนผู้อื่น พึงกล่าว วาจาอันเป็นที่รัก ที่ชนทั้งหลายชื่นชม
[๗๓๘] สาวัตถีนิทาน ฯ
ในสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับ พระพุทธดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัส พระพุทธพจน์นี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และเป็นวาจาอันวิญญูชน ทั้งหลาย ไม่ติเตียน องค์ ๔ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมกล่าวแต่วาจา ที่บุคคลกล่าว ดีแล้วอย่างเดียว
๑) ไม่กล่าววาจา ที่บุคคลกล่าวชั่วแล้ว
๒) ย่อมกล่าวแต่วาจาที่เป็นธรรมอย่างเดียว ไม่กล่าววาจา ที่ไม่เป็นธรรม
๓) ย่อมกล่าวแต่วาจา อันเป็นที่รักอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก
๔) ย่อมกล่าวแต่วาจาจริง อย่างเดียว ไม่กล่าววาจาเท็จ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๔ เหล่านี้แล เป็นวาจา สุภาษิตไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และเป็นวาจา อันวิญญูชน ทั้งหลายไม่ติเตียน
[๗๓๙] พระผู้มีพระภาค ผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบ ลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า สัตบุรุษทั้งหลาย ได้กล่าววาจา สุภาษิตว่า เป็นที่หนึ่ง บุคคลพึงกล่าววาจา ที่เป็นธรรม ไม่พึงกล่าววาจา ที่ไม่เป็นธรรม เป็นที่สอง บุคคลพึงกล่าววาจา อันเป็นที่รัก ไม่พึงกล่าววาจา อันไม่เป็นที่รัก เป็นที่สาม บุคคลพึงกล่าววาจาจริง ไม่พึงกล่าววาจาเท็จ เป็นที่สี่ ดังนี้
ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีเฉพาะพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มี พระภาค เนื้อความนี้ ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้ ย่อมแจ่ม แจ้งกะข้าพระองค์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เนื้อความนี้จงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด วังคีสะ
[๗๔๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ได้ทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาค ด้วย คาถาทั้งหลายอันสมควร ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ว่า บุคคลพึงกล่าว แต่วาจาที่ไม่ เป็นเหตุยังตนให้เดือดร้อน และไม่เป็นเหตุเบียดเบียนผู้อื่น วาจานั้นแลเป็น สุภาษิต
บุคคลพึงกล่าว แต่วาจาอันเป็นที่รัก ที่ชนทั้งหลายชื่นชมแล้ว ไม่ถือเอา คำที่ชั่วช้าทั้งหลาย กล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รัก แก่ชนเหล่าอื่น คำสัตย์แล เป็นวาจา ไม่ตาย ธรรมนี้เป็นของมีมาแต่เก่าก่อน
สัตบุรุษทั้งหลาย เป็นผู้ตั้งมั่นแล้วในคำสัตย์ ที่เป็นอรรถ และเป็นธรรม พระพุทธเจ้า ตรัสพระวาจาใด ซึ่งเป็นวาจาเกษมเพื่อให้ถึงพระนิพพาน เพื่อทำที่สุด แห่งทุกข์พระวาจา นั้นแล เป็นสูงสุดกว่าวาจาทั้งหลาย ดังนี้
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๓๐
สารีปุตตสูตรที่ ๖
(ท่านพระวังคีสะ กล่าวสรรเสริญพระสารีบุตร ชี้แจงให้ภิกษุ ท. เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ด้วยวาจาของชาวเมือง สละสลวย ไม่มีโทษ ไม่เคลื่อนคลาด อาจยังผู้ฟัง ให้รู้เนื้อความได้แจ่มแจ้ง ทั้งยังแสดงแบบย่อก็ได้ แบบพิศดารก็ได้
[๗๔๑] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ด้วยวาจาของชาวเมือง สละสลวย ไม่มีโทษ ไม่เคลื่อน คลาด อาจยังผู้ฟัง ให้รู้เนื้อความได้แจ่มแจ้ง
ส่วนภิกษุเหล่านั้น ก็ทำธรรมนั้น ให้เป็นประโยชน์ ใส่ใจกำหนดด้วยจิต ทั้งปวง เงี่ยโสตลงฟังธรรม
[๗๔๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ มีความคิดดังนี้ว่า ท่านพระสารีบุตรนี้ แนะนำชักชวนภิกษุทั้งหลาย ให้อาจหาญ รื่นเริงด้วยธรรมีกถา ด้วยวาจาของ ชาวเมือง สละสลวย ไม่มีโทษ ไม่เคลื่อนคลาด อาจยังผู้ฟังให้รู้เนื้อความ ได้แจ่มแจ้ง
ส่วนภิกษุเหล่านั้นเล่า ก็ทำธรรมนั้น ให้เป็นประโยชน์ ใส่ใจกำหนด ด้วยจิต ทั้งปวงเงี่ยโสตลงฟังธรรม อย่ากระนั้นเลย เราควรสรรเสริญท่านพระสารีบุตร ด้วย คาถาทั้งหลาย อันสมควรในที่เฉพาะหน้าเถิด
ลำดับนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ลุกจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้ว ประนมอัญชลี เฉพาะท่านพระสารีบุตรแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตร ดังนี้ว่า ท่านสารีบุตร เนื้อความนี้ ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพเจ้า ท่านสารีบุตร เนื้อความนี้ย่อมแจ่ม แจ้งกะข้าพเจ้า
ท่านพระสารีบุตร กล่าวกะท่านพระวังคีสะว่า เนื้อความนั้นจงแจ่มแจ้ง กะท่านเถิด ท่านวังคีสะ
[๗๔๓] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ได้สรรเสริญ ท่านพระสารีบุตร ต่อหน้า ด้วยคาถาทั้งหลาย อันสมควรว่า ท่านสารีบุตรเป็นนักปราชญ์มีปัญญาลึกซึ้ง ฉลาดใน ทาง และมิใช่ทาง มีปัญญามาก ย่อมแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย แสดงโดยย่อก็ได้ แสดงโดยพิสดารก็ได้ เสียงของท่านไพเราะดังก้อง เหมือนเสียงนกสาริกาปฏิภาณ เกิดขึ้น โดยไม่รู้สิ้นสุด เมื่อท่านแสดงธรรมอยู่ ภิกษุทั้งหลายย่อมฟังเสียงอันไพเราะ เป็นผู้ปลื้มจิตยินดี ด้วยเสียงอันเพราะ น่ายินดี น่าฟัง เงี่ยโสตอยู่ ดังนี้
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๓๑
ปวารณาสูตรที่ ๗
ท่านพระสารีบุตทูลถามพระผู้มีพระภาค ไม่ทรงติเตียนภิกษุ บ้างหรือ...
ท่านพระวังคีสะ กล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาค…
[๗๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับที่พระวิหารบุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา ผู้เป็นมารดามิคารเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี กับพระภิกษุ สงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นอรหันต์ทั้งหมด
ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค เป็นผู้อันภิกษุสงฆ์แวดล้อม ประทับนั่ง ในที่แจ้ง เพื่อทรงปวารณาในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงตรวจดูเห็นภิกษุสงฆ์เป็นผู้นิ่งอยู่แล้ว จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอปวารณาเธอทั้งหลายเธอ ทั้งหลาย จะไม่ติเตียนกรรมไรๆ ที่เป็นไปทางกาย หรือทางวาจาของเราบ้างหรือ
[๗๔๕] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร ลุกขึ้นจาก อาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ประนมอัญชลีเฉพาะพระผู้มี พระภาค แล้วได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ ทั้งหลาย ติเตียนกรรม ไรๆ อันเป็นไปทางพระกาย หรือทางพระวาจา ของพระผู้มี พระภาคไม่ได้เลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะว่าพระผู้มีพระภาค ทรงยังทางที่ยัง ไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ทรงยังทาง ที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดมี ทรงบอกทางที่ยังไม่มีผู้บอก เป็นผู้ทรงรู้ทางทรงรู้แจ้งทาง ทรงฉลาดในทาง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาวกทั้งหลาย ในบัดนี้ เป็นผู้เดินตามทาง บัดนี้แลขอปวารณาพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค จะไม่ทรง ติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกาย หรือทางวาจา ของข้าพระองค์บ้างหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร เราติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกาย หรือ ทางวาจาของเธอไม่ได้เลย สารีบุตร เธอเป็นบัณฑิต สารีบุตร เธอเป็นผู้มีปัญญา มาก เป็นผู้มีปัญญาแน่นหนา สารีบุตร เธอเป็นผู้มีปัญญา ชวนให้ร่าเริงเป็นผู้มีปัญญา ว่องไว เป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม เป็นผู้มีปัญญา สยายกิเลสได้สารีบุตร โอรส พระองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมยังจักร อันพระราชบิดาให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามได้โดยชอบ ฉันใด สารีบุตร เธอก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมยังธรรมจักร อันยอดเยี่ยม อันเราให้เป็นไปแล้วให้เป็นไปตามได้โดยชอบแท้จริง
ท่านพระสารีบุตร จึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากว่าพระผู้มีพระภาค ไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกาย หรือทางวาจาของข้าพระองค์ไซร้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาค จะไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไป ทางกาย หรือทางวาจาของภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้บ้างหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร เราไม่ติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกาย หรือทางวาจา ของภิกษุ ๕๐๐ รูปแม้เหล่านี้ สารีบุตร เพราะบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้
ภิกษุ ๖๐ รูปเป็น ผู้ได้วิชชา ๓
อีก ๖๐ รูป เป็น ผู้ได้อภิญญา ๖
อีก ๖๐ รูป เป็นผู้ได้ อุภโตภาควิมุติ
ส่วนที่ยังเหลือเป็น ผู้ได้ ปัญญาวิมุติ
ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้ว ประนมอัญชลี เฉพาะพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เนื้อความนี้ ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้ ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า เนื้อความนั้น จงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด วังคีสะ
[๗๔๖] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ได้สรรเสริญพระผู้มีพระภาค ในที่เฉพาะพระพักตร์ด้วยคาถาทั้งหลาย อันสมควรว่าวันนี้เป็นวันอุโบสถที่ ๑๕ ภิกษุ ๕๐๐ รูป มาประชุมกันแล้ว เพื่อความบริสุทธิ์ ล้วนเป็นผู้ตัดกิเลส เครื่องประกอบและ เครื่องผูกได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีความคับแค้น เป็นผู้มีภพใหม่สิ้นแล้ว เป็นผู้แสวงหาคุณ อันประเสริฐ พระเจ้าจักรพรรดิ ห้อมล้อมด้วยอำมาตย์ เสด็จเลียบพระมหาอาณาจักรนี้ ซึ่งมีสมุทรสาคร เป็นขอบเขตโดยรอบ ฉันใด
สาวกทั้งหลายผู้บรรลุไตรวิชชา ผู้ละมฤตยุราชเสียได้ ย่อมนั่งห้อมล้อม พระผู้มีพระภาค ผู้ชำนะสงครามแล้ว เป็นผู้นำพวกอันหาผู้นำอื่นยิ่งกว่าไม่มี ฉันนั้น พระสาวกทั้งหมดเป็นบุตรของพระผู้มีพระภาค ผู้ชั่วช้าไม่มีในสมาคมนี้
ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ผู้หักลูกศร คือตัณหาเสีย ได้ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์ ดังนี้
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๓๓
ปโรสหัสสสูตรที่ ๘
ท่านพระวังคีสะกล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาค ที่ทรงชักชวนภิกษุทั้งหลาย ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันประกอบด้วยนิพพาน
