เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 วิชชา ๘ (ญาณ ๘) ความรู้ที่ทำให้รู้จักการหลุดพ้น การดับทุกข์ 850
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

วิชชา ๘ (ญาณ ๘) ความรู้ที่ทำให้รู้จักการหลุดพ้น การดับทุกข์
(๑) วิปัสสนาญาณ (ญาณที่เกิดจากวิปัสสนา เช่นเห็นการเกิดดับ)
(๒) มโนมยิทธิญาณ (ฤทธิ์ทางใจ)
(๓) อิทธิวิธญาณ (มีฤทธิ์ เช่นเดินบนน้ำ)
(๔) ทิพยโสตญาณ (หูทิพย์ ได้ยินเสียงมนุษย์และเทวดา)
(๕) เจโตปริยญาณ (รู้ใจคนอื่น รู้ความคิด)
(๖) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติในอดีตได้หลายชาติ)
(๗) จุตูปปาตญาณ (ตาทิพย์ รู้เหตุการเกิด การตายของสัตว์)
(๘) อาสวักขยญาณ (ญาณที่ทำให้จิตหลุดพ้น)



 
 


ฉบับหลวง (ไทย) เล่มที่ ๙ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค หน้าที่ ๗๒


วิชชา ๘


(๑) วิปัสสนาญาณ

                [๑๓๑] ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ ญาณทัสนะ  เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูปประกอบด้วยมหาภูต  ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสดไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดาและวิญญาณของเรานี้ ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้

ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใสแวววาวสมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียวเหลืองแดงขาว หรือ นวลร้อยอยู่ในนั้น บุรุษมีจักษุจะพึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณาเห็นว่า แก้วไพฑูรย์นี้งาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใสแวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียวเหลืองแดงขาวหรือนวลร้อยอยู่ในแก้วไพฑูรย์นั้น ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แลมีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายกระจัดกระจาย เป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ข้อก่อนๆ.

(๒) มโนมยิทธิญาณ

                [๑๓๒] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจาก อุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิต รูปอันเกิดแต่ใจ คือนิรมิตรกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง

ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาจะพึงคิดเห็น อย่างนี้ว่า นี้หญ้าปล้อง นี้ไส้ หญ้าปล้องอย่างหนึ่ง ไส้อย่างหนึ่ง ก็แต่ไส้ชักออกจากหญ้าปล้องนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงชักดาบออกจากฝัก เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้ดาบ นี้ฝัก ดาบอย่างหนึ่ง ฝักอย่างหนึ่ง ก็แต่ดาบชักออกจากฝักนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักงู ออกจากคราบ เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้งู นี้คราบ งูอย่างหนึ่ง คราบอย่างหนึ่ง ก็แต่งูชักออกจากคราบนั่นเอง ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ เธอย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูป อันเกิดแต่ใจ คือนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.

(๓) อิทธิวิธญาณ

                [๑๓๓] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจาก อุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ อิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็น คนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่าง ก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตก เหมือนเดินบนแผ่นดิน ก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มี อานุภาพมาก ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอด พรหมโลกก็ได้

ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือของช่างหม้อผู้ฉลาด เมื่อนวดดิน ดีแล้ว ต้องการภาชนะชนิดใดๆ พึงทำภาชนะชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือน ช่างงา หรือลูกมือของช่างงาผู้ฉลาด เมื่อแต่งงาดีแล้ว ต้องการ เครื่องงา ชนิดใดๆ พึงทำเครื่องงาชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้

อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างทองหรือลูกมือของช่างทองผู้ฉลาด เมื่อหลอมทอง ดีแล้ว ต้องการทองรูปพรรณชนิดใดๆ พึงทำทองรูปพรรณชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ ฉันใด ภิกษุ ก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี

เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียว ก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไป ในที่ว่าง ก็ได้ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดิน บนแผ่นดินก็ได้ เหาะไป ในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมาก ด้วยฝ่ามือก็ได้ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผล ที่เห็นประจักษ์ ข้อก่อนๆ.

(๔) ทิพยโสตญาณ

                [๑๓๔] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจาก กิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อ ทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกล และใกล้ด้วยทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์

ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล เขาจะพึงได้ยินเสียงกลองบ้าง เสียง ตะโพนบ้าง เสียงสังข์บ้าง เสียงบัณเฑาะว์บ้าง เสียงเปิงมางบ้าง เขาจะพึง เข้าใจว่า เสียงกลองดังนี้บ้าง เสียงตะโพนดังนี้บ้าง เสียงสังข์ดังนี้บ้าง เสียงบัณเฑาะว์ ดังนี้ บ้าง เสียงเปิงมางดังนี้บ้าง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผล ที่เห็นประจักษ์ ข้อก่อนๆ.

(๕) เจโตปริยญาณ

                [๑๓๕] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจาก อุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโต ปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิต มีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิต ปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิต ปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่า จิตฟุ้งซ่าน จิตเป็น มหรรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรรคต หรือจิตไม่เป็นมหรรคต จิตมีจิตอื่น ยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่น ยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็น สมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนหญิงสาวชายหนุ่มที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้า ของตนในกระจกอันบริสุทธิ์สะอาด หรือในภาชนะน้ำอันใส หน้ามีไฝ ก็จะพึงรู้ว่า หน้ามีไฝ หรือหน้าไม่มีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้าไม่มีไฝ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิต เป็นสมาธิบริสุทธิ์ ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจ ของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่น ด้วยใจ คือจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะหรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่านจิตเป็นมหรรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรรคต หรือจิตไม่เป็น มหรรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่น ยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้นหรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.

