เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
  ประวัติบุคคล และสถานที่ ในสมัยพุทธกาล
ค้นหาคำที่ต้องการ         

  พระอภิธรรมปิฎก ที่มา เนื้อหา 303 Next  
ข้อมูลของบุคคล และสถานที่เมื่อครั้งพุทธกาล รวมรวมมาจากหลายๆแหล่ง อาจไม่ใช่คำกล่าวของพระศาสดา หรือของสาวกที่เชื่อถือได้ บางเรื่องไม่ได้กล่าวไว้
ในพระไตรปิฏก บางเรื่องได้แต่งเสริม ทำให้ดูคล้ายนิยายปรำปราที่เล่าสืบต่อกันมา ผู้ที่ศึกษาจึงควรใช้วิจารณญาณในการอ่าน และพิจารณาตาม “กาลามสูตร


พระอภิธรรมปิฎก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


พระอภิธรรมปิฎก (บาลี: Abhidhammapiṭaka) เป็นปิฎกฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามใน "พระไตรปิฎกภาษาบาลี" (Pali Canon) อภิธรรม แปลว่า "ธรรมอันยิ่ง" ปิฎกฉบับ อภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรม และคำอธิบายที่เป็น หลักวิชาล้วน ๆ ไม่มีความเกี่ยวข้อง กับเหตุการณ์และบุคคลเลย


ประวัติ

คำสอนของพระพุทธเจ้า เดิมเรียกว่า "ธรรมวินัย" ทั้งหมด ยังมิได้แยกเป็นปิฎก สามปิฎก ดังพระพุทธวจนะว่า "ธรรมและวินัยใดที่เราตถาคตแสดงไว้แล้ว บัญญัติไว้ แล้ว ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว"

ต่อมาในการสังคายนาครั้งที่สาม ในศาสนาพุทธ พระธรรมวินัยได้รับการแบ่งแยก ออกเป็น ปิฎกสามปิฎก คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และ พระอภิธรรมปิฎก

อรรถกาอัตถสาลินี อันเป็นอรรถกาที่อธิบายคัมภีร์สังคณีแห่งพระอภิธรรมปิฎก และ อรรถกา ธัมมปทัฏฐกา อันเป็นอรรถกถาที่อธิบายคัมภีร์ธรรมบท แห่งพระสุตตันตปิฎก ว่า พระพุทธเจ้า ได้เสด็จขึ้นไปเทศน์พระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา บนสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ ในพรรษาที่ 7 หลังจากทรงตรัสรู้ และได้ทรงถ่ายทอดพระอภิธรรมนั้น แก่พระสารีบุตรในเวลาต่อมา

มีผู้สันนิษฐานว่าพระอภิธรรมปิฎกนี้เป็นของแต่งขึ้นใหม่ โดยมีเหตุผล ได้แก่

1. สำนวนในการเขียนพระอภิธรรมปิฎกเป็นภาษาหนังสือ แตกต่างจากสำนวนภาษา ในพระวินัยปิฎก และพระสุตตันตปิฎก

2. หลักมหาปเทสให้สาวกเทียบเคียงความถูกต้องกับพระสูตรและพระวินัย ไม่ปรากฏ ว่าให้เทียบเคียงกับพระอภิธรรมปิฎกเลย

3. ข้ออ้างเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดาที่ดาวดึงส์ ไม่ปรากฏในพระสูตร และพระวินัย

4. คำว่า อภิธมฺเม ที่ปรากฏในพระสูตรบางแห่งหมายถึง โพธิปักขิยธรรม

5. พระพุทธเจ้าตรัสกับสาวกว่า ธมฺโม จ วินโย จ หมายถึงพระธรรมกับพระวินัยเท่านั้น (ที่ให้เป็นศาสดาแทนต่อไป)

6. ยญฺจ โข ภควตา ชานตา ปสฺสตา ซึ่งแปลว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้ารู้อยู่ เห็นอยู่" และ วุตฺตญฺเจตํ ภควตา ซึ่งแปลว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ดังนี้ เป็นสำนวนของ พระสังคีติกาจารย์

7. นิกายสรวาสติวาทิน (นิกายอภิธรรม) ถือว่าพระอภิธรรมปิฎกเป็นสาวกภาษิต


องค์ประกอบ

สำหรับพระอภิธรรมปิฎกนั้นแบ่งออกเป็นเจ็ดคัมภีร์ ซึ่งเรียกย่อว่า สํ. วิ. ธา. ปุ. ก. ย. และ ป. ตามลำดับ ประกอบไปด้วย

