เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
  ประวัติบุคคล และสถานที่ ในสมัยพุทธกาล
ค้นหาคำที่ต้องการ           

  กุสินารา 204 Next


กุสินารา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กุสินารา หรือ กุศินคร (ฮินดี: कुशीनगर, อูรดู: کُشی نگر ‎, อังกฤษ: Kusinaga, Kushinagar) เป็นที่ตั้งของสังเวชนียสถาน แห่งที่ 4 ในสมัยพุทธกาล เป็นเมืองเอกหนึ่งในสอง ของแคว้นมัลละ อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำคู่กับเมือง ปาวา เป็นที่ตั้งของ สาลวโนทยาน หรือ ป่าไม้สาละ ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

กุสินาราจัดเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งที่ 4 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานแห่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือกาเซีย หรือกาสยา (Kushinaga; Kasia; Kasaya) ในเขตจังหวัดเทวริยา (Devria; Devriya) รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สาลวโนทยาน สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฎ (Matha-Kunwar-Ka-Kot) ซึ่งแปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ ปรากฏตามคัมภีร์ว่า เมืองนี้เคยเป็นที่ปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ เป็นที่เกิดบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์หลายครั้ง เคยเป็นราชธานีนามว่ากุสาวดี ของพระเจ้ามหาสุทัสสนจักรพรรดิ์

ปัจจุบันกุสินารา มีอนุสรณ์สถานที่สำคัญคือสถูปใหญ่ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วิหารปรินิพพาน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ปางปรินิพพานอยู่ภายใน และมีซากศาสนสถานโบราณโดยรอบมากมาย

กุสินาราในสมัยพุทธกาล
ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินาราอันเป็นที่ตั้งของสาลวโนทยานอยู่ในแคว้นมัลละ 1 ใน 16 แคว้น ซึ่งเป็นเขตการปกครองสมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นแคว้นมัลละแยกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายเหนือมีเมืองกุสินาราเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "โกสินารกา" และฝ่ายใต้มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "ปาเวยยมัลลกะ"

ทั้งสองเมืองนั้นตั้งอยู่ห่างกันเพียง 12 กิโลเมตร มีอำนาจในการบริหารแยกจากกัน โดยมีระบอบ การปกครองแบบราชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญ (สามัคคีธรรม) โดยมีแม่น้ำหิรัญญวดีคั่นตรงกลาง กุสินารานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาล จัดว่าเป็นแคว้นเล็ก ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในด้านเศรษฐกิจ ดังที่พระอานนท์ได้ทูลทักท้วงพระพุทธองค์ ที่ทรงเลือกเมืองกุสินารา เป็นสถานที่ปรินิพพานไว้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์อย่าเสด็จปรินิพพาน ในเมืองดอนในฐานะเมืองกิ่งนี้เลย เมืองอื่นอันมีขนาดใหญ่กว่านี้ยังมีอยู่คือ จัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต โกสัมพี พาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงเสด็จดับขันธปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์ผู้มีอำนาจ พราหมณ์ผู้มีบารมี เศรษฐีคหบดีผู้มั่งคั่ง ที่เลื่อมใสในพระองค์มีมากในเมืองเหล่านี้ ท่านผู้มีอำนาจเหล่านั้นจักได้กระทำการบูชาพระสรีระของตถาคต

สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า "อุปวตฺตนสาลวนํ" หรือ อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น ซึ่งหลังการปรินิพพาน ของพระพุทธองค์แล้ว กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ 8 แห่งพุทธปรินิพพาน

การที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินาราอันเป็นเมืองเล็กแห่งนี้เป็นสถานที่ปรินิพพาน มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญ คือ ทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระสรีระและพระบรมสารีริกธาตุ ของพระองค์จักถูกแว่นแคว้นต่าง ๆ แย่งชิงไปทำการบูชา หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้น อาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองเล็ก ๆ เช่น เมืองกุสินารา เป็นต้น ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะหลังพระพุทธองค์ ปรินิพพาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตน มาล้อมเมืองกุสินารา เพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึก โดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม

กุสินาราหลังพุทธปรินิพพาน

หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เมืองกุสินารา กลายเป็นเมืองสำคัญศูนย์กลาง แห่งการสักการบูชาของ พุทธศาสนิกชน เหล่ามัลลกษัตริย์ได้สร้างเจดีย์ และวิหารเป็นจำนวนมากไว้รอบ ๆ สถูปใหญ่คือ มหาปรินิพานสถูป อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า มหาสถูปนี้ ได้กลายเป็นศูนย์กลาง ของปูชนียสถานอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณนั้น

ต่อมาเมื่อแคว้นมัลละได้ตกอยู่ในความอารักขาของแคว้นมคธ (ซึ่งในขณะนั้นมีเมืองปาตลีบุตร เป็นเมืองหลวง) สาลวโนทยานยังคงเป็นสถานที่สำคัญอยู่ แต่อยู่ในสภาพที่ไม่รุ่งเรืองนัก ดังในทิพยาวทาน ได้พรรณาไว้ว่า

“พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาจาริกแสวงบุญยังกุสินารา ประมาณ พ.ศ. 310 ทรงบริจาค พระราชทรัพย์ 100,000 กหาปณะ เพื่อเป็นค่าสร้างสถูป เจดีย์ และเสาศิลา พระเจ้าอโศก เมื่อทรงทราบชัดว่า ณ จุดนี้เป็นสถานที่ พระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จ ดับขันธ ปรินิพพาน พระองค์ถึงกับทรงสลดพระทัย โศกเศร้า ถึงเป็นลมสิ้นสติสมปฤดี”

หลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วงปี พ.ศ. 942 - 947 ในช่วงรัชสมัยของ พระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 (พระเจ้าวิกรมาทิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้พรรณาไว้ว่า

เมื่อมาถึงกุสินารา มีแต่เมืองที่ทรุดโทรม หมู่บ้านเป็นหย่อม ๆ ห่างกันไป โบสถ์ วิหาร และปูชนียวัตถุ ปรักหักพังโดยมาก สังฆารามที่ควรเป็นที่อยู่อาศัยก็ไม่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ ได้เห็นศิลาจารึกพระเจ้าอโศก 2 หลัก ปักปรากฏอยู่ 2 แห่งในอุทยานสาลวัน จารึกนั้นบอกว่า "ณ ที่นี้ เป็นสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์ ”

บันทึกของ พระถังซำจั๋ง (Hiuen-Tsang) ​ซึ่งได้จาริกมาเมืองกุสินาราราวปี พ.ศ. 1300 ได้พรรณาไว้ ในจดหมายเหตุของท่านว่า

จุนทสถูป บนที่ตั้งของ บ้านนายจุนทะ อันเป็นสถานที่พระพุทธเจ้า เสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้าย ก่อนปรินิพพาน

“ ..เมืองกุสินาราเต็มไปด้วยป้อมปราการ หอสูง และสังฆาราม อยู่ห่างจากเมืองเวสาลี 19 โยชน์ กุสินารา เป็นเมืองหลวงของมัลละกษัตริย์ อยู่ในสภาพปรักหักพัง มองเห็นตัวเมือง และหมู่บ้านเป็นสถานที่รกร้าง หาคนอยู่ อาศัยมิได้ กำแพงเมืองเก่าที่ก่อไว้โดยอิฐ มองดูโดยรอบ ยาวประมาณ 1 ลี้ มีคนอาศัยอยู่ในกำแพงเมืองเก่า เพียงเล็กน้อย ตามถนนสายเล็ก ๆ ของเมืองเป็นที่ร้าง...

ประตูทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง มีสถูปแห่งหนึ่ง เหลือแต่ซาก มีหลักฐานว่าผู้สร้างคือ พระเจ้าอโศกมหาราช สถานที่แห่งนี้เป็นซากบ้าน ของ นายจุนทะบุตร ของนายช่างทอง (จุนทะกัมมารบุตร)

คนที่ได้ถวายภัตตาหารครั้งสุดท้ายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลางหมู่บ้าน มีบ่อแห่งหนึ่ง เป็นบ่อ ที่ขุดฝังอาหาร ที่เหลือจากเศษเสวยของพระพุทธองค์ และพระพุทธองค์รับสั่ง ให้ฝังเสีย ไม่ทรงยอมให้ภิกษุอื่นบริโภค น้ำในบ่อนั้น ล่วงเลยมานานเพียงใดก็ดี ก็ยังมีน้ำ สะอาดใสอยู่เสมอ... ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง ห่างไป 3-4 ลี้ เราข้ามแม่น้ำ อชิตวดี ไปทางตะวันตกของแม่น้ำนั้น

