เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ       

 
สุตตนิบาต ปรายนวรรคที่ ๕ วัตถุกถา พราหมณ์พาวรี พาพราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน
  เข้าเฝ้าฯ เพื่อถามปัญหา
718
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

พราหมณ์พาวรี
พาพราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อถามปัญหา


 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต หน้าที่ ๓๙๑- ๔๑๕


สุตตนิบาต ปรายนวรรคที่ ๕
สรุปย่อ (ในส่วนคำถามของพราหมณ์)


พราหมณ์พาวรี พาพราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อถามปัญหา คือ อชิตะ ๑ ติสสเมตเตยยะ ๑ ปุณณกะ ๑ เมตตคู ๑ โธตกะ ๑ อุปสีวะ ๑นันทะ ๑ เหมกะ ๑ โตเทยยะ ๑ กัปปะ ๑ ชตุกัณณี ๑ ภัทราวุธะ ๑ อุทยะ ๑ โปสาล ๑โมฆราช ๑ ปิงคิยะ๑

   
อชิต ปัญหาที่ ๑

อชิตมาณพ : โลกคือหมู่สัตว์อันอะไรหุ้มห่อไว้.. โลกย่อมไม่แจ่มแจ้งเพราะอะไร.. อะไรเป็นเครื่องฉาบ ทาโลกไว้.. อะไรเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้นฯ
พระผู้มีพระภาค โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะความตระหนี่ (เพราะความประมาท) เรากล่าวตัณหา ว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้

อชิตมาณพ กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแส ทั้งหลาย
พระผู้มีพระภาค เรากล่าว “สติ“ ว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้น อันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญาฯ

อชิตมาณพ ปัญญา สติ และนามรูป ธรรมทั้งหมดนี้ย่อมดับไป ณ ที่ไหน
ดูกรอชิตะ นามและรูปย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด..สติและปัญญานี้ย่อมดับไป ณ ที่นั้น... เพราะความดับแห่ง วิญญาณฯ

อชิตมาณพ ชนเหล่าใดผู้มีธรรมอันพิจารณาเห็นแล้ว และชนเหล่าใดผู้ยังต้อง ศึกษาอยู่ เป็นอันมากมีอยู่ในโลกนี้
พระผู้มีพระภาค ภิกษุไม่กำหนัดยินดีในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรม ทั้งปวง มีสติ พึงเว้นรอบฯ


ติสสเมตเตยย ปัญหาที่ ๒

ติสสเมตเตยย ใครชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร ใครรู้ส่วนทั้งสอง(อดีตกับอนาคต)แล้วไม่ติดอยู่ ในส่วนท่ามกลาง(ปัจจุบัน) ด้วยปัญญา พระองค์ตรัสสรรเสริญใครว่า เป็นมหาบุรุษ ใครล่วงตัณหา เครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ฯ

ดูกรเมตเตยยะ ภิกษุเห็นโทษในกามทั้งหลาย แล้วประพฤติพรหมจรรย์ มีตัณหา ปราศไปแล้ว มีสติ ทุกเมื่อ พิจารณาเห็นธรรมแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชื่อว่าผู้ยินดี ในโลกนี้ ความหวั่นไหว ทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นรู้ซึ่งส่วนทั้งสองแล้ว ไม่ติดอยู่ ในส่วนท่าม กลางด้วยปัญญา เรากล่าวสรรเสริญภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้น ล่วงตัณหา เครื่องร้อยรัดในโลกนี้เสียได้ ฯ


ปุณณก ปัญหาที่ ๓

ปุณณก :  สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์พราหมณ์ เป็นอันมากอาศัยอะไร จึงบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ดูกรปุณณกะ สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นอันมากในโลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์ ปรารถนาความเป็นมนุษย์เป็นต้น จึงบูชายัญแก่เทวดา ทั้งหลายฯ

ปุณณกะ.สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น เป็นคนไม่ประมาทในยัญ ข้ามพ้น ชาติ และ ชราได้บ้างแลหรือ
ดูกรปุณณกะ สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น ย่อมมุ่งหวัง ย่อมชมเชย ย่อมปรารถนา ย่อมบูชา ย่อมรำพันถึงกาม ก็เพราะอาศัยลาภ เรากล่าวว่าสัตว์เหล่านั้น ประกอบการบูชา ยังเป็นคน กำหนัดยินดีในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติ และชราไปได้