[๗๔๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี กับ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ๑,๒๕๐ รูป
ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา อันประกอบด้วยนิพพาน
ฝ่ายภิกษุเหล่านั้น ได้ทำธรรมนั้น ให้สำเร็จประโยชน์ ใส่ใจกำหนดด้วยจิต ทั้งปวงเงี่ยโสตลงฟังธรรม
[๗๔๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคนี้ ทรงแนะนำ ทรงชักชวนภิกษุทั้งหลาย ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอัน ประกอบ ด้วยนิพพาน ฝ่ายภิกษุเหล่านั้น ก็ทำธรรมนั้นให้สำเร็จประโยชน์ ใส่ใจ กำหนดด้วยจิตทั้งปวง เงี่ยโสตลงฟังธรรมนั้น อย่ากระนั้นเลย เราควรจะสรรเสริญ พระผู้มีพระภาค ในที่เฉพาะพระพักตร์ ด้วยคาถาทั้งหลาย อันสมควรเถิด
ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้ว ประนมอัญชลี เฉพาะพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้ง กะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้ ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า เนื้อความนั่น จงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด วังคีสะ
[๗๔๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะได้กราบทูลสรรเสริญ พระผู้มีพระภาค ในที่เฉพาะพระพักตร์ ด้วยคาถาทั้งหลาย อันสมควรว่า ภิกษุมากกว่าพัน ย่อมนั่ง ห้อมล้อมพระสุคต ผู้ทรงแสดงธรรมอันปราศจากธุลี คือพระนิพพาน ธรรมอันหาภัย แต่ไหนมิได้ ภิกษุทั้งหลายย่อมฟังธรรม อันปราศจากมลทิน ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว พระสัมพุทธเจ้าผู้อันหมู่ภิกษุ ห้อมล้อมแล้ว ย่อมงามจริงหนอ ข้าแต่ พระผู้มีพระภาค พระองค์เป็นผู้ทรงนามว่า พญาช้างอันประเสริฐ เป็นพระฤาษีที่ ๗ แห่งพระฤาษีทั้งหลาย เป็นผู้ดุจมหาเมฆยังฝนให้ตกในพระสาวก ข้าแต่พระองค์ผู้ทรง แกล้วกล้าใหญ่ วังคีสะสาวกของพระองค์ ออกจากที่พักกลางวัน ด้วยความใคร่เพื่อ เฝ้าพระศาสดา ขอถวายบังคมพระบาท ดังนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า วังคีสะ คาถาเหล่านี้เธอตรึกตรองไว้ก่อน หรือๆ ว่าแจ่มแจ้งกะเธอ โดยฉับพลัน
ท่านพระวังคีสะ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คาถาเหล่านี้ ข้าพระองค์ มิได้ตรึกตรองไว้ก่อนเลย แต่ย่อมแจ่มแจ้ง กะข้าพระองค์ โดยทันที เทียวแล
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า วังคีสะ คาถาทั้งหลาย ที่เธอไม่ได้ตรึกตรองไว้ใน กาลก่อน จงแจ่มแจ้งกะเธอ ยิ่งกว่าประมาณเถิด
[๗๕๐] ท่านพระวังคีสะ ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคว่า ได้พระเจ้า ข้า แล้วได้ทูลสรรเสริญ พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาทั้งหลาย ซึ่งตนไม่ได้ตรึกตรอง ไว้ในกาลก่อน โดยยิ่งกว่าประมาณว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ทรงครอบงำ หนทางผิด ตั้งร้อยของมารเสียได้ ทรงทำลายกิเลส เครื่องตรึงใจเพียงดังตะปู ทั้งหลาย เสียได้เสด็จเที่ยวไป
ท่านทั้งหลายจงดู พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ผู้ทรงทำการแก้ เครื่องผูกเสียได้ ผู้อันกิเลสอาศัยไม่ได้แล้ว ผู้ทรงจำแนกธรรม เป็นส่วนๆ พระสัมมา สัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ได้ทรงบอกทาง มีอย่างต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องข้ามโอฆะ เมื่อหนทางนั้น ซึ่งเป็นทางไม่ตาย อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นตรัสบอกแล้ว พระสาวกทั้งหลาย เป็นผู้เห็นธรรม ไม่ง่อนแง่น ตั้งมั่นแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ใด ทรงทำความรุ่งเรืองแทงตลอด ซึ่งธรรมแล้ว ได้ทรงเห็นธรรมเป็นที่ ก้าวล่วงทิฐิ ทั้งปวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น
