พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๘-๓๑๙
เอกธรรมสูตร
ว่าด้วยอานาปานสติ
[๑๓๐๕] พระนครสาวัตถี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันหนึ่ง อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก ธรรมอันหนึ่งเป็นไฉน? คืออานาปานสติ
[๑๓๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัด
ว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งกายทั้งปวงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งกายทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้ระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับกายสังขารหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุขหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุขหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขารหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับจิตสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับจิตสังขารหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งจิตหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งจิตหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้บันเทิงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้บันเทิงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตมั่นหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิตหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่าเราจักเปลื้องจิตหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัดหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัดหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความดับหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความดับหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่าเราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่าเราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๙
โพชฌงคสูตร
ว่าด้วยโพชฌงค์
[๑๓๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
[๑๓๐๘] ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมี ผลมาก มีอานิสงส์มาก? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วย อานาปานสติ อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ย่อมเจริญ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ... วิริยสัมโพชฌงค์ ... ปีติสัมโพชฌงค์ ... ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... สมาธิสัมโพชฌงค์ ...อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยอานาปานสติ อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๙-๓๒๐
สุทธิกสูตร
วิธีเจริญอานาปานสติ
[๑๓๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
[๑๓๑๐] ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมี ผลมาก มีอานิสงส์มาก? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่าง ก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า (พึงขยายเนื้อความให้พิสดารตลอดถึง ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความ สละคืนหายใจเข้า)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๒๐
ผลสูตรที่ ๑
ผลานิสงส์เจริญอานาปานสติ ๒ ประการ
[๑๓๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
[๑๓๑๒] ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมี ผลมาก มีอานิสงส์มาก? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่าง ก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า (พึงขยายเนื้อความให้พิสดารตลอดถึง ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความ สละคืนหายใจเข้า)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
[๑๓๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้ว อย่างนี้ พึงหวังได้ผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อ ยังมีความถือมั่นอยู่ เป็นพระอนาคามี
|