ปุณณกะ ถ้าหากว่าสัตว์เหล่านั้นผู้ประกอบการบูชา ไม่ข้ามพ้นชาติ และชราไปได้ ด้วยยัญญวิธีทั้งหลายไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใคร เล่าในเทวโลก และ มนุษยโลก ข้ามพ้นชาติ และชราไปได้ในบัดนี้
ดูกรปุณณกะ ผู้ใดไม่มีความหวั่นไหว(ดิ้นรน)ในโลกไหนๆ เพราะได้พิจารณา เห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลกผู้นั้นสงบแล้ว ไม่มีความประพฤติชั่วอันจะทำให้ มัวหมอง ดุจควันไฟ ไม่มีกิเลสอันกระทบจิต หาความ (ปรารถนา) หวังมิได้ เรากล่าวว่า ผู้นั้นข้ามพ้นชาติ และชราไปได้แล้วฯ


เมตตคู ปัญหาที่ ๔

เมตตคู ข้าพระองค์สำคัญตนว่าทรงถึงเวท มีจิตอันอบรมแล้ว ความทุกข์เหล่าใด เหล่าหนึ่ง ในโลกเป็น อันมาก มีมาแล้วแต่อะไรฯ
ดูกรเมตตคู ท่านได้ถามเราถึงเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เราจะบอกเหตุนั้นแก่ท่าน ตามที่รู้ ความทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในโลก เป็นอันมาก ย่อมเกิดเพราะ อุปธิเป็นเหตุ ผู้ใดไม่รู้แจ้งย่อมกระทำอุปธิ ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคล มารู้ชัด เห็นชาติว่าเป็นเหตุเกิด แห่งทุกข์ไม่พึงกระทำอุปธิฯ

เมตตคู นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมข้ามโอฆะ คือ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะได้ อย่างไรหนอ
พ. ดูกรเมตตคู เราจักแสดงธรรมแก่ท่านในธรรมที่เราได้เห็นแล้ว เป็นธรรมประจักษ์ แก่ตนที่บุคคลทราบชัดแล้ว พึงเป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ ต่างๆ ในโลกเสียได้ฯ

เมตตคู ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ก็ข้าพระองค์ยินดีอย่างยิ่งซึ่งธรรม อันสูงสุด ที่บุคคลทราบชัดแล้ว เป็นผู้มีสติพึงดำเนิน ข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ ต่างๆ ในโลกเสียได้ฯ
พ. ดูกรเมตตคู ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่งในส่วนเบื้องบน (คืออนาคต) ในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) และแม้ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง (คือปัจจุบัน) จงบรรเทาความเพลิดเพลินและความยึดมั่นในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณ(ของท่าน) จะไม่พึงตั้งอยู่ในภพ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ได้รู้แจ้ง แล้วเที่ยวไปอยู่ ละความถือมั่นว่าของเราได้แล้ว พึงละทุกข์ คือ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะในอัตภาพนี้เสียฯ

เมตตคู ข้าพระองค์ยินดีอย่างยิ่งซึ่งพระวาจานี้ ของพระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้โคตมโคตรธรรมอันไม่มีอุปธิพระองค์ทรงแสดง ชอบแล้ว พระองค์ทรงละทุกข์ได้แน่แล้วเพราะว่าธรรมนี้ พระองค์ทรงรู้แจ้งชัดแล้วด้วยประการ นั้น
พ.ดูกรเมตตคู ท่านพึงรู้ผู้ใดว่าเป็นพราหมณ์ผู้ถึงเวท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวลไม่ติด ข้อง อยู่ใน กามภพ ผู้นั้นแลข้ามโอฆะนี้ได้แน่แล้ว ผู้นั้นข้ามถึงฝั่งแล้ว เป็นผู้ไม่มีตะปู คือ กิเลส ไม่มีความสงสัย นรชนนั้นรู้แจ้งแล้วแล เป็นผู้ถึงเวทในศาสนานี้ สละธรรม เป็นเครื่องข้องนี้ในภพน้อยและภพใหญ่(ในภพและมิใช่ภพ)เสียได้แล้ว เป็นผู้มีตัณหา ปราศไปแล้ว ไม่มี กิเลสอันกระทบจิต หาความหวังมิได้ เรากล่าวว่าผู้นั้นข้ามชาติ และชราได้แล้ว ฯ