1. ธัมมสังคณี (เรียกโดยย่อว่า "สํ.") – รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่ แล้วอธิบาย ทีละประเภท

2. ประเภทวิภังค์ (เรียกโดยย่อว่า "วิ.") - ยกหมวดธรรมขึ้นตั้งเป็นหัวข้อเรื่องแล้วแยกแยะออก อธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด

3. ธาตุกถา (เรียกโดยย่อว่า "ธา.") - สังเคราะห์หรือจัดประเภทข้อธรรมต่าง ๆ เข้าเป็นหมวดเป็นหมู่ ดังต่อไปนี้ คือ ขันธ์ อายตนะ และธาตุ

4. ปุ คคลบัญญัติ (เรียกโดยย่อว่า "ปุ.") - บัญญัติความหมายบุคคลประเภทต่าง ๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่

5. กถาวัตถุ (เรียกโดยย่อว่า "ก.") - แถลงและวินิจฉัยทัศนะที่ขัดแย้งกันของนิกายต่าง ๆ ในสมัย สังคายนาครั้งที่ 3 โดยเน้นความถูกต้องของฝ่ายเถรวาท คัมภีร์นี้เป็นบทนิพนธ์ของ พระโมคคลี บุตรติสสเถระ

6. ยมก (เรียกโดยย่อว่า "ย.") - ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้ง คำถามย้อนกัน เป็นคู่ ๆ

7. ปัฏฐาน หรือ มหาปกรณ์ (เรียกโดยย่อว่า "ป.") - อธิบายปัจจัย 24 และแสดง ความสัมพันธ์ ระหว่างธรรมทั้งหลายอย่างละเอียด



http://www.84000.org/tipitaka/pitaka3/

ความหมายของ พระอภิธรรมปิฎก


พระอภิธรรมปิฎก ประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม คือ หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลัก วิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) คือ

๑. สังคณี หรือ ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภท ๆ
๒. วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วแยกแยะออก อธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดย ละเอียด
๓. ธาตุกถา สงเคราะห์ข้อธรรมต่าง ๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ
๔. ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ
๕. กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ ๓
๖. ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ
๗. ปัฏฐาน หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย ๒๔ แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน แห่งธรรม ทั้งหลาย โดยพิสดาร

ค. พระอภิธรรมปิฎก ๑๒ เล่ม

เล่ม ๓๔ ธัมมสังคณี ต้นเล่มแสดง มาติกา (แม่บท) อันได้แก่บทสรุปแห่งธรรมทั้งหลาย ที่จัดเป็น ชุดๆ มีทั้งชุด ๓ เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างประดามีเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากฤตธรรม ชุดหนึ่ง เป็นอดีตธรรม อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ชุดหนึ่ง ฯลฯ และชุด ๒ เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็น สังขตธรรม อสังขตธรรม ชุดหนึ่ง รูปีธรรม อรูปีธรรม ชุดหนึ่ง โลกียธรรม โลกุตตรธรรม ชุดหนึ่ง เป็นต้น รวมทั้งหมดมี ๑๖๔ ชุด หรือ ๑๖๔ มาติกา จากนั้นขยายความมาติกาที่ ๑ เป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรมที่กระจายออกไปโดย จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน ท้ายเล่มมีอีก ๒ บท แสดงคำอธิบายย่อหรือคำจำกัดความข้อธรรมทั้งหลาย ในมาติกา ที่กล่าวถึงข้างต้นจนครบ ๑๖๔ มาติกา ได้คำจำกัดความข้อธรรมใน ๒ บท เป็น ๒ แบบ (แต่บทท้ายจำกัดความไว้เพียง ๑๒๒ มาติกา)

เล่ม ๓๕ วิภังค์ ยกหลักธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นมาแจกแจงแยกแยะอธิบายกระจายออกให้เห็นทุกแง่ จนชัดเจนจบไปเป็นเรื่องๆ รวมอธิบายทั้งหมด ๑๘ เรื่อง คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘อริยสัจจ์ ๔ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ฌาน อัปปมัญญา ศีล ๕ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณประเภทต่าง ๆ และเบ็ดเตล็ดว่าด้วยอกุศลธรรม ต่างๆ อธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่าวิภังค์ของเรื่องนั้นๆ เช่นอธิบายขันธ์ ๕ ก็เรียกขันธวิภังค์ เป็นต้น รวมมี ๑๘ วิภังค์

