เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

ผู้เจริญโพชฌงค์ ย่อมถึงความเป็นใหญ่ในธรรมทั้งหลาย 2066
 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙

๑. หิมวันตสูตร ผู้เจริญโพชฌงค์ถึงความเป็นใหญ่ในธรรมทั้งหลาย
พวกนาคอาศัยขุนเขาชื่อหิมวันต์ มีกายเติบโตมีกำลัง ครั้นกายเติบโตมีกำลังที่ขุนเขานั้นแล้ว ย่อมลงสู่บึงน้อย.. ย่อมลงสู่บึงใหญ่... ย่อมลงสู่แม่น้ำน้อย.. ย่อมลงสู่แม่น้ำใหญ่... ย่อมลงสู่ มหาสมุทร แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญโพชฌงค์ ๗ กระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ ในธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน

๒. กายสูตร อาหารของนิวรณ์ ๕
กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร แม้ฉันใด นิวรณ์ ๕ ก็มีอาหาร ไม่มีอาหาร ดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน
    กายสูตร อาหารของโพชฌงค์ ๗
โพชฌงค์ ๗ มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่ง สติสัมโพชฌงค์ มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ นี้เป็นอาหารให้ สติสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น

๓. สีลสูตร การหลีกออก ๒ วิธี
    สีลสูตร  อาหารของโพชฌงค์ ๗

๔. วัตตสูตร การอยู่ด้วยโพชฌงค์ ๗
๕. ภิกขุสูตร ที่เรียกว่าโพชฌงค์เพราะเป็นไปเพื่อตรัสรู้
๖. กุณฑลิยสูตร ตถาคตมีวิชชาและวิมุติเป็นผลานิสงส์
๗. กูฏสูตร ผู้เจริญโพชฌงค์ย่อมน้อมไปสู่นิพพาน
๘. อุปวาณสูตร โพชฌงค์ ๗ ที่ปรารภดีแล้วย่อมอยู่ผาสุก
๙. อุปาทสูตรที่ ๑ โพชฌงค์ ๗ ไม่เกิดนอกจากการปรากฏแห่งตถาคต
๑๐. อุปาทสูตรที่ ๒ โพชฌงค์ ๗ ไม่เกิดนอกวินัยของพระสุคต

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๒

หิมวันตสูตร
ผู้เจริญโพชฌงค์ถึงความเป็นใหญ่ในธรรมทั้งหลาย

         [๓๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกนาคอาศัยขุนเขาชื่อหิมวันต์ มีกายเติบโต มีกำลัง ครั้นกายเติบโต มีกำลังที่ขุนเขานั้นแล้ว ย่อมลงสู่บึงน้อย ครั้นลงสู่บึงน้อยแล้ว ย่อมลงสู่ บึงใหญ่ ครั้นลงสู่บึงใหญ่แล้ว ย่อมลงสู่แม่น้ำน้อย ครั้นลงสู่แม่น้ำน้อยแล้ว ย่อมลงสู่ แม่น้ำใหญ่ ครั้นลงสู่แม่น้ำใหญ่แล้ว ย่อมลงสู่มหาสมุทรสาคร นาคพวกนั้น ย่อมถึง ความโตใหญ่ทางกาย ในมหาสมุทรสาครนั้น แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญโพชฌงค์ ๗ กระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ ในธรรม ทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน

         [๓๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญโพชฌงค์ ๗ กระทำ ให้มาก ซึ่งโพชฌงค์ ๗ อย่างไร จึงถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ ในธรรมทั้งหลาย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปในการสละ ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ... วิริยสัมโพชฌงค์ ... ปีติสัมโพชฌงค์ ...ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... สมาธิสัมโพชฌงค์ ... อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะอาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญโพชฌงค์ ๗ กระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ อย่างนี้แล จึงถึงความเป็นใหญ่ ไพบูลย์ในธรรม

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๒ - ๙๕

กายสูตร
อาหารของนิวรณ์ ๕

         [๓๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหาร ดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด นิวรณ์ ๕ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้ เพราะอาศัยอาหารไม่มีอาหาร ดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

         [๓๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร ให้กามฉันท์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือ ที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศุภนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง อโยนิโสมนสิการ ในศุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้กามฉันท์ ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น

         [๓๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิฆนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการ ในปฏิฆนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้พยาบาท ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ ยิ่งขึ้น

         [๓๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน ความบิดขี้เกียจ ความเมาอาหาร ความที่ใจหดหู่ มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง อโยนิโส มนสิการ ในสิ่งเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ ยิ่งขึ้น