โธตก ปัญหาที่ ๕

โธตกมาณพ ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ข้าพระองค์ปรารถนาอย่างยิ่งซึ่ง พระวาจาของพระองค์ ข้าพระองค์ได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว พึงศึกษาธรรม เป็นเครื่องดับกิเลสของตน ฯ
ดูกรโธตกะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงมีปัญญารักษาตน มีสติกระทำความเพียรในศาสนานี้เถิด ท่านจงฟังเสียงแต่สำนักของเรานี้แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตนเถิด ฯ

โธตก ข้าพระองค์เห็นพระองค์ ผู้เป็นพราหมณ์หากังวลมิได้ ทรงยังพระกายให้เป็นไป อยู่ในเทวโลก และมนุษยโลก ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบเพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะขอพระองค์จง ทรงปลด เปลื้อง ข้าพระองค์เสียจากความสงสัยเถิด ฯ
พ. ดูกรโธตกะ เราจักไม่อาจเพื่อจะปลดเปลื้องใครๆ ผู้ยังมีความสงสัยในโลก ให้พ้นไปได้ ก็ท่านรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐอยู่ จะข้ามโอฆะนี้ได้ด้วยอาการอย่างนี้ ฯ

โธตก ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพรหม ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาสั่งสอนธรรม เป็นที่สงัด กิเลส ที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แจ้ง และขอพระองค์ทรงพระกรุณาสั่งสอน ไม่ให้ข้า พระองค์ ขัดข้องอยู่เหมือนอากาศเถิด ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้นี่แหละ จะพึงเป็นผู้ไม่อาศัยแอบอิง เที่ยวไป ฯ
พ. ดูกรโธตกะ เราจักแสดงธรรมเครื่องระงับกิเลสแก่ท่าน ในธรรมที่เราได้เห็นแล้ว เป็นธรรมประจักษ์แก่ตน ที่บุคคลได้รู้แจ้งแล้วเป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหา อันซ่าน ไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้ ฯ

โธตก ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ก็ข้าพระองค์ยินดีอย่างยิ่ง ซึ่งธรรมเป็น เครื่องระงับกิเลสอันสูงสุด ที่บุคคลได้รู้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีสติพึงดำเนินข้ามตัณหา อันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้ ฯ
พ. ดูกรโธตกะ ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งในส่วนเบื้องบน (คืออนาคต) ทั้งในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) แม้ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง(คือปัจจุบัน) ท่านรู้แจ้ง สิ่งนั้นว่าเป็นเครื่องข้องอยู่ในโลกอย่างนี้แล้ว อย่าได้ทำตัณหาเพื่อภพน้อย และ ภพใหญ่ เลย


อุปสีว ปัญหาที่ ๖

อุปสีวมาณพ ข้าแต่พระองค์ผู้สมันตจักษุ ขอพระองค์จงตรัสบอกที่หน่วงเหนี่ยว อันข้าพระองค์พึง อาศัยข้ามห้วงน้ำ คือกิเลสนี้ แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ
ดูกรอุปสีวะ ท่านจงเป็นผู้มีสติ เพ่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ อาศัยอารมณ์ว่า ไม่มีดังนี้แล้ว ข้ามห้วงน้ำคือกิเลสเสียเถิด ท่านจงละกามทั้งหลายเสีย เป็นผู้เว้นจาก ความสงสัย เห็นธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาให้แจ่มแจ้ง ทั้งกลางวันกลางคืนเถิดฯ

อุปสีว ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวงละสมาบัติอื่นเสีย อาศัยอากิญ จัญญายตนสมาบัติ น้อมใจลงในสัญญาวิโมกข์ (คืออากิญจัญญายตนสมาบัติ ธรรมเปลื้องสัญญา)เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหวพึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตน พรหมโลกนั้นแลหรือฯ
พ. ดูกรอุปสีวะ ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวง ละสมาบัติ อื่นเสีย อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจลงใน สัญญาวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ ไม่หวั่นไหวพึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลก นั้น ฯ