เล่ม ๓๖ ธาตุกถา นำข้อธรรมในมาติกาทั้งหลายและข้อธรรมอื่นๆ อีก ๑๒๕ อย่าง มาจัดเข้าในขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ ว่าข้อใดได้หรือไม่ได้ในอย่างไหนๆ และปุคคลบัญญัติ บัญญัติ ความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรม เช่นว่า “โสดาบัน” ได้แก่ บุคคลผู้ละ สังโยชน์๓ ได้แล้ว ดังนี้เป็นต้น

เล่ม ๓๗ กถาวัตถุ คัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนาครั้งที่ ๓ เรียบเรียงขึ้น เพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น ซึ่งได้แตกแยกกันออกแล้วถึง ๑๘ นิกาย เช่นความเห็นว่า พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตตผลได้ เป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิดได้ ทุกอย่างเกิดจากกรรมเป็นต้น ประพันธ์เป็นคำปุจฉาวิสัชนา มีทั้งหมด ๒๑๙ กถา

เล่ม ๓๘ ยมก ภาค ๑ คัมภีร์อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน และทดสอบความรู้อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ (ยมก แปลว่า คู่) เช่นถามว่า ธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศล เป็นกุศลมูล หรือว่าธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศลมูล เป็นกุศล, รูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์ หรือว่ารูปขันธ์(ทั้งหมด) เป็นรูป, ทุกข์ (ทั้งหมด) เป็นทุกขสัจจ์ หรือว่าทุกขสัจจ์ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์ หลักธรรมที่นำมาอธิบายในเล่มนี้มี ๗ คือ มูล (เช่นกุศลมูล) ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ สังขาร อนุสัย ถามตอบอธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่ายมกของเรื่องนั้นๆ เช่น มูลยมก ขันธยมก เป็นต้น เล่มนี้จึงมี ๗ ยมก

เล่ม ๓๙ ยมก ภาค ๒ ถามตอบอธิบายหลักธรรมเพิ่มเติมจากภาค ๑ อีก ๓ เรื่อง คือ จิตตยมก ธรรมยมก (กุศล-อกุศล-อัพยากตธรรม) อินทรียยมก บรรจบเป็น ๑๐ ยมก

เล่ม ๔๐ ปัฏฐาน ภาค ๑ คัมภีร์ปัฏฐานอธิบายปัจจัย ๒๔ โดยพิสดาร แสดงความสัมพันธ์อิงอาศัย เป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแง่ด้านต่างๆ ธรรมที่นำมาอธิบายก็คือข้อธรรม ที่มีในมาติกา คือแม่บทหรือบทสรุปธรรม ซึ่งกล่าวไว้แล้วในคัมภีร์สังคณีนั่นเอง แต่อธิบายเฉพาะ ๑๒๒ มาติกา แรกที่เรียกว่า อภิธรรมมาติกา ปัฏฐานเล่มแรกนี้ อธิบายความหมายของปัจจัย ๒๔ เป็นการปูพื้น ความเข้าใจเบื้องต้นก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อหาของเล่ม คือ อนุโลมติกปัฏฐาน อธิบายความ เป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โดยปัจจัย ๒๔ นั้น เช่นว่า กุศลธรรม เป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย (เพราะศรัทธา จึงให้ทาน จึงสมาทานศีล จึงบำเพ็ญฌาน จึงเจริญวิปัสสนา ฯลฯ) กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (คิดถึงทานที่ตน ได้ให้ ศีลที่ได้รักษาแล้ว ดีใจ ยึดเป็นอารมณ์แน่นหนาจนเกิดราคะ ทิฏฐิ, มีศรัทธา มีศีล มีปัญญา แล้วเกิดมานะว่า ฉันดีกว่า เก่งกว่า หรือเกิดทิฏฐิว่า ต้องทำอย่างเรานี้เท่านั้นจึงถูกต้อง ฯลฯ) อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย (เพราะความอยากบางอย่าง หรือเพราะมานะ หรือทิฏฐิ จึงให้ทาน จึงรักษาศีล จึงทำฌานให้เกิด ฯลฯ) กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรม โดย อารัมมณปัจจัย (คิดถึงฌานที่ตนเคยได้แต่มาเสื่อมไปเสียแล้ว เกิดความโทมนัส ฯลฯ) อย่างนี้ เป็นต้น (เล่มนี้อธิบายแต่ในเชิงอนุโลมคือตามนัยปกติ ไม่อธิบายตามนัยปฏิเสธ จึงเรียกว่าอนุโลม ปัฏฐาน)