ครั้นทรงทราบแล้ว และทรงกระทำให้แจ้ง(ธรรมนั้น) แล้ว ได้ทรงแสดง ฐานะทั้ง ๑๐ อันเลิศ ความประมาทอะไร ในธรรมอันพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ทรงแสดง แล้วด้วยดีอย่างนี้ จักมีแก่ผู้รู้ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแล บุคคลพึงเป็นผู้ไม่ประมาท น้อมใจศึกษา ในพระศาสนา ของพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นทุกเมื่อ ดังนี้
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๓๕
โกณทัญญสูตรที่ ๙
ท่านพระวังคีสะ กล่าวชมเชยท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ว่าเป็นผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธองค์ เป็นผู้มีความเพียร เครื่องก้าวหน้าอย่างแรงกล้า เป็นผู้ได้ธรรม เครื่องอยู่เป็นสุขทั้งหลาย พระอัญญาฯ เป็นผู้มีอานุภาพมาก เป็นผู้ได้วิชชา ๓ เป็นผู้ฉลาดในเจโตปริยญาณ เป็นทายาทของพระพุทธองค์ ไหว้อยู่ซึ่งพระบาททั้งสองของพระ
[๗๕๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็น ที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
ครั้งนั้นแล ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ต่อกาลนานนักทีเดียว ครั้นแล้วได้หมอบลงแทบพระบาททั้งสอง ของพระผู้มี พระภาค ด้วยเศียรเกล้า จูบพระบาททั้งสอง ของพระผู้มีพระภาค ด้วยปากนวด ฟั้น ด้วยมือทั้งสอง และประกาศชื่อว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ชื่อว่า โกณฑัญญะ ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ชื่อว่า โกณฑัญญะ ดังนี้
[๗๕๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ มีความคิดดังนี้ว่า ท่าน พระอัญญา โกณ ฑัญญะ นี้ นานนักทีเดียว จึงได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นเข้าเฝ้าแล้ว ได้หมอบลงแทบพระบาททั้งสอง ของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้า จูบพระบาท ทั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยปาก นวดฟั้นด้วยมือทั้งสอง และประกาศชื่อว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ชื่อว่า โกณฑัญญะ ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ ชื่อว่า โกณฑัญญะ อย่ากระนั้นเลย เราพึงชมเชยท่าน พระอัญญาโกณฑัญญะ ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาทั้งหลายตามสมควรเถิด
ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ลุกขึ้นจากอาสนะแล้ว ประนมอัญชลี ไปทางที่ พระผู้มีพระภาคประทับแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มี พระภาค เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้ง กะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้ย่อมแจ่ม แจ้งกะข้าพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า เนื้อความนั่น จงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด วังคีสะดังนี้
[๗๕๓] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะได้ชมเชย ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควรว่า พระโกณฑัญญะ เถระนี้ เป็นผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธองค์ เป็นผู้มีความเพียร เครื่องก้าวหน้าอย่างแรงกล้า เป็นผู้ได้ธรรม เครื่องอยู่เป็นสุขทั้งหลาย อันเกิดแต่วิเวกเนืองนิตย์ คุณอันใด อันพระ สาวก ผู้ทำตามคำสอนของ พระศาสดาพึงบรรลุ คุณอันนั้นทุกอย่าง อันพระโกณ ฑัญญะเถระนั้น เป็นผู้ไม่ประมาทศึกษาอยู่บรรลุแล้วโดยลำดับ