         [๓๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้วให้เจริญ ไพบูลย์ ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่สงบใจ มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในความไม่สงบใจนั้น นี้เป็นอาหารให้ อุทธัจจกุกกุจจะ ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้นหรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น

         [๓๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญ ไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้ง แห่งวิจิกิจฉา มีอยู่การกระทำ ให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้นหรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น

         [๓๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหาร ดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้ เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๒ - ๙๕

อาหารของโพชฌงค์ ๗

         [๓๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหาร ดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด โพชฌงค์ ๗ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะ อาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

         [๓๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้นหรือ ที่เกิดขึ้น แล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์ มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์

         [๓๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ที่ยัง ไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย ที่เป็นกุศล และอกุศล ที่มีโทษ และไม่มีโทษ ที่เลวและประณีต ที่เป็นฝ่ายดำ และ ฝ่ายขาว มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง โยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

         [๓๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้นหรือ ที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความริเริ่ม ความพยายาม ความบากบั่นมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในสิ่งเหล่านี้ นี้เป็นอาหารให้วิริยสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญ บริบูรณ์

         [๓๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้นหรือ ที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่ง ปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ปีติสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์

         [๓๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงบกาย ความสงบจิต มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในความสงบนั้น นี้เป็นอาหารให้ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญ บริบูรณ์

         [๓๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้สมาธิสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธินิมิต อัพยัคค นิมิต มีอยู่การกระทำ ให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้สมาธิ สัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์

         [๓๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่ยัง ไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งหมายถึง นิมิตแห่งจิตที่มีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านอุเบกขาสัมโพชฌงค์ มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโส มนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้อุเบกขา สัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์

         [๓๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหาร ดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้ เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๕- - ๙๗

สีลสูตร
การหลีกออก ๒ วิธี

         [๓๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย สมาธิ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุติ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณ ทัสสนะ การได้เห็นภิกษุเหล่านั้นก็ดี การได้ฟังภิกษุเหล่านั้นก็ดี การเข้าไปหาภิกษุ เหล่านั้น ก็ดี การเข้าไปนั่งใกล้ภิกษุเหล่านั้นก็ดี การระลึกถึงภิกษุเหล่านั้นก็ดี การบวช ตามภิกษุเหล่านั้นก็ดี แต่ละอย่างๆเรากล่าวว่ามีอุปการะมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะว่าผู้ที่ได้ฟังธรรมของภิกษุเห็นปานนั้นแล้ว ย่อมหลีกออกอยู่ด้วย ๒ วิธี คือ หลีกออกด้วยกาย ๑ หลีกออกด้วยจิต ๑ เธอหลีกออกอยู่อย่างนั้นแล้ว ย่อมระลึกถึง ย่อมตรึกถึงธรรมนั้น

         [๓๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุหลีกออกอยู่อย่างนั้นแล้ว ย่อมระลึกถึง ย่อมตรึกถึง ธรรมนั้น สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่า เจริญสติ ัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เธอมีสติ อยู่อย่างนั้น ย่อมเลือกเฟ้น ตรวจตรา ถึงความพินิจพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา

         [๓๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุมีสติอยู่อย่างนั้น ย่อมเลือกเฟ้น ตรวจตรา ถึงความ พินิจ พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุ ปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ย่อมถึง ความเจริญบริบูรณ์ เมื่อภิกษุเลือกเฟ้น ตรวจตรา พินิจพิจารณาธรรมนั้นด้วย ปัญญา ความเพียรอันไม่ย่อหย่อนเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว

         [๓๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อภิกษุเลือกเฟ้น ตรวจตรา พินิจพิจารณา ธรรมนั้นด้วย ปัญญา ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน อันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุ ปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึง ความเจริญบริบูรณ์ ปีติที่ไม่มีอามิสย่อมเกิดแก่ภิกษุ ผู้ปรารภความเพียร

         [๓๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติที่ไม่มีอามิสย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้ปรารภ ความเพียร สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญ ปีติสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้มีใจกอปรด้วย ปีติย่อมสงบระงับ

         [๓๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้มีใจกอปรด้วยปีติ ย่อม สงบระงับ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่า เจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ จิตของภิกษุ ผู้มีกาย สงบแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น

         [๓๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายสงบแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญ สมาธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เธอย่อมเป็น ผู้เพ่งดูจิตที่ตั้งมั่นแล้ว อย่างนั้นด้วยดี

         [๓๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุย่อมเป็นผู้เพ่งดูจิตที่ตั้งมั่นแล้ว อย่างนั้น ด้วยดี สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญ อุเบกขา สัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๕- - ๙๗

อานิสงส์การเจริญโพชฌงค์

         [๓๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อโพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำ ให้มากแล้วอย่างนี้ ผลานิสงส์ ๗ ประการ อันเธอพึงหวังได้ ผลานิสงส์ ๗ ประการ เป็นไฉน?