เล่ม ๔๑ ปัฏฐาน ภาค ๒ อนุโลมติกปัฏฐาน ต่อ คือ อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย ในแม่บทชุด ๓ ต่อจาก เล่ม ๔๐ เช่น อดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่ปัจจุบันธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (พิจารณารูปเสียงเป็นต้น ที่ดับเป็นอดีตไปแล้วว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความ โทมนัสขึ้น ฯลฯ) เป็นต้น

เล่ม ๔๒ ปัฏฐาน ภาค ๓ อนุโลมทุกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย ในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) เช่น โลกียธรรมเป็นปัจจัยแก่โลกียธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (รูปายตนะ เป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ฯลฯ) ดังนี้ เป็นต้น

เล่ม ๔๓ ปัฏฐาน ภาค ๔ อนุโลมทุกปัฏฐาน ต่อเล่ม ๔๔ ปัฏฐาน ภาค ๕ ยังเป็นอนุโลมปัฏฐาน แต่อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทต่างๆ ข้ามชุดกันไปมา ประกอบด้วย อนุโลมทุกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) เช่น อธิบาย "กุศลธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรม เป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม ที่เป็นโลกียธรรม โดยอธิปติปัจจัย" เป็นอย่างไร เป็นต้น อนุโลมติกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) อนุโลมติกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน เช่นอธิบายว่า "กุศลธรรมที่เป็นอดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่ อกุศลธรรม ที่เป็นปัจจุบันธรรม" เป็นอย่างไร เป็นต้น อนุโลมทุกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับธรรมในบทชุด ๒ (ทุกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน เช่นชุดโลกียะ โลกุตตระ กับชุดสังขตะอสังขตะ เป็นต้น

เล่ม ๔๕ ปัฏฐาน ภาค ๖ เป็นปัจจนียปัฏฐาน คืออธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย อย่างเล่มก่อนๆ นั่นเอง แต่อธิบายแง่ปฏิเสธ แยกเป็น ปัจจนียปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+ปฏิเสธ เช่นว่า ธรรมที่ไม่ใช่กุศล อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศลเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน คือ อนุโลม+ปฏิเสธ เช่นว่า อาศัยโลกิยธรรม ธรรมที่ไม่ใช่โลกุตตรธรรมเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+อนุโลม เช่นว่า อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศลธรรม ที่เป็นอกุศล เกิดขึ้น โดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร และในทั้ง ๓ แบบนี้ แต่ละแบบ จะอธิบายโดย ใช้ธรรมในแม่บทชุด ๓ แล้วต่อด้วยชุด ๒ แล้วข้ามชุดระหว่างชุด ๒ กับชุด ๓  ชุด ๓ กับชุด ๒  ชุด ๓ กับชุด ๓  ชุด ๒ กับชุด ๒ จนครบทั้งหมดเหมือนกัน ดังนั้นแต่ละแบบจึงแยกซอยละเอียด ออกไปเป็น ติก ทุก ทุกติก ติกทุก ติกติก ทุกทุก ตามลำดับ (เขียนให้เต็มเป็น ปัจจนียติกปัฏฐาน ปัจจนียทุกปัฏฐาน ปัจจนียทุกติกปัฏฐาน ฯลฯ ดังนี้เรื่อยไป จนถึงท้ายสุดคือ ปัจจนียานุโลม ทุกทุกปัฏฐาน)

คัมภีร์ปัฏฐานนี้ ท่านอธิบายค่อนข้างละเอียดเฉพาะเล่มต้นๆ เท่านั้นเล่มหลังๆ ท่านแสดงไว้แต่ หัวข้อหรือแนว และทิ้งไว้ให้ผู้เข้าใจแนวนั้นแล้วเอาไปแจกแจงโดยพิสดารเอง โดยเฉพาะ เล่มสุดท้ายคือภาค ๖ แสดงไว้ย่นย่อที่สุด แม้กระนั้นก็ยังเป็นหนังสือถึง ๖ เล่ม หรือ ๓,๓๒๐ หน้ากระดาษพิมพ์ ถ้าอธิบายโดยพิสดารทั้งหมดจะเป็นเล่มหนังสืออีกจำนวนมากมายหลายเท่าตัว ท่านจึงเรียกปัฏฐานอีกชื่อหนึ่งว่า "มหาปกรณ์" แปลว่า ตำราใหญ่ ใหญ่ทั้งโดยขนาด และโดยความสำคัญ

พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า พระไตรปิฎกมีเนื้อความทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

(คัดลอกจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2545)  
                          

พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์