ไม่ไกลนักเป็นสาลวโนทยาน มีไม้สาละขึ้นเป็นหมู่ใหญ่ ลักษณะของไม้เป็นเปลือกสีขาว ส่วนใบสะอาดเป็นเงา ไม่มีขรุขระ ในป่าไม้สาละนั้น มีสาละใหญ่อยู่ 4 ต้น ที่มีลักษณะ ใหญ่กว่าไม้อื่น ๆ ... ในสาลวโนทยาน มีสถูปแห่งหนึ่งเหลือแต่ซาก มีหลักฐานว่าสร้างโดย พระเจ้าอโศก ทางตะวันออกเฉียงเหนือมีแม่น้ำหิรัญญวดี (ในบันทึกบอกว่าอชิตวดี) มีน้ำเปี่มอยู่ มีไม้สาละขึ้นอยู่เต็มทั้งป่า วิหารใหญ่ก่ออิฐถือปูน มีพระพุทธรูปไสยาสน์ ปางปรินิพพาน หันเศียรไปทางทิศเหนือ มีลักษณะเหมือนบรรทมหลับ

ข้าง ๆ มีสถูปใหญ่ มีจารึกว่า พระเจ้าอโศก มหาราช เป็นผู้สร้าง แม้จะทรุดโทรม แต่ก็ยังเหลือ ความสูงถึง 200 ฟุต ข้างสถูปมีศิลาจารึกว่า ที่นี่ เป็นที่เสด็จ ดับขันธปรินิพพาน ของพระตถาคต...

ทางทิศเหนือของเมืองกุสินารา (ในมหาปรินิพพานสูตรว่าทางทิศตะวันออก) เราเดิน ข้ามแม่น้ำสายหนึ่ง เดินไปประมาณ 300 ก้าว ได้พบพระสถูปองค์หนึ่ง สถานที่นี้เป็นสถานที่ ถวายพระเพลิง พระพุทธสรีระ พื้นดินตรงที่ถวายพระเพลิง บางแห่งเป็นสีเหลืองปนดำ บางแห่งร่วนเหมือนกับถ่านไฟ ใครก็ตาม เมื่อจาริกแสวงบุญ มาถึงสถานที่ถวายพระเพลิง พระพุทธสรีระแห่งนี้ ถ้าตั้งจิตให้เป็นสมาธิ สาธยายมนต์ บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านั้นก็จะเสด็จมาสู่ตน...

จนในพุทธศตวรรษที่ 14-15 ราชวงศ์สกลจุรีได้เข้ามาสร้างวัดขึ้น ในบริเวณสาลวโนทยาน จำนวนมาก จนพระพุทธศาสนา ได้หมดจากอินเดียไปใน พ.ศ. 1743 ทำให้สถานะ ของพระพุทธศาสนา ในกุสินารา ถูกปล่อยทิ้งร้าง และกลายเป็นป่ารกทึบ จนใน พ.ศ. 2433 ภิกษุมหาวีระ สวามี และท่านเทวจันทรมณี ชาวศรีลังกา เดินทางมายังกุสินารา และเริ่มอุทิศตัวในการฟื้นฟู พุทธสถานแห่งนี้ร่วมกับเนซารี ชาวพุทธพม่า จนได้สร้างวัดขึ้น ใหม่ชื่อว่า "มหาปรินิวานะ ธรรมะศาลา"

ในปี พ.ศ. 2397 นายวิลสัน นักโบราณคดีอังกฤษ ได้ทำการพิสูจน์ขั้นต้นว่าหมู่บ้านกาเซีย คือกุสินารา จนในปี พ.ศ. 2404-2420 เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ได้เริ่มทำการ ขุดค้นเนินดินในสาลวโนทยาน จนในปี พ.ศ. 2418-2420 นายคาร์ลลีเล่ หนึ่งในผู้ช่วย ในทีมขุดค้นของท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ ได้ทำการขุดค้นต่อจนได้พบ พระพุทธรูปปาง ปรินิพพาน วิหารปรินิพพาน และสถูปจำนวนมากที่ผู้ศรัทธาได้สร้างไว้ในอดีต เมื่อครั้ง พระพุทธศาสนา ยังรุ่งเรือง โดยนายคาร์ลลีเล่ เป็นท่านแรกที่เอาใจใส่ในงานบูรณะ และรักษาคุ้มครอง พระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ขุดพบ

