เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

จากภพมนุษย์สามารถเข้าถึงอนาคามีได้ 4 แบบ และจะปรินิพพานในภพนั้น

1601
  (ย่อ)

มนุษย์ เข้าถึง อนาคามี ได้ 4 แบบ

1 กรณีสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ในภพมนุษย์
   1.1 ผัคคุณสูตร (ฟังธรรมก่อนทำกาละ สิ้นสังโยชน์ ๕)
   1.2 ช่างหม้อฆฏิการ (เป็นโอปปาติกะ สิ้นสังโยชน์ ๕)

2 กรณีพรากจาก กามโยคะ ในภพมนุษย์  (จึงได้มาเกิดในชั้นสุทธาวาส)
(สิ้นสังโยชน์ ๔ คือ ๑.สักกายทิฏฐิ ๒.วิจิกิจฉา ๓.สีลัพพตปรามาส ๔.กามฉันทะ)

3 กรณี สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้น (ได้สมาธิเนวสัญญา และไม่เสื่อมเมื่อกระทำกาละ)

4 การให้ทานแล้วเป็นอนาคามี (พระสารีบุตรถาม พ.ว่าให้ทานอย่างไรมีผลมาก มีอานิสงส์มาก)

ผังอนาคามี

 



1 กรณีสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ในภพมนุษย์

  
1.1 ผัคคุณสูตร (ฟังธรรมก่อนทำกาละ)
พระสูตรเต็ม (P203)

ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้า ๓๔๓
ผัคคุณสูตร
(ฟังธรรมก่อนทำกาละ)

           ดูกรอานนท์ จิตของภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วน เบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตายเธอได้เห็นตถาคต ตถาคตย่อมแสดง ธรรมอันงาม ในเบื้องต้น อันงามในท่ามกลาง อันงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้น จากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ ข้อที่ ๑ ในการ ฟังธรรม โดยกาลอันควร ฯ

          อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์ อันเป็นไปใน ส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลา ใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคตเลย แต่ได้เห็นสาวกของ พระตถาคต สาวกของ พระตถาคต ย่อมแสดง ธรรมอันงามในเบื้องต้น งามใน ท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศ พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ
จิตของเธอ ย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์ อันเป็นไปใน ส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควรฯ

          อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์ อันเป็นไปใน ส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลา ใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคต และไม่ได้เห็นสาวกของ ตถาคตเลย แต่ย่อม ตรึกตรอง เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรอง เพ่งด้วยใจ  ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมาอยู่
จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจาก สังโยชน์ อันเป็นไป ในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ ในการ ใคร่ครวญเนื้อความ แห่งธรรมโดยกาลอันควร

ฟังทำก่อนทำกาละ สังโยชน์ 5 สิ้นไป (แบบ100%)
หลังตายจากมนุษย์เป็นโอปปาติกะ ไปเกิดในชั้น อกนิฏฐา (ชั้นพิเศษ)
หลังกายแตกในชั้นอกนิฏฐา จะปรินิพพาน

ดูพระสูตรเต็ม
(P203)



-----------------------------------------------------------------------------------------------



  1.2 ช่างหม้อ ฆฏิการะ (สิ้นสังโยชน์ ๕)
 หนังสืออนาคามี หน้า 60


ฆฏิการสูตร ผู้สิ้นสังโยชน์ในภพมนุษย์
(นัยที่ ๓)
-บาลี ม. ม. ๑๓/๓๘๒/๔๑๗.

… ครั้งนั้น พระเจ้ากิกิกาสิราช ทรงเสียพระทัย ทรงโทมนัสว่า พระผู้มีพระภาค ทรงพระนามว่า กัสสป อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ไม่ทรงรับการอยู่จำพรรษา ณ เมืองพาราณสีของเราเสียแล้ว ดังนี้ แล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีใครอื่น ที่เป็นอุปัฏฐาก ยิ่งกว่าหม่อมฉันหรือ.

มีอยู่ มหาราชนิคมชื่อเวภิฬคะ ช่างหม้อชื่อ ฆฏิาระ อยู่ในนิคมนั้น เขาเป็น อุปัฏฐากของเรา นับเป็น อุปัฏฐากชั้นเลิศพระองค์แล ทรงเสียพระทัย มีความโทมนัส ว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสป อรหันตสัมมา สัมพุทธะไม่ทรงรับการอยู่จำพรรษาในเมืองพาราณสีของเราเสียแล้ว ความเสียใจและความ โทมนัสนี้นั้น ย่อมไม่มี และจักไม่มีในช่างหม้อฆฏิการะ.

มหาราช ช่างหม้อฆฏิการะ ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจาก ปาณาติบาต  เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากน้ำเมา คือสุรา และเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่ง ความประมาท.

มหาราช ช่างหม้อฆฏิการะ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้ารักใคร่.

มหาราช ช่างหม้อฆฏิการะ เป็นผู้หมดสงสัยในทุกข์ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทา บริโภคภัตมื้อเดียว ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล มีกัลยาณธรรมปล่อยวางแก้วมณีและทองคำ ปราศจากการใช้ทองและเงิน.