อุปสีว ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว พึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้น สิ้นปี แม้มากไซร้ ผู้นั้นพึงพ้นจากทุกข์ ต่างๆ ในอากิญจัญญายตน พรหมโลกนั้นแหละ พึงเป็นผู้เยือกเย็น หรือว่าวิญญาณของผู้เช่นนั้น พึงเกิดเพื่อถือ ปฏิสนธิอีกฯ
พ. ดูกรอุปสีวะ มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ไม่ถึงการ นับเปรียบ เหมือนเปลวไฟอันถูกกำลังลมพัดไปแล้ว ย่อมถึงการตั้งอยู่ ไม่ได้ ไม่ถึงการนับฉะนั้นฯ

อุปสีว ท่านผู้นั้นถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ท่านผู้นั้นไม่มี หรือว่าท่านผู้นั้นเป็นผู้ไม่มีโรค ด้วยความเป็นผู้เที่ยง
พ. ดูกรอุปสีวะ ท่านผู้ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่มีประมาณ ชนทั้งหลายจะพึงกล่าว ท่านผู้นั้นด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้นใด กิเลสมีราคะ เป็นต้นนั้น ของท่านไม่มี เมื่อธรรม (มีขันธ์เป็นต้น)ทั้งปวง ท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว แม้ทางแห่งถ้อยคำทั้งหมด ก็เป็นอัน ท่านเพิกถอน ขึ้น ได้แล้ว ฯ


นันท ปัญหาที่ ๗

นันทะ มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก ชนทั้งหลายกล่าวบุคคลว่า เป็นมุนีนี้นั้น ด้วยอาการ อย่างไรหนอ ชนทั้งหลายกล่าว บุคคลผู้ประกอบ ด้วยญาณ หรือผู้ประกอบด้วย ความเป็นอยู่ ว่าเป็นมุนีฯ
ดูกรนันทะ ผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่กล่าวบุคคลว่าเป็นมุนี ด้วยความเห็น ด้วยความสดับ หรือด้วยความรู้ (ด้วยศีลและวัตร) ชนเหล่าใด กำจัด เสนามารให้พินาศแล้ว ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวไปอยู่ เรากล่าวชนเหล่านั้นว่าเป็นมุนีฯ

นันทะ สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งกล่าวความ บริสุทธิ์ด้วย ความเห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคล ตื่นข่าวเป็นต้น เป็นอันมากบ้าง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นประพฤติอยู่ ในทิฐิของตนนั้น ตามที่ตนเห็น ว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์ ข้ามพ้นชาติและชราได้บ้าง หรือไม่
พ. ดูกรนันทะ สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความบริสุทธิ์ด้วย ความเห็น บ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่นข่าว เป็นต้นเป็นอันมากบ้าง สมณพราหมณ์เหล่านั้นประพฤติอยู่ในทิฐิของตนนั้น ตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่อง บริสุทธิ์ก็จริง ถึงอย่างนั้น เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นข้ามพ้นชาติและชรา ไปไม่ได้ฯ

นันทะ สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยการเห็นบ้าง ด้วยการ ฟังบ้าง ด้วยศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอัน มากบ้าง ข้าแต่พระองค์ ผู้เป็นมุนี ถ้าพระองค์ตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นข้ามโอฆะไม่ได้แล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามพ้นชาติ และชราได้แล้วในบัดนี้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ จงตรัส บอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิดฯ
พ. ดูกรนันทะ เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมดอันชาติและชราหุ้มห่อ ไว้แล้ว แต่เรากล่าวว่า คนเหล่าใดในโลกนี้ ละเสียซึ่งรูปที่ได้เห็นแล้ว ก็ดี เสียงที่ได้ฟังแล้ว ก็ดีอารมณ์ที่ได้ทราบแล้วก็ดี ละเสียแม้ซึ่งศีล และพรตทั้งหมดก็ดี ละเสียซึ่งมงคล ตื่นข่าวเป็นต้น เป็นอันมากทั้งหมด ก็ดี กำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ คนเหล่านั้นแลข้าม โอฆะได้แล้วฯ

นันทะ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้โคดม ข้าพระองค์ยินดียิ่งซึ่งพระดำรัสของ พระองค์ผู้ แสวงหาคุณอันใหญ่ ธรรมอันไม่มีอุปธิ พระองค์ ทรงแสดงชอบแล้ว แม้ข้าพระองค์ ก็กล่าวว่า คนเหล่าใดในโลกนี้ ละเสียซึ่งรูป ที่ได้เห็นแล้วก็ดี เสียงที่ได้ฟังแล้วก็ดี อารมณ์ที่ได้ ทราบแล้วก็ดี ละเสียแม้ซึ่งศีลและพรตทั้งหมดก็ดี ละเสียซึ่งมงคล ตื่นข่าวเป็นต้นเป็น อันมากทั้งหมดก็ดี กำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ คนเหล่านั้นข้ามโอฆะได้แล้วฉะนี้แลฯ


เหมก ปัญหาที่ ๘

เหมกมาณพ ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องกำจัดตัณหา อันซ่านไปใน อารมณ์ต่างๆในโลก แก่ข้าพระองค์เถิดฯ
ดูกรเหมกะ ชนเหล่าใดได้รู้ทั่วถึงบท คือ นิพพาน อันไม่แปรผันเป็น ที่บรรเทา ฉันทราคะ ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง และสิ่งที่ได้ทราบ อันน่ารัก ณ ที่นี้ เป็นผู้มีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นสงบระงับแล้ว มีสติข้ามตัณหา อันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้แล้วฯ


โตเทยย ปัญหาที่ ๙

โตเทยยมาณพ ผู้ใดไม่มีกามทั้งหลาย ไม่มีตัณหา และข้ามความสงสัยได้แล้ว ความพ้นวิเศษของผู้นั้นเป็นอย่างไรฯ
ดูกรโตเทยยะ ผู้ใดไม่มีกามทั้งหลาย ไม่มีตัณหา และข้ามความสงสัยได้แล้ว ความพ้นวิเศษ อย่างอื่นของผู้นั้นไม่มีฯ

โตเทยยมาณพ ผู้นั้นไม่มีความปรารถนา หรือยังปรารถนาอยู่ ผู้นั้นเป็นผู้มีปัญญาหรือ ยังเป็นผู้มี ปรกติ กำหนดด้วยปัญญาอยู่
พ. ดูกรโตเทยยะ ผู้นั้นไม่มีความปรารถนา และไม่เป็นผู้ปรารถนาอยู่ด้วย ผู้นั้นเป็น คนมีปัญญามิใช่เป็นผู้มีปรกติกำหนดด้วยปัญญา อยู่ด้วย ท่านจงรู้จักมุนีว่าเป็นผู้ไม่มี กิเลสเครื่องกังวลไม่ข้องอยู่แล้วในกาม และภพ แม้อย่างนี้ฯ


กัปป ปัญหาที่ ๑๐

กัปปมาณพ ทูลถามปัญหาว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกซึ่งธรรมอันเป็นที่พึ่งของชน ทั้งหลาย ผู้อันชราและมรณะครอบงำแล้ว ดุจที่พึ่งของชนทั้งหลาย ผู้อยู่ในท่ามกลาง สาคร เมื่อคลื่นเกิดแล้ว มีภัยใหญ่ฉะนั้น
ดูกรกัปปะ ธรรมชาติไม่มีเครื่องกังวล ไม่มีความถือมั่น นี้เป็นที่พึ่ง หาใช่อย่างอื่นไม่ เรากล่าวที่พึ่งอันเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและ มรณะว่านิพพาน ชนเหล่าใดรู้นิพพานนั้น แล้ว มีสติ มีธรรมอันเห็น แล้วดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นไม่อยู่ใต้อำนาจของมาร ไม่เดินไป ในทางของมารฯ


ชตุกัณณี ปัญหาที่ ๑๑

ชตุกัณณีมาณพ ทูลถามปัญหาว่า ข้าพระองค์ ได้ฟังพระองค์ผู้ไม่ใคร่กาม จึงมา เฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ล่วงห้วงน้ำ คือกิเลสเสียได้ ไม่มีกาม ข้าแต่ พระองค์ผู้มี พระเนตร คือพระสัพพัญญุตญาณเกิดพร้อมแล้ว ขอพระองค์ตรัสบอกทางสันติ ข้าแต่ พระผู้มี พระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกทาง สันตินั้นแก่ข้าพระองค์ตามจริงเถิด เพราะว่าพระ ผู้มีพระภาคทรงมีเดช ครอบงำกาม ทั้งหลาย เสียแล้วด้วยเดช เหมือน พระอาทิตย์มีเดช คือ รัศมี ครอบงำปฐพีด้วยเดช ไปอยู่ในอากาศ ฉะนั้น ข้าแต่พระผู้มี พระภาคผู้มี ปัญญาดังแผ่นดินขอพระองค์ จงตรัสบอกธรรมเครื่องละชาติละชรา ณ ที่นี้ ที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แจ้ง แก่ข้าพระองค์ ผู้มีปัญญาน้อยเถิดฯ