         [๓๘๒] คือ
(๑) ในปัจจุบัน จะได้บรรลุอรหัตผลโดยพลัน

(๒) ในปัจจุบันไม่ได้บรรลุ ทีนั้นจะได้บรรลุในเวลาใกล้ตาย

(๓) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้ บรรลุ ทีนั้นจะได้เป็นพระอนาคามี ผู้อันตราปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป

(๔)ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ และไม่ได้เป็นพระอนาคามี ผู้อันตราปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป ทีนั้น จะได้เป็นพระอนาคามี ผู้อุปหัจจปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป

(๕) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ ไม่ได้เป็นพระอนาคามี ผู้อันตราปรินิพพายี และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี ทีนั้นจะได้เป็นพระ อนาคามี ผู้อสังขารปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป

(๖) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ ไม่ได้เป็นพระอนาคามี ผู้อันตราปรินิพพายี ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี และไม่ได้เป็น พระอนาคามี ผู้อสังขารปรินิพพายี ทีนั้น จะได้เป็นพระอนาคามีผู้สสังขารปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป

(๗) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ ไม่ได้เป็นพระอนาคามี ผู้อันตราปรินิพพายี ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี ไม่ได้เป็นพระอนาคามี ผู้อสังขารปรินิพพายี และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้สสังขารปรินิพพายี ทีนั้นจะได้เป็นพระ อนาคามีผู้อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ๕ สิ้นไป

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อโพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ผลานิสงส์ ๗ ประการเหล่านี้ อันเธอพึงหวังได้.


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๗-๙๘

วัตตสูตร
การอยู่ด้วยโพชฌงค์ ๗

         [๓๘๓] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ กล่าวว่า

          ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน? คือ สติสัมโพชฌงค์ ๑ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ๑ วิริยสัมโพชฌงค์ ๑ ปีติสัมโพชฌงค์ ๑ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ๑ สมาธิสัมโพชฌงค์ ๑ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ๑
         ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ ประการนี้แล

         [๓๘๔] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย บรรดาโพชฌงค์ ๗ ประการนี้ เราประสงค์จะอยู่ด้วย โพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ เราประสงค์จะอยู่ด้วยโพชฌงค์ ข้อใดๆในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ เราประสงค์จะอยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเย็นก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ

         [๓๘๕] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าสติสัมโพชฌงค์มีอยู่แก่เรา ดังพรรณนามานี้ เราก็รู้ว่าสติสัมโพชฌงค์ของเราหาประมาณมิได้ อันเราปรารภดีแล้ว สติสัมโพชฌงค์ เมื่อยังตั้งอยู่ เราก็รู้ว่าตั้งอยู่ ถ้าแม้สติสัมโพชฌงค์ของเราเคลื่อนไป เราก็รู้ว่าเคลื่อนไป เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ฯลฯ

         [๓๘๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่แก่เรา ดังพรรณนามานี้ เราก็รู้ว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ของเราหาประมาณมิได้ อันเราปรารภดีแล้ว อุเบกขา สัมโพชฌงค์เมื่อยังตั้งอยู่ เราก็รู้ว่าตั้งอยู่ ถ้าแม้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของเราเคลื่อนไป เราก็รู้ว่าเคลื่อนไปเพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย

         [๓๘๗] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย หีบผ้าของพระราชาหรือของราชมหาอำมาตย์ เต็มด้วยผ้าสีต่างๆ พระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ ประสงค์จะนุ่งห่มผ้าชุดใดๆ ในเวลาเช้า ก็นุ่งห่มผ้าชุดนั้นๆ ได้ ประสงค์จะนุ่งห่มผ้าชุดใดๆ ในเวลาเที่ยง ก็นุ่งห่มผ้า ชุดนั้นๆ ได้ ประสงค์จะนุ่งห่มผ้าชุดใดๆ ในเวลาเย็น ก็นุ่งห่มผ้าชุดนั้นๆ ได้ แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน บรรดาโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ ประสงค์จะอยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆประสงค์อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ ประสงค์จะอยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วย โพชฌงค์ข้อนั้นๆ