มหาราช ช่างหม้อฆฏิการะ ไม่ขุดแผ่นดินด้วยสากและด้วยมือของตน นำมาแต่ ดินตลิ่งพังหรือ ขุยหนู ซึ่งมีอยู่ด้วยหาบ ทำเป็นภาชนะแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ในภาชนะนี้ ผู้ใดต้องการ ผู้นั้นจงวางถุงใส่ ข้าวสาร ถุงใส่ถั่วเขียว หรือถุงใส่ ถั่วดำไว้ แล้วนำภาชนะที่ต้องการนั้นไปเถิด.

มหาราช ช่างหม้อฆฏิการะ เลี้ยงมารดาบิดาผู้ชราตาบอด ช่างหม้อฆฏิการะ เป็นโอปปาติกะ จะปรินิพพาน ในภพนั้น มีการไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ หมดสิ้นไป … .

ฆฏิการะ สังโยชน์ 5 สิ้นไป (แบบ100%) หลังตายจากมนุษย์เป็นโอปปาติกะ ไปเกิดในชั้น อกนิฏฐา (ชั้นพิเศษ)
เช่นเดียวกับ ผัคคุณสูตร ฟังทำก่อนทำกาละ สังโยชน์ 5 สิ้นไป (แบบ100%)
หลังกายแตกในชั้นอกนิฏฐา จะปรินิพพาน


ช่างหม้อ ฆฏิการะ (หนังสืออนาคามี หน้า 60)



(บางส่วนของพระสูตร)

พระสูตรเต็ม (P141)

2
กรณีพรากจากกามโยคะ (สังโยชน์ตัวที่4) ในภพมนุษย์ จึงได้มาเกิดในชั้นสุทธาวาส

ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก หน้า ๔๑
เสด็จสุทธาวาส
(มหาปทานสูตร)


          [๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ควงไม้พญาสาลพฤกษ์ ในป่าสุภวัน ใกล้อุกกัฏฐนคร ภิกษุทั้งหลายเมื่อเรานั้นไปเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความรำพึงในใจว่า ชั้นสุทธาวาสซึ่งเรามิได้เคยอยู่เลย โดยเวลาอันยืดยาวนานนี้ นอกจากเทวดา เหล่าสุทธาวาสแล้ว ไม่ใช่โอกาสที่ใครๆ จะได้โดยง่าย ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหา เทวดาเหล่าสุทธาวาสจนถึงที่อยู่ ภิกษุทั้งหลายทันใดนั้น เราได้หายไป ที่ควงไม้พญา สาลพฤกษ์ ในป่าสุภวันใกล้อุกกัฏฐนคร ไปปรากฏ ในพวกเทพดาเหล่า อวิหา เปรียบเหมือนบุรุษที่มีกำลัง เหยียดออกซึ่งแขนที่คู้เข้าไว้ หรือคู้เข้าซึ่งแขน ที่เหยียดออกไว้ ฉะนั้น

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพดานั้นแล เทพดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ได้เข้ามา หาเรา ครั้นเข้ามาหา ไหว้เราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นเทพดาเหล่านั้น ยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าว กะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นับแต่นี้ไป ๙๑ กัป พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี เสด็จอุบัติในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เสด็จอุบัติในขัตติยสกุล เป็นโกณฑัญญะ โดยพระโคตร มีพระชนมายุประมาณแปดหมื่นปี พระองค์ได้ตรัสรู้ที่ ควงไม้แคฝอย มีพระขันฑเถระ และพระติสสเถระ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การประชุมกันแห่งพระสาวก ของพระผู้มีพระภาคอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้มีแล้วสามครั้ง ครั้งหนึ่งมีพระสาวกประชุมกัน เป็นจำนวนภิกษุ แสนหกหมื่น แปดพันรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็น จำนวนแสนรูป

อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกัน เป็นจำนวนแปดหมื่นรูป พระสาวกของพระผู้มี พระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสีที่ได้ประชุมกันทั้งสามครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุผู้อุปัฏฐากชื่ออโสกะ ได้เป็นอัครอุปัฏฐาก ของพระผู้มี พระภาคอรหันต สัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี พระราชาพระนามว่าพันธุมา เป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่า พันธุมดีเป็น พระชนนีบังเกิดเกล้าของพระองค์ พระนครชื่อว่าพันธุมดี เป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การออกมหาภิเนษกรมณ์ การบรรพชา การตั้งความเพียร การตรัสรู้การประกาศ พระธรรมจักร ของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสีเป็นอย่างนี้ๆ

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์นั้น ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค พระนามว่าวิปัสสี คลายกามฉันท์(1) ในกามทั้งหลายแล้วจึงได้บังเกิดในที่นี้ (2) ....
1 - กามฉันทะ คือ สังโยชน์ตัวที่ ๔ แต่สังโยชน์ตัวที่ 5 ละได้หรือไม่ ในพระสูตรไม่ได้กล่าวถึง
2 - หลังตายจากมนุษย์ เป็นโอปาติกะ ไปเกิดในสุทธาวาส (ชั้นสูงสุดของเทวดาพรหม)
    หลังกายแตกในชั้นสุทธาวาส จะปรินิพพาน