ดูกรชตุกัณณี ท่านได้เห็นซึ่งเนกขัมมะ(ดำริออกจากกาม) โดยความเป็นธรร อัน เกษมแล้ว จงนำความ กำหนัดในกาม ทั้งหลายเสียให้สิ้นเถิด อนึ่งกิเลสชาติเครื่อง กังวลที่ท่านยึดไว้แล้ว (ด้วยอำนาจ ตัณหาและทิฐิ) ซึ่งควรจะปลดเปลื้องเสีย อย่า มีแล้วแก่ท่าน กิเลสเครื่องกังวลใด ได้มีแล้วในกาลก่อน ท่านจงทำ กิเลสเครื่องกังวล นั้นให้เหือดแห้งเสียเถิด กิเลส เครื่องกังวลในภายหลัง อย่าได้มีแก่ท่าน ถ้าท่านจัก ไม่ถือเอากิเลสเครื่องกังวล ในท่ามกลางไซร้ ท่านจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป
ดูกรพราหมณ์ เมื่อท่านปราศจากความ กำหนัดในนามและรูปแล้วโดยประการทั้งปวง อาสวะทั้งหลาย อันเป็น เหตุให้ไปสู่ อำนาจแห่งมัจจุราชก็ย่อมไม่มีแก่ท่านฯ


ภัทราวุธ ปัญหาที่ ๑๒

ภัทราวุธมาณพ ทูลถามปัญหาว่า ชนในชนบทต่างๆประสงค์จะฟังพระดำรัส ของ พระองค์ มาพร้อมกันแล้วจากชนบท ทั้งหลาย ได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้ประเสริฐ แล้ว จักกลับไปจากที่นี้ ขอพระองค์ จงตรัสพยากรณ์แก่ชนในชนบทต่างๆ เหล่านั้น ให้สำเร็จประโยชน์เถิด เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงรู้แจ้งแล้ว ด้วยประการนั้น ฯ

ดูกรภัทราวุธะ หมู่ชนควรจะนำเสียซึ่งตัณหา เป็นเครื่องถือมั่นทั้งปวงในส่วนเบื้องบน เบื้องต่ำ และ ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง ให้สิ้นเชิง เพราะว่าสัตว์ ทั้งหลายย่อม ถือมั่นสิ่งใดๆ ในโลก มารย่อมติดตามสัตว์ได้เพราะสิ่งนั้น แหละ เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัดอยู่ มาเล็งเห็นหมู่สัตว์ ผู้ติดข้องอยู่แล้วในวัฏฏะ อันเป็นบ่วงแห่งมารนี้ ว่าเป็นหมู่สัตว์ ติดข้องอยู่แล้ว เพราะการถือมั่นดังนี้ พึงเป็นผู้มีสติ ไม่ถือมั่นเครื่อง กังวลในโลก ทั้งปวงฯ


อุทย ปัญหาที่ ๑๓

อุทยมาณพ ข้าพระองค์มีความต้องการปัญหาจึงมาเฝ้าพระองค์ผู้เพ่งฌาน ปราศจาก ธุลี ทรงนั่ง โดยปรกติ ทรงทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ ทรงถึงฝั่งแห่ง ธรรมทั้งปวง ขอพระองค์จง ตรัสบอกธรรมอันเป็นเครื่องพ้นที่ควรรู้ทั่วถึง สำหรับทำลาย อวิชชาเถิดฯ

ดูกรอุทยะ เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกาม และโทมนัสทั้งสองอย่าง เป็นเครื่อง บรรเทาความง่วงเหงา เป็นเครื่องห้ามความรำคาญ บริสุทธิ์ดี เพราะ อุเบกขา และสติ มีความตรึกถึงธรรมแล่นไปในเบื้องหน้า ว่าเป็นธรรมเครื่องพ้นที่ ควรรู้ทั่วถึงสำหรับ ทำลายอวิชชาฯ

อุทยมาณพ โลกมีธรรมอะไรประกอบไว้ ธรรมชาติอะไรเป็นเครื่องพิจารณา (เป็นเครื่องสัญจร) ของโลกนั้น เพราะละธรรมอะไรได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพานฯ

พระผู้มีพระภาค โลกมีความเพลิดเพลินประกอบไว้ ความตรึกไปต่างๆเป็นเครื่อง พิจารณา (เป็นเครื่อง สัญจร) ของโลกนั้นเพราะละตัณหาได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพานฯ

อุทยมาณพ เมื่อบุคคลระลึกอย่างไรเที่ยวไปอยู่ วิญญาณจึงจะดับข้าพระองค์ ทั้งหลาย มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ ข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอฟังพระดำรัสของ พระองค์ฯ


โปสาล ปัญหาที่ ๑๔

โปสาลมาณพ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ ของบุคคล ผู้มีความสำคัญในรูป ก้าวล่วงเสียแล้ว ละรูปกายได้ทั้งหมด เห็นอยู่ว่าไม่มีอะไร น้อยหนึ่งทั้งภายใน และภายนอก บุคคลเช่นนั้นควร แนะนำอย่างไรฯ

ดูกรโปสาละ พระตถาคตทรงรู้ยิ่ง ซึ่งภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณทั้งปวงทรงทราบ บุคคลนั้น ผู้ยังดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้วในอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นต้น ผู้มี อากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นต้นนั้นเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ผู้ที่เกิดในอากิญจัญญา ยตน สมาบัติ ว่ามีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบ ดังนี้แล้ว แต่นั้นย่อมเห็นแจ้ง ในอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น ญาณของบุคคลนั้นผู้เป็นพราหมณ์ อยู่จบพรหมจรรย์ แล้ว เป็นญาณอันถ่องแท้ อย่างนี้ฯ


โมฆราช ปัญหาที่ ๑๕

โมฆราชมาณพ
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ ข้าพระองค์ ได้ทูลถามปัญหาถึงสอง ครั้งแล้ว พระองค์ผู้มีพระจักษุไม่ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ แต่ข้าพระองค์ ได้สดับมาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเทพฤาษี จะทรงพยากรณ์ในครั้งที่สาม (ข้าพระองค์จึงขอทูลถามว่า)โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลก กับทั้งเทวโลก ข้าพระองค์ ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ผู้โคดม ผู้เรืองยศ ข้าพระองค์มีความต้องการ ด้วยปัญหา จึงได้มาเฝ้าพระองค์ ผู้มีปรกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้ บุคคลผู้พิจารณา เห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็นฯ

ดูกรโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง เปล่าเถิด จงถอนความตามเห็นว่าเป็นตัวตนเสียแล้ว พึงเป็นผู้ข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วย อาการอย่างนี้ บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็นฯ


ปิงคิย ปัญหาที่ ๑๖


ปิงคิยมาณพ ข้าพระองค์เป็นคนแก่แล้ว มีกำลังน้อย ผิวพรรณเศร้าหมองนัยน์ตา ทั้งสองของข้าพระองค์ไม่ผ่องใส (เห็นไม่จะแจ้ง) หูสำหรับฟังก็ไม่สะดวก ขอข้า พระองค์อย่างได้เป็นคนหลงฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอก ธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ ซึ่งเป็นเครื่องละชาติและชราใน อัตภาพ นี้เสียเถิดฯ
ดูกรปิงคิยะ ชนทั้งหลายได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้เดือดร้อนอยู่ เพราะรูปทั้งหลายแล้ว ยังเป็นผู้ประมาท ก็ย่อยยับอยู่เพราะรูปทั้งหลาย ดูกรปิงคิยะเพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็น คนไม่ประมาท ละรูปเสีย เพื่อความไม่เกิดอีกฯ

ปิงคิยมาณพ ทิศใหญ่สี่ ทิศน้อยสี่ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ รวมเป็นสิบทิศ สิ่งไรๆ ในโลกที่ พระองค์ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังไม่ได้ทราบหรือ ไม่ได้รู้แจ้ง มิได้มี ขอพระองค์ จงตรัสบอก ธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ เป็นเครื่อง ละชาติและชราในอัตภาพนี้เถิดฯ
พ. ดูกรปิงคิยะ เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้วเกิดความ เดือดร้อน อันชราถึงรอบข้าง ดูกรปิงคิยะ เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็น คนไม่ประมาทละตัณหาเสีย เพื่อความ ไม่เกิดอีกฯ

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม

สังโยชน์