         [๓๘๘] ถ้าสติสัมโพชฌงค์มีอยู่แก่เรา ดังพรรณนามานี้ เราก็รู้ว่าสติสัมโพชฌงค์ ของเราหาประมาณมิได้ อันเราปรารภดีแล้ว สติสัมโพชฌงค์เมื่อยังตั้งอยู่ เราก็รู้ว่าตั้งอยู่ ถ้าแม้สติสัมโพชฌงค์ของเราเคลื่อนไป เราก็รู้ว่าเคลื่อนไป เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ฯลฯ

         [๓๘๙] ถ้าอุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่แก่เรา ดังพรรณนามานี้ เราก็รู้ว่าอุเบกขา สัมโพชฌงค์ของเราหาประมาณมิได้ อันเราปรารภดีแล้ว อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เมื่อยัง ตั้งอยู่ เราก็รู้ว่าตั้งอยู่ ถ้าแม้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของเราเคลื่อนไป เราก็รู้ว่าเคลื่อนไป เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย.


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๘-๙๙

ภิกขุสูตร
ที่เรียกว่าโพชฌงค์เพราะเป็นไปเพื่อตรัสรู้

         [๓๙๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าโพชฌงค์ๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะเรียกว่า โพชฌงค์? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ที่เรียกว่าโพชฌงค์เพราะเป็นไปเพื่อตรัสรู้

         [๓๙๑] ดูกรภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ

         [๓๙๒] ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ

         [๓๙๓] เมื่อภิกษุนั้นเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีดูกรภิกษุ ที่เรียกว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นไปเพื่อตรัสรู้ ฉะนี้แล.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๙-๑๐๑

กุณฑลิยสูตร
ตถาคตมีวิชชาและวิมุติเป็นผลานิสงส์

         [๓๙๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอัญชนมฤคทายวัน ใกล้เมืองสาเกต ครั้งนั้นแล กุณฑลิยปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

          ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเที่ยวไป ในอาราม เข้าไปสู่บริษัทเมื่อข้าพเจ้าบริโภคอาหารเช้าแล้ว ในเวลาปัจฉาภัต ข้าพเจ้า เดินไปเนืองๆ เที่ยวไปเนืองๆ สู่อารามจากอาราม สู่อุทยานจากอุทยานณ ที่นั้น ข้าพเจ้า เห็นสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กำลังกล่าวถ้อยคำมีวาทะและการเปลื้อง วาทะ ว่าดังนี้ เป็นอานิสงส์ และมีความขุ่นเคืองเป็นอานิสงส์ ส่วนท่านพระโคดมมีอะไร เป็นอานิสงส์ อยู่เล่า? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

          ดูกรกุณฑลิยะ ตถาคตมีวิชชาและวิมุติเป็นผลานิสงส์อยู่

         [๓๙๕] ก. ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์?

         พ. ดูกรกุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยัง วิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์

         ก. ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์?

         พ. ดูกรกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยัง โพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์

         ก. ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์?

         พ. ดูกรกุณฑลิยะ สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยัง สติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์

         ก. ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์?

         [๓๙๖] พ. ดูกรกุณฑลิยะ อินทรีย์สังวรอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ อินทรีย์สังวรอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์? ดูกรกุณฑลิยะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปที่ชอบใจด้วยจักษุ แล้วย่อมไม่ยินดี ไม่ขึ้งเคียด ไม่ยังความกำหนัดให้เกิด และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว อนึ่ง เธอเห็นรูปที่ไม่ชอบใจด้วยจักษุแล้ว ก็ไม่เก้อ ไม่มีจิตตั้งอยู่ด้วยอำนาจกิเลส ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดี ในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว

         อีกประการหนึ่ง ภิกษุฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ที่ชอบใจ ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ยินดี ไม่ขึ้งเคียดไม่ยังความกำหนัดให้เกิด และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้วอนึ่ง เธอรู้ธรรมารมณ์ ที่ไม่ชอบใจด้วยใจแล้ว ไม่เก้อ ไม่มีจิตตั้งอยู่ด้วย อำนาจกิเลส ไม่เสียใจมีจิตไม่พยาบาท และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีใน ภายใน หลุดพ้นดีแล้ว

         ดูกรกุณฑลิยะ เพราะเหตุที่ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว เป็นผู้คงที่ ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท เพราะรูปทั้งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ กายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายในหลุดพ้นดีแล้ว ภิกษุฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรส ด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ ด้วยใจแล้ว เป็นผู้คงที่ ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท เพราะธรรมารมณ์ ที่ชอบใจและไม่ชอบใจ และกายของเธอ ก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว ดูกรกุณฑลิยะ อินทรีย์สังวรอันบุคคล เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แลย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์