ดูพระสูตรเต็ม (P141)



(บางส่วนของพระสูตร)
พระสูตรเต็ม
(P1603)

ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๕

3. อาคามี คือผู้กลับมา- อนาคามี คือผู้ไม่กลับมา
(ตรัสกับพระสารีบุตร)

           สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
           
 อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้สัตว์ บางจำพวกในโลกนี้ จุติจาก กายนั้นแล้วเป็นอาคามี กลับมา สู่ความเป็นอย่างนี้ (มาสู่สังสารวัฏ)

           อนึ่ง อะไรเป็นปัจจัยเครื่องให้สัตว์บางจำพวกในโลกนี้ จุติจากกายนั้น แล้ว เป็นอนาคามี ไม่กลับมา สู่ความเป็นอย่างนี้ (พ้นจากสังสารวัฏ) พระเจ้าข้า

           พ. ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังละโอรัมภาคิยสังโยชน์ไม่ได้ แต่เขาบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะในปัจจุบัน บุคคลนั้นชอบใจ ยินดีและถึง ความปลื้มใจ ด้วย เนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ยับยั้งอยู่ในเนวสัญญานา สัญญายตนะ นั้น น้อมใจไป อยู่จนคุ้นในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ไม่เสื่อมเมื่อ ทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเหล่าเทวดา ผู้เข้าถึงชั้นเนวสัญญานา สัญญายตนภพ เขาจุติจากชั้นนั้นแล้ว ย่อมเป็นอาคามี กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้

           ดูกรสารีบุตร อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้แล้ว เขาบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ ในปัจจุบัน บุคคลนั้นชอบใจ ยินดี และถึงความ ปลื้มใจ ด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ยับยั้งในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น น้อมใจไป อยู่จนคุ้นในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ไม่เสื่อมเมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเหล่าเทวดา ผู้เข้าถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนภพ เขาจุติจากชั้นนั้นแล้ว ย่อมเป็นอนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้

           ดูกรสารีบุตร นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้สัตว์บางจำพวกในโลกนี้ จุติจากกายนั้นแล้วเป็น อาคามี กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้

           อนึ่ง นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้สัตว์บางจำพวก ในโลกนี้ จุติจากกายนั้น แล้วเป็น อนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ....

สิ้นสังโยชน์ 5 ในภพมนุษย์+ทำสมาธิได้จนถึงเนวสัญญา และไม่เสื่อมเมื่อทำกาละ
หลังตายจากมนุษย์ เป็นโอปปาติกะ ไปเกิดในเทวดาชั้น เนวสัญญา (ชั้นอรูป)
ตายจากเนวสัญญา ไปเกิดเป็นเทวดาชั้นอกนิฏฐา (ชั้นพิเศษ) หลังกายแตก จะปรินิพพาน




พระสูตรเต็ม (P1603)



(บางส่วนของพระสูตร)

พระสูตรเต็ม (P1599

4 การให้ทานแล้วเป็นอนาคามี (พระสารีบุตรถามพระพุทธเจ้า ว่าให้ทานอย่างไร มีผลมาก มีอานิสงส์มาก)

ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก หน้า ๕๔
ทานสูตร

         ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเรา ให้ทานอย่างนี้ จิตจะ เลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่อง ปรุงแต่งจิต เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอมเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์แก่สมณะหรือพราหมณ์
       ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้ หรือ
       สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า
       พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผล ให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้ว จักได้เสวยผลทานนี้ไม่ได้ให้ทาน ด้วย คิดว่า การให้ทานเป็นการดี ไม่ได้ให้ทาน ด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้เคยทำมา เราไม่ ควรทำ ให้เสียประเพณี ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้ หุงหากิน ไม่ได้ จะไม่ให้ทานแก่ผู้ที่หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้ จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤาษี แต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี ผู้บูชามหายัญ ฉะนั้น และไม่ได้ให้ทาน ด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตจะเลื่อมใสจะเกิดความปลื้มใจ และโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่อง ปรุงแต่งจิต เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา ชั้นพรหม เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้ (ผู้ไม่ต้องกลับมาคือ อนาคามี)

       ดูกรสารีบุตร นี้แลเหตุปัจจัยเป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้น ที่บุคคลบางคน ในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และเป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้น ที่บุคคล บางคน ในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ....

-บุคคลผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผล
หลังตายจากมนุษย์จะไปเกิดเป็นเทวดาชั้นพรหมกายิกา
-หลังตายจากพรหมกายิกา จะไปเกิดในชั้นพรหมสุทธาสวาส ชั้นใดชั้นหนึ่ง (ตามกำลังอินทรีย์)
-หลังตายจากสุทธาวาส จะปรินิพพาน


พระสูตรเต็ม (P1599


ผังอนาคามี