(๖) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

                [๑๓๖] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจาก อุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ บุพเพนิวาสานุสสติญาณเธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้างสี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตร อย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อน ได้เป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงจาก บ้านตนไปบ้านอื่น แล้วจากบ้านนั้น ไปยังบ้านอื่นอีก จากบ้านนั้นกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิมเขาจะพึงระลึกได้อย่างนี้ว่า เราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้น ในบ้านนั้น เราได้ยืนอย่างนั้นได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น เราได้จากบ้านแม้นั้นไปยังบ้านโน้น แม้ในบ้านนั้นเรา ก็ได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น แล้วเรากลับจาก บ้านนั้น มาสู่บ้านของตนตามเดิม ดังนี้ ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อบุพเพนิวาสา นุสสติญาณ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้นเสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียง เท่านั้น

ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้นแม้ในภพนั้นเราก็มีชื่อนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียง เท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้ เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรมหาบพิตรนี้แหละ สามัญผล ที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ข้อก่อนๆ.

(๗) จุตูปปาตญาณ

                [๑๓๗] ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจาก อุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกาย ทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำ ด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต  วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก

เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม

ด้วยประการฉะนี้ เปรียบเหมือนปราสาทตั้งอยู่ ณ ทาง ๓ แพร่งท่ามกลางพระนคร บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนปราสาทนั้น จะพึงเห็นหมู่ชนกำลังเข้าไปสู่เรือนบ้าง กำลัง ออกจากเรือนบ้าง กำลังสัญจรเป็นแถวอยู่ในถนนบ้าง นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่งท่ามกลาง พระนครบ้าง เขาจะพึงรู้ว่า คนเหล่านี้เข้าไปสู่เรือน เหล่านี้ออกจากเรือนเหล่านี้ สัญจรเป็นแถวอยู่ในถนน เหล่านี้นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่งท่ามกลางพระนคร ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงานตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติ และ อุปบัติ ของสัตว์ ทั้งหลายเธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณ ทราม ได้ดีตกยากด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัด ซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่าสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์ เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็น สัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจ สัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้

เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติเลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไป ตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.

(๘) อาสวักขยญาณ

                [๑๓๘] ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจาก อุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ อาสวักขยญาณย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคา มินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้ อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินี ปฏิปทา

เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จาก อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว.

รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มี.

ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขาใสสะอาด ไม่ขุ่นมัวบุรุษ ผู้มีจักษุ ยืนอยู่บนขอบสระนั้น จะพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวด และ ก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำ เขาจะพึงคิดอย่างนี้ ว่าสระน้ำนี้ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบต่างๆบ้าง ก้อนกรวด และ ก้อนหิน บ้าง ฝูงปลาบ้าง เหล่านี้กำลังว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้น ดังนี้ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงานตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทา เหล่านี้ อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา

เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะแม้จากภวาสวะ แม้จาก อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรมหาบพิตร นี้แหละ สามัญผล ที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่า สามัญผล ที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ

ดูกรมหาบพิตร ก็สามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้ออื่น ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผล ที่เห็นประจักษ์ข้อนี้ ย่อมไม่มี.

                [๑๓๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหีบุตร ได้กราบทูลพระดำรัสนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีป ในที่มืดด้วยคิดว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด

พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระผู้มี พระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โทษได้ครอบงำหม่อมฉัน ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด หม่อมฉันได้ปลง พระชนมชีพ พระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับทราบความผิดของ หม่อมฉัน โดยเป็นความผิดจริง เพื่อสำรวม ต่อไป.

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า จริง จริง ความผิดได้ครอบงำมหาบพิตรซึ่งเป็นคนเขลา คนหลงไม่ฉลาด มหาบพิตรได้ปลงพระชนมชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชา โดยธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่ แต่เพราะมหาบพิตรทรงเห็นความผิด โดยเป็นความผิดจริงแล้ว ทรงสารภาพตามเป็นจริง ฉะนั้น อาตมภาพ ขอรับทราบ ความผิดของมหาบพิตร ก็การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริง แล้วสารภาพตามเป็นจริงรับสังวรต่อไป นี้เป็นความชอบในวินัยของพระอริยเจ้าแล.

                [๑๔๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอได้กราบทูลลาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้นหม่อมฉันขอทูลลาไปในบัดนี้ หม่อมฉันมีกิจมาก มีกรณียะมาก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ขอมหาบพิตรทรงสำคัญเวลา ณ บัดนี้เถิด. ครั้งนั้นแล พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร ทรงเพลิดเพลินยินดี ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำประทักษิณแล้วเสด็จไป.

เมื่อท้าวเธอเสด็จไปไม่นานพระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชาพระองค์นี้ถูกขุดเสียแล้วพระราชาพระองค์นี้ถูกขจัดเสียแล้ว  หากท้าวเธอ จักไม่ปลงพระชนมชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรมไซร้ ธรรมจักษุ ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน จักเกิดขึ้นแก่ท้าวเธอ ณ ที่ประทับนี้ทีเดียว. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำเป็นไวยากรณ์นี้แล้ว.

ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล.

จบสามัญญผลสูตร ที่ ๒.

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์