         [๓๙๗] ดูกรกุณฑลิยะ ก็สุจริตเหล่านั้นอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างไร ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญกายสุจริตเพื่อละ กายทุจริตเจริญวจีสุจริตเพื่อละวจีทุจริต เจริญมโนสุจริตเพื่อละมโนทุจริต สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์

         [๓๙๘] ดูกรกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างไรย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายใน กายเนืองๆ อยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลก เสียได้ ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ ฯลฯ ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต เนืองๆ อยู่ ฯลฯ ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ดูกรกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคล เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แลย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์

         [๓๙๙] ดูกรกุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างไรย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขา สัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรกุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมยังวิชชาและวิมุติ ให้สมบูรณ์

         [๔๐๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว กุณฑลิยปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดย อเนก ปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถึงท่าน พระโคดมกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดม จงทรงจำ ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิตจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๐๒

กูฏสูตร
ผู้เจริญโพชฌงค์ย่อมน้อมไปสู่นิพพาน

         [๔๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กลอนเรือนยอดทั้งหมดน้อมไปสู่ยอด โน้มไปสู่ยอด โอนไปสู่ยอด แม้ฉันใด ภิกษุเจริญโพชฌงค์ ๗ กระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน

         [๔๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเจริญโพชฌงค์ ๗ กระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗อย่างไร ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน?

          ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจริญโพชฌงค์ ๗ กระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ อย่าง นี้แล ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน.


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๐๒-๑๐๓

อุปวาณสูตร
โพชฌงค์ ๗ ที่ปรารภดีแล้วย่อมอยู่ผาสุก

        [๔๐๓] สมัยหนึ่ง ท่านพระอุปวาณะและท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็นแล้ว เข้าไปหา ท่านพระอุปวาณะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอุปวาณะ ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

        ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอุปวาณะว่า ท่านอุปวาณะผู้มีอายุ ภิกษุจะพึงรู้ หรือไม่ว่า โพชฌงค์ ๗ อันเราปรารภดีแล้วอย่างนี้ ด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย เฉพาะตน ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นผาสุก ท่านพระอุปวาณะตอบว่า

        ดูกรท่านสารีบุตรผู้มีอายุ ภิกษุพึงรู้ได้ว่า โพชฌงค์ ๗ อันเราปรารภดีแล้ว อย่างนี้ ด้วยการกระทำไว้ในใจ โดยแยบคายเฉพาะตนย่อมเป็นไปเพื่อความ อยู่เป็น ผาสุก

        [๔๐๔] สา. ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุปรารภสติสัมโพชฌงค์ ย่อมรู้ได้หรือว่า จิตของเรา หลุดพ้นดีแล้ว ถีนมิทธะเราถอนเสียแล้ว อุทธัจจกุกกุจจะเรากำจัดได้แล้ว ความเพียรเรา ปรารภแล้ว เรากระทำไว้ในใจอย่างจริงจัง มิได้ย่อหย่อน ฯลฯ

        [๔๐๕] ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ย่อมรู้ได้หรือว่า จิตของเรา หลุดพ้นดีแล้ว ถีนมิทธะเราถอนเสียแล้ว อุทธัจจกุกกุจจะเรากำจัดได้แล้ว ความเพียรเรา ปรารภแล้วเรากระทำไว้ในใจอย่างจริงจัง มิได้ย่อหย่อน

        [๔๐๖] อุ. ดูกรท่านสารีบุตรผู้มีอายุ ภิกษุพึงรู้ได้อย่างนี้แลว่าโพชฌงค อันเรา ปรารภดีแล้วอย่างนี้ ด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคายเฉพาะตน ย่อมเป็นไปเพื่อความ อยู่เป็นผาสุก


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๐๓

อุปาทสูตรที่ ๑
โพชฌงค์ ๗ ไม่เกิดนอกจากการปรากฏแห่งตถาคต

             [๔๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ ประการนี้ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น นอกจากความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว โพชฌงค์ ๗ ประการนี้ ย่อมไม่เกิดขึ้น

             โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน? คือ สติสัมโพชฌงค์ ฯลฯอุเบกขาสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ ๗ ประการนี้แล อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น นอกจากความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว โพชฌงค์ ๗ประการนี้ ย่อมไม่เกิดขึ้น.


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๐๓-๑๐๔

อุปาทสูตรที่ ๒
โพชฌงค์ ๗ ไม่เกิดนอกวินัยของพระสุคต

             [๔๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ ประการนี้ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น นอกวินัยของพระสุคต โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน?คือ สติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ ๗ ประการนี้แล อันภิกษุเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น นอกวินัยของพระสุคต

 





หนังสือพุทธวจน ธรรมะของพระศาสดา
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์