จากนั้น นับแต่ พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา กุสินาราได้เริ่มมีผู้อุปถัมภ์ ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ เข้ามาสร้างวัด และสิ่ง อำนวยความสะดวกแก่ผู้จาริกแสวงบุญ ที่เริ่มเข้ามาสักการะ มหาสังเวชนียสถานแห่งนี้ จนในปี พ.ศ. 2498 รัฐบาลอินเดีย ได้ตั้งคณะกรรมการ เพื่อพัฒนาปูชนัยสถานแห่งนี้ เพื่อเตรียมเฉลิมฉลอง 25 พุทธชยันตี โดยได้รื้อ โครงสร้างวิหาร ปรินิพพานเก่า (ที่ได้รับการบูรณะสร้างใหม่) ออกเพื่อสร้าง มหาปรินิพพานวิหารใหม่ เพื่อให้เหมาะสม กับโครงสร้าง และสามารถรองรับ พุทธศานิกชนได้ ในปี พ.ศ. 2499 จนในปี พ.ศ. 2507 วิหารได้พังลงมา ทางการอินเดียจึงบูรณะสร้างขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. 2518 และทางการอินเดีย และพุทธศาสนิกชน ก็ได้มีส่วนร่วมในการบูรณะกุสินารา จนมีสภาพสวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

จุดแสวงบุญและสภาพของกุสินาราในปัจจุบัน

ปัจจุบันกุสินาราได้รับการบูรณะ และมีปูชนียวัตถุสำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะคือ "สถูปปรินิพพาน" เป็นสถูปแบบทรงโอคว่ำที่เป็นทรงพระราชนิยม ในสมัยพระเจ้าอโศก มหาราช สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช บนสถูปมียอมมน มีฉัตรสามชั้น "มหาปรินิพพานวิหาร" ตั้งอยู่ด้านหน้าในฐานเดียวกันกับสถูปปรินิพพาน ภายในประดิษฐาน พระพุทธรูป ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (คือพระพุทธรูปนอนบรรทมตะแคงเบื้องขวา) ศิลปะมถุรา มีอายุกว่า 1,500 ปี ในจารึกระบุผู้สร้างคือ หริพละสวามี โดยนายช่างชื่อ ทินะ ชาวเมืองมถุรา

ในปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ ถือได้ว่าเป็นจุดหมายสำคัญที่ชาวพุทธจะมาสักการะ เพราะเป็น พระพุทธรูป ที่มีพุทธลักษณะ อันพิเศษคือเหมือนคนนอนหลับธรรมดา แสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ ได้เสด็จดับขันธ ปรินิพพาน จากไป อย่างผู้หมดกังวลในโลกทั้งปวง

"มกุฏพันธนเจดีย์" อยู่ห่างจากปรินิพพานสถูปไปทางทิศตะวันออก 1 กิโลเมตร ชาวท้องถิ่น เรียก รัมภาร์สถูป เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ มีสภาพเป็นเนินดิน ก่อด้วยอิฐ ขนาดใหญ่ ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมไว้อย่างดี

ปัจจุบันชาวพุทธทั่วโลกได้มาก่อสร้างวัดไว้มากมาย โดยมีวัดของไทยด้วย ชื่อ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ปัจจุบันชาวไทยที่มาสักการะ ณ กุสินารา นิยมมาพักที่นี่


พระพุทธรูปปางมหาปรินิพพาน ในพระวิหารแห่งมหาปรินิพพานสถูป


มหาปรินิพพานวิหาร ภายในสาลวโนทยาน


สถานที่สันนิษฐานว่าเป็นที่โทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุ
แก่เจ้าผู้ครองนครทั้ง 8 ในกุสินารานคร  


จุนทสถูป บนที่ตั้งของบ้านนายจุนทะ อันเป็นสถานที่พระพุทธเจ้า
เสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายก่อนปรินิพพาน


สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระพระพุทธเจ้าเป็นเวลา 7 วัน ก่อนอัญเชิญไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ


มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า


ภาพสีพระพุทธเจ้าปรินิพพาน บนแผ่นผ้า



 
 
 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์