พระโกณฑัญญะเถระ เป็นผู้มีอานุภาพมาก เป็นผู้ได้วิชชา ๓ เป็นผู้ฉลาดใน เจโตปริยญาณ เป็นทายาทของพระพุทธองค์ ไหว้อยู่ซึ่งพระบาททั้งสองของ พระศาสดาดังนี้
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๓๖
โมคคัลลานสูตรที่ ๑๐
ท่านพระวังคีสะ ได้ชมเชยท่าน พระมหาโมคคัลลานะ เฉพาะพระพักตร์ฯ เป็นผู้สำเร็จวิชชา ๓ ละมฤตยูเสียได้ พระโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มาก ย่อมสอดส่อง พระสาวกเหล่านั้นด้วยจิต ตามพิจารณาจิต อันหลุดพ้นพิเศษแล้ว อันหาอุปธิมิได้
[๗๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ กาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ เขตพระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็น พระอรหันต์ทั้งหมด
ได้ยินว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ตามพิจารณาจิต อันหลุดพ้นพิเศษ (จากกิเลส) อันหาอุปธิมิได้ ของภิกษุเหล่านั้น ด้วยจิตอยู่
[๗๕๕] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคนี้ แลประทับที่กาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ เขตกรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็ตาม พิจารณาจิต อันหลุดพ้นพิเศษ (จากกิเลส) อันหาอุปธิมิได้ของภิกษุเหล่านั้น ด้วยจิต อยู่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงชมเชยท่านพระมหาโมคคัลลานะเฉพาะพระพักตร์ ของพระ ผู้มีพระภาค ด้วยคาถาทั้งหลาย อันสมควรเถิด
ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี ไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้ง กะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้ง กะข้าพระองค์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เนื้อความนั่นจงแจ่มแจ้ง กะเธอเถิด วังคีสะ
[๗๕๖] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ได้ชมเชยท่าน พระมหาโมค คัลลานะ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควรว่า พระสาวก ทั้งหลายผู้สำเร็จไตรวิชชา ผู้ละมฤตยูเสียได้ ย่อมนั่งห้อมล้อมพระมุนี ผู้ถึงฝั่งแห่ง ทุกข์ ซึ่งประทับนั่งอยู่ที่ข้างแห่งภูเขา พระมหาโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มาก ย่อม สอดส่อง พระสาวกเหล่านั้น ด้วยจิต ตามพิจารณาจิต อันหลุดพ้นพิเศษแล้ว อันหา อุปธิมิได้ ของพระสาวกเหล่านั้น อยู่ พระสาวกทั้งหลาย ย่อมนั่งห้อมล้อม พระโคดม ผู้เป็นมุนี ซึ่งสมบูรณ์ ด้วยพระคุณทั้งปวงอย่างนี้ ผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ ผู้ประกอบด้วยพระคุณ เป็นอเนกประการ ดังนี้
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๓๗
คัคคราสูตรที่ ๑๑
ท่านพระวังคีสะ กล่าวชมพระผู้มีพระภาค พระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งปราศจากมลทิน ย่อมแจ่มกระจ่างในท้องฟ้า ซึ่งปราศจากเมฆฝน ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระรัศมีซ่าน ออกแต่พระสรีรกาย ผู้เป็นมหามุนี พระองค์ย่อมรุ่งเรือง ล่วงสรรพสัตว์โลกด้วยพระยศ ฉันนั้น
[๗๕๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ริมฝั่งสระบัวชื่อว่า คัคครา เขตนครจัมปา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป อุบาสกประมาณ ๗๐๐ คน และเทวดา หลายพันองค์ นัยว่า พระผู้มีพระภาค รุ่งเรืองล่วงภิกษุ อุบาสก และเทวดาเหล่านั้น ด้วยพระวรรณะ และด้วยพระยศ
[๗๕๘] ครั้งนั้นแล
ท่านพระวังคีสะ มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคนี้แลประทับอยู่ที่ฝั่งสระบัว ชื่อว่า คัคครา เขตนครจัมปา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป อุบาสก ประมาณ ๗๐๐ คน และเทวดาหลายพันองค์นัยว่า พระผู้มีพระภาค รุ่งเรืองล่วงภิกษุ อุบาสก และเทวดาเหล่านั้น ด้วยพระวรรณะและด้วยพระยศ อย่ากระนั้นเลย เราพึง ชมเชยพระผู้มีพระภาค ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ ด้วยคาถาอันสมควรเถิด
ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี ไปทางที่พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเนื้อความนี้ ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้ ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า เนื้อความนั่น จงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด วังคีสะ
[๗๕๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ได้ชมเชยพระผู้มีพระภาค ณ ที่เฉพาะ พระพักตร์ ด้วยคาถาอันสมควรว่า พระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งปราศจากมลทิน ย่อมแจ่มกระจ่างในท้องฟ้า ซึ่งปราศจากเมฆฝน ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระรัศมี ซ่าน ออกแต่พระสรีรกาย ผู้เป็นมหามุนี พระองค์ย่อมรุ่งเรือง ล่วงสรรพสัตว์โลกด้วย พระยศ ฉันนั้น ดังนี้
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๓๘
วังคีสสูตรที่ ๑๒
ท่านพระวังคีสะ ผู้บรรลุพระอรหัต ในกาลก่อน เราเป็นผู้มัวเมา ได้เที่ยวไปแล้ว สู่บ้าน จากบ้าน สู่เมืองจากเมืองครั้นเรา ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า ศรัทธาจึงบังเกิดขึ้นแก่เรา ทรงแสดงธรรม คือขันธ์ อายตนะ ธาตุแก่เรา เราได้ฟังธรรมของพระองค์แล้วก็บรรพชา เป็นการมาดีจริงหนอ วิชชา ๓ อันเราได้บรรลุแล้วโดยลำดับ พระองค์ได้ทำให้เรา รู้ขันธสันดาน อันเราเคยอยู่ในกาลก่อน ทิพจักษุญาณเรา ทำให้หมดจดแล้ว เราเป็นผู้สำเร็จ ไตรวิชชา บรรลุอิทธิวิธี ฉลาดในเจโตปริยญาณดังนี้
[๗๖๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระวังคีสะ อยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่า น อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ก็สมัยนั้นแล ท่านพระวังคีสะ เป็นผู้บรรลุพระอรหัต แล้วไม่นาน เสวย วิมุตติสุขอยู่ ได้ภาษิตคาถา เหล่านี้ ในเวลานั้นว่า
ครั้นเรา ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า ศรัทธาจึงบังเกิดขึ้นแก่เรา พระสัมพุทธเจ้า นั้น ได้ทรงแสดงธรรม คือขันธ์ อายตนะ ธาตุแก่เรา เราได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว ก็บรรพชาเป็นผู้หาเรือนมิได้ พระมุนีได้ตรัสรู้พระโพธิญาณ เพื่อประโยชน์แก่ประชุม ชนเป็นอันมาก แก่ภิกษุ และ ภิกษุณีทั้งหลาย ผู้ได้ถึงได้เห็นนิยามธรรมการมา ของเรา ในสำนักของพระพุทธเจ้าของเรา เป็นการมาดีจริงหนอ วิชชา ๓ อันเราได้ บรรลุแล้วโดยลำดับ
พระศาสนา ของพระพุทธองค์เราได้ทำแล้ว เราย่อมรู้ขันธสันดาน อันเรา เคยอยู่ในกาลก่อน ทิพจักษุญาณเรา ทำให้หมดจดแล้ว เราเป็นผู้สำเร็จไตรวิชชา บรรลุอิทธิวิธี ฉลาดในเจโตปริยญาณดังนี้
จบวังคีสสังยุต
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
รวมพระสูตรแห่งวังคีสสังยุตมี ๑๒ สูตร คือ
นิกขันตสูตรที่ ๑ อรติสูตรที่ ๒ เปสลาติมัญญนาสูตรที่ ๓ อานันทสูตรที่ ๔ สุภาษิตสูตรที่ ๕ สารีปุตตสูตรที่ ๖ ปวารณาสูตรที่ ๗ ปโรสหัสสสูตรที่ ๘ โกณฑัญญสูตรที่ ๙โมคคัลลานสูตรที่ ๑๐ คัคคราสูตรที่ ๑๑ กับวังคีสสูตร ครบ ๑๒
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
|