พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๙๑
พราหมณสูตร
ว่าด้วยพระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน
[๗๗๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก-
*เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ
ได้ปราศรัยกะพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า:-
[๗๗๘] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องทำให้ พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว และอะไร เป็นเหตุ เป็นปัจจัยเครื่องทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จ ปรินิพพานแล้ว?
[๗๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เพราะบุคคลไม่ได้เจริญ ไม่ได้ กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อตถาคต ปรินิพพานแล้ว และเพราะบุคคลเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรม จึงตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคต
ปรินิพพานแล้ว
สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็น เวทนา
ในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรม ในธรรม อยู่ มีความเพียร
มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ดูกรพราหมณ์ เพราะบุคคลไม่ได้
เจริญ ไม่ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อ
ตถาคตปรินิพพานแล้ว และเพราะ บุคคลได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล
พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้ นาน ในเมื่อ ตถาคต ปรินิพพานแล้ว
[๗๘๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์นั้นได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือน บุคคล หงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่บุคคลผู้หลงทาง หรือตามประทีป ในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักแลเห็น
ได้ ฉะนั้น ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำ ข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิต
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๙๒
ปเทสสูตร
ว่าด้วยบุคคลจะชื่อว่าเป็นพระเสขะ
[๗๘๑] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ และท่าน พระอนุรุทธะ
อยู่ ณ กัณฏกีวัน ใกล้เมืองสาเกต ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตร และท่าน มหาโมคคัลลานะ ออกจาก
ที่พักผ่อนในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่าน พระอนุรุทธะ ครั้นผ่าน การปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตร
ได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่า:-
[๗๘๒] ดูกรท่านอนุรุทธะ ที่เรียกว่า พระเสขะ พระเสขะ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียง เท่าไรหนอ บุคคลจึงจะชื่อว่าเป็นพระเสขะ? ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า ดูกรผู้มีอายุ บุคคล ที่จะชื่อว่าเป็น
พระเสขะ เพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้เป็นส่วนๆ
สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรม
วินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ
โทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณา เห็น เวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อม
พิจารณาเห็นธรรม ในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสใน
โลกเสีย
ดูกรผู้มีอายุ บุคคลที่จะชื่อว่าเป็นพระเสขะ เพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล ได้เป็นส่วนๆ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๙๒-๑๙๓
สมัตตสูตร
ว่าด้วยบุคคลจะชื่อว่าเป็นพระอเสขะ
[๗๘๓] นิทานต้นสูตรเหมือนกัน. ครั้นท่านพระสารีบุตรนั่ง ณ ที่ควร ส่วน ข้างหนึ่ง แล้วได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่า:-
[๗๘๔] ดูกรท่านอนุรุทธะ ที่เรียกว่าพระอเสขะ พระอเสขะ ดังนี้ ด้วยเหตุ เพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงจะชื่อว่าเป็นพระอเสขะ? ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ บุคคลที่จะชื่อ
ว่าเป็นพระอเสขะ เพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้บริบูรณ์
สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรม
วินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ
โทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณา เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ...
ย่อมพิจารณาเห็นธรรม ในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส
ในโลกเสีย
ดูกรท่านผู้มีอายุ บุคคลที่จะชื่อว่าเป็นพระอเสขะ เพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล ได้บริบูรณ์ |