พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๔๕-๓๔๗
ฑีฆาวุสูตร
องค์ธรรมเครื่องบรรลุโสดา
[๑๔๑๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปนสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ฑีฆาวุอุบาสกป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ได้เชิญคฤหบดีชื่อโชติยะ ผู้เป็นบิดามาสั่งว่า ข้าแต่คฤหบดี ขอท่านจงไป เฝ้า พระผู้มีพระภาค แล้วถวายบังคมพระบาททั้งสอง ของพระผู้มีพระภาค ด้วย เศียรเกล้า แล้วกราบทูลตามคำของผมว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฑีฆาวุอุบาสกป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาถวายบังคมพระบาททั้งสอง ของพระผู้มีพระภาค ด้วย เศียรเกล้า และจงกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรง พระกรุณา เสด็จไปยังนิเวศน์ของฑีฆาวุอุบาสก โชติยคฤหบดี รับคำ ฑีฆาวุอุบาสก แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
[๑๔๑๗] ครั้นแล้ว โชติยคฤหบดีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฑีฆาวุอุบาสกป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาถวายบังคม พระบาท ทั้งสองของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้า และเขากราบทูลมาอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงพระกรุณา เสด็จไปยังนิเวศน์ของฑีฆาวุอุบาสก พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ
[๑๔๑๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไป ยังนิเวศน์ของฑีฆาวุอุบาสก ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ แล้วได้ตรัสถาม ฑีฆาวุอุบาสกว่า ดูกรฑีฆาวุอุบาสก ท่านพอจะอดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไป ได้ละหรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นแลหรือ ความทุเลา ย่อมปรากฏ ความกำเริบ ไม่ปรากฏแลหรือ ฑีฆาวุอุบาสกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทน ไม่ได้ เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนัก ไม่ทุเลา ลงเลย ความกำเริบย่อมปรากฏ ความทุเลาย่อมไม่ปรากฏ
[๑๔๑๙] พ. ดูกรฑีฆาวุ เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็น ผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ฯลฯ ในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯจักเป็นผู้ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกรฑีฆาวุ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แหละ
[๑๔๒๐] ที. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ องค์แห่งธรรม เป็นเครื่องบรรลุโสดา ๔ เหล่าใดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในข้าพระองค์ และ ข้าพระองค์ก็เห็นชัดในธรรมเหล่านั้น ข้าพระองค์ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่ หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ฯลฯ ในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ
พ. ดูกรทีฆาวุ เพราะฉะนั้นแหละ ท่านตั้งอยู่ในองค์แห่งธรรม เป็นเครื่องบรรลุ โสดา๔ เหล่านี้แล้ว พึงเจริญธรรม อันเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ๖ ประการ ให้ยิ่งขึ้นไป
[๑๔๒๑] ดูกรทีฆาวุ ท่านจงพิจารณาเห็นในสังขารทั้งปวงว่า เป็นของไม่เที่ยง มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่า เป็นทุกข์ มีความสำคัญในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่า เป็นอนัตตา มีความสำคัญในการละ มีความสำคัญ ในความคลายกำหนัด มีความสำคัญในการดับ ดูกรฑีฆาวุ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล
[๑๔๒๒] ที. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ๖ ประการ เหล่าใด ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในข้าพระองค์ และข้า พระองค์ก็เห็นชัดในธรรมเหล่านั้น ข้าพระองค์พิจารณาเห็นในสังขารทั้งปวงว่า เป็นของไม่เที่ยง มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่า เป็นทุกข์ ... มีความสำคัญใน ความดับอีกอย่างหนึ่ง ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า โชติยคฤหบดีนี้ อย่าได้ถึงความ ทุกข์ โดยล่วงไปแห่งข้าพระองค์เลย โชติยคฤหบดีได้กล่าวว่า พ่อทีฆาวุ พ่ออย่าได้ ใส่ใจ ถึงเรื่องนี้เลย พ่อทีฆาวุ จงใส่ใจพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสแก่ท่านให้ดีเถิด
[๑๔๒๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสสอนทีฆาวุอุบาสก ด้วยพระโอวาทนี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ทีฆาวุอุบาสก กระทำกาละแล้ว
[๑๔๒๔] ครั้งนั้น ภิกษุมากรูป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย บังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆาวุอุบาสกที่พระผู้มีพระภาค ตรัสสอนด้วยพระโอวาท โดยย่อ กระทำกาละแล้ว คติของเขาเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพของเขาเป็นอย่างไร? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทีฆาวุอุบาสกเป็นบัณฑิต มีปกติพูดจริง ปฏิบัติธรรมสมควร แก่ธรรม และไม่ยังตนให้ลำบาก เพราะมีธรรมเป็นเหตุ ทีฆาวุอุบาสกเป็นอุปปาติกะ จัก ปรินิพพานในภพที่เกิดนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป |